: Home : Board : Articles : Expeditions : About us : Privacy Policy :
 

 

ควายฝูงใหญ่กับนกกระยางที่คอยบินตาม
นกยอดหญ้าหัวดำตัวเมีย (Saxicola torquata) เป็นนกอพยพ ที่เข้ามาเยี่ยมเมืองไทยในฤดูหนาวทุกๆ ปี
นกกาน้ำเล็ก (Phalacrocorax niger) กำลังยืนพึ่งปีกอย่างสบายอารมณ์ นกชนิดนี้เป็นนกประจำถิ่นที่พบได้บ่อยในภาคกลาง
กาน้ำเล็กทั้งฝูง นานๆ จะเห็นเกาะรวมกันเยอะๆ อย่างนี้สักครั้ง
นกยางโทนน้อย (Egretta intermedia) เป็นนกที่อพยพเข้ามาในเมืองไทยในช่วงหน้าหนาวเช่นกัน
ฝูงนกยางเปีย (Egretta garzetta) บินกันเป็นฝูง สังเกตความแตกต่างของนกชนิดนี้จากยางโทนน้อยได้จากส่วนขาสีเหลือง(สีดำในยางโทนน้อย) และปากสีดำ(สีเหลืองปลายดำในยางโทนน้อย) 
บรรยากาศโดยรวมที่บ้านลาดชะโด เป็นหมู่บ้านริมน้ำที่เงียบสงบ
ก๊วยเตี๋ยวเรือมาแล้วจ๊า
บ้านลาดชะโดอีกมุม
ปลาสังกะวาดท้องคม (Pteropangasius pleurotaenia) ลอยหัว
ปลาซิวควายหางไหม้ (Rasbora tornieri) ตัวนี้พะงาบมาใกล้ตายเต็มทน
ลูกปลากาดำ (Morulius chrysophekadian) ที่พี่อัศวินเลี้ยงเอาไว้
วันนี้ปลาลอยไม่เยอะ แต่ชาวบ้านก็ยังออกมาจับปลากันเยอะแยะ โปรดสังเกตเรือลำตรงกลางกำลังจะชนบก หุ หุ
ปลาแขยงข้างลาย (Mystus mysticetus) ก็ลอยหัวกับเค้าด้วย
ตูดของปลาปักเป้า (Tetraodon sp.) เวลาพองลมจะเห็นเป็นตาดวงใหญ่
ปลาซัคเกอร์นอนหมดสภาพ ปลาชนิดนี้ชาวบ้านจับได้ก็กินเหมือนกัน เห็นบอกว่าเอาไปเผาแล้วลอกเกราะออกมาเนื้อขาวยังกับอกไก่
สถาปัตยกรรมชาวรามัญของโบสถ์ไม้หลัวใหญ่ที่วัดลาดชะโด
ด้านในของโบสถ์ เสาไม้ต้นใหญ่ๆ น่าเสียดายที่อีกไม่นานโบสถ์ไม้หลังเก่านี้ก็จะถูกรื้อเสียแล้ว
ภาพแกะสลักปลาชะโดขนาดใหญ่ภายในโบสถ์
บ้านหลังเล็ก แต่ยอหลังใหญ่
คุณป้ายกยอได้ปลาสังกะวาดหลายตัวเชียว
คุณลุงกำลังซ่อมยอครับผม
ลักษณะการวางตาข่ายขนานผิวน้ำ
ปลาติดตาข่ายเต็มไปหมด ที่มุมบนด้านซ้ายมือของภาพมีบางตัวฮุบพลาดตาข่ายไปหน่อยเดียว
บ้านริมน้ำแถวลาดชะโด โปรดสังเกตศาลพระภูมิซึ่งจะเป็นเสาเดี่ยวสูงกว่าอีกศาลเล็กน้อย (ด้านขวามือ) กับศาลเจ้าที่ซึ่งจะมีสี่เสา โดยที่ศาลทั้งสองจะอยู่กลางน้ำหน้าบ้านเสมอ
ต้นกุ่มน้ำ(Cratevia magna) ดอกของต้นไม้ชนิดนี้นอกจากจะสวยแล้วยังนำไปดองมาจิ้มน้ำพริกกินได้ด้วย
แมวเมี๊ยวตาสีสวย
อ่ะใครหน่ะ ท่าทางกึ่งมุ่งมั่นกึ่งบ้าๆ บอๆ (ภาพนี้กุ๋ยถ่าย ผมหล่อ)
นกยางกรอกพันธุ์จีน (Ardeola bacchus) ตกใจเสียงเรือบินหนีกันไปตลอดลำคลอง
ปลาแขยงหิน (Pseudomystus siamensis) ตัวนี้เป็นอีกตัวที่โชคร้ายติดยอชาวบ้านขึ้นมา
ปลาชะโด (Channa micropeltes) กับปลาดุกด้าน (Clarias batrachus) หลายตัวในกระชังที่ชาวบ้านขังปลาไว้
คุณยายซื้อขายปลาริมน้ำ
ปลาแสลด หรือ ปลาสลาดขนาดเล็ก (Notopterus nototerus)
ปลากราย (Chitala ornata) ขนาดใหญ่ที่จับได้จากตาข่าย
คุณป้าก๊วยเตี๋ยวเรือ โปรดสังเกตแคมเรือห่างน้ำไม่ถึงคืบ
น่ากินไหมหล่ะ? ก๊วยเตี๋ยวเรือของแท้ ไม่จำเป็นต้องน้ำตก!
อร่อยจริงจริ๊ง
กล่องขายยาสมุนไพรหลากหลายที่บ้านป้าพี่อัศวิน
บ้านถัดไปขายอุปกรณ์จับปลา ที่เห็นกำลังเย็บอยู่เป็นผื่นยอครับ
ตัวเบ็ดหลากหลายขนาด ที่น่าสนใจจะอยู่ที่แถว 3 และ 4 ซึ่งน่าจะเป็นเบ็ดที่ใช้หยกปลาช่อนปลาชะโด และไม่เห็นมีขายตามร้านทั่วไป นอกจากร้านท้องถิ่นแบบนี้
ไม่ต้องบรรยาย น่ารักมาก
ไบเลห์ โอ้วเย้ วันนี้ซัดไป 2 ขวด
หมุนไข่ ไข่หมุน หมุนๆ แล้วไข่ตก คิดถึงฉะมัด
นกปากห่าง (Anastomus oscitans)  หรือนกช้อนหอยของชาวบ้านแถบนี้ เกาะทำรังกันเป็นฝูงเลย (พี่อัศวินเล็งมุม ผมกดชัตเตอร์หุ หุ หุ)
นกปากห่างขณะกำลังบิน ภาพนี้จะเห็นลักษณะ "ปากห่าง" ได้อย่างชัดเจน เป็นวิวัฒนาการของนก เพื่อจับกินหอยโข่งได้อย่างถนัดปาก
มุงกันดูปลาเล็กปลาน้อยที่ช้อนได้ (ภาพนี้แนนถ่ายแน่ๆ เพราะคนอื่นอยู่ในภาพกันหมดแล้ว)
ทำปลาสลิด (Trichogaster pectoralis) กัน ตัวใหญ่ๆ น่ากินเชียว
ปลากระดี่วง (Trichogaster trichopterus) หอมหวนชวนดม
บรรยากาศของชีวิตริมน้ำที่คงจะค่อยๆ เลือนหายไป (กุ๋ยถ่ายภาพ)
ทางเดินไม้บรรยากาศดีๆ
สะพานไม้ และบรรยากาศเก่าๆ ที่ผมหวังว่าคงจะไม่เลือนหายไปเร็วนัก
สาวน้อยผักไห่
ปลาสวาย (Pangasianodon hypophthalmus) กับ ปลาเทโพ (Pangasius larnaudii) แย่งกันกิน อาหารที่วัดริมแม่น้ำน้อย แยกปลาเทโพจากปลาสวายได้ง่ายๆ จากปานสีดำที่ฐานครีบหูครับ
 

 

 

บ้านลาดชะโด, อำเภอ ผักไห่, จังหวัด อยุธยา

เรื่อง/ภาพ นณณ์ ผาณิตวงศ์

ผมอิจฉาหลายๆ คนที่มี “บ้านเกิด” ให้กลับไปเยี่ยม มีความทรงจำเก่าๆ ให้ระลึกถึง มี เพื่อนบ้าน มีสังคมอีกสังคมหนึ่งที่สามารถกลับไปเยี่ยมเยียนได้ นึกอาภัพตัวเองเกิดเป็นคนกรุงเทพฯ อยู่ที่เดิมตลอดโดยที่แทบจะไม่รู้จัก เพื่อนบ้านเลย แถมทุกอย่างเปลี่ยนไปรวดเร็วจนไม่เหลืออะไรให้ระลึกถึงเลย แม้ แต่บ้านเกิดก็ยังถูกทุบทิ้ง เหลือ แต่อิฐก้อนเดียวที่แอบเก็บไว้เป็นทีระลึก อิฐก้อนเดียวจริงๆ  

“ไปผักไห่กันป่าว?  ตอนนี้ที่ผักไห่ จ.อยุธยา บ้านเกิดของผม น้ำเริ่มลดแล้วครับ ออกซิเจนในน้ำน้อยลง ปลาเริ่มลอยหัวกันให้เห็น วันนี้โผล่ไปดูหลังบ้าน ที่เห็น ๆ มีปลาซิว, ปลาหางไก่, ปลาแป้น และ อื่น ๆ ครับ แม้ว่าจะไม่เยอะเท่าปีกลาย แต่ก็น่าดูมาก” 

