กระทู้-08331 : หอยทากชรามาเล่าเรื่องหอยทาก

Home » Board » อื่นๆ

หอยทากชรามาเล่าเรื่องหอยทาก

หอยทาก    

      ถ้าเอ่ยถึงคำว่า “หอย” กันแล้วล่ะก็ กระผมว่าท่านๆ  ทั้งหลายส่วนใหญ่ก็คงจะนึกถึงหอยทะเลที่เปลือกสวยงามซะส่วนใหญ่กระมัง แต่จักมีสักกี่คนเล่าที่รู้ว่ารอบๆ  ตัวเรานี่ก็มีหอยที่มีเรื่องราวน่าสนใจน้อยอยู่เช่นกัน หอยกลุ่มนั้น คือ “หอยทากบก” หลายท่านอาจจะสงสัยว่า หอยทากบกคืออะไร งั้นเรามาทำความรู้จักกับหอยทากบกกันก่อนดีกว่าขอรับ
     หอยทากบก เป็นหอยฝาเดียวที่มีวิวัฒนาการขึ้นมาอาศัยบนบก เมื่อประมาณ 400 ล้านปีก่อน โดยมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างร่างกายทั้งด้านสัณฐานวิทยา และสรีรวิทยา ให้มีความเหมาะสมกับการดำรงชีพบนบก อาทิเช่น การใช้ปอดหายใจแทนเหงือก มีการพัฒนาระบบต่างๆ  เช่น ระบบรับความรู้สึก ระบบสืบพันธุ์ให้มีความซับซ้อนมากขึ้นกว่ากลุ่มหอยทะเล ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของพวกมัน ในด้านของความหลากหลายชนิด หอยทากบกเองก็มีความหลากหลายไม่น้อยไปกว่าแมลง อาจจะกล่าวได้ว่ามีมากเป็นอันดับสองรองจากแมลงเลยทีเดียวขอรับ เราสามารถพบหอยทากบกได้แทบทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นตามพื้นดิน ภูเขา บนต้นไม้ในป่า หรือแม้กระทั่งในถ้ำที่มืดมิด  ซึ่งถ้าอยากเห็นจริงๆ  ก็ต้องใช้ไฟฉายหรือคบเพลิงช่วย ไม่งั้นไม่มีทางได้เห็นขอรับ สัตว์กลุ่มนี้จัดได้ว่ามีความสำคัญมากกลุ่มหนึ่งในระบบนิเวศ โดยเป็นทั้งอาหารให้กับสัตว์อื่น เช่น นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม  และเป็นทั้งผู้บริโภคสิ่งมีชีวิตอื่น เช่น ไลเคน ใบไม้สด หรือแม้กระทั่งสัตว์ขนาดเล็ก เช่น ตัวอ่อนแมลง ไส้เดือนตัวเล็กๆ  เป็นต้น นอกจากนี้ในทางด้านการแพทย์ ยังพบว่าหอยทากบกหลายชนิดเป็นพาหะตัวกลาง  (intermediate host)  ให้กับพยาธิตัวกลมที่ให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จากอดีตถึงปัจจุบัน มีท่านใดทราบหรือไม่ขอรับว่า ประเทศไทยของเรามีหอยทากสักกี่ชนิด ลองทายกันดู 50 ชนิด ยังไม่ถูกขอรับ 200 ฤา ยังมิใช่ขอรับ กระผมขอเฉลยดีกว่าจะได้ไม่เสียเวลาท่านๆ  ทั้งหลาย สำหรับประเทศไทยมีรายงานว่า มีหอยทากบกมากกว่า 600 ชนิด  ซึ่งมีทั้งที่เป็นชนิดพันธุ์พื้นถิ่น  (native species)   และชนิดพันธุ์ต่างถิ่น  (exotic species)  เช่น หอยทากยักษ์อัฟริกัน  (Achatina fulica)   ซึ่งถูกนำเข้ามาตั้งแต่สมัยสงครามโลก หรือหอยข้าวสาร  (Lamellaxis gracilis)   ซึ่งถูกนำเข้ามาจากโพลีนีเซีย  (Polynesia)  โดยการนำเข้าไม้ดอกไม้ประดับที่มีไข่หอยชนิดนี้เข้ามา ในปัจจุบัน หอยทากบกหลายชนิดกำลังกลายเป็นศัตรูพืชในแปลงผัก