กระทู้-08684 : ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตอนที่ 2

Home » Board » ท่องเที่ยว

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตอนที่ 2

เว้นว่างห่างหายไปเสียนาน ด้วยว่า internet ที่ทำงานทุรยศนัก เพิ่งมาพอใช้ได้ก็ในเพลานี้ กระผมจึ่งใคร่ขอนำเสนอเกี่ยวกับกระบวนเรือพระราชพิธีต่อจากคราวที่แล้วก็แล้วกันขอรับ ขออนุญาตขึ้นกระทู้ใหม่ ด้วยว่าของเก่าจะหลุดไปหน้าต่อไปอยู่แล้ว คงมีใคร่สะดวกท่านๆ  ในการเข้ายลสักเท่าใด ต้องขออภัยท่านทั้งหลายไว้ล่วงหน้า ถ้าเนื้อหาที่นำเสนอไม่แน่นถึงใจเท่าใด ด้วยว่ามีความรู้เพียงผิวเผินในเรื่องนี้ขอรับ เพื่อให้สะดวกในการนำเสนอของกระผม ใคร่ขอเริ่มต่อจากคราวที่แล้ว อย่างที่กล่าวแล้วว่า ขบวนพยุหยาตราชลมารคครั้งนี้เป็นการจัดพยุหยาตราใหญ่  ซึ่งจัดริ้วกระบวนเรือ 5 สาย โดยกระบวนเรือจะประกอบด้วยริ้วกระบวน 5 ริ้ว ใช้เรือทั้งสิ้น 52 ลำ โดยมีเรือประเภทต่างๆ  ประกอบริ้วกระบวน ดังนี้
      เรือประตูหน้า : เป็นเรือนำริ้วกระบวน ประกอบด้วยเรือ 2 ลำ เป็นเรือลำหน้าสุดของริ้วที่ 1  และที่ 5 ใช้เรือทองขวานฟ้า  และเรือทองบ้าบิ่น
...แก้ไขเมื่อ 12 พ.ย. 2550 20:58:47
หอยทากชรา approve [ 12 พ.ย. 2550 20:42:34 ]
TravelPics_reply_52999.jpg
ความคิดเห็นที่: 1
ยลอย่างใกล้ๆ  ทั้งสองลำขอรับ เรือทั้งสองลำ มีลักษณะเป็นเรือดั้งทาน้ำมัน ยอดดั้งปิดทอง
...แก้ไขเมื่อ 12 พ.ย. 2550 20:59:52
หอยทากชรา approve [ 12 พ.ย. 2550 20:44:59 ]
TravelPics_reply_53000.jpg
ความคิดเห็นที่: 2
เรือพิฆาต : เป็นเรือรบที่อยู่ในริ้วกระบวนที่ 1  และ ที่ 5 ถัดจากเรือประตูหน้า เข้ามาในกระบวน หัวเรือเป็นรูปเสือ มีปืนจ่ารงตั้งที่หัวเรือ ได้แก่ เรือเสือทะยานชล  และเรือเสือคำรนสินธุ์ เรือดัวกล่าวปกติจะแล่นส่าย โดยเรือเสือทะยานชลแล่นส่ายนอกขวา ส่วนเรือเสือคำรนสินธุ์แล่นส่ายนอกซ้าย
...แก้ไขเมื่อ 12 พ.ย. 2550 20:51:45
หอยทากชรา approve [ 12 พ.ย. 2550 20:51:03 ]
TravelPics_reply_53002.jpg
ความคิดเห็นที่: 3
 เรือเสือคำรนสินธุ์ : ฝีพายสวม หมวกกลีบลำดวนขลิบเหลือง เสื้อปัศตูแดงขลิบเหลือง กางเกงปัศตูแดงขลิบเหลือง ผ้ารัดประคดหน้าเชิง เรือทั้งสองลำสร้างมา แต่ครั้งรัชกาลที่ 1 หัวเรือเขียนสีเป็นรูปเสือ ลำเรือภายนอกทาสีเหลืองลายเสือ ไม่ลงรักปิดทอง ภายในท้องเรือทาสีแดง ฝีพาย 26 คน นายท้าย 1 คน นายเรือ 2 คน นั่งคฤห์กัญญา 3 คน พลสัญญาณ 1 คน
...แก้ไขเมื่อ 12 พ.ย. 2550 21:03:24
หอยทากชรา approve [ 12 พ.ย. 2550 20:55:29 ]
TravelPics_reply_53010.jpg
ความคิดเห็นที่: 4
   เรือดั้ง : ลักษณะหัวท้ายงอนขึ้น เป็นเรือขุดธรรมดาทาน้ำมัน ไม่มีลวดลาย ใช้สำหรับเป็นเรือรอบนอกของกระบวน โดยอยู่ในริ้วขวาสุด และซ้ายสุด ฝีพายเรือดั้ง จะสวมหมวกทรงประพาสสีดำขลิบแดงยอดแหลม เสื้อดำขลิบปลายแขนแดง กางเกงแดงริ้วดำ รัดประคดแดงหน้าเชิง
...แก้ไขเมื่อ 12 พ.ย. 2550 21:19:11
