: Home : Board : Articles : Expeditions : About us : Privacy Policy :

 


ลำห้วยที่พบ C. albida น้ำในห้วยนั้น "ใส ไหลเย็น เห็นตัวปลา" (AP 1/4 APR2002)

C. albida ขึ้นอยู่ริมตลิ่งเป็นกลุ่มใหญ่

ต้นอ่อนของC. albida ขึ้นอยู่ใต้น้ำ

C. albida ในสภาพกึ่งบกกึ่งน้ำ ดอกของคริป (ต้นขวา) กำลังจะชูช่อดอกขึ้นสู่ผิวน้ำ และยังมีผลที่เพิ่งเกิดอยู่ที่โคนต้น

C. albida กำลังชูช่อดอก ซึ่งโดยมากจะออกในวันพระจันทร์เต็มดวง เนื่องจากจะมีอิทธิพล ทำให้ระดับน้ำลดลงในระดับต่ำสุด

ดอกของ C. albida ที่มีปลายดอก (limb) ที่เป็นเกลียวม้วน และมีคอ (collar)ที่กว้าง และมีจุดประดำ

C. albida ในลักษณะต่างๆ (จากซ้าย) ต้นที่อยู่บนบกกลางแดดจัด (ใบสั้น และสีออกแดง) ต้นที่อยู่บนบกในที่ร่ม แสงแดดรำไร (ใบยาว และเขียว) และต้นกึ่งบกกึ่งน้ำ (ใบสั้นกว่า แต่มีสีแกมแดง)

ผล C. albida อัดแน่นกระจุกอยู่โคนลำต้นใต้ดิน

สภาพลำห้วยเดิม หลังฝนตก น้ำขุ่น และไหลแรง

Microsorium sp. ขึ้นอยู่บนหินใต้ร่มไม้ หมายที่สอง (AP 2/4 APR2002)

C. albida ขึ้นอยู่บนหินเหนือน้ำ ส่วนที่จมน้ำ คือ Microsorium sp.

C. albida ฝังรากลึกชอนไชไปในซอกหินที่ปกคลุกด้วยมอส เป็นภาพที่น่าดูชมยิ่งนัก

สภาพ C. albida ที่ถูก "ถอนราก ถอนโคน" ด้วยกระแสน้ำที่เชี่ยวกราด แต่ยังมีระบบรากที่แข็งแรงยึดลำต้นไว้ไม่ให้ลอยไปไหน

ลำห้วย หมายที่สอง (AP 2/4 APR2002)

C. ciliata ขึ้นอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ริมตลิ่ง

น้ำในคลองได้ลดลงมากในหน้าแล้ง C. ciliata ที่เคยอยู่ใต้น้ำมาตลอดฤดูน้ำหลาก บัดนี้ได้อยู่พ้นน้ำแล้ว

ดอก C. ciliata ที่มีขนขึ้นโดยรอบดอก (spathe) อันเป็นความหมายของคำว่า ciliata
ไปเก็บคริปที่ระนอง
เรื่อง และภาพ โดย อาทิตย์ ประสาทกุล
24-26 เมษายน 2545
http://www.aquabox.info

เพื่อนสนิทมิตรสหายเพิ่งจะหาว่าผมนั้นบ้าที่จะขับรถจากกรุงเทพ ถ่อไปถึงระนอง เป็นระยะทางมากกว่า 600 กิโลเมตร เพื่อไปดูต้นไม้ บางคนถามว่าที่จัตุจักรไม่มีหรือ จึงต้องลงทุน และลงแรงมากมายถึงขนาดนั้น บางคนก็ถามว่าต้นไม้อะไร ทำไมมันถึงพิเศษขนาดนั้น บางคนก็ถามว่ามันใหญ่มากไหม ด้วยความที่เขานึกว่ามันจะต้องมีขนาดใหญ่ และสวยงามมาก ที่ ทำให้ผมยอมลงไปหามันได้ถึงที่ระนองซึ่งไม่ใช่ใกล้ๆ เลย นอกไปจากนี้แล้ว บางคนยังกล่าวเตือนผมด้วยความเป็นห่วง เมื่อผมบอกว่าผมจะไปเก็บต้นไม้ที่ระนอง เขาไม่สงสัยที่ผมทำอะไรแปลกๆ และบ้าๆ เพราะผมก็เป็นอย่างนี้อยู่เสมอ คือ ชอบทำอะไรที่คนอื่นไม่ทำกัน หากได้กล่าวเตือนผมด้วยความเป็นห่วงว่า ถนนจากชุมพรไประนองนั้น หนทางเลี้ยวลดคดเคี้ยว อุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรจะไปเลย

