: Home : Board : Articles : Expeditions : About us : Privacy Policy :

 


หมายแรกที่เราจอดกัน ซึ่งมารู้ในภายหลังว่าจุดนี้เป็นจุดที่ Betta prima ถูกจับได้เป็นครั้งแรก  

ปลากริมควายสีสวย  

น้ำตกพลิ้วที่คราคร่ำไปด้วยผู้คน และฝูงปลา  

สองพ่อลูกยืนดูปลา  

ว่ายน้ำกะปลาพลวง  

ผักบุ้ง อาหารสุดโปรดของปลาพลวง 

ฝูงปลาพลวงแห่งน้ำตกพลิ้ว  

ปลาจาดสีทองสวยเชียว  

ผีเสื้อบนหินแกรนิต  

มองลงไป ฮู้! ปลาเต็มเลย ตรงไหนก็มีปลา 

ปลาเลียหิน รูปนี้ถ่ายมาด้วยความยากลำบาก  

หมายนี้แหละครับที่พบปลากัดหัวโม่ง  

ต้นไม้ขึ้นหนาแน่นริมลำธาร ปลากัดชอบครับ  

B. prima  

ปลาแค้หิน  

ปลาตะเพียนน้ำตก  

ปลาหลดภูเขา 

จิ้งเหลนลายสวยที่ยืนแอ๊คท่าให้เราถ่ายรูปนี้ไว้ได้  

ปลาซิวข้างขวานเล็ก และปลาเสือข้างลาย  
วันเดียว เที่ยวจันทบุรีEnglish Version
เรื่อง วุทธิเดช/นณณ์
ภาพ อนุรัตน์/นณณ์
สิงหาคม 2545

เมื่อเอ่ยถึงจังหวัดจันทบุรีแล้ว หลายท่านคงจะนึกถึงผลไม้ชื่อดังของจังหวัด เช่น ทุเรียน เงาะ สละ และ มังคุด บางท่านอาจนึกถึงหาดทรายสีขาวน้ำทะเลใสๆ แต่สำหรับพวกเราแล้ว จะนึกถึง ลำธารเล็กๆ น้ำตกน้ำใสๆ หรือ แม้กระทั่งแอ่งน้ำใหญ่น้อย และ ปลาน้ำจืดที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำเหล่านั้น เมื่อกระผม และ เพื่อนๆ ได้พูดคุย กันแล้วเราก็นัดกันในวันอาทิตย์ปลายเดือนเมษายน ว่าพวกเราจะไปสำรวจพันธุ์ปลากันที่จังหวัดชายทะเลตะวันออกแห่งนี้ เรานัดกันตั้ง แต่เช้าตรู่ (6.30 น.) ที่ตลาดเซเว่นเดย์แล้วเราก็มุ่งหน้าสู่จังหวัดจันทบุรี

