|
กรรมแท้ๆ
กระแสนิยม"รองเท้านารี"แรง เสี่ยพังงาปีนหน้าผาหาตกดับ
6 สิงหาคม 2550 11:42 น. เสี่ยรับเหมาก่อสร้างตระกูลดังเมืองพังงา โชคร้ายตกหน้าผาดับ หลังชวนลูกชายปีนเขาหากล้วยไม้รองเท้านารี พันธุ์ "เหลืองกระบี่-ขาวพังงา" เชื่อขายได้ต้นละ 5 หมื่นบาท เพื่อนบ้านระบุผู้ตายไม่เคยปีนเขา แต่นัดส่งของลูกค้าที่ กทม. ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐเผย "ราชินี" ทรงห่วงกล้วยไม้ชนิดนี้สูญพันธุ์สั่งอนุรักษ์เมื่อหลายปีก่อน
กระแสความนิยมกล้วยไม้ป่าพันธุ์รองเท้านารี สร้างแรงจูงใจให้เสี่ยรับเหมาก่อสร้างชักชวนลูกชายไปปีนเขาเสาะหากล้วยไม้พันธุ์ดังกล่าวมาครอบครอง แต่พลาดตกเขาเสียชีวิต ได้รับการเปิดเผยเมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 5 สิงหาคม ร.ต.ต.ปัญญา ไล่คง ร้อยเวร สภ.อ.เมืองพังงา รับแจ้งเหตุมีคนตกหน้าผาบนเขาท้ายทอยเสียชีวิต ในพื้นที่หมู่ 3 ต.ถ้ำน้ำผุด อ.เมือง จ.พังงา จึงรุดไปตรวจสอบ พร้อมด้วย พ.ต.ท.สวงษ์ ปิ่นนิล รอง ผกก.สส.สภ.อ.เมืองพังงา หน่วยกู้ภัยโพธิธรรมประภาส และ อปพร.ต.ถ้ำน้ำผุด ประมาณ 30 คน
การเดินทางเข้าไปยังสถานที่เกิดเหตุนั้นเป็นไปอย่างยากลำบาก เจ้าหน้าที่ต้องลุยป่า และปีนเขาที่สูงชัน ระยะทางประมาณ 1,500 เมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง เมื่อถึงหน้าผาที่ชาวบ้านเรียกว่า หน้าผาขาว ก็พบศพ นายสุวิทย์ ณ ตะกั่วทุ่ง อายุ 48 ปี อยู่บ้านเลขที่ 2/2 หมู่ 3 ต.ถ้ำน้ำผุด สภาพตกจากหน้าผาลงไปในหุบเขาลึกประมาณ 30 เมตร เจ้าหน้าที่จึงนำศพขึ้นมา ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวมีฝนตกลงมาอย่างหนัก และต่อเนื่อง ส่งผลให้การทำงานของเจ้าหน้าที่เป็นไปอย่างทุลักทุเล กระทั่งค่ำวันเดียวกันจึงสามารถนำศพขึ้นมาได้สำเร็จ
จากการสอบสวนทราบว่า นายสุวิทย์ มีอาชีพรับเหมาก่อสร้าง พร้อมกับนายบันลือศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง อายุ 22 ปี ลูกชาย ได้ออกจากบ้านตั้งแต่เวลา 08.00 น. วันที่ 5 สิงหาคม เดินทางไปยังหน้าผาขาวเพื่อเก็บกล้วยไม้รองเท้านารี สายพันธุ์ "เหลืองกระบี่" และ "ขาวพังงา" ซึ่งเป็นพันธุ์ที่หายาก และกำลังได้รับความนิยม ส่งผลให้มีการซื้อขายในราคาสูง ประกอบกับช่วงที่ผ่านมามีสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งนำเสนอข่าวเกี่ยวกับกล้วยไม้ชนิดนี้ว่ามีราคาสูงถึงต้นละ 4-5 หมื่นบาท จึงสร้างแรงจูงใจให้นายสุวิทย์กับลูกอยากได้มาครอบครอง อีกทั้งเทือกเขาดังกล่าวอยู่ห่างจากบ้านของผู้ตายเพียง 2 กิโลเมตร และพื้นที่ป่ายังมีสภาพสมบูรณ์ จึงมีกล้วยไม้รองเท้านารีจำนวนมาก
นายบันลือศักดิ์ กล่าวว่า ขณะที่พ่อเดินไปบนสันเขา ซึ่งเป็นหินหน้าผาสูงชัน และพื้นหินลื่นนั้น ก็เสียหลักพลัดตกลงไปในเหวทำให้เสียชีวิตทันที จากนั้นตนก็รีบวิ่งลงจากเขามาแจ้งให้ญาติ และตำรวจทราบ
พ.ต.ท.สวงษ์ กล่าวว่า จากรายงานทราบว่า ขณะนี้ชาวบ้านกำลังนิยมกล้วยไม้รองเท้านารี พันธุ์ "เหลืองกระบี่" และ "ขาวพังงา" อย่างมาก เนื่องจากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายการทางสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งนำพันธุ์กล้วยไม้ชนิดนี้มาออกอากาศ พร้อมบอกว่ามีราคาต้นละ 4-5 หมื่นบาท ทำให้ชาวบ้านหลายคนต่างพากันออกไปปีนเขาหามาปลูก และส่งขายตลาดมืด