หอยทากชรา approve [ 12 พ.ย. 2550 21:15:31 ]
TravelPics_reply_53014.jpg
ความคิดเห็นที่: 5
เรือดั้งปิดทองทึบ : ลักษณะเป็นเรือขุดธรรมดา  แต่ปิดทองทึบทั้งลำ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เรือโขมดยา (เรือตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช)
หอยทากชรา approve [ 12 พ.ย. 2550 21:22:13 ]
ความคิดเห็นที่: 6
เรือกลองใน-กลองนอก : เป็นเรือกราบ (เป็นเรือขุดธรรมดา ทำน้ำมัน ลักษณะหัวเรือเชิดขึ้นเหนือแนวน้ำ) อยู่ในริ้วกลางหรือริ้วที่ 3 มีปี่ชวา และกลองแขกสำหรับบรรเลง มี 2 ลำ ได้แก่
        - เรือกลองใน (ใช้เรือแตงโม) อยู่บริเวณกลางกระบวน ข้างหน้าเรือพระที่นั่ง สำหรับผู้บัญชาการกระบวนเรือ
        - เรือกลองนอก (ใช้เรืออีเหลือง) อยู่หน้าสุดของริ้วกลาง เป็นเรือสำหรับรองผู้บัญชาการกระบวนเรือ

     เรือตำรวจใน-ตำรวจนอก : เป็นเรือกราบ มีพระตำรวจกลวงชั้นปลัดกรม นั่งคฤห์ มี 2 ลำ ได้แก่
        - เรือตำรวจใน อยู่ในริ้วกลางหน้าเรืออนันตนาคราช
        - เรือตำรวจนอก อยู่หน้าถัดจากเรือตำรวจใน
หอยทากชรา approve [ 12 พ.ย. 2550 21:30:15 ]
TravelPics_reply_53026.jpg
ความคิดเห็นที่: 7
เรือรูปสัตว์ : เป็นเรือแกะสลัก หัวเรือเป็นรูป อสูร ขุนกระบี่ พญาวานร  และครุฑ ปัจจุบันมีอยู่ 4 คู่ หรือ 8ลำ  จัดให้อยู่ในริ้วกระบวนที่ 2  และ 4 โดยอยู่ถัดระดับจากเรือตำรวจนอกเข้ามา โดยมีตำแหน่งเรือ เรียงตามลำดับดังนี้
      เรืออสุรวายุภักษ์                 คู่กับ    เรืออสุรปักษี (อสูร)
      เรือกระบี่ราญรอนราพณ์     คู่กับ    เรือกระบี่ปราบเมืองมาร (กระบี่)
      เรือพาลีรั้งทวีป                  คู่กับ    เรือสุครีพครองเมือง (พญาวานร)
      เรือครุฑเหินเห็จ                 คู่กับ    เรือครุฑเตร็จไตรจักร

เริ่มจากคู่แรก
   เรืออสุรวายุภักษ์ เรือลำนี้สร้างในรัชกาลที่ 1 มีรูปหัวเรือเป็นนกหน้ายักษ์ ลายเขียนสีม่วงอมเทา ลงรักปิดทองประดับกระจก มีความยาวประมาณ 30 เมตร ใช้ฝีพาย 40 คน
...แก้ไขเมื่อ 12 พ.ย. 2550 22:36:35
หอยทากชรา approve [ 12 พ.ย. 2550 21:40:09 ]
TravelPics_reply_53030.jpg
ความคิดเห็นที่: 8
ยลเรืออสุรวายุภักษ์ อย่างใกล้ๆ  (เท่าที่กล้องสามารถถ่ายได้) อีกสักภาพขอรับ
หอยทากชรา approve [ 12 พ.ย. 2550 21:43:08 ]
TravelPics_reply_53032.jpg
ความคิดเห็นที่: 9
เรืออสุรปักษี : เป็นเรือนกหน้ายักษ์ ลายเขียนสีเขียว ลงรักปิดทองประดับกระจก
หอยทากชรา approve [ 12 พ.ย. 2550 21:46:43 ]
TravelPics_reply_53035.jpg
ความคิดเห็นที่: 10
เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ : สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 หัวเรือเป็นรูปขุนกระบี่สีดำ ลงรักปิดทองประดับกระจก ความยาวเรือประมาณ 26.8 เมตร ใช้ฝีพาย 36 คน
...แก้ไขเมื่อ 12 พ.ย. 2550 21:50:10
หอยทากชรา approve [ 12 พ.ย. 2550 21:49:27 ]
TravelPics_reply_53036.jpg
