: Home : Board : Articles : Expeditions : About us : Privacy Policy :

 


ลำห้วยเวียงคะดี้

คุณแม่กะลูกๆ

ปลาซิวกะปลาสร้อย (ซิวใบไผ่เล็ก กะ มุมหมาย)

ดอกคริบฯ ดีใจจริงหามาตั้งนานแล้วดอกบิดเกลียวทรงยาวๆ และมีลายเส้นสีแดงด้านใน โปรดสังเกตุลักษณะใบบกที่ตั้งตรง และดูแข็ง

ใบน้ำของคริบฯ จะเห็นว่าอ่อนพริ้วกว่าภาพข้างบนเยอะเลยครับ

จงโคร่ง เป็นคางคกป่าชนิดนึง ข้อแตกต่างจากคางคกบ้าน คือบริเวณเท้าหลังที่มีผังผืดค่อนข้างชัดเจน

และต่อมพิษหลังตาเล็กกว่าคางคกบ้าน ตัวจะเป็นเหลี่ยมๆ หน่อย ว่ายน้ำเก่ง และดำน้ำอึดเป็นนาที (อันหลังนี่เห็นมากะตา นอกนั้นต้องขอบคุณพี่น๊อตสำหรับข้อมูลครับ)

ดาวน้อยจะขึ้นอยู่ตามซอกหินริมน้ำ ภาพนี้แสดงให้เห็นทั้งต้นบก และต้นน้ำ

ภาพนี้ให้ดูเล่น

เจ้าลูกปลาแขยงภูเขา

ปลาอีดตัวนี้นิ่งจนฝุ่นจับ

ดอกหางหมาจอก ที่ตอนนี้ไม่ได้อยู่ตรงนั้นแล้ว

งูกินกบ ภาพนี้โชคดีมากๆ ครับ

สาวพม่าแม่ค้าริมทาง

นีลกำลังทำงานกับตัวอย่างต้นไม้ด้วยแสงสุดท้ายของวัน

คุ๊กกี้ X'mas ของชาวเดนมาร์ค

“Heldet følger de tossede"

ดอกดินขึ้นอยู่ริมทางเดิน

ต้นตะเคียนขนาดใหญ่ต้นนี้รอดพ้นจากการถูกโค่นมาได้ แต่ก็มาโดนไฟป่าเผาจนโคนต้นแหว่งน่ากลัวจะล้ม

เฟิร์นที่ขึ้นอยู่ริมลำธาร

พี่ยุที่ลำธารที่ไหลมาจากน้ำตกซองกาแฮ

น้ำตกซองกาแฮไม่ใหญ่ แต่ก็น่าประทับใจ

ป่าไผ่ที่มีพืชตระกูลคล้าขึ้นคลุมดิน
 

สังขละ(อีกสักรอบแล้วกันน่ะ)

 เรื่อง/ภาพ: นณณ์ ผาณิตวงศ์

 

“......ดังนั้นการกระทำดังกล่าวจึงถือเป็นการบกพร่องเข้าข่ายข้อกำหนดที่ 5.5.2 ของมาตรฐาน ISO 9001:2000”

นั่น คือคำตอบสุดท้ายในข้อสอบสำหรับผู้ที่จะเป็น Internal Quality Audit ที่ผมสัมมนามาเต็มๆ วันเป็นวันที่สองแล้ว ผมตอบเสร็จส่งอาจารย์ไหว้รอบห้องเหมือนเวลาภราดรแข่งเสร็จแล้วก็รีบเผ่นออกมายืนมึนๆ อยู่หน้าห้องสอบทันที เหนื่อยเหลือเกิน ผมไม่เข้าใจว่าตอนเด็กๆ เรียนเข้าไปได้ยังไงทั้งวัน ตอนนี้ผมอยู่ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ผมขึ้นรถได้ก็เหยียบอย่างไม่หันหลังสู่อำเภอสังขละบุรี

ผมเขียนถึงแหล่งน้ำแถวสังขละมาหลายหนแล้ว ผมไปเที่ยวแถวนี้ทุกเดือนมาเป็นสิบปีแล้ว แต่ก็เหมือนกับที่ผมเขียนไว้ตอนจบคราวที่ แล้วว่าแถวนี้ยังไม่สิ้นมนต์ขลัง และยังมีอะไรให้ผมค้นหาอีกมาก โดยเฉพาะครั้งนี้ที่ผม และเจ้ากิ๊กจะพาผู้เชี่ยวชาญทางด้านต้นไม้น้ำอย่าง นีล จาคอบเซน ที่เดินทางมาไกลจากประเทศเดนมาร์คไปดูต้นคริบโตโครีน และดาวน้อยแห่งสังขละบุรี ต้นไม้น้ำทั้งสองผมสำรวจพบมานานแล้ว แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่สามารถระบุชนิดที่แน่นอนลงไปได้ ส่วนหนึ่งก็ เพราะว่าไม่เคยโชคดีไปในช่วงที่เค้าออกดอกสักที ต้นไม้ทั้งสองเป็นต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ริมน้ำ ในหน้าฝนก็จะโดนน้ำท่วมก็ต้องปรับก้านปรับใบให้อ่อนพริ้วเรียวเล็กไปกับน้ำในขณะที่หน้าแล้งก็ต้องปรับก้านใบให้แข็ง และใหญ่ขึ้น เพื่อให้ทรงตัวอยู่ได้ นอกจากนั้นสีสันของใบโดยเฉพาะต้นคริบโตโครีนก็จะมีความแตกต่างระหว่างต้นที่ขึ้นอยู่กลางแดดกับต้นที่ขึ้นอยู่ในร่ม ทำให้การจำแนกชนิดจากใบนั้นแทบที่จะเป็นไปไม่ได้เลย คราวนี้หวังว่าเราคงจะโชคดีได้เห็นดอกของทั้งสองต้นซ่ะที เพราะเท่าที่ผมกะๆ ดูตอนนี้เป็นปลายฝนต้นหนาว เป็นช่วงที่น้ำเพิ่งลดต้นไม้เพิ่งขึ้นพ้นน้ำกำลังแตกใบใหม่อย่างสดชื่นถ้าผมเป็นต้นไม้ผมก็คงจะเลือกออกดอกหน้านี้เหมือนกัน