สวนดอกไม้ บ่อยครั้งที่เกษตรกรต้องประสบปัญหาจากการทำลายของหอยทากบกกลุ่มนี้ที่เช้ากัดกินกล้าไม้ที่เพาะเลี้ยงไว้ มีเรื่องเล่ากันว่า เกษตรกรในประเทศ..... ต้องประสบปัญหากับกองทัพหอยทากที่บุกเข้ามาในบ้านแล้วกัดกินเอกสารต่างๆ  ในบ้านเสียหายไปมิน้อย อืม... อย่าได้ดูเบาเจ้าหอยพวกนี้เชียว แต่ใช่ว่าหอยทากบกจะมีแต่โทษ ในปัจจุบันได้มีการศึกษาถึงการใช้ประโยชน์จากหอยทากบกในด้านต่างๆ  เช่น การสกัดสารบางชนิดจากทากหิน  (Onchidium spp.)  เพื่อใช้เป็นตัวตรวจชี้เซลล์มะเร็ง หรือการเพาะเลี้ยงหอยทากบกเพื่อเป็นอาหาร ในพื้นที่ที่ขาดแคลนอาหารประเภทโปรตีน เป็นต้น
หอยทากชรา approve [ 12 ก.ย. 2550 07:42:11 ]
OthersPics_reply_42692.jpg
ความคิดเห็นที่: 1
แอบ.......หอยทาก
       ถ้าท่านได้หอยทากเป็นๆ  มาหนึ่งตัวท่านจะทราบได้อย่างไรว่าหอยที่ท่านเก็บได้นี่ตัวผู้หรือตัวเมีย คำตอบคือ ท่านไม่มีทางทราบได้ เพราะว่าหอยทากบกเป็นสัตว์ที่มีเพศรวม (Hermaphrodite) หรือเรียกง่ายๆ  ว่าเป็นกระเทย กล่าวคือมีระบบสืบพันธุ์ทั้งสองเพศอยู่ในตัวเดียวกัน เมื่อจะผสมพันธุ์จะเป็นการผสมข้ามตัว (cross-fertilization) โดยรูปแบบพฤติกรรมในการผสมพันธุ์นั้นก็จะแตกต่างกันออกไป หอยทากบกบางกลุ่มสร้างแท่งหินปูนที่ปลายเรียวแหลมดูแล้วคล้ายๆ  กับ ลูกศรที่นายพรานใช้ล่าสัตว์ เรียกว่า ศรกามเทพ (love dart) ว่ากันว่า เจ้าศรกามเทพนี่ อาจจะมีฮอร์โมนหรือสารเคมีบางประการที่กระตุ้นให้คู่ผสมพันธุ์ของมันต่างฝ่ายต่างเกิดอารมณ์ และพร้อมจะรับการผสมพันธุ์เคลือบอยู่ เมื่อจะผสมพันธุ์ หอยทากบกจะมีพฤติกรรมเกี้ยวพาราสีกันก่อน โดยเริ่มจากหอยสองตัวเคลื่อนเข้าหากัน แล้วใช้หนวดไปแตะเนื้อต้องตัวอีกฝ่ายอย่างแผ่วเบานุ่มนวล จากนั้นก็จะเคลื่อนเข้าใกล้กันอีก แล้วก็ทำกิริยาเหมือนดั่งจูบกัน อย่างนี้เป็นระยะๆ  จนกระทั่งถึงจุดหนึ่ง แต่ละตัวก็จะยิงศรกามเทพ เข้าไปปักยังร่างกายของอีกฝ่ายหนึ่งทันที จากนั้นหอยทั้งสองตัวก็จะค่อยๆ  คืบคลานเข้าหากัน จากนั้นก็จะสอดใส่อวัยวะสืบพันธุ์เพศผู้ หรือ ถ้าให้เรียกง่ายๆ  เข้าไปในรูเปิดอวัยวะสืบพันธุ์เพศเมียของอีกตัวนึง จากนั้นก็ปล่อยน้ำเชื้อเข้าร่างกายของอีกฝ่ายหนึ่ง   และรอผสมกับไข่ต่อไป  แต่ใช่ว่าหอยทากทุกชนิดจะมีศรกามเทพเสมอไป หอยทากบางกลุ่มก็ไม่มีศรกามเทพ  แต่ก็มีรูปแบบการผสมพันธุ์ที่คล้ายคลึงกัน เพียง แต่อาจจะไม่มีการยิงศรรักออกไปเท่านั้น  แต่เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการผสมพันธุ์แล้ว ต่างฝ่ายต่างก็แยกย้ายกันออกไปหากิน และวางไข่ต่อไป ซึ่ง อาจจะขุดดินแล้วไข่ลงไป หรืออาจจะวางไข่ตามใต้ใบไม้ก็ได้ เมื่อสภาวะเหมาะสม ไข่ก็จะฟักออกเป็นลูกหอยตัวน้อยๆ  ที่พร้อมจะเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยต่อไป
