: Home : Board : Articles : Expeditions : About us : Privacy Policy :

 


ปลากัดป่ามหาชัย

หนูๆ นักเลงปลากัดเจ้าถิ่น กับอุปกรณ์ ขวดพลาสติก+กิ่งไม้

หวอดปลากัด

มาให้จับซะดีๆ

นาเกลือ สิ่งหนึ่งที่คุกคามที่อยู่อาศัย ตามธรรมชาติของปลากัดป่ามหาชัย

ที่อยู่ของปลากัดมหาชัยอีกลักษณะ คือแหล่งน้ำเล็กๆ ที่มีไม้น้ำ และพืชริมน้ำขึ้นอยู่อย่างหนาทึบ

ป่าจาก

Betta splendens (สำหรับเปรียบเทียบ, ขอบคุณ คุณ Brookloach)

Betta imbellis (สำหรับเปรียบเทียบ, ขอบคุณ คุณ Brookloach)

Betta smaragdina (สำหรับเปรียบเทียบ)
ปลากัดป่ามหาชัย Click for English version.
เรื่อง และภาพ โดย นณณ์ ผาณิตวงศ์
เมษายน 2545
http://www.panitvong.com

บ่ายวันอาทิตย์ปลายปี พ.ศ. 2544 ผมกับ เพื่อนสนิทอีก 2 คนพร้อมสวิงขนาดใหญ่ครบมือ ยืนอยู่ริมถนนในเขตจังหวัดสมุทรสาคร มองเข้าไปในป่าจาก (Nypa fruticans) ที่รกทึบทมึนอยู่ข้างหน้าพวกเรา ด้านล่าง คือน้ำโคลนที่ขุ่นคลั่กพร้อมทั้งเศษขยะตั้ง แต่ถุงพลาสติกไปจนถึงโครงเก้าอี้เหล็กขึ้นสนิมผุๆ ที่นี่ คือแหล่งที่พี่นักเลงปลากัดเจ้าถิ่นบอกเราว่ามีปลากัดป่าอาศัยอยู่ เรามองหน้ากันอย่างไม่ค่อยอยากจะเชื่อว่าจะ มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ในน้ำนี้ได้ แต่เจ้าปลาหัวตะกั่ว (Aplocheilus panchax) ตัวเล็กๆ ที่ว่ายอยู่เบื้องหน้าก็ เป็นข้อพิสูจน์ว่าในน้ำมีสิ่งมีชีวิตอยู่จริง

ผมได้ทราบข่าวเรื่องปลากัดจากเขตมหาชัยมาตั้ง แต่ต้นปีจากผู้ใหญ่( และเชี่ยวชาญ)ถึง 2 ท่านด้วยกัน ผมได้เห็นตัวจริงของปลาแล้ว และยอมรับว่าปลากัดป่าจากมหาชัยนั้นเป็นปลากัดที่มีลักษณะแตกต่างไป จากปลาจาก แหล่งอื่นอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็นั่นแหล่ะ สมัยนี้มีการนำปลากัดป่ามาผสมข้ามพันธุ์กันจนผมไม่ เชื่อว่าปลาที่ผมเห็นนั้นจะเป็นปลาป่าสายพันธุ์แท้ๆ จนกว่าผมจะได้เห็น และจับปลาตัวนั้นกับมือตัวเอง นั้น คือสาเหตุที่ผมมาที่มหาชัยในวันนี้

ในที่สุดเราก็ตัดสินใจได้ มาจนถึงขนาดนี้แล้ว จะมาใจเสาะอยู่กับแค่น้ำโคลน และหนามจากก็กระไรอยู่ ก้าวแรกที่ผมเหยียบลงไปในน้ำ และลึกลงไปในโคลนนั้นเป็นความรู้สึกที่ยากจะบรรยาย แต่เมื่อก้าวที่ 3 และ 4 ผมก็เริ่มชิน เพื่อนทั้ง 2 คนก็ตามกันลงมาแล้ว จากประสบการณ์ในการช้อนปลากัดป่าที่ผ่านในเขตจังหวัดสระบุรี มาผมพบว่าปลากัดจะอาศัยอยู่บริเวณกอหญ้าริมตลิ่ง คราวนี้เราจึงมุ่งไปที่จุดนั้นเป็นหลัก หลายจ้วงผ่านไปเรา ยังไม่ได้ปลากัดที่เรามาตามหา มี แต่เพียงกุ้งฝอยตัวเล็กๆ ปลากริมควายสีออกเขียวๆ แปลกตา (Trichopsis vitatus) และปลาหัวตะกั่วสีส้มจืดๆ เท่านั้นที่ติดเข้ามากับเศษหญ้า และเศษขยะ

