Abstract:
The Queen Crab, Thaiphusa sirikit (Naiyanetr,1992), is a species of forest crab.
First discovered in 1983, the crab grow up to about 5 Cm. wide and 7 Cm. across.
Their unique coloration make them one of the most beautiful crab species in the world.
Normally, their legs color is red but somehow, the population I found have white legs.
Probably it was their seasonal color variation. It is supposed to be their breeding season
during this time of the year in rainy season.
The Queen crab's distribution is limited to the area in Triyok and Tongpapoom district in Kanchanaburi
province of Thailand. Although quite common in their preferred habitat, this crab is a
protected species due to their limited distribution range.
Thaiphusa sirikit was name after Her Majesty Queen Sirikit in commemoration of her fifth cycle birthday in 1992.
คราวนี้พาไปดูปูกันบ้างครับ หมายนี้ได้มาจากคุณ ชาลฤทธิ์ ที่ไปสำรวจพันธุ์ต้นไม้แถวนั้นแล้วไปเจอเข้าโดย
บังเอิญ จริงๆ แล้วก็เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วนะครับว่าปูราชินี Thaiphusa sirikit (Naiyanetr,1992)
นั้นเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของเขตอำเภอทองผาภูมิ และ อำเภอไทรโยค แต่ผมนั้นหาไม่เจอสักทีว่าตัวอยู่ตรงไหน
พอทราบข่าวจากคุณ ชาลฤทธิ์ อีกอาทิตย์ต่อมาก็เลยรีบบึ่งไปดูทันที หมายนี้เป็นป่าชุมชน อยู่ในเขต
อ. ทองผาภูมิ ซึ่งมีถนนลาดยางเข้าไปจนถึงทางเข้าเลยครับ ผมขออนุญาตไม่บอกเส้นทางละเอียด
ตรงนี้ เอาเป็นว่าถ้าท่านไหนอยากจะแวะเวียนไปเยี่ยมปูกันก็อีเมลมาถามทางที่ผมแล้วกันนะครับ หมายนี้
พอไปถึงจะเป็นป่าพุขนาดใหญ่ และจะมีทางเข้าเล็กๆ มีป้ายบอกว่าเป็นป่าชุมชน และจะมีทางเดินทำจากไม้ไผ่
ให้เดินเข้าไปชมถิ่นอาศัยของปู ซึ่งผมดูว่าไม้ไผ่พวกนี้ถ้าไม่ได้รับการซ่อมแซมคงจะอยู่ไม่พ้นหน้าฝนนี้เป็นแน่
เข้าไปแล้วจะมืดมาก และยุงเยอะจนน่ากลัว เพราะในเขตนี้ยังมีไข้มาเลเลียระบาดอยู่ ผมแนะนำว่าใครจะไป
ให้สบายใจก็กินยากันมาเลเลียไปก่อนก็จะดีครับ
ปูราชินีจัดเป็นปูป่าที่ไม่ต้องอยู่ในน้ำตลอดเวลาเหมือนปูนา (Sayamia bangkokensis) หรือปูลำธาร
(Potamon sp.) แต่ว่าจะชอบอยู่ในที่ชื้นแฉะตามพื้นที่ป่าพุ (พุเป็นจุดที่มีน้ำใต้ดินซึมขึ้นมา คล้ายๆ กับ
ป่าพรุทางภาคใต้นะครับ) หรือ ตามลำธารที่มีป่าปกคลุม
หนาทึบ และชุ่มชื้น ซึ่งในหมายที่ผมไปพบนี้เป็นลักษณะป่าพุที่มีลำธารไหลผ่านด้วย เป็นพื้นที่ๆ ชุ่มชื้นมาก
ซึ่งสังเกตุได้จากพืชในตระกูลเตยชื่อเตยเวียน (Pandanus tectorius) ขนาดใหญ่ซึ่งชอบพื้นที่ชื้นแฉะซึ่ง
ขึ้นอยู่ในป่าแห่งนี้อย่างหนาแน่น โดยปูนั้นจะขุดรูอยู่ตามริมลำธาร ซึ่งผมพบว่า แต่ละตัวจะออกหากินไม่ห่าง
จากรูมากนัก และจะกินอาหารพวกสัตว์ขนาดเล็กต่างๆ รวมไปถึงพืชบางชนิดด้วย
ปูราชินีขนาดเมื่อโตเต็มที่ความกว้างของกระดองจะประมาณ 5 ซม. ยาวประมาณ 7 ซม. โดยปูนั้น
จะลอกคราบ เพื่อเติบโตเหมือนปูทั่วๆ ไป สีสรรของปูสายพันธุ์นี้ก็เห็นกันอยู่ตามรูปแล้วนะครับ ว่ากลาง
กระดองจะเป็นสีม่วงทึบๆ คล้ายสีเปลือกมังคุด ขอบทั้ง 2 ข้างจะเป็นสีขาว และโดยปกติแล้ว ขาทั้ง 8 ข้าง
จะเป็นสีแดง แต่ตอนที่ผมไปนั้น ไม่ทราบว่าทำไมปูที่เจอทั้งหมดจึงมีขาเป็นสีขาวทุกตัว ซึ่งหลังจาก
อ่านข้อมูลของกรมป่าไม้แล้ว ผมเข้าใจว่าจะเป็นลักษณะของการเปลี่ยนสีตามฤดูกาล (Seasonal
