: Home : Board : Articles : Expeditions : About us : Privacy Policy :
 

 

น้ำตกศิริภูมิเห็นได้ แต่ไกล จากบริเวณโครงการหลวง

ดอกไม้เมืองหนาวสวยๆ ที่ปลูกไว้ในบริเวณสวนหลวงศิริภูมิ ในภาพ คือดอกแอสโตรมีเลีย (Astromelia sp.)

พรรณไม้สกุลบีโกเนีย (Begonia sp.)

ลิลลี่อาฟริกา (Agapanthus sp.)

ทางเดินในสวน

หาปลา แต่กลับได้กบเขียวภูเขา (Rana livida) คู่นี้ขึ้นมาแทน

ฝายทดน้ำใต้น้ำตก จะทดน้ำไปใช้ในบริเวณโครงการหลวงในหน้าแล้ง ทำให้น้ำในลำธารแห้งไป

บ่ออนุบาลลูกปลาสายรุ้งที่ศูนย์ประมงใช้ระบบผันน้ำจากธรรมชาติให้ไหลผ่าน

ปลาสายรุ้งเต็มไปหมด

ดูกันชัดๆ ปลาสายรุ้งในตู้ สีไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ ปลาสภาพดีๆ สีจะเป็นเหลือบชมพูเหมือนสายรุ้งจริงๆ ครับ

ปลาก้าง(กั้ง)ในตู้โชว์ (Channa limbata)

ปลาพลวงชนิดเดียวกับที่พบทางกาญจนบุรี (Neolissochilus stracheyi)

กบต้นไม้ดอยอินทนนท์ (Staurois afghanus) ก็มีให้ดู

จิ้งจกน้ำ, จั๊กคาก (Tylototriton verrucosus) เป็นสัตว์ตระกูลซาลามานเดอร์ (Salamander) ชนิดเดียวที่พบในประเทศไทย

กบเปอะ (Rana kuhlii) ได้รับการเพาะพันธุ์ และสนับสนุนให้เป็นกบเลี้ยงกินเนื้อ

บรรยากาศการหาปลาในลำธาร ในภาพ คือ อศจ.โกมินทร์กำลังทำการพลิกหินครับ

อีกภาพ โปรดสังเกตว่าน้ำไหลแรงมากครับ เย็นเจี๊ยบเลยเชียว

สวนดอกเยอบีร่า (Gerbera sp.) ซึ่งอยู่ติดกับลำธาร

ที่ระดับความสูง 2,565 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ดอยอินทนนท์หรือที่เดิมชาวบ้านเรียกว่าดอยอั่งกา (ภาษาท้องถิ่นของชาวไทยใหญ่แปลว่าเขาลูกใหญ่) คือยอดเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย และมีความหนาวเย็นตลอดปี

สภาพป่าดึกดำบรรพ์บนยอดดอย

บรรยากาศสบายๆ กับมื้อเช้าริมสระว่ายน้ำที่โรงแรมใจกลางเมืองเชียงใหม่ซึ่งตก แต่งให้ดูเก่าๆ

ภาพนี้ไม่ต้องบรรยาย

วิวจากข้างล่างมองขึ้นไปบนดอยสุเทพ

วิวจากบนดอยสุเทพมองลงมาทางตัวเมืองเชียงใหม่

หมู่อาคารเรือนกระจกที่สวนพฤษ-ศาสตร์ฯ ใหญ่ประทับใจมากครับ ไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่าในประเทศไทยมีสถานที่เทห์ๆ แบบนี้อยู่ด้วย โชคดีที่แวะเข้าไปจริงๆ

รองเท้านารีคางกบ (Paphiopedilum callosum) กำลังบานอยู่ในเรือนกล้วยไม้ ซึ่งอยู่แยกออกมาจากกลุ่มอาคารเรือนกระจก

บรรยากาศภายในเรือนสวนน้ำ

บัวขาบ (Nymphaea cyanea) เป็นบัวท้องถิ่นพันธุ์ดั้งเดิมของไทยที่พบได้ทั่วไปตามแหล่งน้ำนิ่ง

บัวจงกลนี (Nymphaea sp.) มีชื่อปรากฏในเอกสารมาตั้ง แต่สมัยสุโขทัย ปัจจุบันยังไม่สามารถจำแนกชนิดได้ อาจจะเป็นชนิดใหม่ และเป็นพืชเฉพาะถิ่นของไทย หรือเป็นบัวพันธุ์ผสมโดยฝีมือคนไทยในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5

ดอกไอริชน้ำ (Neomarica longifolia)

ภายในเรือนเฟิร์น

เรือนต้นไม้ทะเลทราย

และที่อาคารหลังใหญ่ เรือนป่าดิบชื้น ร่มครึ้มรกทึบ มีบันไดให้ขึ้นไปดูเรือนยอดด้วย เก๊มากๆ ครับผม

ครอบครัวนี้น่ารักมาก

ดอกดาหลาสีขาว (Etlingera elatior) พรรณไม้ทางใต้ของไทย แต่มาปลูกที่นี่ได้ด้วยหล่ะ

น้ำตกในอาคารหลังใหญ่ ทำให้ภายในอาคารมีชื้นสูงถึง 50-70% ตลอดปี

ช้างที่เจอริมทาง (Elephas maximus)

ผีเสือกลางคืนแอตลาส (Attacus atlas)

อุตสาห์พกไฟฉายไป ตอน กลางคืนเลยแอบออกมาส่องหาดูตัวอะไรในโรงแรม เจอ แต่จิ้งจกบ้านหางหนามเนี๊ยครับ (Hemidacthylus frenatus)

ทีมสำรวจปลาในวันสุดท้ายของการเดินทาง

ชั้นเล็กๆ ของน้ำตกศิริภูมิ สวยงามจับใจ

ในที่สุดก็ได้เจอกันสักที ยินดีที่ได้รู้จักครับเจ้าปลาติดหิน (Oreoglanis siamensis)

 

 

เหนือสุดแดนสยาม

บทนำ: อาจารย์ชัยวุฒิ กรุดพันธ์

เรื่อง: นณณ์ ผาณิตวงศ์

ภาพ: นณณ์-ตวง ผาณิตวงศ์

ประเทศไทยเป็นประเทศซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในเขตร้อนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณนี้เป็นพื้นที่ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงแห่งหนึ่งของโลก โดยเฉพาะถ้าเจาะจงเรื่องปลาน้ำจืด ถ้าจะกล่าวถึงบริเวณอื่นที่มีความหลากหลายพอๆ กันก็ได้แก่ ทวีปอเมริกากลาง และใต้ ตอนกลางของทวีปอัฟริกาโดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตก

ประเทศไทยของเราประกอบด้วยปลาน้ำจืดพื้นเมืองเกือบ 700 ชนิด จาก 56 วงศ์ เมื่อเปรียบเทียบกับทวีปอเมริกาเหนือ(แคนาดา สหรัฐอเมริกา รวมทั้งตอนเหนือของเม็กซิโก) ซึ่งมีรายงานพรรณปลาน้ำจืดทั้งสิ้น 790 ชนิด จาก 10 วงศ์ (Lawrence&Burr, 1991) แต่เป็นพื้นที่ใหญ่กว่าประเทศไทยหลายเท่า ก็จะเห็นความหลากหลายของพันธุ์ปลาน้ำจืดในประเทศเราได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ในบรรดาปลาน้ำจืดเกือบ 700 ชนิดของไทยนั่นมีเพียง 4 ชนิดเท่านั้นที่ได้รับการคุ้มครองโดยตรง คือได้รับการบรรจุรายชื่อเป็นสัตว์คุ้มครองของประเทศไทย คือ ปลาตะพัด (Scleropages formosus) , ปลาเสือตอลายใหญ่ (Coius micropeltes), ปลาหมูอารีย์ (Botia sidthimunki) และ ปลาติดหิน (Oreoglanis siamensis)

สำหรับผมแล้วในบรรดาทั้ง 4 ชนิด ตัวที่มีความลึกลับ และมีข้อมูลน้อยที่สุดก็ คือปลาติดหิน หรือปลาค้างคาว เพราะนอกจากหนังสือเล่มเล็กๆ ที่ผมได้รัับมาจาก ดร.ชวลิต วิทยานนท์ แห่งกรมประมงแล้วผมไม่เคยเห็นข้อมูลของปลาชนิดนี้เลย รวมไปถึงภาพปลาในขณะที่ยังมีชีวิตก็ไม่เคยเห็น ส่วนปลาตัวเป็นๆ นั่นยิ่งไม่ต้องพูดถึงใหญ่เลย และนั่น ทำให้ผมมุ่งมั่นมาก ว่าสักวันจะต้องไปเยือนปลาชนิดนี้ให้ถึงถิ่นให้ได้

แล้ววันหยุดยาว 3 วันก็มาถึงในช่วงที่ผมกำลังเซ็งชีวิตสุดขีด

ผมกับคุณเธอโบกเครื่องบินจากดอนเมือง มุ่งหน้าสู่เชียงใหม่ในเช้าวันเสาร์ ถึงเชียงใหม่ได้เราก็เช่ารถ เอาข้าวของไปเก็บที่โรงแรมแล้วก็มุ่งหน้าสู่ดอย       อินทนนท์ เพื่อตามหาพระเอกของเรากันอย่างไม่ต้องมีพิธีรีตองนัก

ฟังดูเหมือนง่าย แต่จริงๆ แล้วนี่เป็นการมาเชียงใหม่ครั้งแรกในรอบสิบกว่าปีของผม ครั้งสุดท้ายที่มานั่น รถก็ยังขับไม่เป็น ทางก็ไม่ได้สนใจดู ถึงดูก็ไม่ได้จำ ส่วนคุณเธอก็ไม่ได้ดีกว่าผมเท่าไหร่นัก งานนี้เราจึงยึดแผนที่ทั้ง 3 แผ่นเป็นสรณะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผมใช้เวลาไม่นานนักหาทางออกจากเมืองเจอ ก่อนที่จะตะบึ่งรถมุ่งหน้าสู่จุดมุ่งหมายของเรา

เมื่อ 6 ปีที่แล้ัว อ.ชัยวุฒิ (พี่หมี) แห่ง ม.อุบลฯ ได้มาสำรวจปลาชนิดนี้ไว้ ซึ่งอาจารย์บอกว่ามีปลาเยอะมากทั้งปลาติดหิน (ติดหินเป็นชื่อที่ชาวบ้านแถวนั้นเรียกกัน ผมจึงขอยึดชื่อท้องถิ่นเป็นหลักครับ) และปลาม่ำ (Scaphiodonichthys acanthopterus)  แถมด้วยจิ้งเหลนน้ำ (Tropidophorus berdmorei) ที่ผมอยากเห็นตัวอีกสักครั้งให้เต็มๆ ตามหลังจากเคยเจอตัวเดียวในป่าที่เมืองกาญฯ พร้อมทั้งบอกหมายที่สำรวจพบกับผมอย่างละเีอียด งานนี้ผมเลยหมายมั่นปั้นมือมากว่าคงได้เจอง่ายๆ เพราะเป็นการสำรวจตามใบสั่ง และเตรียมอุปกรณ์ถ่ายรูปเหนือน้ำใต้น้ำไปอย่างครบครัน 

ผมมาถึงที่หมายแรกซึ่่่งเป็นลำธารริมโรงเรียนแห่งหนึ่งตรงทางเข้าน้ำตกศิริภูมิฝนตกปรอยๆ พี่หมีบอกผมว่าช้อนไปตามซอกหิน และกอไม้ริมลำธารน่าจะได้ตัว ผมนั่นฝันไปถึงขนาดว่าไปยืนๆ ด้อมๆ มองๆ ก็คงเห็นปลาเกาะอยู่ตามก้อนหินแล้ว แต่หลังจากที่ก้มก็แล้วนั่งยองๆ ก็แล้วผมก็ยังหาปลาไม่เจอเลยแม้ แต่ตััวเดียว ท่ามกลางฝนหนาวที่เริ่มพร่ำลงมา ผมซึ่งไม่ได้เอาสวิง และกล้องลงจากรถเลยถอยกลับไปตั้งหลักก่อน

อีกหมายที่คงพอไปเที่ยวได้ตอนฝนตกคงจะเป็น ศูนย์วิจัยพัฒนาประมงน้ำจืด จ.เชียงใหม่ ซึ่งอยู่ในบริเวณของโครงการหลวง ศูนย์แห่งนี้เคยเพาะพันธุ์ปลาติดหินได้ และเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการเลี้ยง และเพาะพันธุ์ปลาเทราท์สายรุ้ง (Rainbow Trout, Oncorhynchus mykiss) ซึ่งผมสนใจมากไม่ใช่ เพราะเนื้อมีรสชาติดี แต่ เพราะในต่างประเทศ เช่น ประเทศนิวซีแลนท์ ได้มีการนำปลาชนิดนี้ (ซึ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตทวีปอเมริกาเหนือ)ไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติบนเกาะ และปลาชนิดนี้ก็จัดการกินปลาท้องถิ่นจนสูญพันธุ์ไปหลายชนิด ผมเกรงว่าถ้าเกิดปรับตัวอยู่ในธรรมชาติในบ้านเราได้จริงประวัติศาสตร์อาจจะซ้ำรอย แล้วปลาอะไรหล่ะครับที่อยู่ในน้ำแถวนั้น?  ไม่ใช่่ปลาที่เราควรจะ “คุ้มครอง” หรอกหรือ?

