: Home : Board : Articles : Expeditions : About us : Privacy Policy :

 


 
 

สังขละบุรีกับภาพที่หายไป

เรื่อง: นณณ์ ผาณิตวงศ์

ภาพ: หายไปแล้ว

ผมนอนหมดอาลัยตายอยากอยู่บนเตียงไม้หลังเก่าที่ลั่นเอี๊ยดอ๊าดทุกครั้งที่ผมขยับตัว ลมหนาวพัดโชยผ่านหน้าต่าง ทำให้ผ้าม่านสีขาวที่ทักทอเป็นลายดอกไม้พลิ้วไหว บรรยายกาศที่ควรจะอึดอัดไม่อัดอัดเท่าที่ผมอยากจะให้มันเป็น ที่เพดาน...แสงแดดสะท้อนผิวน้ำทะลุผ่านหน้าต่างเข้ามาฉายเป็นภาพกรอบหน้าต่างที่พลิ้วไหวเหมือนเวลาเปิดคอมฯแล้วเจอไอคอนของ Windows ลอยไปลอยมา เรือหางยาวที่แล่นผ่านแพสร้างคลืนบนผิวน้ำ ทำให้หน้าต่างบนเพดานยิ่งสั่นไหว ผมกำลังนั่งมโนภาพระดับเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น ผมเห็นกระเต็นอกขาวเกาะอยู่ที่เสาไฟด้านขวา นกกระเบื้องผาตัวเมียเกาะอยู่ที่เสาด้านซ้าย ผมไปขอยืมกล้อง D60 ของ เพื่อนพ่อมาใส่เข้าไปกับเลนส์ 300 มม. ของผมแล้วเอาการ์ดจากกล้อง G3 ใส่เข้าไป กล้องร้องเตือนบิ๊บๆ ๆ CF Card Full  ผมถอดการ์ดออกมาใส่ใหม่ ผมปรับขนาดไฟล์ให้เล็กลงแล้วเริ่มต้นถ่ายภาพนก ด้วยกำลังขยายอีก 1.4 เท่าของ D60 ทำให้ผมเห็นนกอย่างเต็มจอ กระเต็นอกขาวยืนหันข้างโชว์ปีกสีฟ้า และด้านข้างของอกสีขาวให้ผม เมื่อยามหันมาตาสะท้อนกับแสงแดดเป็นประกาย ผมกดชัตเตอร์ เพื่อนๆ เคยสังเกตจุดประกายบนตาในภาพถ่ายนกรึเปล่า? ฝรั่งเรียกจุดนั้นว่า Catch light คนไทยเรียกอะไรผมไม่รู้ ภาพนกที่ดีขาด catch light ไม่ได้ นกหันมาอีกครั้ง ผมกดแช๊ะ ฝันหวานไปถึงโปรเจ็คใหม่ที่เพิ่งคิดได้เมื่อคืนนี้ “At the water edge” หรือ “ที่ชายน้ำ” ชื่อคอลัมน์ใหม่ที่ผมนึกจะเปิดในเว็บไซด์สยามเอ็นสิส และแมคกาซีนของพรรคพวก ตั้งชื่อเลียนแบบหนังสือเกี่ยวกับการวิวัฒนาการของปลาขึ้นสู่บก(มีทั้งขา และปอด) และจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสู่ท้องทะเล (At the water edge: Macroevolution and the transformation of life, Carl Zimmer) หนังสือเล่มโปรดอีกเล่มที่ก่อนอ่านผมนึกในใจว่าตูจะฉลาดขึ้นแค่ไหนถ้าได้อ่านจนจบ คอลัมน์ “ที่ชายน้ำ” จะนำเสนออะไรก็ได้ที่พบอยู่ชายน้ำไม่ว่าจะเป็น จงโคร่ง นกกระเต็นอกขาว ผักกรูด งูลายสอ ว่านค้างคาว ลิงแสม จิ้งเหลนน้ำ หรือ ผีเสื้อสะพายฟ้า ผมนึกไปถึงภาพมากมายที่มีอยู่ นึกไปถึง เพื่อนฝูงที่มีความรู้หลายคน วานคนนั้นช่วยเขียนเรื่องสัตว์เลื้อยคลาน วานคนนี้ช่วยเขียนเรื่องต้นไม้ คงจะเป็นอีกคอลัมน์ที่น่าสนใจไม่ใช่น้อย คนอ่านได้ความรู้ คนเขียนได้ทำสิ่งที่ฝัน หนังสือขายดี เพื่อนตั้งตัวได้ มีผลตอบแทนก็เอามาจ่ายค่าเว็บ ยังไม่มีก็ช่วยเหลือกันไปก่อน   ถ่ายไปได้อีกสองสามภาพผมก็นึกอยากดูผลงานตัวเองเลยกดที่ปุ่ม Play บิ๊บๆ ๆ ๆ ผมมองไปที่จอ Card error อะไรหว๊า?  ผมถอดการ์ดออกมาอีกครั้ง สะบัดๆ แล้วใส่กลับเข้าไปใหม่ กล้องทำหน้าเฉยๆ ไม่รับรู้ ผมเริ่มเสียวๆ นกกระเบื้องผาบินจากไป นกกระเต็นยังเกาะนิ่งอยู่ที่เดิม ผมเริ่มปวดอึ เลิกดีกว่า......

