กระทู้-08678 : ข้อคิดในการใช้คำ

Home » Board » หอย

ข้อคิดในการใช้คำ

ข้อคิดในการใช้คำ

เมื่อหมายถึงสัตว์ในกลุ่ม Cephalopoda เราควรจะใช้คำไหน หรือคำไหนเป็นคำที่ถูกต้อง ระหว่าง “ปลาหมึก” กับ “หมึก”  ผู้ที่เห็นว่าควรใช้ “หมึก” มักจะอ้างเหตุผลทางวิชาการว่า “ปลาหมึก” ไม่ใช่ “ปลา”  ตามความหมายทางวิชาการเพราะเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง และยังอยู่กลุ่มเดียวกับสัตว์จำพวกหอยอีกต่างหาก  ในฐานะที่ผู้เขียนทำงานวิจัยด้านนี้ จึงมักได้รับคำถามนี้อยู่เสมอ สำหรับผู้เขียนเอง คำตอบจะเป็นว่า ถูกทั้งสองคำ  และใช้ได้ทั้งสองคำ  แต่สำหรับการใช้ในภาษาราชการ ภาษาวิชาการ และภาษากลาง (ไม่ใช่ภาษาท้องถิ่น)  ควรใช้ “ปลาหมึก” มากกว่าคำว่า “หมึก” ด้วยเหตุผลหลายประการ   ซึ่งก็ต้องใช้เวลาในการแจกแจงแก่ผู้ฟังพอสมควร

โอกาสนี้จึงขอรวบรวมเหตุผลเหล่านั้น ไว้ดังนี้
1.  เป็นการใช้ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2542  ทั้งสองคำมีคำนิยามปรากฏในพจนานุกรมฯ แต่ “ปลาหมึก” เป็นคำหลัก  ส่วน “หมึก” เป็นคำรอง  ซึ่งตรงนี้ในพจนานุกรมฯใช้สำนวนว่า “หมึก ก็เรียก”  คำนิยามดังกล่าว คือ

ปลาหมึก  (น.)   ชื่อสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่มีขา ซึ่งเรียกว่าหนวดอยู่ที่บริเวณหัว อาศัยอยู่ในทะเล มีถุงบรรจุน้ำสีดำอย่างหมึกสำหรับพ่นเพื่อพรางตัว มีหลายสกุล เช่น ปลาหมึกกระดอง สกุล Sepia ในวงศ์ Sepiidae, ปลาหมึกกล้วย สกุล Loligo  และปลาหมึกหอม  (Sepioteuthis lessoniana)  ในวงศ์ Loliginidae, ปลาหมึกสาย สกุล Octopus ในวงศ์ Octopodidae, หมึก ก็เรียก

2.  คำว่า “หมึก”  ก่อให้เกิดความสับสนเมื่อใช้ในชีวิตประจำวัน และการสื่อความหมายทั่วไป แม้ว่าจะมีชาวประมงที่ใช้คำว่า “หมึก” ก็ตาม แต่เมื่อกล่าวถึงโดยที่ผู้ฟังไม่มีภูมิหลังมาก่อน หรือผู้ฟังอยู่ในอีกสิ่งแวดล้อมหนึ่ง มักไม่เข้าใจว่าสื่อความหมายถึง “น้ำหมึก (ink) ” ในปากกา หรือ “ปลาหมึก” ที่เป็นสัตว์  พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2542 ให้คำนิยาม คำว่า “หมึก 1” ไว้ว่า “น้ำหรือแท่งสำหรับขีดเขียน ตามปรกติมีสีดำจัด”  และ “โดยปริยายหมายถึงสิ่งอื่นๆ ที่ใช้เขียนหรือพิมพ์หนังสือ เช่น หมึกแดง หมึกแห้ง หมึกพิมพ์”  
ส่วนคำว่า “หมึก 2” นั้น พจนานุกรมฯไม่ได้คำนิยาม แต่อ้างอิงว่า “ดู  (คำว่า)  ปลาหมึก”
   
ลองเปรียบเทียบประโยค 2 ประโยค ระหว่าง “หมึกพ่นหมึก” กับ “ปลาหมึกพ่นหมึก” ว่าประโยคไหนที่สื่อความหมายได้ชัดเจนกว่ากัน?

