: Home : Board : Articles : Expeditions : About us : Privacy Policy :

 


ใครๆ ก็ขู่เราถึงความกันดาลของเขาอ่างฤาไน เราเลยแวะเติมเสบียงข้างทาง ไก่ย่างหอมหวนอบอวลอยู่ในรถตั้ง แต่เช้า อา...Aroma-therapy


ป้ายจากถนนหลวงชี้นำเราสู่เส้นทางดินลูกรังผ่านหมู่บ้านน้อยใหญ่เถือกสวนไรนาจนพวกเราคิดกันว่าเป็นนโยบาย Agro-tourism ของรัฐบาล สำหรับเขาหัวแหว่งยูคาริบลูกนี้ เหนือคำบรรยายครับ (ภาพโดย อาทิตย์)


ระหว่าง(หลง)ทาง จุดไหนมีวัดชาวบ้านจะออกมาเรี่ยไรเงินบริจาคอยู่ริมถนน วันนี้วันเดียวเราได้ทำบุญเป็นสิบวัด เพราะเราหลงไปหลงมาหลายหมู่บ้าน


เด็กๆ ออกมาเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน ส่วนผมซึ่งอยู่ในความปรอดภัยหลังกระจกรถ แล่บลิ้นปริ้นตาหลอกเด็กอย่างสนุกสนาน กิ๊วๆ ยังไงก็ไม่เปียก เย้ๆ :P


ในที่สุดเราก็ถึงเขาอ่างฤาไน วันนี้ผีเสื้อเยอะมากจนน่ากลัว ตลอดเส้นทางหลายกิโล ผีเสือนับร้อยนับพันถูกรถชนตายเกลื่อนถนน ตัวผมเองนั่นพยายามขับช้าก็แล้ว หลบก็แล้ว แม้กระทั่งบีบแตรก็ลองแล้ว แต่ก็ยังชนผีเสื้อไปหลายสิบตัว


หาน้ำตกเขาอ่างฤาไนไม่เจอ แต่ดันมาหลงอยู่ใกล้ๆ กับทางเข้าน้ำตกเขาตะ-กรุบเราเลยลงมติไปน้ำตกแห่งนี้กันก่อน เหมือนที่จุดๆ ๆ แมนว่าไว้ ทางเข้าเป็นหลุมเป็นบ่อหลายแห่ง เราแวะลำธารริมทาง เพื่อสำรวจปลากัน


ต้นไม้ใบสวยที่ขึ้นอยู่บนหาดทรายเล็กๆ ริมลำธาร


ดอกของพืชตระกูลขิงข่าในสกุล Alpinia


ออกจากกรุงเทพฯตั้ง แต่หกโมงเช้า ฉะเชิงเทราก็ใกล้นิดเดียว แต่กว่าเราจะถึงน้ำตก(หยด)แห่งแรกก็เกือบเที่ยงแล้ว เราหยุดพักริมลำธารเล็กๆ เพื่อพักกินมื้อเที่ยงกันก่อน ไก่ย่าง ไก่ย่าง ไก่ย่าง 


แมลงปอเข็มสีดำที่พบเห็นได้บ่อยตลอดปี (Euphaea masoni) ตัวนี้เป็นตัวผู้


แมลงปอเข็มสีเหลือบม่วงตัวนี้มีขนาดเล็กกว่าตัวแรก พบเห็นได้ไม่ยากตลอดปีเช่นกัน (Aristocypha fenestrella)


ผีเสื้อสีอิฐธรรมดา (Cirrochroa tyche) ตัวนี้แหละครับที่มีมากมายถูกรถชนบาดเจ็บล้มตายเกลื่อนถนนน่าสงสารมากๆ เจ้าตัวนี้ฉลาดหน่อยมาอยู่ในป่าในดง (ภาพโดยคุณโทนี่)


สองตัวนี้กินน้ำอยู่บนก้อนหินอย่างเพลิดเพลิน ตัวหน้า คือผีเสื้อฟ้าขีดหกลายแถบ (Prosotas lutea) แตกต่างจากชนิดที่ใกล้เคียง คือผีเสื้อฟ้าขีดหกโคนปีกดำ (P. gracilis) ตรงสีโคนปีก ของ P. gracilis จะเป็นสีดำ ผีเสื้อกลุ่มนี้ภาษาไทยเรียกผีเสื้อฟ้า เพราะด้านในปีกจะเป็นสีฟ้าอมม่วงๆ ส่วนตัวหลัง คือ ผีเสื้อหางพริ้ว (Zeltus amasa) ผีเสื้อแสนเชื่องปีกสวยตัวโปรดที่พบเห็นได้บ่อย


ผีเสื้อหางติ่งปารีส (Papilio paris) ผีเสื้อสีสวยที่หาได้ไม่ยากนัก ญาติสนิทของมัน คือ ผีเสื้อหางติ่งสะพายเขียว (Papilio palinurus) เป็นสัตว์หายากที่ถือเป็นสัตว์คุ้มครองของไทย


แหะ แหะ พักนี้เริ่มหัดดูแมลงปอ และผีเสื้อ มาดูปลากันบ้างครับตัวแรกเลยปลารับแขกประจำน้ำตกเล็กๆ ทั่วประเทศไทย ปลาซิวใบไผ่พันธุ์เล็ก (Danio albolineatus) เหมือนกับสัตว์ที่มีการกระจายพันธุ์กว้างทั่วไป ปลาชนิดนี้มีลักษณะสีแตกต่างกันพอสมควรใน แต่ละแหล่ง สำหรับปลาแหล่งนี้สีส้มบริเวณครีบเข้มสวยดีครับ 