แล้วเราก็นึกออกถึงคำพูดประโยคนึงของนักเลงปลากัดเจ้าถิ่น “ปลาจะอยู่ตามกระพกจาก ลองมองหาดูหวอดนะ” ในเมื่อปลากัดแห่งมหาชัยเป็นปลาแปลก ที่อยู่ก็คงจะไม่ธรรมดาเป็นแน่ ผมพลาดไปที่คิดว่าจะจับปลากัดแห่งมหาชัยได้ง่ายๆ เราเริ่มมองหาตามกอจากที่ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น แล้วในที่สุดเราก็พบกับหวอดปลากัดขนาดเล็ก แต่หนา ซึ่งอยู่ในกระพกจากจริงๆ สวิงขนาดใหญ่ที่เรามีอยู่นั้นไม่สามารถที่จะทำอะไรกับปลากัดในกระพกจากได้เลย

ขณะที่กำลังคิดกันอยู่ว่าทำยังไงถึงจะจับเจ้าปลากัดป่าแห่งมหาชัยขึ้นมาดูตัวได้ เราก็เหลือบไปเห็นเด็กๆ ท้องที่ 3 คนยืนหัวเราะ และซุบซิบกันอยู่บนฝั่ง ทั้ง 3 คนซุบซิบกันดังจนผม และ เพื่อนพอจะจับใจความได้ทำนองว่า “ดูดิ พวกเด็กกรุงเทพฯจับปลากัดก็ไม่เป็น จับอย่างงั้นเมื่อไหร่จะได้ตั๊วววว” ได้ยินหยั๊งงั้นแล้วผมก็เลย ตะโกนบอกให้เค้าลงมาจับให้ดูหน่อยว่าจับกันยังไง สบายละทีนี้พวกผมก็มีไกด์จับปลาชั้นหนึ่งแล้ว

เมื่อลงมาในป่าเรียบร้อยเด็กทั้ง 3 ก็เริ่มทำอุปกรณ์ในการจับปลากัดของพวกเค้า ต่างคนต่างก็หาไม้ขนาดเล็กมาคนละอันแล้วหักออกให้ยาวประมาณ 1 ไม้บรรทัด แค่นั้นแหละครับเครื่องมือ เสร็จแล้วทั้ง 3 ก็แยกย้ายกันไปดุ้มๆ มองๆ อยู่ตามกระพกจาก ส่วนพวกผมได้ แต่ยืนมองหน้ากันอย่างงงๆ ว่าเจ้าพวกนี้จะมาไม้ไหนกันแน่ ไม่กี่นาทีต่อมา เด็กคนแรกก็ตะโกนลั่นป่า “ได้แล้ว ได้แล้ว” พร้อมกับชูมือที่กำอะไรสักอย่างอยู่ พวกผมรีบลุยโคลนไปดู และเมื่อเด็กคนนั้นแบมือออกมา เราก็ได้พบกับปลากัดป่าแห่งมหาชัยตัวจริงจากแหล่งที่อยู่ของมัน

