ลำน้ำกษัตริย์
ลำน้ำทรยศ
เรื่อง by บันทึกของ อ. ชัยวุฒิ กรุดพันธ์
โครงการจัดตั้งภาควิชาประมง, คณะเกษตรศาสตร์
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
และ ความทรงจำของ นณณ์
ผาณิตวงศ์
ภาพ/บรรยายภาพ/Abstract
by นณณ์ ผาณิตวงศ์
Thung
Yai Huai Kha Khaeng Wildlife Sanctuary is stretching over more
than 600,000 hectare along Thai Myanmar border. The sanctuary
represents an outstanding and unique biome of mainland South
East Asia, contains biophical features of outstanding natural
beauty and of great scientific value. The sanctuary is a
habitat of a very diverse array of floras and faunas.
The world
heritage committee of UNESCO inscribed Thung Yai Huai Kha
Khang Wildlife Sanctuary on the World Heritage list in 1991.
Zoogeography of freshwater fishes in Thailand can be separated
into 7 areas, one of the smallest and least explore is Salween
Besin along the Thai Myanmar boder. Apart from Salween river
herself, whose in one part act as border line between the 2
contries, there are only a handful of rivers in Thailand that
can be counted as part of Salween Besin 2 of that rivers, Kasa
Yai and Suriya, originated in Thung Yai Wildlife Sanctuary in
Thailand. Kasa Yai
River is where Im heading to on this trip.
เดี๋ยวฝนหยุดแล้วผมจะเกณฑ์ชาวบ้านมาช่วยกันซ่อมทาง
จะลองเข้าไปเที่ยวกันไหมครับ? กำนันแดะ
เอ่ยปากชวนท่านพ่อ และ เพื่อนๆ ไปเที่ยวชมหมู่บ้าน และป่าในเขตทุ่งใหญ่นเรศวร
เมื่อปีที่แล้วพวกเราทอดกฐินให้กับวัดในหมู่บ้านเกาะสะเดิ่ง แต่ด้วยความที่หมู่บ้านอยู่ในป่าที่ทางเข้าออกลำบากมากในช่วงหน้าฝนเราจึงใช้สถานที่ของวัดอีกแห่งที่เข้าง่ายกว่าในการทำพิธี
ทอดไปแล้วโดยที่ไม่ได้เข้าไปเห็นที่หมู่บ้านด้วยซ้ำว่าหน้าตาเป็นอย่างไร
เมื่อกำนันเอ่ยปากชวนทุกคนซึ่งอยากจะเข้าไปดูกันอยู่แล้วก็เลยสนอกสนใจเป็นพิเศษ
ผมเองนั้นได้ยินชื่อทุ่งใหญ่ฯ ก็หูผึ่งแล้ว
เพราะผมท่องเที่ยวเลาะรอยตะเข็บป่าแห่งนี้มาก็นานเต็มที แต่ยังไม่เคยเข้าไปดูสักครั้งว่าทุ่งใหญ่นั้นหน้าตาเป็นอย่างไร และใหญ่แค่ไหน
เมื่อหลายปีที่แล้วผมได้เห็นภาพของฝูงกระทิงนับร้อยตัวที่เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้ และก็ยังติดตาอยู่จนถึงทุกวันนี้
ไม่ใช่แค่นั้นป่าทุ่งใหญ่ยังเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำ 2
สายที่น่าสนใจ คือแม่น้ำกษัตริย์ (ชาวบ้านจะเรียกว่าแม่น้ำกะสะ
ซึ่งก็ คือแม่น้ำในหนังเรื่อง สาบเสือที่ลำน้ำกษัตริย์
นั่นแหละ) และ แม่น้ำสุริยะ แม่น้ำทั้ง 2 สาย
น่าสนใจ เพราะเกิดในประเทศไทย แต่ไหลไปลงทะเลในเขตประเทศพม่ากลายเป็นส่วนหนึ่งของลุ่มแม่น้ำสาละวิน ทำให้ปลาที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำทั้ง
2 แห่งแตกต่างไปจากปลาในลุ่มแม่น้ำอื่นๆ ของไทย
ทุ่งใหญ่นเรศวร...ผมนั่งนับวันให้ถึงวันนัดเร็วๆ
วันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์:
เที่ยงแก่ๆ ที่ออฟฟิสขอบเมืองชั้น
34 ข้าวปลาก็ยังไม่ได้กิน งานการก็ท้วมหัว
มนุษย์เงินเดือนอย่างผมพยายามเคลียร์งานล๊อตสุดท้ายให้ออกไปจากโต๊ะให้เร็วที่สุด
เพื่อนร่วมงานคนอื่นก็ออกไปพักเที่ยงกันหมดแล้ว
ผมโน้ตนู้นโน้ตนี้ลงในกระดาษโพสอิตแผ่นเหลือง
เพื่อนยากสำหรับคนขี้ลืมอย่างผม จัดการแปะมันลงไปตามสถานที่ต่างๆ
กันตัวเองลืมว่าทำอะไรค้างไว้บ้าง ผมจะลาออฟฟิสเข้าป่าสัก 5 วัน
ถ้าไม่โน้ตไว้กลับมาลืมหมดแหง่มๆ
ต้องบอกว่าทริปนี้เราเตรียมตัวล่วงหน้ากันเป็นเดือนๆ
เพราะนอกจากจะเข้าป่านานถึง 5
วันแล้วเส้นทางที่เรากำลังจะเข้าไปเป็นเส้นที่โหด และทุรกันดารแบบที่ นิตยสารออฟโรดทั้งหลายแหล่บอกว่าเป็นระดับ
5 หรือ