...แก้ไขเมื่อ 12 ก.ย. 2550 07:50:00
หอยทากชรา approve [ 12 ก.ย. 2550 07:49:23 ]
OthersPics_reply_42693.jpg
ความคิดเห็นที่: 2
    เมนูหอยทาก
     หอยทากบกหลายชนิดก็ขึ้นตำรับอาหารอันโอชะสำหรับมนุษย์มาตั้ง แต่โบราณกาล เท่าที่มีเอกสารให้สืบค้น พบว่า หอยทากบกเริ่มเป็นที่รู้จักกันมาตั้ง แต่ศตวรรษที่ 15 ในยุคของการล่าอาณานิคม หอยทากบกที่คนยุโรปนิยมบริโภค มีหลายชนิด  แต่มักเรียกโดยรวมว่า เอสคาร์โกท์ (escargot) เช่น Helix pomatia, Placostylus palmarum  เป็นต้น หอยเหล่านี้อย่าได้ดูเบาเชียว ถึงขั้นขึ้นเหลาเมืองนอกเจียวนะขอรับ เท่าที่ทราบ แต่ไม่เคยกินก็มีเอามาอบซอสเนยกระเทียม เรานี่ก็แปลกนะขอรับ พอไม่หิวนี่หอยทากก็เป็นหอยทาก  แต่ ถ้าหิวล่ะก็เป็น escargot ซะงั้น อืม... น่าคิด
หอยทากชรา approve [ 12 ก.ย. 2550 07:50:43 ]
OthersPics_reply_42694.jpg
ความคิดเห็นที่: 3
สำหรับประเทศไทยเอง ก็มีหอยทากบกหลายชนิดที่มีการนำมาบริโภคเป็นอาหาร เช่น หอยเดื่อ (Hemiplecta distincta) หอยหอม (Cyclophorus spp.) เป็นต้น หอยเหล่านี้จัดเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดีสำหรับชาวบ้านพื้นถิ่นเชียวขอรับ ด้วยว่าหาได้ง่ายตามท้องถิ่น วิธีการกินส่วนใหญ่ก็นำมาจี่ไฟ แล้วก็ทำการปรุงรส อาจจะทำเป็นลาบ  และอื่นๆ  เท่าที่กระผมได้ประสบพบเห็น ก็ที่จังหวัดสระแก้วมีการนำเอาหอยหอมเล็ก (Cyclophorus volvulus) มาปรุงเป็นอาหาร เท่าที่เห็นก็มีการนำมาต้มจิ้มน้ำจิ้ม หรือไม่ก็นำมาทำเป็นยำหอยหอมรสแซบ เข้าขั้นเป็นของมีชื่อของที่นั่นเชียว แถมได้ข่าวแว่วมาจากวงในว่าจะมีการจัดให้เป็นเทศกาลกินหอยหอมด้วย  แต่ว่าเมื่อใดนั้นมิทราบได้ ผู้ที่สนใจอยากลองชิมว่าอร่อยเพียงใดคงต้องติดตามกันต่อไปขอรับ  แต่ก็อยากบอกกล่าวเล่าขานสักนิดนึงว่า  ถ้าอยากจะลิ้มลองรสชาติของหอยเหล่านี้ จุ่งทำให้สุกดีเสียก่อน ด้วยว่าหอยหลายชนิดเป็นพาหะตัวกลางของพยาธิ กันไว้ดีกว่าแก้ขอรับ อ้อลืมบอกไปว่า พวกหอยหอมนั้นเป็นหอยทากที่ยังใช้เหงือกในการแลกเปลี่ยนก๊าซอยู่ขอรับ พวกนี้ยังมีฝาปิดเปลือกเหมือนพวกหอยน้ำจืดหรือหอยทะเล  แต่วิวัฒนาการตัวเองขึ้นมาอาศัยบนบก เราเลยเรียกหอยกลุ่มนี้ว่า land operated snails จัดว่ามีวิวัฒนาการต่ำกว่าพวกหอยทากบกมีปอด (land pulmonate snails) ขอรับ
หอยทากชรา approve [ 12 ก.ย. 2550 07:51:21 ]
OthersPics_reply_42695.jpg
ความคิดเห็นที่: 4
หอยทาก : ความงามนอกสายตา
