กระทู้-08218 : ข่าว: ฟื้นสัตว์น้ำหน้าบ้าน ปลุกเขื่อนดอกกราย ตื่นจากฝัน

Home » Board » ปลา

ข่าว: ฟื้นสัตว์น้ำหน้าบ้าน ปลุกเขื่อนดอกกราย ตื่นจากฝัน


 
 
       หลายปีที่แล้ว เขื่อนดอกกราย อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ประสบสภาวะปลาในแหล่งน้ำขาดแคลนอย่างหนัก เนื่องเพราะเรือประมงจากนอกพื้นที่เข้ามาจับปลาอย่างไม่เว้นแต่ละวัน แม้แต่ปลาเล็ก ปลาน้อย ก็โดนจับไปหมด ส่งผลทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ต่างก็ได้รับความเดือดร้อน เพราะไม่เหลือปลาใหญ่ให้จับกิน หลายคนต่างก็คิดว่าปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องยิบย่อย แต่ควรเร่งหาวิธีแก้ไขโดยเร็ว
       
       หลังจากที่ชาวบ้าน อ.ปลวกแดง  และ อ.พัฒนานิคม ทุกคนได้ปรึกษาหารือกันแล้ว ต่างก็ลงความเห็นว่า ควรมีการฟื้นฟูสัตว์น้ำ เพื่อให้ธรรมชาติกลับมาสู่ความอุดมสมบูรณ์เหมือนอย่างเช่นที่เคยมีมา ทั้งนี้ได้รับความร่วมมือจาก กรมประมง  และบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)  ที่เข้ามาช่วยเหลือภายใต้ “โครงการฟื้นฟูสัตว์น้ำหน้าบ้าน”
       
       โครงการดังกล่าวเริ่มต้นจากการสำรวจพื้นที่ในปี 2547  และวางกลยุทธ์ในการทำโครงการเมื่อปี 2548 โดยให้ชาวบ้านใน อ.ปลวกแดง อ.พัฒนานิคม รวมกลุ่มช่วยกันทำกระชังเลี้ยงปลาที่มีขนาดความกว้าง 3 เมตร ความยาว 5 เมตรขึ้นในบริเวณเขื่อนดอกกราย บ้านใครใกล้พื้นที่ไหนก็ทำตรงนั้น เสร็จแล้ว ทางกรมประมงจะนำพันธุ์ปลามาให้เพาะเลี้ยง เช่น ปลานิล ปลาสวาย ปลายี่สก  และปลาตะเพียน
 
 
       อุทัย วงษ์ไพศาล ประธานโครงการฟื้นฟูสัตว์น้ำหน้าบ้านพื้นที่เขื่อนดอกกราย จ.ระยอง เล่าว่า เขื่อนดอกกรายมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 8,000 ไร่ คาบเกี่ยวระหว่าง 2 อำเภอ คือ อ.ปลวกแดง และ อ.พัฒนานิคม ชาวบ้านในละแวกนี้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และทำประมง ส่วนสมาชิกของโครงการมีทั้งหมด 80 คน  และคาดว่าในอนาคตจะมีผู้เข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้น
       
       “โครงการนี้เป็นตัวกลางที่ทำให้ชุมชนกับธรรมชาติได้ใกล้ชิดกัน อีกอย่างยังฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีกินมีใช้แบบยั่งยืน ประชาชนก็ไม่ต้องออกไปทำงานนอกพื้นที่  และเขื่อนดอกกรายเองยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของคนที่ชอบธรรมชาติได้เข้ามาเที่ยวกัน กิจกรรมหลักที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว คือ กิจกรรมการตกปลา ล่องเรือ  และเล่นวินด์เซิร์ฟ”
       
       นอกจากพื้นที่ที่อนุญาตให้ทำประมงได้แล้วยังมีอีกส่วนหนึ่งที่กันไว้ไม่ให้เข้าไปจับสัตว์น้ำ ชาวบ้านเรียกบริเวณนั้นว่าเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ  ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 750 ไร่ เป็นแหล่งที่มีน้ำลึกสุดในเขื่อนดอกกราย แต่มีข้อยกเว้นที่ว่าสามารถตกปลาได้ โดยไม่ส่งเสียงดังรบกวนสัตว์ต่างๆ ในบริเวณโดยรอบ