ความคิดเห็นที่: 11
กระบี่ราญรอนราพณ์
หอยทากชรา approve [ 12 พ.ย. 2550 21:52:17 ]
TravelPics_reply_53037.jpg
ความคิดเห็นที่: 12
เรือกระบี่ปราบเมืองมาร : สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 หัวเรือเป็นรูปขุนกระบี่สีขาว ลงรักปิดทองประดับกระจก ความยาวเรือประมาณ 26.8 เมตร ใช้ฝีพาย 36 คน เช่นกัน
หอยทากชรา approve [ 12 พ.ย. 2550 21:53:00 ]
TravelPics_reply_53038.jpg
ความคิดเห็นที่: 13
กระบี่ปราบเมืองมาร
หอยทากชรา approve [ 12 พ.ย. 2550 21:53:37 ]
TravelPics_reply_53039.jpg
ความคิดเห็นที่: 14
เรือพาลีรั้งทวีป : สร้างในรัชกาลที่ 1 หัวเรือเป็นรูปพญาวานรสีเขียว ลงรักปิดทองประดับกระจก มีความยาวประมาณ  27.45 เมตร ใช้ฝีพาย 34 คน
หอยทากชรา approve [ 12 พ.ย. 2550 21:56:47 ]
TravelPics_reply_53040.jpg
ความคิดเห็นที่: 15
เรือสุครีพครองเมือง : สร้างในรัชกาลที่ 1 หัวเรือเป็นรูปพญาวานรกายสีแดง ลงรักปิดทองประดับกระจก มีความยาวประมาณ  27.45 เมตร ใช้ฝีพาย 34 คน
หอยทากชรา approve [ 12 พ.ย. 2550 21:57:47 ]
TravelPics_reply_53044.jpg
ความคิดเห็นที่: 16
   เรือครุฑเหินเห็จ : เรือลำนี้สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 เช่นกัน หัวเรือเป็นรูปครุฑยุดนาค กายครุฑสีแดง เรือยาวประมาณ 27 เมตร ใช้ฝีพาย 34 คน
หอยทากชรา approve [ 12 พ.ย. 2550 22:00:46 ]
TravelPics_reply_53047.jpg
ความคิดเห็นที่: 17
เรือครุฑเตร็จไตรจักร : เรือลำนี้สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 เช่นกัน หัวเรือเป็นรูปครุฑยุดนาค กายครุฑสีชมพู  เรือยาวประมาณ 27 เมตร ใช้ฝีพาย 34 คน
  ฝีพายประจำเรือรูปสัตว์ทั้ง 8 ลำ  แต่งกายเฉกเช่นเดียวกัน คือ สวมหมวกสังกะสีลายยันต์ดำแดง เสื้อเสนากุฎลายหน้าสิงห์ กางเกงผ้าริ้วทางแดง รัดประคดแดงดอกขาว
หอยทากชรา approve [ 12 พ.ย. 2550 22:04:09 ]
ความคิดเห็นที่: 18
เรือพระที่นั่ง : มีนามเรียกกันไปตามหน้าที่ใช้สอย เช่น เรือต้น เรือพระที่นั่งทรง เรือพระที่นั่งรอง เป็นต้น เรือประเภทต่างๆ  ที่ยกตัวอย่างมานี้มีชื่อเรียก และหน้าที่ใช้สอย ดังนี้
     เรือต้น คือ เรือพระที่นั่งทรงของพระมหากษัตริย์  แต่มาสมัยหลังความหมายของเรือประเภทนี้ได้เปลี่ยนไปหมายถึง เรือลำที่พระมหากษัตริย์เสด็จลำลอง แปลงพระองค์ไปตรวจดูแลทุกข์สุขของราษฎรโดยที่มิให้ผู้อื่นรู้
      เรือที่นั่ง คือ เรือพระที่นั่ง ซึ่ง เรียกย่อ (ใช้เรียกเรือพระที่นั่งของพระบรมวงศานุวงศ์)
     เรือพระที่นั่งทรง คือ เรือพระที่นั่งของพระมหากษัตริย์ประทับ
     เรือพระที่นั่งรอง คือ เรือพระที่นั่งลำที่สำรองไว้สำหรับเรือพระที่นั่งเกิดอุปสรรค เรือพระที่นั่งรองคงพายไปในเรือกระบวนเสด็จด้วย
     เรือพระที่นั่งกิ่ง คือ เรือพระที่นั่งที่ขึ้นทำเนียบชั้นสูงสุด มีลวดลายอย่างสวยงามที่หัวเรือ เรือพระที่นั่งกิ่งอาจจะตั้งบุษบกหรือทอดบัญลังก์กัญญาก็ได้