บิ๊บๆ ๆ Data corrupted เจ้า G3 บอกผมหน้าด้านๆ เมื่อผมใส่การ์ดเข้าไป เพื่อจะเปิดดูรูปนก ผมปิดเครื่องเปิดขึ้นมาอีกครั้ง พยายามเปิดดูภาพ No data ขึ้นอยู่กลางจอ เหอ ภาพหายไปไหนหมด? เมื่อวานถ่ายไว้ตั้งเยอะ  No data ภาพหายไปไหน.....ผมพลิกซ้ายพลิกขวากดปุ่มนู้นปุ่มนี้ ถอดการ์ดเข้าๆ ออกๆ ภาพหายไปหมดแล้ว ภาพที่ผมลุยป่า ดำน้ำเย็นเจี๊ยบบบบบเข้าไปถ่ายมาเมื่อวานจากลำน้ำในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่เนรศวร ภาพไปหมดแล้ว.....

ผมจ้องมองภาพกรอบหน้าต่างที่พลิ้วไหวอยู่บนเพดาน พยายามลำดับภาพที่ผมไปถ่ายมาเมื่อวานลงไปในกรอบ  ภาพชุดนั้นที่ได้มาอย่างยากลำบาก ภาพชุดที่ผมรู้สึกภูมิใจ ภาพของสัตว์ที่ฝันหวานว่าอาจจะเป็นคนแรกในโลกที่ถ่ายได้จากแหล่งอาศัยในธรรมชาติ  ภาพของธรรมชาติที่สวยงามที่น้อยคนนักจะได้เห็น ที่ผมหวังจะเอาออกมาอวดชาวโลก หายไปหมดแล้ว ผมอยากย้อนเวลาไปตีมือตัวเองที่เปลี่ยนการ์ดไปใส่กล้องนู้นกล้องนี่ บทเรียนก็เคยมีมาแล้ว ผมเศร้า และเสียดายภาพชุดที่หายไป....ภาพดิจิตอลหายไปแล้ว แต่ภายในสมองของผมยังพอจะเหลืออยู่

ภาพที่ 1. เป็นลำธารสายเล็กๆ ที่ไหลออกมาจากป่าทึบลอดใต้ถนนลาดยางสายเล็กๆ ที่สองข้างทางถูกตัดไม้ทำลายป่ากลายเป็นสวนยางจะเหลืออยู่ก็ตรงริมลำธารแห่งนี้ ผมถ่ายภาพนี้จากบนถนนมองลงไปยังลำธารที่อยู่ต่ำลงไปสักเมตรครึ่ง ด้านหน้าใกล้กับตัวถนนลำธารจะตื้นๆ กว้างสัก 2 เมตร มีหาดกรวดอยู่ตรงกลาง แสงแดดยามเช้าสะท้อนกับพลิ้วน้ำเป็นประกายระยิบระยับ ด้านใต้กรวดสีออกน้ำตาลๆ ทำให้ประกายของสายน้ำกลายเป็นสีทอง น้ำที่ใส และตื้น ทำให้ผมมองเห็นปลาซิวว่ายวนอยู่หลายตัว ด้านหลังเป็นป่าทึบที่มองเข้าไปมืดๆ ดูน่ากลัวลึกลับ ภาพนี้ให้ได้ถึง 2 อารมณ์