 
       ด้านสมชาย เรืองสวัสดิ์ ชาวบ้าน ต.นิคมพัฒนา จ.ระยอง หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้เล่าว่า ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับการปลูกฝังให้รู้จักอนุรักษ์ และหวงแหนทรัพยากรท้องถิ่น ทั้งนี้เนื่องจากบทเรียนที่ได้รับเมื่อปี 2548 ที่เขื่อนดอกกรายเคยประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก สัตว์น้ำถูกชาวประมงต่างถิ่นจับไปขายจนแทบหมดจากแหล่งน้ำ เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้รู้ว่า วิกฤตการณ์ธรรมชาติเป็นอย่างไร  ซึ่งหากยังไม่เร่งแก้ปัญหา ทรัพยากรธรรมชาติหลายๆ อย่างที่มีอยู่ก็คงจะหมดไปในไม่ช้านี้
       
       “ตอนนั้นวิกฤตมากเลยนะ ไหนจะทั้งแล้ง ทั้งปลาที่กำลังจะหมดเขื่อนอยู่แล้ว ปลาตัวเล็กๆ อย่างปลาซิว ปลาสร้อย เขาก็จับไปหมด บางทีไม่เอาไปขายก็ทิ้งไว้ให้มันเน่ามันเหม็น เขาใช้อวนตาถี่ๆ จับปลานะ บางทีก็ใช้ไฟช็อต เราเป็นคนแถวนี้หากินกับแถวนี้มาตลอดเห็นแล้วว่าไม่ถูกต้อง เป็นการทำประมงที่เห็นแก่ตัวเกินไปจะเอาจากธรรมชาติอย่างเดียว แต่ไม่รู้จักอนุรักษ์ ชาวบ้านเลยรวมตัวกัน ไปร้องที่จังหวัดให้เขาจัดการ  ซึ่งตอนนี้ชาวประมงจากที่อื่นได้ถูกห้ามเข้ามาหากินในเขื่อนนี้”
       
       “เมื่อก่อนบริเวณรอบเขื่อน ทั้งต้นไม้ ใบหญ้า ก็เหี่ยวแห้งไปตามเขื่อนด้วย คิดว่าหากไม่มีฝนตกก็คงแห้งแล้งอย่างนี้ไปอีกนาน แต่หลังจากมาลองทำประมงแบบอนุรักษ์ใครจะเชื่อว่า ภายใน 2 ปี ธรรมชาติจะฟื้นตัวได้ไวอย่างนี้ ปลาที่แทบจะไม่เหลือในเขื่อน ตอนนี้มีให้กินให้ขาย พืชพันธุ์ที่เกิดในน้ำก็เป็นแหล่งอาหารของ กุ้ง หอย ปู ปลา”
       
       ลุงสมหมายยังบอกอีกว่า สมาชิกจะต้องเป็นคนในพื้นที่ หรือถ้าพึ่งย้ายเข้ามาก็ต้องอยู่นานเกิน 1 ปี แล้ว  และต้องเสียค่าสมาชิก  ซึ่งในปี 2550 นี้เก็บคนละ 250 บาท เพื่อช่วยเหลือในด้านค่าใช้จ่ายของอาหารปลาที่เลี้ยงไว้ในกระชัง ส่วนการอนุบาลปลาต้องให้ได้ 2 เดือนก่อนจึงจะนำไปปล่อยได้ ปลาพวกนี้เมื่อถูกปล่อยออกไป ก็จะกลับมาที่เดิม เพราะยังมีอาหารให้กินอยู่เรื่อยๆ

 

 
ปลาที่จับได้จากธรรมชาติหลังเริ่มโครงการ

 
 
       เมื่อถามถึงวิธีการจับปลาของคนในพื้นที่?
       