ผมเพิ่งกลับจากระนอง ผมเพิ่งขับรถมากกว่า 1,200 กิโลเมตร เพื่อไปดูต้นไม้ต้นเล็กๆ ที่แทบไม่มีใครสนใจ ผมอยากไปดูต้นไม้เหล่านั้นจริงๆ ผมทำตามใจตัวเอง ผมจึงไป และกลับมาด้วยความสุข

คริปกับทุกคน คริปกับผม

หลายคนที่เลี้ยงปลา และต้นไม้น้ำคงรู้จักกันดี กับต้นไม้ในสกุลคริปโตโคไรนี่ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า คริป (Cryptocoryne) ซึ่งเป็นต้นไม้น้ำที่นักเลี้ยงปลานำมาใส่ไว้ในตู้ปลา เพื่อความสวยความ และให้ปลารู้สึกปลอดภัย เพราะมันเป็นต้นไม้ที่เลี้ยงง่าย ต้องการแสงน้อย ไม่ต้องการการดูแลที่เป็นพิเศษ หนึ่งในต้นไม้สกุลคริปโตโคไรนี่ที่เรารู้จักกันดี ก็ คือ ว่านใบพาย (Cryptocoryne ciliata) ที่นักเลงปลากัดมักจะนำมาใส่ไว้ในขวดโหล ด้วยความเชื่อที่ว่า จะช่วยรักษาตัวปลา ลับคมฟันปลา และเป็นที่ให้ปลาได้พักผ่อน ส่วนผู้ที่นิยมเลี้ยงตู้ไม้น้ำ ก็คงจะรู้จักคริป เพราะเป็นต้นไม้น้ำที่มีความสวยงาม และมีความหลากหลาย มีตั้ง แต่ต้นเล็กเตี้ยๆ อย่าง Cryptocoryne parva จนกระทั่งต้นที่มีใบยาว พริ้วไหวอย่าง Cryptocoryne crispatula var. balansae หรือ Cryptocoryne aponogetifolia ที่มีรายงานว่าสามารถยาวเต็มที่ได้ถึงสามเมตร

สำหรับผมแล้ว ผมเริ่มหลงไหลกับต้นไม้ในสกุลคริปโตโคไรนี่ เพราะผมเลี้ยงปลา และจัดตู้ต้นไม้น้ำ คริปเป็นต้นไม้ที่ความโดดเด่น มีความสวยงามที่ไม่ซ้ำแบบใคร ในตอนแรกผมเริ่มสะสมคริปพันธุ์ต่างๆ ที่สามารถหาได้ตามร้านขายต้นไม้น้ำในกรุงเทพ และนำมาปลูกไว้ในตู้ปลาให้จมน้ำทั้งต้น (submersed) พร้อมๆ ไปกับหาความรู้เพิ่มเติม สิ่งหนึ่งที่ผมติดใจกับต้นไม้น้ำเหล่านี้ก็ คือ การที่มันมีดอกที่มีความแปลก และสวยงามในตัวของมันเอง ดังนั้น ผมจึงเริ่มนำคริปที่ผมมีมาปลูกบนบก (emersed) เพราะต้องการให้ออกดอก (คริปจะออกดอกเมื่อปลูกบนบกเท่านั้น) นอกจาก เพื่อที่จะดูดอกของมันเองแล้ว ผมยังต้องการดูดอก เพื่อการจำแนกสายพันธุ์อีกด้วยว่าตัวไหนเป็นตัวไหน เนื่องจากรูปร่างลักษณะของใบคริปจะเหมือนกันมาก เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อม เช่น แสงแดด วัสดุปลูก ปุ๋ย ฯลฯ ที่มันอาศัยอยู่

ผมหลงไหลกับคริปมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมๆ กับการออกไปเก็บตัวอย่างปลากับ เพื่อนๆ ในกลุ่มเลี้ยงปลา