3.  คำว่า “หมึก”  ถ้าหมายถึงสัตว์น้ำ เป็นคำที่ขาดความหมายในมิติทางสังคม ภาษา และวัฒนธรรม  เพราะคำว่า “ปลา” ในความหมายทางชีววิทยา แน่นอนว่าหมายถึง “สัตว์เลือดเย็น มีกระดูกสันหลัง พบทั้งในทะเล และแหล่งน้ำจืด.......ส่วนใหญ่หายใจทางเหงือก.......บางชนิดมีเกล็ด บางชนิดไม่มี.......” (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2542)     ซึ่งย่อมไม่ใช่ ปลาหมึกที่เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง แต่ในความหมายของชาวบ้าน และชาวประมงคำว่า “ปลา” เป็นคำในลักษณะของการบ่งชี้หรือการจำแนกโดยหมายรวมถึง สิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่อาศัยอยู่ในน้ำไม่จำกัดว่ามีหรือไม่มีกระดูกสันหลัง  ดังที่เรามีคำว่า ปลาดาว ปลาวาฬ ปลาโลมา ปลาพะยูน ที่เป็นคำดั้งเดิม โดยที่ภูมิปัญญาชาวบ้านเองก็ตระหนักดีว่าสัตว์ดังกล่าวเหล่านี้มีความแตกต่าง และไม่ได้เป็นพวกเดียวกับ“ปลา” (ในทางวิชาการ)   อีกนัยหนึ่งคำว่า“ปลา”เป็นคำนำหน้าที่บ่งบอกลักษณะเท่านั้น เพื่อประโยชน์ในการแยกแยะว่า อะไรอยู่ในน้ำ (ปลาหมึก)  อะไรไม่อยู่ในน้ำ (น้ำหมึกปากกา)   นอกจากนั้นคำว่า ปลาดาว ปลาวาฬ ปลาโลมา ก็ล้วนแต่เป็นคำหลักในพจนานุกรมฯทั้งสิ้น ด้วยเหตุผลข้างต้น

ในภาษาอังกฤษ ก็มีคำในลักษณะนี้อยู่เช่นกัน ปลาดาว แมงกะพรุน  (แมงกะพรุน เป็นคำหลักในพจนานุกรมฯ)   สองคำนี้ภาษาอังกฤษใช้ว่า star fish  และ jelly fish ตามลำดับ จะเห็นได้คำว่า fish  ที่แปลว่า “ปลา”  ก็เป็นคำที่แสดงมิติทางสังคม ภาษา และวัฒนธรรมโดยไม่จำเป็นต้องยึดหลักวิชาการเช่นกัน  

ในภาษาไทย ยังมีคำในลักษณะเดียวกันที่เราใช้เรียกผลไม้ เช่น มะม่วง มะพร้าว  คำว่า “มะ” กร่อนเสียงมาจากคำว่า “หมาก”  ซึ่งลำพังตัวคำว่า“หมาก”เองก็เป็นชื่อของต้นไม้ และผลไม้ในกลุ่มปาล์ม  (เช่น หมากแดง หมากเขียว)   ถ้าเรายึดถือมิติทางวิชาการเพียงด้านเดียวโดยไม่ถือมิติทางสังคม ภาษา และวัฒนธรรมด้วยแล้ว  เราก็ควรเรียก มะม่วง ว่า “ม่วง”  และมะพร้าว ว่า “พร้าว” จึงจะถูกหลักวิชาการ แต่ผลที่ได้ก็มีแต่จะสร้างความสับสน และทำลายความสวยงาม และสุนทรีย์ทางวัฒนธรรมไปเปล่าๆ

ถ้าเรายึดมิติทางวิชาการเพียงมิติเดียว เราก็ต้องเรียก “โพด”  ไม่ใช่  “ข้าวโพด” อย่างทุกวันนี้ จริงหรือไม่?