      เรือพระที่นั่งเอกชัย เป็นเรือพระที่นั่งเกือบเทียบเท่าเรือพระที่นั่งกิ่ง มีลายสลักหรือประดับให้สวยงามอย่างเรือพระที่นั่ง ทรงโปรดเกล้าฯ  ให้พระบรมวงศานุวงศ์ประทับในเรือพระที่นั่งเอกชัย ร่วมไปกับกระบวนพยุหยาตรชลมารค
      เรือพระที่นั่งศรีสักหลาด  คือ เรือพระที่นั่งที่มีลวดลายสวยงาม เป็นเรือที่มักดาดกัญญาด้วยสักหลาดทุกลำ ต่อมาเรียกเพียงสั้นๆ  ว่า เรือพระที่นั่งศรี เรือพระที่นั่งชนิดนี้มักมีลวดลายที่สวยงามตลอดข้างลำเรือ ใช้สำหรับการเสด็จฯ  ลำลอง ไม่ได้นำเข้ากระบวนพระราชพิธี  แต่ต่อมาภายหลังได้นำเข้ากระบวนพยุหยาตราด้วยเช่นกัน
      เรือพระที่นั่งกราบ คือ เรือพระที่นั่งลำเล็ก ที่ใช้เสด็จฯ  ไปพร้อมๆ  กับเรือพระที่นั่งศรี สำหรับเปลี่ยนลำเสด็จ ฯ  เจ้าคลองเล็กคลองน้อยได้สะดวก
    เรือพระประเทียบ  คือ เรือพระที่นั่งสำหรับเจ้านายฝ่ายใน
หอยทากชรา approve [ 12 พ.ย. 2550 22:34:38 ]
TravelPics_reply_53058.jpg
ความคิดเห็นที่: 19
สวยสง่านาวาทรง         สุพรรณหงส์เหินทะยาน
 เหนือชลล้นตระการ              ปานเหมหงส์ทรงพรหมินทร์
     ทรงภู่ดูชดช้อย                พร้อยพร่างลำล้ำเลอศิลป์
ประดับเด่นเพ็ญโสภิณ           วารินรับจับเงางาม
                                                                     (กาพย์เห่เรือ สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี)


      เรือประที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นเรือสร้างใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แทนเรือเดิมมีนามว่า ศรีสุพรรณหงส์ ซึ่ง สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช นาวาสถาปนิกที่ต่อเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ คือ พลเรือตรี พรยาราชสงคราม รน. (กร หงสกุล) จัดเป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง หัวเรือเป็นรูปหงส์ ลงรักปิดทองประดับกระจก ภายนอกทาสีดำ ท้องเรือภายในทาสีแดง มีความยาว 44.90 เมตร ความกว้าง 3.14 เมตร ลึก 0.90 เมตร กินน้ำลึก 0.41 เมตร กำลัง 3.50 เมตร หมายถึง พายครั้งหนึ่งแล่นไปได้ไกล 3.50 เมตร ใช้ฝีพาย 50 คน นายท้าย 2 คน นายเรือ 2 คน คนถือธงท้าย 1 คน พลสัญญาณ 1 คน  และคนเห่เรือ 1 คน
...แก้ไขเมื่อ 12 พ.ย. 2550 23:13:14
หอยทากชรา approve [ 12 พ.ย. 2550 23:04:26 ]
TravelPics_reply_53060.jpg
ความคิดเห็นที่: 20
สุพรรณหงส์ทรงภู่ห้อย       งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์
             เพียงหงส์ทรงพรหมินทร์          ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม
                                                                      (กาพย์เห่เรือ พระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์)
หอยทากชรา approve [ 12 พ.ย. 2550 23:07:51 ]
TravelPics_reply_53063.jpg
ความคิดเห็นที่: 21