ผมมาถึงแพมิตรสัมพันธ์ตอนเกือบๆ สามทุ่ม น้ำยังเต็มเขือนวชิราลงกรณอยู่เลย ผมแวะไปนั่งคุยกับน้าหงบสักพักก็ลาออกมา เจอกับเจ้าเอ๊ะลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของน้าหงบ เลยถามไถ่ถึงแหล่งน้ำแปลกๆ ที่ผมอาจจะไม่เคยไป “อ้อ มีครับไม่รู้พี่เคยไปรึยัง วันก่อนผมไปแข่งบอลที่ บ. เวียงคะดี้ เห็นมีลำธารอยู่หลังโรงเรียนปลาเล็กปลาน้อยเต็มไปซ่ะหมด ลองไปดูสิครับไม่ไกลหรอก ถนนลาดยางดีๆ ” เจ้าเอ๊ะบอกผมด้วยสำเนียงเน่อๆ ของชาวเมืองกาญฯ  เจ้ากิ๊กจะพานีลกับภรรยามาถึงประมาณพรุ้งนี้เที่ยง ตอนเช้าผมเลยกะว่าจะไปเที่ยวลำธารที่บ้านเวียงคะดี้ซ่ะหน่อย หมู่บ้านชื่อน่ารักดีผมว่า คืนนั้นผมนอนหลับไปอย่างเหนื่อยอ่อน เพราะเมื่อเช้าต้องตื่นเช้าขับรถมาสัมมนา อากาศช่วงนี้กำลังสบายๆ ไม่ร้อนไม่หนาวจนเกินไป

เช้าวันใหม่สดใส เหยี่ยวตัวใหญ่บินวนอยู่เหนือผืนน้ำเฝ้าคอยหาปลาเคราะห์ร้าย ผมนั่งมองมันอยู่นานก็ไม่เห็นโฉบลงมาสักทีจนในที่สุดต่างคนต่างก็เบื่อกันไป บนแผ่นน้ำที่ราบเรียบราวกับกระจก แมลงเม่าตัวใหญ่ที่พลาดพลั้งตกลงไปกำลังพยายามดิ้นรน เพื่อให้พ้นจากเงื้อมปากของลูกปลาแรดเบื้องล่าง แรงกระพือปีก ทำให้น้ำกระจายออกเป็นวงคลื่นเล็กๆ ยิ่งเร่งเร้าเจ้าปลาแรดเข้าไปอีก ต๊อม! ปลาแรดจัดการกับอาหารมื้อเช้า ในธรรมชาติผู้ที่พลาด คือผู้ที่แพ้ และการแพ้บางครั้งก็หมายถึงชีวิต

ผมออกเดินทางจากแพที่พักไปสู่ท่าน้ำที่แพมิตรสัมพันธ์พร้อมกับพี่ยุ ลูกน้องที่อยู่กันมานานจนรู้ใจ จนเหมือนกับจะเป็น เพื่อนกันซ่ะมากกว่า ทางไปบ้านเวียงคะดี้ ช่วงแรกจะเป็นทางลาดยางอย่างดี แต่พอใกล้ๆ จะถึงตัวหมู่บ้านทางก็กลายเป็นพื้นผิวพระจันทร์ ผมค่อยขับรถเก๊งคู่ใจหลบหลุมเล็กหลุมน้อยไปจนถึงโรงเรียน ที่ลานกีฬาถึงแม้จะเป็นวันเสาร์ก็ยังมีเด็กๆ มาเล่นกีฬากันมากพอสมควร เด็กต่างจังหวัดเสาร์อาทิตย์คงไม่รู้จะทำอะไรก็มาจับกลุ่มกันออกกำลังกาย บ้างก็เดินท่อมๆ หาแทงปลากันอยู่ในลำธาร เป็นชีวิตที่ดิ้นรนน้อยกว่าเด็กๆ ชาวกรุงที่เสาร์อาทิตย์ก็ยังต้องดั้นด้นไปเรียนพิเศษกันไกลบ้านไกลตา พวกเด็กๆ พอเห็นคนแปลกหน้ามาพร้อมกับอุปกรณ์จับปลาก็สนใจมาซักถามกันใหญ่ ยิ่งเห็นกล้องเห็นสวิงหน้าตาแปลกๆ ก็ยิ่งตื่นเต้นกันใหญ่ที่เตะบอลอยู่ก็เลิกเตะมามุงดูผมกับพี่ยุช้อนปลาอยู่ริมตลิ่ง เหมือนทุกครั้ง....ไปที่ไหนก็จะมี แต่คนสนใจว่าไอ้คนกรุงเทพฯคนนี้มันจะมาทำอะไรกับปลาตัวน๊อยๆ ในลำธารเล๊กๆ แบบนี้