4.  ในวงการวิชาการเองก็มีการพูดคุยถกเถียงในประเด็นดังกล่าวเช่นกัน แล้วสรุปว่า ควรใช้คำว่า “ปลาหมึก” เมื่อกล่าวถึงสัตว์กลุ่มนี้ในทางวิชาการโดยทั่วไปตามเหตุผลข้างต้น  และอาจใช้ “หมึก”ในภาษาพูดหรือเมื่อมีการเกริ่นนำเป็นการเฉพาะตามแต่ละกรณี   มีเกร็ดเล็กๆ ที่น่าประหลาดใจเล่าให้ฟังได้ว่า ระหว่างการหาข้อสรุป น่าแปลกที่ผู้สนับสนุนให้ใช้ “หมึก” (เฉยๆ ) ในทางวิชาการส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการรุ่นเก่าหรือรุ่นอาวุโส  ส่วนผู้ที่เห็นว่าควรใช้“ปลาหมึก”ส่วนใหญ่กลับเป็นนักวิชาการรุ่นใหม่รวมกับนักวิชาการอาวุโสบางท่าน ทั้งที่น่าจะเป็นตรงกันข้าม  และหลายคนในกลุ่มที่เห็นว่าควรใช้ “ปลาหมึก” ก็ล้วนเป็นผู้ที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปลาหมึกโดยตรง

ดังนั้นการจะเลือกใช้คำใดควรพิจารณาด้วยว่า ภาษาเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่เกี่ยวพันกับความซับซ้อนของสังคม อารยธรรม และวัฒนธรรมของมนุษย์ นอกจากจุดมุ่งหมายหลักที่เป็นไปเพื่อการสื่อสารระหว่างมนุษย์ที่สามารถเคลื่อนไหวแปรเปลี่ยนไปตามบริบทของสังคมมนุษย์แล้ว  ยังเป็นสิ่งที่สะท้อนความงาม และสุนทรียภาพในความหลากหลายของวัฒนธรรม  มิติทางวิชาการด้านเดียวจะกลายเป็นข้อจำกัดที่จะลดทอนความงามนั้นให้หม่นหมองไป  ในภาวะที่วัฒนธรรมโลกาภิวัฒน์ไหลบ่าเข้าสู่ประเทศไทยนั้นการอนุรักษ์ภาษา และวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยไว้น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

               ดร. จารุวัฒน์ นภีตะภัฏ
jaruwatnabhitabhata approve [ 11 พ.ย. 2550 13:15:20 ]
ความคิดเห็นที่: 1
โอ้ว! มาเองเลยนะครับ

แล้วแวะมาให้ความรู้บ่อยๆ นะครับ
นกกินเปี้ยว approve [ 11 พ.ย. 2550 14:19:01 ]
ความคิดเห็นที่: 2
ขอบคุณสำหรับความรู้ขอรับ ดร.
electron approve [ 11 พ.ย. 2550 19:09:27 ]
ความคิดเห็นที่: 3
ขอบคุณครับ

ขอเสนอ "หอยหมึก" หุหุ
GreenEyes approve [ 11 พ.ย. 2550 20:27:13 ]
ความคิดเห็นที่: 4
เรียนเชิญมาให้ความรู้กับพวกเราบ่อยๆ นะครับ
นณณ์ approve [ 12 พ.ย. 2550 01:05:26 ]
ความคิดเห็นที่: 5
ขอบคุณครับ

ตอนเรียน ก็จำได้ว่า อ. เฉลิมวิไล เคยบอกไว้ว่า ให้ใช้คำว่าปลาหมึก ...
...แก้ไขเมื่อ 12 พ.ย. 2550 05:56:49
ball approve [ 12 พ.ย. 2550 05:55:05 ]
ความคิดเห็นที่: 6
หมึกหกรดมุ้ง มุ้งเลอะหมึกหมด
หมึก ชื่อ ปลาหมึก

ขอขอบคุณ ดร. ด้วยครับ สำหรับความรู้

ขออนุญาตินำบทความนี้ไปใส่ใน Article ในหมวดความรู้เท่าไปได้ไหมครับ?
ไอ้ลูกทุ่ง approve [ 12 พ.ย. 2550 10:58:57 ]
ความคิดเห็นที่: 7
ช่างดีแท้ที่ได้ท่านครูมาช่วยเติมเต็มที่นี่
สังคมสัตว์ตัวนิ่ม (Mollusca) ก็อุ่นหนาฝาคั่งขึ้นมาเปนลำดับ
ampelisciphotis approve [ 12 พ.ย. 2550 16:11:50 ]
ความคิดเห็นที่: 8
มาขอบคุณด้วยคนครับ
JJ approve [ 12 พ.ย. 2550 16:18:09 ]
ความคิดเห็นที่: 9
ขอบคุณขรัวท่านขอรับ แวะเวียนมาบ่อยๆ  นะขอรับ
หอยทากชรา approve [ 12 พ.ย. 2550 17:08:10 ]
ความคิดเห็นที่: 10
จะเอาไปใส่ใน article หมวดความรู้ทั่วไปก็ได้เลยครับ  ยินดี