กลุ่มเล็กๆ ผมนั้นมักจะยิงนกนัดเดียว เพื่อให้ได้นกสองตัว คือ ไปจับปลา และไปเก็บคริปในเวลาเดียวกัน เพราะ คริปนั้นอาศัยอยู่ในลำธารที่มีน้ำไหล ซึ่งมักจะเป็นที่เดียวกับหมายที่พวกเราไปจับปลากันเสมอ

ความสมหวัง และความผิดหวัง

ครั้งนี้ผมฉายเดี่ยวไปเก็บคริปที่ระนอง ผมมั่นหมายว่าจะไปดูลักษณะที่อยู่ในธรรมชาติ (habitat) ของ คริปสามสายพันธุ์ คือ Cryptocoryne albida, C. cordata และ C. crispatula var. flaccidifolia ซึ่งมีการกระจายพันธุ์อยู่ในเขตจังหวัดระนองใต้ และพังงา แต่ทว่า ผมนั้นจะต้องพบกับความสมหวัง และความผิดหวัง

ผมได้เจอแหลงของคริปเพียง สองสายพันธุ์เท่านั้น หนึ่งในนั้นเป็นสายพันธุ์ที่ผมตั้งใจจะหาตั้ง แต่เริ่มแรกอยู่แล้ว คือ C. albida ส่วนอีกสายพันธุ์หนึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ผมไม่ได้คาดหวังว่าจะเจอ คือ C.ciliata ส่วน C. cordata และ C. crispatula var. flaccidifolia นั้น ผมไม่เจอ ผมไปถึงหมายที่คาดว่าน่าจะมีคริปทั้งสองสายพันธุ์แล้ว หมายหนึ่งสำหรับ C. crispatula var. flaccidifolia นั้น ผมไม่พบ เนื่องจากไม่สามารถหาทางลงไปในคลองในส่วนที่มีน้ำไหล(ซึ่งเป็นที่คริปอาศัยอยู่) ในหมายนั้น ผมเห็น แต่หอมน้ำ (Crinum thaianum) และบัว (Nymphea sp.) ส่วนอีกหมายหนึ่งสำหรับ C.cordata ที่คาดว่าจะอยู่ในทางตอนใต้ของจังหวัดพังงานั้น ผมต้องชวดไป เพราะในวันนั้นฝนตกหนัก จนน้ำในห้วยเป็นสีแดง เพราะได้ชะล้างดินริมตลิ่งลงมา ทำให้ไม่เห็นอะไรได้ ผมเสียดายมาก

เริ่มต้น

ผมถึงระนองในตอนเย็นวันพุธ และเข้าพักในโรงแรมในตัวเมือง หลังจากอาบน้ำอาบท่า ให้หายจากความเหนื่อแล้ว ผมก็ออกมาเดินเล่นในตัวเมืองระนอง ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ที่มีนักท่องเที่ยวไม่มากมาย และไม่วุ่นวาย ในตอนเย็นวันนั้น ผมได้เดินไปในถนนสายหลักของเมือง (ตลาดเก่า) เพื่อหาของกิน ซึ่งเป็นร้านริมถนนมีอยู่อย่างประปราย หลังจากอิ่มท้องแล้วด้วยหอยทอด กับน้ำจิ้มแบบระนอง ซึ่งมีส่วนผสมระหว่างน้ำจิ้มไก่กับเต้าหู้ยี้ มีรสแปลกยิ่งน้ก ผมก็กลับที่พัก เพื่อเตรียมตัวสำหรับวันรุ่งขึ้น ผมตั้งใจจะออกเดินทาง แต่เช้า ลงไปทางใต้ อย่างน้อยจนถึงคุระบุรี (ห่างออกไปจากตัวเมืองประมาณ 200 กม.) ถ้ามีเวลาเหลือก็จะลงใต้ไปจนถึงตะกั่วป่า และเลยไปบนถนนเพชรเกษมจนเกือบถึงภูเก็ต

ผมออกจากเมืองระนองไปตามถนนเพชรเกษม หยุดแวะตามสะพานต่างๆ ไปตลอดทาง แต่ก็ยังไม่พบสภาพห้วย และคลองที่น่าจะมีคริปอยู่ จึงทำระยะทางต่อไปให้ถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา ซึ่ง Professor Niels Jacobson นักพฤกษศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญต้นไม้ในสกุลคริปโตโคไรนี่ ได้เคยไปเก็บตัวอย่างของ C. albida ในบริเวณริบขอบของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ฯ นี้มาแล้ว และผมก็ไม่ผิดหวังเมื่อได้เห็น C. albida ในสภาพต่างๆ ในหมายนี้

