: Home : Board : Articles : Expeditions : About us : Privacy Policy :

 


ทางเข้าอุทยานเป็นถนนลาดยาง ร่มรื่นด้วยไม้ใหญ่ทั้ง2ฝากถนน

กิ้งกือตัวสั้นๆ พอแหย่เข้าหน่อยก็ม้วนตัวกลมดิ๊กเลย (ภาพเล็ก)

วันนี้น้ำตกสามหลั่นเหลืออยู่แค่นี้แหละครับ

ปลาก้าง Channa limbata

ปูน้ำตกสีเหลืองๆ ส้มๆ

สังเกตุดีๆ จะเห็นฝูงปลาซิวม้าลายมุก ว่ายอยู่

ฝูงปลาซิวม้าลายมุก Branchydanio alboliniatus

ให้เห็นกันชัดกับลายสีฟ้าตรงหลังที่พูดถึง

มอสที่เกาะอยู่บนหน้าผาริมน้ำตก

นี่แหละครับมดยักษ์สีเขียว กะดูต้องไม่ต่ำกว่า 1 ซ.ม. เป็นแน่

รูปผมเองหล่ะ คราวนี้มีคนถ่ายให้โด้ย!!!!!!!!!!!

เฟิร์นใบสวยที่พบขึ้นอยู่ริมทาง

พอขึ้นไปสูงหน่อย พื้นหินในลำธารกลับมีคราบเหลืองๆ อย่างที่เห็นในภาพเกาะอยู่เต็มไปหมด

ลำธารสายนี้ไหลมาจากน้ำตกอีกที ด้านล่างของภาพเป็นจุดที่ผมถ่ายรูปปลาแก้มช้ำ

ปลาแก้มช้ำ Puntius orphoides เป็นปลาในกลุ่มปลาตะเพียนที่สวยมากอีกตัวนึงครับ

สังเกตุแถบสีชมพูเข้มตรงบริเวณแก้มของปลา นี่แหละครับ ที่มาของชื่อ แก้มช้ำ งานนี้มีเป็นฝูงเลย เชื่องด้วย

ปลาซิวสุมาตรา Rasbora sumartrana อาศัยอยู่ร่วมกับปลาแก้มช้ำ

ดอกเปราะสีม่วง Kaempferia pulchra

รถบัสของทางอุทยาน เห็นลายสวยดีเลยถ่ายรูปมาฝากครับ
อุทยานแห่งชาติพระพุทธฉาย, สระบุรี
เรื่อง นณณ์
ภาพ นณณ์ และ เธอ
มิถุนายน 2545
http://www.panitvong.com

ใกล้ๆ ก็สนุกได้

วันจันทร์ที่ผ่านมาผมติดฝนอยู่ที่ร้านหนังสือแห่งหนึ่งย่านสยามสแควร์ หลังจากเดินดูจนทั่วแล้ว ผมก็ไปเจอหนังสือชื่อ 137 อุทยานทั่วไทย หนังสือเล่มนี้รวบรวมรายชื่อของอุทยาน และวนอุทยาน ที่มีอยู่ในประเทศไทยทั้งหมดอยู่ในเล่มเดียว เนื่องจากผมกำลังหาที่ไปเที่ยววันอาทิตย์ที่จะถึงอยู่ พอดีหนังสือเล่มนี้จึงเหมาะมากสำหรับผม ข้อแม้ของงานนี้ คือต้องใกล้กรุงเทพฯ และไปสะดวก เพราะผมมีเวลาแค่วันเดียว และคราวนี้ตั้งใจว่าจะชวนแม่สาวชาวกรุงไปเที่ยวป่าดูสักหน่อย งานนี้ เพื่อนๆ ไม่เกี่ยวครับ ขอควงสาวไปเที่ยวบ้าง ทุกคนเข้าใจผมดี หลังจากพลิกไปพลิกมาอยู่หลายตลบ ผมก็สรุปได้ว่า อุทยานแห่งชาติเขาสามหลั่น จังหวัดสระบุรีคง จะเหมาะสมที่สุด เพราะอยู่ใกล้มากๆ ขับรถแค่ไม่ถึงชั่วโมงครึ่งก็ถึงแล้ว

