กระทู้-08169 : เรื่องเล่าจากข่าว...รมต.วิทย์ยันเราล้าหลังมากเกิน-เดินหน้าขอ ครม.ทดลองจีเอ็มโอไร่นา

Home » Board » อื่นๆ

เรื่องเล่าจากข่าว...รมต.วิทย์ยันเราล้าหลังมากเกิน-เดินหน้าขอ ครม.ทดลองจีเอ็มโอไร่นา

ไม่หวั่นเสียงค้าน กระทรวงวิทย์ยันเดินหน้าทดลองพืชจีเอ็ม ย้ำ"เรา" ล้าหลังมากเกินไปแล้ว "พอกันทีกับความกลัวที่ไม่มีเหตุผล" ระบุหลายประเทศกลัวจนเลิกกลัว แจง พ.ร.บ.ไบโอเซฟตี้คืบหน้ามาก แต่คงไม่ทันรัฐบาลนี้ แนะใช้แนวปฏิบัติสากล ขณะที่ สวทช. มีพืชจีเอ็ม รอคิวทดสอบภาคสนาม และไร่นาอยู่
       
       สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 16 ส.ค.50 กลุ่มเอ็นจีโอ กลุ่มนักธุรกิจ ข้าราชการอาวุโส นักวิชาการ  และเครือข่ายเกษตรกร ออกมาแถลงข่าวเรียกร้องให้มีการยืนยันมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี  (ครม.)  เมื่อวันที่ 3 เม.ย.44 ที่ห้ามการทดลองพืชดัดแปลงพันธุกรรม  (จีเอ็มโอ)  ในระดับไร่นา แต่อนุญาตให้ทดลองในโรงเรือนปิดมิดชิดเท่านั้น จนกว่าจะมีกฎหมาย และมาตรการที่เข้มงวด และควบคุมการปนเปื้อนของจีเอ็มโอให้ได้เสียก่อน  (อ่าน : สรุปเนื้อหาการแถลงข่าวคัดค้านการปลูกพืชจีเอ็มโอทดลองในไร่นา จากเว็บไซต์มูลนิธิชีววิถี)
       
       ในวันเดียวกันนี้ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รมว.วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี  (วท.)  เปิดเผยว่า เร็วๆ  นี้กระทรวงเกษตร และสหกรณ์  (กษ.)  จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ ครม.ได้รับทราบ พร้อมทั้งตัวแทนกระทรวงที่เกี่ยวข้อง อีก 2 แห่ง คือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม  (ทส.)   และ วท. โดยจะเปิดโอกาสให้ที่ประชุมได้อภิปรายข้อสงสัยเกี่ยวกับพืชจีเอ็มโอ เพื่อแสดงถึงความโปร่งใสของการผลักดันดังกล่าวด้วย
       
       “บอกตรงๆ  เรื่องพืชจีเอ็มโอเป็นเรื่องที่เก่ามากๆ  แล้ว เป็นเรื่องที่อั้นมานานมาแล้ว เราจะแย่เพราะเราเป็นประเทศการเกษตร หลายประเทศเขาก็ไปกันไกลมาก ต่อไปเราอาจขายของไม่ออกก็ได้ หลายประเทศที่เขาเคยกลัว เขาก็เลิกกลัวกันแล้ว พอกันทีกับความกลัวที่ไม่มีเหตุผล” รมว.วิทยาศาสตร์กล่าว
       
       ทั้งนี้ ทางกลุ่มผู้แถลงได้ตั้งคำถามถึง ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพเนื่องจากการตัดแต่งทางพันธุกรรม  (ไบโอเซฟตี้)  ที่มีพัฒนาการมาเรื่อยๆ  กระทั่งจนถึงปลาย มิ.ย.ทีผ่านมาว่าได้หยุดชะงักลงด้วยเหตุใดไม่ปรากฏ  ซึ่ง ศ.ดร.ยงยุทธ ก็เผยว่า ได้มีความคืบหน้าไปมากแล้ว แต่เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดซับซ้อน จึงเชื่อว่าอาจไม่ทันกับรัฐบาลชุดนี้แล้ว
       
       อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีนักเทคโนโลยีชีวภาพแนะว่า ประเทศไทยยังมีแนวทางปฏิบัติที่สากลยึดถือมาใช้ก่อนได้  ซึ่งในแนวทางดังกล่าว จะครอบคลุมถึงมาตรการความปลอดภัยไว้ทั้งหมด ต่างจาก พ.ร.บ.เพียงอำนาจในการกำกับดูแลที่เข้มข้นขึ้นเท่านั้น
       
       รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวอีกว่า ด้านนโยบายพืชจีเอ็มของไทยในขณะนี้ ชัดเจนแล้วว่า จะเน้นไปยังพืชไม้ประดับอย่างกล้วยไม้ หรือพืชพลังงานที่ไม่ได้เป็นพืชอาหารด้วย อย่างสบู่ดำ เป็นต้น ขณะที่พืชพลังงานอื่นๆ  อย่างมันสำปะหลัง และอ้อยจะมีบางส่วนที่เป็นอาหารก็ต้องพิจารณาเป็นกรณีๆ  ไป
       
       ส่วนพืชอาหารอื่นๆ  นั้นจะใช้ความถี่ถ้วนในการพิจารณามากที่สุด โดยยึดหลักความเหมาะสม และจำเป็น เช่น มะละกอที่มีโรคไวรัสทำให้ผลผลิตตกต่ำจนอาจขาดตลาดหรือมีราคาแพงมากได้ในอนาคต  ซึ่งข้าวไทยที่ยังมียอดการส่งออกดี ไม่มีปัญหาอะไรก็ไม่มีความจำเป็นต้องทำเลย
       
       “การเกษตรของประเทศต่างๆ  ทั่วโลกก็เป็นจีเอ็มโอแล้ว  และจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ " รมว.วิทย์กล่าว  และอธิบายว่า ช่วง 20 ปีที่ผ่านมาก็ไม่มีผลเสียอะไรออกมา ไม่มีการปนเปื้อนกับพืชที่ไม่ใช่จีเอ็มโอ เพราะสิ่งมีชีวิตกลุ่มนี้มีภาระทางพันธุกรรมมากกว่าคนอื่นๆ  ไม่สามารถอยู่รอดในธรรมชาติได้
       
       "จะมีก็เพียงกรณีของโปรตีนถั่วเท่านั้น  ซึ่งเป็นตัวที่คนเราจะแพ้อยู่แล้วแต่มีคนไปทำ แต่มันก็เป็นความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ ไม่มีอะไรที่ไม่มีความเสี่ยงอยู่เลย อย่างเรื่องพลังงานนิวเคลียร์ หรือเราเดินข้ามถนน เราก็อาจถูกรถชนตายได้ พืชจีเอ็มโอก็เช่นกัน แต่เราต้องค่อยๆ  ทำโดยไม่บุ่มบ่าม” รมว.วิทย์ กล่าว
       
       ส่วนที่มีความกังวลกันว่า ไทยอาจถูกผูกขาดเทคโนโลยีจีเอ็มโอจากบรรษัทต่างชาติได้นั้น ศ.ดร.ยงยุทธ ยอมรับว่า จากการขาดช่วงไปนานในการวิจัยพืชจีเอ็มโอ ทำให้ประเทศไทยล้าหลังในเรื่องนี้มาก อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม เป็นเทคโนโลยีที่เป็นที่แพร่หลายทั่วโลกแล้ว  ซึ่งนักวิจัยไทยก็สามารถก้าวทันต่างชาติในเวลาไม่ช้าได้เช่นกัน
       
       “มันไม่ไหวแล้วสำหรับประเทศไทยที่เมื่อก่อนคนไม่เข้าใจก็พอยอมรับได้ แต่ตอนนี้ไม่ได้แล้วที่จะมาปิดกั้นความรู้ และการพัฒนา เพราะการไม่ลงมือทำอะไรเลยในเรื่องนี้" ศ.ดร.ยงยุทธกล่าวย้ำ
       