      ถ้าพูดถึงความสวยงามของเปลือกหอยแล้วล่ะก็ หลายท่านก็คงนึกถึงหอยทะเลเป็นส่วนใหญ่  แต่จะมีสักกี่คนเล่าที่ทราบว่าหอยทากบกเองก็มีความงดงามที่หลากหลาย และหลายหลากไม่แพ้หอยทะเล ที่ขึ้นชื่อลือชาในวงการนักสะสมคงไม่พ้นหอยมรกต (Papustyla pulcherrima) จากปาร์ปัวนิวกินี เจ้าหอยชนิดนี้จัดว่าเป็นเปลือกหอยที่สวยที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง ด้วยว่าเปลือกสีเขียวนั้น ในวงการคนเล่นเปลือกหอยเขาว่ากันว่า หายาก  และมันก็สวยจริงๆ  ขอรับ เพราะความสวยดังกล่าวจึงทำให้มันเป็นที่ต้องการของนักสะสมเป็นอย่างมาก เหล่าพ่อค้าจึงจ้างชาวบ้านในพื้นที่เก็บเปลือกมาขาย  แต่ชาวบ้านกลับทำการโค่นต้นไม้เพื่อล่าเจ้าหอยชนิดนี้ ประมาณว่าต้นหนึ่งมีกี่ตัวข้าเอาหมด แถมตัดทีก็เล่นกันป่าหายเป็นแถบๆ  เมื่อได้มาก็ฆ่าแล้วนำเปลือกมาขายให้กับพ่อค้าคนกลางซึ่ง ให้ราคาดี  ในปัจจุบันหอยชนิดนี้จึงอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง
    หอยทากอีกชนิดหนึ่งที่ถือว่ามีความงามไม่แพ้หอยมรกต คือหอยสายรุ้ง (Liguuus spp.) หอยกลุ่มนี้มีเปลือกที่มีสีสันต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นสีส้ม สีเหลือง สีฟ้า ฯ ลฯ   คาดวนรอบเปลือก ดูเผินๆ  คล้ายกับเปลือกหอยทำด้วยเซรามิกส์อย่างไรอย่างนั้นขอรับ
    หอยทากตัวต่อมาที่จะขอนำเสนอคือหอยลูกกวาด (Candy Snails : Polymita sp.) จากประเทศคิวบา เจ้าหอยชนิดนี้มีเปลือกที่มีสีสันลวดลายที่ฉูดฉาด โดยทั่วไปมีสีเหลือง มีทั้งที่มีแถบ และไม่มีแถบสีคาดรอบเปลือก สำหรับตัวเป็นๆ  ของเจ้าพวกนี้ เชื่อหรือไม่ขอรับว่า สีมันดำสนิท เรียกว่าดำเป็นเหนี่ยงเชียวขอรับ ได้ข่าวว่าในปัจจุบันนี้ก็ห้ามล่าเก็บเจ้าหอยชนิดนี้เพื่อการสะสมด้วยเหมือนกันขอรับ
      สำหรับบ้านเรานั้น ก็มีหอยทากสวยงามกับเขาด้วยเหมือนกันขอรับ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มหอยนกขมิ้น ที่เรียกเยี่ยงนี้เพราะว่า หอยพวกนี้มักมีเปลือกในโทนสีเหลืองสด หอยกลุ่มนี้บางชนิด เช่น หอยนกขมิ้นใหญ่ (Amphidromus atricallosus) มีการกระจายที่กว้าง พบได้ทั่วไป ในขณะที่บางชนิดก็มีการกระจายที่แคบ เช่น หอยลายตอง (Amphidromus schomburgki) ในเขตภาคตะวันออก พบที่จังหวัดชลบุรี กับจังหวัดตราดเท่านั้น อ้อ ลืมบอกไปว่าเจ้าหอยพวกนี้เป็นพวกที่อาศัยอยู่บนต้นไม้ หรือเรียกสั้นๆ  ว่า หอยต้นไม้ (tree snails) กล่าวคือ มันจะมีกิจกรรมส่วนใหญ่อยู่บนต้นไม้ ไม่ว่าจะกินอาหาร สืบพันธุ์ วางไข่ พอพูดมาเยี่ยงนี้แล้วไซร้ หลายท่านอาจจะสงสัยว่าแล้วมันจะอยู่ แต่ต้นไม้ต้นเดียวทั้งชีวิต ไม่เบื่อแย่ฤา สำหรับข้อสงสัยนี้ก็มีคำตอบขอรับ ปกติเจ้าหอยกลุ่มนี้จะเกาะนิ่งๆ  ใต้ใบไม้ในเวลากลางวัน  และออกหากินเวลากลางคืน ซึ่ง เจ้าหอยพวกนี้ก็จะเดินไต่ไปตามใบไม้ กิ่งไม้ ที่นี้เวลาที่มันจะเคลื่อนที่จากต้นไม้ต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่ง มันจะรอจังหวะที่ลมพัดแรงๆ  ให้ใบไม้หรือกิ่งไม้ของสองต้นอยู่ใกล้กันมากๆ  แล้วมันก็จะเดินไต่ข้ามไปขอรับ อย่าได้ดูเบาเจ้าพวกนี้เชียว มักมีอะไรที่เราคาดไม่ถึงเสมอขอรับ