เรือพระที่นั่งอนัตนาคราช เป็นเรือที่สร้างใหม่ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แทนลำเดิมซึ่ง สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หัวเรือปิดทองประดับกระจกเป็นรูปพญานาค 7 เศียร ลำเรือแกะสลักเป็นรูปพญานาค เกี่ยวกระหวัดร้อยรัดทั้งลำเรือ จัดเป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง ลำเรือภายนอกทาสีเขียว ท้องเรือภายในทาสีแดง เรือยาว 42.95 เมตร กว้าง 2.95 เมตร ลึก 0.76 เมตร กินน้ำลึก 0.31 เมตร กำลัง 3.02 เมตร ฝีพาย 54 คน นายท้าย 2 คน นายเรือ 2 คน คนถือธงท้าย 1 คน พลสัญญาณ 1 คน คนเห่ 1 คน
...แก้ไขเมื่อ 12 พ.ย. 2550 23:25:03
หอยทากชรา approve [ 12 พ.ย. 2550 23:21:02 ]
TravelPics_reply_53067.jpg
ความคิดเห็นที่: 22
อนันตนาคราช                โอภาสผ่องทองทาบวาม
เศียรนาคภาคภูมิยาม        ตามต่อเลื่อนเคลื่อนคลาพาย
เลอพิลาสอาสน์ภุชงส์      บังลังก์ทรงองค์นารายณ์
อนันตนาคราชหมาย         กำจายศักดิ์จักรีวงศ์
                                     (กาพย์เห่เรือ สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี)
...แก้ไขเมื่อ 12 พ.ย. 2550 23:33:19
หอยทากชรา approve [ 12 พ.ย. 2550 23:24:24 ]
TravelPics_reply_53068.jpg
ความคิดเห็นที่: 23
เรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์ เป็นเรือที่สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดเป็นเรือพระที่นั่งศรี หัวเรือจำหลักปิดทองเป็นรูปพญานาคเล็กๆ  จำนวนมาก ลำเรือภายนอกทาสีชมพู ท้องเรือภายในทาสีแดง เรือยาว 45.50 เมตร กว้าง 3.15 เมตร ลึก 1.11 เมตร กินน้ำลึก 0.46 เมตร กำลัง 3.50 เมตร ใช้ฝีพาย 61 คน นายท้าย 2 คน นายเรือ 2 คน คนถือธงท้าย 1คน พลสัญญาณ 1 คน คนเห่ 1 คน
หอยทากชรา approve [ 12 พ.ย. 2550 23:29:29 ]
TravelPics_reply_53075.jpg
ความคิดเห็นที่: 24
อีกลำล้ำงามเอก             เรือเอนกชาติภุชงค์
เจ้าพระยาคราเรือลง     เกษียรสมุทรดุจเดียวกัน
โขนนาคหลากหลายหัว ยั่วตาจ้องมองเศียรสรรพ์
ดั่งเป็นเห็นผ่องพรรณ   ยรรยงลือฝีมือไทย
                                 (กาพย์เห่เรือ สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี)
หอยทากชรา approve [ 12 พ.ย. 2550 23:38:55 ]
TravelPics_reply_53080.jpg
ความคิดเห็นที่: 25
  เรือนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9  แต่เดิมเรือพระที่นั่งลำนี้จัดสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ชื่อมงคลสุบรรณ ต่อขึ้นเพื่อเลียนแบบอย่างเรือในสมัยอยุธยา โดยมีพระราชประสงค์ตามที่ปรากฏความในพระราชพงศาวดารว่า "ไว้เป็นเกียรติยศสำหรับแผ่นดิน"  โขนเรือจำหลักเป็นรูปพญาสุบรรณ หรือพญาครุฑยุดนาคเท่านั้น ต่อในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชดำริ ให้เสริมรูปพระนารายณ์ประทับยืนบนหลังสุบรรณ เพื่อความสง่างามของลำเรือ  และเพื่อให้ต้องตามคติพราหมณ์ ในเทวปกรณัมที่ว่า พญาสุบรรณนั้นเป็นเทพพาหนะของพระนารายณ์  และทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ  พระราชทานนามใหม่ให้กับเรือลำนี้ว่า "พระนารายณ์ทรงสุบรรณ" ต่อมาตัวเรือได้ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา
      เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 50 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2539  ซึ่ง ทางรัฐบาลได้จัดให้มีพระราชพิธีกาญจนาภิเศกขึ้น ในการนี้จึงได้มีการจัดสร้างเรือพระนารายณ์ทรงสุบรรณขึ้นมาใหม่ จัดเป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง ปัจจุบันมีลำดับเป็นเรือพระที่นั่งรอง ทอดบัลลังก์กัญญา เทียบเท่าเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์ โดยใช้โขนเรือเดิมเป็นต้นแบบ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  พระราชทานเรือพระที่นั่งที่ต่อใหม่นี้ว่า "เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9" เป็นเรือพระที่นั่งลำแรกที่สร้างในรัชกาลปัจจุบัน
หอยทากชรา approve [ 13 พ.ย. 2550 00:01:31 ]
TravelPics_reply_53082.jpg
ความคิดเห็นที่: 26
ฝีพายเรือพระที่นั่ง สวมหมวกทรงประพาส สักหลาดแดง  ติดแถบลูกไม้สีทอง เสื้อสักหลาดแดงติดแถบลูกไม้ใบสีทอง กางเกงผ้าเสิร์จสีดำ รัดปรเคดโหมดเทศ
หอยทากชรา approve [ 13 พ.ย. 2550 00:07:12 ]
TravelPics_reply_53084.jpg
ความคิดเห็นที่: 27
 เรือคู่ชัก : เป็นเรือที่ทำหน้าที่นำเรือพระที่นั่ง โดยอยู่ทางเบื้องขวาเฉียงไปทางด้านท้ายลำหนึ่ง ได้แก่ เรือเอกชัยเหินหาว  และอยู่ทางเบื้องซ้ายเฉียงไปทางด้านท้ายอีกลำหนึ่ง ได้แก่ เรือเอกชัยหลาวทอง
หอยทากชรา approve [ 13 พ.ย. 2550 00:11:12 ]
TravelPics_reply_53086.jpg
ความคิดเห็นที่: 28
เรือเอกชัยเหินหาว และเรือเอกชัยหลาวทอง เป็นเรือคู่ชักใช้นำหน้าหรือใช้ชักลากเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ในกรณีที่ฝีพายไม่เพียงพอ เรือทั้งสองเป็นเรือกระบวน ลงรักปิดทอง วาดลายเป็นรูปเหรา (อ่านว่า เห-รา) สร้างขึ้นตั้ง แต่สมัยรัชกาลที่ 1 เรือทั้งสองลำมีความยาวประมาณ 27.50 เมตร กว้าง 1.99 เมตร ใช้ฝีพาย 38 คน
หอยทากชรา approve [ 13 พ.ย. 2550 00:15:54 ]
TravelPics_reply_53089.jpg
ความคิดเห็นที่: 29
เรือตำรวจตาม ใช้เรือกราบกันยา ใช้เป็นพาหนะของพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์ที่ตามเสด็จในกระบวน มีตำแหน่งเรือในริ้วกลางต่อจากเรือผ้าไตรสำรอง (เรืออเนกชาติภุชงค์)
     เรือแซง ใช้เรือกราบกันยา เป็นเรือทหาร เรือแซงเสด็จทั้ง 2 ข้างของเรือพระที่นั่ง โดยอยู่ในริ้วนอกสุดของกระบวน มี 3 คู่ หรือ 6 ลำ
    เรือประตูหลัง ใช้เรือกราบกันยา 2 ลำ    รวมเรือในริ้วกระบวนทั้งสิ้น 52 ลำ

       ในภาพเป็นเรือแซง ทราบได้จาก ฝีพายสวมหมวกหูกระต่าย น้ำเงินขลิบเหลือง เสื้อขาวคอขลิบแขนน้ำเงิน กางเกงสีน้ำเงิน รัดประคดน้ำเงินดอกขาว ขอรับ
หอยทากชรา approve [ 13 พ.ย. 2550 00:22:56 ]
TravelPics_reply_53092.jpg
