: Home : Board : Articles : Expeditions : About us : Privacy Policy :

 


แหล่งปลากัดที่ผม และศิษย์รักได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ

หวอดปลากัดที่ซ่อนอยู่ริมน้ำใต้กอหญ้า

บรรยากาศที่ท่านพญาแถนบนฟ้ายบันดาลให้แสนเศร้า และฉ่ำฝน

ศิษย์รัก และนายพรานรวมทั้ง เพื่อนครูที่เฝ้าดูอยู่เงียบๆ

รูปท่านผู้เชี่ยวชาญที่แนะหมาย

พรานมือฉมัง พร้อมอาวุธพิฆาต

ปลาค่อน้อยในขวดพลาสติก

ปลากัดทุ่งอีสาน มอ อุบล ท่วงท่าแรก

 ปลากัด มอ อุบล ท่วงท่าที่สอง

ซิวหนวดยาว แต่งัยหางแดงหว่า?

ปลาหมัดเด้อค่ะเด้อ
 

 

จับปลากัดเมืองอุบลฯวันฝนฉ่ำฟ้า

เรื่อง และรูป: ชัยวุฒิ กรุดพันธ์

บ่ายแก่ๆ ของวันที่ท้องฟ้าเมืองอุบลฯชุ่มโชกไปด้วยฝน 20 กันยายน 2545 หลังจากเสร็จจากการ จัดการกับตัวอย่างปลาที่ซื้อมาจากตลาดสด เทศบาลวารินชำราบ ในห้องปฏิบัติการอนุกรมวิธานของปลา ของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และนำอาจารย์พิเศษซึ่งมาจากกรุงเทพฯ เข้าพักในที่พักเรียบร้อยแล้ว ตัวผมซึ่งหน้าที่การงานประจำเป็นอาจารย์บ้านนอกซึ่งมีงานไม่ต่างกับครูปิยะในหนังไทยเมื่อหลายปีก่อนเท่าไร ก็กลับไปเตรียมตัว และเตรียมอุปกรณ์ เพื่อเก็บรวบรวมตัวอย่าง เพราะวันนี้นัดแนะกับลูกศิษย์ ว่าเราจะไปช้อนปลากัดกัน (Betta smaragdina Ladiges, 1972) ทั้งนี้เนื่องจากเจ้าลูกศิษย์ผมกลุ่มนี้เรียนวิชาอนุกรมวิธานของปลา Fishes Taxonomy และทำรายงานปลาในวงศ์ปลากระดี่ปลากัด Family Belontiidae บอกก็แล้วแนะแหล่งก็แล้วเจ้าพวกนี้ก็เก็บรวบรวมปลากัดจากท้องนาข้างๆ ห้องพักของตัวเองไม่ได้สักที โดยอ้างเหตุผลต่างๆ นานา บางคนก็ว่า อาจ้าน ให้ผมไปท่อมๆ หาปลายังนี้น่ะ ผมอายสาวบ้างหล่ะ บางคนก็กลัวปลิงบ้างหล่ะ สารพัดจะยกมาอ้าง แต่ในที่สุดบุญที่เจ้าพวกนี้พอจะมีบ้าง แต่ปางก่อนก็ดลบันดาลให้เจอพรานปลากัดอาวุโสมือฉมัง ของเมืองอุบลฯ ถึงสามท่าน โดย แต่ละท่านอีกประมาณ 50 ปีก็จะเกษียณอายุราชการแล้ว ประสบการณ์การจับปลากัดนี่มีกันเพียบพร้อมลุยกันเต็มที่

พอได้เวลานัดหมายเจ้าลูกศิษย์ที่รักก็นำยานพาหนะ ประกอบด้วยรถขบวนซึ่งเป็น มอเตอร์ไซด์ห้าง 3 คัน มารับผมกับ เพื่อนซึ่งมาจากกรุงเทพฯ ไปแหล่งปลากันซึ่งพื้นบ้านจะเรียกว่า “คำ” ซึ่งหมายถึงบริเวณที่มีน้ำขังตามธรรมชาติ โดยจะมีซากใบไม้ทับถมกัน น้ำงี้สีชาเหมือนพรุยังงัยยังงั้น เลยได้สอนเกี่ยวกับสภาพพรุไปในตัว หลังจากควบบุเลงๆ จากมหาลัยมาไม่ถึง 5 นาทีก็ถึงที่นัดหมายกับพรานปลากัดอาวุโสทั้งสามท่านของเรา แต่เอาหล่ะสิ พญาแถนเพิ้นไม่ค่อยจะเป็นใจเท่าใด ฝนตกพรำๆ ตลอดเลย ไอ้ผมเองไม่เป็นไรหรอก แต่กล้อง Digital ของหลวงน่ะสิ หลายหมื่นเลยเจอฝนหล่ะก็เป็นเรื่อง แต่ไม่เป็นไรลองวัดใจกับพญาแถนดูสักตั้ง