สภาพของห้วยดังกล่าวเป็นพื้นกรวด เนื่องจากเป็นหน้าแล้ง ปริมาณน้ำจึงมีน้อย น้ำนั้น “ใส ไหลเย็น เห็นตัวปลา” มีกอหญ้ารกขึ้นอยู่ตามริมฝั่ง นอกจากคริปแล้ว ยังพบสาหร่ายพวก Limnophila (?) ด้วย

ดังที่ได้กล่าวมา แล้วว่าคริปนั้นเป็นต้นไม้ที่มีลักษณะของใบแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมที่มันอยู่ ในครั้งนี้ก็เช่นกัน ผมได้เห็น C. albida ที่มีใบในสภาพต่างๆ ใบที่อยู่กลางแดดจัดนั้นจะมีสีแดงน้ำตาล ส่วนใบที่อยู่ในที่ร่มจะมีสีเขียวสด ส่วนใบที่เคยอยู่ใต้น้ำ และเพิ่งจะพ้นน้ำเนื่องจากน้ำลดนั้น ในบางครั้งก็เหี่ยว และดูเหมือนกำลังจะตาย ส่วนใบที่อยู่ใต้น้ำนั้นมีขนาดที่เรียวยาวกว่าใบที่อยู่บนบก ส่วนสีของใบก็จะแปรเปลี่ยนไปตามปริมาณแสงแดดที่ได้รับ

นอกจากนี้แล้ว ผมยังโชคดีที่ได้เห็นดอกคริปออกในช่วยระยะเวลานี้ ซึ่งนับว่าได้พ้นระยะเวลาออกดอกไปแล้ว คริปโดยมากจะออกดอกในช่วงเดือนตุลาคม ถึงอย่างช้าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ (Jacobson, ???) ดอกของ C. albida นั้นมีมีก้านดอกชูช่อดอกขึ้นมาจากโคนต้น มีปลายที่ม้วนเป็นเกลียว โดยมีคอ (collar) ที่กว้าง

ผลของคริปนั้นจะฝังตัวอยู่ใต้ดิน คอยระยะเวลาที่จะชูช่อยื่นออกมาในอีก 5-6 เดือนต่อมา เพื่อปล่อยเมล็ดให้ล่องลอยไปตามน้ำ และจมลงเกิดเป็นต้นใหม่ ผลของ C.albida นั้นกลม มีมากกว่า 3-4 ผล กระจุกอยู่ตามโคนต้น นอกจากการขยายพันธุ์โดยเมล็ดแล้ว คริปยังขยายพันธุ์โดยไหลอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากต้นอ่อนต้นเล็กๆ ที่เลื้อยออกไปจากต้นใหญ่

ในหมายที่สองนั้นอยู่ระหว่างทางไปตะกั่วป่า ในหมายนี้ผมได้เห็น C.albida นั้นขึ้นอยู่บนก้อนหินที่ปกคลุมด้วยมอส (Vesicularia ?) และเฟิร์นใบแคบ (Microsorium sp.) อยู่ภายใต้ร่มไม้ที่เย็นสบาย นอกจากนี้แล้ว C.albida บางต้นยังได้ถูกน้ำที่ไหลแรง “ขุดรากถอนโคน” จนแทบจะหลุดลอยไปตามกระแสน้ำ หากยังมีรากที่ยาว และแข็งแรงเพียงส่วนหนึ่งยึดไว้ ต้นที่ล้มลงก็ออกใบอ่อนชูขึ้นบนหาแสงสว่าง เป็นการปรับตัวของต้นไม้ที่น่าทึ่งอีกอย่างหนึ่งที่ผมประทับใจ