ปลาตะเพียนน้ำตก (Puntius binotatus) เป็นปลาที่มีการกระจายพันธุ์กว้างมากเช่นกัน ปลาที่แหล่งนี้เด่นตรงจุดบริเวณลำตัวที่ชัดเจนมากๆ


ปลาค้อเกาะช้าง (Schistura kohchangensis) ปลาที่มีการกระจายพันธุ์อยู่ในเขตลุ่มน้ำตะวันออก มาโผล่อยู่แถวนี้ก็แสดงว่า เขาอ่างฤาไนถือเป็นเขตสัตวภูมิศาสตร์น้ำจืดของลุ่มน้ำตะวันออก


Nemacheilus platiceps ถ้าดูไม่ละเอียดจะเหมือนปลาค้อเกาะช้างมาก แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าหางของปลาตัวนี้เป็นส้อมลึกกว่าปลายแหลมกว่า หนวดยาวกว่า และลำตัวดูผอมบางกว่า และที่สำคัญที่สุด คือไม่มีรอยแต้มสีแดงดำบริเวณส่วนต้นของครีบหลังเหมือนปลาค้อเกาะช้าง


ปูน้ำตกขนาดใหญ่ที่เราพบ


ในที่สุดก็หาทางไปน้ำตกเขาอ่างฤาไนเจอเมื่อตอนเย็นย่ำ เด็กพวกนี้เพิ่งกลับออกมาจากน้ำตก ดูสภาพ แต่ละคนซ่ะก่อน


ติดหล่มแหงกๆ ไปต่อไม่ได้ ต้องอาศัยพี่ๆ น้องๆ ใจดี และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ช่วยกันลากช่วยกันดึงกว่าจะหลุดออกมาได้ "จะไปต่ออีกรึเปล่าครับเนี๊ย?" "แหะๆ คงไม่แล้วหล่ะครับพี่ ไว้วันหลังผมจะมาแก้ตัวใหม่ดีกว่า"


Leave not thing but the footprint, take nothing but the photograph มิตรภาพต่างสายพันธุ์

 

 

 

“หมดมุขพี่” เจ้ากิ๊กตอบผมสั้นๆ แต่ได้ใจความเมื่อผมถามถึงบทความการไปสำรวจ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ทริปสำรวจล่าสุดของพวกเรา จริงๆ แล้วผมเองก็อยู่ในอาการ “หมดมุข” เหมือนกัน เลยโบ้ยไปให้เจ้ากิ๊กเขียน ต่างคนต่างหมดมุขถึงขนาดตกลงกันว่าต่างคนต่างเขียนกันขึ้นมาแล้วจะจับมายำรวมกันเป็น “มุข” แปลกๆ

หนึ่งอาทิตย์ผ่านไปมุขของเราก็ยังไม่มา ผมเริ่มทบทวนตัวเอง “หมดมุข” หรือ “หมดไฟ” กันแน่ ผมคิดได้สักพักก็ลืมคิดต่อ แต่ตกเย็นวันนั้นผมก็ได้คำตอบว่าผม “หมดมุข” แน่ๆ เพราะผมเพิ่งวางโทรศัพท์จากเจ้ากิ๊กชักชวนกันไปสำรวจน้ำตกแถวจังหวัดตาก ถ้าหมดไฟผมคงพร้อมใจกันนอนอยู่กับบ้านแล้ว ดังนั้นคำถามต่อไป คือ ผมจะหา “มุข” ได้จากที่ไหน

ผมเริ่มทบทวนความสามารถในการเรียนรู้ของตัวเอง และที่สำคัญที่สุดประเมินสถานการณ์ความคิดสร้างสรรค์ของผมซึ่งตอนนี้ต้องยอมรับว่าอยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐาน ในตอนนี้คงจะมี แต่ “แรงบันดาลใจ” เท่านั้นกระมังที่พอจะช่วยผมได้บ้าง ผมเริ่มนึกไปถึง “ความคิดสร้างสรรค์” ของคนอื่น ผมนึกไปถึงหนังสือเล่มเล็กๆ หน้าปกสีขาวดำเล่มหนึ่งที่เจ้ากิ๊กให้ผมยืมมา พร้อมกับสำทับว่าพี่นณณ์ต้องชอบแน่ๆ “มิตรภาพต่างต่างสายพันธุ์” ของ ม.ล. ปริญญากร วรวรรณ์ ผมอ่านหนังสือเล่มนั้นจบภายใน ๒ คืน นึกน้อยใจแทนผู้เขียนที่คงใช้เวลาแรมปีรวบรวมประสบการณ์มา เพื่อ “สร้างสรรค์” หนังสือดีๆ เล่มนี้ แต่ผมกลับใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนนอนอ่านตั้ง แต่ต้นจนจบ แต่พอนึกอีกที ผมคิดว่าจริงๆ แล้วหนังสือดีๆ ไม่ได้มีไว้อ่าน หนังสือดีๆ มีไว้ “ย่อย” มีไว้ให้คิดตาม มีไว้ให้ความรู้ที่จะติดตัวผู้อ่านไปชั่วชีวิต จากประสบการณ์ของคนๆ หนึ่ง สู่คนอีกมากมาย ความรู้ที่ทวีคูณอย่างไม่มีสิ้นสุด คุ้มเหลือเกินสำหรับชีวิตต้นไม้ที่ต้องเสียไปกับการเป็นกระดาษพิมพ์หนังสือเล่มนี้