หอยทากชรา approve [ 12 ก.ย. 2550 07:53:19 ]
OthersPics_reply_42696.jpg
ความคิดเห็นที่: 5
หอยทากจิ๋วกับโลกหลงสำรวจ
      ถ้าท่านๆ  ทั้งหลายได้มีโอกาสไปท่องเที่ยวตามป่าเขาลำเนาไพร โดยเฉพาะตามแนวเขาหินปูนล่ะก็ ลองสอดส่ายสายตาดูตามผนังหินหรือผนังถ้ำดูสิขอรับ ท่านจักพบหอยตัวเล็กๆ  ขนาดประมาณหัวเข็มหมุดหรือเล็กกว่านั้นเกาะตามฝาผนังกันสลอน อย่าเพิ่งไปคิดว่ามันเป็นลูกหอยนะขอรับ พวกนั้นเป็นหอยที่โตเต็มที่แล้ว  แต่มันโตได้แค่นั้นแหละขอรับ กระผมเรียกมันว่า “หอยทากจิ๋ว” ด้วยว่าตัวมันเล็กเหลือหลาย โดยทั่วไปมักมีขนาดตั้ง แต่ 5 มิลลิเมตรลงมา จนถึง 0.1 มิลลิเมตรขอรับ เจ้าพวกนี้นี่ท่านๆ  อาจจะเห็นว่ามันขะมุกขะมอม เนื้อตัวเต็มไปด้วยฝุ่นหรือเศษดินเกาะเต็มตัวอย่างนั้น  ถ้าเอามาล้างทำความสะอาดดีๆ  ล่ะก็สวยไม่แพ้หอยทะเลเชียวล่ะ อีกทั้งยังมีรูปร่างแปลกตากว่าพวกหอยทะเลด้วยซ้ำ หอยกลุ่มนี้มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ คือ ตัวมันเองก็กินพวกรา ไลเคน ที่ขึ้นตามผนังหิน  และก็รับเอาหินปูนเข้าไปสร้างเปลือก ในขณะเดียวกันมันเองก็เป็นอาหารอันโอชะสำหรับพวกนก สัตว์เลี้อยคลาน เช่น จิ้งจก ตุ๊กแก ตุ๊กกาย ด้วยเช่นกัน ถือได้ว่าตัวมันเป็นผู้นำเอาหินปูนเข้าสู่ระบบนิเวศทางหนึ่ง น่าเป็นห่วงที่ว่า ในปัจจุบันนี้ได้มีการทำลายเขาหินปูน เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรม และอื่นๆ  ทำให้เป็นไปได้ว่าหอยทากจิ๋วหลายชนิดของบ้านเราอาจจักต้องสูญพันธุ์ไปอย่างน่าเสียดายด้วยน้ำมือของกลุ่ม “คน” ที่คิดว่าตัวเองเป็น “มนุษย์” เฮ้อ ! คิดแล้วเศร้าขอรับ
หอยทากชรา approve [ 12 ก.ย. 2550 07:57:30 ]
OthersPics_reply_42697.jpg
ความคิดเห็นที่: 6
หอยทากพื้นถิ่น V.S. หอยทากต่างถิ่น : การรบที่รอวันพ่ายแพ้    
     ตั้ง แต่มนุษย์ได้มีการติดต่อค้าขายกันข้ามเขตพรมแดน ไม่ว่าจะเป็นประเทศหรือทวีปเป็นต้นมา ก็ได้มีการนำเอาสิ่งมีชีวิตจากพื้นถิ่นหนึ่งแพร่เข้าไปสู่อีกพื้นถิ่นหนึ่ง หรือที่เราเรียกว่า ชนิดพันธ์ต่างถิ่น (exotic species) ซึ่ง อาจจะเข้ามาอย่างตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจก็ตาม แต่ โชคดีหลายชนิดเข้ามาแล้ว ไม่สามารถแพร่เผ่าพันธุ์ไปได้ ก็สาบสูญไปเองตามกระบวนการคัดเลือกโดยธรรมชาติ  แต่ก็มีอีกหลายชนิดที่ประสบความสำเร็จในการดำรงชีวิต และแพร่เผ่าพงศ์วงศ์วานของมัน