Color Variation) เพื่อไม่ให้เป็นการเข้าใจผิดว่านี่ คือสีธรรมชาติของปูสายพันธุ์นี้ผมเลยนำรูปจากสแตมป์
มาให้ดูเป็นตัวอย่างของปูในขณะที่สีปกติด้วยครับ
ปูราชินีจะผสมพันธุ์ในช้วงฤดูฝนโดยการผสมนั้นจะเป็นการผสมพันธุ์ภายในซึ่งตัวเมียจะเก็บไข่ไว้กับท้อง
จนกระทั่งฝักเป็นตัวออกหากินเองได้ วิธีดูเพศของปูเกือบทุกสายพันธุ์ในโลกนี้ คือดูที่ด้านใต้ท้องครับ
เนื่องจากผมไม่อยากจะรบกวนจับปูมาผลิกใต้ท้องถ่ายรูป งานนี้ผมเลยใช้ฝีมือการวาดภาพศิลปะอันงดงาม
มาประกอบแทน คือ เพื่อนๆ ที่เคยกินปูคงจะนึกออกนะครับว่าปูจะมีแผ่นๆ นึงคลุมอยู่ใต้ท้อง ซึ่งแผ่นนี้
จะคลุมอวัยวะสืบพันธุ์ของปูเอาไว้ แผ่นนี้เรียกว่าจับปิ้ง ตัวเมียจะมีจับปิ้งที่ใหญ่ และกว้างกว่าตัวผู้ (ตามรูป)
ซึ่งในส่วนของปูราชินีจะมีจับปิ้ง 7 ชั้นด้วยกันครับ
ปูราชินีนั้นจริงๆ แล้วเป็นที่รู้จักของชาวบ้านท้องถิ่นในชื่อว่าปูสามสีมานานแล้ว แต่ในทางวิทยาศาตร์นั้นค้นพบ
ครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2526 โดยนายสุรพล ดวงแข ซึ่งหลังจากได้จำแนกชนิด แล้วว่าเป็นปูพันธุ์ใหม่
ของโลกซึ่งมีความสวยงามมาก ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตอัญเชิญ
พระนามาภิไธยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตต์พระบรมราชินีนาถ เป็นนามปูป่าน้ำจืดชนิดนี้ว่า ปูราชินี
เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบในปี 2535
โดย แต่เดิมนั้นผมคาดว่า ศาสตราจารย์ ไพบูลย์ นัยเนตร ผู้บรรยายลักษณะทางอนุกรมวิธานของปูชนิดนี้ได้ใช้ชื่อว่า Demanietta sirikit Naiyanetr, 1992
และต่อมาได้มีการเปลี่ยนสกุล (genus) มาเป็น Thaiphusa ปูตัวนี้จึงได้ใช้ชื่อใหม่ว่า Thaiphusa sirikit (Naiyanetr,1992)
ซึ่งวงเล็บที่ชื่อผู้บรรยาย และปีที่บรรยายนั้นหมายความว่าได้มีการเปลี่ยนสกุลของปูตัวนี้จากการบรรยายครั้งแรก
ซึ่งในหลายๆ แห่ง เช่นในเว็บไซด์ของกรมป่าไม้ที่ผมใช้มาอ้างอิงในบทความนี้ยังใช้สกุลเดิม (Demanietta) อยู่
สำหรับสถานะภาพของปูสายพันธุ์นี้ในธรรมชาตินั้น ผมคาดว่าคงจะยังมีเหลืออยู่ในจำนวนที่ไม่น่าเป็นห่วงนัก
ในเขตพื้นที่ๆ ค่อนข้างจำกัด อย่างไรก็ดีป่าในแถบนี้ส่วนใหญ่ก็จะได้รับการคุ้มครองประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ
เป็นส่วนใหญ่แล้ว ซึ่งก็ ทำให้เบาใจไปได้เรื่องหนึ่ง แต่ที่น่าเป็นห่วง คือการลักลอบจับปูที่สวยงามชนิด
นี้ เพื่อนำไปขายเป็นสัตว์เลี้ยง ซึ่งก็มีผู้พบเห็นปูพันธุ์นี้ขายอยู่ในตลาดนัดจตุจักร และยังเคยมีผู้พบเห็น
บริษัทส่งออกปลาสวยงามบางแห่งเตรียมลักลอบส่งปูราชินีจำนวนมากออกนอกประเทศด้วย กอรปกับปู
สายพันธุ์นี้เท่าที่ผมได้ไปสังเกตุมานั้นมีนิสัยค่อนข้างเชื่อง ทำให้ถูกจับได้ง่ายๆ ซึ่งการประกาศให้ปูราชินีเป็น
สัตว์คุ้มครองของประเทศไทยคงจะ ทำให้การลักลอบจับมาเป็นสัตว์เลี้ยงน้อยลง และ ทำให้เรามีปูราชินี
ปูป่าที่จัดว่าสวยที่สุดในโลกสายพันธุ์นึงอยู่คู่บ้านคู่เมืองคู่ป่าของเราตลอดไปครับ
ขอขอบคุณ:
คุณชาลฤทธิ์ และ เพื่อนๆ ที่ช่วยให้ข้อมูลจนผมหาแหล่งพบ
เด็กชาย ภวพล ที่ช่วย ID ต้นเตยให้
ข้อมูลได้มาจาก:
http://www.forest.go.th/Banpong/library/library_03.htm
http://www.lib.ru.ac.th/journal/demanietta_crab.html
http://www.chula.ac.th/research/Activity/Journal/rj43_402.htm
http://rmbr.nus.edu.sg/biodiversitii/bio/fw_crab.html
more survey ...