ระดับที่ยากที่สุด ทำให้เราไม่สามารถที่จะประมาทเส้นทางสายนี้ได้เลย
รถออฟโรดคันเก่งถูกนำไปเสริมความสูง และความหล่อมาอีกหลายอย่าง
โชคดีที่กำนันได้นำลูกบ้านมาทำการซ่อมแซมบำรุงทางเส้นนี้ที่เป็นเส้นทางเดียวที่สามารถจะใช้ติดต่อกับ
เมือง
ไว้เรียบร้อยแล้ว ดินก็คงแห้งแข็งดีแล้ว คงไม่โหดจนเกินไปนัก
ผมหวังเช่นนั้น
บ่าย
วันนั้นผมไปรับพี่หมีซึ่งสู้อุตสาห์
ขึ้นเครื่อง
มาจากอีสานหลังจากสะสางงานที่มหาวิทยาลัยอุบลฯมาที่บ้าน
เราจัดการโหลดของใส่กระบะท้ายจนเต็มปรี่แล้วทุกคนก็ ปีน
ขึ้นรถออฟโรดคันเก่งมุ่งหน้าสู่ อ. สังขละบุรี
ซึ่งจะเป็นที่พักของเราในคืนแรกนี้ นอนให้เต็มอิ่ม เพราะพรุ้งนี้หนทางช่างทุรกันดารนัก
ตกเย็น
ผมขับรถนอกถนน (ออฟโรด) มาบนถนน
ทนฟังเสียงยางขนาด 35 นิ้วบดกับยางมะตอยจนเกือบถึงสังขละแล้ว
ดูเมฆสิสวยจัง
คุณแม่ชี้ให้ผมดูท้องฟ้า พระอาทิตย์กำลังจะตกดินลับหลังเขา
เมฆก้อนเล็กๆ ปุยๆ ลอยเรียงกันเต็มท้องฟ้า โหย
สวยครับแม่ ขอจอดรถถ่ายรูปหน่อย
ผมกำลังรวบรวมภาพถ่ายเมฆลักษณะต่างๆ อยู่
จากความรู้อันน้อยนิดของผมทางด้านนี้ เมฆหน้าตาแบบนี้เรียกว่า
Altocumulus
เป็นเมฆกลางฟ้าที่จะลอยอยู่ระดับประมาณ 2,000
5,000 เมตร
ซึ่งจะเกิดขึ้นในบริเวณที่กระแสลมที่อุณหภูมิต่างกันมาปะทะกันแล้วลอยตัวสูงขึ้นหรือ เพราะพัดไปชนเขาหรือเนินต่างๆ
แล้วกลั่นตัวเป็นเมฆ
ในขณะที่เกิดกระแสลมปั่นป่วนจน ทำให้เมฆแตกออกเป็นก้อนๆ เล็กๆ แปลกตาแบบนี้
เห็นได้ไม่บ่อยนักนะครับเนี๊ย
ผมเรียนคุณแม่
วันศุกร์
เช้าตรู่
ผมตื่นขึ้นมากับความหนาวเย็น
เทอร์โมมิเตอร์ที่แปะไว้ข้างฝาบอกอุณหภูมิที่ 17 องศาเซลเซียส
หลังจากจัดการกับข้าวต้มมื้อง่ายๆ พวกเรา 17
ชีวิตก็ออกเดินทางจากแพที่พักมุ่งหน้าสู่ลานจอดรถของแพมิตรสัมพันธ์ที่เราฝากรถ และสัมภาระไว้
กำนันเดะซึ่งติดประชุมในเมือง ส่งพี่แคะ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เกาะสะเดิ่ง
และพี่กระเหรี่ยงอดีต อบต. หมู่บ้านจะแก (พี่ครับผมลืมชื่อพี่ไปแล้วอ่ะ
ขอโทษด้วยครับ) มาช่วยนำทางให้พวกเรา สัมภาระถูกจัดโยนขึ้นกระบะรถ
ผูกดึงให้แน่น
วิทยุสื่อสารถูกนำมาแจกจ่ายโดยพวกเรานัดแนะกันว่าจะใช้รหัสกลุ่มว่า
แงซาย
ให้ฟังดูแล้วเค้าบรรยากาศเหมือนกับการพจญไพรในเรื่องเพชรพระอุมา
เสร็จแล้วพวกเราก็ออกเดินทางสู่ทุ่งใหญ่นเรศวรกัน
เป้าหมายของเราวันนี้มีง่ายๆ
ไปให้ถึงหน่วยย่อยบ้านลังกาซึ่งตั้งอยู่ริมลำน้ำกษัตริย์
(หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าแม่กะสะ) ให้ได้ก่อนมืด
เราไม่รู้ว่าทางข้างหน้ามีอะไรรอเราอยู่บ้าง
แต่ เพื่อนร่วมทางท้องถิ่นก็ ทำให้เราอุ่นใจไปมาก
เช้า
พวกเรา 19 ชีวิตบนรถออฟโรด 5 คันเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนลูกรัง
ปากทางเข้าทุ่งใหญ่นเรศวร เส้นทางไม่เลวร้ายนัก
ช่วงแรกเป็นป่าโปร่งๆ สลับกับไร่สวนของชาวบ้าน
ไกด์ท้องถิ่นของเราบอกว่า แต่ก่อนสองข้างทางเป็นป่าที่มีไม้แดงขึ้นมากมาย
จากนั้นทางตัดเข้าไปในป่าทึบ และสูงชันขึ้นเรื่อยๆ
เขานี้เรียกเขาไม้แดง
หน้าฝนผ่านยากมากครับ พี่แคะบอกพวกเรา
เมื่อลงจากเขา
เราก็พบกับห้วยที่ในแผนที่เรียกว่าโรคี่ แต่พี่กระเหรี่ยงที่มาด้วยบอกเราว่าจริงๆ แล้วชาวบ้านออกเสียงว่า
คะเร๊าะคี่
ซึ่งมีความหมายว่า ลำธารต้นน้ำ (คะเร๊าะ=ลำธาร,
คี่=ต้นน้ำ)
ตอนนี้เป็นหน้าแล้งแล้วน้ำไม่เยอะ แต่กรวดก้อนใหญ่ๆ ก็พอให้รถได้สนุกเหมือนกัน
บางช่วงเราก็ตัดข้ามแม่น้ำไปตรงๆ
บางช่วงก็ต้องขับรถสวนน้ำไปตามทางเล็กๆ
บรรยากาศสองข้างทางตอนนี้เป็นป่าทึบที่สมบูรณ์มากๆ
9 โมงนิดหน่อย
ขบวนของเราผ่านด่านแรกของทุ่งใหญ่นเรศวร
ด่านสะเน่พ่อง
หลังทำเอกสารแล้วเราเดินทางต่อ ไม่ไกลเท่าไร
ก็เข้าหมู่บ้าน สะเน่พ่อง
ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ค่อนข้างใหญ่มีจำนวนประชากรประมาณ ๔๐
หลังคาเรือน
หลังจากผ่านวัด และโรงเรียน เราก็เข้าเขตป่าต่อ