       ลุงสมหมายบอกว่า ถ้าเป็นอวนก็ต้องมีความห่างไม่ต่ำกว่า 7 เซนติเมตร แต่ทุกวันนี้ จะจับก็เฉพาะที่ตัวใหญ่ๆ  ส่วนราคาขาย ปลานิลตกอยู่ที่กิโลกรัมละ 30 บาท ปลากรายกิโลกรัมละ 40 บาท ปลาชะโดกิโลกรัมละ25 บาท ปลาฉลาดกิโลกรัมละ 30 บาท ส่วนปลายี่สกในเดือนกันยายนนี้ได้ตกลงกับพ่อค้าที่รับซื้อให้เพิ่มขึ้นเป็นราคากิโลกรัมละ 15 บาท
       
       นอกจากนี้ ช่วงเวลาที่ออกเรือจับปลา ชาวประมงแถวนี้ถ้าเห็นขยะลอยอยู่ในน้ำก็จะเก็บขึ้นมาเอาไปทิ้งให้ถูกที่ถูกทาง การทำอย่างนี้ก็เพื่อจะช่วยรักษาระบบนิเวศน์ให้คงสภาพที่ดีต่อไปเรื่อยๆ
       
       “ถามว่าแพงไหม ลุงว่าไม่เลยนะ เพราะที่นี่ขายถูกที่สุดแล้ว ส่วนรายได้ก็ตกประมาณวันละ 100-500 บาท แล้วแต่ช่วง อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ใช่อาชีพที่ทำรายได้มากมายนัก แต่ลุงก็มีความสุขดี อยู่ตามอัตภาพของคนต่างจังหวัด บางทีได้เยอะก็เก็บไว้กิน แต่ถ้าได้น้อยก็ไม่โลภที่จะเอาอีก ถ้าจะหวังพึ่งธรรมชาติไปนานๆ ก็ต้องรู้จักดูแล อย่างที่ในหลวงท่านสอนก็ถูกนะ คนเรารู้จักความพอเพียงแค่นี้ก็มีความสุขแล้ว”ลุงสมหมายแจกแจง

 
       ขณะที่ลินดา อยู่จำเนียร เจ้าของกิจการรีสอร์ตใน จ.ระยอง บอกว่า ต้องการที่จะฟื้นฟูธรรมชาติในบริเวณรีสอร์ตให้น่าอยู่ อีกทั้งพื้นที่นี้อยู่ใกล้แหล่งน้ำ จึงคิดว่าน่าจะเป็นการดีที่จะเลี้ยงปลาในกระชังแล้วปล่อยลงสู่แม่น้ำ เมื่อถึงช่วงทำประมง ก็ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาตกปลา  ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ได้รับความสนใจมากเลยทีเดียว
       
       “นักท่องเที่ยวบางคนก็อยากเที่ยวเชิงธรรมชาติ โดยเฉพาะชาวต่างประเทศที่เขาเบื่อเที่ยว พวกผับ บาร์ หรือสถานที่ท่องเที่ยวตอนกลางคืนอื่นๆ  พวกเขาอยากจะมาสัมผัสธรรมชาติในบ้านเรา  ซึ่งก็จะได้เรียนรู้ความเป็นอยู่ของท้องถิ่นของเราด้วย” ลินดา สรุป
 