       "สำหรับผมที่มีหน้าที่ต้องสนับสนุนการพัฒนาประเทศต้องทำ ไม่ทำก็เหมือนกับเป็นผู้ที่ไม่รับผิดชอบเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศ  ซึ่งประเทศต่างๆ  ในสหภาพยุโรปที่เคยต่อต้านพืชจีเอ็ม ก็เพราะกลัวพืชจีเอ็มจากสหรัฐฯ  ซึ่งเก่งกว่า จะมาดัมพ์ราคาพืชของตัวเองก็มีการทำพืชจีเอ็มโอมากแล้ว  ซึ่งของเราเป็นเพียงการทำระดับงานวิจัยไม่ใช่ทำในเชิงพาณิชย์เหมือนประเทศอื่นๆ  ด้วย” รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าว
       
       ด้าน รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผอ.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ  (สวทช.)  ให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า การทดสอบภาคสนาม  และไร่นาพืชจีเอ็มในโรงเรือนของหน่วยวิจัยตามมหาวิทยาลัยหรือกรมวิชาการเกษตรนั้น เป็นเรื่องที่จำเป็น  ซึ่ง สวทช. มีพืชจีเอ็มโอที่ผ่านการวิจัยในระดับอื่นๆ  มาแล้ว 4 -5 ชนิดด้วยกัน เหลือเพียงการทดสอบภาคสนาม และไร่นาเท่านั้น จึงจะรู้ได้ว่ามีความเสี่ยงหรือปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน  ซึ่งจะมีการพิจารณาเป็นกรณีๆ  ไป
       
       “ถ้าการทดสอบพบว่ามีความเสี่ยง เราก็มาดูว่ามันเสี่ยงแบบควบคุมได้หรือไม่ ถ้าได้ก็ควบคุมไป ถ้าไม่ได้ เราก็มาชั่งน้ำหนักกันอีกทีว่าความเสี่ยงกับประโยชน์มันคุ้มค่ากันไหม ถ้าคุ้มก็ทำ ไม่คุ้มก็ไม่ทำ แต่ไม่ให้เป็นการปิดประตูไปซะทีเดียว” ผอ.สวทช.กล่าว
       
       ส่วน ดร.สุทัศน์ ศรีวัฒนพงศ์ นายกสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์  (สทส.)   ซึ่งผลักดันพืชจีเอ็มโอในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง เผยว่า จากการเดินสายให้ความรู้ และทำความเข้าใจกับประชาชน เกษตรกร นักศึกษาในหลายจังหวัดทั่วประเทศเกือบ 10 ครั้ง ตามโครงการสร้างกรอบนโยบายความปลอดภัยทางชีวภาพของชาติ  ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ ทส.  และ วท. ต่างให้การตอบรับพืชจีเอ็มโอทั้งสิ้น
       
       "โดยเฉพาะเกษตรกรที่อยากปลูกพืชจีเอ็ม แต่ก็ต้องอธิบายไปว่ายังไม่ถึงเวลาเพราะยังมีขั้นตอนการวิจัย และตรวจสอบความปลอดภัยอีกหลายขั้นตอน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยยกเรื่องความไม่ปลอดภัยมาโจมตีได้" ดร.สุทัศน์กล่าว
       
       “เรื่องนี้แม้ยังไม่มี พ.ร.บ.ไบโอเซฟตี้ออกมา กรมวิชาการเกษตรก็ได้เตรียมความพร้อม ทั้งมาตรการระยะสั้น และระยะกลางไว้รับมือก่อนที่ พ.ร.บ.นี้จะประกาศใช้อย่างรัดกุม  ซึ่งเวลานี้นักวิจัยไทยพร้อมแล้วกับการทดสอบภาคสนาม  ซึ่งมีระบบป้องกันที่ดี มีผู้รักษาความปลอดภัย 24 ชั่วโมง ในที่ที่มีรั้วรอบขอบชิด” นายก สทส.กล่าว
       
       อย่างไรก็ดี ระหว่างการแถลงจุดยืนคัดค้านการทดลองจีเอ็มโอในระดับไร่นา นายวิทูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี  (BioThai)   ซึ่งได้ติดตามเรื่องจีเอ็มโอนี้มากว่า 20 ปี ได้ลำดับเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับการปลูกทดลองจีเอ็มโอภายในประเทศไทย ดังนี้
       