พี่อัศวินแปะข้อความไว้ที่เว็บบอร์ด ชักชวนพวกเราไปเที่ยวบ้านเกิดที่ จ.อยุธยา ซึ่งได้โฆษณาไว้หลายหนแล้ว ผมซึ่งว่างในวันอาทิตย์ที่จะถึงพอดีจึงตอบรับเป็นคนแรก ก่อนที่จะมี เพื่อนร่วมทางเพิ่มขึ้นอีกสองคน คือ กุ๋ย และแนน เจ้าเก่าจากชลบุรี เราออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ตอน ๘ โมงกว่าๆ อีก ๑ ชั่วโมงกับไม่กี่นาทีต่อมาก็มาถึง อ.ผักไห่ อย่างไม่ยากเย็นนัก บรรยากาศรอบด้านเป็นทุ่งนาเขียวชอุ่ม บางช้วงก็เป็นบ่อบัวบ่อน้ำเล็กๆ พวกเราเห็นชาวบ้านต้อนควายเป็นฝูงเดินไปในทุ่งนาโดยมีนกกระยางหลายสิบตัวบินว่อนไปรอบๆ เพื่อคอยจับตั๊กแตน และแมลงอื่นๆ ที่ตื่นควายเดินแล้วบินขึ้นมาจนกลายเป็นอาหารอันโอชะ ถัดจากนั้นเราก็เลี้ยวรถ เพื่อมุ่งหน้าสู่ บ้านลาดชะโด ซึ่งเป็นบ้านเกิดของพี่อัศวิน ถนนเส้นเล็กๆ เส้นนั้น ตัดผ่านทุ่งนาเขียวชะอุ่ม และข้างๆ ถนนก็เป็นหนองเล็กๆ เรียบไปตลอด เราจอดรถถ่ายภาพนกพริกซึ่งเดินหากินอยู่ริมน้ำ นิ้วยาวๆ ของมันช่วยถ่ายน้ำหนักตัวของมันไปเป็นบริเวณกว้างเมื่อเดินหากินไปตามใบบัว ทำให้มันไม่จมน้ำ  นกกระยางสีขาวตัวใหญ่ตกใจบินหนีไปเมื่อเราชะลอรถ ในขณะที่นกกาน้ำตัวสีดำขลับเพียง แต่ชำเลืองมองเราเท่านั้นในขณะที่กำลังยืนพึ่งปีกให้แห้งอยู่อย่างสบายใจที่ริมน้ำ นกปากห่างฝูงใหญ่บินอยู่บนท้องฟ้า ในขณะที่อีกฝูงใหญ่เกาะอยู่บนต้นไม้ใหญ่ไกลออกไป พวกเราขับจอด ขับจอด ชื่นชมนกตัวนู้นตัวนี้จน แนนทักว่าวันนี้ก็คงไม่ถึง ลาดชะโด แน่ๆ แต่ในที่สุดเราก็ทำใจได้ และตัดสินใจไม่มองข้างทางอีกเลย หลังจากที่พี่อัศวินโทรมาถามเป็นครั้งที่ ๒ ว่าทำไมถึงยังไม่ถึงสักที

พี่อัศวินนัดให้เราไปพบที่วัดลาดชะโด ซึ่งแว่บแรกที่เห็นผมก็มีความรู้สึกแปลกๆ กับสถาปัตยกรรมของโบสถ์ไม้หลังเก่าขนาดใหญ่ เพราะเป็นทรงที่ไม่คุ้นตาสำหรับวัดแถวจังหวัดอยุธยานี้ แต่ไพร่ไปคล้ายกับที่ไหนสักแห่งที่ผมนึกไม่ออก แล้วอีกไม่นานผมก็ลืมไปเมื่อไปถึงบ้านพี่อัศวิน เราจอดรถริมบึงน้ำขนาดกลางๆ แล้วเดินเข้าไปในเรือนไม้หลังเก่าที่มีสถาปัตยกรรมยุคไทยโบราณอยู่ทุกกระเบียดนิ้ว  เราแวะไหว้คุณยาย แล้วจึงตรงออกไปสู่ท่าน้ำด้วยความตื่นเต้น ว่าวันนี้จะมีปลาอะไร “ลอยหัว” บ้าง พฤติกรรม “ลอยหัว” ของปลานี้ เกิดจากการที่อ๊อกซิเจนในน้ำมีไม่พอ จนปลาต้องพยายามขึ้นมาหายใจเอาอากาศจากผิวน้ำด้วย ซึงจริงๆ แล้วก็มีปลาหลายกลุ่มที่พึ่งพิงอ๊อกซิเจนจากอากาศโดยตรง เช่นพวกปลาช่อน ปลากระดี่ และ ปลากัด ปลาพวกนี้มีอวัยวะช่วยหายใจพิเศษ (Labyrinth) ซึ่งช่วยให้พวกมันสามารถดักเอาอ๊อกซิเจนจากอากาศไปใช้ได้ดีกว่าปลาชนิดอื่นๆ ซึ่งความสามารถในการหายใจจากอากาศนี่เอง ทำให้ปลาพวกนี้สามารถอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีอ๊อกซิเจนน้อยได้ (น้ำเสีย) แต่ข้อเสียก็ คือปลาพวกนี้จำเป็นจะต้องพึ่งพิงอ๊อกซิเจนจากอากาศอยู่ตลอดเวลา และจะขาดใจตายถ้าไม่สามารถหุบเอาอากาศภายในเวลาที่เหมาะสม ซึ่งกลายมาเป็นจุดอ่อนของปลาในกลุ่มนี้ เช่น ปลาช่อน ซึ่งลูกของมันต้องขึ้นมาฮุบอากาศอยู่ตลอดเวลา กลายเป็นที่สังเกตเห็นได้ง่าย และ ทำให้ตัวพ่อแม่เดือดร้อนจากการตามล่าของมนุษย์ นอกจากปลาที่มีอวัยวะช่วยหายใจพิเศษแล้ว ก็ยังมีปลาอีกหลายชนิดที่มักจะหุบอากาศ เพื่อเป็นการช่วยการหายใจอยู่เสมอๆ เช่นปลาในกลุ่ม ปลากราย, ปลากระสูบ, ปลาหนัง พวกปลาดุก ปลาสวาย และ ปลาสังกะวาด  ซึ่งถ้าสังเกตจนชำนาญจะพบว่าปลา แต่ละชนิดมีลักษณะการฮุบต่างกันไป ซึ่งบางครั้ง ก็บอกให้มนุษย์ผู้ล่าทราบตำแหน่งของพวกมันได้โดยง่ายเช่นกัน แต่อาการ “ฮุบอากาศ” นั้นก็เป็นเพียงพฤติกรรมปกติเท่านั้น ไม่เหมือนกับพฤติกรรม “ลอยหัว” ซึ่งเป็นอาการลอยพะงาบๆ จะตายแหล่มิตายแหล่ ซึ่งจริงๆ แล้วในธรรมชาติเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก โดยเฉพาะกับแม่น้ำซึ่งมีน้ำถ่ายเทสะดวกอย่างแม่น้ำลาดชะโดสายนี้ และก็ ทำให้ผมแปลกใจว่าทำไมถึงเกิดขึ้นได้ทุกปี

ที่ท่าน้ำ ผมเห็นปลาซิวควายตัวใหญ่ลอยพะงาบๆ อยู่ใกล้ๆ ในขณะที่ปลาสังกะวาดตัวย่อมหลายตัวลอยหัวส่ายไปมาอยู่ห่างออกไป พี่อัศวินตามออกมาดู พลางบ่นว่าน่าเสียดายที่วันนี้มีปลาขึ้นไม่มากนัก และข้อสำคัญ คือไม่มีปลาหางไก่ที่ผมอยากเห็น แต่สำหรับผมกับกุ๋ยกับแนน ซึ่งไม่เคยเห็นมาก่อน แค่นี้ก็นับว่าตื่นเต้นมากแล้ว เมื่อปลาซิวลอยหัวเข้ามาได้ระยะ ผมจึงจัดการช้อนขึ้นมาถ่ายรูปแล้วจึงจัดการโยนออกไปกลางแม่น้ำซึ่งดูเหมือนว่าน้ำจะถ่ายเทดีกว่า แต่ก็ดูเหมือนจะสายไปเสียแล้วสำหรับปลาตัวนี้

“ปลามานี่ม่ะ ๆ ๆ ๆ ”  ผมบ่นพึมพัมเล่นๆ ขณะที่กำลังลุ้นให้เจ้าสังกะวาดตัวน้อย ลอยหัวเข้ามาในระยะสวิง “เอ้าๆ ระวังตกไปเน้อ” คุณยายที่มานั่งดูพวกเราช้อนปลากันอยู่ที่ชานบ้านตะโกนเตือนด้วยความหวังดี เพราะท่าของผมตอนนั้นเหมือนกับจะกระโดดน้ำอยู่แล้ว ห่างฝั่งออกไปสักหน่อย หนุ่มชาวบ้านคนนึงกำลังเหวี่ยงแหหาปลาหากุ้งอยู่อย่าง ขมักขเม้น พี่อัศวินซึ่งดูเหมือนจะรู้จักชาวบ้านแถวนี้เกือบทุกคน ตะโกนวานให้เค้าช่วยหาเรือมาให้พวกเราสักลำ แล้วอีกสักครู่ หนุ่มคนเดิมก็พายเรือมาพร้อมกับลากเรือไม้ลำเก่าๆ มาให้อีกลำ เนื่องจากเป็นห่วงกล้องผมจึงสละสิทธิ์ในการพายเรือในครั้งนี้ และปล่อยให้แนนกับกุ๋ยค่อยๆ ประคองกันลงเรือซึ่งบัดนี้แคมเรืออยู่ห่างจากน้ำเพียงคืบกว่าๆ เท่านั้น