เช้าตรู่วันอาทิตย์ฝนตกพร่ำๆ ผมไปรับคุณเธอถึงหน้าบ้าน เจ้าหมาโกล์ดเด็น รีทรีฟเวอร์ ตัวใหญ่ที่เธอเลี้ยงไว้ ดีใจเป็นอันมากที่เห็นผม แต่เช้า เลยฝากรอยเท้าไว้กลางอกเสื้อยืดตัวเก่ง หวังว่าฝนคงตกไม่ทั่วฟ้า เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา จากบ้านเธอ ผมขึ้นทางด่วนไปลงที่ดินแดงแล้วต่อโทลเวย์ยาวไปลงถึงรังสิต ขับต่อไปอีกไม่ถึงชั่วโมงไปทางสระบุรีก็จะถึงอำเภอหินกอง จากตรงนี้จะเริ่มมีป้ายสีฟ้าชี้ไปน้ำตกสามหลั่น ขับไปเรื่อยๆ ป้ายก็จะหายไปเฉยๆ มารู้ตัวอีกทีผมก็ถึงตัวเมืองจังหวัดสระบุรีซ่ะแล้ว เลยแล้วชัวร์ๆ หน้าแตก แต่เช้า พาสาวมาหลงทาง โชคดีที่แถวนี้ฝนไม่ตกถึงแม้ท้องฟ้าจะครึ่มๆ ก็ตาม

หลังจากสอบถามทางกับพี่คนขายไอติมกะทิทำเองสูตรโบราณ(อีกตะหาก)เรียบร้อยแล้ว ผมก็กลับรถใต้สะพาน "สระบุรีเลี้ยวขัว" มุ่งหน้าหาป้ายวัดพระพุทธฉาย "น้ำตกสามหลั่นเข้าไปทาง เดียวกับวัดนั่นแหละ" พี่คนขายไอติมบอกผม อีกไม่นานผมก็เลี้ยวซ้ายเข้าไปตามป้าย ขับตามทางลาด ยางมะตอยไปเรื่อย ในที่สุดผมก็มาถึงทางเข้าอุทยานแห่งชาติพระพุทธฉายซึ่งระหว่างทางจะเป็นต้นไม้ใหญ่ เขียวชะอุ่มร่มรื่นมาก ไหนว่าจะมาอุทยานเขาสามหลั่น? ผมเองก็งงเหมือนกัน แต่ตอนหลังก็เข้าใจเมื่อได้อ่าน แผ่นพับที่พี่เจ้าหน้าอุทยานใจดีแจกให้ ไหนๆ ก็อ้างถึงแล้ว ผมลอกเลยแล้วกันนะครับ ข้อมูลจะได้ไม่ตกหล่น

"อุทยานแห่งชาติพระพุทธฉาย เดิมมีชื่อเรียกว่า "อุทยานแห่งชาติเขาสามหลั่น" ครอบคลุมท้องที่ อำเภอแก่งคอย อำเภอหนองแค อำเภอวิหารแดง และอำเภอเมืองจังหวัดสระบุรี ผืนป่าแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้ กับกรุงเทพฯมาก และยังคงความอุดมสมบูรณ์ มีเนื้อที่ประมาณ 44.57 ตารางกิโลเมตร หรือ 27,856.25 ไร่ ได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2524"