“เอ้าตัวนี้รู้จักรึเปล่า?” ผมจับปลามุมหมายขึ้นมาได้ก็เอาให้เด็กดู “ลูกปลาสร้อย” เด็กๆ ตอบ สักครู่ผมก็จับปลาจิ้งจกได้จากตรงแก่งน้ำเล็กๆ “เอ้า รู้จักตัวนี้รึเปล่า?”  “เออไม่รู้ครับ เกิดมาก็เพิ่งเคยเห็นนี่แหละ” “เอ้าลำธารอยู่หลังบ้านเนี๊ยนะไม่เคยจับเลยเร๊อะ” “ไม่เคยครับ” “ตัวเนี๊ย?” คราวนี้เป็นลูกปลาน้ำหมึก “ปลาซิวครับ” “ตัวเนี๊ย?” คราวนี้เป็นลูกปลาซิวใบไผพันธุ์เล็ก “ปลาซิวครับ” “ตัวเนี๊ย?” คราวนี้เป็นลูกปลาซิวกาญฯ “ปลาซิวครับ” “อะไรฟ่ะ ไม่เหมือนกันสักตัวเรียกปลาซิวหมด” “แหะ แหะ แหมก็ตัวเล็กๆ สีเงินๆ ปลาซิวแหละพี่” เจ้าเด็กน้อยพูดไปหัวเราะไปแบบเขินๆ “พี่ๆ นี่ปลาอะไรครับ” เด็กคนนึงเอาสวิงผมไปจับปลาตัวยาวๆ มาได้ตัว “อ้อกระทิงลายครับ” “พี่ๆ มาดูนี่สิ” คราวนี้เด็กอีกคนเปิดหินเจอปลาอีด “พี่ๆ นี่ปลาอะไรครับ” “นั่นมันลูกอ๊อด เออ แต่แปลกดีนะ ไหนเอามาถ่ายรูปก่อน” “นี่มาดูนี่สิปลาตัวนี้ใครรู้จักปลาตัวนี้บ้าง” “อ้อ ปลาค้อครับ” เด็กคนนึงตอบ “ช่ายๆ นี่แหละปลาค้อ อาคันโทโคบิทิส โซนัลเทอนัล” ผมแกล้งเรียกปลาเป็นภาษาลาตินจนเด็กหน้าเหร่อหร๊ากันไปหมด “นั่นแน่ ใครทิ้งขยะ ไปเก็บเลย” ผมชี้ไปที่ถุงขนมที่เมื่อกี้เห็นใครสักคนถืออยู่ “วางไว้ก่อนครับพี่ เดี๋ยวผมเก็บไปทิ้ง”  “อ้าวววว นี่ปลาอะไร” คราวนี้พี่ยุจับปลาบู่น้ำตกมาได้ “ปลาค้อครับ” เด็กคนนึงร้อนวิชารีบชิงตอบตัดหน้า เพื่อนๆ “ม่ายช่ายยย ดูนี่ ปลาค้อปากมันจะงุ้มลง ปลาบู่ปากมันจะเงยขึ้น” ลูกมือเยอะๆ นี่ก็สนุกไปอีกแบบ สายวันนั้นผมเลยหมดไปกับการสอนให้เด็กๆ รู้จักกับปลา แต่ละตัวที่พบในลำธารหลังบ้านของเค้าเอง ปลาพวกนี้อาจจะไม่ใช่ปลาที่แปลกใหม่หายากอะไรสำหรับผม เพราะสำรวจเจอมาหลายครั้งแล้ว แต่สำหรับเด็กๆ นี่ คือความรู้ใหม่ที่พวกเค้าตื่นเต้น และภูมิใจ 

ผมอยู่ที่ลำห้วยเวียงคะดี้จนสิบเอ็ดโมงกว่าจึงลาเด็กๆ ออกมา เพราะมีนัดกับเจ้ากิ๊ก และนีลที่แม่น้ำอีกแห่งที่พบต้นไม้น้ำทั้งสอง (ชื่อแม่น้ำขอปิดเป็นความลับไว้ก่อนนะครับ) ระหว่างทางไปผมเห็นสีแยกเล็กๆ จอดดูป้ายต่างๆ ก็เห็นป้ายนึงเขียนว่า “น้ำตกซองกาแฮ 14 กิโลเมตร” อืม น่าไปเหมือนกันแหะ พรุ้งนี้ชวนเจ้ากิ๊กกะนีลไปลองสำรวจดูดีกว่า  ผมไปถึงแม่น้ำที่นัดหมายก็เกือบเที่ยงแล้ว มองดูคร่าวๆ ผมเห็นคริบพ้นน้ำกันเยอะแล้วใบดูตั้งตรงแข็งแรงเป็นใบบกที่สมบูรณ์แล้วน่าจะออกดอกบ้างแหละน่า มองไปหาดาวน้อย โขดหินที่อยู่กลางน้ำที่พบขึ้นอยู่เมื่อตอนน้ำลดยังจมอยู่ใต้น้ำ แต่อีกฝั่งของแม่น้ำก็มีขึ้นอยู่บนลานหินเหมือนกัน  ผมเดินฝ่ากระแสน้ำที่เชี่ยวกรากลึกเกือบถึงเอวไปที่หินก้อนกลางน้ำที่จำได้ว่าเห็นดาวน้อยขึ้นอยู่ในหน้าแล้ง ผมค่อยๆ ใช้มือคลำหาในจุดที่จำได้ว่าเคยเห็นอยู่ ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง เพราะอีกสักพักผมก็คลำหาต้นไม้เจอ ดาวน้อยใต้น้ำในแหล่งน้ำเชี่ยว จะมีลำต้นสั้นแนบอยู่กับก้อนหิน ในขณะที่พวกที่ขึ้นอยู่ริมน้ำจะยืดตัวกันขึ้นไป เพื่อออกดอก และรับแสงอาทิตย์ผมรู้ว่ามีดาวน้อยขึ้นอยู่อีกฝากของแม่น้ำ แต่ว่าไม่กล้าเดินข้ามไป เพราะน้ำเชี่ยวเหลือเกิน ถ้าจะข้ามไปก็ต้องไปเดินอ้อมไปข้ามสะพานซึ่งผมยังขี้เกียจอยู่ หิวข้าวอ่ะ เมื่อตอนเช้าก็กินนมน้ำอ้อย (หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณท์ ของ ตำบลกลับใหญ่ จังหวัดราชบุรี โดยชาวไร่ไม่จน) ไปแค่ถุงเดียว ผมเลยหาอะไรกินกันซ่ะก่อน กินไปรอเจ้ากิ๊กกะนีล และภรรยาไป