กลุ่มปลาหมึกก็มี "หอย" นะครับ ก็ "หอยงวงช้าง (nautilus)" กับ "หอยงวงช้างกระดาษ (argonaut, paper nautilus)" ไงครับ  พวกหลังนี่เป็นพวกปลาหมึกสายหรือปลาหมึกยักษ์ (octopus)

จารุวัฒน์
jaruwatnabhitabhata [ 12 พ.ย. 2550 17:40:16 ]
jaruwatnabhitabhata@gmail.com
ความคิดเห็นที่: 11
ขอบคุณครับ
คนนั้น approve [ 12 พ.ย. 2550 18:26:56 ]
ความคิดเห็นที่: 12
ขอบคุณมากครับ เอาไปใส่ไว้เรียบร้อยแล้วครับ

ทั้งนี้ได้แอ๊บภาพ(ปลา)หมึกกล้วยจากทะเลตรังของนาย a_a ไปใส่ในบทความด้วยครับ ขอบคุณอีกคนด้วยเด้อ ฮ้อยยยยยย
ไอ้ลูกทุ่ง approve [ 12 พ.ย. 2550 21:29:43 ]
ความคิดเห็นที่: 13
ขอบคุณมากครับ
Due_n approve [ 12 พ.ย. 2550 22:24:56 ]
ความคิดเห็นที่: 14
ขอบคุณอาจารย์จารุวัฒน์มากๆ ครับ
ได้ความรู้ และข้อคิดที่ดีมากๆ ครับ
สังเกตุได้ว่าจากข้อ 4. บุคคลกลุ่มแรกน่าจะเป็นคนรุ่นเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย
เหตุการณ์ดังข้อ 4 เคยเกิดขึ้นกับวงการดนตรีไทยดังที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่องโหมโรง
ในสมัยนั้นเป็นยุคชาตินิยม มีความคิดที่จะให้ตัดคำว่าลาว จีน แขก มอญ เขมร ฯ ลฯ  ออกจากชื่อเพลงทั้งหมด ( ถ้าเช่นนั้นเพลง "แขกมอญ"จะเหลืออะไรให้เรียกชื่อเพลง)
บุคคลกลุ่มนี้มักเป็นนักเรียนนอก ที่ขาดความรู้ความเข้าใจในรากเหง้าของวัฒนธรรมของชาติตัวเอง จึงมักมีมุมมองในด้านเดียวทื่อๆ
หอยงวงท่อ approve [ 14 พ.ย. 2550 13:11:26 ]
ความคิดเห็นที่: 15
หาก​ให้​ตัดคำ​ว่าลาว​ ​จีน​ ​แขก​ ​มอญ​ ​เขมร​ ​ฯ ลฯ ​ ​ออก​จาก​ชื่อเพลง​ทั้ง​หมด​ ​​เพลง​ "​แขกมอญ​"​ ก็อาจจะไม่มีอยู่จนถึงทุกวันนี้ หากเป็นเช่นนั้นก็นับได้ว่าต้องเกิดการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่กับดนตรีไทยทีเดียว
สุวรรณภูมิ approve [ 14 พ.ย. 2550 17:40:40 ]
ความคิดเห็นที่: 16
เพลงจำพวกออกภาษานี่ นับว่าเป็นเอกลักษณ์ของดนตรีไทยเลยก็ว่าได้  และเป็นอัจฉริยภาพของคีตกวีไทยที่สามารถ แต่งเพลงในรูปแบบโครงสร้างทางดนตรีแบบไทยแท้ๆ  ให้มีสำเนียงเลียนแบบชนชาติต่างๆ  ได้ นับได้ถึง12 ภาษา คือ ลาว เขมร พม่า มอญ ญวน แขก จีน ญี่ปุ่น ชวา ฝรั่ง ข่า รวมไทยด้วยเป็น 12 ซึ่ง เพลงจำพวกนี้เมื่อประกอบการแสดงละคร หรือหุ่น ที่มีฉากชาวต่างชาติ เช่น เรื่องพระอภัยมณี  จะได้อรรถรสยิ่งนัก
หอยงวงท่อ approve [ 15 พ.ย. 2550 12:59:32 ]
Mollusc__reply_53977.jpg
ความคิดเห็นที่: 17
แวะเข้ามาเรื่องดนตรีไทยแล้วก็ขออ้างอิงประวัติศาสตร์ด้วยได้ไหมครับคุณพี่หอยงวงท่อ เช่น เมื่อการณ์ก่อน... ท่านพระมหา​เถรคันฉ่อง ซึ่ง เป็นพระชาวรามัญท่านเป็นพระอาจารย์ถ่ายทอดศิลปะวิทยาการต่างๆ แก่สมเด็จพระนเรศ(องค์ดำ)  ทำให้ไทย และรามัญเป็นมิตร และเอื้ออาธรณ์กันเสมอมา
แม้นกาลผ่านไป...ชาวรามัญต้องสูญสิ้นบ้านเมือง ศิลปะการดนตรีของมอญก็มิได้ถูกปล่อยให้สูญสิ้นไปด้วย ทั้งยังได้รับการดูแลรักษาสืบทอดไว้เป็นอย่างดีในผืนแผ่นดินไทย