ตะกั่วป่า : หยุด เพื่อ พลัง และกำลังใจ

ผมขับรถลงไปทางใต้ต่อไปเรื่อยๆ ด้วยความมุมานะที่จะพบคริปชนิดอื่นๆ อีก เช้าวันนี้ผมเหนื่อยมาก เหนื่อยจากการขับรถแบบที่ต้องใช้ความตั้งใจเป็นพิเศษ นั่น คือ ผมต้องขับแบบไปๆ หยุดๆ คอยมองหาห้วย ลำธารท และหยุดรถวิ่งลงไปดูว่าจะมีคริปอยู่หรือไม่ นอกจากจะต้องคิด และคาดเดา เพื่อหาแหล่งต้นไม้แล้ว ผมยังต้องระแวดระวัง รถที่ขับตามมาด้วย เพราะอย่างน้อย ผมก็ยังอยากที่จะลุยเก็บคริป ( และปลาเล็กๆ ) ต่อไป ไม่อยากจะหยุดชีวิตน้อยๆ ของผมไว้เพียวแค่ที่ยวนี้

จากระนอง ผมขับมาถึงตะกั่วป่า ขับรถชมเมืองเก่าที่มีอดีตอันรุ่งเรือง ตะกั่วป่าเป็นเมืองที่ชาวจีนได้เข้ามาตั้งรกรากทำเหมืองตะกั่ว ชมที่ว่าการอำเภอเก่าสถาปัตยกรรมจีน-โปรตุเกส (Sino-Protugese) และได้หยุดแวะพักกินข้าวกลางวันที่ร้านข้าวแกงร้านใหญ่ที่ตั้งประชันกับร้านเก่าแก่อย่างฮกกี่เหลา แวะกินแกงปักษ์ใต้ (ที่ไม่ใช่แกงเหลือง) กับไข่พะโล้ เพื่อลดความเผ็ดร้อน พร้อมด้วยผักเคียงนานาชนิดที่มีไว้ให้บริการ อร่อย และได้บรรยากาศยิ่งนัก ผมหายเหนื่อย และมีกำลังใจที่จะไปเก็บคริปต่อ

กลับ

จากตะกั่วป่า ผมมุ่งหน้าต่อไป เพื่อที่จะหา C. cordata ซึ่งคาดว่าน่าจะอยู่ในพังงาใต้ตามเส้นทางไปภูเก็ต แต่เมื่อลัดเลาะตามหุบเขาไปถึงที่หมาย ฟ้าฝนไม่เป็นใจ ฝนตกหนัก เป็นอันว่าผมต้องหันหัวกลับตัวเมืองระนองด้วยความผิดหวัง

ครั้งนี้ ผมมุ่งตรงกลับระนอง โดยไม่แวะที่ไหนเลย เพราะในขณะนั้นเย็นแล้ว และท้องฟ้าในขณะนั้นก็มืดครึ้ม ผมขับรถมากกว่า 4-5 ชั่วโมงตั้ง แต่เช้าแล้ว เลยคุระบุรีได้สักพัก ผมแวะหมายแรกอีกครั้ง เพื่อที่จะถ่ายรูปลำห้วยหลังฝนตก จากในตอนเช้าที่น้ำน้อย ใส และไหลเย็น ในตอนเย็นหลังฝนตกนั้น น้ำนั้นเปลี่ยนเป็นสีแดง และไหลเชี่ยว คริปที่อยู่เคยอยู่เหนือน้ำ บัดนั้นจมน้ำแทบทุกต้น

เมื่อถึงเขตอำเภอกะเปอร์ ผมข้ามสะพานข้ามคลองกะเปอร์พร้อมมองลงไปข้างล่าง น้ำยังในคลองยังมีน้อย และยังใสอยู่ ผมจึงตัดสินใจที่จะแวะจอด เพื่อลงไปสำรวจว่าจะมีคริปชนิดใดอยู่บ้างหรือเปล่า ในใจผมคิดว่าฝนคงตกไม่ทั่วฟ้า พอขึ้นมาเรื่อยๆ ใกล้ตัวเมืองระนอง ฝนคงจะตกไม่มากเท่ากับที่ผมเพิ่งจะผ่านมา

ขณะนั้นเป็นเวลาห้าโมงเย็นแล้ว ผมรีบลงไปในคลอง และผมก็ต้องตกใจเมื่อเห็น C.ciliata ที่ผมไม่ได้หมายมั่นว่าจะเจอในครั้งนี้ขี้นอยู่เป็นกลุ่มใหญ่สองกลุ่มใต้สะพานข้ามคลอง ผมนั้นทั้งตกใจ และดีใจ ที่อย่างน้อยการลงทุน ลงแรงลงใต้มาถึงระนองในครั้งนี้ ผมก็ยังได้เห็นคริปสองชนิด ไม่ใช่ชนิดเดียวอย่างที่ผมคิดมาตลอดทางที่ผมขับรถกลับ