ผมกินเสร็จก็ออกเดินสำรวจบริเวณริมลำธารต่อ วันนี้น้ำยังเชี่ยว ปลาแถบนี้ก็สำรวจไปเยอะแล้ว วันนี้ผมเลยก้มๆ เงยๆ หาดอกคริบฯก่อน ผมพบคริปฯกอใหญ่ๆ ขึ้นอยู่หลายกอเมื่อผมเดินทวนน้ำขึ้นไปอีกหน่อย โชคดีจริงๆ ที่พวกเค้าออกดอกกันหน้านี้จริงๆ คราวนี้จะได้รู้กันสักทีว่าพวกเค้าเป็นคริปฯชนิดไหน เพราะผมเคยส่งรูป และกิ๊กเคยส่งตัวอย่างไปให้นีลดูแล้วเค้าก็ยังไม่ค่อยแน่ใจว่าเป็นอะไรโดยให้ข้อสังเกตุว่าอาจจะเป็น Cryptocoryne crispatula crispatula แต่ เพราะอย่างที่ผมบอกไปแล้ว ลำพังใบลำบากมากที่จะฟันธงว่าเป็นชนิดไหนกันแน่ โดยเฉพาะเมื่อใบ และลำต้นของคริปฯที่นี่มีขนาดใหญ่กว่าจากแหล่งอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด ผมยังแอบหวังเล็กๆ ว่านี่อาจจะเป็น variety ใหม่ของต้นไม้ชนิดนี้

“วู้ววววพี่นณณ์ อยู่ฝากนี้” เสียงเจ้ากิ๊กตะโกนข้ามฝั่งแม่น้ำมา แต่ไกล นีล และภรรยาโบกไม้โบกมือไหวๆ ไม่ได้เจอกันซ่ะนานมาโผล่อีกทีก็กลางป่ากลางเขา ผมเห็นนีลเดินด้อมๆ มองๆ ก้มๆ เงยๆ อยู่ตามลานหิน ถ่ายรูปคริบ และดาวน้อย ที่กำลังออกดอกสะพรั่ง ส่วนผมนั่งอยู่ริมน้ำกำลังวุ่นอยู่กับเจ้าจงโคร่ง (Bufo asper) ที่แสนจะอายกล้อง ถ่ายไปถ่ายมาผมก็เหลือบไปเห็นลูกปลาแขยงภูเขาสีเหลืองคาดดำ (Batasio triginus) ว่ายหลบอยู่กับซอกหิน ปลาตัวนี้น่าสนใจ เพราะเป็นปลาประจำถิ่นพบเฉพาะลุ่มแม่น้ำแม่กลองเท่านั้น คราวที่แล้วผมได้ถ่ายภาพปลาตัวเต็มวัยไปแล้วคราวนี้เจอตัวเล็กๆ ลายยังชัดเลยเปลี่ยนใจมาไล่ถ่ายเจ้านี้ ต้อนกันอยู่นานก็ไม่สามารถถ่ายได้ เพราะเจ้าลูกปลาเปรียวเหลือเกิน พี่ยุเห็นคงรำคาญเลยออกไอเดีย ทำบ่อชั่วคราวขึ้นมาโดยการขุดหลุมขึ้นริมแม่น้ำตรงจุดที่น้ำไหลเอื่อยๆ แล้วเอาสวิงตาถี่มาวางกั้นขอบไว้ แล้วก็นำหินจากแม่น้ำมาวางเรียงให้ดูเป็นธรรมชาติ เสร็จแล้วก็จับเจ้าลูกปลาจอมซนมาใส่ในบ่อ ขนาดโดนจำกัดเขตแล้วก็ยังต้องรออยู่นานกว่าจะยอมออกมาให้ถ่ายได้สักภาพ เมื่อมีบ่อแล้วทีนี้น้ำแรงก็เลยไม่ใช่อุปสรรคในการถ่ายรูปปลาอีกต่อไป พี่ยุ และเด็กๆ ชาวบ้านที่สนใจว่าผมเล่นอะไรกัน (อีกแล้ว) ก็เลยช่วยกันจับปลามาใส่บ่อให้ผมถ่ายรูป ซึ่งปลาที่หน้าสนใจที่จับได้อีกตัวก็ คือปลาค้อลายเขียวเหลืองซึ่งผมยังไม่แน่ใจว่าเป็นชนิดไหนกันแน่ ระหว่างที่ผมกำลังถ่ายรูปปลาอยู่นั้นพี่ยุซึ่งออกไปเดินหาหมายจับปลาก็เรียกให้ผมไปดูงูที่นอนอยู่ริมหาดทราย เนื่องจากพี่น๊อตฝากให้ผมช่วยถ่ายรูปงูให้ด้วย งานนี้ผมเลยเป็นหน่วยกล้าตายย่องไปถ่ายภาพใกล้ๆ เจ้างูเห็นผมเริ่มล้ำเส้นก็เริ่มขยับตัวจะหนี ผมหยุด งูก็เลยหยุด ลูกกบเห็นงูก็เลยหยุดไปด้วย ฉึบ! เจ้างูฉกกบน้อยซึ่งได้ แต่ร้องอี๊ดๆ อย่างไร้ทางสู้แล้วก็เลื้อยหนีเข้าไปใต้ขอนไม้ล้มขนาดใหญ่ริมทาง เกิดมาผมเพิ่งเคยเห็นงูหากินก็วันนี้แถมยังโชคดีถ่ายรูปไว้ได้อีกงูตัวนี้หลังจากดูแล้วพี่น๊อตบอกว่าเป็น งูลายสาบเขียวขวั้นดำ (Rhabdophis nigrocinctus)  จะว่าเป็นโชคสองชั้นก็คงได้ เพราะบนขอนไม้ล้มที่งูเลื้อยไปนั้นตรงบริเวณรากขนาดใหญ่ที่เศษดินโดนพัดไปสุ่มอยู่มีต้นไม้ขนาดเล็กออกดอกสีชมพูเป็นช่อสวยอยู่ ผมเห็นก็จำได้ทันทีว่าเป็นดอกหางหมาจอก (Uraria crinita) ที่เคยซื้อจากสวนจตุจักรไปปลูกที่บ้าน เพิ่งเคยเห็นในธรรมชาติก็วันนี้ แถมมีอยู่ต้นเดียวซ่ะด้วย เหมือนเจอ เพื่อนเก่าที่ไม่เจอกันมานาน ผมอดที่จะเข้าไปถ่ายรูปไม่ได้  เห็นแล้วก็อดลุ้นไม่ได้ว่าพอดอกกลายเป็นเมล็ดปีหน้าก็คงมีดอกหางหมาจอกขึ้นแถวนี้เพิ่มอีกหลายต้น