“เอ้าคัดเข้าสิลูก หมุนแล้ว เอ้า เอ้า เอ้า” เสียงคุณยายลุ้นเจ้ากุ๋ยซึ่งกำลังพายเรือวนไปวนมาอยู่แถวนั้นไปไหนไม่ได้ไกลนัก ผมซึ่งตอนนี้มานั่งอยู่ที่ชานบ้านกับคุณยายอดหัวเราะไม่ได้ ไม่นึกว่า เพื่อนที่ดูเหมือนจะชอบน้ำเอามากๆ คนนี้กลับพายเรือไม่เป็น กิ๊วๆ ๆ ๆ “เนี๊ย ตอนมาถ่ายหนังเรื่อง บุญชู กันหน่ะ ยายก็ต้องสอนพวกนั้นพายเรืออย่างนี้แหล่ะ” คุณยายชวนผมคุย ซึ่งก็ ทำให้ผมแอบเข้าข้างตัวเองว่าความจำดี เพราะตั้ง แต่ที่ข้ามสะพานมาแล้วที่ผมมีความรู้สึกเหมือนเคยเห็นบรรยากาศแบบนี้ที่ไหน “ไฟที่ใช้กันก็ต่อไปจากสายไฟบ้านยายนี่แหล่ะ” ยายเล่าต่อ ผมนั่งพยักหน้าฟังพะหงึกๆ “เออ คุณยายครับ ไม่ทราบห้องน้ำอยู่ทางไหนครับ?” ผมถามหลังจากนั่งเล่นอยู่ได้สักพัก “หลังบ้านโน้นแหน่ะ อยู่ซ้ายมือ" คุณยายตอบ ซึ่งในความรู้สึกของผมนั้นหลังบ้านก็ คือด้านริมน้ำที่เรากำลังนั่งอยู่ และหน้าบ้านก็ คือตรงที่เราจอดรถ ผมจึงออกเดินหาไปทั่วบริเวณริมน้ำ แต่ก็หาห้องน้ำไม่พบ และในที่สุดผมก็พบว่าตัวเองเข้าใจผิดหลังจากเดินทั่วบ้านแล้วไปพบห้องน้ำอยู่ด้าน “หน้าบ้านของผม” แต่คุณยาย และคงจะเป็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมน้ำทั่วไปถือเป็นหลังบ้านซึ่งก็ คือด้านที่หันหน้าเข้าหาฝั่งนั่นเอง เข้าห้องน้ำเสร็จก็อดนึกขำตัวเองไม่ได้ที่เรื่องแค่นี้ก็ไม่รู้ และก็นึกไปถึงสมัยก่อนที่คงจะใช้การเดินทางๆ น้ำมากกว่าทางบก จะเข้าจะออกจากบ้านก็ทางน้ำ ด้านริมน้ำจึงเป็นหน้าบ้านไป ในขณะที่ผมซึ่งคุ้นเคยกับบ้านในเมือง ก็เห็นทางเข้าด้านที่จอดรถเป็นหน้าบ้านไป จนงงหาห้องน้ำไม่เจอ และเมื่อผมกลับมานั่งเล่นอยู่ที่ท่าน้ำกับคุณยายอีกครั้งผมก็เพิ่งสังเกตว่าบ้านแถวนี้ตั้งศาลพระภูมิไว้ “หน้าบ้าน” ก็ คือเป็นเสาปักอยู่ในน้ำนั่นเอง   

“เอ้า นี่นณณ์ ประวัติหมู่บ้าน ลองอ่านดู” พี่อัศวินนำหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มหนึ่งซึ่งดูเหมือนหนังสือธรรมะมาให้ผม ซึ่งรีบเปิดอ่านได้สักพักอย่างไม่มีสมาธินัก เพราะเจ้าสังกะวาดน้อยเริ่มตีวงใกล้เข้ามาทุกทีแล้ว....

ซรวบบบบบ! ผมเสือกสวิงลงไปในน้ำอย่างรวดเร็วจนเจ้าสังกะวาดน้อยที่อ่อนแรงเต็มทนแล้วไม่มีโอกาศจะหลบไปไหนได้ มันดิ้นปัดๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ถี่ยิบเหมือนปลาใกล้ตายจนพวกเราตกใจ “เฮ้ยๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ แค่ช้อนมาจะถ่ายรูปเฉยๆ อย่าเพิ่งตายสิฟ่ะ” ผมโวยขึ้นมา แต่พี่อัศวินก็หัวเราะ หึ หึ อยู่ข้างหลังพร้อมกับบอกให้ผมทำใจไว้ได้เลยสำหรับความ “เปราะ” ของปลาชนิดนี้ เมื่อดูถ้าไม่ดี ผมจึงนำปลามาขังไว้ในกาละมังเล็กๆ ก่อน ในขณะที่กุ๋ยกับแนนก็ค่อยๆ วนไปวนมา จนในที่สุดก็กลับมาพร้อมกับกุ้งหลายตัว ปลาแป้น และปลาปักเป้าจุดแดง ซึ่งได้ความว่าไปขอมาจากคุณพี่คนที่เหวี่ยงแหอยู่ใกล้ๆ ผมจัดการถ่ายรูปกุ้งปลาเหล่านั้นจนหมด ก่อนที่พี่อัศวิน จะทำการ “แกล้ง” ปลาปักเป้าจนมันพองเป็นลูกโป่งให้เราดู ซึ่งเมื่อพองเต็มที่แล้วนั้น ลายที่เป็นจุดสองจุดอยู่ที่ค่อนไปทางโค่นหางบัดนี้กลายเป็นดวงตาขนาดใหญ่สองดวง และ ทำให้มันกลายเป็นสัตว์ที่ใหญ่กว่าความเป็นจริงมากทีเดียว นับเป็นวิวัฒนาการ เพื่อการอยู่รอดที่น่าทึ่งของสัตว์ชนิดนี้ทีเดียว “เฮ้ย นณณ์ ดูอะไรนั่น สะใจหว่ะ” กุ๋ยสะกิดให้มองไปใต้ถุนบ้าน ซึ่งเมื่อมองตามไปก็พบปลาซัคเกอร์ เจ้าปลาต่างถิ่นตัวร้าย นอนหงายแอ๊งแม๊งเกยหาดอยู่ “ดีสม อย่ามาอาศัยเบียดเบียนปลาไทยเลย ไปที่ชอบๆ เถิดนะ” ผมรับลูกกับกุ๋ย

หลังจากถ่ายภาพเสร็จแล้วเราก็จัดการปล่อยปลาไปหมด และพี่อัศวินก็อาสาพากุ๋ย และแนนพายเรือออกไปดูกันไกลอีกหน่อย เพื่อจะไปหาปลาหางไก่ ในขณะที่ผมก็กลับไปนั่งอ่านประวัติชุมชนชาวลาดชะโดจากหนังสือที่พี่อัศวินนำมาให้ ซึ่งเป็นหนังสือที่จัดพิมพ์โดยหลวงพ่อวัดลาดชะโดนี่เอง ซึ่งผมอ่านแล้วคิดว่าน่าสนใจจนต้องคัดลอกมาให้อ่านกันครับ

ประวัติหมู่บ้านประชาชนชาวลาดชะโด

บ้านลาดชะโดสันนิษฐานว่า คงตั้งหลังกรุงศรีอยุธยาเสียจากพม่าเมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๑๐ พื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ราบลุ่ม คือเวลาหน้าน้ำน้ำก็หลากก็ท่วมบริเวณนี้ทั้งหมด ดังคำคนโบราณว่า “เดือนสิบเอ็ดน้ำนอง เดือนสิบสองน้ำทรง พอถึงเดือนอ้ายเดือนยี่น้ำก็ลี่ไหลลง” คือ น้ำเริ่มท่วมบริเวณพื้นที่ดินตั้ง แต่เดือนเจ็ดถึงเดือนสิบสอง พอเดือนอ้ายเดือนยี่น้ำเริ่มลดลงจนแผ่นดินแถวบริเวณนี้แห้ง