จนไปรุกรานสัตว์ที่เป็นพวกสัตว์พื้นถิ่น (native species) ถึงขั้นทำให้หลายชนิดเกือบจะต้องสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ ในกรณีนี้หอยทากก็ไม่เว้นวายขอรับ หอยทากหลายชนิดในบ้านเรานั้น ก็อยู่ในกลุ่มนี้ เช่น หอยทากยักษ์อัฟริกัน (Achatina fulica) ซึ่ง ถูกนำเข้ามาตั้ง แต่สมัยสงครามโลก โดยติดมากับผักที่ส่งมาเป็นอาหารให้ทหารญี่ปุ่น  และระบาดไปทั่วไปประเทศ หรือหอยข้าวสาร (Lamellaxis gracilis) ซึ่ง ถูกนำเข้ามาจากโพลีนีเซีย (Polynesia) โดยการนำเข้าไม้ดอกไม้ประดับที่มีไข่หอยชนิดนี้เข้ามา เป็นต้น ในช่วงที่เจ้าหอยทากยักษ์อัฟริกันระบาดอย่างหนักในบ้านเรานั้น ได้เคยมีการพยายามนำเข้าหอยนักล่าสีชมพู (Eugladina rosea) เข้ามาเพื่อใช้ตัวกำจัดเจ้าหอยทากยักษ์อัฟริกัน  แต่เดชะบุญที่เจ้าหอยล่าเนื้อไม่สามารถเติบโต และแพร่พันธุ์ได้ในบ้านเรา มิเช่นนั้นแล้วไซร้ อาจจะเกิดเรื่องน่าเศร้าสำหรับชาวหอยทาก เช่นเดียวกับที่เกิดในฮาวายมาแล้ว เรื่องของเรื่องคือ ที่ฮาวายเองก็ประสบปัญหาการระบาดของหอยทากยักษ์อัฟริกัน ส่งผลให้พืชผลถูกทำลายไปอย่างมาก จึงได้มีการนำเอาเจ้าหอยนักล่าชนิดนี้เข้ามาเพื่อกำจัดหอยทากยักษ์อัฟริกัน (ทั้งสองชนิดต่างก็เป็นพวกชนิดพันธุ์ต่างถิ่น) ด้วยว่าการทดลองในห้องปฏิบัติการได้ผลเป็นที่น่าพอใจ  และเป็นที่ทราบกันดีว่า ฮาวายนั้นเป็นแหล่งของพวกหอยทากต้นไม้ที่มีเปลือกสวยงาม มากถึง 41 ชนิด  แต่ปัจจุบันเชื่อกันว่า อย่างน้อย 19 ชนิด ได้สูญพันธุ์ไปจากเกาะ เนื่องด้วยสาเหตุหลายๆ  ประการ หนึ่งในจำนวนนั้น คือการที่หอยต้นไม้ถูกเจ้าหอยนักล่าสีชมพูล่ากินเป็นอาหาร ย้อนกลับมาที่กระผมเคยเล่าให้ท่านฟังว่า ได้มีการนำเข้าเจ้าหอยนักล่ามาเพื่อกำจัดหอยทากยักษ์อัฟริกัน และทำการทดลองในห้องปฏิบัติจนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ  แต่เมื่อปล่อยเจ้าหอยนักล่าไปในธรรมชาติ การณ์กลับกลายเป็นว่า เจ้าหอยนักล่าไม่ค่อยล่าหอยทากยักษ์อัฟริกันอย่างที่หวัง  แต่กลายเป็นว่ามันไปล่ากินพวกหอยทากต้นไม้แทน เรื่องน่าเศร้าจึงเกิดขึ้น กระผมจึ่งได้บอกว่าเป็นบุญของบ้านเราที่เจ้าหอยพวกนี้เติบโต และแพร่พันธุ์ไม่ได้ ไม่เช่นนั้นเรื่องน่าเศร้าคงเกิดซ้ำรอยอีกเป็นแน่แท้
...แก้ไขเมื่อ 12 ก.ย. 2550 07:59:14
หอยทากชรา approve [ 12 ก.ย. 2550 07:58:42 ]
OthersPics_reply_42698.jpg
ความคิดเห็นที่: 7
ฤาถึงคราหอยทากจะสิ้นสูญ
     ปัจจุบันความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี และการพัฒนาประเทศเพื่อความเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ  ส่งผลให้ธรรมชาติถูกทำลายลงไปมาก ทั้งหลายทั้งปวงไม่ทางตรงก็ทางอ้อมล้วน แต่เป็นสาเหตุที่ทำให้หอยทากบกหลายชนิดกำลังอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ นำไปสู่ความไม่สมดุลของระบบนิเวศ ซึ่ง ท้ายที่สุดแล้วผลกระทบที่เกิดขึ้นก็จะกลับมาสู่มวลมนุษย์ผู้เริ่มต้นทำลายอย่างหลีกหนีไม่พ้น  ถ้ามนุษย์ยังพยายามที่จะเอาชนะธรรมชาติดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ถึงเวลาหรือยังเล่าที่เราจักหันกลับมาย้อนดูตัวเรา และมองไปในอนาคตว่าเราจักเดินไปเช่นใด ถึงเวลาหรือยังที่เราจะ อยู่อย่าง ”พอเพียง”  และ “เพียงพอ” ในสิ่งที่มีอยู่......

เอกสารอ้างอิง
สมศักดิ์ ปัญหา. 2543. หอยทากบก. บทความปริทัศน์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย.
หน้า 110-126.
Abbott, R.T. 1989. Compendium of Land Shell. American Malacologist, Melbourne, Australia.
240 pp.
Barker, G. 2001. The biology of terrestrial molluscs.  CABI bublishing, New York.
Barker, G. 2002. Molluscs as crop pests. . CABI bublishing, New York.
Hill, L. 1996. Shells : Treasures of the sea. Hugh Lauter Levin Associates, Hong Kong.
Laidlaw, F.F. and Solem, A. 1961. The land snail genus Amphidromus, a synoptic catalogue.
Fieldiana Zoology. 41 (4) : 507-677.
Panha, S. and Burch, J., B. 2006. An introduction to the microsnails of Thailand.
 Malacological review. 37/38 : 1-155.

อ้างอิงรูปภาพ
หอยทากโรมัน (Helix pomatia) ทั้งหมด : http://www.naturephoto-cz.com/molluscs.html
หอยทากคิวบา : http://www.naturephoto-cz.com/snail:hygromiidea-sp.-photo-2274.html
หอยมรกต : http://shell.kwansei.ac.jp/~shell/pic_book/data44/r004372.html
เมนูหอย :  http://farm1.static.flickr.com/222/493215675_14f47990d1_o.jpg
หอยสายรุ้ง : http://www.kingsnake.com/westindian/liguusvirgineus1.JPG
หอยนักล่าสีชมพู : http://www.jaxshells.org/0430uu.htm

   จบแล้วขอรับ ไว้มีโอกาสจักมาเล่าสู่กันฟังอีกขอรับ
...แก้ไขเมื่อ 12 ก.ย. 2550 08:03:02
หอยทากชรา approve [ 12 ก.ย. 2550 08:00:37 ]
ความคิดเห็นที่: 8
เยี่ยมครับ

พอจะมีเป็นไฟล์พีดีเอฟไหมครับ เผื่อว่างจากเฝ้ารอนับเหยี่ยวแล้วจะได้หยิบขึ้นมาอ่าน ประดับสมอง  :-)
trogon approve [ 12 ก.ย. 2550 08:29:08 ]
ความคิดเห็นที่: 9
ขอบคุณมากครับเพิ่งจะรู้จริงๆ ครับ
JJ approve [ 12 ก.ย. 2550 08:37:09 ]
ความคิดเห็นที่: 10
ภาพหอยทากจิ๋ว ถ่ายยังไงให้ได้แบบนี้ครับ
นกกินเปี้ยว approve [ 12 ก.ย. 2550 09:14:22 ]
ความคิดเห็นที่: 11
หอยสายรุ้งสวยมากเลยครับ
Revenge approve [ 12 ก.ย. 2550 10:24:38 ]