ภาพที่ 2. เป็นภาพของปลาชะโอนน้ำไหลที่ผมไม่ทราบชื่อ ตัวยาวๆ เรียวๆ สีน้ำตาลอ่อนนอนแอ้งแม๊งอยู่ในสวิง

ภาพที่ 3-8. เกิดจากความพยายามไล่เปิดหินหาดูปลาที่ซุกซ่อนอยู่เจอทั้งปลาอีด (ที่คราวนี้ยืนยันว่าเจ้านี้ชอบนอนคลุกฝุ่นจริงๆ ) ปลาค้อลายเขียวสลับเหลืองที่มีทั้งแบบสีอ่อนสีแก่ และตัวเล็กๆ ปลาค้อ Acanto’ ปลาหาง่ายไปที่ไหนก็เจอ

ภาพที่ 9.  เป็นภาพปลาก้าง ญาติปลาช่อนที่ชอบอยู่ในลำธารน้ำไหล ภาพนี้ถ่ายในสวิง

แล้วผมก็อำลาลำธารแห่งนั้นมา มุ่งหน้าสู่น้ำตกใหญ่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่

ภาพที่ 10. ภาพของรากไม้ใหญ่ที่ขดเกี่ยวกระหวัดร้อยกันจนนัวเนียอยู่ริมสายน้ำใหญ่ หน้าฝนที่แสนจะชื้นแฉะ ทำให้เกิดตะไคร้เกาะอยู่บนรากไม้สีเขียวชอุ่ม พันธุ์ไม้ริมน้ำขนาดเล็กขึ้นเรียงแถวบังเป็นฉากเตี้ยๆ ต่อด้วยสายน้ำตกขาวๆ และฉากหลังของสายน้ำใหญ่ท่ามกลางแมกไม้

ภาพที่ 11-14. ภาพเชื่อมต่อจากภาพที่แล้ว ฝูงสีเสื้อตัวเล็กๆ สีเหลืองสดใส รุมตอมอะไรสักอย่างอยู่บนเนินดินเล็กๆ กลางรากไม้ ผมซูมกล้องเข้าไปใกล้ๆ จับภาพผีเสื้อตัวที่เกาะอยู่ กะจังหวะให้ผีเสื้อบางตัวบินขึ้นแล้วกดชัตเตอร์ไปเรื่อยๆ ภาพที่ได้ออกมาเป็น abstract สวยๆ ของผีเสื้อสีเหลืองที่เกาะอยู่กับเส้นสีเหลืองๆ ที่ล่องลอยตัดกับฉากหลังมืดๆ ของป่าทึบ สวยไปอีกแบบ

15. ภาพของพี่ยุเดินอยู่ในป่าดิบมืดๆ

16-18. เป็นภาพชุดที่ผมตั้งชื่อว่า Blue lagoon ตามอย่างชื่อหนัง ลำธารขนาดใหญ่สายนี้บางช่วงเป็นวังน้ำลึก ด้วยความที่ใส และพื้นเป็นหินปูนสีเทาๆ การหักเหของแสง ทำให้น้ำกลายเป็นสีฟ้าสดใส ฟ้าใสๆ แบบที่ผมชอบ ผมวางตำแหน่งต้นไม้ต้นขนาดกลางๆ ที่ส่วนโคนเป็นรูโหว่แปลกๆ ไว้ด้านขวา ตรงกลางเป็นจุดที่แสงส่องรอดแมกไม้ลงมาบนผิวน้ำเป็นลำๆ สะท้อนกับผิวน้ำจนกลายเป็นสีเงินแล้วค่อยๆ ไล่สีจนกลายเป็นสีฟ้าด้านซ้ายของภาพเป็นไม้ใหญ่ที่ขึ้นเอนตัวเข้าหาลำธาร บนคาคบมีไม้อิงอาศัยแปลกๆ เกาะอยู่เต็มไปหมด เป็นอีกภาพที่ผมชอบมากๆ ผมเลยลองถ่ายเก็บไว้หลายมุม

19. ภาพพี่ยุเดินเลี้ยงตัวอยู่บนก้อนหินกลางลำธาร ที่นี่เมื่อคุณเดินไปเรื่อยๆ คุณจะพบตัวเองถูกห้อมล้อมอยู่ท่ามกลางลำธารน้อยใหญ่ที่หลั่งไหลลงมาจากป่าดงดิบที่สมบูรณ์ น้ำมากมายมหาศาลไหลผ่านคุณไป บนพื้นที่เหยีบอยู่ หญ้าที่ราบเป็นทางบ่งบอกว่าเมื่อหน้าน้ำหลากสายน้ำได้พัดผ่านจุดนี้ไปด้วย สมบูรณ์....