ตอนแรกผมก็ไม่ได้สนใจว่าเหตุใดดนตรีมอญจึงฝังรากสนิทสนมกับดนตรีไทยได้เป็นอย่างดี เมื่อมีครูชี้แนะจึงได้ทราบประเด็นนี้เพิ่มขึ้นครับ
...แก้ไขเมื่อ 16 พ.ย. 2550 01:44:54
สุวรรณภูมิ approve [ 15 พ.ย. 2550 14:56:32 ]
ความคิดเห็นที่: 18
คุณลำพะเนียงต้องชอบแน่เลย  เกี่ยวกับชาวมอญ
mim4042 approve [ 15 พ.ย. 2550 16:16:59 ]
ความคิดเห็นที่: 19
เห็นด้วยกับประเด็นในข้อ 3 ของกระทู้
ผมอยากเรียกปลาหมึกเหมือนเดิมนั่นแหละ...มันเป็นคอมมอนเนม ไม่เห็นต้องใส่ใจอะไร?...รวมทั้งปลาวาฬ ปลาโลมา ปลาพะยูนด้วย   แต่ขอให้รู้ว่ามันไม่ใช่ปลา ก็แค่นั้น...อ้อ รวมทั้งปลิงทะเลด้วยครับ
ถ้างั้น เลิกเรียกสัปปะรดว่า ไพน์แอ๊ปเปิ้ล(มันไม่ใช่แอ๊ปเปิ้ล)...ห้ามเรียกกระรอกทุ่งหญ้าอเมริกาว่า แพร์รี่ด๊อก(มันไม่ใช่สุนัข)...
snakeeater approve [ 15 พ.ย. 2550 21:00:08 ]
Mollusc__reply_54266.jpg
ความคิดเห็นที่: 20
สืบเนื่องจากข้อเขียน เลยขอส่งมาให้พวกเราดูกัน 2 รูป รูปที่  1 ครับ ขอออกตัวก่อนว่าไม่ได้เจตนาอาจเอื้อมใดๆ ว่าท่านเห็นด้วยกับข้อเขียนของผม เพียง แต่อยากให้พวกเราดูแนวคิดของท่านทั้งสองเท่านั้น

จารุวัฒน์
jaruwatnabhitabhata approve [ 16 พ.ย. 2550 17:31:01 ]
jaruwatnabhitabhata@gmail.com
Mollusc__reply_54268.jpg
ความคิดเห็นที่: 21
รูปที่ 2 ครับ

จารุวัฒน์
jaruwatnabhitabhata approve [ 16 พ.ย. 2550 17:37:18 ]
ความคิดเห็นที่: 22
ตอนนี้โพสต์ภาพไม่ได้ครับ ขัดข้องเล็กน้อย ภาพเลยไม่ขึ้น ไว้มาโพสต์ใหม่นะครับ จะรอชม
นกกินเปี้ยว approve [ 16 พ.ย. 2550 20:41:22 ]

- ปิดกระทู้ -

www.siamensis.org - Thailand Fish & Nature Explorer
An independent non-profit group
Established 2001
 All Rights Reserved 2001-2010 ©siamensis.org