น้ำตกสามแหมะกับปลาน้ำตื้น

ป้ายตรงบริเวณที่ทำการชี้ไปที่น้ำตก 3 แห่งด้วยกัน คือน้ำตกสามหลั่น น้ำตกโพธิ์หินดาด และ น้ำตกโตนรากไทร เนื่องจากระยะทางพอๆ กันทั้ง 3 ทาง คือประมาณ 400-500 เมตร ผมจึงเลือกที่จะไปน้ำตกสามหลั่นซึ่งก็เป็น ความตั้งใจตั้ง แต่ต้นอยู่แล้ว แต่ เพื่อให้แน่ใจผมจึงถามพี่เจ้าหน้าที่ดู "ไปสามหลั่นจะสวยที่สุด แต่ช่วงนี้ น้ำน้อยนะครับ" คือคำตอบที่ผมได้รับ จริงๆ แล้วผมแอบดีใจ เพราะน้ำน้อยๆ จะได้ดูปลาง่ายๆ หน่อย ถ้าน้ำแรงไหลขุ่นผมก็แย่นะสิ ย้ำอีกครั้งว่าวันนี้คงได้ แต่ดูครับ เพราะเป็นเขตอนุรักษ์ อย่างมากก็คงแค่ จับขึ้นมาดูแล้วปล่อยไป สำหรับชื่อสามหลั่นนั้นมาจากลักษณะของน้ำตกที่เป็นชั้นหินเรียบๆ เรียงกันลงมา 3 ชั้นด้วยกัน รวมๆ แล้วก็สูงประมาณ 5 เมตรเห็นจะได้

ทางเดินไปน้ำตกเป็นทางขึ้นเขาไปเรื่อยๆ ตัดผ่านป่าทึบที่มีต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น ผมอดชื่นชมไม่ได้ที่มีป่าผืนใหญ่ อยู่ใกล้กับกรุงเทพฯขนาดนี้ มองไปที่พื้นผมเห็นกิ้งกือตัวสั้นๆ คลานต้วมเตี้ยมอยู่บนทาง ผมเคยเจอเจ้านี้บ่อยๆ ตามป่าชื้นๆ ทั่วไป ผมเรียกให้เธอหยุดดูแล้วก็เอาไม้เขี่ยให้ออกไปจากทางเดิน เจ้ากิ้งกือตัวสั้นพอโดนไม้ก็ตกใจ ม้วนตัวจนกลมป๊อกน่ารักดี ที่น่าสังเกตุอีกอย่าง คือที่นี้ผีเสื้อ และแมลงปอเยอะมาก และความหลากหลายทาง สายพันธุ์ก็สูงมากน่าเสียดายที่ผมมีความรู้ทางด้านแมลงน้อยมาก ไม่งั้นคงจะตื่นตาตื่นใจกว่านี้

เดินไปได้อีกสักหน่อย ผมก็สังเกตุเห็นลำธารเล็กๆ อยู่ทางด้านซ้ายมือ เนื่องจากเป็นป่าไผ่รกๆ ผมเลยไม่ได้เข้าไปดู แต่ก็สังเกตุว่าลำธารนั้นเรียบทางเดินไปเรื่อยๆ หรือว่านี่ คือลำธารที่มาจากน้ำตก? ผมเริ่มนึกหวั่นๆ เพราะเท่าที่เห็น นั้นลำธารกว้างอย่างมากก็เมตรเดียวบางช้วงไม่ถึง น้ำไหลเอื่อยๆ อีกตะหาก เราเดินมาจนถึงจุดที่ลำธารใหญ่ขึ้น เล็กน้อย ตรงนั้นจะมีสะพานให้ข้าม มองลงไปในลำธารมีปลากลุ่มปลาตะเพียนสีสวยว่ายอยู่หลายตัว มองอยู่ สักพักถึงได้รู้ว่าเป็นปลาแก้มช้ำ Puntius orphoides เพราะสังเกตุเห็นแถบสีชมภูตรงแก้มของปลา นอกจากนั้นก็ยังมีปลาซิวสุมาตรา ซึ่งเป็นปลาที่โหลมาก ผมถ่ายรูปลำธารไว้แล้วก็ตั้งใจว่าจะกลับมาถ่ายภาพปลาในตอนเที่ยง ซึ่งผมหวังว่า ตอนนั้นฟ้าจะเปิดมากขึ้น และมีแสงส่องลงมาให้ผมถ่ายรูปได้บ้าง