20. ภาพของแอ่งน้ำเล็กๆ ของลำธารสาขาที่มีปลาซิวใบไผ่แหวกว่ายอยู่เต็มไปหมด

21-22. ภาพของปลาซิวใบไผ่ขนาดใหญ่ที่จับขึ้นมาถ่ายรูป

23 -24. ภาพน้ำตกที่เป็นชั้นเตี้ยๆ ไม่เกิน 2-3 ฟุต มี 4-5 ชั้น ฉากหลังเป็นท้องฟ้าที่สีฟ้ามากๆ ตัดกับสีเขียวของต้นไม้ใหญ่ ผมยืนอยู่บนก้อนหินกลางสายน้ำแล้วถ่ายภาพนี้ ฝูงปลาซิวกาญฯแหวกว่ายอยู่รอบๆ

25-26. ภาพรอยหินแตกเป็นฟันเลื้อยเฉียงไปเฉียงมาเรียงกันอยู่ ตรงรอยแตกมีต้นไม้เล็กๆ ออกดอกสีม่วงเล็กๆ ดูน่ารัก กับสายน้ำที่ไหลผ่านไป เป็นอีกภาพที่ดูแปลกตา

27.- เกือบๆ 60. เป็นภาพชุดใต้น้ำที่สู้อุตสาห์ดำ (snokle) ลงไปถ่ายมา ปลาที่เป็นเป้าหมาย คือปลาจาดสายพันธุ์ใหม่ของโลกเจ้า Poropuntius melanogrammus ที่เพิ่งได้รับการบรรยายลักษณะทางอนุกรมวิธานไปเมื่อปี 1998 ปลาชนิดนี้เป็นปลาไทยอีกชนิดที่มีความสวยงามมากๆ เป็นปลาอีกตัวที่ ทำให้ผมช้ำใจ เพราะเห็นมันมาตั้ง แต่สมัยเรียนมัธยมต้นตอนที่นั่งรถกระบะลุยฝุ่นลูกรังจนหัวแดงมาเที่ยวลำธารแห่งนี้ คราวนั้นผมมี แต่สวิงอันเล็กๆ ไม่สามารถจับปลาได้ แต่ภาพของปลาเกล็ดตัวยาวๆ ขนาดสักคืบที่มีครีบหลังสีแสด และลายสีดำพาดขวางกลางลำตัวแหวกว่ายอยู่ในน้ำใสๆ บนหินปูนแผ่นเรียบๆ ก็ยังติดตามาจนถึงทุกวันนี้  ผมนั้นมีความฝันตั้ง แต่เด็กๆ ว่าอยากจะค้นพบปลาใหม่สักชนิด เพื่อจะได้ให้นัก Taxo ตั้งชื่อวิทยาศาตร์ตามนามสกุลให้เป็นเกียรติ์ประวัติสักครั้ง นึกเลยเถิดไปถึงหนังสืองานศพว่าจะเอาภาพปลาที่ว่าขึ้นหน้าปก ปลาตัวนี้เป็นอีกชนิดที่ผมอยากจะโม้อย่างเด็กๆ ว่า “ผมเห็นก่อนนะ”   แต่มารู้ตัวอีกทีเจ้านี่ก็ถูกบรรยายไปซ่ะแล้ว วันนี้ผมกลับมาที่ลำธารแห่งนี้อีกครั้ง เพื่อจะถ่ายรูปพวกเค้าขณะแหวกว่ายอยู่ในบ้านของเค้า แล้วผมจะได้ไปโม้ว่า “ผมถ่ายภาพเจ้านี้ในธรรมชาติได้ก่อนน่ะ” 