ผมใช่เวลาหลงทางอยู่สักพักก็หาศูนย์ประมงจนเจอ ที่ศูนย์มีบ่อดินขนาดกลางๆ อยู่หลายบ่อ ผมเห็นปลาตัวไม่ใหญ่นักว่ายอยู่หลายตัวดูไม่ออกว่าเป็นปลาอะไร เดินเข้ามาอีกหน่อยจะเป็นบ่อปูนซึ่งมีการผันน้ำจากลำธารธรรมชาติมาไหลผ่านบ่อเป็นชั้นๆ มีลูกปลาสายรุ้งว่ายกันอยู่เต็มไปหมด ที่โรงเรือนมีตู้น้อยใหญ่หลายใบจัดแสดงพันธุ์ปลา และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่พบในบริเวณดอยอินทนนท์ ตู้ปลาตู้แรกเป็นปลาพลวง (Neolissochilus stracheyi) พลวงชนิดนี้เป็นชนิดเดียวกับที่พบใบแถบกาญจนบุรีที่ผมคุ้นเคย แต่เป็นคนละชนิดกับตัวที่อาศัยอยู่ทางฝั่งตะวันออกครับ ตู้ที่สองมีหินวางซ้อนๆ กันอยู่หลายก้อน มีหัวอ๊อกมากเป็นพิเศษ ป้ายบนตู้ติดไว้ว่า “ปลาติดหิน หรือ ปลาค้างคาว”

เอาละฟ่ะ หาในลำธารไม่เจอ ดูในตู้ก่อนก็ได้ ผมหลงดีใจ แต่หาเท่าไหร่ก็หาปลาติดหินในตู้ไม่เจอสักที พี่เจ้าหน้าที่อีกคนมาช่วยกันหาก็ไม่เจอ ตู้ถัดๆ ไปเป็น ปลานกกระจอก, ปลาค้อ, และ ปลาก้าง แต่เนื่องจากตู้อยู่ในโรงเรือนที่มืด ประกอบกับน้ำที่ไม่ค่อยใสนัก ผมเลยไม่ได้ถ่ายรูปมาฝากกันครับ นอกจากปลาแล้วที่นี่ยังมี กบต้นไม้อินทนนท์ และ จิ้งจกน้ำอินทนนท์ ซึ่งเป็นสัตว์ตระกูลซา-ลามานเดอร์ชนิดเดียวของไทยให้ดูกันด้วยครับ

จากโรงเรือน ถ้าเดินไปด้านหลังก็จะมีบ่อปลาสายรุ้งอีกหลายบ่อ ทั้งหมดใช้ระบบน้ำซึ่งผันมาจากลำธารธรรมชาติให้ไหลผ่านบ่อไป มีทั้งลูกปลาขนาดเล็ก และพ่อแม่พันธุ์ เนื่องจากเป็นวันหยุด ไม่มีใครให้คุยด้วยมากนัก ผมเลยไม่ได้รายละเอียดการเลี้ยง และเพาะพันธุ์ของปลาชนิดนี้มา แต่ถ้าให้เดาก็คิดว่าคงเพาะได้พอสมควรหล่ะครับ ผมหวังว่าคงไม่ปล่อยให้หลุดไปขยายพันธุ์ ละลานปลาท้องถิ่นในธรรมชาตินะครับ ผมลองเช็คอินเตอร์เน็ตดูเล่นๆ ตัวอย่างมีเยอะมากครับผม

http://www.ru.ac.za/affiliates/am/m&g/mg4.htm

http://www.niwa.cri.nz/rc/freshwater/fishatlas/species/dwarf_inanga.htm

ฝนยังตกพรำๆ อยู่เกือบตลอดเวลา แต่โชคดีที่ตกไม่หนักนัก เราออกจากศูนย์เพาะพันธุ์สัตว์น้ำ กลับสู่ถนนสายหลักอีกครั้งมุ่งหน้าสู่ร้านอาหารตามสั่งหน้าที่ทำการอุทยานฯ ฝนพรำๆ กับหมอกจางๆ และอากาศเย็นๆ ของดอยอินทนนท์ ทำให้ข้าวผัดกระเพราไก่ที่ผัดด้วยพริกหยวกเม็ดอวบสีสวยจากโครงการหลวงรสชาติดีมากๆ กินข้าวเสร็จคุณเธอก็จัดการไปกักตุนเสบียงจากร้านค้าสวัสดิการ แล้วก็ต้องแปลกใจเมื่อพบว่าถุงขนมคบเคี้ยวที่นี้เต่งตึงอวบอ้วนเอามากๆ ผมเคยอ่านเจอในเว็บเลยอวดภูมิไปว่า บนเขาอากาศเบาบาง อากาศในถุงขนมที่ถูกบรรจุจากพื้นราบขยายตัวเมื่อขึ้นมาอยู่ที่สูง ถุงเลยอวบแน่นอย่างนั้น ตลกดีครับใครไม่เชื่อผมอย่าลืมซื้อขนมถุงติดไม้ติดมือขึ้นภูเขาสูงๆ ดู

ออกจากร้านอาหารเราขับรถตามป้ายน้ำตกสิริภูมิไปเรื่อยๆ อีกไม่ไกลนักน้ำตกขนาดไม่ใหญ่ แต่ตกลงมาสูงลิ่วที่เราเห็นไกลๆ จากตรงเนินเขาก็ใกล้จนได้ยินเสียงชัดเจน ที่บริเวณน้ำตกมี “สวนหลวงศิริภูมิ” ซึ่งมีการจัดสวนดอกไม้ และเฟิร์นไว้อย่างสวยงาม ในขณะที่เธอเพลิดเพลินดูดอกไม้ และหัดถ่ายรูปดอกนู้นมุมนี้ไปเรื่อย ผมก็คว้าสวิงคู่ใจ (อุตสาห์หิ้วขึ้นเครื่องมาด้วย) มุ่งหน้าสู่ลำธารเล็กๆ ที่น้ำไหลเชี่ยวมากๆ ผมยืนดูอยู่สักพัก เพื่อมองหาปลาในน้ำที่ไม่ค่อยใสนัก แต่ก็ไม่พบ

ปลาติดหินตามรูปร่างหน้าตาซึ่งแบนราบมากๆ น่าจะเป็นปลาที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำไหลแรง เกาะติดอยู่กับหินขนาดใหญ่ ผมใช้สวิงค่อยๆ แทรกเข้าไปใต้ซอกหิน เอามือลูบๆ กะให้ปลาออกมา ทำไปก็กลัวจะซ้ำรอยเจ้ากิ๊ก ซึ่งใช้วิธีนี้ที่จันทบุรีแล้วโดนปูหนีบเข้าไปอย่างแรง แต่ก็ไม่รู้จะใช้วิธีไหนแล้ว สักครึ่งชั่วโมงต่อมา นอกจากลูกอ๊อดตัวเล็กๆ และตัวอ่อนของแมลงปอหน้าตาแปลกๆ แล้ว ผมไม่พบปลาเลยแม้ แต่ตัวเดียว ไม่มีปลาซิวใบไผ่ ไม่มีปลาม่ำ (หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าปลาขาว) จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่มีปลาน้อย เพราะโดยทั่วไปแล้ว ยิ่งขึ้นภูเขาสูง และยิ่งใกล้ต้นน้ำมากเท่าไหร่ชนิดปลาจะยิ่งน้อยลง เพราะลักษณะแหล่งน้ำที่เล็กลง น้ำที่ไหลเชี่ยวขึ้น และอุณหภูมิที่ลดลงของน้ำ ทำให้มีปลาปรับตัวอาศัยอยู่ได้น้อยกว่า แต่ก็คงไม่ถึงขนาดไม่มีเลยสักตัวแบบนี้ เกิดอะไรขึ้นกับแหล่งน้ำแห่งนี้ที่เมื่อ 6 ปีที่แล้วพี่หมียังสำรวจพบปลาติดหิน และปลาม่ำเป็นจำนวนมาก?

