: Home : Board : Articles : Expeditions : About us : Privacy Policy :

 

ขับมาตั้งไกลในที่สุดเขาสระบาปก็มาอยู่ตรงหน้าแล้ว

Type locality ของเจ้าปลากัดหัวโม่ง (Betta prima) ตอนนี้มีสถานที่ให้นั่งเล่นแล้วครับ ไม่รู้จะดีใจหรือเสียใจดี

แววมยุรา (Torenia fournieiri) ไม้ล้มลุกขนาดเล็ก ดอกสีม้วงแต้มเหลือง ผมชอบคุณเธอมากครับ

หมายที่สองของวัน แต่ก่อนมีกอหญ้าขึ้นรกอยู่บริเวณด้านหลังของภาพ แต่คราวนี้กลับเลียนเตียนโล่ง (ลองดูเปรียบเทียบภาพกับทริปจันทบุรีคราวที่แล้วดูครับ, ภาพที่ 11)

"อมไอ่ไอ้เอ็มอากเอยอั๊บ" ปลากัดหัวโม่ง (Betta prima)

อีกตัว โปรดสังเกตขยะ

ตัวเมียครับ หัวจะแหลมกว่าตัวผู้อย่างเห็นได้ชัด

ภาพคู่บ้าง ภาพนี้แสดงให้เห็นถึงสภาพที่อยู่ในมุมกว้างครับ

อีกคู่ เป็นเรื่องน่าแปลก เจ้าปลากัดหัวโม่งนี่พอเจอผมก็จะหันหน้าสู้ตลอด ถ้าหันข้างให้ก็ คือจะไปหล่ะเพ่

ตัวผู้ของคุณกุ๋ยครับ ปล่อยลงไปผมก็ตามถ่ายเลย แหะ แหะ

ขยะใต้น้ำมีทุกประเภทภาพนี้เป็นจาน แหะ แหะ ไม่รู้จะถ่ายมาทำไม

เบื้องหลังการถ่ายทำ กระบวนท่า    พยูนเกยตื้น (กุ๋ยถ่าย)

ขนาดหมายังสนใจ (กุ๋ยถ่าย)

เห็นข้างล่างน้ำตาลๆ รกๆ แต่ข้างบนใบเขียวชะอุ่มเชียวครับ

เจ้าหน้าที่ต้องคอยตามเก็บขยะที่นักท่องเที่ยวมักง่ายทิ้งเอาไว้มากมาย

เห็ดหิ้งสีสวย เย้ เย้ เดี๋ยวเหอะ จะ ID ให้ได้เลยว่าเป็นชนิดไหน


กล้วยไม้พวกนี้เจ้าหน้าที่เก็บมาจากไม้ล้มในป่า เอามาแปะไว้ที่ต้นไม้ริมทางเดินให้ประชาชนได้ดูกัน แต่ก็ไม่วายโดนมือบอนเด็ดเรื่อย ต้นนี้ คือเอื้องมัจฉา (Dendrobium palpebrae) ซึ่งมีการกระจายพันธุ์เกือบทั่วประเทศตั้ง แต่เหนือจรดใต้


ก้อนหินใส่เสื้อที่น้ำตกพลิ้ว


กิ่งก่าร่อนในสกุล Draco ต้องแถกปีกดูถึงจะรู้แน่ว่าชนิดไหนครับ


ปลาพลวง (Neolissuchilus soroides) ที่เราพบในลำธารเล็กๆ ถูกยางรัดอยู่บริเวณหลังเหงือก


ในที่สุดก็เดินถึงน้ำตกพลิ้วจนได้


มุมแปลกตา


ปลาพลวงขนาดใหญ่ชัดๆ สักที


ปลาจาดนอร์แมน (Poropuntius normani) ที่กำลังจะหายไปจากน้ำตกพลิ้วตอนบน ที่นี้เป็น Type locality ของเค้าหล่ะครับ


ปลาค้อเกาะช้าง (Schistura kohchangensis) ขนาดใหญ่ ปลาโหลประจำลุ่มน้ำตะวันออกตัวนี้นอนอยู่บนโขดหินใต้น้ำตก


เจ้าหน้าที่คอยระแวดระวังอยู่บนหน้าผาใกล้น้ำตก


ปลาพลวงขนาดสักฟุตนึงตัวนี้ก็โดนยางคล้องคอ คงจะโดนมานานแล้วตั้ง แต่ตัวเล็กๆ เท่ากับตัวในภาพแรก


ปลาพลวง ปลาพลวง และ ปลาพลวง


น้ำตกพลิ้วยังไม่ยอมให้เรากลับง่ายๆ นี่ คือจิ้งเหลนต้นไม้ลายแถบ (Lipinia vittigera) ที่มีการกระจายพันธุ์ทั่วแผ่นดินของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ แต่พบได้ไม่บ่อยนัก


และในที่สุดผมก็พบลั้งด้วยตัวเอง (Physignathus cocincinus)


อีกตัวที่คุณกุ๋ยเจออยู่ใกล้ๆ กับทางเดิน โปรดสังเกตขนาดลั้งก็มีความเสี่ยงกับยางเหมือนกัน


อีกตัวที่มาหลบเกาะอยู่บนหินหลังพุ่มไม้ นักท่องเที่ยวอยู่ข้างนอกเต็มไปหมด แต่ไม่มีใครเห็น พอดีผมไปจากข้างหลังเลยเจ๊อะกันพอดี


เฟิร์นข้าหลวงต้องแสงแดดยามเที่ยงที่ส่องรอดเข้ามาจากพุ่มไม้


นกฮูก หรือ นกเค้ากู่ (Otus lempiji) นกประจำถิ่นที่พบได้บ่อยของไทย ตัวนี้พบถูกขังกรงอยู่ในร้านอาหารแถวลานจอดรถที่น้ำตกพลิ้ว


ทุ่งนาก่อนถึงอำเภอมะขาม โปรดสังเกตคุณลุงจับปลา กะคุณป้านั่งรอ


ควายเผือกในภูมิประเทศที่สวยมาก ตอนแรกมีนกเอี้ยงเกาะหลังด้วย แต่ถ่ายไม่ทันอ่ะ เสียดายจัง


งูเขียวบอน (Boiga cyanea) งูชนิดนี้ในภาคตะวันออกจะสวยที่สุดที่เคยเจอเลยครับ สีจะเขียวสด ถ้าทางใต้สีมักจะคล้ำหรืออมเทา แต่ก็มีแบบอมฟ้าซึ่งหายากมาก (พี่น๊อตบอก)


เขียดทราย, เขียดน้ำชนิดที่พบทางภาคตะวันออก (Ooeidozyga martensii) ตัวนี้เจอริมลำธารที่น้ำตกมะกอก

 

 

จันทบุรี Reloaded

Abstract

One of the most beautiful waterfalls to be found in Chantaburi, a province in the East of Thailand, can be seen here at the Plieu National Park covers an area of 84,062.50 rais (13,450 hectares).  The word "Plieu" comes from the dialect of the local people "Song" who live in the area.  This word means sand or beach.  Some said Plieu is the name of a species of tree growing in the waterfall area.  Plieu waterfall cascade down 25 meters from the granite rock cliff.    

At this site King Chulalongkorn  (King Rama V) ordered the building of a bell-shaped stupa to enshrine his late Queen Sunantha’s ashes, who die in a boat accident, of a symbol of his immortal love for her.  The king and the princess used to visit the fall together.