ความตั้งใจที่เราไปสำรวจครั้งนี้ คือที่น้ำตกพลิ้ว และ ลำห้วยต่างๆ รอบๆ บริเวณเขาสระบาป หลังจากขับรถไปร่วมๆ 3 ชั่วโมง เราก็ถึงทางแยกเข้าน้ำตกพลิ้ว จุดแรกที่เราสำรวจ คือลำธารเล็กๆ ด้านซ้ายของทางขึ้นน้ำตก เราคาดว่าจะพบปลากัดหัวโม่ง (Betta prima) ปลากัดชนิดอมไข่ ซึ่งสอบถามมาจากผู้รู้ว่าพบได้ทั่วไปในแถบนี้ ตามลำธาร สายเล็กๆ และลำห้วยน้ำไหลเอื่อยๆ ซึ่งปลาจะอยู่ตามกอหญ่าริมน้ำ แต่เมื่อลองช้อนลงไปตามสถานที่ลักษณะที่กล่าวมาเราก็ได้ขึ้นมา แต่ ปลากริมควาย (Trichopsis viatatus) สีเขียวสดดูสวยงามมาก และที่ครีบยังมีจุดสีแดงๆ กระจายอีกด้วย ต้องยอมรับว่า เป็นปลากริมที่สวยมากตัวหนึ่ง เมื่อมองสำรวจไปในน้ำเราเห็นปลาซิวว่ายผ่านเราไป เป็นปลาซิวที่มีหางสีดำเข้มดูแปลกตา เราแอบหวังกันว่าอาจจะเป็นชนิดใหม่ พวกเราพูดแหย่กันตามภาษาว่า ซักวันเราอาจได้มีชื่อปลาเป็นชื่อนามสกุลซักตัว เมื่อลองลงไปตีอวนดูปลาที่ว่าก็เป็นปลาซิวจริงๆ แต่ว่าเป็นปลาซิวตัวที่พบอยู่ได้ทั่วๆ ไปในแหล่งน้ำหลายแห่งทั่วประเทศ ปลาซิวตัวนี้พบครั้งแรกบนเกาะสุมาตรา จึงได้รับการตั้งชื่อว่าปลาซิวสุมาตรา (Rasbora sumatrana) ซึ่งปลาสายพันธุ์นี้ จะมีแถบสีดำพาดกลางตัวตามแนวยาว ตรงส่วนปลายของแถบจะเป็นรูปคล้ายหยดน้ำ ในบริเวณนี้เรายังพบต้นสันตวาใบข้าว (Blyxa sp.) หลังจากใช้เวลาไปพอประมาณแล้วเราก็ออกเดินทางต่อสู่น้ำพลิ้วที่มีชื่อเสียงแห่งจังหวัดจันทบุรี

เราจอดรถไว้ที่ลานจอดรถขนาดใหญ่ของ อบต. ซึ่งมีรถจอดอยู่ก่อนแล้วพอสมควร จากลานจอดรถเราต้องเดินขึ้นไปยังตัวน้ำตกพลิ้ว ซึ่งอยู่ห่างออกไปไม่มากนัก ระหว่างทางจะเห็นว่ามีร้านค้าวางของขายอยู่มากมาย ที่น่าสนใจ คือผักบุ้ง และถั่วฝักยาว ซึ่งแม่ค้า โฆษณาว่าควรจะซื้อติดไม้ติดมือไปให้เป็นอาหารปลา เพราะมีปลาเยอะมาาาากกกก เห็นโฆษณากันถึงขนาดนี้พวกเราเลยซื้อผักบุ้ง ติดไม้ติดมือไปกำนึงด้วย

เมื่อมาถึงด่าน เราจึงได้ทราบว่าน้ำตกพลิ้วนั้นเป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งต้องมีการจ่ายค่าธรรมเนียมการเข้า ของคนไทย 30 บาทต่อคน แต่ของชาวต่างชาติจะเป็น 200 บาท ต่างกันเยอะเลยครับ เมื่อเราผ่านเข้าไปแล้ว พบว่าวันนี้ ผู้คนมาเที่ยวกันเยอะมากเลยทีเดียว เราเดินขึ้นไปในอุทยานก่อนถึงตัวน้ำตกจะพบ อลงกรณ์เจดีย์ โบราณสถานสำคัญ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2419 เพื่อเป็นที่ระลึกในการเสด็จประพาส น้ำตกแห่งนี้ พร้อมกับพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์

น้ำตกพลิ้วเป็นน้ำตกที่เดินทางไปมาสะดวกรถเข้าถึงได้ และไม่ไกลจากกรุงเทพมากนัก และห่างจากตัวเมืองจันทบุรีเพียง 14 กิโลเมตร ผู้คนจะเยอะมากโดยเฉพาะในวันเสาร์อาทิตย์ นอกจากน้ำตกที่สวยงามแล้วที่นี้ยังมี ตะกอง ซึ่งเป็นกิ่งก่ายักษ์ขอไทย มีลักษณะคล้ายกับตัวอีกัวน่า แต่สีจะเข้มกว่า บางที่จะออกสีเขียวคล้ำๆ และจะพบอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำเสมอ

เราเดินไปตามทางเดินที่ถูกจัดทำขึ้นให้เดินได้สะดวก แต่ก็กลมกลืนไปกับธรรมชาติ ด้านซ้ายจะเป็นแอ่งน้ำตกซึ่ง ในทุกจุด ที่น้ำตกไหลผ่านจะพบปลาพลวง (Neolissuchilus soroides) จำนวนมาก (มากจริงๆ ) และจะคุ้นเคยกันคนด้วย เพราะคงจะมีนักท่องเที่ยว นำผักไปให้กินกันทุกวัน เราสังเกตุว่าทุกหนแห่งที่มีน้ำไหลผ่านก็จะมีปลาพลวงพวกนี้อาศัยอยู่ พร้อมทั้งนักท่องเที่ยวที่ไปเล่นน้ำกับปลา ระหว่างทางเดินไปสู่ตัวน้ำตก เราต้องผ่านแอ่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีปลาอยู่มากมายเราจึงหยุดว่ายน้ำเล่นกัน ซึ่งคราวนี้คณะของเราได้นำกล้องดิจิตอล และกล้องวีดีโอมาถ่ายภาพใต้น้ำซึ่งก็เป็นที่สนใจของผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก น่าเสียดายที่วันนี้ท้องฟ้ามืดคลึ้ม แสงที่ส่องผ่านน้ำ ลงไปจึงมีไม่มากนัก ทำให้ภาพที่เราถ่ายได้ไม่คมชัดเท่าที่ควร

ในแอ่งน้ำที่มีความลึกตั้ง แต่ หัวเข่าจนถึง 3-4 เมตรแห่งนี้ นอกจากจะมีปลาพลวงทุกขนาดตั้ง แต่ตัวเล็กกระจิ๊ดเดียวไปจนถึง ปลาตัวใหญ่ขนาดหลายกิโลกรัมแล้ว ยังมีปลาจาด (Poropuntius normani) ซึ่งมีลำตัวแบนข้างกว่าปลาพลวง และมีสีออกเหลืองทอง ต้องยอมรับว่าตื่นตาตื่นใจมากกับการที่ได้เห็นปลาใหญ่ๆ มากๆ ขนาดนี้มาอยู่รวมกันในน้ำตกเล็กๆ ซึ่งเวลาว่ายน้ำที่แสนจะเย็นสบายนี้ เราแทบจะต้องแหวกปลาออกก่อนถึงจะว่ายได้ ส่วนขาที่ตีน้ำนั้นก็ตีไปโดนปลาหลายหนจนเกรงใจ ส่วนผักที่เตรียมมานั้นก็ทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม เพราะปลาชอบมากจริงๆ โยนลงไปตรงไหนก็ตามไปกินกันเป็นกลุ่มใหญ่ จนพวกที่อยู่บนฝั่งแกล้งโยนมาใส่พวกเราที่ว่ายน้ำกันอยู่

หลังจากดำน้ำเล่นกับปลาได้สักพัก เราก็สังเกตุว่าปลาบางตัวมีแผลที่บริเวณหัวเป็นวงๆ อยู่ 2-3 ตัว ซึ่งขณะที่เรากำลังพยายาม เดากันอยู่ว่าปลาไปโดนอะไรมาถึงมีแผลแปลกๆ เราก็พบสาเหตุ เมื่อมีปลาพลวงขนาดเล็กตัวหนึงว่ายผ่านมา และมีหนังยางพันอยู่รอบหัว เราได้ช่วยกันต้อนปลาตัวนั้น และจัดการเอาหนังยางออกจากหัวให้ เมื่อพบสาเหตุแล้วเราจึงเริ่มสังเกตุดู และก็พบว่าในน้ำมีหนังยาง ลอยอยู่เป็นจำนวนมาก คงจะเป็น เพราะผักบุ้ง และถั่วฝักยาวที่วางขายเป็นอาหารปลาจะมัดด้วยหนังยาง ซึ่งบางทีนักท่องเที่ยวก็โยนลง ไปให้ปลาทั้งกำเลย หรือบางทีให้หมดแล้วก็โยนหนังยางทิ้งลงน้ำไป พวกเราช่วยกันเก็บหนังยางจากแอ่งน้ำนั้นได้หลายเส้นทีเดียว คณะของเราได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่ในบริเวณนั้นทราบ และแนะนำว่าไม่ควรอนุญาตให้มีการใช้หนังยางอีก ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็รับฟัง