สำหรับชื่อลาดชะโดนั้น สันนิษฐานว่าคงจะเป็น เพราะในลำคลองแถวนี้มีปลาชะโดชุกชุม แต่ก่อนถ้าใครพายเรือในลำคลอง ต้องคอยระวัง พายแรงไม่ได้เดี๋ยวปลาชะโดตื่นกระโดดชนหน้าตาแตก ซึ่งก็เกิดขึ้นบ่อยครั้ง (จากการที่ได้สัมผัสกับชาวบ้านหลายคน ได้ยินนิยมเรียกย่อกันว่า ลาดโด ด้วย) ไม่ใช่เฉพาะปลาชะโดอย่างเดียวปลาอื่นๆ เช่น ปลาช่อน ปลาสลาด ปลาตะเพียน ปลาดุก ปลาสร้อย ปลากระดี่ ปลาสลิด และสัตว์น้ำจืดอื่นๆ อีกมากมายก็ชุกชุม จนมีคนเจ้าบนเจ้ากลอนพูดว่า “กะปิ น้ำปลาต้องไประยอง หาเงินหาทองต้องมาลาดชะโด” คนแถวถิ่นบ้านนี้ประกอบอาชีพหาปลาเป็นส่วนใหญ่ และบางส่วนก็ทำนา สมกับคำว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” เป็นยิ่งนัก

ประชาชนบ้านลาดชะโด คงหนีพม่ามาตั้งรกรากอยู่ในบริเวณนี้เมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่ ๒ ในช่วงพุทธศักราช ๒๓๑๐ แต่มีเรื่องหน้าสังเกตอยู่ว่า คนบ้านถิ่นนี้คงจะเป็นคนไทยเชื้อสายรามัญ (มอญ) มา แต่ก่อน สันนิษฐานจากการนับถือผีหม้อหรือผีตายายซึ่งเป็นหุ่นปั้นใส่หม้อดิน ห้อยอยู่ตามเสาเรือนบ้านทุกหลังคา แต่ก่อน แต่ชาวบ้านแถวนี้คงจะเป็นรามัญชั้นปลายแถว เพราะอยู่นานไปก็เป็นไทยเต็มตัว อีกอย่างก็ คือเสาหงษ์ซึ่งเคยมีปรากฏอยู่หน้าวัดลาดชะโด (ปันจุบันหายไปแล้ว) ซึ่งธรรมดาเสาหงษ์จะมีปรากฏเฉพาะวัดไทยเชื้อสายรามัญเท่านั้น

เมื่อได้อ่านจนจบแล้วผมก็ให้สนใจว่าที่บ้านของพี่อัศวินมีหม้อดินบ้างหรือเปล่า พี่อัศวินจึงพาเราไปดูบนแท่นบูชาในบ้านกัน ซึ่งพวกเราไม่กล้าเปิดดู จึงได้ แต่ถ่ายรูปไว้เท่านั้น หลังจากนั้นเราก็ลาคุณยาย เพื่อออกไปเที่ยวชมรอบๆ หมู่บ้านกัน

ที่ลานวัด พี่อัศวินชี้ให้ผมดูโบสถ์ไม้หลังเก่า “เนี๊ย น่าเสียดายนะ อีกไม่กี่วันเค้าก็จะรื้อทิ้งแล้วหล่ะ ได้งบมาสร้างโบสถ์ใหม่พอดี” พี่อัศวินพูดขึ้นมาลอยๆ “น่าเสียดายนะครับพี่ โบสถ์ไม้หลังใหญ่ๆ แบบนี้ ไม่รู้ยังเหลือที่ไหนอีกหรือเปล่า”  ผมบ่นด้วยความเสียดายจริงๆ แทนที่จะรื้อทิ้ง ได้งบมาน่าจะบูรณะให้ของเก่าดูดีใช้งานได้ มากกว่าที่จะรื้อทิ้งแล้วสร้างโบสถ์ปูน ซึ่งจากแบบที่เห็นไม่เหลือเค้าโครงสถาปัตยกรรมเดิมเลย  “นณณ์ ไปสังขละบุรี บ่อยๆ คุ้นกับโบสถ์หน้าตาแบบนี้หรือเปล่า?” พี่อัศวินถามต่อ “ฮ๊า ว่า แล้วว่าคุ้นๆ จริงด้วยพี่ โบสถ์ทรงเดียวกับที่วัดสถาปัตยกรรมมอญของหลวงพ่ออุตตมะเลยครับ” ผมเพิ่งนึกออกเดี๋ยวนี้เองว่าทำไมถึงคุ้นๆ กับโบสถ์หน้าตาแบบนี้ตั้ง แต่ครั้งแรกที่เห็น และรู้สึกว่ามันผิดที่ผิดทางแปลกๆ อยู่  “ใช่แล้วหล่ะ ก็คนแถวนี้เป็นมอญไง เพิ่งอ่านประวัติเมื่อกี้ไม่ใช่เหรอ?”  พี่อัศวินพูดต่อ “ ครับจำได้ครับ แต่คิดไม่ถึงหน่ะ” ว่าพลางเราก็เดินมุ่งหน้าเข้าไปในโบสถ์ ซึ่งกุ๋ย และแนนล่วงหน้ากันเข้าไปก่อนแล้ว 

ในโบสถ์ผมถึงกับร้องโอ้โหกับเสาไม้ที่มีขนาดใหญ่มากๆ ซึ่งบางต้นผมลองโอบดูแล้วเกือบไม่รอบ รวมไปถึงคาน และวงกบ แต่ละชิ้น แต่ละอันใหญ่โตมโหศาล แบบที่ไม่ได้เห็นกันบ่อยนัก นึกอีกก็เสียดายอีกที่จะรื้อโบสถ์เก่าทิ้ง นอกจากนั้นในโบสถ์ยังมีภาพสลักลายนูนขนาดใหญ่ของปลาชะโดซึ่งมีลวดลายสลักที่ละเอียดงดงามได้สัดส่วน และมีการให้สีสันที่เหมือนจริง ข้อสำคัญ คือมีขนาดใหญ่ กะดูคงสักประมาณเมตรกว่า ซึ่ง ทำให้พวกเรายืนทึ่งดูกันอยู่นานทีเดียว

จากวัด พี่อัศวินพาเราไปที่ท่าน้ำ เพื่อไปนั่งเรือชมสองฝั่งคลองกัน เมื่อไปถึงที่ศาลามีวัยรุ่นหลายคนกำลังช้อนอะไรกันอยู่ ผมรีบเข้าไปดูด้วยความสงสัยจึงพบว่าพวกเค้ากำลังช้อนกุ้งฝอยกันอยู่ ซึ่งในถังกุ้งฝอยก็มีปลาเล็กๆ ติดอยู่บ้างเหมือนกัน ที่น่าสนใจที่สุดคงจะเป็น ปลาซิวหางแดง ปลาซิวที่พบได้บ่อยในหลายภาคของประเทศไทย เป็นปลาไทยขนาดเล็ก สีสันสวยงามที่น่าจะได้รับความสนใจจากนักเลี้ยงปลาชาวไทยมากกว่านี้ นอกจากนั้นคุณพี่เจ้าของเรือหางยาว ซึ่งจอดรอหาลูกค้าอยู่ใต้สะพานยังฆ่าเวลาด้วยกันวางตาข่ายดักปลาอยู่ใต้สะพาน ซึ่งตอนผมไปกำลังปลดได้ปลาสลาดตัวใหญ่กับปลากรายขนาดสักครึ่งกิโลด้วย มองไปมองมา ผมยังเหลือบไปเห็นกระชังแขวนอยู่บนราวสะพานอีกอัน ไม่ทันถามว่าของใคร แต่เท้าก็ไวเท่าความคิด เดินแข่งกับเจ้ากุ๋ยไปแอบดึงขึ้นมาดู ซึ่งในกระชังก็มีปลาสวายตัวสักกิโลอยู่หลายตัวทีเดียว อุดมสมบูรณ์จริงๆ ไม่ต้องซื้อไม่ต้องหา ขยันสักหน่อยยังไงก็มีกิน

แล้วการนั่งเรือชมคลองก็เริ่มขึ้น พวกเราตื่นตาตื่นใจไปกับยอขนาดใหญ่ซึ่งมีอยู่เกือบทุกบ้าน ยอที่นี่ไม่เหมือนยอที่สังขละบุรี (จ. กาญจนบุรี) ที่ผมคุ้นเคย และดูเหมือนจะใช้ต่างจุดประสงค์กัน เพราะยอที่สังขละฯเป็นยอขนาดใหญ่ แต่ตาถี่ และการยกก็จะยกเฉพาะตอนหัวรุ่ง หลังจากที่ได้ติดไฟล่อปลาไว้ข้ามคืนแล้วเท่านั้น ยอลักษณะนี้ไม่มุ่งหวังจับปลาใหญ่ เพื่อนำมาบริโภคโดยตรง แต่เป็นยอจับปลาขนาดเล็กมากๆ เพื่อนำไปเป็นเหยื่อปลาที่เลี้ยงไว้อีกทอดหนึ่ง ถ้าติดปลาใหญ่ก็ถือเป็นของแถม เท่านั้น นอกจากนั้นยอที่สังขละฯเป็นยอแบบที่ใช้รอกหมุน เพื่อยกตัวยอขึ้นซึ่งต้องแข็งแรงพอสมควรทีเดียวถึงจะมีแรงหมุนขึ้นมาได้ และการขึ้นจะเป็นการขึ้นแบบช้าๆ ปลาขนาดใหญ่ที่ไหวตัวทันจะสามารถหนีออกไปได้โดยง่าย ส่วนยอที่บ้านลาดโด (ขออนุญาตเรียกย่อตามชาวบ้านบ้าง แหะ แหะ) เป็นยอขนาดเล็กกว่า คะเนด้วยตาคงจะกว้างยาวสักประมาณ ๕ เมตร ผื่นผ้าตาไม่ถี่นัก และวิธีการยกจะใช้น้ำหนักตัวผู้ยกเป็นตัวงัดให้ยอยกขึ้นมา ซึ่งดูแล้วน่าสนุกมาก เพราะการจะถ่วงน้ำหนัก เพื่อยกยอนั้น ผู้ยกจะต้องปีนขึ้นไปบนบันไดเอียงๆ ที่ทำไว้ แล้วขึ้นไปนั่งอยู่ที่ส่วนยอดสุด จากนั้นน้ำหนักก็จะถ่วงให้ยอค่อยๆ ยกขึ้นถึงจะไม่เร็วนัก แต่ก็เร็วกว่ายอที่สังขละฯหลายเท่า ซึ่งปลาที่ได้ส่วนใหญ่จะเป็นปลาขนาดกลางถึงขนาดใหญ่เสียมากกว่า และปลาที่เราเห็นขังไว้ตามกระชังริมน้ำนั้นก็มีตั้ง แต่ ปลาสังกะวาดตัวเท่านิ้วชี้ ปลาแขยงข้างลาย ปลาดุก ปลากระแหตัวขนาดฝามือไปจนถึงปลาชะโดขนาดเกือบ ๒ กิโล ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะสามารถจับได้ตัวยอเลยจริงๆ