สายๆ
เราข้ามห้วยลงห้วยหลายครั้ง
ทุกครั้งที่ล้อรถมีอาการยวบมากๆ จะเกิดเสียง ครู๊ดดดดดด
ฟังได้ยินถนัดหู ทำให้เราไม่ค่อยสบายใจว่าเกิดอะไรขึ้น
เมื่อมาถึงหาดกรวดแห่งหนึ่งริมลำห้วย เราจึงจอดดู
ซึ่งหลังจากดูแล้วสาเหตุก็ คือล้อที่ใหญ่เกินช่องล้อนั้นเวลายวบลงไปรับน้ำหนักจะไปขูดเอากับบังโคลน
เราจึงจัดการถอดบังโคลนออก
ระหว่างนั้นผมไปด้อมๆ มองๆ ตามริมน้ำแล้วก็ได้พบกับ เพื่อนเก่า เจ้าต้นคริบ
(Cryptocoryne
crispatula crispatula)
กอใหญ่หลายกอกำลังออกดอกสะพรั่งอยู่ริมน้ำ ซึ่ง ทำให้ผมสบายใจว่าคงมีคริบขึ้นอยู่ในป่าแห่งนี้อีกหลายจุด
ไม่ใช่แค่หมายริมถนนที่ผมไปพบครั้งแรก ที่หมายนี้
พี่หมีผู้เชี่ยวชาญปลาไทยต้องตื่นเต้นเมื่อพี่แคะชี้ในดูลูกปลากะพุง
ปลาชื่อแปลกที่พี่หมีไม่เคยรู้จัก
ผมนั้นมาแถวนี้บ่อยเลยรู้อยู่ แล้วว่ากะพุงของชาวบ้านแถวนี้ก็ คือปลาพลวง
ปลาแสนหาง่ายนี่เอง อิ อิ
เก้าโมงสี่สิบ
ข้ามห้วยโรคี่ (อีกแล้ว)
ออกเดินทางต่อบริเวณนี้ไม้ลำต้นสูง และตั้งตรงมีลำห้วยสาขาจำนวนมากเราข้ามตัดไปตัดมาเกือบทุกๆ
๓ นาที ทั้งเป็นลำห้วยสาขา และตัวห้วยโรคี่เอง
พี่กระเหรี่ยงที่มาด้วยบอกว่าชื่อหมู่บ้านที่เราจะถึงข้างหน้า
ทางราชการเรียกว่าหมู่บ้าน เกาะสะเดิ่ง แต่คนพื้นถิ่นออกเสียงว่า
โกทะเดิ่ง
ซึ่งเป็นต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ขึ้นบริเวณริมห้วยมีรากไม้มากมาย และมักมีไม้อิงอาศัยที่มีลักษณะเป็นสายฝอยอยู่บริเวณกิ่งก้าน
ชาวบ้านในบริเวณนี้เลี้ยงวัวควาย และทำไร่ซาก ซึ่งหมุนเวียนทุก ๕-๗
ปี แต่เขาเล่าว่าเจ้าหน้าที่ป่าไม้ให้ทำหมุนเวียนทุก ๓ ปี
ซึ่งชาวบ้านไม่ค่อยพอใจนัก
สิบโมงเกือบครึ่ง
พวกเราพบรั่วไม้ไผ่ขวางทางไว้เป็นทางเข้าหมู่บ้าน พี่แคะบอกว่าหมู่บ้านชาวกระเหรี่ยงจะมีรั่วแบบนี้เสมอ เพื่อป้องกันสัตว์ร้ายที่จะเข้าไปในหมู่บ้าน
และป้องกันพวกวัวควายของชาวบ้านออกมาป้วนเปี้ยนไกลบ้านด้วย เกาะสะเดิ่งมีประชากรประมาณ
๔๒ หลังคาเรือน หลังจากนั้นประมาณ ๑๐ นาที
เราเห็นลำห้วยโรคี่อยู่ทางขวามือ และเมื่อถึงต้นตะเคียนใหญ่
คณะก็เลี้ยวขวาข้ามลำห้วยโรคี่ เพื่อเข้าหมู่บ้านเกาะสะเดิ่งที่อยู่เชิงเขาหินปูนที่มีต้นไม้ค่อนข้างทึบ
ชาวคณะแวะพักที่หมู่บ้านนี้ เพื่อชมศาลาประชาคมที่คณะได้บริจาคเงินในการก่อสร้างพร้อมทั้งฟังเสียงชะนีร้องโหยหวน
(พิกัด N.15, 13 19.1; E 098,
2845.3)
สิบเอ็ดโมงกว่า
คณะของเราเข้าถึงพื้นที่ซึ่งมีต้นไผ่ขึ้นหนาทึบเป็นดงไผ่บงที่มีลำขนาดใหญ่มาก
พี่กระเหรี่ยงบอกว่าถ้าเราออกไปนั่งอยู่บนกระบะซึ่งมองออกไปได้ไกลๆ
รับรองว่าต้องได้เห็นเก้งแน่ๆ
น่าเสียดายที่กระบะรถของเราเต็มไปด้วยสัมภาระ
ตอนนี้เราอยู่ที่ความสูง 445 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง
เราผ่านลำห้วยสาขาซึ่งมีการเอาซุงพาดทำสะพาน 2 ถึง 3
ครั้งพอให้ตื่นเต้น
เที่ยงกว่า
ท้องเริ่มร้อง
เราแวะพักรับประทานอาหารที่ริมห้วยขนาดเล็กที่พี่แคะบอกว่าชื่อ
ซ่องกะโต่ะทะ
ซึ่งมีน้ำไม่ลึกนัก
พอล้อหยุดหมุนผมซึ่งนั่งอึดอัดกระดอนไปกระดอนมาอยู่ในรถมาครึ่งค่อนวัน
คว้ากล้องได้ก็ กระโดด
ลงจากรถมุ่งหน้าสู่ลำห้วยทันที (อ้าวไหนว่าหิว?)
ที่หาดกรวดริมห้วย
ผีเสื้อหลากสีหลายลายหลายขนาดรวมทั้งแมลงหน้าตาแปลกๆ อีกหลายชนิดกำลังรุมกินโป่งริมห้วยกันอยู่
โป่งลักษณะนี้มักจะเกิดในบริเวณที่ลำห้วยมีการโค้งตัวแล้วมีหาดรองรับซึ่งในหน้าฝนน้ำจะพัดพาเอาแร่ธาตุมารวมตกตะกอนกันอยู่เป็นจำนวนมาก
เมื่อน้ำลดลงพวกผีเสื้อ,แมลง และสัตว์ขนาดเล็กก็ได้ใช้ประโยชน์กันอย่างเต็มที่
หลังจากหายตื่นตาตื่นใจกับฝูงผีเสื้อแล้ว
ผมกับพี่หมีก็เริ่มลงมือสำรวจปลาลำห้วยกัน ในวันนี้ฝูงปลากะพุง
(ปลาแปลกของพี่หมี ที่ตอนนี้รู้ตัว แล้วว่าถูกอำ ฮา!)
ตั้ง แต่ตัวเล็กๆ ไปยันตัวเป็นฟุตมีให้เห็นหนาตา
ที่มีเยอะเช่นกันก็จะเป็นพวกปลาซิวใบไผ่ (Devario sp.)