น้ำตกพลิ้ว อ. แหลมสิงค์ เป็นน้ำตกที่สวยงามแห่งหนึ่งของจังหวัดจันทบุรีซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากเขาสระบาป คำว่าพลิ้วเป็นภาษาท้องถิ่นของชาวซอง แปลว่าทรายหรือหาดทราย บ้างก็ว่ามาจากชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ขึ้นอยู่ในบริเวณนี้ น้ำตกพลิ้วซึ่งมีความสูงกว่า ๒๕ เมตร อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว มีเนื้อที่ประมาณ ๘๔,๐๖๒.๕๐ ไร่ ประกอบไปด้วยป่าดิบชื้น และเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน  เป็นแหล่งน้ำลำธารหลายสาย ใกล้ลำธารน้ำตกมีอลงกรณ์เจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงลังกาซึ่งรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๙  และมีสถูปพระนางเรือล่ม บรรจุพระอังคารของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ซึ่งเคยเสด็จประพาสมา ณ ที่แห่งนี้ด้วยกัน เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความรักของพระองค์

**********************

เรื่อง: นณณ์ ผาณิตวงศ์

ภาพ: นณณ์/กุ๋ย

สำหรับผมอินเตอร์เน็ตเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่มากของมนุษย์ ถ้าไม่มีอินเตอร์เน็ต คงไม่มีผมมานั่งเขียนอยู่ในวันนี้ เพราะผมได้เรียนรู้อะไรมากมายจากอินเตอร์เน็ต ได้ เพื่อน ได้กลุ่ม และ ได้กำลังใจในการทำในสิ่งที่ผมรัก ทุกวันนี้ผมสนุกที่ได้เรียนรู้ ได้ ทำให้คนอื่นเรียนรู้ และได้รู้จัก เพื่อนฝูงเพิ่มขึ้นอีกมากมายผ่านทางอินเตอร์เน็ต เพื่อนที่บางคนผมยังไม่เคยเห็นหน้าเลยด้วยซ้ำ แต่ก็รับลองได้ว่าถ้าได้เจอกันจริงๆ คงคุยกันสนิทสนมเสียยิ่งกว่าคนอีกหลายๆ คนที่เคยเจอหน้ากัน วันนี้ก็อีกเช่นกันที่ผมกำลังจะได้พบหน้า เพื่อน ไม่ใช่ เพื่อนใหม่ เพราะผมว่าผมคุ้นเคยกับ เพื่อนสองคนนี้พอสมควรแล้วทางอินเตอร์เน็ตที่เว็บบอร์ดของ siamensis.org ผมขอเรียกว่าเป็นการได้พบหน้า เพื่อนก็แล้วกันครับ

“คุณนณณ์ ตกลงอาทิตย์นี้จะไปดูปลาปล้องอ้อยที่จันทบุรีกันรึเปล่าครับ?” พี่อัศวินโทรมาชวนผมในช่วงกลางสัปดาห์ที่ผมกำลังจมปรักอยู่กับงาน จริงๆ แล้วอาทิตย์นี้ผมกะว่าจะไปสระบุรี แต่ถ้าไปสระบุรีคงไปคนเดียว แต่ถ้าไปจันทบุรีคงได้พบหน้า เพื่อนอีกสองคน ผมเลยเลือกแบบไม่ต้องคิดมาก “จันทบุรีโรดครับพี่”

“พล ไปป่าว?” ผมถาม เพื่อนเจ้าเก่าผ่านทาง MSN “เออไปดิ เบื่อจะแย่อยู่แล้ว”

“ไปด้วยครับ คราวนี้ไม่พลาดแน่” คุณกุ๋ย เพื่อนอีกคนที่ไม่เคยเห็นหน้าค่าตาโพสบอกที่เว็บบอร์ดของ siamensis.org

พี่อัศวินมาสัมมนาที่พัทยาอยู่แล้วเลยจะออกจากพัทยา คุณกุ๋ยบ้านอยู่ชลบุรีก็เลยจะออกจากชลบุรี(ก็นั่นนะสิ) ส่วนผมกะพลอยู่กรุงเทพฯก็เลยจะออกจากกรุงเทพฯ เราสามทีมนัดหมายกันง่ายๆ “เจอกันที่น้ำตกพลิ้วก่อนแล้วกันนะครับ ผมจะใส่หมวกสีแดง ทักไม่พลาดแน่” ถ้าคุณไปที่ไหนแล้วเจอคนใส่หมวกแดง สะพายกระเป๋ากล้องสีแดง คาดเข็มขัดสีส้ม ก้มๆ เงยๆ ดูนู้นดูนี้ท่าทางมีพิรุธ ทักผมได้เลยครับ ไม่ผิดตัวแน่นอน

ปลาปล้องอ้อยหรือที่ในตลาดปลาสวยงามเรียกอีกชื่อว่าปลาคูลี่เป็นปลาน้ำจืดที่มีตัวยาวเล็กเหมือนปลาไหล ลำตัวเป็นปล้องสีน้ำตาลเข้มสลับเหลืองสวยงาม ผมว่าใครที่เลี้ยงปลาสวยงามน้ำจืดคงรู้จักปลาชนิดนี้เป็นอย่างดีแบบแค่เรียกชื่อก็ร้องอ้อไม่ต้องให้ผมบรรยายให้เปลืองเนื้อที่ แต่จะมีสักกี่คนที่เคยสนใจว่าปลาปล้องอ้อยอยู่ในธรรมชาติกันอย่างไร ที่ผ่านมาปลาปล้องอ้อยถูกรวบรวมมาขายในตลาดปลาสวยงามจากจังหวัดจันทบุรีเป็นจำนวนมากทุกปี แต่ไม่เคยมีใครเขียนถึงสักทีว่าปลาปล้องอ้อยในธรรมชาติอยู่กันอย่างไร ผมสอบถามข้อมูลเบื้องต้นจากอาจารย์ชัยวุฒิ(พี่หมี)ว่าปลาปล้องอ้อยจะอยู่ตามนา ซึ่งชาวบ้านจะจับปลากันมากในช่วงฤดูฝน โดยการจับนี้ชาวบ้านจะเรียกว่าเป็นการ “ย่ำปลาปล้องอ้อย” จะทำกันยังไงผมก็สุดเหลือจะเดา แต่นี้เป็นช่วงต้นฝน ไม่รู้ปล้องอ้อยอยู่กันที่ไหนหน่ะสิ ไปตามหาดูเดี๋ยวก็รู้เอง

เป้าหมายที่น่าสนใจอีกอย่างที่จันทบุรี คือปลากัดหัวโม่ง ปลากัดอมไข่ที่มี Type locality อยู่แถวน้ำตกพลิ้ว เมื่อปีที่แล้วพวกเราได้มาสำรวจกันแล้วที่หมายนี้ และเราก็พบปลากัดหัวโม่งจำนวนมาก ซึ่งเราก็ดีใจที่มีปลากัดพวกนี้อยู่ในแหล่งน้ำที่เป็นเขตอนุรักษ์ เพราะถึงแม้จะไม่ได้สวยงามอะไร แต่ปลากัดหัวโม่งก็โดนจับเป็นจำนวนพอสมควร เพื่อสนองความต้องการในตลาดปลาสวยงามกลุ่มที่ชอบเลี้ยงปลาแปลกๆ นอกจากปลาดังกล่าว จันทบุรียังเป็นแหล่งสำคัญของปลาสวยงามที่ได้รับความนิยมในตลาดอีกหลายชนิดเช่น ปลาซิวข้างขวานลายเล็ก ปลาค้อเกาะช้าง ปลาจิ้งจก และอีกหลายๆ ปลา

จริงๆ แล้วผมไม่ได้ต่อต้านการจับปลาจากแหล่งธรรมชาติมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม เพราะผมก็เป็นอีกคนที่ซื้อปลาที่จับจากแหล่งธรรมชาติมาเลี้ยง ปลาเป็นทรัพยากรที่สามารถเพิ่มจำนวนได้ถ้ามีการจัดการอย่างเหมาะสม ปลาสามารถเพิ่มจำนวนโดยการเพาะพันธุ์ในที่เลี้ยงได้ ถ้ามีความตั้งใจ การอนุรักษ์ไม่ใช่การตะเบงป่าวๆ ว่าห้ามแตะต้อง ปล่อยไว้อย่างนั้น เราจะอนุรักษ์ไปทำอะไรถ้าเราไม่ได้ใช่ประโยชน์จากทรัพยากรนั้นๆ ?  และจริงๆ แล้วก็ยอมรับกันซ่ะเถอะว่าถึงยุคนี้แล้ว เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่มีการ “แตะต้อง” ผมว่าเราควรจะยอมรับสภาพซ่ะแล้วมาคิดกันดีกว่าว่าจะใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนได้อย่างไร ผมว่าการอนุรักษ์ คือการจัดการๆ ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างเหมาะสม ผมไม่อยากเห็นคนไทยออกไปจับปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติของไทยมาขายเยอะแยะ สู้กับคู่แข่งต่างชาติด้วยราคา เพราะถือว่าของเราจับมาจากธรรมชาติ ต้นทุนต่ำ ผมว่ามันเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ฉาบฉวยเกินไป  บางครั้งผมว่าเราโดนเอาเปรียบ ผมเคยเห็นปลาชนิดหนึ่ง ชาวบ้านจับมาขายให้รังส่งออกตัวละแปดบาท บริษัทส่งออกเอาไปขายส่งนอกตัวละสิบห้า แต่ฝรั่งเอาไปขายตัวละเป็นพัน จะว่าเป็นค่าขนส่งก็คงไม่สูงขนาดนี้ จะว่าเป็นค่าที่ปลาตายไปก็ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ ถึงเวลาแล้วครับที่เราจะเปิดตำราบทที่สองว่าด้วยการแข่งขันด้วยคุณภาพ และบริการ ดูสิงค์โปร์สิครับ ปลาบนเกาะแทบจะไม่เหลือ แต่กลับเป็นผู้ส่งออกปลาสวยงามรายใหญ่ ทำไมเค้าทำได้? บทที่หนึ่งเรื่องราคาเนี๊ยเดี๋ยวชาติอื่นๆ ก็ตามทันครับ ปลาในธรรมชาติเค้ายังเหลือเยอะกว่าเราด้วยสิ