ความคิดเห็นที่: 12
หอยจิ๋วน่าจักถ่ายใต้กล้องจุลทรรศน์หนา
ampelisciphotis approve [ 12 ก.ย. 2550 10:31:04 ]
ความคิดเห็นที่: 13
ขอบคุงคับ
GreenEyes approve [ 12 ก.ย. 2550 11:55:22 ]
ความคิดเห็นที่: 14
alycaeus ใหญ่พอที่จะไม่ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์มั้ง
Amphidromus approve [ 12 ก.ย. 2550 12:18:58 ]
ความคิดเห็นที่: 15
ความรู้เพียบ ภาพสวยงามทั้งนั้นเลย อิ่มเอิบกับเนื้อหา และภาพเลยครับ

ขอบคุณมากครับ
Due_n approve [ 12 ก.ย. 2550 12:43:30 ]
ความคิดเห็นที่: 16
สุดยอดครับ ชอบตรงมาทำเป็นอาหารแหล่ อร่อยนักแหล่ อิอิ ได้ความรู้เพิ่มอีกวัน
ฉลามเสือ approve [ 12 ก.ย. 2550 14:13:57 ]
ความคิดเห็นที่: 17
สุดยอดครับ ขอขอบคุณจากส่วนลึกของก้นหอยเลย
natee approve [ 12 ก.ย. 2550 15:24:37 ]
ความคิดเห็นที่: 18
ชอบหอยสายรุ้ง หอยลูกกวาด หอยนกขมิ้นมากเลย  สีได้ใจจริงๆ
...แก้ไขเมื่อ 12 ก.ย. 2550 17:21:52
mim4042 approve [ 12 ก.ย. 2550 17:21:18 ]
ความคิดเห็นที่: 19
ขอบคุณขอรับขอบคุณ
tavon approve [ 12 ก.ย. 2550 18:00:56 ]
ความคิดเห็นที่: 20
#6
It was the same case of sugarcane toad Bufo marina  (native to central America)in Australia, that good result look-like in Lab, but in the real sites; it eaten up every species of native/endemic species but not any sugarcane's pests.
waterpanda approve [ 12 ก.ย. 2550 19:39:45 ]
ความคิดเห็นที่: 21
ขอบคุณสำหรับเรื่องดีๆ ครับ อย่าได้ดูเบาพวกมันจริงๆ
coneman [ 12 ก.ย. 2550 23:50:55 ]
ความคิดเห็นที่: 22
ความรู้ทั้งนั้นเลยครับ ขอบคุณครับ
คนบ้านนอก approve [ 13 ก.ย. 2550 05:44:09 ]
ความคิดเห็นที่: 23
มีหนังสือภาพอยู่เล่มหนึ่งที่รวมภาพสัตว์ และพืชหายากของฮาวาย มีภาพหอยทากบกอยู่หลายรูปเหมือนกัน ไว้จะเอามาให้ดูครับ
นณณ์ approve [ 13 ก.ย. 2550 10:09:21 ]
ความคิดเห็นที่: 24
ดีครับคุณนณณ์ ต้องเป็น Achatinella แน่แน่เลย
Amphidromus approve [ 13 ก.ย. 2550 11:02:45 ]
ความคิดเห็นที่: 25
#20 กรณีคางคกอ้อยนั้น นอกจากมันกินดะแล้ว ความเป็นพิษของมันก็ทำเอาสัตว์ที่กินคางคกท้องถิ่นต้องสูญพันธุ์ไปหลายชนิดแล้วครับ เท่าที่รู้ตอนนี้มีงูพื้นเมืองของออสซี่ 2 ชนิดที่กินคางคกอ้อยแล้วไม่ตาย  แต่..ก็มีปัญญากินเฉพาะลูกคางคกเท่านั้น ในตัวเต็มวัยนั้น ยังไม่มีเจ้าถิ่นใดๆ จัดการมันได้เลย
knotsnake approve [ 17 ก.ย. 2550 00:07:21 ]

- ปิดกระทู้ -

www.siamensis.org - Thailand Fish & Nature Explorer
An independent non-profit group
Established 2001
 All Rights Reserved 2001-2010 ©siamensis.org