และพวกปลาอีมูด (Garra sp.)
ตัวลายๆ ซึ่งเราไม่สามารถจะบอกได้ว่าเป็นชนิดไหนกันแน่
นอกจากนั้นเรายังสำรวจพบปลาค้อในตระกูล Schistura
อีก 3 ชนิด
ตัวแรกเป็นปลาค้อขนาดเล็กที่ไร้สีไร้ลายโดยสิ้นเชิงแปลกตามากๆ เราคาดว่าเจ้าตัวเล็กพวกนี้อาจจะเป็นลูกปลาค้อบอลเทียต้า
(S. baltiata)
แต่จากการสอบถามพี่โน่ปลาค้อบอลเทียต้าแถวสวนผึ้งตัวขนาดเท่านี้ก็มีลายแล้ว แต่เจ้าพวกนี้กลับยังไม่มีลายเลย
ตัวที่สองเป็นปลาค้อสีส้มอ่อนๆ ลายสีเขียวๆ ที่พบมากทางแถบต้นน้ำแควน้อย และพบเลยลงไปถึงทางตะวันตกสุดๆ ของจังหวัดราชบุรีด้วย
ปลาค้อชนิดนี่เป็นปลาเฉพาะถิ่นที่พบชุกชุมในแหล่งอาศัยที่ชอบอยู่
ซึ่งผมพบบ่อยจนไม่ตื่นเต้นแล้ว
สองตัวนี้รวมกันก็ยังไม่เจ๋งเท่าตัวสุดท้ายที่พี่หมีตะโกนเรียกให้ผมมาดูด้วยเสียงที่ตื่นเต้นเอามาก
นณณณณ์ มาดูนี่เร็วววววววว
ลายทั้งตัวเลยยยยยยยย
( เพื่อให้ได้อัถรสกรุณาอ่านเสียงดังๆ ครับ)
ปลาค้อตัวนี้อย่างที่พี่หมีบอกไปแล้ว ลายทั้งตัวเลยครับ
พื้นลำตัวเป็นสีเนื้ออ่อนๆ แล้วก็มีเส้นสี้น้ำตาลพาดไปมา
บางตัวลายมากบางตัวลายน้อย ดูแล้วเหมือนเสือโคร่งอยู่เหมือนกัน
(เข้าป่าห้ามเอ่ยถึงนะครับ พี่เค้าบอกให้เรียกว่าแมว)
ปลาค้อชนิดนี้เป็นปลาแปลกที่เราสองคนไม่เคยเห็น
(ผมแอบหวังเล็กๆ ว่าอาจจะเป็นชนิดใหม่ของโลกที่พวกเราค้นพบ)
จากที่เราสังเกตดู ปลาชนิดนี้จะอาศัยอยู่ตามจุดที่น้ำไหลไม่แรงนัก
ลูกปลาขนาดเล็กจะอยู่ริมฝั่งน้ำตื่นๆ คุ้ยหานู้นหานี้กินไปเรื่อยๆ
ลักษณะการกินอยู่หรือแม้ แต่ลวดลายของปลาชนิดนี้เหมือนพวกปลาค้อสกุล
Acantocobitis
ที่พบมากมายในห้วยแถวสังขละบุรี แต่กลับไม่พบในลำธารแห่งนี้เลย
ลักษณะแบบนี้ตามตำราฝรั่งเรียกว่า Parallel Evolution
ให้แปลเป็นไทยตามภาษาผมก็ประมาณว่า
การวิวัฒนาการคู่ขนาน
(ถ้ามีศัพท์เทคนิคภาษาไทยสำหรับคำนี้ช่วยแนะนำผมด้วยครับ)
คือเป็นการวิวัฒนาการของสัตว์ต่างชนิดกันซึ่งอยู่กันคนละที่ แต่ในที่สุดก็วิวัฒนาการมาจบอยู่ในจุดหนึ่งของธรรมชาติที่ตัวเองอยู่สบายเป็นการส่วนตัว
(Ecological niche)
เดียวกัน สัตว์ลักษณะนี้ซึ่งจะหากินคล้ายๆ กันอยู่ในแหล่งคล้ายๆ กัน
หน้าตาก็จะเหมือนๆ กัน และมีพฤติกรรมเหมือนกันเอามากๆ
ให้ยกตัวอย่างที่เห็นง่ายกว่านี้ก็ลองนึกภาพพวกปลาเต็ทตร้าต่างๆ ของลุ่มแม่น้ำอเมซอน
อย่างนีออน คาดินอล หรือ บลูคิงส์ กับพวกปลาซิว
ซึ่งเป็นปลาฝูงขนาดเล็กว่ายกลางน้ำที่พบในแถบเอเซีย
ปลาทั้งสองกลุ่มถึงแม้จะวิวัฒนาการห่างกันไกลอักโข
แต่ก็หน้าตาคล้ายๆ กันอย่างมาก
อ้าว
โม้เพลินเกือบลืมกินข้าวแหน่ะผม พรรคพวกกินกันไปเกือบหมดจานแล้ว
ผมรีบโกยข้าวพร้อมกระเพราหมูรสจัดซึ่งเตรียมมาจากสังขละฯใส่จานข้าวแล้วก็ไปนั่งกินอยู่ริมน้ำดูปลาใหญ่น้อยว่ายไปมา
กระเพราหมูเผ็ดเอามากๆ จนผมต้องไปหาไข่เค็มกับน้ำเปล่าขวดใหญ่มาช่วยกลบ
หลังอาหารเที่ยง
ขณะของเราออกเดินทาง
เส้นทางในช่วงนี้ยังเป็นป่าไผ่ทึบๆ
มีลำห้วยขนาดเล็กที่ใช้ไม้ซุงเป็นสะพานเป็นช่วงๆ
ถัดจากนั้นเราก็เข้าเขตภูเขาเทวดาตำน้ำพริกที่แสนจะสูงชัน
ทางช่วงขึ้นเขาเป็นทางแคบๆ ที่บางช่วงขุดลงไปในภูเขา
รถบางคันในคณะถึงขนาดต้องพับกระจกข้างถึงจะผ่านไปได้
ผมไม่ได้กลัวอะไรหรอก กลัวรถสวนอย่างเดียวแหละ แหะ แหะ
ณ
จุดยอดเขาซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านทิไล่ป้าเราวัดความสูงได้ 710
เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