ผมใช้เวลาขับรถประมาณสามชั่วโมงครึ่ง ผ่านสวนยาง, สวนผลไม้ และสายฝน จนตอนนี้เทือกเขาสระบาปที่แสนจะเขียวชอุ่มแห่งจันทบุรีก็มาอยู่ตรงหน้าผมแล้ว น้ำตกพลิ้วอยู่อีกไม่ไกล แต่หมายแรกที่ผมอยากจะแวะ คือลำธารเล็กๆ ริมถนนสายนี้ซึ่งเป็น Type locality ของปลากัดหัวโม่ง (Betta prima) ปลากัดอมไข่ชนิดนี้มีรายงานการกระจายพันธุ์อยู่ในแถบภาคตะวันออกของไทย และบางส่วนของเขมร ผมจอดรถริมถนน กระพริบไฟวิ๊บๆ ถือโอกาสโทรบอกคุณกุ๋ยซึ่งตามหลังมาไม่ไกลว่าผมคงรออยู่ที่ตรงนั้นก่อน จะได้หากันเจอง่ายๆ

ผมแปลกใจที่ผมไม่แปลกใจ หมายนี้ผมเคยมาแวะแล้วเมื่อปีที่แล้ว เป็นคูน้ำเล็กๆ ริมถนน สองฝั่งที่ค่อนข้างชันเป็นป่าหญ้ารกๆ แต่วันนี้ป่าหญ้าที่ว่ากลับกลายเป็นลานปูกระเบื้องอย่างดี มีรั้วสเตนเลส และโคมไฟ พร้อมกับม้าหินให้นั่งเล่นชมวิว ที่เคยต้องค่อยๆ ไถลลงไปก็มีบันไดให้ลงอย่างดี น้ำที่เคยไหลไปเรื่อยๆ ตามธรรมชาติ กลับมีเขือนหินเล็กๆ มากั้น เพราะมีปั๊มน้ำขนาดใหญ่มาตั้งอยู่ตรงนั้น ปลาคงไม่เดือดร้อนมากนักกับการพัฒนาครั้งนี้ เพื่อเสียสละให้คนอีกหลายคนได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น ผมได้ แต่หวังว่า “คน” เหล่านั้นคงจะมีความรับผิดชอบมากพอที่จะไม่รบกวนธรรมชาติไปมากกว่านี้ การพัฒนา และความเจริญเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ผมเห็นปลาแก้มช้ำ ปลาจาด ปลาซิวสุมาตรา และปลากระทุงเหวว่ายไปมาอยู่ในน้ำหลายตัว เขียดบัวตัวเล็กกระโดดป๋อมลงน้ำแล้วดำหายไป สักครู่ก็โผล่ขึ้นมาให้ผมได้ถ่ายรูป ดอกแววมยุราสีม่วงดอกไม้โปรดของผมชูช่ออวดดอกเล็กๆ อยู่ริมตลิ่ง ผมไม่เห็นปลากัดหัวโม่ง และก็ยังไม่มีอารมณ์ที่จะหา ส่วนพลก็มัว แต่ดูปลากระทุงเหวว่ายไล่นู้นไล่นี้กินจนไม่ได้สนใจที่จะหาเช่นกัน

รถเก๋งสีดำเข้าโค้งมาช้าๆ แล้วค่อยๆ จอดที่ท้ายรถผม คุณกุ๋ย (ซึ่งหน้าตาไม่เหมือนที่ผมนึกไว้ และผมก็แปลกใจว่าทำไมผมต้องนึกไว้) เปิดประตูรถลงมาทักทายกันอย่างกับเจอกันมาเจ็ดหนแล้ว เป็นความรู้สึกแปลกๆ ดีเหมือนกัน คุณกุ๋ยในเว็บ บัดนี้กลายเป็นกุ๋ยเฉยๆ ไปแล้วเมื่อผมค้นพบว่าเราอายุต่างกันไม่กี่เดือน ผมหวังว่าอีกหน่อยกุ๋ยคงได้ยกระดับฐานะเป็นไอ้กุ๋ยเมื่อเราสนิทกันยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เราออกเดินทางต่อมุ่งหน้าสู่น้ำตกพลิ้ว เป้าหมายแรกของเราในวันนี้

เราจอดรถที่ลานจอด และมุ่งหน้าสู่หมายที่สองของวันนี้ที่เป็นลำธารตอนล่างของน้ำตกพลิ้ว วันนี้กุ๋ยนำปลากัดหัวโม่งตัวผู้ตัวใหญ่ที่เลี้ยงไว้มาปล่อยคืนที่หมายด้วย  เราแวะถามป้าที่นั่งอยู่แถวนั้น ว่าชาวบ้านแถวนี้เรียกปลาชนิดนี้ว่าอะไร ซึ่งคำตอบง่ายๆ ก็ คือ “ปลากริม” เป็นเรื่องปกติ เพราะส่วนใหญ่แล้วปลากัดของชาวบ้านจะหมายถึงปลากัดทุ่งในกลุ่มก่อหวอดมากกว่า ส่วนพวกกลุ่มอมไข่ที่ไม่ค่อยมีสีสันจะถูกยกยอดไปรวมเป็นปลากริมหมด ซึ่งจากการถามชาวบ้านอีกหลายคนก็ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่านี่มันปลากริมแน่ๆ “แถวนี้เยอะไม๊ครับ” กุ๋ยถามคุณป้า “หมดแล้วมั๊ง” คุณป้าบอกหน้าตาย “วันก่อนพวกสิงค์โปร์มาจ้างเด็กแถวนี้จับไปตั้งห้าสิบตัว เค้าให้เด็กตัวละห้าบาท” พวกผมมองหน้ากันเลิ่กลั่ก อะไรจะขนาดนั้น นี่มันส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาตินะครับ ทำไมถึงปล่อยให้มีการจับปลาไปมากมายขนาดนี้

ข้อมูลจากคุณป้า ทำให้ผมร้อนใจจนต้องรีบไปสำรวจที่ลำธารจุดเกิดเหตุ หมายแห่งนี้เมื่อปีที่แล้วผมสำรวจพบปลากัดหัวโม่งเป็นจำนวนมาก วันนี้แปลกตาไปจากเมื่อปีที่แล้วพอสมควร ป่ารกๆ อีกฝากฝั่งโดนถ่างจนเหี้ยนกลายเป็นสวนผลไม้ไปแล้ว กองขยะกองใหญ่หายไป แต่ก็ยังมีขยะให้เห็นอยู่มาก ดงหญ้ารกๆ ที่คราวที่แล้วมีลูกปลากัดหัวโม่งอยู่เต็มไปหมดที่หัวโค้งของลำห้วย หายไปกลายเป็นลานหินโล่งๆ คงไม่ได้มีใครมาถาก แต่ก็ไม่รู้ว่าเกิดขึ้นได้ยังไง ผม พล และกุ๋ย ทุกคนเคยมาที่นี่แล้ว เราจึงไม่ต้องทำความเข้าใจอะไรกันมาก ต่างคนต่างกระโดดฉึ๊บๆ ไปตามหิน ยืนด้อมๆ มองๆ หาปลากัดหัวโม่งกันอย่างขมักขเม่น