ด้านชาวบ้านคนหนึ่งในหมู่ 3 ต.ถ้ำน้ำผุด หนึ่งในกลุ่มคนที่ขึ้นเขาไปหากล้วยไม้รองเท้านารีพันธุ์ดังกล่าวเพื่อส่งขาย กล่าวว่า หลังมีรายการทางสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับกล้วยไม้สายพันธุ์นี้ว่ามีราคาถึงต้นละ 4-5 หมื่นบาท ส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่ต่างพากันขึ้นไปหากล้วยไม้จำนวนมาก ซึ่งสร้างรายได้ให้ชาวบ้านในพื้นที่เป็นอย่างดีเนื่องจากมีนายทุนมารับซื้อ
"ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น เนื่องจากผู้ตายไม่เคยขึ้นไปบนภูเขาเลย แต่ได้ไปติดต่อตลาดกล้วยไม้แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ แล้ว จนมีการคัดค้านจากเพื่อนบ้านไม่ให้ขึ้นไปเพราะเกรงจะมีอันตราย พร้อมกับบอกให้ซื้อของชาวบ้านที่ขึ้นไปเก็บจะดีกว่า แต่ผู้ตายยังดื้อดึงจะขึ้นไป จนทำให้ตกเขาเสียชีวิตดังกล่าว" ชาวบ้านคนเดิม กล่าว
ขณะที่ นายวินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าฯ พังงา กล่าวว่า ในขั้นต้นยังไม่ได้รับรายงานเหตุการณ์ชาวบ้านขึ้นไปหากล้วยไม้ป่าบนเทือกเขาท้ายทอย พื้นที่หมู่ 3 ต.ถ้ำน้ำผุด แล้วตกลงมาเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม จะเร่งประสานไปยังกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอีกครั้ง ที่สำคัญคือต้องรู้ให้ได้ว่า ชาวบ้านนำข้อมูลราคากล้วยไม้ชนิดดังกล่าวมาจากที่ใด และเหตุใดจึงทำให้ชาวบ้านหันมาหากล้วยไม้เพื่อขายกันมากขึ้น
"บนเทือกเขาท้ายทอย พื้นที่ถ้ำน้ำผุดมีความอุดมสมบูรณ์ และความงดงามทางธรรมชาติเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกัน ภาครัฐก็ได้เข้มงวดห้ามเข้าไปเก็บของป่าในบริเวณดังกล่าวมาขายอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่แน่ใจว่าชาวบ้านได้ข้อมูลจากที่ใดว่ากล้วยไม้ชนิดนี้มีราคาสูง จึงต้องลักลอบไปเก็บ อย่างไรก็ตาม ต้องรอข้อมูลที่เป็นจริงอีกครั้งหนึ่งก่อน ซึ่งหากพบว่าชาวบ้านบุกรุกขึ้นไปตามข้อมูลที่เป็นข่าวจริง ก็จะสั่งดำเนินการทางกฎหมายทันที เพราะก่อนหน้านี้มีกฎหมายห้ามลักลอบให้นำของป่ามาขายอยู่แล้ว" นายวินัย กล่าว
ส่วนนายวิฑูรย์ ชลายนนาวิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมจังหวัดพังงา กล่าวว่า จะส่งเจ้าหน้าที่ไปดูจุดที่มีการเข้าไปหาว่าอยู่ในพื้นที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป่าไม้ พ.ศ.2484 หรือไม่ หากอยู่ในพื้นที่ พ.ร.บ.ก็ถือว่ามีความผิด ซึ่งกล้วยไม้รองเท้านารีเป็นพันธุ์ไม้หวงห้าม ใครที่ไปเอามาจากธรรมชาติถือว่ามีความผิด ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูล และการประชุมประจำเดือนของเจ้าหน้าที่รับผิดชอบ ยังไม่มีสถิติการจับกุมผู้กระทำความผิดการนำเอากล้วยไม้ประเภทนี้ออกจากป่า จึงยังไม่สามารถระบุได้ว่า มีขบวนการหากล้วยไม้ประเภทนี้จากป่ามาขายในตลาดทั้งในพื้นที่ และต่างพื้นที่ เนื่องจากไม่ทราบราคาซื้อขายว่าขายกันอย่างไร