เมื่อเล่นน้ำกับปลาตรงจุดนี้จนพอใจแล้ว พวกเราก็เดินไปถึงชั้นที่มีน้ำตก ซึ่งผู้คนจะเยอะมาก เนื่องจากเป็นหน้าแล้ง น้ำตกวันนี้จึง มีน้ำไม่มาก และดูไม่สวยนัก ในจุดนี้เป็นวังขนาดใหญ่ก็ยังมีปลาพลวงเป็นจำนวนมากอีกเช่นเคย ที่หน้าสังเกตุอีกอย่าง คือปลาจาดจะมีน้อยมาก และดูไม่ค่อยแข็งแรงนัก คงจะเป็น เพราะปลาพลวงที่มีอยู่เยอะมาก และดูจะแข็งแรงกว่าแย่งอาหารไปหมด เราคิดว่าอีกไม่นานปลาจาด ก็คงจะหมดไปจากน้ำตกพลิ้วตอนบน จริงๆ แล้วปลาพลวงในน้ำตกแห่งนี้มีเยอะมาก จนอาจจะเรียกได้ว่าเยอะเกินไป ซึ่งปลาที่อยู่ กันหนาแน่นในแหล่งน้ำเล็กขนาดนี้ ถ้าไม่คอยมีนักท่องเที่ยวมาให้อาหาร ไม่น่าจะสามารถคงความหนาแน่นนี้ไว้ได้ อย่างไรก็ดี จำนวนปลาขนาดนี้กับนักท่องเที่ยวซึ่งมีมากมายขนาดนี้ก็เป็นข้อที่แสดงได้ว่า "ถ้ามีการจัดการที่ดี คน และสัตว์ก็สามารถ ที่จะอยู่ร่วมกันได้" (ชัยวุฒิ, 2545)

ที่น่าเป็นห่วงอีกอย่างสำหรับปลาพลวงในแหล่งนี้ คือ การที่ปลาอยู่กันในพื้นที่จำกัด และห่างไกลจากแหล่งปลาชนิดเดียวกันอื่นๆ ทำให้ปลาผสมพันธุ์กันเองในหมู่พี่น้อง และเครือญาติ ซึ่งอาจจะ ทำให้เลือดชิดกันจนออกอาการพิกาลต่างๆ ซึ่งลักษณะนี้ได้เกิด ขึ้นแล้วกับปลาในแหล่งอนุรักษ์อื่นๆ เช่น ที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกเอราวัณ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งปลาพลวงที่พบในอุทยานฯจำนวนมาก มีลักษณะตัวสั้นๆ เหมือนกระดูกสันหลังพิการ (ชัยวุฒิ, 2545) ซึ่งจริงๆ แล้วการแก้ก็ไม่ยากอะไรแค่นำปลาจากแหล่งอื่นมาปล่อยลงไปบ้าง ย้ายจากแหล่งนี้ไปที่อื่นบ้างก็คงจะพอแล้ว เขียนง่าย แต่ขั่นตอนคงมีมากกว่านี้นะครับ

ที่หมายนี้เราได้ดำสำรวจในจุดที่น้ำลึกพอสมควร และก็ได้พบกับปลาเลียหิน (Garra taniata) ขนาด 4-5 นิ้วหลายตัว ซึ่งความพยายาม ถ่ายรูปปลาตัวนี้ ทำให้เรากินน้ำกันไปหลายอึก และเนื่องจากน้ำยิ่งลึก แสงก็ยิ่งน้อย กอรปกับปลาที่ไม่ค่อยอยู่นิ่ง ภาพที่ออกมา จึงไม่ค่อยคมชัดเท่าที่ควร