อีกไม่กี่โค้งต่อมา น้ำตกสามหลั่นก็ปรากฎอยู่ตรงหน้าพวกเรา พี่เจ้าหน้าไม่ได้โกหกผม ลานน้ำตกที่กว้างใหญ่ ในรูปที่ผมเห็นในหนังสือวันนี้แห้งสนิท มีเพียงน้ำตกสายเล็กๆ ที่ไหลรินน้ำไม่ทันจะท่วมตาตุ่มด้วยซ้ำไป นักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ยืนอยู่บนลานหิน ทุกคนมีกล้องส่องทางไกลครบมือ บางคนมีสโคปอันใหญ่ บอกได้เลยว่าคงมาดูนกกัน (ผมกลับบ้านมาเปิดดูตารางของสมาคมอนุรักษ์นก และธรรมชาติแห่งประเทศไทย ถึงได้มาทราบว่าเป็นพวก เพื่อนสมาคมที่มีตารางมาดูนกที่นี่ในวันเดียวกันพอดี)

"นี่ไงถึงแล้วน้ำตกสามหลั่น" ผมบอกเธอพร้อมกับยิ้มแหยๆ ตอนเอาหนังสือไปพรีเซ็นต์ให้เธอดูนั้น น้ำตกดู สวยงามอลังการณ์กว่านี้มาก "น่าจะเปลี่ยนชื่อเป็นน้ำตกสามแหมะ นะคะ" คือคำตอบที่ผมได้รับ :D เนื่องจากผมมักจะใช้เวลานานในการถ่ายภาพ วันนี้ผมเลยยกกล้อง Canon EOS 50 e พร้อมเล็นส์ และขาตั้งให้กับเธอไปลองถ่ายรูปดู วันนี้ผีเสื้อ และแมลงปอเยอะแยะ คงพอจะมีอะไรให้ถ่ายเล่นฆ่าเวลาได้บ้าง แย่หน่อยก็ตรงที่ขาตั้ง และกล้องชุดนี้หนักมาก เวลาเธอแบกไปๆ มาๆ ตามแมลงปอจึงไม่ค่อยสะดวกนัก

มาเข้าเรื่องปลาๆ กันดีกว่า ถึงแม้น้ำจะน้อย แต่เขาสามหลั่นวันนี้ก็ยังมีปลาให้ตื่นเต้น แอ่งน้ำตามซอกหิน มีลูกปลาก้าง Channa limbata อยู่เต็มไปหมด เจ้านี่จะหน้าตาคล้ายๆ ปลาช่อน Channa striata ที่เรา คุ้นเคยกันดี แต่ขนาดจะเล็กกว่ามาก คือโตเต็มที่ไม่เกิน 10-15 เซ็นต์ ตามตัวจะมีสี ฟ้าๆ แต้มบ้าง และขอบครีบจะมีสีส้มหรือแดงในตัวเต็มวัย ถือเป็นปลาขนาดกลางที่สวยดีอีกชนิดนึง ที่แตกต่างจากปลาในตระกูลนี้ตัวอื่นๆ คือปลาก้างจะอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำไหลในขณะที่ปลาในตระกูลนี้ใน เมืองไทยตัวอื่นๆ มักจะอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนิ่ง ซึ่งผลจากการอาศัยอยู่ในน้ำไหล ทำให้ปลาพันธุ์นี้ต้อง อมไข่ไว้ในปากเมื่อผสมพันธุ์ซึ่งต่างจากญาติๆ ในแหล่งน้ำนิ่งที่กัดรังวางไข่ตามกอไม้น้ำ ที่น่าแปลกใจ คือปลากระดี่ Trichogaster trichopterus ซึ่งเป็นปลาน้ำนิ่งก็กลับมาค้างอยู่ในแอ่งริมน้ำตกกับเค้าด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีปูน้ำตกตัวสีเหลืองๆ อยู่หลายตัวอยู่เหมือนกัน น้ำในแอ่งตื้นเอามากๆ และมีพื้นเป็นโคลน ปูเดินไปมาบางทีตัวพ้นน้ำเลยครับ