นอกจากยอแล้ว อุปกรณ์จับปลาที่ดูจะได้รับความนิยมมากก็ คือตาข่าย ซึ่งตอนแรกผมก็เฉยๆ แต่ยิ่งดูก็ยิ่งงงว่าทำไม ถึงต้องมีไม้ไผ่ลอยขนานกับผิวน้ำด้วย เพราะการวางตาข่ายที่ผมคุ้นเคยเป็นการวางแบบแนวตั้งฉากกับผิวน้ำมากกว่า คือขึ่งเชือกด้านบนให้ตึงหรือไม่ก็ใช่ทุ่นลอยน้ำไว้ส่วนด้านล่างถ่วงตะกั่วหรือหินให้จมลงไป ก็ คือดักปลาที่ว่ายไปมา แต่ตาข่ายที่นี่เห็นไม้ไผ่แล้วก็นึกไม่ออกว่าวางอย่างไร และด้วยความที่เรือก็แล่นไปเรื่อยๆ ผมจึงดูไม่ทันสักทีว่าไม้ไผ่ และทุ่นแกลลอนน้ำมันไปเกี่ยวอะไรกับตาข่าย ต่อเมื่อเรือชะลอลง เพื่อแล่นผ่านจุดที่มีตาข่ายค่อนข้างเยอะ ผมจึงได้โอกาศถามพี่อัศวินดูซึ่งคำตอบที่ผมได้รับก็ ทำให้ผมอดทึ่งกับภูมิปัญญาชาวบ้านไม่ได้ “ปกติเราจะคุ้นเคยกับตาข่ายแบบที่วางตั้งฉากกับผิวน้ำใช่ไหม? ตาข่ายที่นี่เค้าจะวางหลายลักษณะเป็นหน้าๆ ไปครับ อย่างหน้านี่ ปลากรายปลาสลาดชุกชุม เค้าจะวางตาข่ายขนานกับผิวน้ำอย่างที่เห็น เพื่อดักปลาที่ขึ้นมาฮุบอากาศที่ผิวน้ำ”  พี่อัศวินอธิบาย  “อ้าวแล้วหน้าอื่นหล่ะครับ?” ผมถามต่อ “หน้าอื่น บางทีก็เป็นหน้าที่มีพวกปลาตะเพียน ปลากระแห มาก เค้าก็จะวางแบบตั้งฉากกับผิวน้ำแบบทั่วไปนี่แหล่ะครับ สำหรับตาข่ายแบบขนานผิวน้ำนี่ ถ้าสังเกตให้ดี จะเห็นว่ามีการสานเชือกเป็นตารางห่างๆ ไว้ด้วย เพื่อกันไม่ให้ตาข่ายลอยพ่นผิวน้ำ นอกจากนั้นส่วนที่ทะลุผ่านตาร่างจะกลายเป็นถุงขนาดเล็กๆ ปลาขึ้นฮุบเป็นติดเสร็จทุกตัวไปเลยหล่ะ”  พี่อัศวินอธิบายต่อ ซึ่งผมตอนนี้อยากรู้อยากเห็นเสียจนต้องค่อยๆ เลี้ยงตัวขึ้นยืน เพื่อจะดูให้ถนัดๆ และก็เห็นจริงตามว่า เพราะบางตาข่ายซึ่งคาดว่าเจ้าของยังไม่ได้มาปลดปลานั้นมีปลาติดถี่มากทีเดียว ซึ่งปลาที่เห็นส่วนใหญ่ก็จะเป็นปลาในตระกูลปลาสลาดปลากรายนี่แหล่ะ เห็นมีปลากระดี่ ปลาแรด ปะปนบ้างเล็กน้อย ซึ่งปลาเหล่านี้ก็ล้วนแล้ว แต่ต้องขึ้นฮุบอากาศเป็นครั้งคราวทั้งนั้น และอีกอย่าง คือหน้านี้อ๊อกซิเจนในน้ำจะน้อย ดั่งที่ได้กล่าวไปแล้ว ปลาเหล่านี้จึงต้องขึ้นฮุบอากาศบ่อยครั้ง และมีโอกาสติดตาข่ายมากขึ้น ถึงตรงนี้ผมก็ยังงงอยู่ดีว่าทำไมน้ำถึงขาดอ๊อกซิเจนถึงขนาด ทำให้ปลาลอยหัวกันเป็นแพอย่างที่พี่อัศวินเล่าให้ฟังได้

เรือหางยาวแล่นรัดเลาะไปตามลำคลองเรื่อยๆ บางช่วงก็มีบ้านไม้ซึ่งปลูกขนาบ ๒ ฝั่งมีชีวิตชีวา แม่อาบน้ำให้ลูก คุณตาซ่อมยอ คุณยายตกปลา และเด็กผู้หญิงที่พายเรือออกมาเด็ดผักกระเฉดที่ปลูกไว้ ผมซึ่งนั่งถือกล้องอยู่หัวเรือแทบจะรัวไม่ได้หยุด เพราะนอกจากชาวบ้านแล้วบางช่วงที่ไม่มีบ้านเรือน ริมตลิ่งก็จะเป็นกอกกกอหญ้า ซึ่งก็จะมีนกกระยางมาคอยแอบเกาะหากินอยู่ และก็จะตื่นตกใจบินหนีขึ้นมาเมื่อเรือแล่นผ่านซึ่งผมต้องแพนกล้องถ่าย รู้สึกเหมือนกำลังยิงเป้าบินอย่างไรอย่างนั้นเลย

เรือชะลอลงอีกครั้ง เมื่อผ่านบ้านหลังหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รับซื้อปลาที่ชาวบ้านจับได้ เราเห็นคุณยายจอดเรือเทียบท่าอยู่ ในเรือมีเข่ง มีถังใส่ปลาอยู่หลายใบ เมื่อเราไปจอดเทียบท่าใกล้ๆ ถึงเห็นว่าในเข่งนั้นมีปลาสลาดอยู่เต็มไปหมด เข่งหนึ่งเป็นปลาขนาดใหญ่หน่อย อีกเข่งเป็นปลาขนาดเล็ก และในกา-ละมังเป็นปลากรายตัวขนาดสักครั่งกิโลหลายสิบตัวทีเดียว คุณยายในเรือยกเข่งขึ้นชั่ง แล้วก็คุณยายอีกท่านก็จดน้ำหนักไว้ จากนั้นก็เทปลาใส่กาละมังบนแพ ชั่งน้ำหนักเข่งเปล่าแล้วก็เริ่มทำกับเข่งต่อไป ผมอดรานทนไม่ได้อยากรู้ว่าซื้อขายกันกิโลสักเท่าไหร่ จึงถามออกไป “ยายครับสลาดนี่กิโลเท่าไหร่ครับ?”  ผมถามพลางชี้มือไปในแข่งที่มีปลาสลาดขนาดเล็กอยู่ “ไหนลูก? ปลาแสลดเนี๊ยเหรอ?” ยายถาม ผมงงๆ กับชื่อปลาที่ยายเรียก “นณณ์ แถวนี้ปลาสลาดตัวเล็กเค้าเรียกปลาแสลดกันครับ”  เสียงพี่อัศวินพากย์มาจากด้านท้ายเรือ หลังจากนั้นยายก็บอกราคาปลาผมซึ่งต้องขออภัยที่จำไม่ได้เสียแล้ว “เออ แล้วปลากรายหล่ะครับ?”  ผมถามต่อ ในขณะที่คุณยายก็ทำหน้างงๆ อีก “นณณ์ แถวนี้เรียกปลากรายว่า หางแพน ครับ” เสียงพี่อัศวินมากู้สถานการณ์ไว้ได้อีกครั้ง แล้วผมก็ลืมราคาปลากรายไปอีก “ปลาแสลด ปลาสลาด เยอะแยะ เอาไปทำอะไรกันค่ะ?” แนนถามขึ้นบ้าง “ส่วนใหญ่ก็เอาไปขูดทำปลาเห็ดแหล่ะครับ” พี่อัศวินตอบ “ฮ่ะ อะไรนะพี่?  ปลาเห็ดเป็นยังไงครับ?” ผมถามพี่อัศวินซึ่งก็หัวเราะที่อำพวกเราสำเร็จอีกครั้ง “ปลาเห็ดของแถวนี้ก็ คือ ทอดมันไง โดยส่วนตัวนะ พี่ว่าปลาสลาดเนี๊ย เอามาทำปลาเห็ดอร่อยกว่าปลากรายเสียอีก เนื้อมันจะเนียน และเหนียวนุ่มกว่า แต่จริงๆ แล้วที่มีขายๆ เป็นทอดมันปลากรายกันอยู่หน่ะ ส่วนใหญ่แล้วก็ปลาสลาดทั้งนั้นแหล่ะ ปลากรายจริงๆ หน่ะหาไม่ค่อยได้หรอก” พี่อัศวินเล่าต่อ “อ้าว อย่างนี้ผมก็โดนหลอกสิพี่” กุ๋ยโวย “ แต่ของปลอมอร่อยกว่าของจริงนะพี่กุ๋ย พี่อัศวินเพิ่งบอกแหม่บๆ ”  แนนพูดขึ้น ซึ่งก็ถูกอีก สรุปก็เลย รู้เค้าหลอก แต่เต็มใจให้หลอกแล้วกันครับ   

