กระทู้-08110 : มีอะไรมาให้ดู (บ้าง)

Home » Board » กุ้ง & ปู

มีอะไรมาให้ดู (บ้าง)

วันก่อนลุงหอยเอารูปหอยกล้วยปิ้งมาให้ดูเหล้นกัน ก็เห็นครึกครื้นดีมิใช่น้อย อิฉันเลยเอารูปสัตว์หาง่ายมาให้ดูเหล้นกันอีกตัว เจ้าตัวนี้ยังมิมีชื่อภาษาไทย หากแต่เป็นตัวสามัญประจำหาดทรายแลระบบนิเวศแบบตูดนิ่ม  (soft bottom)  อีกหน้าตาก็ชอบกลต่างไปจากกุ้งเต้นแลแมงสาบ หากแต่เปนเครือญาติกัน แลๆ  ไปก็คล้ายกับตัวที่รูปท่านน็อตมาโพสต์ถามไว้ในกระทู้กุ้งเต้นในป่าชายเลน เพลาบ่ายๆ  จักอิฉันเข้ามาเล่าให้ฟังเจ้าค่ะ
ampelisciphotis approve [ 04 ส.ค. 2550 13:17:14 ]
picture__reply_38494.jpg
ความคิดเห็นที่: 1
ด้านข้างเจ้าค่ะ ขนาดตัวค่อนข้างใหญ่ทีเดียว พอมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าแบบรางๆ
ampelisciphotis approve [ 04 ส.ค. 2550 13:23:13 ]
ความคิดเห็นที่: 2
เข้ามาปูเสื่อจองที่ เคี้ยวหมากนั่ง รอเบิกโรงขอรับ
หอยทากชรา approve [ 04 ส.ค. 2550 13:24:36 ]
ความคิดเห็นที่: 3
ยังดีมิพิมพ์ตกเป็นเคี้ยวหมา มิเช่นนั้นคงได้หวัวกันเกรียว
ampelisciphotis approve [ 04 ส.ค. 2550 13:29:37 ]
ความคิดเห็นที่: 4
มารอชมครับ
Jocosus approve [ 04 ส.ค. 2550 13:44:56 ]
ความคิดเห็นที่: 5
ยังดีที่มิใช่บทประพันธ์ย้อนยุค หากพิมพ์ตกเยี่ยงนั้น คงจักหวัวดีนะขอรับ  อืม....  เช่น ฉากเดินทางไกล
"พวกเจ้าจุ่งเร่งฝีเท้าเข้าเถิด อีกเพียงชั่วเคี้ยวหมากแหลก ก็จักทันทัพของท่านออกญาทวารเบิกแล้ว"
แล้ว ถ้าพิมพ์ "ก ไก่" ตกไปจาก "หมาก" อย่างที่น้องท่านว่าล่ะ  กองอาตมาตกองนี้คงจักอิ่มหมีพีมันกันดีพิลึก
หึ หึ (ยังพิมพ์มิพลาด ขอรับ)
หอยทากชรา approve [ 04 ส.ค. 2550 14:09:45 ]
picture__reply_38507.jpg
ความคิดเห็นที่: 6
มาเล่าต่อ เจ้าตัวนี้มีชื่อเรียกว่า cumacean เป็น crustacean ขนาดเล็กที่มักพบในดินทั้งในทราย และในโคลน มีขนาด 1-10 มม. มีรูปทรงเฉพาะคล้ายลูกอ๊อดคือหัวโต หางเรียว ยาว ตอนปลายแหลม พบอาศัยอยู่ในตั้ง แต่บริเวณน้ำตื้นไปจนถึงที่น้ำลึก
เวลามันขุดดินเนี่ยน่ารักเจียวค่ะ เจ้า cumacean จะขุดถอยหลังจนส่วนท้อง และหางอยู่ใต้ดิน โผล่ส่วนหัวขึ้นมาด้านบน  บริเวณ maxilliped ของ cumacean มีกลุ่มเหงือกซึ่ง นอกจากจะช่วยในการหายใจแล้ว ยังช่วยในการปั๊มน้ำเพื่อกินอาหาร ส่วนใหญ่เปนกลุ่มกินอินทรีย์สาร  แต่มีลางชนิดกรองอาหารกินแลลางชนิด เปนผู้ล่า ส่วนใหญ่มักกระจายกันเป็นกลุ่ม ในบางที่อาจจะพบเป็นกลุ่มที่มีความหนาแน่นมากที่สุดในระบบนิเวศที่ทำการศึกษาโดยอาจพบหลายร้อยตัวต่อตารางเมตร นอกจากนี้ยังเป็นอาหารที่สำคัญของปลา และผู้ล่ากลุ่มที่อาศัยบริเวณหน้าดินชนิดอื่นๆ  ที่มีขนาดใหญ่กว่า

