: Home : Board : Articles : Expeditions : About us : Privacy Policy :

 


 
 

ชั่วอึดใจ..ในห้วยเล็กๆ (ระนอง)

เรื่อง: พี่น๊อต

เมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา หลังจาก เพื่อน(คนเดิม)ได้ตรวจสอบตัวอย่างที่บ้านขั้นต้น แล้วจะนำมันไปตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ (น่าเสียดายที่ไม่มีคนไทยเชี่ยวชาญด้านนี้อย่างแท้จริงในขณะนี้)ที่อเมริกาอีกที แล้วก็กินอาหารมื้อค่ำจนพุงกาง พวกผม และ เพื่อนพ้องก็เดินทางไปที่ห้วยเล็กๆ แห่งหนึ่งใกล้ๆ บ้าน ห้วยนี้เป็นห้วยสาขาของคลองหาดส้มแป้น ผมเคยเจอสัตว์ถิ่นเดียวของเมืองไทย และมีชุกชุมที่นี่ คือ กบท่าสาร (Ingerana tasanae) และงูเขียวปากจิ้งจกว่าที่ชนิดใหม่ที่จะได้รับการบรรยายทางอนุกรมวิธาน (Ahaetulla sp.) น่าเสียดายที่มีคนเยอรมันได้รวบรวมตัวอย่างไว้แล้ว และจะดำเนินการโดยไม่มีคนไทยมีส่วนร่วมเลย

เมื่อ เพื่อนเห็นสภาพแหล่งน้ำแล้วก็บอกทันทีว่าต้องมีจิ้งเหลนน้ำแน่นอน ผมเองก็เชื่อเช่นนั้น แต่ไม่เคยเจอเลย พอเริ่มเดินเข้าไปไม่ถึง 10 เมตร ก็มีกบท่าสารมาต้อนรับทันที เขาตื่นเต้นมาก บอกว่าทั่วโลกมีรายงาน แต่ที่สุราษร์ธานี (terretype) และน้ำตกรามัญเท่านั้น แล้วไม่ทันก้าวก็เจอกบลายหิน (Amolops sp.) เขาบอกว่าตัวนี้น่าเป็นชนิดใหม่ แต่ผมไม่แน่ใจนัก แล้วก็เจอกบ? (Talorana hascheana) ตัวนี้ก็เป็นรายงานใหม่ของจังหวัด แม้ว่าเป็นตัวที่มีการแพร่กระจายทั่วไป และคางคกจิ๋ว (Ansonia cf. malayana) คางคกที่เล็กที่สุดในไทยที่มีข้อมูลขณะนี้ แล้วก็อึ่งกราย (Leptoralax sp. ไม่แน่ใจว่าพิมพ์ถูกหรือเปล่า) นี่ยังไม่เดินไปไหนเลยนะ รัศมีรอบตัว 2 เมตรเท่านั้น

ริมห้วยก็มีเฟิร์นลูกไก่ดำที่ชาวเฟิร์นสยามบอกว่าเจอน้อย แต่ที่นี่มีตลอดทาง แม้ต้นไม่ใหญ่นักที่นี่ และแล้ว เพื่อนผมก็ตะโกนโหวกเหวกว่า "Tropedophorus ! คุณมนตรี(ชื่อผมเอง)" ผมก็รีบมาดู ใช่! ใช่จริงๆ ด้วย มัน คือจิ้งเหลนห้วย (T. cf. robinsoni) คราวนี้มันเดินอ้อยอิ่งๆ บนพื้นช้าๆ เขาให้ผมช่วยจับ เพราะมัน คือรายงานใหม่ของจังหวัด และมีรายงานเพียง จ.ชุมพร และ จ. พังงา เท่านั้น ผลหรือ จับไม่ได้ และผมยินดีที่จะให้เป็นเช่นนั้น เพราะมันจะได้ไม่ต้องไปนอนในแอลกอฮอล์ 70% สักพักเราก็เจอจิ้งเหลนห้วย (Sphenomorphus maculatus) เดินหากินอยู่ ผมงงๆ อยู่เหมือนกัน ก็ปกติผมเห็นมันหากินกลางวันนี่นา..หรือว่ามันหากินกลางคืนด้วย? และแล้วผมก็เจอทีเด็ดอีกแล้ว มันเป็นกบตัวแดงจุดขาว (Nyctixalus pictus) เกาะใบไม้อยู่ มันเป็นกบที่ชุกชุมในมาเลเซีย และเป็นที่นิยมเลี้ยงในยุโรป มีรายงานเฉพาะภาคใต้ตอนล่างเท่านั้นในกบสกุลนี้ ย้ำ ระดับสกุล