บ่ายคล้อย
ถ้าผมเป็นลูกหมาตอนนี้คงหูชัน และสั่นหางดุ๊กดิ๊กๆ อย่างเก็บอารมณ์ไม่อยู่
พี่เคะบอกว่าออกจากหมู่บ้านทิไล่ป้าเราก็จะเห็นลำน้ำกษัตริย์เป็นครั้งแรกแล้ว
รถโฟล์วีลล์
คันเก่งพาเรามุ่งไปข้างหน้าจนในที่สุดเราก็มาถึงลำน้ำกษัตริย์
ผมนั้นตื่นเต้นอยากรู้มากๆ ว่าลำน้ำกษัตริย์ตัวจริงนั้นหน้าตาเป็นยังไง เพราะในหนังเรื่องสาปเสือที่ลำน้ำกษัตริย์นั้นผมได้ยินมาว่าไม่ได้ถ่ายที่ลำน้ำกษัตริย์ตัวจริง
(หนังเรื่องนี้ตอนแรกว่าจะดูย้อมใจก่อนมาดูของจริง ดูไปได้ 1 แผ่น
พอต้องต่อแผ่น 2 ผมก็เปลี่ยนใจไม่ดู เพราะกลัวจะไม่กล้ามาซ่ะก่อน)
ลำน้ำกษัตริย์ไม่ได้ต่างไปจากที่ผมคิดมากนัก
ความกว้างในช่วงนี้คงจะสัก 10-15 เมตร
เป็นสายน้ำที่มีพื้นเป็นกรวดก้อนใหญ่ และในหน้าแล้งอย่างนี้น้ำในจุดที่เราข้ามก็ไม่ได้ลึกอะไรมากมาย
เราเห็นยายแก่ๆ คนหนึ่งยืนตกปลาอยู่ เราเห็นปลาความยาวประมาณ 30
เซนติเมตรว่ายอยู่ในวังน้ำหลายตัว แต่เราก็ไม่ได้แวะที่จุดนี้ เพราะกลัวว่าจะมืดซ่ะก่อนถึงจุดตั้งแคมป์
ผมนั่นต้องขอสารภาพว่ายังไม่ทราบด้วยซ้ำว่าเต็นท์ของตัวเองหน้าตาเป็นยังไง
และกางอย่างไร ถ้าต้องไปมะงุ่มมะงาหร่ากางในความมืดกลางป่าคงไม่สนุกเป็นแน่
หลังจากที่คณะของเราข้ามลำน้ำกษัตริย์ครั้งแรกแล้วถนนก็ตัดเข้าสู่ป่าใหญ่อีกครั้ง
ทางในช่วงนี้ก็บีบหัวใจอีกเช่นเคย เพราะบางช่วงเป็นถนนที่ขุดลงไปภูเขา ทำให้ทั้งสองฝากเป็นกำแพงดินที่แคบเอามากๆ
อีกอึดใจใหญ่เราก็ถึงลำน้ำกษัตริย์อีกครั้งหนึ่ง
ที่จุดนี้มีน้ำตกเตี้ยๆ แต่สวยงามอยู่ทางด้านซ้ายมือ
แต่เนื่องจากเรากำลังจะรีบไปให้ถึงจุดหมายจึงไม่ได้แวะชม
ผมนั่นได้ แต่นั่งหูลู่หางตกมองตาละห้อย (เสียดายมากๆ )
ระยะทางขณะนี้ประมาณ 49 กิโลเมตรจากปากทาง ถ้าเป็นถนนดำ
(ชื่อที่ชาวบ้านแถวนี้เรียกถนนลาดยางมะตอย)
เราคงขับไม่ถึงครึ่งชั่วโมง แต่วันนี้เราใช้เวลาตั้ง แต่เช้ายันเย็น
เย็นย่ำ
ในที่สุดเราก็มาถึงหน่วยย่อยลังกา
หลังจากลงไปพูดคุยกับเจ้าหน้าประจำหน่วยแล้ว
เจ้าหน้าที่ก็นำเราไปยังบริเวณที่จัดไว้ให้ตั้งแคมป์ซึ่งอยู่ริมลำน้ำที่ใสไหลเย็น
ผมนั่นพอล้อหยุดหมุน กระโดดลงจากรถได้ก็ไม่ต้องพูดพล่ามทำเพลง
ความอยากนั้นอัดอั้นมาตั้ง แต่เห็นสายน้ำครั้งแรกแล้ว
คว้าอุปกรณ์คู่ใจได้ก็เดินดุ่ยๆ ไปที่ท่าน้ำ เพื่อทักทายลำน้ำกษัตริย์อย่างเป็นทางการทันที
(อ้าว ไหนว่าจะรีบกางเต็นท์ไง?)
หู้ยยยยยยยยเย็นมากเลยพี่หมี
การทักทายกับสายน้ำของผม คือการวักมาล้างหน้านั่นเอง นั่งลุ้นในรถมาทั้งวันจนหน้ามัน
ล้างหน้ากับน้ำเย็นๆ สะอาดๆ แล้วเช็ดด้วยแขนเสื้อก็มันส์ดีเหมือนกัน
ปลาๆ ๆ ๆ ๆ ปลาซิวใบไผ่ว่ายกันเต็มไปหมด แล้วก็พวกปลากะพุง
ปลาเกล็ดตัวแบนๆ สีเงินๆ
ที่น้ำนิ่งๆ หน่อยริมตลิ่งปลาค้อลายเสือแบบที่เจอที่ลำห้วยซ่องกะโต่ะทะ
(ชื่อนี้ถ้าพี่หมีไม่จดมาผมไม่มีสิทธิ์จำได้เลยครับ)
ที่ก้อนหินกลางน้ำเฟิร์นก้านดำกอสวยขึ้นเบียดอยู่กับต้นดอกไม้ดอกสีเหลืองๆ ดอกเล็กๆ ที่ผมเคยเห็นต้นขึ้นอยู่ริมน้ำที่น้ำตกแถวสังขละฯ แต่ไม่เคยเห็นดอกเลยไม่เคยรู้สักทีว่าเป็นต้นอะไร
จากการสังเกตของผม
ต้นไม้ชนิดนี้จะขึ้นอยู่ตามขอบหินริมน้ำโดยในหน้าน้ำหลากหินเหล่านี้จะถูกน้ำท้วม
ต้นไม้ก็จะลดรูปเหลือ แต่เพียงเง้า
เมื่อถึงหน้าแล้งน้ำเริ่มลดจึงจะแทงช่อออกมาอีกครั้ง
ผมสงสัยมานาน แล้วว่าเป็นต้นอะไรกันแน่
วันนี้ถ้าได้เห็นดอกคงพอจะได้แนวทางบ้าง