หลังจากชื่นชมกับน้ำตกอยู่ได้พักใหญ่ เราก็เดินทางกลับออกมา ผ่านทางที่ค่อนข้างรก และคนน้อยสักหน่อยซึ่งเราก็ หวังว่าอาจจะได้เจอตะกอง แต่ก็ไม่พบ เมื่อผ่านไปเจอเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เราจึงลองถามดูว่าพอจะหาตะกองได้ที่ไหน ซึ่งพี่เค้าก็บอกว่า วันนี้คงจะพบได้ยากสักหน่อย เพราะคนเยอะ ถ้าอยากจะเจอตัวจริงๆ ควรจะมาในวันธรรมดาตอนเช้าๆ ซึ่งเจ้าตะกองอาจจะออก มานอนผึ่งแดดอยู่ตามโขดหิน และกิ่งไม้ริมน้ำชายป่า พี่คนเดียวกันนี้ยังแนะนำให้เราลองไปหาตะกองแถวตู้โทรศัพท์ดู ซึ่งพวกเรา ก็งงๆ ว่าตะกองแถวนี้ใช้โทรศัพท์ด้วยเหรอ เมื่อเราเดินไปถึงตู้โทรศัพท์ก็ไม่พบว่ามีตะกองใช้โทรศัพท์อยู่ แต่ด้านหลังตู้นั้นเป็นป่า ที่ค่อนข้างทึบ ซึ่งหลังจากเราพยายามมองหาอยู่พักใหญ่ก็ล้มเลิกความตั้งใจ คราวนี้ฝากไว้ก่อนแล้วกัน คราวนี้เลยแบกขาตั้งกล้อง และเล็นส์ยาวหนักอึ้งมาเก้อเลย

เกือบเที่ยงแล้ว เราเดินไปถึงลานจอดรถ และจัดการฝากท้องไว้กับอาหารโปรดของทุกคน คือไก่ย่างข้าวเหนียว ซึ่งมื้อนี้เรากะจะทำเวลา ให้ได้เร็วที่สุด เพื่อจะไปสำรวจแหล่งน้ำแถวนี้กันต่อ ระหว่างนั้นเราก็ลองเดินไปสำรวจลำธารด้านหลังร้านค้า ซึ่งเป็นลำธารน้ำใสไหลต่อมาจาก ตัวน้ำตกนั่นเอง ที่หมายนี้ริมลำธารมีต้นไม้ และหญ้าขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นซึ่งน้ำที่ไหลเอื่อยๆ ด้วย ทำให้เราคิดว่าปลากัดหัวโม่งต้องอาศัยอยู่แถว นี้แน่ๆ หลังจากที่เราลองช้อนเข้าไปใต้กอหญ่าไม่กี่ที หมายนี้ก็ไม่ ทำให้เราผิดหวังเมื่อลูกปลากัดหัวโม่งขนาดเล็กติดสวิงขึ้นมาหนึ่งตัว หลังจาก นั้นเราก็จับปลาชนิดนี้ได้อีกหลายตัว ซึ่งมีทั้งขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก เนื่องจากเป็นปลากลุ่มที่พวกเรากำลังสนใจกันอยู่ เราจึงเลือกเก็บปลา ขนาดรุ่นๆ มา 8 ตัว ซึ่งปลาที่เหลือเราก็ปล่อยไปหมด นอกจากปลากัดหัวโม่งแล้ว เรายังพบปลาหลดภูเขา (Macrognathus circumcinctus) ซึ่งลายบนตัวสวยมาก เราจัดการถ่ายรูปไว้แล้วก็ปล่อยไป ปลาแปลกอีกตัวที่เราได้มา คือปลาแค้หิน (Glyptothorax platypogon) ซึ่งมีลายสี น้ำตาลดำสวยงามมาก เมื่อลองสำรวจต่อไป เราก็ได้ปลาชะโอนหิน (Silurichthys schneideri) ซึ่งเป็น ปลาในกลุ่มปลาเนื้ออ่อนชนิดหนึ่งที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก นอกจากนี้เรายังพบ ปลาซิวสุมาตราเจ้าเก่าซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ปลาที่มีอยู่เยอะอีก ตัว คือปลาตะเพียนน้ำตก (Puntius binotatus) ซึ่งเป็นปลาที่พบได้ตามน้ำตกเกือบทุกแห่งของประเทศไทย ที่น่าสังเกตุ คือในบริเวณด้านล่าง ของน้ำตกพลิ้วที่น้ำไหลไม่แรงมากจะมีปลาพลวงอยู่น้อยมาก แต่จะมีปลาจาดขนาดเล็กๆ อยู่ทั่วไป ที่น่าแปลกใจอีกอย่าง คือเราไม่เห็นแม้ แต่เงา ของปลาในกลุ่มปลาค้อเลยที่หมายนี้