คลองกะเปอร์เป็นคลองที่มีขนาดกว้างประมาณ 30-40 เมตร ในขณะนั้นน้ำลดเหลือเพียงลำน้ำสายเล็กๆ กว้างเพียง 3 เมตรเท่านั้น ท้องน้ำเป็นกรวด และหิน ส่วนริมฝั่งที่ C.ciliata ขึ้นอยู่เป็นกลุ่มใหญ่นั้น เป็นตะกอนดินที่ถูกพัดเข้าฝั่ง ตามที่ได้คุยกับชาวบ้านในแถบนั้น ในช่วงหน้าน้ำ คลองกะเปอร์จะมีปริมาณน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นมากถึง 3-5 เมตร ซึ่งหมายถึง C.ciliata จะต้องอยู่ใต้น้ำตลอดเวลาในหน้าน้ำ

ใบของ C.ciliata ที่ผมเห็นนั้นมีขนาดใหญ่มาก ความยาวของใบนั้นมีขนาดยาวถึง 25-30 ซม. และมีความกว้างถึง 5-10 ซม. ดอกของ C.ciliata นั้นมีสีชมพูดอ่อน ที่ปลายดอกยืดตรง ไม่ม้วนคดเหมือนคริปชนิดอื่นๆ ที่พบได้ในประเทศไทย ในกลุ่ม C. albida (C.albida group) อีกทั้งยังมีลักษณะเป็นขนๆ โดยรอบของดอก (จึงได้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ciliata ซึ่งแปลว่ามีขนปกคลุม) ส่วนผลนั้น ผมไม่สามารถสังเกตเห็นได้ ซึ่งเป็นไปได้ว่าผลของคริปชนิดนี้นั้นมีลักษณะ และอยู่ในที่ต่างจากผลของคริปชนิดอื่นๆ ซึ่งจะมองเห็นได้ชัดอยู่โคนลำต้น

คุณลุงชาวบ้านคนหนึ่งลงจากศาลาริมน้ำลงมาถามผมว่าผมกำลังหาอะไรอยู่ เพราะดูผมก้มๆ เงยๆ อยู่กับกอต้นไม้รกๆ พร้อมทั้งถ่ายรูป แสงแฟลชวูบวาบมาสักพักใหญ่แล้ว ผมได้เสาะถามถึงชื่อสามัญที่ใช้เรียกกันในหมู่คนท้องถิ่น ก็ได้ความว่าชื่อต้นอุตพิศ และยังได้รู้อีกว่า C. ciliata มีเยอะขนาดที่ชาวบ้านนิยมเก็บไปเลี้ยงหมู ทำเอา เพื่อนร่วมทางของผมเปรยว่า คนกรุงเทพฯขับรถเป็นร้อยกิโล เพื่อมาเก็บอาหารหมู ผมได้รับการต้อนรับขับสู้ที่น่ารักจากชาวบ้าน นับเป็นสีสันหนึ่งของการลงใต้ไปเก็บคริปในครั้งนี้ทีเดียว

ความตั้งใจต่อไปของผมนั้น คือ การที่ได้ลงไปสำรวจคริปที่มีรายงานว่าพบในประเทศไทยให้ได้ทั้งหมดในภูมิภาคต่างๆ โดยอาจจะสำรวจในทางตอนใต้ซึ่งเป็นแหล่งที่มีความหลากหลายทางสายพันธุ์สูงเป็นครั้งต่อไป C. crispatula var. flaccidifolia, C.crispatula var. crispatula และ C.cordata ที่ผมยังไม่เคยเห็นในธรรมชาตินั้นอยู่ในอันดับแรกที่ผมจะต้องไปถึงที่พวกมันอยู่ให้ได้ ผมสนุกกับการที่ได้เห็นต้นไม้ที่ผมชอบในที่ที่มันอยู่ตามธรรมชาติ แม้ว่าจะเหนื่อยกายเพียงไร สภาพแวดล้อมที่อยู่อย่างกลมกลืนนั้นน่าดูชมยิ่งนัก

more survey ...

 

www.siamensis.org - Thailand Fish & Nature Explorer
An independent non-profit group
Established 2001
 All Rights Reserved 2001-2010 ©siamensis.org