ผมพยายามจะถ่ายรูปลูกปลาก้าง แต่การถ่ายก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะน้ำตื้นจนไม่ท่วมเล็นส์ พอท่วมเล็นส์ก็ไม่ท่วมแฟลช (วันนี้แสงไม่ดีเลยต้องใช้แฟลชช่วย) พอท่วมแฟลช ฐานกล้องก็ไปโดนเอาโคลน คลุ้งขึ้นมา ผมนอนแบบอยู่กับพื้นหินตั้งนานก็ยังถ่ายรูปไม่ได้ดั่งใจ หลังจากพยายามจนเบื่อแล้วผมก็ลอง เดินไปดูตรงจุดที่น้ำตกไหลลงมาปรอยๆ บ้าง จุดนี้น้ำยังไม่ท่วมตาตุ่ม แต่ในน้ำกลับมีฝูงปลาขนาดเล็ก ว่ายอยู่หลายตัว ดูแว่บแรกก็รู้ แล้วว่าต้องเป็นพวกปลาซิวแน่ๆ แต่จะเป็นพันธุ์ไหนคงต้องจับพิสูจน์

มาถึงตรงนี้เธอ ก็ตะโกนเรียกให้ผมไปดูมดยักษ์ที่เธอเจอเดินอยู่บนลานหิน มดตัวนี้มีสีเขียวแปลกตา และตัวใหญ่มากจริงๆ กะดูคร่าวๆ ต้องยาวสักเซ็นต์นึง ผมทั้งนั่งทั้งนอนถ่ายรูปไว้แล้วก็คว้าสวิงอันเล็ก ที่เตรียมมาด้วยไปไล่ช้อนปลา แค่จ้วงแรกผมก็ได้ขึ้นมาแล้ว ปรากฎว่าเป็น Brachydanio alboliniatus หรือที่เราเรียกกันว่าปลาม้าลายมุกนั่นเอง ผมจัดการจับปลาใส่ตู้ขนาดเล็กที่เตรียมมาด้วย เพื่อสังเกตุสี และลายเส้นต่างๆ ปลาตัวนี้สีไม่เหมือนกับปลาซิวพันธุ์เดียวกันนี้ที่ผมจับได้ที่จังหวัดกาญจนบุรี นอกจากสี ลำตัวที่เข้มกว่าแล้ว แถบสีบริเวณใต้สันหลังก็เป็นแถบใหญ่สีฟ้าซึ่งปลาจากกาญฯนั้นแถบดังกล่าวจะเป็น สีส้ม/ทอง และลายจะเล็กกว่า น่าสนใจนะครับปลาสายพันธุ์นี้ เพราะ B. alboliniatus จากทางแม่น้ำสารวิน ก็มีลายที่แปลกออกไป คือตัวนี้จะไม่มีเส้นสีดำทองบริเวณลำตัว และส่วนหางก็จะมีสีแดงมากกว่าปลาจากแหล่งอื่น ปลาจากสารวินแหละครับ ที่มีขายอยู่เยอะแยะในนามของปลาม้าลายมุก สำหรับปลาในกลุ่มนี้ในที่เลี้ยง มีการเพาะที่ ไม่ยุ่งยากนัก วิธีการ คือต้องเลี้ยงไว้เป็นฝูงสัก 10 ตัว ในอ่างหรือในตู้ โดยที่ปลานั้นให้เลี้ยงอยู่ในตะกร้าที่ลอยอยู่ อีกทีหรือไม่ก็หาตาข่ายตาเล็กพอที่จะให้ไข่ฟองเล็กๆ รอดได้ แต่ปลาไม่สามารถรอดได้ มากางไว้ที่พื้น ปลาที่สมบูรณ์จะจับคู่ไข่ในตอนเช้า โดยไข่ใบเล็กใสๆ ที่ออกมานั้นจะตกผ่านตะแกรงลงไปที่พื้นที่พ่อแม่ และปลา ตัวอื่นๆ ไม่สามารถตามไปกินได้ ลูกปลาจะฟักเป็นตัวภายใน1-3 วัน จากนั้นก็ให้อาหารขนาดเล็กๆ เช่นไข่แดงต้มสุก มาบด ลูกไรทะเล หนอนจิ๋ว หรือน้ำเขียวก็ได้ ลูกปลาจะอนุบาลไม่ยากนักถ้าคุณภาพน้ำดีพอสัก 3 เดือนก็เริ่มโตเหมือนพ่อแม่แล้วครับ ร่ายมาซ่ะยาวเอาเป็นว่าผมจัดการถ่ายรูปปลาตัวนี้ในตู้แล้วก็ปล่อยไป (เขตอุทยานแห่งชาติ นะครับ)