ผมถกขากางเกงเดินลุยน้ำที่แสนเย็นไปที่หินก้อนกลางน้ำ
พี่หมี
นี่มันดอกกล้วยไม้นี่ครับ
ต้นไม้ปริศนาของผมมีลักษณะดอกที่บ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่าต้องเป็นกล้วยไม้ชนิดหนึ่งแน่ๆ
กล้วยไม้ขึ้นริมน้ำรากจุ่มน้ำแบบนี้
ผมเคยได้ยินเด็กชายภวพลพูดถึงว่าในประเทศไทยมีอยู่แค่ 2 ชนิด
ชนิดแรก คือเอื้องพรุ (Thrixspermum amplexicaule)
ขึ้นอยู่ในป่าพรุทางภาคใต้ และอีกชนิดซึ่งมีชื่อวิทยาศาตร์ว่า
Epipactis flava พบกระจายพันธุ์อยู่ตามริมน้ำตกในจังหวัดตาก
ผมจัดการถ่ายรูปต้น และดอกกลับมาจนฟิล์มหมดม้วน
ซึ่งหลังจากเปรียบเทียบกับภาพแล้วต้นกล้วยไม้ชนิดนี้คงจะเป็น
Epipactis ชนิดหนึ่งแน่ๆ
แต่ลักษณะกลีบ และสีไม่เหมือนกับ E. flava
ซึ่งผมก็ได้ส่งรูปบางส่วนไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบแล้ว แต่ยังไม่ได้ผลกลับมา
น่าเสียดายที่ผมไม่ได้เก็บตัวอย่างมาด้วย เพราะไม่มีความรู้ในการเก็บตัวอย่างพืช
และเกรงใจเจ้าหน้าที่ป่าไม้ซึ่งย้ำนักย้ำหนาว่าขออย่าให้คณะของเราทำลายธรรมชาติเด็ดขาด
มัว แต่โม้เดี๋ยวก็มืดหรอก ผมกับพี่หมีกลับขึ้นไปบริเวณที่ตั้งแคมป์
ซึ่งตอนนี้เต็นท์ของคนอื่นตั้งเป็นรูปเป็นล่างหมดแล้ว
หน่วยครัวก็เริ่มทำอาหารกันแล้ว
สัมภาระของผม และพี่หมีกองอยู่ที่ชายป่าด้านหนึ่ง
ถุงเต็นท์สีฟ้าๆ ถูกจับยกเทของข้างในออกมา มีผ้าผื่นใหญ่อยู่ 2 ผืน,
เสาท่อนๆ แปลกๆ อีก 2 เสา, เชือก และสมอบกหลายอัน ผมค่อยๆ ประติดประตอ
ชิ้นส่วนเข้าด้วยกัน
หันไปอีกทีก็เห็นพี่หมียืนยิ้มอยู่ข้างเต็นท์ของตัวเอง
ของพี่เอาออกมาจากถุง
สะบัดพรึ่บเดียวก็ซุกหัวนอนได้แล้วนณณ์
พี่หมีคุยทับ แต่ก็ยอมมาช่วยผมสร้างที่ซุกหัวนอน แต่โดยดี
พอเอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิดแหะ
ใกล้มืด
ผมกับพี่หมีซึ่งบัดนี้จัดการกับที่ซุกหัวนอนเรียบร้อยแล้วออกสำรวจพันธุ์ปลาในลำน้ำกษัตริย์ด้วยความกระหายใคร่รู้
ถ้าทฤษฎีไม่ผิดพลาดปลาในลำน้ำแห่งนี้จะต้องแตกต่างจากปลาในลำน้ำสายอื่นๆ ในแถบนี้ เพราะลำน้ำกษัตริย์ไหลไปลงในเขตประเทศพม่า
ไม่ได้ไหลลงแม่กลองเหมือนสายอื่นๆ ปลาที่อาศัยอยู่ในลำน้ำแห่งนี้
น่าจะเป็นปลาที่กระจายพันธุ์มาจากเขตประเทศพม่า อาจจะมีปลาซิวใบไผ่
(Devario sp.)
เหมือนกัน แต่ก็เป็นคนละชนิดกัน
ซึ่งเมื่อเราจับซิวใบไผ่ตัวแรกของลำน้ำกษัตริย์ได้
เราก็ไม่ผิดหวัง เพราะลวดลายบนลำตัวของปลาซิวใบไผ่ที่นี่ไม่เหมือนกับพวกที่เราพบในเขตลุ่มน้ำแม่กลองจริงๆ
ปลาของที่นี้เส้นแถบสีแดงจะใหญ่ชัดเจน และในปลาตัวโตเต็มที่จะมีแค่
2-3 ขีดเท่านั้น
ซึ่งผมก็ไม่แปลกใจเลย เพราะเคยสำรวจพบปลาซิวใบไผ่หน้าตาแบบนี้ในเขตลุ่มน้ำเมยในจังหวัดตากซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของลุ่มแม่น้ำสาละวินเหมือนกับลำน้ำแห่งนี้
ปลาอีกตัวที่ ทำให้เราประทับใจมากๆ คือปลาค้อ
ซึ่งก็ให้บังเอิญเหลือเกินที่ตัวแรกที่เราสำรวจพบเป็นตัวใหญ่ที่สีสวยที่สุด
ปลาค้อชนิดนี้พื้นลำตัวสีเหลืองหม่นๆ และมีลายลูกกรงสีน้ำตาลเข้มบนลำตัวโดยลายเส้นจะถี่ขึ้นตรงส่วนท้อง และกลายเป็นจุดๆ เล็กๆ บริเวณหัว และเหงือก
จุดเด่นอีกจุด คือบริเวณหางซึ่งเป็นสีแดงสดแล้วประด้วยลายสีดำอย่างสวยงาม
เป็นกลุ่มของพวก
Schistura mahneri แหละนณณ์
แต่พี่ไม่แน่ใจว่าเป็นชนิดไหนกันแน่
ดูตัวมันเพรียวๆ กว่าแล้วก็จุดที่หัวนั่นถ้าจำไม่ผิด S.