บริเวณเดียวกันก็เจอลูกจงโคร่ง (Bufo asper) อีก 1 ตัว แม้วันนี้เราไม่เจองูเลย แต่เราได้เจอของเด็ดๆ เกือทั้งหมดเลย ตัวธรรมดาอย่างกบทูด (Limnonectes blythii) กบชะง่อนหิน (Rana hosii) ปาดบ้าน (Rhacophorus leucomystax) หายไปไหนหมด ห้วยเล็กๆ เดินเพียงร้อยเมตรเศษ เราเจอสัตว์มากมาย ที่น่าเป็นห่วง คือขณะนี้มีชาวบ้านมาตัดไม้บริเวณห้วยแห่งนี้มากขึ้น ถ้าเกินจุดที่ระบบแห่งนี้รับไหวจะเกิดอะไรขึ้น นี่ก็ เพราะไม่มีชาวบ้านคนไหนใช้ประโยชน์จากสัตว์เหล่านี้ เขาไม่มีทางเห็นคุณค่าหรอก แต่ที่เราจะทำได้ก็ คือให้เขาเห็นคุณค่าของไม้ที่เขาใช้ และต้องให้มีใช้ได้ตลอดแล้วสัตว์เหล่านี้ก็จะพอยังคงอยู่ได้ แต่..รู้ไหม..เราไม่สามารถโน้มน้าวเขาเหล่านั้นได้หรอก เพราะเขาไม่ใช่เจ้าของประเทศ..แรงงานต่างด้าวมากมายได้เข้ามาสร้างปัญหาทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติ เศรษฐกิจ และสังคมอย่างลอยหน้าลอยตาได้ก็ด้วยนโยบายที่สนองผลประโยชน์แก่กลุ่มนายทุนไม่กี่คน(ทั้งบนโต๊ะ และใต้โต๊ะ) พวกเขาไม่สนหรอกว่าปัญหาที่ตามมามันหน้าตาเป็นอย่างไร เขารู้เพียงว่าต้องกอบโกยจนกว่าจะพังแล้วพวกเขาเหล่านั้นก็จะจากไป..ทิ้งไว้เพียงความบอบช้ำของคนไทยทั้งชาติ และทรัพยากรของโลกไว้เบื้องหลัง

สัตว์เลื้อยคลานที่พบบริเวณห้วยนี้  

1) งูเขียวหางไหม้ท้องเขียว (Trimeresurus popeiorum)   2) งูเขียวปากจิ้งจก (Ahaetulla prasina)   3) งูเขียวปากจิ้งจกหางเขียว (Ahaetulla sp.)   4) งูสิงธรรมดา (Ptyas korros)   5) งูสิงดง (P. carinatus)   6) ตุ๊กแกป่าจุดเหลือง (Cyrtodactylus oldhami)   7) กิ้งก่าบ้าน (Calotes versicolor)   8) กิ้งก่าแก้ว (C. emma emma)   10) กิ้งก่าเขียว (Bronchocela cristatella)   11) จิ้งเหลนห้วย (Sphenomorphus maculatus)   12) จิ้งเหลนน้ำปักษ์ใต้ (Tropedophorus cf. robinsoni)   13) ตะพาบแก้มแดง (Dogania subplana)  14) งูลาย สาบเขียวขวั้นดำ (Rhabdophis nigrocinctus)  15) งูลายสอลายสามเหลี่ยม (Xenochrophis trianguligerus)

นอกจากนี้ยังมีชนิดที่พบบริเวณใกล้เคียงอีก คือ  

1) งูดินสองสี (Typhlops muelleri)     2) งูปล้องฉนวนธรรมดา (Dryocalamus davisonii)  3) งูเขียวร่อน (Chrysopelea paradisi)  4) งูลายสาบคอแดง (Rhabdophis subminiatus)   5) เต่าใบไม้ (Cyclemys dentata)  6) งูสายม่านแดงหลังลาย (Dendrelaphis caudolineatus)  7) งูทางมะพร้าว (Elaphe radiata)  8) งูเหลือม (Python reticulatus)   9) จิ้งจกบ้านหางหนาม (Hemidactylus frenatus)  10) จิ้งจกบ้านหางแบน (Cosymbotus platyurus)  11) ตุ๊กแกบินธรรมดา (Ptycozoon lionotum) 

more survey ...

 

www.siamensis.org - Thailand Fish & Nature Explorer
An independent non-profit group
Established 2001
 All Rights Reserved 2001-2010 ©siamensis.org