ก่อนออกจากหมายนี้พวกเราได้ช่วยกันคนละไม้ละมือเก็บขยะที่มีอยู่มากมายไปทิ้งถังขยะที่บริเวณลานจอดรถ ถึงจะไม่มาก และไม่หมด แต่เรา ก็ดีใจที่ได้ทำประโยชน์ให้กับแหล่งน้ำได้บ้าง ที่ปากทางออกจากน้ำตกมีร้านขายผลไม้อยู่หลายแห่งเราจึงแวะซื้อผลไม้ที่ขึ้นชื่อของจังหวัด จันทบุรีไปฝากทางบ้านคนละหลายถุง ซึ่งพวกเราก็หวังว่าการขอวีซ่าท่องเที่ยวจากทางบ้านในครั้งหน้าจะง่ายขึ้น

ในบริเวณใกล้กันกับน้ำตกพลิ้ว จะมีน้ำตกอีก 3 แห่ง คือ นำตกคลองนารายณ์ น้ำตกตรอกนอง และ น้ำตกมะกอก ซึ่งน้ำตกทั้ง 4 แห่งจะ มีต้นกำเนิดมาจากเขาสระบาปทั้งสิ้น เราเดินทางต่อไปยังน้ำตกคลองนารายณ์ ตลอดทางเข้าน้ำตกนั้น 2 ข้างทางจะเป็นสวนผลไม้ไปตลอด มีทั้งมังคุด ทุเรียน เงาะ และ สละ ซึ่งดูน่ารับประทานมาก ทางขึ้นที่จอดรถน้ำตกแห่งนี้ไม่ง่ายเหมือนน้ำตกพลิ้ว โชคดีที่รถของเราเป็นแบบ ขับเคลื่อน 4 ล้อจึงไม่มีปัญหา ปลาที่พบในน้ำตกแห่งนี้ ก็เหมือนกับที่น้ำตกพลิ้ว คือปลาพลวง และปลาจาด แต่เนื่องจากน้ำตกมีขนาดเล็ก กว่ามากปลาจึงมีไม่เยอะ ระหว่างทางเรายังไม่ล้มเลิกความตั้งใจที่จะหาตะกอง แต่ก็ไม่พบ จะพบก็ แต่จิ้งเหลนตัวลายๆ ที่แอ๊คท่าเกาะหิน ให้เราถ่ายรูปนิ่งๆ ไม่เจอตะกองเจอจิ้งเหลนก็ยังดีเอ้า

ระหว่างทางกลับออกมาจากน้ำตกคลองนารายณ์ เราพบลำธารเล็กๆ สายหนึ่งซึ่งน้ำสีออกน้ำตาลแดงๆ แต่ใส น้ำในลักษณะนี้เกิดจากการ ทับถมกันของตะกอนซึ่งจะ ทำให้มันมีค่าเป็นกรดนิดๆ (pH < 7) เมื่อเราลงไปสำรวจดูเราก็พบว่าพื้นของลำธารเป็นทราย แต่มีตะกอนที่เกิด จากการย่อยสลายของใบไม้อยู่มาก เราเห็นปลาที่มีลักษณะคล้ายกับปลาเสือสุมาตรา (Puntius tetrazona) ซึ่งเป็นปลาตู้ที่ได้รับความนิยมมาก แต่จริงๆ แล้วปลาสายพันธุ์นี้ไม่มีอยู่ในธรรมชาติของเมืองไทย ปลาที่เราพบที่นี่จึงเป็น ปลาเสือข้างลาย (Puntius partipentazona) ซึ่งมี ลักษณะคล้ายกับปลาเสือสุมาตรามาก จะแตกต่างกันก็ตรงที่ปลาเสือสุมาตราจะมีเส้นขีดขวางลำตัวเพียง 4 เส้น แต่ปลาของไทยจะมี 5 เส้น โดยเส้นที่ 3 จะผ่าลงมาไม่สุดถึงท้อง ในบริเวณนี้เรายังพบ ปลาซิวสุมาตรา และปลาเข็ม (Dermogenys pusillus) ด้วย