A dog life ของ Peter Mayle เป็นหนังสืออีกเล่มที่ผมเลือกมาอ่าน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ไม่บ่อยครั้งนักที่ผมจะซื้อ “หนังสืออ่านเล่น” แต่หนังสือเล่มนี้สะดุดตาผมตั้ง แต่ชื่อเรื่องไปจนถึงภาพหน้าปก ผมเปิดอ่านอยู่สองสามย่อหน้าแล้วก็ตัดสินใจซื้ออย่างไม่ต้องลังเลมากนัก หนังสือเล่มนี้ อ่านสนุก ภาษาอังกฤษไม่ยาก แต่วิธีการเขียนต้องบอกว่าสวิงสวายมาก โดยเฉพาะรูปประโยคซึ่งบางครั้งอ่านทวนสามรอบแล้วก็ยังงงๆ ไว้ผมจะลองซื้อฉบับแปลภาษาไทยมาอ่านดูบ้าง ว่าอภรสในการอ่านจะต่างกันอย่างไรบ้าง หมาอะไรฟ่ะ เขียนเก่งฉะมัด คอยดูนะ จะจับให้เจ้าหมามิ่งที่บ้านเขียนมั๊ง

หลังจากเพิ่มเติมแรงบันดาลใจไปแล้วถึงสองเรื่องสองสไตล์ ผมยังพบตัวเองโทรไปถามเจ้ากิ๊กด้วยประโยคเดิม “ยังไม่ได้เขียนเลยพี่” คือคำตอบที่ผมได้รับ

ผมเชื่อเสมอว่าถ้าไม่ได้เริ่มก็ไม่มีวันได้จบ ถ้ามัว แต่เบื่อมุขแล้วไม่เขียนงานก็ไม่เกิด ซึ่งถ้าผมเขียนมาจนถึงบรรทัดนี้แล้วผมยังไม่ได้เข้าเรื่องที่จะเขียนสักทีก็แสดงว่าผมยังหมดมุขอยู่ เมื่อเป็นดังนั้นแล้ว ผมก็จะพยายามหามุขต่อไ

 

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน

เรื่อง/ภาพ นณณ์ ผาณิตวงศ์

อยู่มาวันหนึ่งจุดๆ ๆ แมนมาโพสรายงานฉบับสั้นๆ ฉบับนี้ไว้ที่เว็บบอร์ดของสยามเอ็นสิส

“วันนี้กะไปเที่ยวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งชาติเขาอ่างฤาไนคับตอนแรกเห็นอยู่แค่ฉะเชิงเทรานี่เองเลยมิได้รีบร้อนอะไรนักปรากฏว่าไกลพอสมควรแถมกันดารอีก(หาข้าวกินไม่ได้)เป็นป่าค่อนค่างสมบูรณ์ และไม่ค่อยมีคนรู้จัก(ในอสท.เดือนมีนาลงว่าเป็นน้องๆ ของทุ่งใหญ่เนรศวรเลยล่ะ)มีน้ำตก 2 ที่ คือน้ำตกเขาอ่างฤาไนกับอีกอันจำชื่อไม่ได้แล้วปรากฏว่าไปหลงอยู่ อ.ท่าตะเกียบตั้งนานไปเจอป้ายทางเข้าน้ำตก(อันที่จำชื่อไม่ได้อ่ะ)กับตัวเขตรักษาฯหาน้ำตกเขาอ่างฤาไนไม่เจอเลยตัดสินใจไปน้ำตกก่อน

หาตั้งนานเจอหมู่บ้านเล็กแห่งเดียวถามเขาไปเรื่อยจนเจอทางเข้าน้ำตกแล้ว(ไม่มีรถซักคัน)ก็ให้ท่านพ่อขับรถขึ้นไปปรากฏว่าทางเป็นดินล้วนๆ แคบมีหลุมมีบ่อมากมายแถมชันอีก ทำให้ city car(honda civic) เคลื่อนที่ไปด้วยความลำบาก(เหมาะกับ4WDมากกว่า)ประจวบเหมาะกับไฟสัญญาณน้ำมันหมดเตือนจึงต้องจำใจกลับลงมาเจอกับธารน้ำเล็กๆ แห่งนึงน้ำใสมากน้ำลึกท่วมตาตุ่มนิดนึงมีปลาค้อ,ปลาซิวอะไรไม่รู้ และก็ตะเพียนตัวเล็กๆ และจิ้งเหลน 1 ตัวในรัศมี 1 เมตรจากแผ่นหินให้รถข้ามเซ็งเลยน่าไปครับ เพราะไม่มีคนเลยข้างบนน้ำตกคิดว่าจะใสสะอาดมาก เพราะไม่มี เพื่อนร่วมทางแม้ แต่คันเดียวแถมทางขึ้นยังเละสุดๆ จนท.ป่าไม้บอกว่าตอนนี้น้ำกำลังแห้งด้วยเสียดายมากๆ เพราะไม่อยากเข็นรถลงจากทางลาดชันๆ เละๆ เลยต้องกลับรถออกมาระหว่างทางกลับตามถนนมีด่านมากพอสมควร เพราะเขาว่าแถวนั้นช้างป่าชุกชุมมีขี้ช้างเยอะมากจริงๆ แถมยังเจอขี้แมว(เสือ)อีก 2-3 กองด้วย(ริมถนน) และจนท.ยังบอกอีกว่าแถวๆ นี้ยังมีกระทิงเหลืออยู่คิดว่าจริง เพราะเงียบเหลือเกิน(บริเวณรอยต่อฉะเชิงเทรา-สระแก้ว)”

||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||

สิบปากว่าฤาจะเท่าตาเห็น เมื่อมีวันหยุดในช่วงเทศการสงกรานต์พวกเราทั้ง 5 ชีวิต (ผม, พี่หมี, พี่โหน่ง, พี่โทนี่ และ กิ๊ก) จึงนัดหมายจะไปสำรวจเขาอ่างฤาไนกันเสียที