กลึ๊กๆ ซรวบๆ เสียงดังมาจากทางขอนไม้ใหญ่ที่งูเพิ่งเลื้อยเข้าไป ผมมองไปเห็นเด็กผู้หญิงสองคนกะๆ ดูว่าคงอยู่ในช่วงมัธยมต้นกำลังปีนขอนไม้ขึ้นไปทำอะไรสักอย่าง “น้องระวังนะครับ งูเพิ่งเลื้อยเข้าไปตรงนั้น” ผมเตือนด้วยความหวังดีแล้วก็หันกลับมาถ่ายรูปปลาในบ่อต่อ อดสงสัยไม่ได้ว่าเด็กจะขึ้นไปทำอะไร ผมมองไปอีกทีเห็นว่าในมือเด็กคนที่ปีนขอนเมื่อกี้มีอะไรอยู่ก็ให้สุดแสนเสียดาย ดอกหางหมาจอกที่ผมเห็นเมื่อครู่ถูกเด็ดถอนรากถอนโคนออกมาอยู่ในมือของเด็กคนนั้นซ่ะแล้ว เป็นความรู้สึกที่บอกไม่ถูก “น้องครับ ไปเด็ดมันทำไม ไม่กะให้คนอื่นเค้าดูบ้างเลยเหรอ?” ผมถามอย่างอดไม่ได้ เด็กไม่ตอบมองผมแปลกๆ แล้วก็เดินเลี่ยงไป “พี่ครับเด็ดแล้วทำเหรอครับ?” เด็กชายชั้นประธมต้นที่ช่วยผมจับปลาหันมาถามด้วยความสงสัย เป็นอีกคำถามที่ ทำให้ผมยิ่งงง เดี๋ยวนี้โรงเรียนไม่ได้สอนเด็กให้รู้จักอนุรักษ์ธรรมชาติกันแล้วหรือ? เกิดอะไรขึ้นกับการศึกษาเมืองไทย เรื่องแค่นี้ทำไมเด็กถึงไม่รู้?  เรามัว แต่สอนเด็กบวกเลข อ่านหนังสือ จนลืมเรื่องพวกนี้ไปแล้วหรือ?  ผมจะทำยังไง?  เราจะทำยังไงถ้าอนาคตของชาติไม่มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์?  เมื่อตอนที่ผมไปซื้อมาปลูกถูกถอนมาอย่างนี้รึเปล่า?  ทำไมผมถึงไม่ได้คิด?  ทำไมเด็กผู้หญิงถึงไม่รู้ว่าไม่ควรเด็ดดอกไม้?  ทำไมเด็กผู้ชายถึงไม่รู้สึกว่ามันผิดที่เด็กผู้หญิงไปเด็ดดอกไม้?  เป็นคำถามที่ผมนั่งคิดไปตลอดทางระหว่างที่ขับรถกลับไปที่ท่าเรือ จนถึงตอนนี้ผมก็ยังคิดอยู่

เย็นวันนั้นหมดไปกับการนั่งพูดคุยซักถามเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับต้นไม้น้ำ (ผมกะกิ๊กถาม นีลตอบซ่ะเป็นส่วนมาก) และวันนี้เรายังโชคดีได้เห็นนักพฤษศาตร์มือระดับโลกทำงานอย่างใกล้ชิด ตั้ง แต่การเก็บตัวอย่าง ที่นีลเลือกเก็บคริบมาทุกลักษณะใบ ทั้งใบบกในร่ม ใบบกกลางแดด ใบน้ำในร่ม และใบน้ำที่มีแดด ใบเหล่านี้ล้วนมีลักษณะต่างกันออกไป และที่ขาดไม่ได้ คือต้นที่กำลังมีดอก ซึ่งนีลชี้ให้เราดูลายเส้นสีแดงบนพื้นเขียวอ่อนภายในดอกที่บิดม้วนเป็นเกลียวยาว และก็สรุปว่านี่ คือ Cryptocoryne crispatula crispatula  ซึ่งมีลำต้น และใบแข็งแรง และมีขนาดใหญ่ที่สุดที่เค้าเคยเห็นมา อย่างไรก็ดีลักษณะพิเศษนี้ถือเป็นเรื่องของการปรับตัวให้เข้ากับถิ่นอาศัยมากกว่า เพราะลำน้ำแห่งนี้มีขนาดใหญ่ และน้ำเชี่ยวกรากในหน้าน้ำ นีลจึงไม่ถือว่าคริบพวกนี้เป็น variety ใหม่อย่างที่ผมหวัง แหะ แหะ  ส่วนดาวน้อยนั้น นีลพิจารณาลักษณะดอกอย่างละเอียด วาดรูปให้ผมดู และอธิบายคร่าวๆ ว่าที่ผ่านมา เค้าดูจากลักษณะใบอย่างเดียวแล้วคิดว่า เป็นต้นไม้ในครอบครัวเดียวกับพวกสกุล Lymnophila ทำให้เค้าไม่สามารถหาตัวอย่างเปรียบเทียบได้ แต่จากการดูลักษณะดอก ทำให้นีลทราบว่าดาวน้อยเป็นต้นไม้ที่อยู่ในครอบครัวมินต์เช่นเดียวกับสกุล Eusteralisากกว่า และจากจุดนี้เค้าจะเริ่มตามหาชนิดที่แท้จริงของดาวน้อยต่อไป ซึ่งถ้ายังไม่มีใครบรรยายลักษณะทางอนุกรมวิธานของต้นไม้ชนิดนี้ นีลก็สัญญาที่จะตั้งชื่อดาวน้อยโดยใช้ชื่อผู้ค้นพบซึ่งก็ คือกระผมนั่นเอง ซึ่งถ้าเป็นจริงก็คงถือว่าฝันในชีวิตของผมนั่นเป็นจริงไปอีกเรื่อง