หลังจากสำรวจหมายนี้จนพอใจแล้วเราก็ออกเดินทางกันต่อ ซึ่งเราตัดสินใจว่าจะลองขับรถวนรอบเขาสระบาปดูว่าจะมีลำธารสาย อื่นๆ ไหลออกมาบ้างรึเปล่า เราขับไปเรื่อยๆ ผ่านสะพานก็ชะลอดูว่าน้ำเป็นอย่างไรบ้าง จนกระทั่งเราไปพบกับลำธารสายหนึ่งซึ่ง ดูน่าสนใจมาก เพราะพื้นลำธารนั้นเป็นทรายละเอียดที่มีเศษตะกอนของใบไม้ทับถมอยู่บ้าง น้ำสีออกน้ำตาลแดงๆ เหมือนลำธารที่แล้ว แต่ลำธารนี้มีขนาดใหญ่กว่า กะด้วยตาคร่าวๆ ก็คงกว้างสัก 3-4 เมตร มีตอไม้ล้ม และกอหญ่าอยู่เป็นช่วงๆ ปลาที่เห็นคราวๆ ก็ไม่มี อะไรใหม่นัก ตามกอหญ่าก็ยังมีปลากัดหัวโม่งอยู่เป็นจำนวนพอสมควร ปลาซิวสุมาตราที่มีอยู่มากมายในหมายอื่นก็ยังมีอยู่มากจริงๆ ในหมายนี้ แต่ปลาที่เราอยากจะพบที่สุดอีกสายพันธุ์ก็ คือปลาซิวข้างขวานเล็ก (Rasbora espei) นั้นเรายังไม่ได้พบเลย ปลาขนาดเล็กพันธุ์นี้เป็น ปลาที่นิยมเลี้ยงกันมาก และปัจจุบันมีการจับจากแหล่งในแถบจังหวัดจันทบุรีไปขายเป็นจำนวนมากในราคาตัวละไม่กี่บาท ทำให้ผมมีความหวังว่าน่าจะเป็นปลาที่มีอยู่มากพอสมควรในธรรมชาติ ซึ่งคราวนี้เราสำรวจมาก็หลายหมายแล้ว แต่ยังไม่เจอเลยแม้ แต่ตัวเดียว

เราเดินย้อนสายน้ำขึ้นไปเรื่อยๆ จนไปพบวังน้ำเล็กๆ แห่งหนึ่งซึ่งมีขอนไม้สุ่มอยู่รกไปหมด มองเข้าไปเห็นมีปลาเล็กๆ ว่ายอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อลองช้อนขึ้นมาดูก็ปรากฏว่าส่วนใหญ่จะเป็นปลาซิวสุมาตรา ลองครั้งที่ 2 ก็ได้เฮ เมื่อมีปลาซิวข้างขวานเล็กหลงขึ้นมากับฝูงปลาซิวสุมาตรา 1 ตัว เราลองพยายามช้อนในวังแห่งนั้นกันอีกหลายที ก็ไม่พบปลาซิวข้างขวานเล็กอีกแม้ แต่ตัวเดียว