“เฮ้ยนั่นไง สีฟ้าสวยเชียว” กุ๋ยพูดขึ้น เราสามคนเฮกันไปมุงดูที่กอหญ้าเล็กๆ ริมลำธาร “ไหนว่ะ” ผมถามง่ายๆ แต่จริงใจหลังจากยืนฉะเง้อฉะเหง่งอยู่พักใหญ่ “หลบไปแล้วเมื่อกี้เห็นตั้งสองตัว” คุณกุ๋ยบอก “โด่.....” ผมกับพลร้องออกมาพร้อมกัน

“นี่ไงๆ ” “ตรงนี้ก็มี” “เฮ้ย ตัวนี้กำลังอมไข่” “นี่ๆ ตรงนี้เพียบเลย” เป็นอีกหลายๆ ประโยคที่ตามมา เป็นความโล่งใจของพวกเราที่ยังมีปลากัดหัวโม่งอยู่มากมายแถวนี้

ปลากัดหัวโม่งที่พื้นลำตัวเป็นสีน้ำตาลอ่อนๆ คล้ายสีพื้นที่พวกเค้าอยู่พร้อมกับแววๆ สีฟ้าๆ ที่บริเวณครีบลอยตัวนิ่งๆ อยู่ริมก้อนหินที่มีใบไม้แห้งจมอยู่ “สวยหว่ะ” ผมกับกุ๋ยแทบจะพูดขึ้นพร้อมกัน ผมมองหน้ากุ๋ย “จะมีอีกสักกี่คนเห็นว่าไพรม่ามันสวยว่ะเนี๊ย?” กุ๋ยยิ้มๆ แต่ไม่มีคำตอบ

ถึงตรงนี้พฤติกรรมอันน่าสงสัยของพวกเราถูกสังเกตุการณ์ด้วยเด็กชาวบ้านสามคน และหมาพันธุ์ทาง เจ้านี้ดูแล้วน่าจะเป็นลูกผสมเยอรมันเช็ปเพิร์ดกับไทยหลังอานหน้าตาฉลาดดีเหมือนกัน พวกเค้ามามุงดูกันใหญ่ว่าคนพวกนี้มาทำอะไรกัน พวกผมถามเด็กๆ ว่าเรียกปลาตัวนี้ว่าอะไร ซึ่งเด็กบอกว่า “ปลากัด” พวกเค้าตั้งใจจะมาเล่นน้ำกันเฉยๆ ส่วนเจ้าหมา มาถึงก็กระโดดโรดเต้น เหาใบไม้ลอยน้ำ เหาเปลือกแตงโมไปตามเรื่องดูมีความสุข สำหรับเด็กชาวบ้านซึ่งมักจะพร้อมเสมอที่จะหยุดทำอะไรก็ตามที่พวกเค้าทำอยู่ เพื่อมาดูว่าพวกผมทำอะไรกันอยู่ ตัดสินใจได้ แล้วว่ามานั่งดูว่าพวกผมทำอะไรกันคงสนุกกว่า

ปลากัดหัวโม่งตัวผู้ อมไข่จนแก้มตุ่ยหลบอยู่ใต้กอหญ้าริมลำธาร ตัวเมียซึ่งตัวเล็กกว่าอย่างเห็นได้ชัด และมีหัวเรียวแหลมกว่าหลบอยู่ไม่ไกลออกไปนัก ขยะริมน้ำส่งกลิ่นตุๆ โชยมาเตะจมูกเป็นระยะๆ ผมนั่งยองๆ ใช้กล้องจุ่มลงไปในน้ำพยายามจะถ่ายภาพปลากัดคู่นั้น แชะๆ ๆ ผลงานที่ออกมา คือหางปลา และภาพที่ปลาเบลอ แต่กอหญ้าชัด คงจะมั่วไม่ได้  “ลงก็ลงว่ะ” ผมบอก เพื่อนๆ พร้อมกับคว้าสนอเกิ้ลมาสวมแล้วค่อยๆ นอนลงไปในน้ำ กลิ่นขยะยังลอยมาแตะจมูกเป็นระยะๆ “ไอ้นี่มันบ้า” ผมได้ยินพลชื่นชมผมให้กุ๋ยฟังแว่วๆ ในขณะที่กำลังนอนนิ่งๆ รอให้เศษฝุ่นที่เกิดจากพยูนเกยตื้นตกตะกอน  

ภาพชุดนี้คงเป็นภาพจากแหล่งธรรมชาติครั้งแรกของปลากัดหัวโม่ง การจะเลี้ยงสัตว์หรืออะไรก็ตามให้ได้ดี เราต้องเรียนรู้ให้ดีเสียก่อนว่าพวกเค้าอาศัยอยู่ในธรรมชาติอย่างไร ผมคิดว่าภาพจากธรรมชาติจะเป็นส่วนที่ ทำให้เกิดความเข้าใจได้อย่างง่ายๆ สำหรับผู้เลี้ยงทั่วไป สิบปากว่าร้อยมือเขียนก็ไม่เท่าสองตาเห็น ผมส่งภาพปลากัดหัวโม่งกำลังอมไข่ไปให้ เพื่อนที่ต่างประเทศดูด้วยความตื่นเต้นหลายภาพ โดยลืมบอกว่าเป็นภาพจากธรรมชาติ คำตอบที่ได้กลับมาสั้นๆ แต่ได้ใจความ “นณณ์ ล้างตู้ซ่ะบ้างนะ” แหะ แหะ

คุณอัศวินหน้าตาเหมือนที่ผมคิดไว้ (ซึ่งผมก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมจะต้องคิดล่วงหน้าว่าคนอื่นหน้าตาเป็นอย่างไร) เดินโบกมือทักทายมา แต่ไกลพร้อมกับภรรยา ผมแนะนำให้คุณอัสวินรู้จักกับพล และกุ๋ย “แล้วคนไหนนณณ์หล่ะครับ” คุณอัสวินถาม เอ้า นั่นนะสิ ลืมแนะนำตัวเองไป พวกเราชี้ชวนให้คุณอัสวิน ซึ่งตอนนี้ยกฐานะกลายเป็นพี่อัสวินไปแล้ว ได้ดูปลากัดหัวโม่งหลายตัวที่หลบอยู่ในกอหญ้า พวกเราเห็นปลาหลดภูเขา ปลาตะเพียนน้ำตก ปลาจาด ปลากระสูบขีด ปลาดุกซึ่งมีบาดแผลเต็มตัว และกำลังจะตาย เราพบปลาหลดภูเขาตัวใหญ่อีกตัวมีบาดแผลที่ท้อง และใกล้ตายเช่นกัน ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น จะเกี่ยวกับขยะเหม็นตุๆ รึเปล่า ผมหวังว่าคงไม่ใช่ แต่ก็หน้าแปลกที่เห็นปลาในธรรมชาติใกล้ตายด้วยอาการแปลกๆ พร้อมกันถึงสองตัวในบริเวณใกล้ๆ กัน

“ไปน้ำตกกันดีกว่าครับ” ใครคนนึงพูดขึ้นแล้วทั้งขบวนก็เก็บข้าวของเดินหน้าสู่อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้วกัน แต่กองทัพเดินด้วยท้อง เราเพลิดเพลินดูปลาจนนี่ก็เที่ยงเข้าไปแล้ว ผมกับพลซื้อซาลาเปากินกันคนละสามลูกในขณะที่คุณอัศวินแยกไปกินให้เป็นเรื่องเป็นราวที่ร้านอาหารกับภรรยา ผมส่วนตัวยังมีแถมปลาหมึกปิ้งไปอีกสองไม้ กุ๋ยได้กินอะไรป่าวว่ะ ผมไม่เห็นคุณกิน? 

