: Home : Board : Articles : Expeditions : About us : Privacy Policy :

 


 
 

ถ้ำพระขยางค์ (จังหวัดระนอง)

เรื่อง: พี่น๊อต

กาลครั้งหนึ่ง..เมื่อวานนี้ เพื่อนของผมซึ่งเป็นคนที่ทำวิจัยเรื่องสัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์สะเทินเดินทางมาจากแดนไกล เพื่อมาตรวจสอบตัวอย่างที่มีอยู่ได้เอ่ยว่า “พมม่ายเคยเหนงูสามเหลี่ยม(Bungarus fasciatus)นายธามชาติเลย”(อ่านให้เป็นสำเนียงฝรั่งพูดไทย) ผมก็เลยคิดที่จะสนองตัณหาโดยบอกว่าจะพาไปดูที่ป่าชายเลน แต่เอ…เอาที่เดินง่ายๆ ก็แล้วกัน และไม่มี จนท.ป่าไม้มากวนใจ ในที่สุดก็ตัดสินใจเลือกถ้ำพระขยางค์เป็นคำตอบสุดท้าย ณ ที่แห่งนี้เป็นที่ที่หาที่ใดเสมอเหมือน

ในพื้นที่ไม่ถึง 1 ตารางกิโลเมตร และห่างถนนสายหลักเพียง 1 กิโลเมตร ที่แห่งนี้มีทั้งป่าเขาหินปูนที่มีป่าชายเลนซึ่งประกอบด้วยป่าจาก และป่าชายเลนแท้จริง ที่นี่ผมเคยพบงูหายาก เช่น งูลายสอดำ (Xenochrophis punctulatus) ซึ่งเป็นตัวที่ 2 ที่จะรายงานในประเทศไทย หลังจากตัวแรกพบเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว แต่เพิ่งรายงานสัก 2 ปีที่ผ่านมา(เดิมรายงานผิดชนิด) งูกิน(ปู)เปรี้ยว (Fordonia leucobalia) งูน้ำที่อาศัยตามป่าชายเลนที่ยากจะพบ มีรายงานน้อยมากในโลก จะมาเป็นรายงานแรกของระนอง การได้งูตัวนี้เป็นผลจากการสำรอกของงูสามเหลี่ยมที่พบในคราวก่อน กล้วยไม้ป่าหลายชนิด เฟิร์นต่างๆ มากมาย ฯลฯ

จากบ้านพักเวลาประมาณ 1 ทุ่มเศษ ล้อรถก็เริ่มหมุนไปข้างหน้าไปได้เพียง 12 กม.เศษ ล้อรถได้รับคำสั่งให้หยุดหมุนกระทันหัน เนื่องจากพบวัตถุแปลกปลอมแบนแต๊ดแต๋บนถนน เพื่อนผมได้ลงไปเก็บวัตถุดังกล่าวแล้วถามผมว่า “งูอารายครับ” เมื่อพิจารณาจากรูปทรงเรียวยาวมาก หัวโต คอกิ่วมากๆ ตาโต ประกอบกับลายที่ปรากฎ ก็สรุปได้ทันทีว่าเป็นงูดงคา (Boiga drapiezii) แม้ว่าเป็นงูที่ผมเคยพบ แต่ไม่บ่อยนัก แล้ว เพื่อนบอกว่ายังไม่มีรายงานที่ระนอง น่าเสียดายยิ่งนักที่ซากมันกรอบเกินกว่าจะเก็บรักษา เลยอำลา บ๊าย บาย นะซากงู