mahneri กับ S. perculli
ไม่มีแน่ๆ ติดอยู่ที่ตัวของสาละวินอีกตัว
ถ้าหลุดตัวนี้โอกาสที่จะเป็นชนิดใหม่สูงมากๆ
พี่หมีให้ข้อมูลที่ ทำให้ผมตื่นเต้นเอามากๆ
นอกจากปลาค้อชนิดนี้แล้วเราก็ยังสำรวจพบปลาค้อตัวลายๆ แบบที่พบมากในแม่กลองตอนบนอีกชนิด
ปลาในกลุ่มปลาแค้ห้วย (Glyptothorax
triliniatus)
ปลาในกลุ่มนี้ถ้าเป็นทางภาคเหนือจะมีชื่อเรียกท่องถิ่นน่ารักว่าก๊องแก๊ง
และมีพวกกลุ่มปลาตะเพียนอย่าง ปลาจาด (Poropuntius sp.),
ปลาเวียน (Tor sp.),
ปลากะพุง (Neolissochilus
sp.), และ ปลาม่ำพันธุ์พม่า
(Scaphiodonichthys
burmanicus)
ปลาชนิดนี้เป็นปลาชนิดใหม่ที่ผมเพิ่งเคยเห็นครั้งแรก เราจับได้ปลาม่ำขนาดเล็กริมฝั่งในขณะที่เฝ้ามองปลาม่ำขนาดเกือบฝ่ามือแทะตะไคร่กินอยู่ตามขอนไม้ในจุดที่น้ำลึก
ดูแล้วปลากลุ่มนี้ในขณะที่ยังเล็กน่าจะพอมีประโยชน์ในตู้ไม้น้ำ เพื่อช่วยจำกัดตะไคร่ครับ,
นอกจากนั้นก็ยังมีกลุ่มกะทิง
(Mastacembelus
armatus) ซึ่งปลากะทิงชนิดนี้ก็เป็นชนิดที่พบในประเทศพม่า และลุ่มแม่น้ำสาละ- วินตามความคาดหมายของเรา
และก็มีปลาเลียหิน (Garra sp.)
หรือที่ชาวบ้านแถบนี้เรียกว่าอีมูดซึ่งมีแก้มสีชมพูเป็นลักษณะเฉพาะตัว
ไล่ชื่อปลามาก็เยอะ แต่จริงๆ แล้วเรามีความรู้สึกว่าน่าจะมีปลามากชนิดกว่านี้
โดยเฉพาะในกลุ่มปลาหนังปลาหน้าดิน
ซึ่งพบไม่มากสกุล,ชนิด และจำนวนเท่าที่ควร
เราสำรวจไม่พบปลาที่ควรจะมีชุกชุมอย่างปลาในกลุ่มปลาติดหิน
(Homaloptera
sp.)
หรือพวกปลาบู่น้ำตก (Rhinogobius sp.)
เลย
ทำให้เรานึกไปถึงคำพูดของพี่กระเหรี่ยงว่าปลาในลำน้ำแห่งนี้เคยลอยตายเกือบหมดลำน้ำมาแล้วเมื่อไม่กี่ปีก่อนเหตุ เพราะน้ำจากการทำเหมืองไหลลงมาปนเปื้อน
ถึงไม่อยากจะยอมรับ แต่ก็ยังมีการทำเหมืองกันอยู่อย่างออกหน้าออกตาในเขต
มรดกโลก
แห่งนี้
ผมได้ แต่หวังว่าเหตุการณ์เช่นนั้นคงไม่เกิดขึ้นอีก และลำน้ำกษัตริย์จะกลับมาอุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม
หัวค่ำ
วันนั้นพวกเรากินอาหารรอบกองไฟบนโต๊ะ และเก้าอี้สนามท่ามกลางเสียงขับกล่อมของแมลงหลากหลายชนิด
เสียงกบเขียดก็ร้องกันให้ระงมไปทั่วบริเวณริมลำธาร
เราคุยกันถึงเส้นทางที่ผ่านมาในวันนี้อย่างสนุกสนาน
แต่สำหรับผมแล้วยังไม่อะไรที่น่าทำมากกว่านั้น
อ๊อบ
แป๊ปปป กึ๊ด กึ๊ด เจี๊ยบ อ๊อฟ
เสียงกบเขียดใหญ่น้อยร้องกันในระงมไปหมดอย่างนี้
เป็นคุณๆ จะไม่อยากเห็นหน้าค่าตาทักทายกับเจ้าของเสียงเหรอครับ?
ผมสะกิดพี่หมีชวนแยกวงออกไปส่องสัตว์น้อยริมลำธารกันซึ่งจากบันทึกของพี่หมีในส่วนนี้เขียนไว้ได้กินใจมากครับ
พออาทิตย์ลับขอบฟ้าความหนาวเย็นก็เริ่มเข้ามาเยือน
เรารับประทานข้าวเย็นกันด้วยความรู้สึกสดชื่นกับความงามของลำน้ำกษัตริย์ยามค่ำ
คละเคล้ากับเสียงกบตัวน้อยๆ ที่ส่งเสียงร้องอยู่ตามก้อนหิน
อาหารเย็นมื้อนี้จึงพิเศษมากสำหรับผม
หลังจากรับประทานอาหารเรียบร้อย นณณ์ก็มาชวนผมว่าไปส่องกบกันเถอะ
ซึ่งเป็นคำชวนที่น่าสนใจมากสำหรับผม เพราะโดยปกติผมก็ชอบลักษณะนี้อยู่แล้ว
แต่เวลาไปกับกลุ่มอื่นๆ เขามักจะกล่าวหาว่าผมเป็นคนที่ทำอะไรแปลกๆ
บางคนอาจนึกในใจว่าบ้าหรือเปล่า พอเจอคนบ้าเหมือนๆ
กันมันก็สนุกสิครับ
เส้นทางการสำรวจนั้นเราก็ได้จำไว้คร่าวๆ ตั้ง แต่ตอนที่สำรวจพันธุ์ปลาช่วงเย็นแล้ว
ซึ่งก็น่าแปลกที่เพียงแค่ครั้งเดียวผมก็มักจะจำได้ว่าก้อนหินก้อนไหนอยู่ตรงไหน
ตรงจุดไหนโค้งตรงไหนที่น้ำตื้นพอจะข้ามได้
ตอไม้ล้มตอนี้ยื่นไปถึงจุดไหน ตรงไหนลื่นต้องระวัง
แต่กลับจำเส้นทางถนนในเมืองได้แย่มากๆ เรา 2
คนเดินเลาะลำห้วยลงไปเรื่อยๆ พร้อมกับไฟฉายอันเล็กๆ แบบติดหัว 1 อัน
เราพบกบมากหน้าหลายตาซึ่งส่วนใหญ่ก็ให้ความร่วมมือในการถ่ายรูปเป็นอย่างดี
สำหรับสัตว์ในกลุ่มนี้ต้องยอมรับว่าความรู้ยังน้อยมาก
เราเลยต้องถ่ายรูปกลับมาปรึกษาพี่น๊อตซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญสัตว์กึ่งบกกึ่งน้ำพวกนี้
นอกจากนั้นเรายังพบฝูงปลาอีมูด (Garra
sp.)