งงสิครับ พวกผมใช้สวิงอันเบ้อเริ่มเทิ่มไล่ช้อนอยู่ตั้งนานไม่ได้ตัว แต่เด็กพวกนี้ใช้แค่ไม้อันเดียวกับมือเปล่า ก็สามารถจับปลาขึ้นมาได้ วิธีการนั้นก็ง่ายๆ คือเริ่มจากการหาหวอดของปลากัดที่อยู่ตามกระพกจากที่มีช่องเข้าออกเล็กๆ หลังจากนั้นพวกเค้าก็ใช้มือข้างนึงปิดทางออกเอาไว้ และเอาไม้เขี่ยให้ปลากัดตกใจ และว่ายออกมาเข้ามือ แล้วก็กำปลาขึ้นมาเลย ฟังดูง่ายนะครับ แต่พอผมลองดูจริงๆ กลับไม่ง่ายอย่างที่เห็นเด็กๆ เค้าทำกัน เริ่มจากการหาหวอดซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายอยู่แล้ว เมื่อเจอหวอดก็ยังต้องแยกแยะให้ออกระหว่างหวอดปลากัด ปลากริม และปลากระดี่ (Trichogaster trichopterus) ด้วย การเดินหาก็ต้องเดินให้เงียบ การวางมือก็ต้องวางให้สนิทจริงๆ เรียกว่าต้องมีการเอี้ยวตัวกอดกอจากกันเลยทีเดียว ทั้งหมดนี้รวมกันก็ยังไม่ยากเท่ากับการกะจังหวะ กำปลาขึ้นมาจากน้ำ ตลอดหลายชั่วโมงที่อยู่ในป่า เดินลุยกันลึกเข้าไปจนไม่เห็นถนน และไม่ได้ยินเสียงรถแล่น ฝ่าฟันกับหนามจาก โคลนดูด และแมลงหน้าตาแปลกๆ ผมยอมรับอย่างไม่อายครับ ว่าจับไม่ได้สักตัวเดียว ในขณะที่เด็กๆ จับรวมกันได้เป็น 10 ตัว

เราอยู่ในป่าจากแห่งนั้นหลายชั่วโมง เดินตามคอยช่วยพวกเด็กๆ ดูหวอด ขณะเดียวกันก็สำรวจดูว่าแหล่งน้ำแห่งนี้มีปลาชนิดไหนอาศัยอยู่บ้าง ซึ่งปลาที่พบในวันนั้นก็มี ปลากริมควาย ปลาหัวตะกั่ว ปลาช่อน (Chuna striata) ปลาหมอไทย และปลากระดี่ นอกจากนั้นเรายังพบชาวบ้านอีก 2-3 รายที่เข้ามาหาปลากัดเหมือนกับเรา จากที่ได้ลองคุยดูทุกคนใช้วิธีเดียวกัน คือการจับปลาซึ่งอยู่ตามหวอด ผมสังเกตว่า แต่ละคนนั้นได้ปลาไม่ต่ำกว่า 10 ตัว บางคนก็ขอซื้อปลาที่พวกเด็กๆ จับได้ด้วย โดยปลาทั้งหมดนั้นเป็นตัวผู้ซึ่งเฝ้าหวอดอยู่ ในขณะที่ปลาตัวเมียนั้นผมเชื่อว่าคงจะหลบอยู่ไม่ห่างออกไปนัก

เย็นวันนั้นเรากลับบ้านพร้อมกับปลากัดป่าจากมหาชัย 9 ตัว ซึ่งต่อมาพบว่า หนึ่งในนั้นเป็นตัวเมีย ส่วนปลากัดที่เหลือที่พวกเด็กๆ จับได้ ชาวบ้านที่เข้ามาจับปลาซื้อไปหมด น้ำที่ผมนำกลับมาทดสอบมีค่า pH ที่ 7.6 ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับน้ำจากแหล่งใกล้ทะเล

ก่อนที่จะอ่านส่วนต่อไปของบทความซึ่งค่อนข้างจะเป็นวิชาการ ผมต้องขอออกตัวก่อนว่าผม ไม่ได้เรียนมาทางด้านการจำแนกชนิดสายพันธุ์ และการสำรวจพันธุ์ปลา บทความในส่วนนี้จะเขียนจากการสังเกต และความเห็นส่วนตัว (มือสมัครเล่นที่เล่นอย่างจริงจัง) ทั้งหมดครับ

ในประเทศไทยมีปลากัด (Betta sp.) ในกลุ่มก่อหวอดที่ได้รับการบรรยายลักษณะทางอนุกรมวิธานไปแล้ว 3 สายพันธุ์ด้วยกัน คือ