ความคิดเห็นที่: 30
 และแล้วเรือลำสุดท้ายก็แล่นผ่านไป ทิ้งไว้ แต่ภาพความประทับใจ
หอยทากชรา approve [ 13 พ.ย. 2550 00:26:47 ]
TravelPics_reply_53093.jpg
ความคิดเห็นที่: 31
ภาพภาพหนึ่งที่ประทับใจกระผมมาก คือ เมื่อขบวนเรือผ่านที่ประทับของในหลวง เรือทุกลำจะถวายความเคารพก่อนที่จะแล่นผ่านไป ทั้งขาไป และขากลับ
หอยทากชรา approve [ 13 พ.ย. 2550 00:28:00 ]
TravelPics_reply_53096.jpg
ความคิดเห็นที่: 32
ภาพนี้เป็นตอนที่เรือเสร็จภาระกิจ และกำลังกลับเข้าอู่ เมื่อผ่านที่ประทับ นายเรือ และฝีพายต่างก็ถวายความเคารพพ่อหลวง ที่ประทับอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช (ในขณะนั้น)
...แก้ไขเมื่อ 13 พ.ย. 2550 00:31:50
หอยทากชรา approve [ 13 พ.ย. 2550 00:31:29 ]
TravelPics_reply_53097.jpg
ความคิดเห็นที่: 33
เหล่าเรือ เมื่อยามเสร็จสิ้นภาระกิจ
หอยทากชรา approve [ 13 พ.ย. 2550 00:33:10 ]
TravelPics_reply_53099.jpg
ความคิดเห็นที่: 34
เมื่อใดอีกหนอ ที่จักได้มีโอกาสยลความอลังการ แห่งเรือพระราชพิธี อันเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในโลก
ถ้าท่านใดสนใจจักใคร่ยลเรือพระราชพิธีเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเก็บรักษาไว้ที่ อู่เก็บเรือพระราชพิธี ใกล้สะพานอรุณอัมรินทร์ คลองบางกอกน้อย เปิดให้เข้าชม เก็บค่าเข้าชมเพียง 10 บาท (ไม่แน่ใจว่าขึ้นราคาหรือยัง) ลองหาโอกาสไปยลมรดกไทยที่ไม่มีที่ใดในโลกเสมอเหมือน
หอยทากชรา approve [ 13 พ.ย. 2550 00:36:43 ]
TravelPics_reply_53100.jpg
ความคิดเห็นที่: 35
สุดท้ายขอขอบคุณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ที่เอื้อเฟื้อสถานที่ให้ได้ยลกระบวนเรือโดยไม่เสียค่าใช้สถานที่ แต่อย่างใด
     จบแล้วขอรับ สำหรับเรื่องราวที่พอจะรู้อยู่บ้างแค่ผิวเผิน  ถ้าหากท่านใดมีอันใดจักเพิ่มเติมให้ได้ความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น  และอย่างน้อยตัวกระผม และคนอื่นในสังคมนี้จักได้รู้มากขึ้น เชิญเถิด อย่าได้ช้าที ขอขอบพระคุณล่วงหน้าขอรับ  และขอบคุณทุกท่านที่พยายามอ่านจนจบ
หอยทากชรา approve [ 13 พ.ย. 2550 00:41:55 ]
ความคิดเห็นที่: 36
สุดยอดกระทู้ อภิมหึมามหาสาร(ะ)

ขอบคุณครับ  

ความเดิมครับ

http://siamensis.org/webboard/webboarddetail.php?board_id=8653
หนานโตน approve [ 13 พ.ย. 2550 02:02:01 ]
ความคิดเห็นที่: 37
ขอคารวะ พระอาจารย์ท่าน จิ้งเหลนตัวเฒ่านี้น้อมรับฟัง โดยดี
ปล อย่าได้ดูเบา
oldskink approve [ 13 พ.ย. 2550 02:05:50 ]
ความคิดเห็นที่: 38
ได้ความรู้มากมายเลยขอรับ  ขอบพระคุณยิ่ง
ลำพะเนียง approve [ 13 พ.ย. 2550 07:51:23 ]
ความคิดเห็นที่: 39
ประทับใจมาก ขอบพระคุณยิ่ง
oae [ 13 พ.ย. 2550 09:06:41 ]
ความคิดเห็นที่: 40
ขอบคุณมากครับ
JJ approve [ 13 พ.ย. 2550 09:42:27 ]
ความคิดเห็นที่: 41
แน่นด้วยสาระ ขอขอบคุณ และคาราวะ 1 ไหครับ.....