เรานัดหมายพร้อมกันที่บ้านพี่โทนี่ตั้ง แต่ 6 โมงเช้า เมื่อโหลดสัมภาระขึ้นรถเรียบร้อย เจ้า Siamensis mobile I ก็พาเรามุ่งหน้าสู่จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีผมรับอาสาเป็นไม้หนึ่ง (ซึ่งภายหลังผมพบว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องเป็นอย่างมากของผม) เหมือนทุกครั้งที่มากันครบทีมแบบนี้ การสนทนาของเราล้วนแล้ว แต่เป็นเรื่องปลา และธรรมชาติ ประสบการณ์ และความรู้ต่างๆ ถูกนำออกมาแลกเปลี่ยนกันอย่างได้อรรถรส แต่อรรถรสทางการสนทนาก็มิอาจ ทำให้ท้องอิ่มได้ เมื่อพวกเราขับผ่านร้านไก่หมุนริมทางเป็นร้านที่ 5 พวกเราจึงจอดลงไปกักตุนเสบียงกันไว้ก่อน ไก่ย่าง 2 ตัวอ้วนๆ ส่งกลิ่นหอมหวนไปทั่วคันรถ “Aroma therapy การฝึกจิตบังคับใจ” ใครบางคนพูดขึ้น ท้องซึ่งปราศจากซึ่งข้าวเช้าของผมนั้นปั่นป่วนเอามากๆ มือขวาจับพวงมาลัย มือซ้ายล้วงถุงขนมปังถุงใหญ่ที่พี่โทนี่ซื้อมาจากปั๊มน้ำมันควานหาขนมปังสังขยาก้อนเล็กๆ ขึ้นมารองท้อง แล้วตาเจ้ากรรมก็ดันเหลือบไปเห็นป้ายทางชี้ไป “เขาอ่างฤาไน” มือก็เลี้ยวฉะวับเข้าไป ถนนเล็กๆ 2 ข้างทางเป็นไร่นา จริงๆ แล้วตามแผนเราต้องไปให้ถึง อำเภอสนาม-ชัยเขต ซ่ะก่อน แต่เมื่อป้ายชี้ผมก็เลยเลี้ยวมา ถนนลาดยางไปอีกไม่เท่าไหร่ก็กลายเป็นทางลูกรัง ที่มี แต่ไร่ นา ป่ายูคาริบตัส และ ทางแยก ไร้ซึ่งป้ายบอกทางใดๆ ทั้งสิ้น เราขับไปถามทางไปตลอด และเนื่องจากวันนี้เป็นวันสงกรานต์ หลายหมู่บ้านจึงมีการออกมาเรี่ยไรเงินทำบุญกันอยู่หน้าวัด เนื่องจากเราหลงนาน วันนี้ก็เลยได้ทำบุญไปหลายวัด หลายหมู่บ้านด้วยกัน

ชั่วโมงกว่าๆ ผ่านไปเรายังหลงอยู่ในทางลูกรัง “เส้นเดิม” ผมนึกแช่งตัวเองที่ดันไปเห็นป้าย และ นึก...ถึงผู้ติดป้ายชี้เข้ามาทางนี้เป็นยิ่งนักว่าคิดได้อย่างไรถึงชี้ ให้เลี้ยวเข้ามาแล้วทอดทิ้งกันเช่นนี้ เอาเป็นว่าในที่สุดเราก็หาถนนลาดยางเจออีกครั้ง ถนนมุ่งหน้าสู่เขาอ่างฤาไนวันนี้ มีรถวิ่งคึกคักพอสมควร เมื่อถึงสี่แยกที่ชี้ไป ที่ทำการฯ เราก็เลี้ยวตามไป ซึ่งถนนในช่วงนี้ เต็มไปด้วยผีเสื้อหลากสีต่างพันธุ์ ตอนแรกขับชนไปตัวสองตัวผมก็ถือเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ผมก็เริ่มรู้สึกแย่เอามากๆ ขับช้าก็แล้ว ขับหลบก็แล้ว ลองแม้กระทั่งบีบแตร (แบบว่าสิ้นคิด ไม่รู้จะทำยังไงแล้ว) แต่ผีเสื้อเจ้ากรรมก็ยังไม่หลบ เราสังเกตเห็นผีเสื้อตายเกลื่อนถนนไปหมด ซึ่งพฤติกรรมออกมาบินอยู่กลางถนนของฝูงผีเสื้อคราวนี้เราก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าจะมาบินทำไมให้เสี่ยงชีวิต และนอกจากผีเสื้อแล้วเรายังพบงูขนาดเล็กถูกรถทับอยู่อีกตัว สอบถามพี่น๊อตได้ความว่าเป็นงูปล้องฉนวนลาว (Lycodon laoensis) ซึ่งพี่น๊อตก็ให้ข้อมูลเพิ่มเติมมาอีกว่าที่ชื่อลาว นี่ไม่ใช่ เพราะเจอที่ประเทศลาวนะครับ แต่เป็น เพราะ Type specimen ส่วนใหญ่ได้มาจากเทือกเขาแดนลาว (ภาคเหนือของไทย) ซึ่งงูชนิดนี้จริงๆ แล้วพบกระจายพันธุ์ลงไปถึงภาคใต้ของไทย   

ขับไปได้สักพักเราก็พบตัวเองลอยเคว้งอีกครั้ง ป้ายน้ำตกเขาอ่างฤาไนจู่ๆ ก็หายไปเฉยๆ โชคดีที่เจอบ้านพักเจ้าหน้าที่ เราเลยแวะเข้าไปถามทาง ซึ่งจากข้อมูลที่ได้มา ตอนนี้เราหลงน้ำตกเขาอ่างฤาไนมาไกลมากแล้ว (จะว่าผมไม่ตั้งใจขับ หรือไม่ดูป้ายก็ไม่ได้นะ เพราะผมยืนยันว่าผมตั้งใจดู และสายตาอีก 4 คู่ก็ตั้งใจดู) แต่เราอยู่ใกล้น้ำตกเขาตะกรุบมากกว่า อย่ากระนั้นเลย ไปที่ใกล้ๆ ก่อนแล้วกัน “น้ำน้อยนะน้องหน้านี้” พี่เจ้าหน้าที่ย้ำ