หลังจากนั้นคณะหมู่เขาเด็กบ้านนอก 3 คน ครูบ้านนอก เพื่อนครู และคณะพรานมือฉมังก็ควบมอเตอร์ไซด์ห้างไปตามถนนยางต่อ (ดีหน่อยที่ไม่เป็นทางลูกรังเหมือนในเพลง ขอขอบคุณ อบต. ครับ) บริเวณนี้เป็นท้องนาเขียวขจีสุดสายตาที่วันนี้บรรยากาศดูเศร้าๆ เนื่องจากฟ้าฉ่ำฝน ส่วนตัวผมแล้วบรรยากาศแบบนี้ผมชอบมาก เพราะ ทำให้เราได้ประสากับกลิ่นไอดิน รับรู้ความเย็นจากไอฝนได้เต็มๆ ซึ่งถ้าอยู่เมืองกรุงไม่มีหวัง กำลังดื่มด่ำกำซาบกับสเปร์ย เอ้ยบ่แม่น กับไอดินได้ไม่นาน เราก็มาถึงที่หมาย ซึ่งมีพื้นที่แค่ 200 ตารางวา เท่านั้น หลังจากถ่ายรูปหวอด ถ่ายรูปแหล่งที่อาศัยของปลาพอหอมปากหอมคอ เราก็เริ่มช้อนหาปลากัดโดยพรานมือฉมังทั้งสามที่มากับคณะเรา ไม่นานนักเราก็ได้ปลากัดมาเชยชม โดยเป็น Betta smaragdina ที่เป็นปลากัดที่มีการกระจายพันธุ์ในบริเวณภาคอีสานของไทย ในลาว ตัวผมเองเคยเจอกับเจ้านี่ในจุดที่ไม่คิดว่าจะมี คือที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลกว่า 800 เมตร ที่ภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ  อย่างไรก็ดีปลากัดชนิดนี้พบได้ในระบบนิเวศภาคอีสานที่หลากหลายตั้ง แต่ท้องนา พะลานหิน จนถึงภูดอย ชาวบ้านมีการช้อนมากัดกันเป็นบางฤดู แต่จะไม่นิยมนำมาเลี้ยงหรือเพาะพันธุ์

ตื่นตาตื่นใจกันได้ไม่นาน เราโดยเฉพาะผมเริ่มมีปัญหาที่อวัยวะสำคัญที่ค้ำชูผมมาตั้ง แต่เดินได้ เพราะบริเวณที่ยืนอยู่ดันเป็นรังมดคันไฟ คงไม่ต้องบรรยายอารมณ์ความรู้สึก สำหรับปลาอื่นที่เราได้จากที่นี่ ก็มี ซิวหนวดยาวหางแดง Esomus cf. metallicus ลูกครอกปลาช่อน Channa striata ได้แค่เท่านั้นพญาแถนก็สั่งพญานาคส่งฝนลงมา ผมเห็นไม่ได้การกล้องหลวงบรรลัยแน่ จึงสั่งหมู่เฮาเซาซะก่อน รีบเผ่นกลับไปที่บ้านพักนักศึกษา โดยที่นี่ผมได้ถ่ายภาพปลากริม Trichopsis vittatus ที่มีสีน้ำเงินสวยไม่ใช่เล่นซึ่งพรานของเราพาไปช้อนมาจากหมายอื่น

คนก่อเรื่อง:

เจ้าโอ๋ วุฒิชัย คูณมี

เจ้าแอ๊ด สุพะชัย เสาศิริ

และ บรรจง ชุ่มเสนา

ขอขอบคุณ:

พรานปลากัดทั้งสาม

และท่านพญาแถน แห่งเมืองแมนสรวง ที่เมตตาให้ฝนตกรินๆ ไม่มากนัก

 

more survey ...

 

www.siamensis.org - Thailand Fish & Nature Explorer
An independent non-profit group
Established 2001
 All Rights Reserved 2001-2010 ©siamensis.org