ผมละจากลำธารแห่งนั้นตามเธอเข้าไปในสวน ขออนุญาตผู้ดูแลจับปลา เพื่อถ่ายรูป จ่ายเงินค่าบำรุงสวน (20 บาท) แล้วก็เดินเข้าไป ด้านหน้าสุดของสวนเป็นลานปูกระเบื้อง มีฝายขนาดเล็กสร้างกั้นลำธารที่ไหลมาจากน้ำตกเอาไว้

ในช่วงนี้ที่เป็นหน้าน้ำ น้ำไหลท้วมข้ามฝายไปตื้นๆ ผมมองลงไปในน้ำ ไม่พบปลาเลยแม้ แต่ตัวเดียว มันอะไรกันหว่า? 

ผมลองจับปลาในลำธารดู ลองหลายวิธี คราวนี้ผมได้เขียดขนาดใหญ่ขึ้นมาคู่นึงซึ่งกำลังผสมพันธุ์กันอยู่ ผมเลยรีบถ่ายรูป แล้วทั้งคู่ก็กระโดดลงลำธารหายไป เป็นอีกครั้งที่พฤติกรรมแปลกๆ ของผมไม่อาจจะรอดพ้นสายตาเด็กๆ ชาวบ้านไปได้ ผมกำลังถ่ายรูปมอส และเฟิร์นขนาดเล็กอยู่ใต้สะพาน เมื่อเงยหน้าขึ้นไปก็เจอเด็กน้อยชาวเขาสองคนกำลังมองผมอยู่ ขี้มูกยืดเกือบจะหยดลงหน้าผม เห็นถ้าไม่ดีแน่ผมคว้ากระดาษเช็ดหน้าให้เด็กสั่งขี้มูกแล้วบทสนทนาจึงเริ่มขึ้น

“แถวนี้ตรงไหนมีปลาบ้างครับ” “ปลา ตรงนี้มี ตรงนี้มี” เด็กพูดภาษาไทยสำเนียงแปร่งๆ ว่าพลางก็เดินนำผมไปที่ลำธารสาขาเล็กๆ ผมลองช้อนดูก็ไม่พบอะไร เด็กทั้งสองคนยังคงพยายามพาผมไปหาปลาอีกหลายที่ แต่ก็ไม่พบอะไร ไม่รู้ว่าเด็กมั่ว หรือว่าตรงนั้นเคยมีปลาจริงๆ แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว น้ำเย็นจนขาชาหมดแล้ว ผมเลิกล้มความตั้งใจ หันไปถ่ายรูปดอกไม้เมืองหนาวสวยๆ ในสวน รวมทั้งถ่ายภาพเธอด้วย ดอกอัสโตรมีเลีย ไฮเดร็นเยีย ฟูเซีย และ แซวเวีย ล้วนแล้ว แต่เป็นดอกไม้ที่ผมชอบ แต่ไม่สามารถปลูกได้ที่บ้านในกรุงเทพฯ เห็นแล้วก็อยากจะย้ายบ้านมาปลูกดอกไม้อยู่แถวนี้ให้มันรู้แล้วรู้รอดไปเลยจริงๆ

ฝนเริ่มตกพรำๆ อีกครั้ง อุปกรณ์กล้องตกอยู่ในอันตราย รวมทั้งสุขภาพของเธอด้วย ส่วนตัวผมนั้นตอนเด็กๆ เป็นหวัดงอมแงมตลอดเวลาจนตอนโตทนเป็นควายไปแล้ว นานๆ ถึงจะป่วยไข้สักทีเลยไม่ค่อยได้สนใจตัวเองนัก เราออกมาจากสวนอย่างแสนเสียดาย เพราะยังเดินไม่ทั่วเลยด้วยซ้ำไป เรากำลังมุ่งหน้าสู่จุดสูงสุดของแดนสยาม ผมยังไม่ได้เห็นปลาเลยแม้ แต่ตัวเดียว ถึงแม้ว่าอาการ “ไฮเปอร์” จะหมดไปบ้างแล้ว เพราะออกแรงงัดหินไปหลายก้อน แถมขาก็เหี่ยวๆ ชาๆ จากการแช่น้ำเย็นนานๆ (หินทุกก้อนถูกงัดแล้ววางกลับลงไปในมุมเดิมทุกก้อนครับ)

พอออกมาเกือบถึงปากทางฝนก็หยุดอีกครั้ง เราขับผ่านโรงเรียนหมายที่พี่หมีแนะนำให้ผมมา ผมมองหน้าเธอด้วยสายตาวิงวอน เธอถอนหายใจแล้วก็ยอมให้ผมแวะอีกครั้ง ก่อนหน้านี้ผมเห็นทางลูกรังสายเล็กๆ ที่ตัดข้ามลำธารไปสู่โบสถ์คริสต์ที่กำลังสร้างอยู่ (ชาวเขาแถวนี้ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์) เพื่อเป็นการประหยัดเวลาผมเลยเลี้ยวลงไปตามทางสายนั้นแล้วก็พบว่า ถนนสายนี้ไม่ได้ดีอย่างที่ผมคิด แฉะ ลื่น และร่องใหญ่มากๆ รถกระป๋องคันเล็กๆ ที่เช่ามาออกอากาศส่ายไปมา บ้างช่วงล้อตกลงไปในร่องท้องรถก็ขูดถนนดังครืดดดด เมื่อมาถึงจุดต่ำสุดของถนนซึ่งเป็นสะพานเล็กๆ ข้ามลำธารผมก็ตัดสินใจหยุดอยู่ตรงนั้น ถกขากางเกงยีนต์ คว้าสวิงคู่ใจแล้วก็ลุยป่าลงน้ำไปอีกครั้ง ผมยังใช้วิธีเดิมเปิดหินแล้วก็ลูบๆ แต่ก็ยังคว้าน้ำเหลว แถมสวิงยังมาขาดซ่ะอีก 15 นาทีต่อมาผมก็เริ่มทนไม่ได้ เดินกลับไปที่รถเปิดกระเป๋าคว้าสนอเกิ้ลมาใส่หัว ถอดกางเกง ยีนต์เปลี่ยนเป็นขาสั้น เธอมองหน้าผม “จะดำจริงๆ เหรอ หนาวนะ” ผมพยักหน้า บ้าแล้วเว้ยยยยยยยยยย

ผมค่อยๆ นั่งลงในน้ำซึ่งหนาวแบบสุดๆ ไปเลย แต่ก็ทำใจลงไปทั้งตัวไม่ได้ ในที่สุดผมเลยอยู่ในท่าคลานๆ ก้มๆ เงยๆ อยู่ในน้ำมองหาปลาไปเรื่อยๆ แต่ลำธารก็ยังเป็นลำธารร้างสำหรับผมอยู่ดี อะไรกันฟ่ะ!