บทสนทนาบนโต๊ะอาหารเย็นวันนั่นออกรสออกชาดซ่ะยิ่งกว่าอาหารที่ภรรยาพี่ยุทำมาเลี้ยงเราอย่างเกรงใจฝรั่งซ่ะอีก ที่เยี่ยมไปกว่านั้นก็ คือคุกกี้คริสมาสของชาวเดนมาร์คที่นีลติดไม้ติดมือมาฝากเราด้วย คุ๊กกี้เนยชิ้นบางๆ กรอบๆ โรยหน้าด้วยน้ำตาลเม็ด และอบเชยบางๆ ดูเรียบง่าย ผมเคี้ยวเนื้อคุกกี้แล้วค่อยๆ กัดน้ำตาลเม็ดเล็กๆ ให้แตกพร้อมกับซึมซาบรสที่หอมหวานของเนย และอบเชย นีลบอกว่าเค้ามักจะมีปัญหากับเจ้าคุกกี้นี่อยู่เสมอ......“I can't stop eating it.”

 

14 กิโลเจ้าหน้าที่ป่าไม้, ริมถนนกระเหรี่ยง, และ 1 กิโลหลวงพี่

เช้าวันใหม่ เราเก็บข้าวเก็บของมุ่งหน้าสู่น้ำตกซองกาแฮที่หมายมั่นปั้นมือไว้ตั้ง แต่เมื่อวาน ทางที่ผมเห็นเป็นถนนลาดยางเล็กๆ มีหลุมบ่อบ้าง แต่ก็คงไม่เป็นไรถ้าค่อยๆ ขับไป รถของผม และกิ๊กทั้งสองคันเป็นรถเก๊งเราจึงไม่อยากที่จะลุยอะไรมากนัก

พี่ยุนั่งไปกับผม ในขณะที่กิ๊กพานีล และภรรยาขับตามหลังกันมา ถนนเริ่มแรกเป็นอย่างที่ผมว่า และก็เริ่มแย่ลงๆ (หรือแย่ขึ้นหว๊า?) จนในที่สุดมาได้สักครึ่งทางก็กลายเป็นทางลูกรังโชคดีสักหน่อยที่เป็นลูกรังเพิ่งปรับใหม่ๆ ทำให้เราขับไปได้อย่างไม่ลำบากนักบนทางที่ค่อนข้างเรียบ สองข้างถนนเป็นนาซ่ะส่วนใหญ่ บางแปลงข้าวออกรวงสีทองอร่ามเห็นชาวบ้านกำลังลงแขกเก็บเกี่ยวกันอยู่ ถนนเริ่มขรุขระขึ้นเรื่อยๆ ข้างหน้าเป็นทางสามแพร่งมีป้ายชื่อน้ำตกปักอยู่ แต่ไม่มีลูกศรชี้ว่าให้ไปทางไหน ผมจอดรถตะโกนถามชาวบ้านซึ่งฟังดูจากสำเนียงว่าน่าจะเป็นชาวกระเหรี่ยง “พี่ครับ น้ำตกไปทางไหนครับ?”  “อ้อ นี่เลี้ยวซ้ายขึ้นเขาไปนี่แหละ อีกสักพักก็ถึง”  “แล้วน้ำตกมันอยู่ติดถนนเลยรึเปล่าครับ?” “ใกล้ๆ เลย”

ผมเลี้ยวซ้าย กิ๊กก็เลี้ยวซ้าย ทางเริ่มชันขึ้น ดินลูกรังตอนนี้น่าจะเรียกว่าหินลูกรังซ่ะมากกว่า เพราะก้อนนั่นใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ บางช้วงก็เป็นทางลาดชันดินบดไว้ไม่ดีหลุดขึ้นมาเป็นก้อนๆ ทำให้ล้อปั่นฟรีรถก็ไม่ไปแถมยังดีดหินขึ้นมาเคาะรถดังป๊องแป๊งน่ากลัวเอามากๆ ผมนึกย้อนไปถึงคราวที่เราไปน้ำตกผาแดงกัน วันนั้นรถที่ใช้เป็นรถโฟล์วีล แต่วันนี้เป็นรถจ่ายตลาด ความมั่นใจมันผิดกันเยอะ  ผมกลัวรถพัง และกลัวตกผาตายไปพร้อมๆ กัน เป็นอีกสถานการณ์ที่วัดใจว่าจะไปต่อหรือจะกลับหลัง แต่ความบ้าก็ คือความบ้า ผมไปต่อ ขึ้นเขาลงเขาเลี้ยวซ้ายขวาอีกหลายตลบ ทำไม 14 กิโล มันถึงไกลขนาดนี้......

