ข่าว: ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง วิกฤติที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน
ปัจจุบันปัญหากัดเซาะชายฝั่งทะเลของไทยมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น จากการสำรวจของกรมทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง (ทช.) พบว่า ชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย ระยะทาง 1,660 กม. มีพื้นที่วิกฤติ ซึ่งมีอัตราการกัดเซาะเฉลี่ยมากกว่า 5 เมตร/ปี จำนวน 12 จังหวัด เป็นระยะทางรวม 180.9 กม. อาทิ จังหวัดสมุทรปราการ กรุงเทพฯ จันทบุรี ระยอง นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และมีพื้นที่เสี่ยง ซึ่งมีอัตราการกัดเซาะเฉลี่ย 1-5 เมตร/ปี 14 จังหวัด เป็นระยะทางรวม 305.1 กม. ขณะที่ชายฝั่งทะเลด้านอันดามัน ระยะทาง 954 กม. มีพื้นที่วิกฤติ ซึ่งมีอัตราการกัดเซาะเฉลี่ยมากกว่า 5 เมตร/ปี จำนวน 5 จังหวัด เป็นระยะทางรวม 23 กม. และยังพบว่าทุกจังหวัดเป็นพื้นที่เสี่ยงด้วย เป็นระยะทางรวม 90.5 กม. ซึ่งค่อนข้างน่าเป็นห่วง ดังนั้น จึงต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
นายอนุวัฒน์ นทีวัฒนา ผู้อำนวยการ สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง (ทช.) กล่าว ถึงสาเหตุของการกัดเซาะชายฝั่งว่าส่วนหนึ่งเกิดจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ตามธรรมชาติ รวมทั้งขาดปริมาณตะกอนสะสมตามแนวชายฝั่งทะเล ขณะเดียวกันปัญหาดังกล่าวยังเกิดจากการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลด้วย เช่น การสร้างเขื่อนกันทรายตามปากแม่น้ำ และปากคลองที่ไหลออกสู่ทะเล และการสร้างเขื่อนกันคลื่นตามแนวชายหาดโดยเฉพาะพื้นที่อ่าวไทยตอนล่างจากจังหวัดนครศรีธรรมราช-นราธิวาส มีมากถึง 25 จุด รวมกว่า 600 เขื่อน ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงมาก
ทางด้าน นายสุรพล กฤษณามระ ผู้อำนวยการส่วนจัดการที่ดินชายฝั่ง สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบใน ยุทธศาสตร์การจัดการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมได้เตรียมนำเสนอยุทธศาสตร์ดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณาต่อไป
สำหรับยุทธศาสตร์การจัดการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ได้กำหนดแนวทาง และมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาไว้ 5 ประการคือ
1.เร่งพัฒนา และปรับปรุงระบบฐานข้อมูลพื้นที่ชายฝั่ง โดยจะศึกษา สำรวจ และรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสภาพพื้นที่ชายฝั่งทั่วประเทศ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของแนวชายฝั่งทะเลที่เกิดขึ้นในอดีตจนถึงปัจจุบัน พร้อมจัดทำระบบข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ของชุมชนในพื้นที่ชายฝั่ง โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่วิกฤติหรือพื้นที่เสี่ยงต่อการกัดเซาะชายฝั่ง และจัดทำระบบฐานข้อมูลที่มีมาตรฐาน และทันสมัย สามารถแสดงผลการประมวลข้อมูลสถานการณ์พื้นที่ชายฝั่งทะเลของประเทศ เพื่อใช้ในการจัดการโดยเฉพาะบริเวณพื้นที่วิกฤติหรือพื้นที่เสี่ยงต่อการกัดเซาะ
2.การมีส่วนร่วมในการจัดการป้องกัน และแก้ไขปัญหา โดยตั้งเป้าที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหา และการจัดการป้องกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล และเสริมสร้างศักยภาพของกลุ่มผู้เกี่ยวข้องด้วย
3.การจัดทำแผนแม่บท และแผนยุทธศาสตร์การจัดการปัญหากัดเซาะชายฝั่งเชิงบูรณาการในระดับพื้นที่ เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการ และขั้นตอนการตัดสินใจวางแผน ให้เข้าใจในทุกประเด็นปัญหาที่อาจมีผลกระทบต่อเนื่อง พร้อมจัดทำแผนบูรณาการจัดการพื้นที่ชายฝั่งทะเลทั่วประเทศ และการจัดการพื้นที่วิกฤติ และพื้นที่เร่งด่วนที่ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง
4.การป้องกันแก้ไข และฟื้นฟูสภาพพื้นที่ชายฝั่ง โดยได้กำหนด และจำแนกเขตพื้นที่ที่มีปัญหากัดเซาะชายฝั่งทะเล หรือมีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาขึ้นในอนาคต และเพื่อใช้เป็นแนวทางในการคัดเลือกมาตรการจัดการป้องกัน แก้ไข หรือฟื้นฟูพื้นที่แต่ละแห่งตามความเหมาะสม อีกทั้งยังจัดทำแผนการจัดการ และแผนปฏิบัติการระดับพื้นที่ ร่วมกับหน่วยงานระดับท้องถิ่น และผู้ที่เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้ส่วนเสียในการใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมถึงแก้ไข และฟื้นฟูสภาพพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่ประสบปัญหาการกัดเซาะให้กลับคืนสู่สมดุลธรรมชาติ สามารถใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศได้ตามศักยภาพ
5.การพัฒนาระบบกำกับ ตรวจสอบ และควบคุมการดำเนินงานด้านการจัดการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง โดยมุ่งปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่ และเกี่ยวข้องให้เหมาะสม และมีประสิทธิภาพในการบังคับใช้โดยเฉพาะในพื้นที่วิกฤติหรือพื้นที่เร่งด่วน และกำหนดมาตรการเชิงรุกในการติดตาม และตรวจสอบสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงชายฝั่งทะเล ตลอดจนจัดทำระบบประเมินผลการดำเนินงานป้องกัน และแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในระดับพื้นที่
อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ถือเป็นวิกฤติของประเทศที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ทุกฝ่ายควรร่วมมือกันค้นหาสาเหตุที่แท้จริงแล้วร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกัน เพื่อรักษา และปกป้องผืนแผ่นดินไทยเอาไว้ให้ลูกหลานต่อไป.
ที่มา: เดลินิวส์ วันที่ 25 กันยายน 2550
นกกินเปี้ยว
[ 27 ก.ย. 2550 11:29:01 ]