แล้วเราก็หลงอีกครั้ง ป้ายน้ำตกเขาตะกรุบ มีอยู่ไม่กี่ป้ายแล้วก็หายไป เราเลี้ยวจากถนนลาดยางลงสู่ทางลูกรังอีกครั้ง ตามคำบอกทางของคุณยาย ถนนซึ่งมีทางแยกหลายแยกไม่มีป้ายใดๆ ทั้งสิ้น (ที่ผมจำได้) เราถามทางไปอีกหลายเลี้ยวมากๆ และทำบุญไปอีกหลายวัด ผ่านอ่างเก็บน้ำเล็กๆ ที่มีการเลี้ยงปลาในกระชัง เพื่อเสริมรายได้ (เราเห็นป้ายโครงการดังกล่าวอยู่ริมถนนแถวๆ นั้น) แวะเล่นน้ำแกล้งเด็กไปหลายบ้าน ผมนั้นหลอกเด็กเป็นที่สนุกสนาน เพราะ ปรอดภัยไร้กังวลอยู่หลังกระจกรถ สาดมาก็ไม่เปียก เย้ เย้ !

ในที่สุดก็ถึงด่านทางเขาน้ำตกเขาตะกรุบ ถึงตรงนี้ผมจำได้ว่าเจ้ากิ๊กเป็นคนขับ และผมก็จำไม่ได้ แล้วว่าเราเปลี่ยนกับขับเมื่อไหร่ ที่บ้านเจ้าหน้าที่ที่เราแวะถามทางรึเปล่าก็ไม่รู้ เอาเป็นว่าเจ้ากิ๊กรับงานหนักขับออฟโรดไปในรอบแรก ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ยากนักสำหรับสมรรถนะของ Siamensis mobile I เราจอดรถแวะตรงลำธารน้ำใสๆ ซึ่งปลาที่พบ คือปลาตะเพียนน้ำตกซึ่งมีจุดตามลำตัวชัดเอามากๆ นอกจากนั้นเรายังพบปลาค้อเกาะช้าง ชื่อก็บอกอยู่ แล้วว่าพบครั้งแรกที่เกาะช้าง จังหวัดตราด ซึ่งปลาชนิดนี้ผมถือเป็นปลาโหลประจำลุ่มน้ำตะวันออก การพบปลาชนิดนี้ที่นี้ ทำให้เราสามารถสรุปได้ว่าปลาในเขตนี้อยู่ในอิทธิพลของลุ่มน้ำตะวันออก

เรามาถึงที่จอดรถซึ่งต้องเดินต่อไปอีกไกลพอสมควร ( และต้องขึ้นเขาชันๆ ด้วย) ถึงจะถึงตัวน้ำตก เนื่องจากได้รับ Aromatherapy ไก่หมุนกันมาตั้ง แต่เช้าแล้ว พวกเราเลยตัดสินใจแวะพักริมลำธารเล็กๆ หลังจากเริ่มเดินไปได้ไม่เท่าไหร่ เพื่อจัดการกับสิ่งที่คาใจอยู่เสียก่อน 5 คนกับไก่หมุน 2 ตัว จริงๆ แล้วเราบ่นกันมาตลอดทางว่าไม่พอแน่ๆ รู้งี้ซื้อหมูหันมาด้วยดีกว่า แต่พอกินเข้าจริงๆ เราก็กินไม่หมด ซึ่งจริงๆ แล้วที่กินไม่หมดก็คงเป็น เพราะต่างคนต่าง “ห่วงเล่น” กันด้วย เพราะว่าในลำธารจุดที่เราพักนั้นเต็มไปด้วยฝูงปลาเล็กปลาน้อย ผีเสื้อ และแมลงปอมากมาย

เราตื่นเต้นกับปลาก้าง (Channa limbata) ปลาในตระกูลปลาช่อนขนาดเล็กที่มักพบอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำไหล ซึ่งปลาที่เราพบเป็นตัวผู้ขนาดประมาณ 6 นิ้ว (ซึ่งถือว่าใหญ่พอสมควรแล้วสำหรับปลาก้าง) ปลาตัวนี้อาศัยอยู่ในวังน้ำเล็กๆ ของลำธารแห่งนี้ สีสันของมันสวยเอามากๆ ทั้งขอบครีบหลัง และหางที่เป็นสีส้มสด และสีฟ้าสดใสตรงแพนหางที่ดูเหมือนพวกปลาหมอแคระในตระกูล Apistogramma เอามากๆ เนื่องจากในลำธารแห่งนี้เจ้าก้างถือว่ามันอยู่บนจุดสูงสุดของหวงโซ่อาหารแล้ว (top of food chain) มันเลยว่ายอย่างช้าๆ ลีลาเทห์เอามากๆ เห็นกันมาก็หลายครั้ง ผมมาประทับใจเจ้าปลาชนิดนี้ก็ครั้งนี้เอง