       - 19 ต.ค.38 กรมวิชาการเกษตรอนุญาตให้บริษัทมอนซานโต้  (ไทยแลนด์) จำกัด นำเข้าเมล็ดฝ้ายตัดต่อพันธุกรรมเข้ามาปลูกทดสอบในประเทศ
       
       - 15 พ.ค.40 กรมวิชาการเกษตร นำเข้าต้นกล้า และเนื้อเยื่อมะละกอจีเอ็มโอจากมหาวิทยาลัยคอร์แนลเข้ามาทดลองในประเทศไทย
       
       - 22-27 ก.ย.42 ไบโอไทย และเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกพบการระบาดของฝ้ายจีเอ็มโอที่จ.เลย
       
       - 30 พ.ย.42 คณะกรรมการตรวจสอบของกระทรวงเกษตรฯยืนยันพบการปนเปื้อนฝ้ายจีเอ็มโอจริง กรมวิชาการเกษตรพยายามสร้างหลักฐานว่าเอ็นจีโอเป็นผู้ทำให้เกิดการปนเปื้อน
       
       - 3 เม.ย.44 รัฐบาลเห็นชอบกับข้อเสนอของสมัชชาคนจนให้ยุติการทดลองจีเอ็มโอระดับไร่นาชั่วคราว และให้มีการ่างกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพ
       
       - 27 ก.ค.47 กรีนพีซพบการปนเปื้อนมะละกอจีเอ็มโอในเมล็ดพันธุ์ และแปลงเกษตรกร แต่กระทรวงเกษตรไม่ยอมรับ  และกล่าวหากรีนพีซว่าทำให้เกิดการปนเปื้อนเอง
       
       - 20 ส.ค.47 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แถลงมติคณะกรรมการเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติที่จะอนุญาตให้มีการทดลอง และปลูกพืชจีเอ็มโอในประเทศไทย
       
       - 31 ส.ค.47 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรสั่งถอนวาระการอนุญาตให้มีการปลูกทดลองจีเอ็มโอจากวาระการประชุมของคณะรัฐมนตรี  และแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทบทวน มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติร่างกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพ
       
       - 22 ต.ค.47 คณะกรรมการตรวจสอบที่ตั้งโดยกระทรวงเกษตรฯยอมรับการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอ และสรุปว่ามีคนภายในเกี่ยวข้องด้วย
       
       - 10 ส.ค.50 นายธีระ สูตะบุตร เตรียมการเสนอครม.เพื่ออนุญาตให้มีการปลูกทดลองจีเอ็มโอ