มาแอบนอนหลับอยู่ตามโขดหินในจุดที่น้ำไหลเอื่อยๆ ซึ่งปลาพวกนี้ในตอนกลางวันจะหากินในจุดที่น้ำไหลแรงเอามาก
ในจุดเดียวกันนี้เรายังพบลูกอ๊อดขนาดใหญ่มากชนิดหนึ่งด้วย
หลังจากที่กลับจากทริปสำรวจเล็กๆ ของเราแล้ว พี่แคะก็ชวนเราออกไปหาดูกบภูเขากัน
ซึ่งคราวนี้อาวุธของเรา คือสปอร์ตไลท์อันใหญ่กับตาที่ฝึกมาอย่างดีของคนที่อาศัยอยู่กับป่ามาตลอดชีวิต
เราเลือกเดินทวนน้ำขึ้นไปซึ่งทางเดินสวนขึ้นนี่ลำบากกว่าทางเดินลงที่เราเพิ่งไปกันมา
เพราะต้องลุยน้ำที่แสนจะเย็นไปถึงเข่า ต้องมีการไต่ไม้
ปีนหินกันพอสมควร
ผมนั่นทึ่งมากๆ กับสายตาของพี่เค้า เพราะเพียงแค่กวาดไฟไปมาก็สามารถเห็นตากบได้จากระยะกว่า
20 เมตร
ในขณะที่ผมเองนั้นขนาดพี่เค้าเอาไฟส่องให้ดูกบตัวใหญ่หลังเขียวๆ ที่หลบอยู่ในพงไม้ใกล้แทบจะโดนตัวกบผมก็ยังหาไม่เจอ
น่าเสียดายที่เราไม่พบกบภูเขาหรือเขียดแล่ว เลยแม้ แต่ตัวเดียว
มันไม่ออกทุกวันหรอกพวกนี้ บางคืนมันก็ออก
บางคืนมันก็ไม่ออก ต้องให้ฝนจะตกๆ ร้อนๆ ชื้นๆ โน้นแหละ
บางทีชาวบ้านจับกันไม่ถึงชั่วโมงก็เต็มกระสอบปุ๋ย บางทีก็แล้ว แต่ดวงด้วย พี่เคะบอกพวกเราในขณะที่พาเราเดินตัดป่าไผ่โปร่งๆ ที่หันไปทางไหนก็เหมือนกันไปหมดกลับไปที่แคมป์
ไม่ต้องกลัวหลงหรอก ในป่าผมไม่เคยหลง
หลับตาเดินก็ไม่หลง แต่ในเมืองนี่ฮู้ยยย...
วงสนทนารอบกองไฟในช่วงค่ำผมเลือกที่จะมานั่งเล่นอยู่กับพวกพี่แคะ,พี่ยุ และเจ้าหน้าที่อุทยาน
วงสนทนาตรงนี้ออกรสออกชาติ เพราะมีทั้ง กระเหรี่ยง มอญ และ ไทย
ร่วมวงเดียวกัน
ตอนแรกๆ เราก็คุยกันถึงเรื่องแถวนี้โดยเฉพาะถึงลำน้ำกษัตริย์ซึ่งจริงๆ แล้วชาวบ้านแถวนี้จะเรียกว่ากะสะ
กะสะเนี๊ย ทรยศเรา
คุณรู้รึเปล่า?
พี่เจ้าหน้าที่ป่าไม้พูดขึ้น เกิดในไทย แต่ไหลลงทะเลพม่า
ปลาในแม่น้ำเนี๊ยก็ไม่ค่อยจะเหมือนกับที่อื่นเค้า
ปลาหลายตัวที่มีอยู่ในแม่น้ำกะสะ ไม่มีในแม่น้ำอื่นแถวนี้
เริ่มดึกอากาศก็เริ่มหนาวน้ำสีอำพันถูกนำออกมาแจกจ่ายกันคนละกรึ๊บสองกรึ๊บ เพื่อแก้หนาว
ตอนนี้ต่างคนต่างงัดเอาโจ๊กเด็ดๆ ออกมาให้พรรคพวกได้เฮฮากัน
ทีเด็ดที่สุดสงสัยจะเป็นเรื่องการเถียงกันของเด็ก 2
คนว่าพริกกระเหรี่ยงหรือพริกมอญจะเผ็ดกว่ากัน
ซึ่งเรื่องนี้เล่ายาว และต้องตั้งใจฟัง แต่ตอนจบหักมุมแบบติดเลทห้ามเด็กต่ำกว่า
18 ฟัง ทุกคนหัวเราะกันจนหงายหลัง
(อันนี้ใครอยากฟังคงต้องเล่ากันเป็นการส่วนตัวครับ)
คนเกือบสิบคนที่บางคนเพิ่งเจอกันเมื่อเช้า
หลังจากร่วมแรงร่วมใจกันฝ่าฟันอุปสรรคในวันนี้มาเราก็คุยกันได้อย่างกับรู้จักกันมาหลายปี
เหมือนที่ใครบางคนว่าไว้ ผมมิได้ชมชอบรสชาติของสุรา
แต่ผมชมชอบบรรยากาศในการร่ำสุรา
คืนนั้นเส้นสีแดงของเทอร์โมมิเตอร์หยุดนิ่งอยู่ที่ตัวเลข
17 เซลเซียสอีกครั้ง (มันเสียรึเปล่าหว๊า?)
ผมใส่เสื้อไหมพรมตัวหนาทับด้วยเสื้อกั๊กวูลอีกตัวแล้วซุกเข้าไปในถุงนอนที่แสนหนานุ่มอีกชั้น
ค่อยๆ ปล่อยให้ความอบอุ่นจากร่างกายแผ่กระจายไปถึงใยสังเคราะห์ของถุงนอนจนในที่สุดความอบอุ่นก็ถึงจุดที่พอเหมาะ
ผมนอนฟังเสียงน้ำค้างหยดลงหลังคาเต็นท์ได้ไม่กี่หยด
ก็หลับไปด้วยความเหนื่อยอ่อน
การเดินทางยังอีกยาวไกล...
หมายเหตุ:
ปลาค้อตัวสีสวยหางแดงที่พบที่แม่กะสะนั้นหลังจากกลับบ้านมาเปรียบเทียบตัวอย่างแล้วคุณหมีค่อนข้างมั่นใจว่าเป็น
Schistura vinciguerrae
ส่วนเจ้าตัวลายเสือนั้นตอนนี้ก็ค่อนข้างมั่นใจ แล้วว่าเป็นชนิดใหม่ของโลก และกำลังทำการบรรยายลักษณะทางอนุกรมวิธานอยู่ครับ
ขอขอบคุณ
พี่แคะ, พี่อดีต
อบต. บ้านจะแก, และพลพรรคแงซายทุกท่าน,
พี่ๆ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ทุกท่านที่ช่วยพิทักษ์ป่าให้พวกเรา
more survey ...
|