นอกจากปลาก้างแล้วในลำธารแห่งนี้ยังมีปลาค้อตัวใหญ่น้อยอีกหลายตัว ซึ่งตอนแรกเราคิดว่าทั้งหมดเป็นปลาค้อเกาะช้าง แต่เมื่อลองจับขึ้นมาดูในตู้เราจึงพบว่าตัวเล็กบางตัวเป็นปลาค้ออีกชนิดซึ่งมีขนาดเล็กกว่า (ตามบรรยายภาพ)  นอกจากนั้นก็มีปลาซิวใบไผ่ ปลาซิวสุมาตรา และ ปลาตะเพียนน้ำตก ซึ่งล้วนแล้ว แต่เป็นปลา “โหล” และ “น่าเบื่อ”สำหรับผม ทำให้ผมไม่ได้สนใจพวกเค้ามากนัก ซึ่งหลังจากที่อ่านหนังสือ “มิตรภาพต่างสายพันธุ์” แล้วผมรู้สึกเสียใจที่คิดเช่นนั้น เพราะเมื่อกลับมาย้อนดู ผมพบว่า “โหล” เป็นคำที่ตื้นเกินไปสำหรับที่จะทำความรู้จัก เพื่อนใหม่สักพันธุ์ เมื่อมานั่งนึกดูอีกที ที่จริงแล้วนอกจากภายนอกแล้ว ผมรู้จักพวกเค้าน้อยมาก ผมบอกได้ แต่ว่าปลาค้อสองชนิดต่างกันตรงหาง แต่ผมบอกไม่ได้ว่าทำไม ธรรมชาติถึงสร้างปลา 2 ชนิดที่มีลักษณะคล้ายกันมาก มาอยู่ในที่เดียวกัน ปลาทั้งสองต้องมีการหาอาหารหรือพฤติกรรมอะไรสักอย่างที่ต่างกัน เค้าถึงอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ต้องแก่งแย่งกัน แต่ยังไง หล่ะ?  ที่ไหนหล่ะ?  ทำไมหล่ะ?  ผมตอบไม่ได้แม่แต้คำถามเดียว แล้วผมยังมีหน้ามาคิดว่าพวกเค้า “หน้าเบื่อ” อีก 

นอกจากปลาในน้ำแล้ว ผมซึ่งสำนึกผิดแล้วก็ได้เริ่มทำความรู้จักกับ “สัตว์ชายน้ำ” มากขึ้น จากการบรรยายภาพว่าแมลงปอสีแดง ผีเสื้อสีสวย กบหน้าตาแปลกๆ ผมในวันนี้จะพยายามหาข้อมูลของพวกเค้ามาให้มากที่สุด สร้างมิตรภาพต่างสายพันธุ์ ซึ่งมากกว่าเพียงแค่รู้จักรูปลักษณ์ภายนอก ผมจะไม่ฉาบฉวยอีกต่อไป สวัสดีเจ้าผีเสื้อหางติ่งปารีส แมลงปอเข็มเหลือบม่วง ผมดีใจ และตื่นเต้นที่จะได้พบ และรู้จัก เพื่อนใหม่ๆ อีกมากมายต่อไป (ว่า แต่ว่าใครพอจะทราบบ้างครับ ว่าผมจะหาข้อมูลของกุ้ง และปูน้ำจืดได้ที่ไหน? ผมเบื่อกุ้งตัวแดง และปูตัวใหญ่เต็มทนแล้ว)

“น้ำตกสวยไม๊ครับ?” พวกเราซึ่งยังเล่นอยู่ที่ลำธาร สอบถามนักท่องเที่ยวที่เพิ่งเดินกลับลงมา “อู้ยยย ซ๊ววววยยย สวย” พี่ผู้หญิงบอกเรา ทำนองว่าประชดแน่ๆ “อย่าไปเลยน้องไกลก็ไกลเหนื่อยก็เหนื่อย น้ำไหลจ๊อกๆ น้อยกว่าน้ำตรงนี้อีกมั๊ง” พี่อีกคนบอกเรา ทำให้เราตัดสินใจเก็บข้าวของกลับไปที่รถ เพื่อไปหาน้ำตกเขาอ่างฤาไนกันต่อ เริ่มบ่ายคล้อยแล้ว มัว แต่เสียเวลาหลงไปเยอะเลย

||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||

เจ้ากิ๊กรับหน้าที่หลังพวงมาลัยอีกครั้ง หนังท้องตึงหนังตาก็เริ่มหย่อน ผู้โดยสารด้านหลังทั้งสามคนแอบงีบไปตั้ง แต่เริ่มออกจากน้ำตกได้ไม่เท่าไหร่ ผมมาตื่นอีกทีก็ตอนที่เราต้องจอดรถถามทางหาน้ำตกกันอีกรอบ และอีกหลายรอบ เราผ่านสี่แยกเส้นเดิมซ้ำไปซ้ำมาจนในที่สุดก็ค้นพบว่าป้ายทางไปน้ำตกเขาอ่างฤาไนมีอยู่ทั้ง 2 ฝากสี่แยก และชี้เข้าหากัน!

หลงจนเริ่มอารมณ์เสีย เราจอดถามทางที่ตลาดนัดเล็กๆ จนในที่สุดก็พบทางเข้าน้ำตกจนได้ 

เส้นทางช่วงแรกเป็นลูกรังแคบๆ ไม่เรียบนัก แต่ไม่เปียกแฉะรถของเราจึงผ่านไปได้อย่างไม่ยากเย็นนัก เราลำธารน้ำขุ่น ซึ่งผมสังเกตเห็นตะคัดขึงอยู่ริมน้ำ จึงบอกให้กิ๊กจอดรถแล้วลองไปยกดู เราพบปลากระสง ปลาในตระกูลปลาช่อนขนาดกลางตัวเขือง (สัก 12 นิ้ว) ติดจนจมน้ำตายอยู่ ไม่ได้ล้อเล่นนะครับ ปลาในกลุ่มปลาช่อนรวมไปถึงพวก ปลากัด และปลากระดี่ ซึ่งมีอวัยวะช่วยหายใจอากาศ (Labyrinth) ถ้าไม่ได้ขึ้นมาฮุบอากาศจะจมน้ำตายในเวลาไม่นานนัก