ด้วยเส้นทางอันคดเคี้ยวที่เลี้ยวลดก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน ราว 50 กม.ก็มาถึงที่หมาย จากการพัฒนาของ อบต. ทำให้ไฟสว่าง ทางสะดวก สร้างความเปลี่ยนแปลงมากมาย แต่เสน่ห์ของที่นี่ก็ไม่เสื่อมคลาย เพียงไม่กี่สิบเมตร ผมก็เรียก เพื่อนมาดู จิ้งจกหินหางเรียว (Gehyra angusticaudata) จิ้งจกชนิดนี้มี เพื่อนร่วมสกุลที่เป็นจิ้งจกบ้าน คือ จิ้งจกเส้นหลังขาว หรือหางอ้วน (G. mutilata) จิ้งจกชนิดนี้มีรายงานหลายสิบปีมาแล้วที่ชลบุรี และกาญจนบุรี ดังนั้น..นี่จะเป็นอย่างน้อยรายงานแรกของระนองถ้า..ไม่เป็นชนิดใหม่ที่มีการบรรยายลักษณะทางอนุกรมวิธานเสียก่อน เนื่องจากลักษณะทางภูมิอากาศที่ต่างจากแหล่งที่เคยพบ ดังนั้นจึงน่าลุ้น แต่ตอนนี้ขอยืมชื่อนี้มาใช้ก่อนก็แล้วกัน จากนั้นเริ่มเดินอีกสัก 50 เมตร เราก็เจออะไรเอ่ย ขดอยู่บนต้นไม้สูงราว 5 เมตรจากระดับที่ยืนอยู่ หรือ 8 เมตร จากระดับพื้นดิน มัน คืองูพังกา (Trimeresurus purpureomaculatus) ตัวแรกที่พบบริเวณนี้ จากคำบอกเล่าของชาวบ้าน ผมก็พยายามเสาะแสวงหา แต่เพิ่งเจอนี่แหละ ที่จริงมัน คือชนิดที่ปกติที่นี่ และในความคิดผม แต่ก็ยังมีที่ไม่ปกติ คือ มันอยู่สูงมาก ทั้งที่งูชนิดนี้ ในเวลากลางคืนจะหากินตามพื้นหรือไม้เตี้ยๆ ในที่สดก็รู้เฉลย ก็มันนอนรอเวลาลอกคราบนั่นเอง..

ยัง! ยัง! ไม่แค่นี้ หลังจากเดินไปอีกสัก 5-6 ก้าว ผมก็เรียก เพื่อนมาดูสิ่งที่เขา ทำให้ผมพาเขามาที่นี่ แน่นอน! มัน คืองูสามเหลี่ยม (Bungarus fascistus) กำลังเลื้อยหากินบนหินเชิงเขาข้างป่าชายเลน มันเป็นงูที่สวย สง่ามากที่สุดชนิดหนึ่งในความคิดของผม ปล้องดำสลับเหลืองมันวาว ปลายหางกุดอันเป็นเอกลักษณ์ พวกเราหยุดดูเหมือนหยุดเวลา ทุกอย่างสงบ มีเพียงงูที่เลื้อยไปช้าๆ เป็นภาพที่สวยงามที่สุดภาพหนึ่ง เราไม่มีกล้องบันทึกภาพ แต่เรามีการบันทึกภาพที่ดีที่สุด คือ..ความทรงจำ เป็นภาพที่หาดูได้ยาก เพราะปกติเราจะพบงูสามเหลี่ยมเลื้อยตามพื้นเลนสีน้ำตาลเทา แต่นี่มีพื้นรองรับด้วยหินสีขาวอมเทาอันขรุขระเฉกหินปูนตามเขาทั่วไป มีเฟิร์น และกล้วยไม้เป็นฉากหลัง… และอีกสัก 10 เมตรจากตรงนั้นเราก็เห็นต้นคริตมาสแห่งป่าชายเลน…นั่น คือต้นลำพู กับหิ่งห้อยนั่นเอง มันกระพริบๆ เป็นจังหวะๆ เพียงพอที่จะตรึงสายตา 4 คู่ให้หยุดนิ่งอีกครั้ง หิ่งห้อยเป็นดัชนีวัดการปนเปื้อนของมลถาวะที่ดี มันจะอยู่ไม่ได้ถ้ามีมลภาวะมากระทบ