หลังจากออกเรือมาจากแพปลาได้สักพัก ผมก็สังเกตเห็นต้นไม้ยืนต้นขนาดกลางต้นหนึ่งขึ้นอยู่ริมทางแยกจากแม่น้ำสาขาเล็กๆ ต้นไม้ต้นนั้นกำลังออกดอกชูช่อสีชมพูอ่อนๆ เป็นกระจุดดูน่ารัก เห็นแล้วก็อดสงสัยไม่ได้ว่าต้นอะไร จึงชี้ชวนให้เรือแวะเข้าไป ซึ่งพอใกล้เข้าผมถึงพบว่ามัน คือต้นกุ่มนั่นเอง ดอกสวยๆ ของมันไม่ได้เจริญหูเจริญตาอย่างเดียว แต่ยังสามารถนำไปดองกินเป็นอาหารก็ได้ด้วย   และเมื่อเรือแล่นมาได้อีกหน่อยเราก็พบว่าด้านในของลำคลองแห่งนี้มีประตูน้ำอยู่ ซึ่งวันนี้เปิดให้น้ำไหลเข้ามาอย่างเต็มที่ “มิน่าหล่ะวันนี้ปลาไม่ค่อยลอย ประตูน้ำเปิดนี่เอง” พี่อัศวินพูดขึ้น “อ้าวพี่ ผมนึกว่ามันเกิดขึ้นตามธรรมชาติ อย่างนี้ก็แสดงว่าที่น้ำมันไม่มีอ๊อกซิเจนจนปลาลอยหัวตายกันเป็นแพ ก็ เพราะประตูน้ำนี่นะสิครับ ถ้าปล่อยให้น้ำไหลปกติ น้ำก็จะมีอ๊อกซิเจน แต่เมื่อไปปิดประตูน้ำ จะ ทำให้น้ำนิ่ง และขาดอ๊อกซิเจน ฝีมือคนชัดๆ เลยแบบนี้ ผมถึงว่า งงๆ อยู่ตั้งนานแล้วครับ” ผมพูดขึ้น ซึ่งจากการสอบถามผมพบว่าประตูน้ำลักษณะนี้มีอยู่ทั่วไปในแถบนี้ เพื่อกั้นน้ำให้ไหลช้าลง และให้ชาวบ้านได้มีน้ำใช้ในหน้าแล้ง จะว่ามีประโยชน์ก็มีประโยชน์อนันต์ แต่ในการใช้นั้นคงต้องมีการจัดการที่ดีกว่านี้ มิเช่นนั้นประตูน้ำเหล่านี้ก็จะเป็นอีกตัวอย่างที่ความพยายามของมนุษย์ในการที่จะ “จัดการ” กับธรรมชาติ ทำให้สิ่งมีชีวิตอื่นๆ เดือดร้อน

ออกมาจากลำคลอง เราพบเรือพายเล็กๆ ๒ ลำกำลังลอยเรือตกปลากันอยู่ริมฝั่ง โดยการใช้คันเบ็ดไม้ไผ่ยาวๆ ค่อยหย่อนเหยื่อซึ่งดูไกลๆ เดาว่าเป็นลูกกบหรือลูกเขียดเกี่ยวเบ็ดไว้แล้วหย่อนลงไปตามกอหญ้า และล่องผักตบชวา  หย่อนลงไปแล้วก็กระดกข้อมือเล็กน้อยให้เขียดดิ้นๆ อยู่บนผิวน้ำเรียกความสนใจจากปลาล่าเหยื่อ จุดหนึ่งไม่มีตัวก็ย้ายจุดไปเรื่อยๆ ไม่ค่อยอยู่ที่เดิมนานนัก การตกปลาลักษณะนี้ชาวบ้านจะเรียกว่าการ “หยก” ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่ามีรากศัพท์มาจากไหน แต่ถ้าให้เดาคงจะมาจาก “ยงโย่ยงหยก” ซึ่งเป็นอาการลุกๆ นั่งๆ เจ้าเขียดน้อยที่ “ยงโย่ยงหยก” อยู่ในกอผักตบ คงยั่วยวนไม่น้อย เพราะไม่ทันที่เรือของเราจะแล่นผ่าน คุณตาก็ตวัดเบ็ดฉับ แล้วปลาชะโดตัวเขื่องก็ลอยตามขึ้นมาให้พวกเราได้ตื่นเต้นกัน ไม่เสียชื่อ “ลาดชะโด” จริงๆ “เออพี่ครับ แถวนี้เค้าเรียกลูกปลาชะโดว่าอะไรกันครับ?”  ผมเห็นปลาชะโดแล้วอดสงสัยไม่ได้ เพราะปลาชะโดนั้นเป็นหนึ่งในปลาที่มีเชื่อเรียกเยอะมาก เริ่มตั้ง แต่ตัวเล็กๆ แดงๆ จะเรียกว่าลูกครอก โตขึ้นมาอีกหน่อยก็เป็นไอ้ป๊อก (ส่วนใหญ่ไอ้ป๊อกจะยาวประมาณ ๑ ฟุตถึงเริ่มเปลี่ยนสี และลายอีกครั้ง) พอโตขึ้นลายสีแดงหายไปกลายเป็นปลาลายสีดำขาวก็จะเรียกว่าชะโด พอแก่ตัวลายสีขาวเริ่มหายกลายเป็นสีดำๆ เทาๆ ก็จะเรียกว่าแมลงภู่ ซึ่งมีรายงานตัวใหญ่ยาวเกือบเมตรหนัก ๒๐ กว่ากิโลก็มี ซึ่งพอใหญ่ขนาดนั้นชาวบ้านก็มักจะเชื่อว่าเป็นปลาเจ้าไม่กล้ากินเสียแล้ว ผมเคยได้ยินเรื่องเล่าของชาวบ้านแถวสังขละฯ ถึงปลาชะโดขนาดใหญ่ยาวเป็นวาที่กัดเนื้อควายขาดรุ่งริ่งจนชาวบ้านนึกว่าจระเข้เสียด้วยซ้ำ แต่ก็ไม่แน่ใจว่ามีมูลแค่ไหน  นอกเรื่องไปเสียยาว เอาเป็นว่าเมื่อตะกี้ผมถามพี่อัศวินไว้ว่าแถวนี้เรียกชื่อลูกปลาชะโดว่าอะไร “ตะเกียบครับ” พี่อัศวินตอบ แล้วผมก็ได้ชื่อลูกปลาชะโดมาอีกหนึ่งชื่อ เราแล่นเรือไปเรื่อยๆ เห็นคุณป้ายกยอได้ปลาสังกะวาดตัวเล็กๆ หลายตัว ผ่านบ้านไม้หลังหนึ่งที่มองไปเห็นไวๆ ว่าเป็นแมววิเชียรมาศ และขาวปลอด ตัวโตนั่งเล่นอยู่ใต้ถุ่นบ้าน พี่อัศวินซึ่งเป็นคนรักแมวอยู่แล้วจึงหมายตาบ้านหลังน้ำไว้ เพื่อจะแวะตอนขากลับ ซึ่งเรือหางยาวของเราแล่นไปได้อีกสักพักก็มาถึงประตูน้ำขนาดใหญ่ที่กั้นคลองลาดชะโดเอาไว้ ประตูน้ำแห่งนี้ก็เช่นกันที่วันนี้เปิดประตูจนน้ำไหลมากันอย่างเนืองนองเกิดเป็นอ๊อกซิเจนให้ปลาไม่ต้องลอยหัว เราไม่สามารถแล่นเรือผ่านประตูน้ำ และดงตาข่ายไปได้จึงเลี้ยวเรือกลับไปแวะดูแมวที่บ้านหลังที่พี่อัศวินหมายตาไว้ ซึ่งเราก็ต้องผิดหวังเล็กน้อยที่แมววิเชียรมาศมีแต้มที่ไม่สมบูรณ์นัก และแมวขาวปลอดก็ไม่ได้ขาวปลอด อย่างไรก็ดีความเชื่องน่ารักของแมวทั้ง ๒ บวกกับตาสีฟ้าอ่อนสดใสของพวกมันก็ ทำให้เราประทับใจไม่น้อยเลย