จากตรงนั้นเราพบด่านที่ต้องลงทะเบียน แล้วทางก็เริ่มแย่ขึ้น(หรือเรียกว่าแย่ลงหว่า?)เรื่อยๆ เป็นหลุมเป็นบ่อ และน้ำขังจนดินเหลวเป็นหล่ม ทำให้เรากลัวติดกันมาก แต่โฟล์วีลไดร์ฟก็พาเรารอดมาได้หลายต่อหลายครั้ง ในขณะที่คนอื่นกำลังลุ้นอยู่กับเส้นทาง ผมซึ่งได้ศึกษาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตมาพบว่าตามแอ่งน้ำพวกนี้จะมีเต่าชนิดหนึ่งมาอาศัยอยู่ ภาพเว็บที่ผมพบไม่ชัดนัก ผมเลยอยากเห็นว่าเป็นเต่าชนิดไหน เต่า เต่า เต่า แต่วันนี้รถเข้าไปเยอะ ป่านนี้เต่าคงกระเจิงไปหมดแล้ว ผมคิดในใจ แต่ก็ยังพยายามมองหาเต่าอยู่ดี

ถึงตรงนี้เราเริ่มพูดถึง “ใจ” กันอีกครั้ง ว่ากันตามจริง ตอนนั้นก็ 4 โมงเย็นแล้ว ถ้าเป็นไปตาม ที่พี่คนขับในรถออฟโรดสภาพมอมแมมที่สวนทางออกไปบอกเรา เรายังเหลืออีกอย่างน้อยครึ่งทาง ซึ่งแย่กว่าครึ่งแรก นั่นหมายถึงเวลาอีกอย่างน้อย 1 ชั่วโมงขาเข้า และต้องกลับออกมาอีก “ใครมีไฟฉายบ้าง?” พี่หมีถามขึ้น แต่ไม่มีใครตอบ “ในป่ามืดเร็วนา...”  “ไปเหอะหาแทบตายกว่าจะเจอ เจอแล้วจะมาใจไม่สู้ ไปไม่ถึงก็กระไรอยู่” ผมซึ่งจริงๆ ก็ปอดๆ อยู่เหมือนกันพูดขึ้น จริงๆ แล้วถ้าไม่รวม “ใจ” แล้วใช้ แต่เหตุผล เราควรจะกลับกันได้แล้ว เพราะไปถึงก็คงมืดแล้ว แถมรถก็ไม่ถึงต้องเดินต่ออีก ใบอนุญาตก็ไม่มี พวกเราต้องออกจากป่าก่อน 6 โมงเย็น ไฟฉายก็ไม่มี แล้วจะไปดันทุรังไปทำลิงอะไร แต่ปัญหาสำคัญก็ยังมีอยู่ ถนนในป่าไม่มีที่กลับรถแหะ...ข้ออ้างง่ายๆ ที่เราใช้ เพื่อลุยต่อไป

พรื้ดดดดดดด พรื้ดดดดดดด ล้อรถตะกุยโคลนกระจาย เสียงเครื่องยนต์ V6 ดังคำรามก้องป่า แต่พวกเรายังอยู่ที่เดิม พรื้ดดดดดดดด พรื้ดดดดดดด เรียบร้อย ติดแล้วครับท่านผู้ชม หลังจากดันทุรังมาได้หลายหล่ม ซึ่งเราใช้วิธีลุยรอยล้อเดิมมาตลอด คราวนี้กลับใช้ไม่ได้ผล ติดสนิทจริงๆ เอาละสิ วินส์จะดึงรถขึ้นก็ไม่มี เสียมจะขุดดินออกก็ไม่มี ขวานหรือเลื้อยจะเอามาตัดไม้งัดก็ไม่มี ถึงมีก็งัดไม่เป็นไม่รู้จะงัดตรงไหน เรา 5 ชีวิตหมดปัญญาจะดิ้นรน...ผมเริ่มนึก แล้วว่าคงต้องทิ้งรถไว้ตรงนี้แล้วเดินกลับไปขอความช่วยเหลือที่หน่วย โดยไม่มีไฟฉาย... (ผมสาบานกับตัวเองไว้ แล้วว่าต่อไปนี้จะพกไฟฉายติดตัวไปด้วยทุกครั้ง)

คนไทยไม่เคยไร้น้ำใจ ขณะที่กำลังสิ้นหวัง รถออฟโรด 2 คันซึ่งกลับออกมาจากน้ำตก ( และรถของเราติดหล่มขวางทางอยู่) ลงมาช่วยเหลือเราจนผมเกรงใจเอามากๆ ผมสรุปสถานการณ์ตามภาษาของผมได้ว่า เนื่องจากรอยล้ออันนี้ลึกมากประจวบกับที่สันตรงกลางค่อนข้างแข็ง และเราทะเล้อทะล้าขับลงไปตรงๆ ตอนนี้ช่วงหน้าของรถเราเลยค้างอยู่ตรงสันกลาง ในขณะที่ล้อล่องลอยอยู่ในน้ำโคลน หมดสิทธิ์ขยับไปไหนได้ด้วยประการทั้งปวง เราพยายามหาอะไรมายัดล้อ แต่ก็ไม่เป็นผล งัดก็ไม่มีไม้ วิธีแก้ คือต้องลากออก แต่เชือกที่เรามีไม่แข็งแรงพอ

รถ 3 คันติดอยู่กลางป่าโดยมีรถของพวกเราขวางทางอยู่จนในที่สุดรถของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็มาสมทบอีกเป็นคันที่ 4 พร้อมกับลวดสลิงซึ่งเป็นความหวังใหม่ของเรา แต่เจ้ากรรมดึงก็แล้วกระตุกก็แล้วเจ้า # I ไม่ขยับเลยแม้ แต่เซ็นต์เดียว