ถ่ายในตู้จะไปมันส์อารั้ย คราวนี้ผมเลยต้องพยายามถ่ายภาพปลาม้าลายมุกใต้น้ำดู ซึ่งก็พบ กับปัญหาเดิม คือน้ำตื้น และพื้นเป็นฝุ่นฟุ้งขึ้นมา แถมเจ้านี่ยังว่ายเร็วอีกตะหาก ผมต้องแก้ปัญหาด้วยการตั้ง กล้องไว้นิ่งๆ แล้วรอให้ปลาว่ายมาเข้าเฟรมเองซึ่งผมก็ต้องพยายามดักไปดักมาอยู่นานกว่าจะพามาได้ เมื่อคิดว่ารบกวนกันมากพอแล้วผมก็เลยหยุดแค่นี้ก่อน กะว่ารอให้ตอนเที่ยงแสงส่องลงไปในน้ำตรงๆ ให้มากกว่านี้แล้วค่อยมาลองถ่ายดูอีกที ลืมบอกไปว่าอุปสรรคสำคัญอีกอย่างของหมายนี้ก็ คือยุง ซึ่งมี อยู่ชุกชุม และตัวใหญ่มาก อยู่นิ่งๆ ไม่ได้จะโดนกัดทันที ซึ่งถ้าอยู่ไม่นิ่งก็ถ่ายรูปไม่ได้ ผมคิดว่าตอนเที่ยง เมื่ออากาสร้อนขึ้นยุงคงน้อยลง เลยพักการถ่ายรูปปลาไว้ก่อน

เราเก็บข้าวของแล้วเดินต่อขึ้นไปอีก ระหว่างทางมีต้นเข้าพรรษา Globba sp. พืชตระกูลขิง ที่มีดอกสีเหลืองขึ้นอยู่เป็นหย่อมๆ พอให้ผมชี้ชวนให้สาวดูได้บ้าง ผมคุ้นเคยกับเจ้าต้นนี้ดี เพราะเคย เห็นชาวบ้านขุดไปขายที่จตุจักรบ่อยๆ น่ายินดีที่ยังมีอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์แห่งนี้เป็นจำนวนมาก ผมเคยถามชาวบ้านว่าทำไมถึงเรียกว่าต้นเข้าพรรษาซึ่งคำตอบ คือ เพราะมันเป็นต้นไม้ที่ออกดอกช้วง เข้าพรรษาซึ่งเป็นช้วงหน้าฝนนั่นเองตอนนี้ฝนยังตกไม่มากนักหลายต้นเลยยังดูโทรมๆ และดอก ยังออกไม่เต็มที่นัก นอกจากต้นเข้าพรรษาแล้ว ต้นไม้ที่เด่นๆ เท่าที่ผมรู้จักก็ คือเฟิร์นที่ขึ้นอยู่ริมทางเดิน หลายชนิดมอสที่เกาะอยู่ริมธารน้ำก็สวยมาก และที่อดพูดถึงไม่ได้ คือต้นตะแบก ไม้ยืนต้นที่ออกดอกสีชมภู สดใส ซึ่งบางส่วนก็ตกลงตัดกับสีดำของลานหินอย่างสวยงาม

