กระทู้-08060 : เรื่องของหอยที่คนไม่ค่อยจะรู้จัก : หอยเบี้ย

Home » Board » อื่นๆ

เรื่องของหอยที่คนไม่ค่อยจะรู้จัก : หอยเบี้ย

วันนี้กระผมนายหอยเฒ่าก็มีเรื่องราวเกี่ยวกับหอยๆ  มาให้ท่านๆ  ทั้งหลายได้สดับรับชมกันอีกสักเรื่องหนึ่ง วันนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับหอยเบี้ยขอรับ เรื่องราวจะเป็นอย่างไรขอเชิญท่านๆ  ทั้งหลายร่วมสดับรับชมได้ในบัดเดี๋ยวนี้ขอรับ
หอยทากชรา approve [ 26 ก.ค. 2550 08:13:16 ]
OthersPics_reply_37279.jpg
ความคิดเห็นที่: 1
เราๆ  ท่านๆ  ทั้งหลายคงจะคุ้นหูกับคำพูดติดปากบางคำเช่น “เบี้ยน้อยหอยน้อย” หรือไม่ก็ “เบี้ยเลี้ยง” ซึ่ง คำเหล่านี้เชื่อว่าในปัจจุบันคงมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่ทราบว่ามีที่มาอย่างไร  ถ้าคนแก่จะบอกว่ามีที่มาจากเรื่องหอยหอยอีกนี่จะเชื่อกันหรือไม่ขอรับ อย่างที่ทราบกันว่าหอยนั้นมีมากมายหลายชนิด เรียกได้ว่ามีจำนวนชนิดมากเป็นอันดับสองรองจากสัตว์พวกแมลงเลยเชียว ในจำนวนชนิดที่มากมายเหล่านี้ หอยทะเลในกลุ่ม “หอยเบี้ย” หรือที่คนโบราณเรียกว่า “เบี้ยจั่น” ได้ถูกนำมาใช้แทนเงินตราในอดีต ส่วนใหญ่เป็นเบี้ยที่มาจากหมู่เกาะมัลดีฟในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ จากการศึกษาทางด้านโบราณคดี มีรายงานว่า หอยเบี้ยได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องประดับ อันเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงสถานะทางสังคม  และใช้เป็นเงินตราในการแลกเปลี่ยนสินค้ามาตั้ง แต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์แล้ว  และมีการใช้อย่างแพร่หลายในชุมชนโบราณบริเวณรอบทะเลสาบคาลิเบียน เยอรมัน ลิธัวเนีย ชายฝั่งทวีปอเมริกา อินโด-แปซิฟิก จนถึงแอฟริกา โดยหอยเบี้ยที่นิยมนำมาใช้เป็นเงินตรา คือหอยเบี้ยชนิด Cypraea moneta ซึ่ง  ถ้าเราดูคำแสดงคุณลักษณะจำเพาะ (specific epithet) ของหอยเบี้ยชนิดนี้ก็จะไม่แปลกใจ เพราะคำว่า moneta เป็นคำภาษาลาติน แปลว่าเงินตรา (money) อยู่แล้ว แสดงให้เห็นว่าคนที่ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้กับหอยเบี้ยชนิดนี้ คงทราบว่าเป็นหอยที่ใช้แทนเงินตราในอดีตกระมัง แม้กระทั่งชื่อสามัญ (common name) ของหอยชนิดนี้ก็เรียก money cowrie  และอีกชนิดหนึ่งที่มักพบว่าใช้แทนเงินตราร่วมกับ C. moneta เสมอ คือ C. annulus ซึ่ง คนไทยเรียกว่า เบี้ยวแก้ว ฝรั่เรียก gold-ring cowrie ขอรับ พูดถึงเรื่องเงินๆ  ทองๆ  แล้วอดนึกถึงเรื่องการปั่นราคาเบี้ย ที่พอนึกดูแล้วก็ไม่ต่างกับการปั่นราคาหุ้นในสมัยนี้เลย เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีการนำเข้าเบี้ยมาเป็นหาบๆ  ทำให้บรรดาเหล่าพ่อค้านายทุนทั้งหลายมีการกักตุนเบี้ยเพื่อปั่นราคา หรือในบางครั้งเบี้ยก็เกิดการขาดแคลน ดังเช่นในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้ทรงโปรดเกล้าฯ  ให้ทำดินเผาตีตราขนาดต่างๆ  ขึ้นใช้แทนเบี้ย เรียกว่า “ประดัน” เหตุเหล่านี้ทำให้ราคาเบี้ยมีการไกวตัวมาก จากเดิมที่มีอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 800 ตัวต่อเฟื้อง ผันผวนไปได้ถึง 1600 ตัวต่อเฟื้อง ดูไปก็คล้ายกับการซื้อขายหุ้นสมัยนี้ยังไงก็ไม่รู้นะขอรับ จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้กำหนดพระราชอาญาเอาโทษกับผู้ที่ขายเบี้ยในราคาเกินกว่า 400 ต่อเฟื้องเชียวขอรับ
หอยทากชรา approve [ 26 ก.ค. 2550 08:17:10 ]
OthersPics_reply_37280.jpg
ความคิดเห็นที่: 2
 และต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเช่นกัน ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ  ให้ผลิตเหรียญดีบุกผสม เรียกว่า กะแปะจีน  และโสฬสขึ้นใช้ เบี้ยจึงได้หายไปจากระบบการเงินของไทย
   เอาล่ะไหนๆ ก็พูดถึงหน่วยเงินตราโบราณ หลายท่านอาจจะสงสัยว่าในสมัยนั้นมีอัตราการแลกเปลี่ยนกันอย่างไร อืม.....จะว่ายังไงดีล่ะขอรับ มันอธิบายยากมากถึงมากปานกลาง เอาเป็นว่ากระผมขอยกตัวอย่างอัตราการแลกเปลี่ยนเงินในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาเล่าให้ฟังก็แล้วกัน เพราะกระผมเองก็มีข้อมูลอยู่เพียงแค่นี้แหละเหมือนกัน อัตราการแลกเปลี่ยนเงินในหน่วยต่างๆ  มีดังนี้ขอรับ