ที่มา...http://manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000096528&Keyword=%c3%c1%b5.%c7%d4%b7%c2%ec
...แก้ไขเมื่อ 17 ส.ค. 2550 08:04:23
สุวรรณภูมิ approve [ 17 ส.ค. 2550 07:42:22 ]
Suvarnabhumi@msn.com
ความคิดเห็นที่: 1
เพื่อนๆ พี่ๆ  และท่านผู้รู้มีความคิดเห็นอย่างไรกันบ้างกับข่าวนี้
สุวรรณภูมิ approve [ 17 ส.ค. 2550 07:46:31 ]
Suvarnabhumi@msn.com
ความคิดเห็นที่: 2
Thailand and SE Asia are the center of agriculture diversity, we have so many strains, cultivas up to species those can be developed into many marketable products and choice for farmers.  Lack or shortage in food security is not a main threats to this region, BUT fairness in economic distribution, trade are major threats to Thai farmers. So, GMO is not much neccessary, and risk to be led of market and genetic monopoly to farmers down to consumers.  Only big corperates can access and patent  GMO seeds, whereas grassroot farmers have to buy this forever, and sell in low prices to middleman.  Local strains or genetic resources will be replaced or abandoned eventually.
waterpanda [ 17 ส.ค. 2550 12:35:13 ]
ความคิดเห็นที่: 3
ผ่านมาอ่านเจอครับ ผมเห็นว่า ควรลาออกไปสียที่ประเทศจะพังเพราะรัฐบาลนี้เข้าไปทุกขณะ
ถ้ามีอะไรที่ท่านร.ม.ต.ควรจะทำนั้นคือลาออกเถอะครับ
9ตะขาบแชไห่ [ 17 ส.ค. 2550 13:28:13 ]
sakydon@Yahoo.com
ความคิดเห็นที่: 4
อะไรคือล้าหลังครับ ทำไมถึงชอบแข่งขันกันจัง ทุนทางธรรมชาติคือทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพก็มีอยู่เยอะแยะ ใช้ความเพียรในการคัดพันธุ์ก็ยังเพียงพอเลยครับ  แต่บางคนชอบจะให้ก้าวกระโดด เสร็จแล้วก็ล้มลงคางเหลือง เพราะเราไม่ได้มองตัวเอง ว่าสรีระไม่เหมาะที่จะกระโดด ควรจะก้าวย่างด้วยความระมัดระวังมากกว่า
นกกินเปี้ยว approve [ 17 ส.ค. 2550 16:53:16 ]
ความคิดเห็นที่: 5
นักเรียน นักศึกษาสมัยนี้เข้าก็รู้จักกัน แต่ molecuar biology หาคนมาเรียน taxonomy ได้ยากเต็มที

คนเรียน genetic engineering เยอะแยะ  แต่คนเรียน ecology มีไม่เท่าไหร่

อีกหน่อยการศึกษาในเมืองไทยจะกลายเป็นปิรามิดหัวคว่ำ มีคนรู้เรื่องลึกๆ  เยอะแยะ  แต่คนรู้เรื่องวิทยาศาสตร์พื้นฐานไม่ค่อยมี
หมีเป้แดง approve [ 17 ส.ค. 2550 20:02:48 ]
ความคิดเห็นที่: 6
เฮ้ย!!  เหนื่อย
 
      ขอเชิญทุกท่านที่ว่างๆ   ไปชมงาน มหกรรวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ2550
                                             (วิทยาศาสตร์มีคำตอบ) ณ ศูนย์นิทรรศการ และการประชุมไบเทค
                                            8-19 สิงหาคม 2550
                 เหลืออีกไม่กี่วันจะหมดแล้ว     ผมไปแล้วรอบหนึ่ง  เด่ว  อาทิตย์นี้จะไปอีก  เดินยังไม่หมดเลยครับ   มีความรู้มากมายที่รอพวกเราอยู่ที่นั่น   ถ้าไปก็ไปแวะที่บูชนิวเคลียร์บ้างนะครับ                                          
- บูชของ สถาบันเทคโนโนโลยีนิวเคลียร์ เป็นการนำประโยชน์ มาใช้ เช่น การทำหมันแมลง  การถนอมอาหาร  การตัด แต่งพันธุกรรมพืช  การเปลี่ยนสีอัญมนี  etc......
- บูชของ สำนักงานปรมณูเพื่อสันติ   และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต  เกี่ยวกะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
- บูชของสมาคมพลังงานอุตสาหรรมพลังงานปรมาณูแห่งประเทศญี่ปุ่น
นิวเคลียร์มีหลายบูชครับ      ที่ผมอยากให้ดูเพราะว่า  ประเทศไทยสนใจโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มากขึ้นแล้วครับ    วันที่16-17สิงหาคม2550 ก็มีการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ครับ      
                และก็มีบูชอื่นๆ อีกมากมายครับ     วันที่ผมไปมี แต่เด็กๆ ครับ     คนไม่เยอะเท่าไหร่          ต่างจาก งานมอเตอร์โชว์มากมาย                  
        อ่อ!!!!   ลืมบอกไป    งานนี้ฟรีครับ        
                                                                                          ขอบคุณครับ
electron approve [ 17 ส.ค. 2550 22:10:16 ]

- ปิดกระทู้ -

www.siamensis.org - Thailand Fish & Nature Explorer
An independent non-profit group
Established 2001
 All Rights Reserved 2001-2010 ©siamensis.org