อากาศวันนั้นวัดความเย็นได้ที่ 17 องศา ตอนที่ผมออกมาจากแพหมอกยังลงหนาเตอะ ผมไม่รู้ว่าน้ำในลำธารเย็นสักแค่ไหน ผมรู้ แต่ว่าหนาวมาก “มาก” ผมนั่งอยู่บนก้อนหินริมน้ำค่อยๆ ย่อตัวลงไป นั่งลงไป วักน้ำมาลูบหน้าลูบแขน จุ่มตัวลงไปช้าๆ หนาวมากๆ   หนาวมากๆ ผมใส่หน้ากากค่อยๆ จุ่มหน้าลงไป ปลาจาดสองสามตัวว่ายปะปนอยู่กับปลาตะเพียนน้ำตก ผมคาบท่อหายใจแล้วตัดสินใจทิ้งตัวลงน้ำ  ปลาตกใหญ่ว่ายหนีกันไปหมดผมค่อยๆ ว่ายตามไป พยายามมองภาพในจอกล้อง แต่ก็มองได้ไม่ชัด น้ำสีฟ้าๆ ถึงแม้จะไม่ขุ่น แต่ทัศนะวิสัยก็ไม่ดีนัก ผมยกกล้องเล็งแล้วกดถ่ายไปเรื่อยๆ น้ำไหลพัดตัวปลิวก็เกาะหินไว้ บางทีก็เอาเท้ายัน บางทีก็ปล่อยให้ตัวไหลไปตามน้ำ บางทีก็ต้องว่ายทวนน้ำ เล่นเจ้าล่อเอาเถิดอยู่กับบรรดาปลาใต้น้ำ ทั้งปลาจาด ปลาสร้อย ปลาตะเพียนน้ำตก ปลาเวียน ปลาพลวง ปลาหมูลาย และ ปลากระทิง น้ำหนาวมากๆ จนไมเกรนเริ่มกำเริบปวดหัวหนึบๆ เหมือนหัวถูกแช่เย็น ผมเริ่มรู้สึกเหมือนเลือดในตัวมันจะแข็งๆ เดินไม่สะดวกยังไงพิกล แต่ก็ยังสนุกที่จะว่ายตามถ่ายปลาไปเรื่อย ปลาจาดหากินตามพื้นทราย ปลาเวียนแหวกว่ายอยู่ตรงจุดที่น้ำไหลแรง ปลาตะเพียนน้ำตกลัดเลาะไปตามซอกหินดูดนู้นดูดนี่ไปเรื่อย ปลาสร้อยจับฝูงเล็กๆ เชื่องที่สุดยอมให้ถ่ายจากระยะเผาขน จู่ๆ ปลากระทิงตัวเขื่องก็ออกมานอนขดอยู่กลางลานทราย พอเห็นผมเข้าใกล้ก็รีบว่ายหนีไปซุกอยู่ในซอกหิน ปลาหมูลายตัวใหญ่หลบอยู่ในรากไม้ริมฝั่ง ปลาจาดบางทีก็รวมฝูงอยู่กับปลาอื่นๆ บางทีก็รวมฝูงกันเองหลายสิบตัว มีทั้งตัวเล็กๆ ไปจนถึงตัวใหญ่เป็นฟุต จากไล่ถ่าย เป็นซุ่มถ่าย เป็นต้อนถ่าย ผมเปลี่ยนกลยุทธไปเรื่อยๆ หวังว่าจะได้ภาพดีๆ สักภาพ ถ่ายเข้าไปเหอะให้มันดีสักภาพก็ดีใจแล้ว ผมมารู้สึกตัวอีกทีก็พบว่าตัวเองหนาวจนกัดยางที่ท่อหายใจไว้แน่น นึกไปถึงภาพแจ๊คในหนังเรื่องไททานิคที่หนาวจนตาย นึกว่าเดี๋ยวจะเป็นไข้ไม่สบายแน่ๆ มองเวลา โอ้โห นิ้วเหี่ยวหมดแล้ว นี่ผมอยู่ในน้ำมาเกือบๆ 2 ชั่วโมงแล้ว ถ่ายไปก็หลายรูปคงจะมีดีๆ สักภาพ พอดีกว่า