๘๐๐  เบี้ย          เป็น    ๑    เฟื้อง               
๕๐    เบี้ย          เป็น    ๑    โสฬส(สิบหก)    ๑๖    โสฬส              เป็น     ๑     เฟื้อง
๒     โสฬส          เป็น    ๑    อัฐ(แปด)        ๘      อัฐ                   เป็น     ๑     เฟื้อง
๒     อัฐ           เป็น    ๑    เสี้ยวหรือไพ          ๔      อัฐ                 เป็น     ๑     เฟื้อง
๒     เสี้ยวหรือไพ  เป็น   ๑   ซีก          ๒     เสี้ยวหรือไพ    เป็น       ๑     เฟื้อง
๒    ซีก เป็น          เป็น   ๑   เฟื้อง         ๘     เฟื้อง              เป็น       ๑     บาท
๒    เฟื้อง เป็น      เป็น    ๑   สลึง           ๔    สลึง                เป็น       ๑     บาท
๑    มายนหรือมะยง  เป็น   กึ่งบาท หรือ ๒ สลึง            
๔    บาท          เป็น   ๑   ตำลึง               
๒๐  ตำลึง          เป็น   ๑   ชั่ง               
๘๐  ชั่ง           เป็น  ๑   หาบ               
(อัตรานี้อ้างอิงจาก : www.tv5.co.th/service/mod/heritage/nation/krasab/index1.htm)