รูปจาก Rupert, E., Fox, Richrad and Barnes, R. 2004. Invertebrate zoology. 7th edition เจ้าค่ะ
ampelisciphotis approve [ 04 ส.ค. 2550 17:19:49 ]
ความคิดเห็นที่: 7
มีเรื่องน่าหวัวคือ cumacean ตัวแรกพบในปี 1780  และชนิดที่สองพบในปี 1804 ด้วยว่ามีข้อโต้แย้งสับสนว่าสัตว์ตัวที่พบเป็น cumacean หรือว่าเป็นตัวอ่อนของ crustacean ชนิดใดชนิดหนึ่ง กระทั่งในปี 1841 มีการพบไข่ของ cumacea ทำให้ข้อโต้แย้งดังกล่าวยุติลง
...แก้ไขเมื่อ 04 ส.ค. 2550 18:48:21
ampelisciphotis approve [ 04 ส.ค. 2550 17:21:21 ]
ความคิดเห็นที่: 8
Cumacea เป็นสัตว์ที่มีลักษณะทวิสัณฐานระหว่างเพศ (sexual dimorphism) ตัวผู้ และตัวเมียแตกต่างกัน โดยตัวผู้มี antenna คู่ที่ 2 ยาวกว่าตัวเมีย  และตัวผู้มีรยางค์ท้องในขณะที่ตัวเมียไม่มีรยางค์ท้อง ยกเว้น cumacea ครอบครัว Nannastacidae ที่ทั้งตัวผู้ และตัวเมียมีรยางค์ท้อง และ antenna คู่ที่ 2 จะยาวขึ้นตามอายุ
ในเมืองไทยนั้น มีการศึกษาเจ้าตัวนี้อยู่น้อย ทั้งๆ  ที่ก็เป็นสัตว์สามัญประจำหาด แถบบ้านเราฝั่งอันดามันรวมถึงอินเดียพบเจ้าตัวนี้ 35 ชนิด แลข้ามมาฝั่งอ่าวไทยถึงทะเลจีนใต้นั้นพบเจ้าตัวนี้ 33 ชนิด กลุ่มนี้มีความหลากหลายน้อยกว่าเจ้ากุ้งเต้นแลแมงสาบ ด้วยว่ามีแค่ 1,200 ชนิด จาก 8 ครอบครัวเท่านั้นเอง
ampelisciphotis approve [ 04 ส.ค. 2550 17:45:23 ]
ความคิดเห็นที่: 9
เพิ่งรู้ว่า ปี 1780 กับ 1804 มันต่างกันร้อยกว่าปี สงสัยต้องไปเรียนวิชาคณิตศาสตร์ใหม่อีกแล้วมั้งเรา
knotsnake approve [ 04 ส.ค. 2550 18:38:23 ]
ความคิดเห็นที่: 10
เข้าไปแก้แล้วเจ้าค่ะ ขอบคุณมิตรรักแฟนเพลงที่คอยติดตามอิฉันเรื่อยมา
พี่ลุงน็อตกลับถึงบ้านโดยสวัสดิภาพนะเจ้าคะ นึกว่าจักค้างกลางป่าเสียแล้ว หุหุ
ampelisciphotis approve [ 04 ส.ค. 2550 18:52:37 ]
ความคิดเห็นที่: 11
เอาไว้คืนพรุ่งนี้แล้วกันขอรับ
knotsnake approve [ 04 ส.ค. 2550 20:09:21 ]
picture__reply_38531.jpg
ความคิดเห็นที่: 12
เล่าต่อเลยละกัน
cumacea นอกจากจะพบบริเวณชายฝั่งไปจนถึงในทะเลลึก แลที่น้ำกร่อย น้ำจืด ลางทีก็เจอในน้ำใต้ดิน เรียกว่าอยู่กันไปทั่ว เจ้าตัวน้อยนี่จึ๊กกระดึ๋ยกลางน้ำ โดยต้องรอให้ตัวเมียลอกคราบก่อน แล้วเจ้าตัวผู้อันมีหนวดยาวกว่า ก็จักรับกลิ่นฟีโรโมนอันจรุงใจที่ตัวเมียปล่อยออกมา แลที่เจ๋งกว่านั้นคือใต้กระดองของตัวเมียสามารถเก็บ sperm ไว้ได้ พร้อมเมื่อไรค่อยเอามาใช้  เจ้ากลุ่มนี้เปนญาติโยมกับกุ้งเต้นแลไอโซพอด ดังนั้นจึงเป็นกลุ่มที่อุ้มไข่ ฟักอยู่ในถุงฟักไข่ ดังรูป จนเปนตัว
ampelisciphotis approve [ 04 ส.ค. 2550 22:23:56 ]
picture__reply_38533.jpg
ความคิดเห็นที่: 13
ท่าพื้นฐาน ตัวใหญ่กว่าเปนตัวผู้ ใช้รยางค์ปากแลขาช่วยยึด
รูปทั้งมวลเปนของ THOMAS K. DUNCAN. 1983. CUMACEAN DIMORPHISM AND BEHAVIOR BioL Bull. 165: 370-378
ampelisciphotis approve [ 04 ส.ค. 2550 22:33:57 ]
ความคิดเห็นที่: 14
ส่วนเรื่องความสำคัญของมันนั้น ในลางที่พบว่ามันเปนอาหารหลักของปลากลุ่มแซลมอนแลปลาค็อด ส่วนคนเราจักกินมันได้ก็คงได้  แต่คงต้องกินหลายตัวหน่อยกว่าจักอิ่ม