ขับมานานเท่าไหร่แล้วก็ไม่รู้ แต่ผม และพี่ยุเริ่มอึดอัดเอามากๆ แล้ว “ผมว่ามันไกลไปแล้วนะ ไหนลองจอดไปถามที่วัดตรงนี้ดูดีกว่า” พี่ยุทำลายความอึดอัดขึ้นมาเมื่อเราขับผ่านวัดป่าแห่งหนึ่ง “หลวงพี่ครับ น้ำตกไปอีกไกลรึเปล่าครับ?”  “อ้อ เลยมาแล้วนะโยม ขับกลับไปตรงป้ายอุทยานหน่ะ แล้วเดินเข้าไปอีกสักกิโลก็ถึงน้ำตก” “ขอบคุณครับ”

ตั้งกิโลแหน่ะ เมื่อกี้ขับรถผ่านลำธารหลายทีคงเป็นลำธารที่มาจากน้ำตกนั่นแหละ เอามันตรงนี้ดีกว่า ผมนึกในใจ  ตอนนั้นบอกตรงๆ ว่าความบ้าบิ่นมันหายไปเยอะแล้ว ผมเกรงใจกิ๊ก และนีลด้วยที่ชวนมาลำบากอย่างนี้ ผมกลัวรถกิ๊กพัง และผมกลัวนีลบ่นว่าพาเค้ามาลำบาก ผมกลับรถ และย้อนกลับไปตามทางเดิม ผมจอดตรงป้ายที่ทำการอุทยานซึ่งถูกทิ้งร้างไปแล้ว รั้วไม้ไผ่เก่าๆ ผุๆ มองเข้าไปเป็นหญ้ารกๆ ถัดไปเป็นป่าทึบๆ หลวงพี่บอกให้เดินเข้าไปทางนั้น ผมจอดรถ เดินไปบอกกิ๊กว่าคงไม่เดินไปที่น้ำตก ลองแถวลำธารริมถนนนี่ดีกว่า

“นี่มันปลาอะไรครับเนี๊ย?” พี่ยุที่เดินถือสวิงลงไปลุยเป็นคนแรก นำปลาที่จับได้จากจ้วงแรกมาให้ผมดู “เฮ้ยพี่! บาดิสสสสสสสสสสส”  จะไม่ให้ดีใจได้ยังไงละครับ เจ้านี่ไม่ใช่ปลาหาง่ายๆ เลยในแถบนี้ ผมเคยสำรวจเจอเพียงแห่งเดียว และเป็นส่วนใต้เขื่อน ไม่เคยเจอบาดิสในลำธารเหนือเขื่อนแบบนี้ แถมเจ้านี้ยังเป็นปลาที่เรายังไม่แน่ใจสักเท่าไหร่ว่าเป็นชนิดไหนกันแน่ ลำธารแห่งนี้กว้างสัก 2-3 เมตรพื้นเป็นกรวดเล็กๆ ใหญ่ๆ ผมค่อยๆ เปิดหินก้อนใหญ่ที่ดูเหมือนด้านล่างมีซอกหลืบขึ้นมาดู ปลาตัวยาวๆ สีแดงๆ ว่ายหลบวุ้บๆ หายเข้าไปในหินก้อนถัดไป ผมใช้สวิงดักแล้วค่อยๆ ต้อนให้เจ้าปลาเข้ามาในสวิงโดยละม่อน “ปลาดัก” (Amblyceps mangois)  ผมบอกพี่ยุ มันไม่ใช่ปลาหายาก แต่ก็หาไม่ง่ายสักเท่าไหร่

“พี่นณณ์ครับ นีลเค้าจะเดินไปที่น้ำตก พี่นณณ์จะไปรึเปล่าครับ?” เจ้ากิ๊กเดินมาถามผมหน้าตาเหนื่อยๆ “เฮ้ย มันเป็นกิโลเลยนาเว้ย เค้ารู้รึเปล่า” “รู้ครับ” “เอาจริงเหรอว่ะ” ผมยังถามอย่างไม่แน่ใจ “จริงๆ ครับ”  “ฮ่า ฮ่า ไปก็ไปกันสิว่ะ” ผมเพิ่งมารู้เดี๋ยวนี้เองว่าผมประเมิน"ใจ"ของ เพื่อนร่วมทางของผมผิดไปมากขนาดไหน

เราเดินข้ามรั่วไม้ไผ่ผุๆ เข้าไปบริเวณที่ทำการอุทยานเก่า จุดแรกก็ต้องลุ้นกันแล้ว เพราะสะพานไม้ไผ่ที่ข้ามลำธารนั้นเก่าเอามากๆ ผมเดินอยู่หลังสุดรอจนคนอื่นข้ามไปหมดแล้ว ไปยืนแซวผมอยู่อีกฝากถึงค่อยๆ ย่องตามพรรคพวกไปหญ้าด้านหลังนั้นรกไปซ่ะหมด จนเราไม่รู้ว่าเส้นทางเดินไปน้ำตกนั่นอยู่ทางไหน ผมเลือกเลี้ยวขวาไปตามลำธารซึ่งมีหญ้าขึ้นรกๆ ส่วนนีลนั่นสำรวจไปทางซ้ายทางด้านหลังกระท่อม (ซึ่งก็มีหญ้าขึ้นรกๆ เหมือนกัน) แต่ทางของผมนั่นยิ่งไปก็ยิ่งรก ส่วนทางของนีลนั่นดูจะไปง่ายกว่า ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเราเลือกไปทางไหน ทางช่วงแรกเป็นป่าหญ้าคาที่สูงเทียมไหลตัดขึ้นเนินเล็กๆ ซึ่งมีไม้ใหญ่ขึ้นอยู่หร่อมแหร่ม แถวนี้เคยเป็นเขตสัมปทานตัดไม้เก่า จึงไม่น่าแปลกที่ป่าจะกลายมาเป็นทุ่งแบบนี้ได้ ผมนั่นใส่แขนสั้นเลยต้องเดินยกแขนไปตลอดทาง คันก็คัน แถมรองเท้ายังกัดผมอีกตะหาก