บ่ายคล้อยแล้ว ขากลับผมก็ยังนั่งอยู่หัวเรือ คอยถ่ายภาพไปเรื่อยๆ ทั้งกระยางกรอก กระยางโทน กระเต็นน้อยธรรมดา กระเต็นอกขาว กระเต็นหมวกดำ มีชุกชุมไปหมด แต่ก็บินหนีเร็วด้วยเช่นกัน แล้วผมก็เหลือบไปเห็นชาวบ้านกลุ่มหนึ่งจอดพักเรือกันอยู่ริมตลิ่ง มองไปในเรือเห็นเจ้าหางแพนตัวใหญ่นอนอยู่  จึงส่งสัญญาณให้เรือของเรากลับหัวไปถ่ายรูปเสียหน่อย ปลาหางแพนตัวนี้มีขนาดกะๆ เอาคงจะสัก ๓-๔ กิโลได้  ไม่ใช่ปลาหางแพน (ปลากราย) ตัวใหญ่ที่สุดที่ผมเคยเห็น แต่ก็เป็นปลาที่มีขนาดไม่เล็กเลย พวกเราสอบถามได้ความว่าได้มาจากตาข่ายขนานผิวน้ำ ผมเห็นปลาใหญ่ๆ แล้วอดจะเปรยๆ ไม่ได้ว่าคงจะต้องหาโอกาสมาตกปลาหางแพนแถวนี้บ้าง “อะฮ่า แถวนี้เค้ามีวิธีนะนณณ์” พี่อัศวินพูดขึ้น “เค้าเรียกว่าการบี้ไข่ปลาหางแพนครับ” พี่อัศวินพูดแล้วเว้นช่วงให้พวกเราสนใจ “ก็พวกปลาหางแพนนี่มันจะไข่ตามเสาใช่ไหมหล่ะ?  ชาวบ้านเค้าจะคอยดูเห็นมันขึ้นที่เสาไหนบ่อยๆ ก็แสดงว่ามันไข่ไว้ที่เสานั้น เค้าก็จะดำน้ำลงไปคลำหาไข่มัน พอเจอแล้วก็จัดการบี้บางส่วนเสีย เป็นการยั่วให้แม่มันโกรธ จากนั้นจะโยนอะไรลงไปตกก็เรียบร้อยทุกตัวแหล่ะ” พี่อัศวินอธิบายวิธีการให้ฟัง ซึ่งก็ได้รับการประท้วงไปจากพวกเราตามสมควร เพราะเป็นการด่วนได้ตัดโอกาสให้ลูกปลาได้เกิด และเพิ่มจำนวน “เฮ้ยๆ เล่าให้ฟังเฉยๆ พี่ไม่เคยทำนะ” พี่อัศวินออกตัว

“พี่หิวแล้วครับ หาเตี๋ยวเรือกินกันเหอะ” ผมงอแงขึ้นเมื่อบ่ายแก่ เราเห็นก๊วยเตี๋ยวเรือหลายลำแล้วระหว่างที่แล่นเรือชมคลอง แต่ด้วยความที่มัว แต่เพลิดเพลินจนลืมหิว จึงไม่มีใครสนใจมากนัก แต่เมื่อเห็นหมดแล้ว และกำลังจะกลับ   จึงเริ่มงอแง ซึ่งเมื่อเรือเราแล่นไปได้อีกสักหน่อย เราก็ไม่ผิดหวังเมื่อพบกับก๊วยเตี๋ยวเรือเข้าลำหนึ่ง เราชะลอเรือร้องเรียกป้าคนขายให้ตามเค้าไปใต้ต้นจามจุรีใหญ่ในคลองสาขา ซึ่งบรรยากาศดีเอามากๆ ระหว่างกินเราสังเกตว่าแคมเรือก๊วยเตี๋ยวลำเล็กของป้านั่นหางจากน้ำไม่กี่นิ้ว และด้วยความสงสัยจึงถามป้าว่าไม่กลัวเรือล่มบ้างหรือ?  “โอ้ย ขายมาเป็นสิบปีไม่เคยล่ม ป้าเนี๊ยเพิ่งมาเสียประวัติเอาเมื่ออาทิตย์ที่แล้วนี่เอง” ป้าพูดติดตลก “อ้าวทำไมหล่ะครับ?” ผมถามต่อ “ก็ล่มนะสิหนู ไม่รู้ทำอีท่าไหน มือมันจะคว้าหลัก แต่คว้าไม่อยู่ เสียหลักยังไงไม่รู้ เรือเอียงล่มเลย” ป้าพูดไปทำก๊วยเตี๋ยวที่พวกเราสั่งกันไม่หยุด มือระวิง “อ้าวอย่างนี้ของจมน้ำหมดสิครับป้า?” กุ๋ยถาม “โชคดีน้ำมันไม่ลึกหน่ะ งมขึ้นมาได้เกือบหมดแหล่ะ” ป้าตอบยิ้มๆ “ก๊วยเตี๋ยวอร่อยจังค่ะ สูตรที่ไหนเนี๊ย” แนนชวนคุณป้าคุยบ้าง “เนี๊ยเหรอ ขอสูตรมาจากญาติที่กรุงเทพฯหน่ะ” ป้าตอบหน้าตาเฉย “เอ้าป้า ผมอุตสาห์มาจากกรุงเทพฯจะมากินเตี๋ยวเรืออยุธยาเสียหน่อย กลายเป็นป้าไปเอาสูตรมาจากกรุงเทพฯอีก” ผมโวยเล่นๆ “แหม สูตรเค้ามาจากวัดเกาะ อยุธยาอีกทีน๊า” ป้าบอก ทำให้ผมรู้สึกดีขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วก็แกล้งโวยไปงั้นแหล่ะ เพราะของอร่อยเสียอย่าง สูตรจะมาจากไหนไม่สำคัญ บ่ายนี้ผมหิวก็หิว อาหารก็อร่อย บรรยากาศก็ดี เพื่อนคุยก็ถูกคอ อาหารมื้อนี้ที่พี่อัศวินเลี้ยง (ขอบคุณอีกทีคร๊าบบบบ) จึงอร่อยเป็นพิเศษ ซึ่งระหว่างที่เรากินนั้นก็มีชาวบ้านมาตะโกนเรียกป้าจากทางโน้นทางนี้ให้แวะไปด้วย แต่เราก็ไม่ยอมให้ป้าไป จนกว่าพวกเราซัดกันไปคนละ ๒-๓ ชามแล้ว

เสร็จกิจ (อย่าคิดลึกครับ) เราก็ล่องเรือกลับไปทางหมู่บ้าน พี่อัศวินให้เรือส่งพวกเราขึ้นที่บ้านป้า เพื่อพาพวกเราเดินชมตลาดเก่าริมน้ำ ซึ่งบรรยากาศเก่าๆ น่าสนใจมาก เริ่มตั้ง แต่บ้านของป้าพี่อัศวินไปเลยเชียว ที่เป็นร้านขายสมุนไพรไทยชนิดดั้งเดิม มีโหล มีกระปุกเก็บยา เก่าๆ เต็มไปหมด ดูขลังเอามากๆ ถัดไปเป็นร้านขายอุปกรณ์จับปลามีตั้ง แต่ ตาข่าย ผ้ายอ ตัวเบ็ด ไปจนถึงคันเบ็ดไม่ไผ่ ซึ่งมีหลายรุ่นหลายขนาด ตั้ง แต่อันเรียวๆ ยาวๆ สำหรับตกปลาหมอ อันสั้น แต่ใหญ่หน่อยสำหรับตกปลาใหญ่อย่างพวกปลาตะเพียน และคันยาวใหญ่สำหรับหยกปลาช่อนปลาชะโด จากนั้นเราก็เดินเข้าไปในตลาดซึ่งสร้างจากไม้ทั้งหมด น่าเสียดายที่วันนี้เป็นวันอาทิตย์ร้านจึงไม่เปิดมากนัก แต่ภาพเด็กน้อยกำลังตัดผม อยู่ในร้านตัดผมเล็กๆ ที่มีเก้าอี้อยู่ตัวเดียวก็คลาสสิคเกินบรรยาย เดินไปเรื่อยๆ ก็ชักหิวน้ำเราแวะร้านโชห่วยร้านหนึ่ง ซึ่งมีขายทุกอย่าง ตั้ง แต่ไอติมยันปลากัด ผมเลือกไบเลห์สุดคลาสสิคที่หากินยากแล้วในกรุงเทพฯ หลังจากนั้นเราก็เดินไปพบกับที่หมุนไข่ จำกันได้ไหมครับ?  หมุนแล้วไข่พลาสติกจะออกมา ในไข่จะมีตุ๊กตุ่น สร้อย แหวน และ อะไรอีกหลายๆ อย่าง แต่ไข่หมุนยุคใหม่ดูเหมือนจะเป็นการชิงรางวัล ผมไม่ได้เห็นนานคิดถึงจนต้องไปหมุนเล่นเสีย ๒ ลูก ได้เป็นเบอร์ออกมา แต่ไม่ตรงกับรางวัลก็เลยอดไป หลังจากนั้นเราก็เดินผ่านโรงเรียนบ้านลาดชะโดกลับไปที่จอดรถ ซึ่งรายการต่อไปของวันอันแสนสนุกก็ คือการไปดูนกน้ำกัน