   นอกจากเบี้ยจะถูกใช้แทนเงินตราแล้ว หอยเบี้ยยังถูกนำมาเกี่ยวข้องกับพิธีกรรม และความเชื่อต่างๆ  มากมายเช่นกัน ดังเช่นในเรื่องของประเพณีฝังศพของคนโบราณ พบหลักฐานว่ามีการนำเบี้ยใส่ในหลุมฝังศพด้วย เช่น ในหลุมฝังศพของมนุษย์ในลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก ในแหล่งโบราณคดีบ้านใหม่ชัยมงคล พบว่ามีการ นำเบี้ยที่ตัดหรือขัดฝนด้านโป่งออก แล้ววางไว้ด้านข้างศพ  แต่พบเพียงชิ้นหรือสองชิ้นในลักษณะที่ไม่ได้เป็นการร้อยเป็นเครื่องประดับ ในขณะที่กลุ่มวัฒนธรรมบ้านเชียงที่บ้านนาดี พบว่ามีการร้อยหอยเบี้ยเป็นสร้อยคอ สันนิษฐานว่าน่าจะใช้เป็นเครื่องประดับมีค่า และเป็นของหายากจากแดนไกลก่อนที่จะใช้แลกเปลี่ยนสินค้า นอกจากนี้ในต่างประเทศได้มีรายงานว่า ในอารายธรรมโบราณ หอยเบี้ยถูกใช้เป็นของแสดงสถานะทางสังคม และมีบทบาทในทางความเชื่อด้วย เช่น พบหอยเบี้ยใส่ในกล่องสำริดหรือภาชนะสำริด บางแห่งมีมากกว่า 20,000 ตัวในหลุมฝังศพคนรวย ในเรื่องของ เซ่นสรวงบูชานั้นเล่า ก็มีปรากฏอยู่ในวรรณคดีไทยหลายเรื่อง เช่น อิเหนา ขุนช้างขุนแผน หรือที่เก่าแก่ที่สุดเห็นจะเป็นโครงกระทู้ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ว่า

ทู บาจุดธูปเบี้ย      บวงสรวง
สุ รภีพิกุลพวง         พู่ห้อย
มุ หน่ายกระแจะจวง      เจิมต่อ ศาสนา
ดุ สิตเทพให้คล้อย      เคลื่อนฟ้ามาสม
หอยทากชรา approve [ 26 ก.ค. 2550 08:30:33 ]
OthersPics_reply_37281.jpg
ความคิดเห็นที่: 3
ในเรื่องการบนบานศาลกล่าว ก็พบว่าหอยเบี้ยถูกนำเข้าเกี่ยวข้องกับการบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในหลายพื้นที่ เช่น การยกเบี้ยขึ้นอธิษฐานแล้ววางบนศาล การเอาเบี้ยเหน็บฝาเรือน เป็นต้น แม้ แต่ในตำราช้าง ก็ว่าเมื่อช้างไม่ลงน้ำ ให้เอาเบี้ยสามเบี้ย หมากสามคำ ข้าวสุกสามกระทงไปพลีต้นผักครอบ แล้วเอาผักมาเคี้ยว ทามือ และเอายีตาช้างเจ็ดที ช้างก็จะยอมลงเล่นน้ำ หรือ ความเชื่อที่ว่าการแขวนเบี้ยจั่นจะสามารถป้องกันการเจ็บไข้ได้ป่วย และฟันผุได้ บ้างก็ว่า เอาไปฝนละลายกับน้ำมะนาว ช่วยแก้โรคปัสสาวะไม่ออกได้ หรือการพก “เบี้ยแก้” อันเป็นเครื่องรางของขลังชนิดหนึ่ง ว่ากันว่าทำจากเบี้ยจั่นที่บรรจุปรอทแล้วเปิดทับด้วยชันโรงใต้ดิน อาจจะมีแผ่นทองแดงลงอักขระยันต์หรือไม่ก็ได้ เชื่อกันว่า  ถ้าพกเบี้ยชนิดนี้ไว้กับตัวเวลาเดินทางรอนแรมในป่า จะช่วยป้องกันไข้ป่า รวมถึงป้องกัน และแก้ไขภยันอันตรายจากร้ายให้กลายเป็นดีได้ เรื่องเหล่านี้จริงเท็จอย่างไรคงต้องพิสูจน์กันเองแหละขอรับ เอาล่ะขอรับเรื่องของหอยเบี้ยกับคน กระผมคงขอเล่าเพียงแค่แล้วกัน จริงๆ  แล้วมีอีกเยอะ แต่กลัวว่าท่านๆ  ทั้งหลายจะเบื่อเสียก่อน ไว้ ถ้ามีโอกาสกระผมจะมาเล่าสู่กันฟังถึงเรื่องนี้ใหม่ขอรับ
  ขอปิดท้ายด้วยเบี้ยจั่นที่น่าจะ "แพงที่สุดในโลก" ในภาพที่นำมาให้ยลกันนั้น หมายเลข 1 เป็นเบี้ยจั่นธรรมดาขอรับ ราคาก็ไม่กี่สลึงเฟื้อง ส่วนหมายเลข 2  และ 3 นั้น ฝรั่งเขาเรียกว่า rostrate money cowrie คือส่วนหัวท้ายจะยกสูงขึ้น ในวงการนักสะสมเปลือกหอยนั้น เขาว่ากันว่า รูปทรงแบบนี้สวยที่สุด และหายากมาก ราคาจึ่งแพง ท่านๆ  ลองเดาดูขอรับว่าราคาเท่าใด ลองคิดตัวเลขในใจไว้ก่อน แล้วค่อยดูเฉลยนะขอรับ