ฝันของผมที่สู้อุตสาห์ดั้นด้นมาที่น้ำตกพลิ้วอีกครั้งก็ คือการไปพบหน้ากับลั้งหรือตะกอง สัตว์ตระกูลกิ้งก่าขนาดใหญ่ที่สุดของไทย คราวที่แล้วผมพยายามอยู่นาน แต่ก็ไม่เจอแม้ แต่เงา ทั้งๆ ที่หลายคนก็ยืนยันว่ามีอยู่เยอะมาก “พี่ครับๆ เห็นตะกองบ้างป่าวครับ?” “ลั้งเหรอ” “อ้อใช่ครับใช่ ลั้งหน่ะครับ” ผมดันไปเรียกชื่อภาคกลางของลั้งพี่เจ้าหน้าที่อุทยานเลยต้องถามย้ำ “เมื่อกี้ผมไปดูระกำป่า เห็นอยู่แถวนั้นนะ แต่ตัวไม่ใหญ่” ว่าพลางพี่ก็ชวนเราไปหาตัวลั้งกัน เป็นน้ำใจจากเจ้าหน้าที่ต่อนักท่องเที่ยวอย่างพวกเราที่ผมซึ้งในน้ำใจ

เราใช่เวลาหาตัวลั้งกันอยู่นาน ใช่เวลายืนมองผีเสื้อหางรุ่ยตัวสีขาวที่บินไปบินมาไม่ยอมเกาะให้ถ่ายภาพนิ่งๆ อยู่ก็นาน แต่ก็ไม่เจอตัวลั้งเลย “เดี๋ยวนี้น้อยลงไปเยอะครับน้อง คนมาเที่ยวเยอะ แถมตอนกลางคืนแมวของชาวบ้านก็เข้ามาจับกินด้วย”พี่เค้าบอก ผมได้ แต่ร้อง “อ้าว” เหมือนอีกหลายๆ ที่ในโลกแมวบ้านเป็นศัตรูตัวสำคัญมากกับสัตว์ท้องถิ่น อย่างในประเทศนิวซีแลนด์ แมวบ้านล่านกท้องถิ่นหลายชนิดที่บินไม่ได้จนเกือบสูญพันธุ์ ในอเมริกาก็มีรายงานนก และสัตว์ขนาดเล็กถูกแมวบ้านฆ่าเล่นเป็นจำนวนมาก จะห้ามแมวเข้ามาก็คงไม่ได้ ในต่างประเทศใช้วิธีการง่ายๆ คือผูกกระดิ่งอันใหญ่ๆ ไว้ที่คอแมว ไปไหนมาไหนจะได้มีเสียงดังให้สัตว์ท้องถิ่นหนีทัน ในไทยก็คงได้ผลเช่นกัน

“นั่นไงลั้ง” กุ๋ยสะกิดให้ผมดูอย่างตื่นเต้นในระหว่างทางกลับไปทางเดินหลัก หลังจากที่เรายอมรับสภาพ แล้วว่าคงไม่เจอแน่ๆ พี่เค้าบอกว่า ต้องให้ฝนตกแล้วแดดออก ลั้งจะออกมาผึ่งแดดบนก้อนหินกันเยอะเลย แต่ลั้งขนาดเล็กตัวนี้ยืนนิ่งๆ อยู่บนพื้นในดงไม้รกๆ ลึกเข้าไปพอสมควร ผมซูมกล้องไปสุดๆ แล้ว แต่ก็ได้ แต่ตัวลั้งเล็กๆ อยู่ในจอภาพ ได้เห็นก็ดีใจแล้ว ในที่สุดฝันอีกเรื่องก็เป็นจริง เราค่อยๆ ตะล่อมพยายามจะถ่ายภาพให้ชัด แต่ลั้งตัวนั้นก็เกิดเบื่อหน้าเราเสียก่อน นอกจากลั้งแล้วเรายังพบกิ้งก่าล่อนตัวเล็กๆ ที่เกาะอยู่บนต้นไม้ไกลออกไปจากทางเดิน “มันไม่ได้บินได้จริงๆ หรอกครับ ไม่ใช่กระพือบินเหมือนนก มันปีนขึ้นไปสูงๆ แล้วก็ร่อนเอามากกว่า” พี่เจ้าหน้าที่อธิบายให้เราฟัง

ที่น้ำตกพลิ้วที่ไหนๆ ก็มีปลาพลวง และนักท่องเที่ยว ขนาดฝนทำท่าจะตกให้ได้ น้ำตกพลิ้วก็ยังคลาคล้ำไปด้วยนักท่องเที่ยว พวกเราหยุดดูปลาพลวงในลำธารเล็กๆ แห่งหนึ่งที่มีนักท้องเที่ยวกำลังให้อาหารปลาอยู่ ที่นี้คงจะเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งเดียวในประเทศไทยที่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวให้อาหารสัตว์ป่าได้ (ปลาก็ถือเป็นสัตว์ป่าเหมือนกันนะครับ) จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องซ่ะทีเดียวที่ไปเปลี่ยนพฤติกรรมสัตว์ในธรรมชาติโดยการให้อาหารพวกมันอย่างนี้ แต่ก็เป็นอีกกิจกรรมที่ ทำให้คนทั่วไปได้เข้าใกล้ธรรมชาติมากขึ้น อาหารที่มากมายจากนักท่องเที่ยว ทำให้ปลามีจำนวนมากมายจนอาหารในธรรมชาติไม่พอเลี้ยง ซึ่งถ้าขาดอาหารจากนักท่องเที่ยวปลาคงจะคงจำนวนนี่อยู่ไม่ได้

เมื่อเดือนที่แล้วในเว็บบอร์ดของ pantip.com มีคนตั้งกระทู้ถามว่าทำไมที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้วอนุญาตให้นักท่องเที่ยวให้อาหารสัตว์ได้ แต่เขาใหญ่กลับไม่อนุญาต ซึ่งคำตอบที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่คงจะชัดเจนอยู่แล้ว เพราะการให้อาหารสัตว์ป่า ซึ่งในที่นี้คงจะหมายถึงลิง ทำให้พวกมันคุ้นเคยกับคน เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในธรรมชาติของสัตว์ แทนที่จะไปหาอาหารกินในป่า กลับมานั่งรออาหารอยู่ริมถนนเหมือนขอทาน พลาดท่าเสียทีก็โดนรถชนตาย จนตอนนี้ทางอุทยานต้องทำหลังเต่าไว้บนถนน เพื่อไม่ให้รถแล่นเร็ว เพราะกลัวจะชนสัตว์ และความคุ้นเคยไม่กลัวคนนั่นแหละที่จะ ทำให้คนอยู่ในอันตราย เพราะอาจจะโดนสัตว์ทำร้ายเอาได้ ผมคนนึงหล่ะที่กลัวลิงมาก เพราะตอนเด็กเคยโดนลิงกัด รักฝังใจ

ข้อสังเกต คือคนที่เข้ามาตอบกระทู้นั้น ไม่มีใครเห็นว่าการให้อาหารปลาที่น้ำตกพลิ้วเป็นเรื่องผิด เพราะปลามันอยู่ในน้ำ ที่อื่นๆ ก็มีการให้อาหารปลาในธรรมชาติเยอะแยะ จริงๆ แล้วผลเสียก็มีอยู่เหมือนกัน เพราะตอนนี้ลำธารต้นน้ำแห่งนี้แทบจะไม่มีปลาชนิดอื่นเหลืออยู่แล้ว เพราะปลาพลวงซึ่งตัวใหญ่แข็งแรง และกินอาหารทุกอย่างทั้งพืช และสัตว์ อยู่กันเต็มไปหมดแล้ว ปลาจาดที่ยังพอเห็นอยู่บ้างเมื่อปีที่แล้ว ปีนี้ผมดำหาอยู่นานมากกว่าปีที่แล้วก็ยังเห็นแค่ตัวเดียว ปลาเลียหินที่มีเป็นฝูงเมื่อปีที่แล้ว ก็เห็นอยู่ตัวเดียว ปลาเล็กๆ อื่นๆ ที่ควรจะมีอย่างปลาจิ้งจกก็ไม่มีให้เห็นเลย มี แต่ปลาพลวง และปลาพลวง และปลาพลวงตั้ง แต่ตัวเล็กจิ๋วไปจนถึงตัวใหญ่ๆ หนักหลายกิโล