ผมขึ้นมายืนหนาวสั่นอยู่บนหินกลางลำธารถอดเสื้อยืดออกบิดน้ำแล้วยืนตากแดดอยู่ตรงนั้น แดดที่อบอุ่นที่สุดในชีวิตของผมถึงแม้ลมยังโชยๆ พอให้สะท้านเป็นครั้งคราว แต่ก็ยังดีกว่าต้องกลับไปลุยป่าอยู่ในร่มไม้  ไขมันที่ชั้นพุงไม่ได้ช่วยอะไรเลย ผมพยายามสะบัดเสื้อให้น้ำออกไปให้มากที่สุด นึกด่าตัวเองที่ไม่เตรียมอีกตัวมาเปลี่ยน ดำน้ำตามแก่งหินอย่างนี้ยังไงก็ต้องใส่เสื้อลงไปด้วยไม่งั้นหินขูดพุงเจ็บตายชัก บรื้ออออออ หนาว

60 กว่าๆ . ผมถ่ายภาพลำห้วยบริเวณที่เพิ่งดำลงไปไว้ 2 ภาพอดนึกชื่นชมท้องฟ้าสีฟ้าสดในของวันนี้ไม่ได้

60 กว่าๆ ถึง 60+3 กว่าๆ . เป็นภาพของผีเสื้อลายสีดำสลับเขียวที่มาเกาะอยู่ตรงหินตรงจุดวางสัมภาระ ผมพลิกซ้ายพลิกขวาถ่ายภาพเจ้าผีเสื้อที่แสนเชื่องไว้หลายภาพแล้วก็ลบทิ้งจนเหลือเพียง 3 ภาพ เป็นภาพแนวตั้งไล่ตั้ง แต่ไกลจนใกล้มากๆ มาเปิดดูกับหนังสือทีหลังถึงทราบว่าเจ้านี่ คือผีเสื้อ สะพายฟ้า (Graphium sarpendon)

60 แก่ๆ กว่าๆ ถึงราวๆ 70 กว่าๆ . ุ”คุณนณณ์นั่นมันตัวอะไรอ่ะ?”  พี่ยุถามผมพลางชี้มือไปที่รากไม้ริมน้ำ “ไหนพี่?” “น่านไง ในน้ำริมตลิ่งตัวยาวๆ ที่โผล่จมูกขึ้นมา” “โห พี่ยุ จิ้งเหลนน้ำ อยากเจอตัวมานานแล้ว สุดยอดพี่เห็นได้ไงเนี๊ย” ผมซูมกล้องที่ไกลที่สุดถ่ายไป 1 ภาพ ค่อยๆ ย่องเข้าไปใกล้ๆ เจ้าตัวนั้น ถ่ายอีกภาพ มันโผล่หัวขึ้นมาสูดอากาศผมก็ถ่ายไปอีกภาพ จิ้งเหลนกบดานอยู่ใต้น้ำ ผมถ่ายทั้งใกล้ทั้งไกลแนวนอนแนวตั้งไปอีก 4-5 ภาพ จิ้งเหลนขยับตัวจะขึ้นฝั่งผมก็ถ่ายไปอีก 2 ภาพ  จิ้งเหลนวิ่งหนีเข้าโพรงผมก็ถ่ายไปอีกภาพ

จิ้งเหลนน้ำเป็นสัตว์อีกชนิดที่ผมใฝ่ฝันอยากจะเจอในธรรมชาติหลังจากที่ได้เห็นพวกเค้าโดนจับมาใส่กาละมังขายที่กรุงเทพฯเมื่อหลายเดือนก่อน ผมไปเจอถ่ายรูปไว้โดยที่ไม่รู้ว่าพวกเค้า คือตัวอะไรจนกระทั่งมาโพสถามพี่น๊อตที่เว็บบอร์ด ตั้ง แต่นั้นมาผมก็ใฝ่ฝันอยากจะเจอมันในธรรมชาติสักครั้ง ผมเรียนรู้มาว่าพวกนี้ถิ่นกระจายพันธุ์อยู่ทางเหนือ เช่นแถบจังหวัดน่าน ทางกาญจนบุรีมีน้อย แต่ก็ได้ลุ้น ยิ่งมาทราบว่าชนิดที่พบแถวนี้กับทางเหนือเป็นคนละชนิดกันผมก็ยิ่งตื่นเต้น จิ้งเหลนตัวยาวๆ ขาวสั้นๆ หางยาว แต่ไม่เรียวเล็ก ตัวสีเหลืองเข้มๆ และมีลายสีดำขดไปขดมาไม่เรียบร้อยคล้ายงูเหลือม ด้านท้องขาว จมูกยื่นออกมานิดๆ มองดูส่วนหัวแล้วคล้ายตะพาบ แถมออกลูกเป็นตัวอีกตะหาก เป็นสัตว์แปลกๆ ที่น่าสนใจมากๆ ในบรรดาภาพทั้งหมดผมเสียดายภาพจิ้งเหลนที่สุด ปลาจะยังอยู่ในลำธาร มาทนหนาวถ่ายใหม่ได้ มาหน้าร้อนก็ไม่หนาวแล้ว แต่จิ้งเหลนน้ำ ไม่รู้เมื่อไหร่จะได้พบกันอีก มาคราวหน้าคงต้องด้อมๆ มองๆ หากันจนตาเขแน่ๆ   “ผมนึกว่าลูกตัวตะกวดตัวเหี้ยซ่ะอีก” พี่ยุบอก