“คงต้องอ้อมไปดึงออกจากทางด้านหลัง” พี่เจ้าหน้าที่ป่าไม้สรุป หลังจากเดินสำรวจทางกันอยู่สักพัก เราก็จำใจต้องลงมือตัดต้นไม้ออกไปหลายต้น เพื่อจะทำทางให้รถวิ่งอ้อมรถของเราไปดึงรถเราจากทางด้านหลัง “พวกคุณมาคราวหน้า เอาต้นไม้มาปลูกคืนผมด้วยนะ” พี่เจ้าหน้าบอกเรา ผมซึ่งตอนนี้รู้สึกจ๊อยเอามากๆ ก้มหน้าก้มตาขุดสันดินริมถนนให้เป็นทางลาด เพื่ออำนวยความสะดวกกับรถที่กำลังอ้อมมา

พรื้ดดดดดดดดด ในที่สุดรถเราก็ออกมาจากหล่มเจ้ากรรมได้สำเร็จ สร้างความปลื้มปิติ และโล่งใจให้กับพวกเราเป็นยิ่งนัก “แล้วนี่จะไปต่อกันรึเปล่าเนี๊ย?” พี่เจ้าหน้าที่ถามผม “แหะ แหะ คงไม่แล้วหล่ะครับ ไว้คราวหน้าผมค่อยกลับมาพยายามใหม่” ผมสาบานว่าผมต้องกลับมาที่นี้แน่ๆ กับเจ้า # II และ.....ไฟฉาย! “พี่ผมมาด้วยนะ” เจ้ากิ๊กซึ่งยังคับแค้นใจอยู่บอกผม

โล่งใจไปเปราะ แต่ก็ยังมีอีกปัญหาให้สะสาง จะกลับรถตรงไหนละทีนี้ เป็นความด้อยประสบการณ์อีกครั้งที่เราทะลึ่งไปกลับรถตรงจุดที่ดินนิ่มจนติดหล่มต้องให้พี่เค้าลำบากดึงอีกครั้ง "พี่นณณ์ขับไม๊ครับ?" กิ๊กถามผม "ไม่เอาอ่ะ" ผมตอบแบบไม่ต้องคิด ในที่สุดเราก็กลับออกมาได้อย่างทุรักทุเล และหมดสภาพอย่างที่สุด...

ผมกลับมาอีกแน่ น้ำตกเขาอ่างฤาไน

||||||||||||||||||||||||||||

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน

โดย เด็กชายโอม และจุดๆ ๆ แมน

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนย มีเนื้อที่ประมาณ 1,030 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 643,750ไร่ เป็นพื้นที่รอยต่อครอบคลุม5จังหวัดทางภาคตะวันออก ได้เเก่

-อ.ท่าตะเกียบ อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา
-อ.วังน้ำเย็น กิ่งอ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว
-อ.แก่นหางแมว จ.จันทบุรี
-กิ่งอ.เขาชะเมา จ.ระยอง
-อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี

มีอณาเขตติดต่อไปจนถึงเขมรเมื่อก่อนมีพ.ท.ทั้งหมดประมาณ5ล้านไร่เศษโดยโดนสัมปทานป่าไม้ไป ทำให้ปัจจุบันนี้คงเหลือพื้นที่ประมาณ6แสนไร่ที่ได้พื้นี่เหลือบางส่วน เพราะทางทหารได้เห็นความสำคัญของป่าผืนนี้ และมีชายแดนติดกับประเทศ เพื่อนบ้านด้วย เพราะฉะนั้นจึงเข้ามา ทำให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แต่เนื่องด้วยติดสัญญาสัมปทานป่าไม้ ทำให้สามารถรักษาพื้นที่ป่าไว้ได้เพียงเท่านี้

ภายใต้ความคุ้มครองของพระราชบัญญัติสงวนเเละคุ้มครองสัตว์ป่า พศ. 2535 ทําให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอ่างฤาไนซึ่งถูกจัดตั้งขึ้มาตั้งเเต่ปี พศ.2520 ยังคงมีสภาพป่าสมบูรณ์หลงเหลืออยู่มาจนทุกวันนี้โดยเฉพาะพื้นที่ 67,652.5 ไร่อันเป็นพื้นที่เเรกที่ได้รับการประกาศ โดยพื้นที่รอบๆ มีการพนวกขึ้นมาใหม่อีกเมื่อปี พศ. 2535 ทําให้ป่าเเห่งนี้มีอณาเขตกว้างขวางอีกเกือบ10 เท่าตัว ถึง 643,750 อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ครอบคลุมพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มตํ่า มีความสูงจากระดับนํ้าทะเลตํ่าสุดเพียง 30เมตร เเละสูงจากระดับนํ้าทะเลขึ้นไปถึง 802  เม


ทิศเหนือของป่าเป็นผืนป่าที่ราบขนาดใหญ่ โดยมีภูเขาเพียงลูกเดียว คือเขาตะกรุบ ส่วนพื้นที่ทางด้านตอนใต้ซึ่งมีอณาเขตติดต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว เเละอุทยานเเห่งชาติเขาคิชกูฏนั้นเป็นภูเขาสูงอันเป็นส่วนหนึ่งของเเวเทือกเขาบรรทัดเเละเทือกเขาจันทบุรี

 

ขอขอบคุณเป็นอย่างสูง

พี่ๆ น้องๆ ทุกท่านที่ช่วยพวกเราออกมาจากหล่ม

ขอโวยเป็นอย่างยิ่ง

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถ้าเป็นไปได้ช่วยทำป้ายให้มันมีมาตรฐานกว่านี้หน่อยครับ

 

more survey ...

 

www.siamensis.org - Thailand Fish & Nature Explorer
An independent non-profit group
Established 2001
 All Rights Reserved 2001-2010 ©siamensis.org