ในคุ้งน้ำเล็กๆ ถัดไปมีขอนไม้ขนาดใหญ่ล้มขวางอยู่เราพบปลาแขยงจุด (Mystus micracantus) ว่ายอยู่เป็นฝูงกะๆ ดูต้องมีเกือบ 50 ตัว มีขนาดตั้ง แต่ 1.5 นิ้วไปจนถึงตัวใหญ่ๆ 4-5 นิ้ว ซึ่งปลาที่ว่ายเกาะกลุ่มกันเป็นฝูงแน่นๆ ดูแล้วสวยงามมาก น่าเสียดายที่กล้องถ่านหมดไปเสียก่อน ไม่เช่นนั้นคงจะมีรูปใต้น้ำสวยๆ มาฝากกัน ในจุดนี้เราไม่กล้าแม้กระทั่งจะเข้าไปรบกวนฝูงปลานี้ เราเดินเลี่ยงออกมาอีกทาง ลองช้อนไปเรื่อยๆ ก็ได้ปลาอีด (Lepidocephalichthys hasselti) ตัวเล็กๆ น่ารักมา 3 ตัว ถึงตอนนี้ฝนเริ่มตกแล้ว เราจึงเดินย้อนกลับไปที่รถ ระหว่างกลับ เราก็ช้อนหาปลาไปเรื่อยๆ ได้ปลาติดหินมาอีก 1 ตัว (Homaloptera smithi) และเมื่อเกือบจะถึงที่จอดรถอยู่แล้วเราก็ได้ปลาซิวข้างขวานเล็กเพิ่ม ขึ้นมาอีก 2 ตัว เอาเป็นว่าเราจับมาทั้งวันได้ปลาซิวข้างขวานเล็กมา 3 ตัว ซึ่ง ทำให้ผมงงมากๆ ว่าเค้าไปจับมาขายจากไหนกันเยอะแยะ ผมหวังว่า ผมคงไปผิดเวลา และสถานที่มากกว่า ที่จะให้มองไปในทางที่ว่าถูกจับไปขายจนเหลืออยู่แค่นี้

เนื่องจากฝนเริ่มตกหนัก และเริ่มมืดแล้วจากจุดนี้เราจึงไม่ได้แวะที่ไหนอีกเลย ตอนนี้คิดได้อยู่เรื่องเดียว คือ หิว เราจึงมุ่งหน้ากลับเข้าตัวเมืองจันทบุรี ในวันนี้นอกจากปลา และผลไม้แล้ว ที่พวกเราหวังจะมาลิ้มลองก็ คือ หมูชะมวง ซึ่งเป็นอาหารท้องถิ่นของเมืองจันทบุรี เราเริ่มถามทางไปเรื่อยๆ ว่าร้านไหนมีขายหมูชะมวงบ้าง ซึ่งชาวเมืองก็ช่วยบอกทางให้ แต่ด้วยความที่ไม่เคยชินกับถนนหนทาง ทำให้เราขับวนไปวนมาอยู่ในตัวเมือง จนได้พบกับร้านขายปลาถึง 3 ร้านด้วยกัน ซึ่งเราก็แวะลงไปดูทุกร้าน แต่ก็ไม่พบปลาที่น่าตื่นเต้นอะไร ดูๆ แล้วทั้งหมดก็คงมาจากตลาดนัดซันเดย์นี่แหละ อย่างไรก็ดี พี่ๆ ร้านขายปลาก็ช่วยแนะนำให้เราไปหาหมูชะมวงในตลาดสด ซึ่งพวกเราก็ลุยกันไป กว่าจะหาตลาดเจอก็แทบแย่แล้ว มาถึงตลาดถามหาหมูชะมวงก็ไม่เห็นมีร้านไหนขาย แต่จากการที่ร้านต่างๆ ช่วยกันบอกเราต่อไปเรื่อยๆ ในที่สุดเราก็เลยมาเจอร้านขายข้าวแกงถุง ที่มีหมูชะมวงขาย ซึ่งจากการสอบถามเจ้าของร้านว่าทำไมถึงหากินยากเหลือเกินเราก็ได้คำตอบว่า หมูชะมวงนั้นทำยาก เพราะต้องใช่เวลาเคี่ยว นาน ร้านค้าจึงไม่นิยมทำขายกัน มื้อนั้นเรากินหมูชะมวง และกับข้าวอื่นๆ ที่ร้านข้าวต้มเสร็จแล้วก็เดินทางกลับกรุงเทพฯกันอย่างเหนื่อยอ่อน

more survey ...

 

www.siamensis.org - Thailand Fish & Nature Explorer
An independent non-profit group
Established 2001
 All Rights Reserved 2001-2010 ©siamensis.org