Betta splendens หรือปลากัดหม้อป่า ซึ่งมีถิ่นแพร่กระจายพันธุ์อยู่ในทุกภาคของประเทศไทยยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
Betta smaragdina หรือปลากัดป่าอีสาน ซึ่งชื่อก็บอกอยู่ แล้วว่าเป็นปลากัดที่มีถิ่นแพร่กระจายพันธุ์ในภาคอีสาน
Betta imbellis หรือปลากัดป่าใต้ ซึ่งพบแพร่กระจายพันธุ์อยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย

สำหรับปลากัดป่ามหาชัยนั้นเท่าที่”ผมทราบ”มีการแพร่กระจายพันธุ์อยู่ในพื้นที่แคบๆ ในเขตจังหวัดสมุทรสาครแถบมหาชัย อ.บ้านแพ้ว อ.บางทอรัด และ ตอนใต้ของอำเภอ กระทุ่มแบน ซึ่งถ้าเลยไปทางใต้จะเป็นทะเล ทางด้านตะวันตกจะเป็นกรุงเทพฯซึ่งเป็นถิ่นของปลากัด B. splendens ขึ้นไปด้านเหนือในเขตจังหวัดราชบุรี ปลากัดที่สำรวจพบก็เป็นปลากัด B. splendens จะมีก็ แต่ทางชายฝั่งตะวันออกเท่านั้นที่น่าจะเป็น อาศัยของปลากัดที่มีลักษณะเหมือนปลากัดมหาชัย ซึ่งความหวังที่รอการสำรวจนั้นน่าจะอยู่ในเขตจังหวัด สมุทรสงคราม เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าเลยไปกว่านั้นในเขตจังหวัดเพชรบุรีเป็นแหล่งผลิตปลากัด B. splendens สายกัดชั้นดี ซึ่งปลาที่พบในธรรมชาตินั้นก็เป็น ปลากัดหม้อป่า

สำหรับความแตกต่างของปลากัดป่าจากมหาชัยที่เห็นได้ชัด เปรียบเทียบกับปลากัดในกลุ่มก่อหวอดทั้ง 3 สายพันธุ์ของไทยนั้นผมขอทำเป็นตารางดังนี้ครับ

สายพันธุ์ B. splendens B. imbellis B. smaragdina ปลากัดมหาชัย
ส่วนแก้ม เป็นเส้นแนวตั้ง สีแดง 2 เส้น เป็นเส้นแนวตั้ง สีฟ้า เหลือบเขียว 2 เส้น เป็นแผ่นเกล็ด เคลือบไปทั้งหน้า สีเขียวฟ้า เป็นเส้นแนวตั้ง สีฟ้าเหลือบเขียว 2 เส้น
รูปร่าง สั้น กว้าง สั้น กว้าง ยาว แคบ ยาว กว้าง
สีลำตัว พื้นสีดำคล้ำ ถึงแดง และมีเกล็ดเหลือบ สีฟ้า บริเวณ เหนือครีบทวาร พื้นสีดำคล้ำถ ึงแดง มีเกล็ดเหลือบสีฟ้า เกือบทั้งตัว พื้นสีดำคล้ำ ถึงแดง มีเกล็ด สีเหลือบเขียว พื้นสีดำคล้ำ ถึงแดง มีเกล็ด สีเหลือบ ฟ้าเขียว แวววาว ทั้งตัว
สีหาง เส้นหางจะเป็น สีฟ้าสลับแดง ไม่มีลายจุดสีคล้ำ เส้นหางจะเป็น สีฟ้าสลับดำ บริเวณปลาย จะเป็นแถบสีแดง เห็นได้ชัดเจน ไม่มีลายจุดสีคล้ำ เส้นหางเป็นสีแดง พื้นหาง เป็นสีเขียวอมฟ้า ปลาจากบางแหล่ง จะมีลายจุดชัดเจน เส้นหางเป็นสีแดง พื้นเป็นสีฟ้าเขียว แวววาว มีจุดเล็กน้อย
ขนาดครีบ สั้น สั้น ค่อนข้างยาว (เครื่องใหญ่) ค่อนข้างยาว (เครื่องใหญ่)