จากนั้นเราเดินกันอีกประมาณ 1 กม.เศษ เราพบกล้วยไม้ไม่น้อยกว่า 15 ชนิด(มองผ่านๆ ไม่ซอกแซก) บางชนิดหายาก และผมเคยพบแค่ที่นี่เท่านั้น(คนอื่นอาจเจอที่อื่นแล้ว) เราเก็บกล้วยไม้มาด้วย…อ๊ะๆ พวกอ้างตนว่าเป็นนักอนุรักษ์เอ๋ย..อย่า เพิ่งด่า เพราะกล้วยไม้ที่เราเก็บมามันหล่นอยู่บนพื้นเลน กิ่งไม้ผุหักลงมา ต้นไม้ถูกโค่น(สงสัยเป็นพวกตัดใบจาก) พวกนี้เป็นพวกที่ธรรมชาติแทงจำหน่ายแล้ว หากเราปล่อยทิ้งไว้ เมื่อน้ำขึ้นมันก็ตายลงโดยไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์สนองตัณหาของมนุษย์ จริงอยู่ ถ้าปล่อยไว้เช่นนั้นมันจะถูกย่อยสลายเป็นต้นทุนแร่ธาตุคืนแผ่นดิน แต่ในพื้นที่ดังกล่าวมีอินทรีย์สารมากมาย ที่เก็บมานั้นไม่ได้สักเศษเสี้ยวเถ้าธุลีเลย แต่ถ้ายังคิดว่านั่นเป็นผลทางลบอยู่ คุณควรคืนลมหายใจให้แผ่นดิน เพราะทุกวันนี้คุณแย่งอาหาร ที่อยู่อาศัยของสัตว์(งูเข้าบ้านหาว่างูบุกรุกที่คน ทั้งๆ ที่คนบุกรุกที่งูก่อนจนมันไม่มีที่ไป) คุณให้คาร์บอนไดออกไซด์ที่พืชไม่ต้องการตอนกลางคืน ทุกย่างก้าวล้วนทำลายชีวิตเหลือคณานับ ใช้น้ำมัน แร่ต่างๆ ที่ไม่อาจเกิดทดแทนได้ทันในชั่วชีวิต

การอนุรักษ์ต้องอยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริง ไม่ใช่อิง แต่อุดมคติ การอนุรักษ์มีประโยชน์ แต่ประโยชน์ต้องเกิดแก่ทุกคน ทุกสิ่งสรรพ ไม่ใช่ เพื่อผู้ที่ไม้ต้องดิ้นรนแสวงหาแล้วมากดขี่ผู้ด้อยโอกาสหรือผู้ต้องการใช้ประโยชน์ ไม่ใช่ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากการอ้างคำว่าอนุรักษ์ การอนุรักษ์ต้อง ทำให้เกิดคุณค่า เห็นความสำคัญที่จะให้มีไว้ตลอดไป การอนุรักษ์ต้องมีการจัดการ แต่ถ้าเราไม่แตะต้องเลย เท่ากับว่าเราไม่จัดการ ถ้าอย่างนั้นก็เท่ากับว่าเราไม่ได้อนุรักษ์ ในโลกนี้ไม่มีสีดำ และสีขาวที่แท้จริง ในโลกแห่งความจริงมีเพียงสีเทา….

พวกเราเดินรอบถ้ำจนล่วงเข้าวันใหม่ด้วยใจที่เบิกบาน และสดใส เมื่อผมขับรถจากที่นี่ไปก็ถึงเมืองระนองอย่างปลอดถัยด้วยแรงกายที่โรยรา…

 

สัตว์เลื้อยคลานที่พบบริเวณถ้ำพระขยางค์

1. งูกาบหมากหางนิล (Elaphetaeniura ridleyi) 2. งูสิงธรรมดา (Ptyas korros)   3. งูปล้องฉนวนมลายู (Drypcalamus subannulatus)  4. งูลายสาบคอแดง (Rhabdophis subminiatus)  5. งูลายสอดำ (Xenochrophis punctulatus)        6. งูปากกว้างน้ำเค็ม (Ceberus rynchops)  7. งูกินเปรี้ยว (Fordonia leucobalia)  8. งูพังกา (Trimeresurus purpureomaculatus)  9. งูสามเหลี่ยม (Bungarus fasciatus)  10. งูเห่าไทย (Naja kaouthia)  11. งูจงอาง (Ophiophagus hannah) ชาวบ้านบอกมา ยังไม่เคยเห็นตัว  12. จิ้งจกบ้านหางหนาม (Hemidactylus frenatus)  13. จิ้งจกบ้านหางแบน (Cosymbotus platyurus)  14. จิ้งจกหินหางเรียว (Gehyra angusticaudatus)  15. ตุ๊กแกบ้าน (Gekko gekko)  16. ตุ๊กแกป่าจุดเหลือง (Cyrtodactylus oldhami)  17. จิ้งจกนิ้วยาวอินเดีย (Cnemasphis kandianus) นอกนั้นยังรอการบันทึกเพิ่มเติมอีกหลายชนิดที่ต้องมีแน่ๆ แต่ยังไม่เจอ และอยู่นอกสายตาชาวบ้าน

อ้อ...เมื่อก่อนมีจระเข้น้ำเค็ม (Crocodylus porosus) ด้วย

 

more survey ...

 

www.siamensis.org - Thailand Fish & Nature Explorer
An independent non-profit group
Established 2001
 All Rights Reserved 2001-2010 ©siamensis.org