เราเดินขึ้นไปเรื่อยๆ ผมหวังว่าน้ำอาจจะมากขึ้น แต่ก็ไม่เป็นเหมือนที่คิด ที่น่าแปลก คือ พอมาสูงขึ้นในน้ำกลับมีคราบอะไรก็ไม่รู้สีเหลืองๆ อยู่เต็มไปหมด ดูแล้วเหมือนจะเป็นสังคมแบคทีเรีย ชนิดหนึ่ง แต่สภาพอย่างนี้น่าจะเกิดกับน้ำเสียมากกว่าที่จะมาเกิดบนลำธารแห่งนี้ คิดยังไงก็ไม่เข้าใจ อย่างไรก็ดี ในน้ำยังมีปลาซิวม้าลายมุกอยู่เป็นจำนวนมาก และตามซอกหินก็พอมีปลาก้าง และปลากระดี่อยู่บ้าง ถึงตรงนี้ผมก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมปลากระดี่ถึงมาอยู่ในแหล่งน้ำไหลได้

เราหยุดตรงหาดกรวดเล็กๆ แห่งหนึ่ง ตรงจุดนี้มีผีเสือ และแมลงปอบินไปบินมาอยู่หลายตัว ผมพยามยามสอนให้เธอถ่ายภาพผีเสื้อ และแมลงปอต่างๆ ซึ่งนางแบบนายแบบก็ไม่ค่อย ให้ความร่วมมือนัก พากันบินไปบินมา เกาะก็แป๊ปเดียวพอยกกล้องไปถึงก็บินหนีไป ยกไปถึงทัน ยังไม่ได้ โฟกัสก็หายไปแล้ว บางทีนักท่องเที่ยวท่านอื่นๆ ก็เดินผ่านมาโดยไม่ทันสังเกตุก็พาเอาแบบของเราตกใจอีก เล่นเจ้าล่อเอาเถิดกันอยู่นาน ถ่ายได้บ้างไม่ได้บ้าง จนเกือบเที่ยงเข้าไปแล้ว เมื่อเช้าพวกผมฝากท้องไว้กับ ซาลาเปาขาหมูหมั่นโถวกะซาลาเปากระต่ายของ 7-11 แค่นั้นเอง ตอนนี้เลยหิวเป็นกำลัง ตรงทางเข้าอุทยาน ผมสังเกตุเห็นร้านขายอาหารเล็กๆ อยู่ริมอ่างเก็บน้ำ บรรยายกาศดูร่มรื่นดี ก็เลยชวนกันกลับไปกินข้าวกินปลา กันก่อน ที่ร้านนี้เป็นโต๊ะตั้งอยู่ไม่กี่ตัวบรรยากาศดีพอสมควร แต่อาหารรสชาติเฉยๆ กระเดียดไปทางเค็มมาก แต่ด้วยความหิวผมก็กินไปจนหมดจนได้

กินเสร็จแล้วผมก็กลับไปตรงลำธารจุดที่มีสะพานไม้ข้ามที่เห็นปลาแก้มช้ำอยู่เป็นจำนวนมาก ลำธารเล็กๆ อยู่ในที่ร่ม บนพื้นมีเศษใบไม้อยู่เป็นจำนวนมาก น้ำก็ไม่ใสนัก แต่ปลาเชื่องมาก จุ่มกล้องลงไปก็มาว่ายออกันเต็มไปหมด เข้ามาใกล้จนกล้องไม่สามารถโฟกัสได้ ผมหลับหูหลับตากดไปเรื่อยๆ ยุงที่คิดว่าจะมีน้อยลงก็ไม่ได้น้อยลงเลย กดไปจนกระทั่งคิดว่าคงจะพอมีรูปที่ได้เรื่องแล้วผมก็เลยเลิก เพราะกองเชียร์ที่ตอนแรกตื่นเต้นกับฝูงปลา ตัวใหญ่สีสวยที่แสนเชื่องตอนนี้ก็เริ่มเบื่อแล้ว แถมสังขารตัวเองก็เริ่มไม่ไหวแล้ว เพราะต้องนั่งยองๆ หลังขดหลังแข็งอยู่บนก้อนหินริมลำธารมาพอสมควรแล้ว เสร็จจากตรงนี้ผมก็ขึ้นไปถ่ายรูปปลาซิวม้าลายมุก ต่อตรงน้ำตกไหลจ๊อกๆ พอคิดว่าพอจะได้ภาพดีๆ แล้วก็เดินกลับไปที่รถ ระหว่างทางยังโชคดีไปเจอต้นเปราะ กำลังออกดอกสีม่วงสดใสอยู่ข้างทางอีก ก่อนถึงลานจอดรถผมแวะที่ทำการอุทยานฯ ซึ่งมีแผนพับข้อมูลแจก ผมถามเจ้าหน้าที่ว่าเมื่อไหร่ถึงจะมีน้ำเยอะๆ "ต้องรอถึง สิงหาฯโน้นแหละครับ" คือคำ ตอบ ในที่ทำการยังมีรูปผีเสื้อสวยๆ แสดงให้ดูอีกเยอะแยะให้เป็นที่ตื่นตาตื่นใจของผมเป็นอย่างมาก