ปลาพลวงตัวขนาดคืบกว่าๆ คงจะรู้สึกอึดอัดที่จู่ๆ ก็มีอะไรมาคล้องติดอยู่ตรงเหงือก ยางหนังสติ๊กเส้นเล็กๆ ที่ร้านค้าใช้มัดผักที่ขายเป็นอาหารปลา ถูกนักท่องเที่ยวมักง่ายโยนทิ้งลงไปให้น้ำลอยไปมากลายเป็นบ่วงคล้องคอปลาที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ บางตัวโดนรัดนานจนบาดลึกเข้าไปในเนื้อ ผมเรียนทางเจ้าหน้าที่ว่าไม่น่าอนุญาตให้ร้านค้าใช้ยางแบบนี้ เพราะเป็นอันตรายกับปลา แต่คำตอบที่ได้รับแบบเซ็งๆ ก็ คือ “ผมก็ไม่รู้จะไปห้ามเค้ายังไง ก็ได้ แต่ขอความร่วมมือ แต่เค้าก็ยังใช้กันอยู่ ให้เค้าใช้ตอก เค้าก็เข้ามาตัดไม้ในเขตอนุรักษ์ไปทำตอก ก็ไม่ได้เรื่องอีก ผมก็ไม่รู้จะทำยังไงเหมือนกัน” เมื่อห้ามผู้ค้าไม่ได้ก็คงต้องแก้ที่นักท่องเที่ยว ผมถ่ายรูปปลาที่ถูกยางรัดมาหลายรูป เพื่อนำมาทำบอร์ดรนรงค์ เพื่อจะมอบให้กับทางอุทยานต่อไป

พี่เจ้าหน้าอุทยาน ก้มๆ เงยๆ อยู่ตรงซอกหิน “เก็บขยะครับ” พี่อีกคนบอกเรา นอกจากพิทักษ์ป่า อำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว ให้ความรู้นักท่องเที่ยว ดูแลความปรอดภัยนักท่องเที่ยว คอยห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวจับปลา ห้ามไม่ให้นำอาหารเข้าไปกินในบริเวณน้ำตกแล้ว เจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่น้ำตกพลิ้วยังต้องมาคอยตามเก็บขยะที่นักท่องเที่ยวทิ้งกันไว้เกลื่อนกลาดด้วย ไปมาหลายอุทยานแล้ว ผมว่าที่นี้เจ้าหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส ทำงานกันอย่างแข็งขันใกล้ชิดประชาชนที่สุด ผมขอชื่นชมด้วยความจริงใจครับ

น้ำตกพลิ้วตกลงมาจากหน้าผาสูงหลายสิบเมตร ใต้น้ำตกเป็นแอ่งใหญ่ที่สุด ที่วันนี้ก็เต็มไปด้วยผู้คนอีกเช่นเคย บ้างก็มากับกลุ่ม เพื่อน บ้างก็มาเป็นครอบครัว คุณพ่อชื่นชมที่ลูกจับปลาพลวงห่อด้วยเสื้อยืดดิ้นคลุกคลัก พวกเรามองอย่างไม่เข้าใจว่ามันสนุกตรงไหน เจ้าหน้าที่เป่านกหวีดปี๊ดๆ ชี้มือมาที่เด็กน้อยซึ่งรีบปล่อยปลากลับลงน้ำไป เราวางกระเป๋า และอุปกรณ์กล้องไว้ริมหน้าผาใหญ่ที่มีร่มไม้อยู่ข้างบน ขณะที่กำลังเตรียมตัวจะลงน้ำฝนก็เริ่มตกลงมา โชคยังดีที่เรามีต้นไม้บังอยู่บ้างไม่งั้นอุปกรณ์กล้องซึ่งวันนี้ขนมาครบทีมคงพังหมด (คราวหน้าคงต้องเตรียมถุงดำใหญ่ๆ มาด้วย) ผมยกหน้ากากให้พี่อัศวินลงไปดำเล่นก่อน ในขณะที่ตัวเอง ยืนพิงหน้าผาช่วยบังฝนให้อุปกรณ์ถ่ายรูปอีกแรง พลอยู่คุยเป็น เพื่อนผม ในขณะที่กุ๋ย และพี่อัศวินตอนนี้ดำน้ำเล่นกันอยู่ใต้น้ำตก ส่วนภรรยาพี่อัศวินบังเอิญเจอ เพื่อนเลยนั่งคุยกันอยู่ที่ศาลาด้านบน

ฝนเริ่มซา ผมคว้ากล้องคู่ใจเดินไปที่ตลิ่งแล้วก็เหยียบหินพลาดลื่นหัวทิ่มลงน้ำไปดื้อๆ แบบไม่ยากเย็นนัก หลังจากสำรวจว่าตัวเองยังครบสามสิบสอง พร้อมกับรอยช้ำปื้นใหญ่ที่แข้งซ้าย ผมก็รีบตีน้ำว่ายไปยิ้มแผล่อยู่หน้าพี่อัศวินซึ่งตอนนี้กำลังดูปลาอยู่ใต้น้ำตก “เจ๋งจริงๆ มันว่ายทวนน้ำเหมือนปลาแซลมอนเลยนณณ์” พี่อัศวินบอกผมก่อนส่งหน้ากากมาให้ ผมรีบรับหน้ากากมาสวมแล้วก็ดำลงสู่โลกใต้น้ำที่ผมคิดถึง

ที่ชั้นหินปลาค้อเกาะช้างตัวใหญ่หลายตัวนอนเล่นกันอยู่ ปลาพลวงตัวน้อยใหญ่ว่ายกันให้เต็มไปหมด ผมว่ายไปเรื่อยๆ ตามหาปลาจาดที่คราวที่แล้วมีอยู่หลายตัวเหมือนกันในแอ่งนี้ แต่วันนี้ผมกลับพบเพียงตัวเดียว จริงๆ แล้วเขาสระบาปแห่งนี้เป็น Type locality ของปลาจาดสายพันธุ์นี้ (Poropuntius normani) และคงเป็นเรื่องน่าเสียดายถ้าปลาจาดนอร์แมน จะหมดไปจากน้ำตกตอนบน เพราะโดนปลาพลวงแย่งอาหารหมด ปลาเลียหินที่ปีที่แล้วผมเจอเป็นฝูงคราวนี้ก็เจอแค่ตัวเดียว ปีหน้าคงไม่เหลือเลย ผมคิดในใจ หนังยางลอยไปลอยมาอยู่หลายเส้น ผมเจอก็คว้าเก็บใส่กระเป๋าก่อนที่จะมีปลาโชคร้ายอีก พลันตาก็เหลือบไปเห็นปลาพลวงตัวขนาดสักฟุตนึงซึ่งถูกยางรัดอยู่บริเวณหลังเหงือกจนหายใจขัด ที่บนหัวเป็นแผลเหวอะหว่ะ มันคงโดนรัดมานานมากแล้ว ตั้ง แต่ตัวเล็กๆ จนตัวโตขึ้นยางก็ยิ่งรัดตึงขึ้น จนเป็นแผล ผมว่ายตามไปพยายามที่จะถ่ายภาพปลาตัวนี้ให้ได้ แต่ปลาเจ้ากรรมไม่ทราบถึงความหวังดี กลับว่ายหนีไปรอบแอ่งน้ำ ผมไล่ตามอยู่นานจนเหนื่อย ถึงได้ภาพที่ไม่ค่อยชัดนักมาสองสามภาพ ภาพพวกนี้แหละที่จะเป็นโปสเตอร์ให้นักท่องเที่ยวระวังไม่ทิ้งหนังยางเรี่ยราด สำหรับปลาตัวนั้นผมหวังว่าหนังยางคงเปื่อยขาดในไม่ช้านี้ หรือถ้าโชคดี เจ้าหน้าที่คงจับมันมาช่วยแกะยางออกจากหัวได้

ถึงเวลาอันสมควรแล้ว พวกเราเก็บข้าวของบอกลาน้ำตกพลิ้ว เพื่อจะมุ่งหน้าหาปลาปล้องอ้อยกันต่อ แต่น้ำตกพลิ้วก็ไม่ยอมให้เรากลับง่ายๆ เมื่อคุณกุ๋ยเหลือบไปเห็นจิ้งเหลนหางสีแดงสวยตัวเล็กๆ เกาะอยู่บนต้นไม้ริมทางเดินกำลังหากินแมลงตัวเล็กๆ ที่ออกมาหลังฝนตก เราหยุดถ่ายภาพกันอยู่นานจนจิ้งเหลนหากินเพลินจนหายไปหลังต้นไม้ น่าเสียดายที่ภาพไม่ชัดนัก เพราะแสงไม่ดี และทางเดินแคบไม่สามารถตั้งขากล้องได้