ชายวัยกลางคนหน้าตาใจดีขี่มอเตอร์ไซด์ออกมาจากบริเวณที่กำลังสร้างโบสถ์อยู่ ผมตะโกนถามหาปลาติดหิน พี่เค้าพยักหน้าว่ารู้จัก แล้วก็จอดรถมอเตอร์ไซด์ถกขากางเกงลงมาช่วยผมจับปลา “คุณดำหาอย่างนั้นไม่เจอหรอก พวกนี้มันอยู่ใต้หินใหญ่ๆ ตามแก่งหน่ะ” ว่าพลางพี่เค้าก็ถกแขนเสื้อเดินนำผมไปที่แก่งเล็กๆ เลยสะพานลงมาหน่อย ถกแขนเสื้อแล้วก็ค่อยๆ ยกหินก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งขึ้นมา เอาหนีบไว้หว่างขาแล้วก็ใช้สองมือค่อยลูบลงไปบนหินจากล่างขึ้นบน “ถ้ามีปลามันจะขยับตามขึ้นมาเรื่อยๆ แล้วเราก็ตะครุบมันได้เลย” พี่โกมินทร์ บอกผม (ถามชื่อเรียบร้อยแล้วครับ)  หินก้อนแรก ก้อนที่สอง ก้อนที่สาม ก้อนที่สี่ ก้อนที่ห้า แก่งนี้ ข้ามไปแก่งบน ข้ามไปอีกแก่ง ก็ยังไร้วี่แววของปลาติดหิน “เอ แต่ก่อนผมเปิดสองก้อนก็เจอตัวแล้วนะเนี๊ย มันหายไปไหนหมด” พี่โกมินทร์ลำพึงลำพัน “เออ เห็นว่าชาวบ้านนิยมกินปลาติดหิน จริงรึเปล่าครับ?” ผมถาม “เอ้ออร่อย เนื้อนิ่ม หวาน ก้างก็น้อย ต้มก็ดี ทอดก็อร่อย แต่ก่อนกินกันเยอะ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้กินกันแล้วหล่ะ ปลามันเหลือน้อย แถวนี้เค้าอยากอนุรักษ์มันไว้ด้วย” พี่โกมินทร์เล่า ประโยคสุดท้าย ทำให้ผมใจชื้นขึ้นบ้าง “นอกจากเปิดหินหาอย่างนี้แล้วนะ บางทีเค้าใช้ตกเอาหน่ะ แบบไม่ต้องใช้เบ็ดเลย เอาไส้เดือนผูกกับเชือกไว้ แล้วก็ปล่อยให้ไหลเข้าไปในซอกหิน พอปลากินก็กระตุกลอยขึ้นมาแล้วก็เอาสวิงลองไว้” พี่โกมินทร์เล่าต่อ ผมพอจะนึกภาพออก เพราะตอนเด็กๆ เคยตกปลาก้างแถวบ้านที่ราชบุรีด้วยวิธีนี้เหมือนกัน และพี่โทนี่ก็เคยเล่าให้ฟังแล้วด้วยว่าเห็นชาวเหนือจับปลาค้อขนาดใหญ่ด้วยวิธีนี้ “นี่ ผมว่าเราลองไปหาเหนือน้ำขึ้นไปหน่อยดูดีกว่า เค้าสร้างฝายอยู่ใต้น้ำตก พอหน้าแล้งเค้าผันน้ำไปใช้ในโครงการหลวงหมด น้ำตรงลำธารนี้มันแห้งหมดเลยนะ สงสัยปลาคงหนีกันหมดแล้ว”  พี่โกมินทร์ว่า ผมพยักหน้าพอจะเข้าใจเหตุผล แล้วว่าทำไมแถวนี้ถึงไม่มีปลาเหลือเลย เกรงใจก็เกรงใจที่ต้องรบกวน ซึ้งน้ำใจก็ซึ้งน้ำใจ ที่พี่เค้าอุต- สาห์มาช่วยผมหาปลาจนเหนื่อยไปด้วย

ผมเดินกลับไปที่รถ มองดูล้อรถทั้งสี่ที่อยู่ในร่องโคลน กลับรถก็ไม่ได้ เดินหน้าก็ต้องข้ามสะพานที่ดินแฉะ และร่องใหญ่มากๆ จะถอยขึ้นก็ไม่มีหวัง ผมลองพยายามดูสองสามครั้งในที่สุดก็เลยสรุปว่ายังไงก็คงต้องข้ามสะพานไปให้ได้ เพื่อไปกลับรถที่ลานหน้าโบสถ์ ผมวิ่งไปขอยืมจอบมาจากบริเวณก่อสร้าง ขุดดินจากสันมากลบล่อง พี่โกมินทร์ช่วยขนหินมาถ่มล่อง “ดีเหมือนกัน ได้ซ่อมถนนไปด้วยเลย” พี่โกมินทร์บอก สักพักถนนก็พร้อมให้รถข้ามไปได้ ผมกลับรถ แล้วก็เข่นรถขึ้นเขา ครูดท้องไปอีกสองสามรอบในที่สุดก็กลับมาอยู่บนถนนลาดยางอีกครั้ง

ฝมเริ่มตกลงมาอีก พี่โกมินทร์ขี่มอเตอร์ไซด์นำหน้าผมไปบริเวณลำธารข้างๆ ศูนย์เพาะพันธุ์ปลา เป็นลำธารจุดที่พี่โกมินทร์บอกว่าน้ำไม่แห้ง เพราะเป็นจุดที่ฝายผันน้ำมาเข้าที่ศูนย์ เพื่อเลี้ยงปลาเทราท์ ลำธารเล็ก และลึกกว่าที่จุดแรก แก่งมีน้อย หินก้อนใหญ่ก็ไม่ค่อยมี เราลองจับอยู่สักครู่ไม่พบปลาอะไรก็เลยยอมแพ้ไปอีกที่ “ผมอยากให้คุณเห็นจริงๆ เราลองลงไปดูตรงห้วยใหญ่ที่น้ำใหญ่กว่านี้หน่อยดีกว่า” พี่โกมินทร์บอกผม ผมซึ้งน้ำใจจนแทบจะกระโดดกอด

แล้วพี่โกมินทร์ก็ขี่มอเตอร์ไซด์นำผมออกไปสู่ถนนใหญ่ ขับรถไปจอดบนลานใกล้ๆ กับห้วยใหญ่ริมถนน เราสองคนเดินผ่านแปลงปลูกดอกเยอบีร่าสวยๆ ไปที่ห้วยใหญ่ แล้วการเปิดหินลูบๆ ก็เริ่มขึ้นอีกครั้ง เราเริ่มจากต้นน้ำ ไล่ลงไปเรื่อยเป็นระยะทางเกือบ 50 เมตรเปิดหินไปหลายก้อน ในขณะที่ผมกำลังถ่ายรูปบุ้งตัวเล็กๆ ที่มีอยู่เยอะมากๆ พี่โกมินทร์ก็ร้องขึ้น “เฮ้ย หลุดไปแล้ว ตัวเบ่อเริ่มเลย” ผมหันขวับ “ปลาติดหินเหรอครับ” “ใช่ๆ เสียดายจัง” ผมมองหน้าพี่โกมินทร์ตาละห้อย ยังไม่ได้เห็นปลาติดหินเลย แต่ไม่เป็นไร อย่างน้อยก็ยังพอจะมีตัวเหลืออยู่บ้าง ฝนเริ่มตกหนักอีกครั้ง ผมรบกวนพี่เค้ามามากพอแล้ว และเธอก็รอนานมากแล้ว ผมบอกขอบคุณพี่โกมินทร์ ด้วยความซึ้งน้ำใจอย่างมาก “ถ้าคุณจะขึ้นมาอีก คุณโทรมาหาผมนะ เดี๋ยวผมจะมาช่วยหาอีก ผมอยากให้คุณได้เห็น” เราแลกเบอร์โทรศัทพ์กัน ผมเพิ่งรู้ว่าพี่โกมินทร์เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่โบสถ์แห่งนั้นนี่เอง ผมยังไม่แน่ใจว่าเมื่อไหร่ผมจะได้กลับมาอีก เพราะตามโปรแกรมแล้วเรากะว่าจะมาดอยอินทนนท์วันนี้วันเดียว