 
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 24 สิงหาคม 2550 08:41 น.
...แก้ไขเมื่อ 24 ส.ค. 2550 09:43:56
นกกินเปี้ยว approve [ 24 ส.ค. 2550 09:43:23 ]
ความคิดเห็นที่: 1
ดูดีในหลายๆ อย่าง  แต่ไม่รู้ทำไม ผมเห็นรายชื่อปลาที่เขาจะให้เอาไปอนุบาลในกระชัง แล้วปล่อยลงในเขื่อนแล้วมันรำคาญใจ
นกกินเปี้ยว approve [ 24 ส.ค. 2550 09:46:58 ]
ความคิดเห็นที่: 2
ทั้งนี้ได้รับความร่วมมือจาก กรมประมง  และบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) ที่เข้ามาช่วยเหลือภายใต้ “โครงการฟื้นฟูสัตว์น้ำหน้าบ้าน” จึงมีรายชื่อปลาที่ทำให้ไม่ต้องแปลกใจอยู่ด้วย
...แก้ไขเมื่อ 24 ส.ค. 2550 09:50:55
สุวรรณภูมิ approve [ 24 ส.ค. 2550 09:49:33 ]
Suvarnabhumi@msn.com
ความคิดเห็นที่: 3
ก็อย่างว่า ปลาเหล่านี้เพาะเลี้ยงง่าย ขยายพันธุ์ได้ปริมาณ ก็คงจะเป็นทางเลือกต้นๆ  ของการฟื้นฟูสัตว์น้ำกระมัง  แต่จริงๆ  ก็ยังมีปลาไทยอีกหลายชนิดนี่ ที่กรมประมงเพาะเลี้ยงเชิงปริมาณได้
นกกินเปี้ยว approve [ 24 ส.ค. 2550 10:18:41 ]
ความคิดเห็นที่: 4
แหล่งทุนส่งเสริมคงมีผลต่อโครงการมังครับพี่นกกินเปรี้ยว
สุวรรณภูมิ approve [ 24 ส.ค. 2550 10:23:06 ]
Suvarnabhumi@msn.com
ความคิดเห็นที่: 5
ปลาเศรษฐกิจ เติบโตวัย เห็นผลเร็ว
เอ..ทำไมข่าวถึงเขียนอ่างเป็นเขื่อนหล่ะนั่น

กุ้งเต้นริมอ่างดองกรายนี่อร่อยเลิศนะครับ ขอบอก

เมื่อปีที่ขาดแคลนน้ำอย่างหนักน้ำในอ่างแทบหมด คนก็แห่ไปจับปลากันทุกวัน มันก็น่าจะเป็นผลสืบเนื่องมาด้วยแหล่ะครับ ปลาชุดใหม่ที่ไหนจะไปโตทัน  ....ตื่งๆ ๆ ๆ ๆ  มีเรื่องแล้วววว

http://www.siamensis.org/webboardold/webboarddetail.php?id=4072
ไอ้ลูกทุ่ง approve [ 24 ส.ค. 2550 10:49:18 ]
ความคิดเห็นที่: 6
โอ้ว! ผลต่อเนื่องจากปี 48 ฝีมือความแห้งแล้งโดยธรรมชาติ ซ้ำเติมต่อโดยมนุษย์
แต่ช่วงแล้งๆ  อย่างนี้  ถ้าปล่อยให้ปลาแออัดคับแคบตายไปเอง มันจะทำให้น้ำเน่าปลาตายเยอะเข้าไปอีก ปล่อยให้จับบ้างก็ดี  แต่ไม่มีทางที่ใครจะคุมปริมาณการจับให้พอดีได้น่ะสิ
นกกินเปี้ยว approve [ 24 ส.ค. 2550 11:03:16 ]
ความคิดเห็นที่: 7
ปลาไทยที่สามารถเป็นปลาเศรษฐกิจได้มีอะไรบ้างครับ
จุ่มพรวด approve [ 27 ส.ค. 2550 15:43:50 ]
ความคิดเห็นที่: 8
ปลาบึกครับ เศรษฐกิจดีเลยหละ แหะๆ
conti approve [ 27 ส.ค. 2550 19:23:42 ]
ความคิดเห็นที่: 9
ปลานิลจับกี่เดือนครับ  อยากรู้ครับ  ตอนนี้ทำบ่ออยู่แค่  2  ไร่เองครับ  ขอบคุณครับ
มือใหม่ ครับ [ 29 ก.ย. 2550 11:19:30 ]

- ปิดกระทู้ -

www.siamensis.org - Thailand Fish & Nature Explorer
An independent non-profit group
Established 2001
 All Rights Reserved 2001-2010 ©siamensis.org