ฝนตกแดดออก ตรงตามหลักการเป๊ะๆ ผมหยุดถามเจ้าหน้าที่อีกครั้ง ว่าเห็นลั้งบ้างหรือเปล่า ซึ่งก็ได้รับคำแนะนำให้ลองไปหาดูแถวชายป่า แล้วผมก็ไม่ผิดหวังเมื่อพบลั้งออกมาเกาะพึ่งลมอยู่บนก้อนหินริมลำธารไกลออกไปจากทางเดินพอสมควร ผมชี้ชวนให้ เพื่อนๆ ดูด้วยความภูมิใจ “เห็นก่อนเฟ้ย เห็นก่อน” การถ่ายภาพเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะป่าเต็มไปด้วยต้นระกำที่มีหนามแหลมมากๆ และพื้นป่าชายเขาที่ชุ่มชื้น และมีซากพืชทับถมอยู่มากก็เอาแน่เอานอนไม่ค่อยได้ จะก้าว แต่ละทีต้องระวังมากๆ เพราะกลัวลื่น และกลัวทำเสียงดังด้วย “เฮ้ยนณณ์จะลงไปทำไมให้ลำบากว่ะ อยู่ริมทางเดินนี่ตัวนึงเนี๊ย” เสียงกุ๋ยดังมาจากข้างบน ผมมองกลับขึ้นไปเห็นลั้งตัวเล็กๆ นอนเล่นอยู่ริมทางเดินอย่างสบายอารมณ์ ช่ะ! หลังจากถ่ายรูปตัวลั้งได้หลายภาพแล้วนำขึ้นมาอวด เพื่อนๆ ผมซึ่งตอนนั้นยิ้มจนแก้มปริพูดออกมาอย่างลืมตัว “โอ้ยชีวิตผมมีความสุขจริงๆ ” มานั่งนึกดูอีกทีจะมีสักกี่คนที่ได้พูดประโยคนั้นออกมาจากใจจริงๆ อย่างลืมตัว พี่สาวผมดูรูปตัวลั้งที่ผมอวดที่บ้านแล้วก็พูดง่ายๆ “ดีนะ มีความสุขกับของอย่างนี้ก็ได้ด้วย” ผมก็ว่าดีครับ

สี่โมงกว่าแล้ว (ไม่น่าเชื่อว่าเราอยู่ที่พลิ้วกันนานขนาดนั้น) เราขับรถออกมาจากน้ำตกพลิ้วมุ่งหน้าไปสู่อำเภอมะขาม ซึ่งพี่หมีบอกว่าให้ลองหาปลาปล้องอ้อยตามริมนาแถวนั้นดู ฝนยังตกพร่ำๆ ผม และพลจอดรถซื้อสละ และลองกอง เพื่อนำไปฝากที่บ้าน เพื่อการขอวีซ่าออกเที่ยวคราวหน้าจะได้ง่ายขึ้น เราขับไปเรื่อยๆ จนเกือบถึงตัวอำเภอก็พบที่นาว่างๆ พร้อมกับแม่น้ำสายเล็กๆ เอ่อๆ ตรงตามลักษณะที่พี่หมีว่าไว้ เลยจอดรถรีบลงไปดู

ในแม่น้ำคุณลุงกำลังวางตะคัดดักปลาเล็กๆ ในขณะที่คุณป้านั่งรออยู่ริมฝั่ง นาว่างๆ มีฝูงควายทั้งตัวเล็กตัวใหญ่หลบอยู่ใต้ร่มไม้หลายตัว ควายเผือกตัวโตยืนเล็มหญ้าอยู่กลางทุ่งพร้อมกับฝูงนกเอี้ยงหลายตัว ในขณะที่ฉากหลังเป็นเทือกเขาสระบาปในม่านหมอก เป็นภาพที่สวยงามจนผมอดแวะไปถ่ายรูปไม่ได้ เราสอบถามคุณลุงถึงปลาตัวยาวๆ ลายปล้องเหลืองสลับดำซึ่งลุงก็รู้จักเป็นอย่างดี “อ้อปลาปล้องอ้อยหน่ะเหรอ ไอ้ที่ตัวลายๆ ขาวสลับดำใช่ไหม? แถวนี้ไม่มีหรอก มันอยู่น้ำไหลๆ นู้น หาดูดีๆ ต้องค่อยๆ ช้อนที่ละตัว แต่ก่อนลุงก็ไปจับมาขายเหมือนกัน ลองไปที่น้ำตกมะกอกสิ” ลุงบอกพวกเรา ซึ่ง ทำให้ผมงงมากๆ เพราะตอนนี้ข้อมูลที่ได้แตกเป็นสองสาย ผมลองช้อนๆ ดูแถวริมคลอง แต่ก็ไม่พบอะไรนอกจากลูกปลาหมอช้างเหยียบ เมฆฝนก็เริ่มอึมคลึมขึ้นเรื่อยๆ พวกเราเลยชักชวนกันไปดูที่น้ำตกมะกอกว่าจะเป็นยังไง

พอลงจากรถฝนก็ตก เรานั่งเซ็งกันอยู่ในชานด้านหน้าอาคารสำนักงานของอุท-ยานที่น้ำตกมะกอกอยู่นานพอดูกว่าฝนจะเริ่มซา ในขณะที่ฟ้าก็เริ่มมืดลง พวกเราออกเดินเข้าป่าทึบซึ่งตามป้ายบอกว่าอีก 500 กว่าเมตรจะถึงน้ำตก แต่เดินเข้าไปได้สักหน่อยผมก็หมดความอดทน “เสียงน้ำอยู่ทางขวา ตัดเข้าหาลำธารเลยไม๊ครับ? ตรงนี้หรือตรงน้ำตกก็คงเหมือนกัน” ผมบอก เมื่อ เพื่อนร่วมทางพยักหน้าผมก็เลยตัดขวาไปตามทางเล็กๆ ซึ่งอีกไม่ไกลก็เจอลำธารจริงๆ

ตลิ่งสูง และชันพอสมควรผมค่อยๆ ปีนลงไปเหยียบอยู่บนหินกลางน้ำ ในขณะที่พล กุ๋ย และพี่อัศวินค่อยๆ ตามกันลงมา

ซรวววบบบบ ตุ๋ม! พวกเราทุกคนหันไปทางต้นเสียงซึ่งดังมาจากพุ่มไม้เลื้อยด้านหน้าผมแค่มือเอื้อมถึง งูสีเขียวตัวไม่ใหญ่นัก แต่ยาวเฟื้อย ทิ้งตัวลงน้ำแล้วก็เลื้อยเข้าไปหลบอยู่ในซอกหินใต้น้ำ มาถึงตรงนี้ถ้าเป็นคนทั่วๆ ไปคนหลบไปอีกทาง แต่คนกลุ่มนี้กลับรีบไปมุงดูกันใหญ่ว่างูหน้าตาเป็นยังไง ซึ่งอาการนี้คงจะเป็น เพราะมีพี่น๊อตซึ่งชื่นชอบงูเป็นพิเศษมาคอยแปะรูปหลอกล่อให้เราดูในเว็บไซด์บ่อยๆ ผมคิดว่าถ้าเราสักคนโดนงูกัดคงจะต้องโทษพี่น๊อตนี่แหละครับ

แล้วงูก็เงียบหายไปเฉยๆ “เฮ้ย งูมันดำน้ำได้นานขนาดนี้เลยเหรอว่ะ?” ใครสักคนถามขึ้น ผมส่ายหน้าไม่รู้  “นณณ์ลองไปถ่ายรูปใต้น้ำสิ ใต้น้ำมันไม่กัดหรอก” กุ๋ยยุ “จริงเหรอว่ะ?” ผมถาม “ไม่รู้หว่ะ มั่ว” “เอ้า ไอ้...”  กุ๋ยได้รับการยกฐานะไปอีกขั้น