ไอ้ลูกทุ่ง approve [ 13 พ.ย. 2550 09:54:14 ]
ความคิดเห็นที่: 42
ขอบคุณคุณหอยทากชราสำหรับภาพสวยๆ  และข้อมูลดีๆ ครับ ผมเองได้ แต่ดูถ่ายทอดสดมีผู้รู้คอยบรรยายให้แบบนี้น่าสนใจครับ ได้ข้อมูลเรื่องคำประพันธ์ "กาพย์เห่เรือ" เพิ่มเติมมานิดหน่อยครับ

"กาพย์​เห่​เรือ​" ​ใช้​คำ​ประพันธ์​ 2 ​ชนิด คือ​  กาพย์ยานี​ 11 ​ และโคลงสี่สุภาพ ​เรียงร้อย​กัน​ใน​ลักษณะที่​เรียกว่า​ กาพย์ห่อโคลง ​โดยขึ้นต้น​ด้วย​โคลงสี่สุภาพ​ 1 ​บท​ ​แล้ว​ตาม​ด้วย​กาพย์ยานี​ 11 ​เรื่อยไป(ไม่จำกัดจำนวนบท)​ ​จนจบตอนหนึ่งๆ ​  ​โดย​ให้​กาพย์ยานี​ 11 ​บทแรก​จะมี​เนื้อ​ความ​เดียว​กัน​กับ​โคลงสี่สุภาพที่นำ​กาพย์  ​เมื่อ​จะ​ขึ้นตอน​ใหม่​ก็​จะ​ยกโคลงสี่สุภาพมาอีกหนึ่งบท​ ​แล้ว​ตาม​ด้วย​กาพย์จนจบตอน​ ​เช่นนี้สลับ​กัน​ไป

ข้อมูลเพิ่มเติมจากสารานุกรมไทยสำ​หรับเยาวชนฯ ​ ​เล่มที่​ 30...
วิธีการ​ และ​ขั้นตอน​ใน​การเห่​เรือพระราชพิธี หากเข้าอ่านไม่ได้ให้click ที่นี่
...แก้ไขเมื่อ 13 พ.ย. 2550 11:35:12
สุวรรณภูมิ approve [ 13 พ.ย. 2550 11:32:53 ]
ความคิดเห็นที่: 43
ความรู้ทั้งนั้น อยาก copy เก็บไว้ได้มั้ยครับ
เก่ง_ดอยอินฯ approve [ 13 พ.ย. 2550 17:41:40 ]
ความคิดเห็นที่: 44
ยินดีขอรับ  ถ้าสิ่งที่นำมาเสนอยังประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจ หากจะขอก็ แต่ ถ้าจักนำไปใช้งานอื่นที่ต้องอ้างอิงแล้วไซร้ อยากให้ท่าน เก่ง_ดอยอินฯ  สืบเสาะค้นหาที่เป็นรูปเล่มเอกสารมาอ้างอิงจักดีกว่านัก ด้วยว่าสิ่งที่เขียนไว้ในบอร์ดนี้ คงนำไปใช้อ้างอิงได้ไม่เต็มปากเต็มคำขอรับ
หอยทากชรา approve [ 13 พ.ย. 2550 17:46:29 ]
ความคิดเห็นที่: 45
ขอบคุณพี่หอยทากชรามากๆ  ค่ะ สำหรับความรู้
คิดถึงตอนอยู่ปี 1 ที่พี่คอยมานั่งเล่าเรื่องราวต่างๆ  ให้ฟังจังเลยค่ะ
ยายอ้วน approve [ 14 พ.ย. 2550 02:41:06 ]
ความคิดเห็นที่: 46
ยอดเยี่ยมที่สุดครับพี่ ได้สาระความรู้มากๆ
หอยงวงท่อ approve [ 14 พ.ย. 2550 13:36:45 ]

- ปิดกระทู้ -

www.siamensis.org - Thailand Fish & Nature Explorer
An independent non-profit group
Established 2001
 All Rights Reserved 2001-2010 ©siamensis.org