ล้อรถหมุนตอนประมาณ บ่าย 2 บ่าย 4.45 ผมก็มานั่งยิ้มโหลดรูปใส่เครื่องคอมอยู่ที่บ้านแล้ว แต่ยิ้มก็ต้องหุบไปหน่อยเมื่อรูปปลาก้าง และปลาแก้มช้ำออกมาไม่ค่อยได้เรื่องสักเท่าไหร่ ถึงแม้พันธุ์ปลาจะน้อยไปหน่อย และก็เป็นปลาที่ไม่แปลกนัก แต่สภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ แถมยังอยู่ใกล้กรุงเทพฯแค่นี้เอง หน้าน้ำมาถึงเมื่อไหร่ผมจะกลับไปเยือนที่นี้อีกครั้งแน่นอนครับ ผมอยากเห็นลานหินที่ผมไปปูเสื่อนั่งเล่นกับสาวเจ้าในคราวนี้กลายเป็นลานน้ำตกที่สวยงาม ถึงคราวนั้นผมคงชี้ชวนให้เธอดูได้อย่างมั่นใจกว่านี้ (ถ้าเธอยังยอมมาด้วยอ่ะนะ) อีกอย่าง คือผมยังไม่ได้ แวะสักการะพระพุทธฉายเลยคราวหน้าไม่พลาดแน่ครับ

สำหรับ เพื่อนที่อยากไปดูด้วยตาตนเอง การเดินทางโดยละเอียดข้างล่างผมลอกมากจากแผ่นพับของอุทยาน ซึ่งจริงๆ แล้วอ่านแล้วงงๆ ผมเลยดัดแปลงให้เล็กน้อยครับ

"สามารถเดินทางไปกลับ กรุงเทพฯ-สระบุรี ได้ภายในวันเดียว โดยใช้เส้นทางพหลโยธิน (ทางหลวงหมายเลข 1) ก่อนถึงกิโลเมตรที่ 102 กลับรถ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปตามป้าย วัดพระพุทธฉาย เข้าถนนลาดยาง 5 กิโลเมตร แยกซ้ายถึง พระพุทธฉายต่อด้วยฟาร์มจระเข้ และสวนสัตว์สระบุรี และหากแยกขวาจากพระพุทธฉายไปอีก 3 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ ทำการอุทยานฯพระพุทธฉาย"

Special thanks:
เธอ ที่ยอมไปเป็น เพื่อน ผมหวังว่าเธอคงชอบ ผมสนุกมาก
พี่คนขายไอติม ที่บอกทางผม
เจ้าหน้าที่อุทยานทุกท่าน ที่มีน้ำใจช่วยให้ข้อมูลต่างๆ กับผม และที่ช่วยดูแลสมบัติของคนไทยทั้งชาติไว้
คุณ ชาลฤทธิ์ ที่ช่วย ID ต้นไม้ให้

more survey ...

 

www.siamensis.org - Thailand Fish & Nature Explorer
An independent non-profit group
Established 2001
 All Rights Reserved 2001-2010 ©siamensis.org