ผมลาพี่โกมินทร์อีกครั้ง มุ่งหน้าสู่ยอดดอยจุดสูงสุดแดนสยาม ระหว่างทางฝนตกพร่ำๆ และหมอกลงบางๆ ให้บรรยากาศมากๆ อีกไม่นานนักเราก็ขึ้นถึงยอดดอย ซึ่งหนาวมากๆ เราเดินไปเดินมาแถวนั้นสักพักเจอนกสวยๆ หลายชนิด แต่ที่ผมรู้จัก คือเจ้าติ๊ดสุลตาน นกสีเหลืองสดใสสลับดำที่สวยมากๆ น่าเสียดายที่เจ้าตัวไม่ยอมอยู่นิ่งให้ผมได้ถ่ายภาพ ตรงที่ทำการอุทยานซึ่งมีดอกฟูเซียปลูกไว้หลายกอ ผมพยายามมองหานกกินปลีหางยาวเขียว แต่ก็ไม่พบตัว อากาศคงไม่ค่อยดีนกเลยอยู่บ้านดีกว่าผมคิด

เย็นพอสมควรแล้ว ผมลงจากดอยอย่างเศร้าสร้อยหงอยเหงา พยายามมาครึ่งค่อนวันผมไม่ได้เห็นปลาติดหินเลยแม้ แต่ตัวเดียว สำหรับผมถ้าไม่ได้เห็นปลาติดหินทริปนี้ก็ไม่มีความหมาย เธอคงสังเกตุเห็นหน้าบูดๆ บึ้งๆ กึ่งเศร้าเซ็งของผม “พรุ้งนี้พาไปเที่ยว ทำตัวดีๆ แล้ววันจันทร์ค่อยมาใหม่นะ” นั่นแหล่ะ ผมถึงพอจะยิ้มออกได้บ้าง

เย็นวันนั้นเราหาอาหารใกล้ๆ โรงแรมกินกันง่ายๆ จากนั้นก็มุ่งหน้าสู่ไนท์บาซาร์ เพื่อการเดิน ชอปปิ้ง ผมมีใบสั่งจากคุณแม่มาหลายรายการเลยเชียว

ก่อนนอนผมโทรไปหาพี่หมี เพื่อรายงานผลการสำรวจ “คว้าน้ำเหลวครับพี่ ไม่มีสักตัว” ผมบอก “ฮ๊ะ ไม่มีเลย?  ตอนพี่ไปมันมีเยอะมากเลยนะ ปลาม่ำก็ไม่มีเหรอ?” “ไม่มีปลาอะไรเลยครับพี่” “แล้วจิ้งเหลนน้ำหล่ะ?  ตอนพี่ไปมีชุมเชียว” “ไม่มีครับพี่ไม่เห็นสักตัว”

แล้วผมก็โทรไปรายงานพี่โทนี่อีกคน “เป็นยังไงคุณนณณ์?” พี่โทนี่ชิงถามก่อน “ไม่ได้สักตัวเลยพี่” “ว๊า อย่างนี้น่าเป็นหวงนะ ผมฝากดูปลาค้อสไปโรต้าด้วยนะครับ ตัวนี้ก็กระจายพันธุ์อยู่เฉพาะแถวนั้นเหมือนกัน ดอยอินทนนท์. ดอยเชียงดาว หมดแล้วหมดเลยเหมือนกันนะครับ” “โถ่ พี่ปลาสักตัวผมก็ไม่เจอเลย”

เช้าวันอาทิตย์ เราออกเดินทางมุ่งหน้าสู่ดอยสุเทพ เพื่อไปมนัสการพระธาตุกัน หลังจากหลงทางอยู่สักพักเจ้ารถกระป๋องก็พาพวกเรามาถึงที่จอดรถวัดพระธาตุดอยสุเทพจนได้ ถึงตอนนี้เรามีสองทางเลือกจะเดินขึ้นหรือจะนั่งรถกระเช้า ผมมองหน้าเธอ ลองไหม? เธอพยักหน้า “ห้ามหยุดพักเลยนะ ใครถึงก่อนชนะ” ว่าแล้วผมก็รีบจ้ำอ้าวขึ้นบันไดมุ่งหน้าสู่วัด เธอตามหลังมาติดๆ ในที่สุดก็แซงผมได้ในช่วงสุดท้ายเข้าวินไปก่อน เราใช้เวลาอยู่ที่วัดพอสมควร เพื่อชื่นชมกับสถาปัตยกรรมอันงดงาม และเราก็ได้เวียนเทียนรอบพระธาตุด้วย

จากดอยสุเทพผมจำได้คุ้นๆ ว่าเคยไปเที่ยวรีสอร์ทแถวแม่สายซึ่งสวยมากๆ เลยชวนเธอไปเที่ยวกัน ขาลงดอยผมร่ำๆ จะเลี้ยวรถเข้าสวนสัตว์เชียงใหม่ให้ได้ แต่สายตาคู่นั้นก็บ่งบอกความในใจไว้แล้ว “ถ้าวันนี้เอ็งออกนอกลู่นอกทาง พรุ่งนี้ไม่ได้ขึ้นอินทนนท์แน่ๆ ”  ผมเลยมุ่งหน้าสู่แม่สายอย่างไม่ต้องคิดมาก แต่เมื่อมาถึงผมก็พบว่ารีสอร์ทไม่ได้สวยอย่างเก่าเสียแล้ว พลาดหวัง เราแวะที่สวนพฤษ-ศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ซึ่งเราเห็นป้ายทางเข้าอยู่ระหว่างทางไปรีสอร์ท ที่นั้นผมต้องตื่นตาตื่นใจมากๆ กับเรือนกระจกหลังใหญ่หลายหลัง ภายในจำลองไว้ทั้ง สวนน้ำ สวนเฟิร์น สวนกระบองเพชร และที่เรือนใหญ่หลังเท่าตึกหลายชั้นเป็นการจำลองป่าดิบชื้นพร้อมทั้งน้ำตกขนาดใหญ่ได้อย่างน่าประทับใจมากๆ ต้นไม้เขียวคลึ้มไปหมด ย่านดาโอ๊ะหรือใบไม้สีทอง ซึ่งพบในป่าดิบชื้นทางใต้ (ที่ผมเจอที่ป่าบาลา จังหวัดนราธิวาศไงครับ) ก็ยังขึ้นอย่างงดงามในเรือนกระจกแห่งนี้ ไม่น่าเชื่อจริงๆ ว่าตอนนี้ผมอยู่บนดอยที่เชียงใหม่ เราเดินชื่นชมดอกไม้ใบไม้กันอยู่นานทีเดียว ผมไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่าเมืองไทยของเรามีสถานที่แบบนี้อยู่ด้วย เทห์มากๆ ใครไปเชียงใหม่อย่าพลาดเชียวครับ