        ราคาของเปลือกหอยหมายลข 2 กับ 3 นั้น ราคาอยู่ที่เปลือกละ 25 ล้านบาท (เอง) ขอรับ ไม่ทราบว่าท่านใดทายถูกมั่ง หึ หึ ขอบคุณทุกท่านที่เพียรพยามอ่านขอรับ
...แก้ไขเมื่อ 26 ก.ค. 2550 08:37:34
หอยทากชรา approve [ 26 ก.ค. 2550 08:36:58 ]
OthersPics_reply_37282.jpg
ความคิดเห็นที่: 4
ปิดท้ายด้วยหอยเบี้ยอีกตัวที่ราคาย่อมเยาลงมาหน่อยนึง คือ Cypraea fultoni ขอรับ ราคาไม่แพงถึงหลักล้านอย่างตัวข้างบน ถูกกว่ากันมากขอรับ ท่านใดสนใจหาไว้ดูเล่นได้นะขอรับ ราคาอยู่ที่เปลือกละ 2-3 แสนบาท (ตามราคาที่มีคนเล่น เขาบอกมา) ตัวกระผมเองมิมีปัญญาจักไปสืบเสาะหามาไว้ครอบครองดอกขอรับ
   อ้อ ภาพที่นำมาให้ยลมาจาก www.gastropods.com/Shell_Images/Cypraea/Cypraea_fultoni_amorimi.jpg ขอกรับ
หอยทากชรา approve [ 26 ก.ค. 2550 08:41:45 ]
ความคิดเห็นที่: 5
โอ่ขอบคุณครับ เป็นหอยที่ผมโปรดปรานมากเวลาไปทะเลผมต้องเจอละกดชัตเตอร์ให้ได้ ถ้าเจอตามโขดหินชายฝั่งนะ 555 นานๆ เจอทีอ่ะ สวยครับ
ฉลามเสือ approve [ 26 ก.ค. 2550 09:01:36 ]
ความคิดเห็นที่: 6
คุณหอยทากชรา ในคห3.นั่นทายตัวที่2แล3ว่าตัวละหนึ่งล้านเอ้า  ปรากฏว่าแพงกว่า25เท่าแน่ะ  ราคาแพงขนาดนี้ยังมีคนซื้อเหรอฮะ
mim4042 approve [ 26 ก.ค. 2550 10:12:23 ]
ความคิดเห็นที่: 7
25 ล้านบาท!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!! เค้าจะเอาไปทำไมกันเนี๊ย!!!!!
นณณ์ approve [ 26 ก.ค. 2550 10:15:37 ]
ความคิดเห็นที่: 8
เดี๋ยวเอาตัวที่บ้านมาขายบ้างดีก่า
knotsnake approve [ 26 ก.ค. 2550 11:33:47 ]
ความคิดเห็นที่: 9
เบี้ย ที่ใช้เป็นเงินตรานี่ หามาได้แล้วใช้ได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการหรือครับ เคยเห้นเบี้ยหอยแครง เขาเอาเงินหยอดไปในฝาหอยน่ะ (หมายถึงเงินหลอม) ผมก็เลยนึกว่าเบี้ยที่ใช้เป็นเงินตราจะหยอดเงินข้างในด้วย
นกกินเปี้ยว approve [ 26 ก.ค. 2550 11:40:30 ]
ความคิดเห็นที่: 10
เรื่องเบี้ยที่จะเอามาเป็นเงินที่ เขาก็ต้องผ่านกระบวนการเหมือนกันครับ มิใช่ว่าเก็บได้แล้วเอามาใช้ได้ตามอำเภอน้ำใจขอรับ ก็มีการตีตราเหมือนกัน คล้ายๆ  กับเหรียญกษาปณ์อ่ะครับ คุณนกกินเปี้ยว
หอยทากชรา approve [ 26 ก.ค. 2550 12:36:38 ]
ความคิดเห็นที่: 11
เรียนคุณ mim4042 ที่สงสัยว่าจะมีคนซื้อหรือไม่นั้น ขอเรียนมามีขอรับ ได้ข่าวมาจากเจ้าของเปลือกหอยว่า คนที่สนใจอยากขอซื้อเป็นหมอผ่าตัดทางด้านสมอง หรือโรคหัวใจนี่แหละขอรับ (จำมิได้จริงๆ ) เขาแสดงความจำนงมาว่าอยากขอซื้อ  แต่ความคืบหน้ากระผมมิทราบขอรับ อย่างว่าแหละขอรับ ลางเนื้อชอบลางยา คนมันรักมันชอบนิ ทำไงได้ อยากให้ตะแกแบ่งเงินให้เราใช้ทำวิจัยมั่ง หุ หุ
หอยทากชรา approve [ 26 ก.ค. 2550 12:39:46 ]
ความคิดเห็นที่: 12
ของอย่างงี้มีเงินอย่างเดียวซื้อมิได้หรอก หุหุ
ampelisciphotis approve [ 26 ก.ค. 2550 12:48:29 ]
ความคิดเห็นที่: 13
25 ล้านบาทเอ๊ง   อืม  คุณมิ้มไม่ซื้อไว้ซักตัวหรือครับ
ลำพะเนียง approve [ 26 ก.ค. 2550 13:17:13 ]
ความคิดเห็นที่: 14
ก็ว่าอยู่ฮะ คุณลำพะเนียง  ถู๊กถูก   แต่เหมือนคุณนณณ์จะจองไว้ก่อนแล้วทั้งสองตัวเลยนี่สิ
mim4042 approve [ 26 ก.ค. 2550 14:41:04 ]
ความคิดเห็นที่: 15
น่าเอาไปใส่ไว้ในบทความในเวปนะ.. แต่เกรงใจ คุณไอ้ลูกทุ่งจัง ^ ^ '
กุ๋ยป่า approve [ 26 ก.ค. 2550 14:53:50 ]
ความคิดเห็นที่: 16
เข้ามาแบกความรู้กลับครับ เห็นหอยเบี้ยแล้วอยากได้  แต่พอเห็นราคา...พักไวก่อน เอิ๊กๆๆๆๆๆๆๆ  