อีกสัก 5 ภาพต่อมา.  เป็นภาพของดอกว่านค้างคาวที่มีกลีบรองดอกสองแผ่นใหญ่ๆ เหมือนปีกค้างคาว ตรงกลางดอกเป็นเกสรที่เป็นตุ้มๆ ใหญ่ๆ พร้อมกับหนวดยาวยั๊วเยี๊ย ทั้งหมดเป็นสีม่วงเข้มๆ จนเกือบดำ ดูแล้วเหมือนค้างคาว ต้นไม้ตระกูลนี้หาไม่ยาก แต่นานๆ จะเจอออกดอกได้จังหวะงามๆ สักที ผมถ่ายทั้งแนวนอนแนวตั้ง ทั้งลายใบ และทั้งต้น

อีก 3-4 ภาพต่อมา. เป็นภาพของฝูงปลาซิวแหวกว่ายอยู่รอบๆ หินก้อนมนๆ ในคุ้งน้ำสีฟ้าอ่อนๆ โทนที่ผมชอบ

อีกสองภาพ.  พยายามถ่ายให้เห็นถึงความยากลำบากในการใต่สะพานไม้ไผ่ 2 ลำ และการขึ้นเขาลงห้วย กว่าจะไปถึงที่หมาย แสดงแบบโดยพี่ยุ

อีกสัก 5 ภาพต่อมา.  เป็นภาพของผักกรูด ผักกรูดเป็นเฟิร์นชนิดนึงที่ยอดกินได้ นำมาต้มจิ้มน้ำพริก และ น้ำมาผัดไฟแดงอร่อยมาก เป็นผักป่าของโปรดอีกอย่างของผม ที่มีขายในกรุงเทพฯมักจะเป็นผักไม่สดที่จะมีเมือกๆ กินแล้วตลกลิ้น ยอดผักกรูดม้วนงออ่อนช้อยเป็นศิลปะยิ่งนัก ผักกรูดเป็นภาพชุดสุดท้ายก่อนที่ผมจะถึงรถ

....ผมนอนมองภาพกระจกที่พลิ้วไหวอยู่บนเพดาน ภาพทั้งหมดผมไม่มีวันเรียกกลับคืนมาได้อีกแล้ว ภาพทั้งหมดจากผมไปแล้วอย่างไม่มีวันกลับคืน เหลือไว้ แต่เพียงความทรงจำที่ยังประทับอยู่ในสมองของผม ปลาก็ยังว่ายอยู่ในลำธาร ต้นไม้ก็ยังอยู่ตรงนั้นอาจจะเหี่ยวแห้งไป แต่ต้นใหม่ก็จะขึ้นมา สายน้ำก็จะยังไหลต่อไป อย่าไปยึดติดกับ pixel ที่หายไปคราวหน้ายังมี ถ้าตั้งใจจริง ถ้าดวงยังมี ภาพจะสวยกว่านี้ ...

 

เรื่องนี้มีภาพประกอบภาพเดียวที่เหลือคุณต้องนึกเอาเอง....

 

more survey ...

 

www.siamensis.org - Thailand Fish & Nature Explorer
An independent non-profit group
Established 2001
 All Rights Reserved 2001-2010 ©siamensis.org