เราใช้เวลาที่สวนพฤษศาสตร์ฯนานมากๆ จนเริ่มบ่ายคล้อย ขากลับเราแวะชมฟาร์มกล้วยไม้ และผีเสื้อซึ่งไม่มีอะไรตื่นเต้นนัก ยกเว้นผีเสือกลางคืนแอตลาส (Atlas moth, Attacus atlas) ผีเสื้อกลางคืนที่มีขนาดปีกใหญ่ที่สุดในโลก ปกติแล้วผมเห็นที่ไรก็อยู่บนบอร์ดถูกอัดติดอยู่กับกระจกเสียทุกทีไป เพิ่งเคยเห็นตัวเป็นๆ ก็คราวนี้เอง

คืนนั้นเราไปกินขันโตกกันที่ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ ชมฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน และศิลปการแสดงต่างๆ ของชาวเขา แล้วก็กลับโรงแรม นอนไปอย่างเหนื่อยอ่อน ผมไม่ลืมโทรไปนัดอาจารย์โกมินทร์ และตั้งนาฬิกาปลุกให้ตื่น แต่เช้าตรู่ เรามีเวลาไม่มากนักพรุ่งนี้ เนื่องจากตัดสินใจค่อนข้างช้า เที่ยวบินช่วงเย็นจึงเต็มหมดแล้ว เครื่องเราออกบ่ายสอง

ตีห้าครึ่งผมตื่นขึ้นมาอย่างกระฉับกระเฉง และมีความหวัง วันนี้แหล่ะต้องเป็นวันดีของผมแน่ๆ อาบน้ำ แต่งตัว กินข้าวเช้าริมสระว่ายน้ำแล้วเราก็มุ่งหน้าสู่ดอยอิน-ทนนท์ อีกครั้ง ภายในเวลาชั่วโมงกับอีกนิดหน่อยรถกระป๋องก็มาจอดอยู่ที่หน้าบ้านพ่อหลวง (ผู้ใหญ่บ้าน) ซึ่งเป็นบ้านของน้องชายอาจารย์โกมินทร์แล้ว

ที่ลานดินหน้าบ้านเด็กชาวเขาหลายคนกำลังรุมเล่นน้ำในแอ่งน้ำฝนเล็กๆ กันอยู่ ผมคว้าขนมลงไปแจกเด็กๆ ไปคนละสามสี่ชิ้น (นณณ์รักเด็กนะฮ๊าาาาา) อาจารย์โกมินทร์ก็มาถึง วันนี้อาจารย์มีลูกมือมาด้วยอีก 3 คนเชียวครับ

“ไปเหนือๆ ดีกว่า ไปให้เหนือฝายตรงแถวสวนดอกไม้นั่นแหล่ะ ตรงนั้นมีน้ำตลอดปี และไม่ค่อยมีคนมากวนด้วย” อาจารย์บอก แล้วก็ขี่มอเตอร์ไซด์นำผมขึ้นไปก่อน

ที่สวนหลวงศิริภูมิ เราขออนุญาติหัวหน้างานผู้ดูแลสวน เพื่อเข้าไปจับปลา แล้วการพลิกลูบก็เริ่มขึ้นอีกครั้ง ต่างกันหน่อยตรงที่วันนี้เรามีสวิงอันใหญ่ของอาจารย์อีกอันมาคอยลองรับไว้ด้านใต้อีกทีเผื่อกันปลาหลุดหนีแบบเมื่อวานซืนนี้อีก ตอนแรกอาจารย์เริ่มหาตรงใกล้ๆ กับจุดที่ผมหาดูเมื่อวานนี้ และก็เป็นเป็นตามที่ผมคาด คือเงียบสนิทหาอยู่สักพัก อาจารย์เลยพาเราเดินลัดเลาะริมสวนขึ้นไปจนถึงจุดที่น้ำตก ตกลงมาถึงพื้นซึ่งบริเวณนี้รวมกันคงยาวไม่ถึง 30 เมตรก่อนที่จะไหลเป็นแก่ง 45 องศาลงสู่จุดที่เราเริ่มหาครั้งแรก

ก้อนที่หนึ่งผมงัดหินขึ้นมา อาจารย์คว้าไว้แล้วดึงไปหนีบไว้ที่ขา ผมเอาสวิงยัดเข้าไปใต้หิน อาจารย์เอามือลูบๆ เราทำงานเป็นทีมกันอย่างคล่องแคล้ว ส่วนเด็กๆ ตอนนี้เจอปูน้ำตก และจับลูกอ๊อดได้เลยกำลังเพลิดเพลินกันอยู่ คุณเธอก็กำลังชื่นชมดอกไฮเดร็นเยียสีม่วงอ่อนพุ่มสวยอยู่ใกล้ๆ ก้อนต่อไปเราก็ทำเหมือนเดิม เราตั้งใจหากันมากจนแทบไม่ได้พูดกันเลย แล้วอาจารย์ก็พูดขึ้น “เนี๊ย เมื่อวานนี้ผมเทศน์สอนชาวบ้าน ว่าวันนี้มีคนกรุงเทพฯมาหาปลาติดหิน ผมช่วยเค้าจับอยู่ตั้งนาน แต่จับไม่ได้เลยสักตัวเดียว พวกเราต้องช่วยกันอนุรักษ์ไว้นะ” ผมยิ้มๆ สัตว์ และพืชชนิดไหนจะให้หายากใกล้สูญพันธุ์แค่ไหน จะให้มูลนิธิหรือองค์กรณ์ของรัฐเงินหนานักวิชาการมีความรู้แค่ไหน ถ้าชาวบ้านไม่ช่วยอนุ-รักษ์ก็ไม่มีทางประสบความสำเร็จ แต่ถ้าคนในพื้นที่เห็นความสำคัญแบบนี้ รบร้อยครั้งชนะร้อยคราครับผม

หินก้อนที่ห้าเราทำเหมือนเดิม แต่คราวนี้เมื่อผมยกสวิงขึ้นมาก็พบปลาตัวสีเหลือง หัวทู่มน และแบนมากๆ ตัวสักเกือบคืบ ดิ้นคลุกคลักอยู่ก้นสวิงด้วย เป็นความรู้สึกแปลกๆ เพราะที่ผ่านมายกได้ แต่น้ำเหลวกับหินแข็ง “นี่แหล่ะๆ ปลาติดหินหล่ะ” อาจารย์พูดขึ้น ส่วนผมที่กำลังงงๆ อยู่ ยังไม่สามารถปรับอารมณ์ได้ถูก เมื่อรู้ว่าอะไรเป็นอะไรก็ “ยะฮู้ววววววววว” ลั่นสวนขอบอกขอบใจขอบคุณอาจารย์เป็นการใหญ่ อุตสาห์เดินทางมาไกลเป็นพันกิโลก็ เพื่อวินาทีนั้นเอง ปลาติดหิน สัตว์คุ้มครองของไทย หนึ่งในปลาที่หายากที่สุด มีถิ่นแพร่กระจายพันธุ์แคบที่สุดในประเทศไทย ในที่สุดผมก็ได้เห็นแล้ว ผมจำไม่ได้จริงๆ ว่าผมขอบคุณอาจารย์ไปกี่ทีแล้ว แต่ผมขอขอบคุณตรงนี้อีกครั้งครับผม

ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญแห่งกรมประมง เคยตั้งสมมุติฐานไว้ว่า แต่เดิมในยุคที่อากาศยังหนาวกว่านี้ ปลาชนิดนี้คงอาศัยอยู่ทั่วไปในบริเวณนี้ ต่อมาเมื่อแผ่นดินในส่วนนี้เริ่มโก่งตัวขึ้นจากการดันตัวของผิวโลกจนกลาเป็นเขาสูงหลายลูกกอรปกับอากาศซึ่งเริ่มอุ่นขึ้น ทำให้ปลาในสกุลนี้ (Oreoglanis) ซึ่ง แต่เดิมน่าจะมีอยู่แค่ชนิดเดียว เพราะกระจายพันธุ์อย่างทั่วถึงในแหล่งน้ำ เริ่มอพยพขึ้นมาอยู่ตามลำธารบนเขาสูง แต่ละลูก เมื่อ แต่ละกลุ่มถูกตัดขาดออกจากกันโดยสิ้นเชิง จึงมีการวิวัฒนาการแยกกันออกมา เพื่อให้เหมาะสมกับแหล่งที่อยู่อาศัย จนในที่สุดจึงแยกออกมาเป็นชนิดต่างหาก เหมือนกับปลาติดหินสยาม (O. siamensis) ตัวนี้ และญาติๆ ต่างชนิดบนดอยต่างๆ อีกหลายดอยในเขตนี้ซึ่งล้วนแล้ว แต่เป็นชนิดต่างกันออกไป

ระหว่างที่ผมถ่ายรูปปลาตัวแรก อาจารย์จับปลาติดหินตัวขนาดย่อมกว่าได้อีก 2 ตัว เราพบว่าความหนาแน่นของปลาติดหินในลำธารช่วงสั้นๆ นี่ไม่เลวเลยทีเดียว ถึงจะเป็นช่วงแค่ 20-30 เมตร แต่ก็ยังดีกว่าไม่เหลือเลย ผมหวังว่าคงไม่ใช่ว่าเหลืออาศัยอยู่แค่ตรงจุดนี้นะครับ ถิ่นอาศัยที่เหมาะสมของปลาเฉพาะถิ่นตัวนี้กำลังร่อยหล๊อ ผมถ่ายภาพปลาทั้ง 3 ตัวไปหลายมุมก่อนที่จะปล่อยให้กลับไปสืบทอดสายพันธุ์ แต่ปรากฎว่าภาพเสียซ่ะส่วนใหญ่ เพราะมีการขัดข้องที่การ์ดความจำ แต่ในสมองผมนั้นยังแจ่มชัดอยู่เสมอ ทริปนี้ถึงแม้จะมาไกล และได้ปลาแค่ชนิดเดียว แต่ก็เป็นอีกทริปที่ผมประทับใจจริงๆ ทั้งความสวยงามของธรรมชาติ และน้ำใจของคนท้องถิ่น

ฝนเริ่มตกอีกครั้ง ผมบอกลาอาจารย์กล่าวขอบคุณอีกไม่รู้กี่ครั้งในความมีน้ำใจ ถ้าไม่มีอาจารย์ผมคงไม่ได้เห็นปลาติดหินแน่ๆ ครับ ผมกับเธอไปเที่ยวตรงศูนย์วิจัยของโครงการหลวงกันอีกหน่อยท่ามกลางสายฝน ปลาเทราท์สายรุ้งตัวใหญ่ว่ายไปมาอยู่ในตู้ ผมชวนเธอลองกินกันดูสักที แต่เธอยังไม่หิว และสงสารปลา  

เกือบ 11 โมงเราลงจากดอยมุ่งหน้ากลับเข้าเมือง เพื่อซื้อของฝากกันเป็นยกสุดท้าย แล้วก็ถึงเวลาบอกลาเชียงใหม่อย่างเป็นทางการเสียที

 

ขอขอบคุณ

อนุศาสนาจารย์ (อศจ.) โกมินทร์ เทิดไพรพนาวัลย์ ความมีน้ำใจของอาจารย์ผมไม่รู้จะขอบคุณอีกกี่ครั้งถึงจะพอ

เธอที่ไปเป็น เพื่อนผมอีกครั้ง

พี่หมี พี่โทนี่ สำหรับข้อมูลปลา และข้อมูลการเดินทาง

ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ผู้ผลักดันให้ปลาติดหินเป็นสัตว์คุ้มครอง

และที่ขาดไม่ได้ คือชาวบ้านทุกท่านที่ช่วยกันอนุรักษ์ปลาติดหินครับ

 +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

 

 

ชื่อไทย: ติดหิน, ค้างคาว
ชื่อสามัญ: Siamese Butterfly Catfish
ชื่อวิทย์: Oreoglanis siamensis Smith

ลักษณะทั่วไป: เป็นปลาที่ไม่มีเกล็ด ครีบหลัง และอกไม่มีก้านแข็ง รูปร่างเรียวยาว หัวโต อกแบนราบมีหนวด 4 คู่ ตัวสีน้ำตาลอมเขียวเหลือง ครีบอก ขากรรไกรบนแบน และกางออกเป็นครึ่งวงกลมปากอยู่ด้านล่าง ครีบอกใหญ่ ครีบก้นเล็ก มีแต้มสีจางๆ บนหลัง

ที่อยู่: ที่น้ำไหลแรงบนดอยอินทนนท์ อยู่ที่สูงราว 1000-1500เมตรจากระดับน้ำทะเล และมีอุณหภูมิน้ำระหว่าง 5-14 องศาเซลเซียส

สถานะภาพ: เป็นสัตว์ถิ่นเดียวอาศัยอยู่เฉพาะในลำธารน้ำไหลบนดอยอินทนนท์เท่านั้น ปัจจุบันถิ่นอาศัยถูกคุกคามจากการพัฒนาแหล่งน้ำ และสารเคมีจากการเกษตร

ปลาค้างคาวเป็น 1 ใน 4 ของปลาที่จัดเป็นสัตว์คุ้มครองของประเทศไทย (อีก 3 ตัว คือ ตะพัด, เสือตอลายใหญ่,
และ หมูอารีย์)

ไม่สามารถอยู่รอดในที่เลี้ยงได้เนื่องจากปลาต้องการอุณหภูมิน้ำที่ต่ำ และมีอ๊อก-ซิเจนละลายอยู่สูงมาก นอกจากนั้นยังคาดการว่าปลายังปรับตัวให้เข้ากับแรงกดดันต่ำบนพื้นที่สูงด้วย ถึงแม้ว่าจะให้ฟองอากาศอย่างแรงตลอดเวลาก็เลี้ยงไม่รอดบนพื้นที่ราบ ห้ามนำออกจากแหล่งธรรมชาติโดยเด็ดขาด

more survey ...

 

www.siamensis.org - Thailand Fish & Nature Explorer
An independent non-profit group
Established 2001
 All Rights Reserved 2001-2010 ©siamensis.org