เจ้าตัวนี้อิฉันก็เริ่มๆ  ทำการสิกขาเหมือนกัน หากเปรียบกันให้กุ้งเต้นเปนลูกคนโต แมงสาบทะเลเปนลูกคนรอง เจ้าตัวนี้ก็เปนลูกอีกคนที่ยังต้องเลี้ยงดูกันอีกนานกว่าจักเข้าใจมัน หากพบเรื่องอะไรใหม่ๆ  ก็จักเอามาเล่าสู่กันฟังต่อเจ้าค่ะ เรื่องในคราวหน้าก็จักเปนกลุ่มสัตว์หาง่าย แต่ไม่ใคร่เปนที่รู้จัก ด้วยว่า

“การเดินทางเพื่อค้นพบไม่ได้อยู่ที่การออกค้นหาดินแดนแห่งใหม่ๆ  หากคือการมองโลกด้วยดวงตาคู่ใหม่”
“The voyage of discovery is not in seeking new landscapes but in having new eyes”

– Marcel Proust
ampelisciphotis approve [ 04 ส.ค. 2550 22:47:08 ]
ความคิดเห็นที่: 15
แอบมามึนเป็นช่วงๆ  มิทราบแอบไปทำอะไรกันมาสองคน หน้าสงสัยมีพิรุทซะแล้วสิ
ฉลามเสือ approve [ 06 ส.ค. 2550 13:58:05 ]
ความคิดเห็นที่: 16
หุหุ เรื่องนี้มันรู้เฉพาะคนที่รู้เจ้าค่ะ โปรดติดตาม "เมื่อได้ยลอ่าวยน" คืนนี้นะเจ้าคะ
ampelisciphotis approve [ 06 ส.ค. 2550 18:49:29 ]
ความคิดเห็นที่: 17
หุ หุ เล็กลงๆ  เราจะมองโลกด้วยดวงตาที่ละเอียดยิ่งขึ้น  แต่เราจะดูหมดไหมเนี๊ย.....ชีวิตนี้ ทำไมวันหนึ่งมันไม่มีสัก ๔๐ ชม. อาทิตย์หนึ่งมีสัก ๑๐ วันน้า!!!!
นณณ์ approve [ 07 ส.ค. 2550 01:32:21 ]

- ปิดกระทู้ -

www.siamensis.org - Thailand Fish & Nature Explorer
An independent non-profit group
Established 2001
 All Rights Reserved 2001-2010 ©siamensis.org