“You are crazy.” ผมบอกนีล “Heldet følger de tossede” นีลตอบกลับมาเป็นภาษาเดนิชที่ผมไม่เข้าใจ  “What?” นีลหัวเราะแล้วบอกผมว่านี้เป็นสำนวนของชาวเดนมาร์คแปลว่า “Luck follows the crazy people”  “โชคมักจะเข้าข้างคนบ้า” ผมแปลเป็นไทยตามภาษา ผมหัวเราะ กิ๊กหัวเราะ นีลหัวเราะ ภรรยานีลกะพี่ยุก็หัวเราะ บ้าก็มี เพื่อนบ้าแหละว่ะเรา พอได้คันได้เหงื่อเราก็พบตัวเองอยู่ในป่าไผ่โปร่งๆ มีไม้ยืนต้นขนาดใหญ่อย่างไม้แดงขึ้นอยู่ประปราย นอกจากนั้นที่มีพืชแปลกๆ อย่างดอกดิน (Aeginetia indica)  ขึ้นอยู่ พืชชนิดนี้ไม่มีใบ มี แต่ดอกแทงช่อออกมา และอาศัย แต่รากในการหาอาหาร ออกดอกในช่วงหน้าฝนแล้วก็โรยไป เป็นพันธุ์ไม้แปลกๆ ที่ผมเพิ่งเคยเห็นเป็นครั้งแรก โชคดี เพราะดอกที่เราเห็นคงจะเป็นชุดสุดท้ายแล้ว

พี่ยุเดินล่วงหน้าไปสำรวจทางก่อนแล้ว เมื่อพ้นป่าไผ่ทางก็แคบลงกลางเป็นเส้นเรียงเดียวผ่านป่าชื้นๆ สูงๆ ต่ำ เราเห็นร่องรอยการทำไม้ในแถบนี้จากเศษซากท่องซุงที่วางระเกะระกะขวางทางอยู่ และเราก็ได้เห็นความพยายามของ การปิโตเรียมแห่งประเทศไทย ที่นำกล้าไม้มาปลูก เพื่อฟื้นฟูสภาพป่า กล้าไม้เล็กๆ ผมหวังว่าพวกเค้าคงจะรอดเติบโตไปเต็มต้นไม้ใหญ่ได้อย่างเต็มภาคภูมิ ช่วยกันเติมน้ำมันยี่ห้อไทยๆ กันเถอะครับ

พ้นโค้ง พี่ยุนั่งอยู่บนซากไม้ใหญ่ที่ถูกโค่นลงมา “ได้ยินเสียงน้ำตกแล้วครับ” พี่ยุบอกผม เราเดินไปได้อีกสักพักลำธารขนาดเท่าๆ กับที่เราแวะริมถนนก็ปรากฏแก่สายตา ไม้ริมลำธารขึ้นรกทึบ ผมหยุดไล่ช้อนปลาก้าง (Channa limbata) ขนาดใหญ่ขึ้นมาดู ส่วนนีลก็เดินย้อนลำธารขึ้นไปหาน้ำตกซองกาแฮ ที่เราอุดสาห์ดั้นด้นกันมา ผมค่อยๆ เดินช้อนปลาไปเรื่อยๆ ซึ่งปลาที่จับได้ก็เป็นปลาที่ผมเคยสำรวจเจอในแถบนี้เช่นปลาซิวใบไผ่ (Devario regina) ปลาค้อเดสมอเตส (Schistura desmotes) ปลาจิ้งจก (Balitora sp.) และปลาอีมูด (เลียหิน) (Gara sp.) น่าแปลกที่เราจับบาดิสไม่ได้อีกเลย

น้ำตกซองกาแฮ เป็นน้ำตกหินปูนขนาดกลาง น้ำไม่มาก แต่มีความแปลก เพราะซีกนึงเป็นผาหินที่น้ำตกลงมาเป็นม่านๆ ในขณะที่อีกฝากเป็นขั้นหินปูนที่ลดหลั่นกันลงมาเหมือนบันได นีลเดินสำรวจไปทั่ว แต่ก็ไม่พบคริบหรือต้นไม้น้ำที่น่าสนใจ น่าแปลกที่ผมไม่เคยพบคริบกับดาวน้อยที่แม่น้ำลำธารอื่นๆ ในบริเวณนี้เลย เราถ่ายรูปกันอยู่สักพักก็พยักหน้าชวนกันกลับ เพราะต่างคนต่างหิวข้าว นี่ก็บ่ายโมงกว่าเข้าไปแล้ว วันนั้นเรากินข้าวเที่ยงกันตอนเกือบบ่ายสอง รถเก๋งทั้ง 2 คันยังไม่พัง และคนก็ได้พิสูจน์ แล้วว่ายังไม่หมดไฟ กินข้าวเสร็จผมก็บอกลากิ๊ก นีล และภรรยา เพื่อไปส่งพี่ยุที่ท่าเรือ ระยะทางกลับกรุงเทพฯอีกเกือบ 500 กิโลยังรอผมอยู่

ขอเชิญแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ที่ กระทู้นี้ครับ

 

 

more survey ...

 

www.siamensis.org - Thailand Fish & Nature Explorer
An independent non-profit group
Established 2001
 All Rights Reserved 2001-2010 ©siamensis.org