ขอบคุณอาจารย์หอยทากชรามากๆ  ครับ
Due_n approve [ 26 ก.ค. 2550 15:21:53 ]
ความคิดเห็นที่: 17
เป็นบทความได้เลยนะเนี่ย ขอบคุณค่ะ ได้ความรู้กลับไปอีกแล้ว
Formica [ 26 ก.ค. 2550 16:34:13 ]
ความคิดเห็นที่: 18
อืมมมม  เป็นข้อมูลที่น่าสนใจมากๆ  ครับ

หอยเบี้ยเปลือกละ ๒๕ ล้าน  สงสัยทำงานทั้งชีวิตก็ยังไม่มีปัญญาซื้ออ่ะ

ขอบคุณท่านหอยทากอาวุโสครับผม (^^)
ตะพากหน้าแดง approve [ 26 ก.ค. 2550 17:55:17 ]
ความคิดเห็นที่: 19
เอ แล้วเยี่ยงนี้ กระปุกออมสินสมัยก่อนจะเป็นเยี่ยงไรหนา หุหุ
ampelisciphotis approve [ 26 ก.ค. 2550 21:09:19 ]
ความคิดเห็นที่: 20
สงสัยต้องเป็นรูอ้วนๆ มั้งขอรับ ฤาจะเอาอมไว้ในปากหว่า
knotsnake approve [ 26 ก.ค. 2550 22:13:33 ]
ความคิดเห็นที่: 21
กระปุกสมัยนั้นคงเป็นไหหรือตุ่มเพียวๆ  กระมังครับ  จุได้มากหน่อย  แถมปากกว้างด้วย  ไม่งั้นก็เอาใส่ถุงไถ้เอาไว้อ่ะ  จะได้หยิบใช้ได้สะดวกหน่อย
ตะพากหน้าแดง [ 26 ก.ค. 2550 22:53:45 ]
ความคิดเห็นที่: 22
เนียนมากเลยครับ ขอ้มูลสุดยอด เขียนได้น่าอ่านอีกด้วย
jungle man approve [ 26 ก.ค. 2550 23:38:50 ]
ความคิดเห็นที่: 23
ได้ความรู้มากมายครับ
Kawi niger approve [ 28 ก.ค. 2550 13:32:28 ]
ความคิดเห็นที่: 24
ตามมาชม
GreenEyes approve [ 28 ก.ค. 2550 22:46:58 ]
ความคิดเห็นที่: 25
Cypraea fultoni ขอรับ ราคาไม่แพงถึงหลักล้านอย่างตัวข้างบน ถูกกว่ากันมากขอรับ ท่านใดสนใจหาไว้ดูเล่นได้นะขอรับ ราคาอยู่ที่เปลือกละ 2-3 แสนบาท
It price lower now, as 3-40000 THB last 7 years, because Russian trawler gone around Mozambic and taken several samples, in Thai collections may exist around 100 spec.
waterpanda [ 29 ก.ค. 2550 13:28:38 ]
ความคิดเห็นที่: 26
ขอบพระคุณท่าน waterpanda ขอรับที่ช่วย update ราคาให้ ไม่ได้ตามมานานแล้ว ด้วยว่า แพงจัดเลยมิได้สนใจมันอีกเลย ขอบพระคุณอีกครั้งขอรับ
หอยทากชรา approve [ 31 ก.ค. 2550 08:57:28 ]
ความคิดเห็นที่: 27
Oh!No!Super_Cheap แพงจริงๆ ตั้ง25........ล้านแนะ ไม่เคนเห็นมาก้อน
ริว(Zea_Gus@deamon)555+ [ 02 ส.ค. 2550 17:37:27 ]
poti125678@hotmail.com
ความคิดเห็นที่: 28
ของแม่ผมมี แต่ไม่แน่ใจว่าจะเหมือนกับที่เขานิยมกันหรือเปล่าน่ะครัย
คนนครสวรรค์ [ 14 ส.ค. 2550 13:11:06 ]
vikit_07@hotmail.com
ความคิดเห็นที่: 29
คุณพัฒ ถ้ามีจริงติดต่อผมผ่านอาจารย์หอยทากชราได้ทันทีครับ
จะหอยลาวหอยเขมรก็น่าสนใจครับเพราะหอยทรงนี้พบที่New Caledoniaแห่งเดียวครับ
จะได้มีตัวที่สามไว้ให้เมืองไทยครับ

Moneta of Rawai
Moneta of Rawai [ 20 ก.ย. 2550 01:16:02 ]
jomshell@yahoo.com

- ปิดกระทู้ -

www.siamensis.org - Thailand Fish & Nature Explorer
An independent non-profit group
Established 2001
 All Rights Reserved 2001-2010 ©siamensis.org