ทั้งนี้ กล้วยไม้รองเท้านารี สายพันธุ์ "เหลืองกระบี่" มีลักษณะพุ่มต้นกว้าง 30-40 ซม. ใบกว้าง 2.5-3 ซม. ยาว 20-30 ซม. ใบสีเขียวเป็นมัน แตกหน่อง่าย มักเจริญเติบโตเป็นกอใหญ่ ดอกเป็นดอกเดี่ยว ขนาดดอก 6-7 ซม. ก้านดอกยาว 12-15 ซม. กลีบบนมีริมสีขาว โคนกลีบสีเขียวปนเหลือง และมีจุดประขนาดใหญ่สีม่วงปนน้ำตาล กลีบในแคบสีเหลืองเป็นมัน ริมกลีบเป็นคลื่นงุ้มมาด้านหน้า มีเส้นสีน้ำตาลกลางกลีบ กระเป๋าสีเหลืองอมเขียวเป็นมันเงา พบตามภูเขาหินปูนที่อยู่ติดชายฝั่งทะเล หรือหน้าผาสูงชัน ในพื้นที่ จ.ตรัง กระบี่ พังงา และสตูล
ข้อมูลของ พนารัตน์ เสรีทวีกุล เจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร ระบุว่า ปัจจุบันมีการค้นพบกล้วยไม้สกุลรองเท้านารีในประเทศไทย 17 ชนิด จัดเป็นพืชอนุรักษ์ตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ.2514 ทั้งนี้ จ.กระบี่ เป็นอีกแหล่งหนึ่งในภาคใต้ที่พบกล้วยไม้พันธุ์รองเท้านารีหลายชนิด โดยเฉพาะรองเท้านารีเหลืองกระบี่ แต่มีคนลักลอบเก็บออกมาทำให้ปริมาณลดลงเกือบหมดจากป่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเห็นว่า รองเท้านารีเหลืองกระบี่เป็นกล้วยไม้ชนิดหนึ่งที่หาดูได้ยาก และมีปริมาณเหลือน้อยมากในป่าธรรมชาติ จึงมีพระราชดำริให้จัดทำโครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้น โดยศูนย์บริการวิชาการด้านพืช และปัจจัยการผลิตกระบี่ ส่วนแยกข้าว (สถานีทดลองข้าวกระบี่) กรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินการรวบรวมพันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีที่พบในภาคใต้ของประเทศไทย และขยายพันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีคืนสู่ป่า ซึ่งโครงการดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
โดยการดำเนินการช่วงแรก ได้รับมอบกล้วยไม้รองเท้านารีเหลืองกระบี่ประมาณ 200 ต้น จากการจับกุมผู้ลักลอบนำกล้วยไม้ออกมาจากอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา และหมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ หลังจากนั้นจึงดำเนินการขยายพันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีเหลืองกระบี่โดยวิธีการแยกหน่อ และส่งกลับคืนสู่ป่า ปีละ 1,000 ต้น กระทั่งสามารถรวบรวม และอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีที่พบในภาคใต้ไว้ได้ 4 ชนิด คือ รองเท้านารีเหลืองตรัง-เหลืองพังงา รองเท้านารีขาวสตูล รองเท้านารีคางกบใต้ และรองเท้านารีเหลืองกระบี่ รวมกว่า 6,000 ต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกล้วยไม้รองเท้านารีเหลืองกระบี่ ส่วนในปี 2547 เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองพระชนมพรรษา 72 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงได้ขยายพันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีเหลืองกระบี่คืนสู่ป่า 1,500 ต้น และในปีต่อไปวางแผนขยายพันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีเหลืองกระบี่ให้ได้ปีละ 2,000 ต้น ซึ่งอาจจะขยายพันธุ์ด้วยวิธีการผสมฝัก เพาะเมล็ด หรืออาจใช้วิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อขยายพันธุ์ให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ นอกจากนี้ ศูนย์บริการวิชาการด้านพืช และปัจจัยการผลิตกระบี่ฯ ยังรวบรวม และอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีไว้มากกว่า 6,000 ต้น ที่มา: คมชัดลึก
...แก้ไขเมื่อ 07 ส.ค. 2550 11:10:29
นกกินเปี้ยว
[ 07 ส.ค. 2550 11:08:40 ]
|
|