ถ้าให้สรุปตามประสาผม ก็คงจะสรุปได้ว่าปลากัดมหาชัยนั้นเป็นปลากัดที่มีรูปทรง และครีบคล้ายกับปลากัดป่าอีสาน แต่มีลักษณะลายที่แก้ม เหมือนกับปลากัดป่าใต้มีสีเหลือบเขียวอมฟ้าที่แวววาว และมีถิ่นอาศัยอยู่ในเขตซึ่งน่าจะเป็นเขตของปลากัดภาค กลางมากกว่า นอกไปจากนั้นปลากัดมหาชัยยังมีถิ่นอาศัยอยู่ในเขตน้ำกร่อย และไม่พบในแหล่งน้ำจืดในบริเวณใกล้เคียงเลย ซึ่งถ้าปลากัดจากมหาชัยนั้นเป็นปลากัดสายพันธุ์ใหม่อย่างที่ผมคิดจริงๆ ก็นับว่าเป็นปลากัดป่าที่อยู่ในสถาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูงมาก เพราะแพร่กระจายพันธุ์อยู่ในเขตชุมชนเป็นบริเวณแคบๆ ซึ่งมีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งป่าจาก และแหล่งน้ำกร่อยซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยก็ถูกโค่นทำลายลง กลายเป็น โรงงาน นากุ้ง นาเกลือ และที่พักอาศัย น้ำเสียจากโรงงานต่างๆ ในบริเวณนั้นที่ปล่อยลงไปในแหล่งน้ำก็มีผลกับปลากัดอย่างมาก ยังไม่นับรวมไปถึงการที่มีปลาจากที่เลี้ยงเช่นปลาหางนกยูง (Poecilia retuculata) หลุดลงไปในแหล่งน้ำ และแย่งชิงอาหากกับปลากัด ซึ่งจากการสำรวจของผมนั้นพบว่ามีปลาหางนกยูง อยู่ในแหล่งน้ำใกล้เคียงเป็นจำนวนพอสมควร และปลาหางนกยูงนั้นได้ ทำให้ปลาพื้นเมืองที่มีลักษณะการหากินใกล้เคียงกันอย่าง ปลาข้าวสาร (Oryzias malastigma) หายไปจากแหล่งน้ำนั้นๆ อย่างน่าใจหาย ซึ่งผมก็หวังว่าปลากัดมหาชัยคงไม่กลายเป็นเหยื่อรายต่อไป

นอกจากนั้นแล้ววิธีการจับปลา ซึ่งจับจากหวอดหมายถึงว่าปลาที่จับได้เกือบทั้งหมดเป็นปลาตัวผู้ในวัยเจริญพันธุ์ การจับนั้นยังต้องทำลายหวอดปลาด้วย ซึ่งในบางครั้งในหวอดก็มีไข่ และลูกปลาอยู่ ซึ่งถือเป็นการทำลาย และลดจำนวนปลาในธรรมชาติโดยตรง

ที่หน้าเป็นห่วงมากอีกเรื่องก็ คือการผสมข้ามพันธุ์ในธรรมชาติ ผมพบว่าในเขตมหาชัยนั้นมีหลายบ้านที่เลี้ยงปลากัดหม้อไว้ บางแห่งทำเป็นฟาร์มเลยด้วยซ้ำ บางบ้านมีการนำปลาป่ามหาชัยไปผสมข้ามพันธุ์ทั้ง เพื่อความสวยงาม และความว่องไว ซึ่งถ้าหากมีใครปล่อยปลากัดหม้อหรือปลากัดลูกผสมลงไปในถิ่นที่อยู่ของปลากัดมหาชัย การผสมข้ามพันธุ์จะ ทำให้เราสูญเสียปลากัดมหาชัยพันธุ์แท้ไป ซึ่งกรณีนี้เกิดขึ้นกับปลากัดป่าภาคใต้ และภาคกลางมาแล้ว

more survey ...

 

www.siamensis.org - Thailand Fish & Nature Explorer
An independent non-profit group
Established 2001
 All Rights Reserved 2001-2010 ©siamensis.org