เมื่องูไม่ออกมาเราก็เลยยังกล้าๆ กลัวๆ ไม่อยากเดินสำรวจปลากัน แต่ผมก็ยังใช้เวลาว่างได้เห็นปลาติดหิน (Homaloptera smithi) ตัวเล็กๆ เกาะอยู่บนหินก้อนที่งูมุดเข้าไป แต่เจ้ากรรมที่กล้องซึ่งอยู่ในเคสกันน้ำตอนนี้เต็มไปด้วยฝ้าผมเลยไม่รู้จะถ่ายยังไง ในขณะเดียวกันพี่อัศวินก็ไล่ช้อนปลาซิวสุมาตรามาดูหลายตัว ยังไม่มีวี่แววของปลาปล้องอ้อย และงูตัวนั้น

“มันยังอยู่ใต้นั่นรึเปล่าอ่ะ?” “จะไปรู้เร๊อะ” “เอาอะไรเขี่ยๆ มันออกมาเหอะ จะได้ไปๆ ซ่ะที” “เออ เอาสิ” ว่าพลางพี่อัศวินก็เอาด้ามสวิงเขี่ยๆ เขาไปใต้หิน ซึ่งก็ได้ผล งูตัวยาวสีเขียวค่อยๆ เลื้อยออกมาจากซอกหินใต้น้ำมุ่งหน้ามาทางผม ซึ่งยืนโวยวายให้พี่อัศวินเขี่ยไปทางกุ๋ย งูตัวเขียวคงเซ็งกับพวกเราเต็มทนแล้วเมื่อเจอเถาวัลย์กอเดิมที่ตกลงมา เลยเลื้อยหนีขึ้นไปอยู่ซ่ะสูง “อย่าตกลงมาอีกนะ” ผมบอกงู

เริ่มมืด และยุงก็เริ่มออกหากินแล้ว ฝนก็ตกพร่ำๆ พี่อัศวินล่าถอยออกไปก่อน เพราะไม่อยากให้พี่ผู้หญิงเปียก และยืนรอนานๆ พวกผมเดินสำรวจลำธารอยู่สักพัก ผมยังแอบหวังลมๆ แล้งๆ ว่าจู่ๆ กบอกหนามหรือจิ้งเหลนน้ำสัตว์หายากซึ่งพบได้แถวนี้จะโผล่มานอนยิ้มอยู่บนโขดหิน แต่ก็ไม่เป็นตามที่หวังมี แต่เพียงลูกกบตัวเล็กๆ ที่เรายังไม่ทราบชนิดเพียงตัวเดียวมาปลอบใจ

“เมื่อกี้ลุงบอกว่าสีขาวสลับดำใช่ม่ะ?” “เออ” “ลุงแกนึกว่าเราถามถึงปลาค้อเกาะช้างป่าวว่ะ?” “นั่นนะสิ” “แล้วตกลงปล้องอ้อยมันอยู่ที่ไหนเนี๊ย?” “จะรู้ไม๊เนี๊ย?” บทสนทนาบางตอนขณะที่พวกเรากำลังเดินก้มๆ เงยๆ อยู่ริมลำธาร ผมไม่น่าพลาดลืมหยิบรูปปลาปล้องอ้อยมาเลยจริงๆ

ฝนเริ่มตกหนักอีกแล้วแถมมืดก็มืดยุงก็เยอะ เพื่อนทั้งสองยังเดินดูนู้นดูนี้ เอาไม้เขี่ยๆ หาตัวอะไรไปเรื่อย ในขณะที่ตัวผมเองเริ่มปอดๆ “กลับเหอะ” ผมพูดขึ้น แล้วเราทั้งสามคนก็เดินกลับออกมาสมทบกับพี่อัศวิน และภรรยาที่ๆ ทำการอุทยาน

ถึงแม้เราจะยังไม่เจอปลาปล้องอ้อย แต่วันนี้ก็เป็นวันที่สนุกมากอีกวันของผม และผมก็ดีใจมากที่ได้เจอ เพื่อนใหม่เพิ่มอีกสองคน งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกลา การสำรวจปลาย่อมมีวันลาจาก พวกเราถ่ายรูปหมู่ไว้เป็นที่ระลึกก่อนจะแยกย้ายกันกลับบ้าน

************************

“หิวหว่ะพล แขวนท้องถึงกรุงเทพฯไม่ไหวแน่ หาทุเรียนกินกันดีกว่า”  “ไอ้...ข้าวไม่กินจะกินทุเรียน” พลยกฐานะให้ผมอีกครั้ง เราจอดรถที่ตลาดผลไม้ตรงสี่แยก ผมไปซื้อทุเรียนเน้นว่าต้องแบบกรอบนอกนุ่มใน พลเดินไปซื้อไก่ย่าง ข้างๆ ร้านไก่ย่างมีร้านก๊วยเตี๋ยวลูกชิ้นน่าอร่อย เราเลยตัดสินใจกินกันตรงนั้นให้เสร็จๆ ไปจะได้ขับรถกลับบ้านยาวเลย

“ลูกชิ้นอร่อยหว่ะ รู้งี้เมื่อกี้ชวนอยู่กินกันก่อนดีกว่า” “นั่นดิ เสียดาย จะได้คุยกันอีกหน่อย” ว่าพลางผมก็เป่าเส้นเล็กไปพลาง เพราะน้ำร้อนมาก ผมกินก๊วยเตี๋ยวลูกชิ้นทั้งเนื้อ และหมูแกล้มทุเรียนกับไก่ย่างจนได้รับคำชมจากพลอีกครั้งว่า   "_กมั่ว” จนอิ่มตื้อ ยังไม่วายแอบซื้อหนังไก่ทอดไปอีกถุงเอาไว้เคี้ยวเวลาง่วง

กรอบๆ ๆ ๆ ๆ เสียงดังเป็นระยะๆ มาจากฝั่งซ้าย “เฮ้อ อย่ามาแอบกินหนังไก่ดิว่ะ เดี๋ยวหมดไม่มีกินเล่น หลับในนะเว้ย” ผมโวย “เอ้า ก็ง่วงเหมือนกัน จะตื่นอยู่เป็น เพื่อนนะเนี๊ยถึงกิน”  เรื่องแย่งของกินยังมีอีกไปตลอดทางทั้งปลาหมึกกรอบ และสละเล่าละเอียดก็ประจานตัวเองเปล่าๆ เอาเป็นว่าในที่สุดเราก็ถึงกรุงเทพฯโดยสวัสดิภาพแล้วกันครับ

 ************************

“ไอ้หย๋าาาาาาาา” ผมร้องเมื่อเปิดประตูรถตอนเช้าวันจันทร์ เพื่อจะไปทำงาน คุณลองนึกถึงกลิ่น เสื้อยืดเปียกๆ เปื้อนๆ พร้อมกับกลิ่นหนังไก่ทอด ทุเรียน สละ กะท้อน และลองกองในระบบปิดดู ผมกลั้นหายใจก้าวขึ้นรถ เปิดกระจกทั้งสี่บาน รีบขับไปทำงาน กลับเข้าสู่ชีวิตปกติอีกครั้ง ภาพจากจันทบุรีโผล่เข้ามาในความคิดเป็นฉากๆ นึกๆ ดูแล้วก็ไม่น่าเชื่อว่าเป็นโลกเดียวกัน...

************************

ขอขอบคุณ

เจ้าหน้าที่ทุกท่านที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้วที่ทำงานกันอย่างขยันขันแข่งมากๆ ขอบคุณจริงๆ ครับ

นักท่องเที่ยวที่เที่ยวอย่างมีจิตสำนึก

เพื่อนๆ ทุกคน ที่ ทำให้การไปเที่ยวสนุกยิ่งขึ้น

พี่หมี พี่น๊อต ถ้าไม่มี wise & wisdom จากพี่ทั้งสอง คงเขียนไม่ได้แบบนี้

ปลาพลวง กัดหัวโม่ง ลั้ง ควายเผือก และนายแบบนางแบบจำเป็นทุกตัว ขอโทษที่รบกวนครับ

 

more survey ...

 

www.siamensis.org - Thailand Fish & Nature Explorer
An independent non-profit group
Established 2001
 All Rights Reserved 2001-2010 ©siamensis.org