ผมสังเกตเห็นนกน้ำขนาดใหญ่บินล่อยอยู่บนฟ้าตั้ง แต่เช้าแล้ว ตอนแรกก็มั่นใจว่าเป็นนกปากห่าง แต่พอพี่อัศวินบอกว่าชาวบ้านเรียกนกชนิดนี้ว่านกช้อนหอย ก็ ทำให้ผมเขว่ไป เพราะตามตำรานกช้อนหอยกับปากห่างนั่นเป็นนกละชนิดห่างกันไกลทีเดียว และเมื่อเราไปถึงแหล่งที่นกเกาะพักกันเยอะๆ ผมก็พบว่านกช้อนหอยของชาวบ้านแถบนี้ก็ คือนกปากห่างตามที่ผมเข้าใจ แต่แรกนั่นเอง นกชนิดนี้เป็นนกน้ำขนาดใหญ่ซึ่ง แต่เดิมมีแหล่งทำรังเหลืออยู่ในเมืองไทยไม่กี่แห่ง เพิ่งจะมาเพิ่มจำนวนพรวดพราดเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งผมสันนิษฐานว่าคงจะเป็น เพราะอาหารที่เพิ่มขึ้นจากการแพร่ระบาดของหอยเชอรี่ หอยฝาเดียวต่างถิ่นจากทวีปอเมริกาใต้ หน้าตาหอยเชอรี่คล้ายหอยโข่งของไทย แต่ตัวใหญ่กว่าโข หอยชนิดนี้ แต่เดิมถูกนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงสวยงาม แต่ด้วยความที่เป็นสัตว์ที่ขยายพันธุ์ได้ดี จึงเริ่มมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากเกินความจำเป็น แล้วผู้คนก็เริ่มปล่อยลงในแหล่งน้ำธรรมชาติของไทยซึ่งหอยก็สามารถปรับตัวอยู่อาศัยได้ดี เพิ่มจำนวนจนกลายเป็นศัตรูของนาข้าว สร้างความเสียหายปีละหลายล้าน โชคยังดีที่มีนกปากห่างมาช่วยจับกินไปบ้าง และทางราชการก็ช่วยกันรณรงค์ให้มีการกำจัดโดยการสนับสนุนให้นำมาเป็นอาหารสัตว์อย่างปลาดุก จึง ทำให้จำนวนหอยอยู่ในปริมาณที่พอรับได้ ในขณะเดียวกันสัตว์หายากของไทยอย่างนกปากห่างก็เพิ่มจำนวนขึ้น เพราะมีอาหารอุดมสมบูรณ์ นอกจากนั้นนกปากห่างที่ แต่เดิมจะอพยพไปบังคลาเทศทุกปี เดี๋ยวนี้ก็อยู่เมืองไทยกันทั้งปีเลยเชียว นับเป็นความฟลุ๊คในความชุ่ย ที่นี่นกปากห่างอาศัยทำรังกันอยู่ในดงไม้ใหญ่ริมแม่น้ำเล็กๆ ในขณะที่ผมเพลิดเพลินกับการถ่ายรูป กุ๋ยกับพี่อัศวิน ก็ไปช้อนปลาเล็กกันอยู่ในบ่อข้างๆ ซึ่งปลาที่ได้ก็เป็นปลาขนาดเล็กน่ารักๆ พวกปลาบู่ใส ปลาข้าวสาร และ ปลากริมสี ซึ่งเจ้าตัวหลังนี่ ก็เล็งกันนานพอสมควร เพราะแยกไม่ค่อยออกระหว่างปลากริมสี กับปลากริมควายตัวเล็ก แต่ในที่สุด เจ้ากุ๋ยก็ได้ปลากริมสีกลับไปเลี้ยงบ้าน ๔ ตัวด้วยกัน เมื่อเราสรุปได้ว่าปลากริมสีตัวจะแบนข้างมากกว่า และข้อสำคัญ คือสีสันสวยกว่ามาก

จากนกปากห่างเราก็ยังไม่ยอมกลับง่ายๆ พี่อัศวินบอกว่ามีบ้านแถวนี้ที่รับซื้อปลามาแปลรูปขาย เราจึงแวะไปดูกัน ซึ่งวันนี้เราพบว่าในเตามีปลาสวายกำลังถูกรมควันอยู่หลายตัว ส่วนที่ลานทำปลา ชาวบ้านหลายคนกำลังจัดการเตรียมปลาสลิดตัวใหญ่หลายร้อยตัว เพื่อทำเป็นปลาสลิดเค็ม ถามได้ความว่าไปเหมามาจากนาปลาสลิดใกล้ๆ แถวนั้น เมื่อเดินเข้าไปตามทางเดินไม้ซึ่งยกระดับขึ้นมาจากส่วนที่น้ำท่วมหนุนขึ้นมาจากคลอง เราก็พบลานตากปลากระดี่วงซึ่งกำลังแห้งได้ที่ส่งกลิ่นหอมหวนมาก พี่อัศวินบอกเราว่า แต่ก่อนชาวบ้านแถวนี้ทำปลากันมาก เพราะความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ ถึงขนาดที่เรือเกลือจากมหาชัยยังต้องเอาเรือขึ้นมาขาย และหาแลกปลาจากแถวนี้ไปด้วยซ้ำ

เราเดินตามทางไม้ยกระดับไปเรื่อยๆ สองข้างทางมีทางแยกเข้าบ้านชาวบ้านเป็นระยะๆ หยุดทะเลาะกับหมาเป็นช่วงๆ บ้านบางหลังอยู่ลึกเข้าไป สะพานไม้ช่วงนั้นก็จะยกขึ้นเป็นทางให้แล่นเรือเข้าไปได้ เราเดินเข้าไปจนสุดทาง เพราะเป็นจุดที่ไม่มีคนใช้ ทำให้ต้นไม้ขึ้นรกทึบจนเดินไม่ได้ เป็นทางเดินศึกษาธรรมชาติ และวิถีชีวิตชาวบ้านที่น่าสนใจทีเดียว พี่อัศวินเล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนทางไม้ลักษณะนี้มีติดต่อกันไปรอบชุมชน แต่เดี๋ยวนี้ได้รับความสำคัญลดลง จนแทบจะไม่มีการซ่อมแซมกันแล้ว หลายส่วนก็ปล่อยให้พังไป บางส่วนก็รกทึบจนเดินไม่ได้ คิดว่าอีกไม่นานก็คงหมดไป พี่อัศวินบ่นรวมไปถึงสะพานไม้ข้ามคลอง ซึ่งเป็นแบบเก่าด้วยว่า ตอนนี้ค่าก่อสร้างสะพานไม้กลับแพงกว่าสะพานปูนเสียแล้ว พวกที่มีอยู่พุพังไปก็คงไม่ซ่อมกันแล้ว คงสร้างสะพานปูนหมด เป็นการพัฒนาที่น่าเสียดาย แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ได้ แต่หวังว่ายังไงก็คงอนุรักษ์สะพานแบบเก่าไว้บ้างเท่านั้น ขากลับเราเดินผ่านบ้านที่ทำปลา ซึ่งผมพบว่ากำลังมีรถมาส่งปลาพอดี เห็นใส่กระสอบขนาดใหญ่มา ๔-๕ กระสอบด้วยกัน ผมไปชะโงกดูก็ถึงกับอึ้ง เพราะเกิดมาไม่เคยเห็นกระดี่หม้อ มากมายขนาดนี้มาก่อน เพราะทุกกระสอบที่เห็นนั้นมีปลากระดี่หม้อบรรจุมาเต็มเพียบ โดยมีปลากระดี่นางปะปนมาเล็กน้อย สอบถามได้ความว่าเป็นปลากระดี่ที่ได้จากในบ่อปลาสลิดอีกที

เย็นมากแล้วเราลาพี่อัศวิน เพื่อเดินทางกลับบ้าน ซึ่งระหว่างทาง เราก็แว่บไปเห็นป้าย ชี้ชวนไปดูปลาที่วัดแห่งหนึ่ง จึงถือโอกาสแว่บไปอีก ๖ กิโล เพื่อเข้าไปดูปลา สวาย, เทโพ และ ปลาแรดขนาดใหญ่ในแม่น้ำน้อยขึ้นมาแย่งอาหารกัน เป็นของแถม ก่อนจะตั้งหน้าตั้งตาขับรถกลับบ้านจริงๆ จังๆ

เป็นอีกวันที่ผมประทับใจมาก อยากจะกระแดะถึงขั้นบอกว่ารู้สึกผูกพันกับบ้านลาดโดถึงแม้จะได้สัมผัสแค่เพียงวันเดียว และรู้สึกเสียดายบรรยากาศ หมู่บ้านแห่งนี้มากๆ เมื่อคิดว่าในที่สุดความเจริญก็คงต้องเข้ามาไม่ช้าก็เร็ว.... ซึ่งเมื่อวันนั้นมาถึง ผมก็หวังว่าบ้านลาดชะโดคงจะไม่ถึงขั้นไร้ปลาชะโด เหมือนที่ผมไม่เคยเห็นควายที่บ้านแถว สะพานควาย สักตัวนะครับ

 

เพลงสาวผักไห่ โดย ชาตรี ศรีชล

โอกาสหน้า พี่จะมาหาใหม่
ไม่ลืมคนชื่อวิไลบ้านผักไห่อยุธยา
แม่คุณคนสวยพี่จะมาช่วย ทำนา
เห็นข้าวมันขึ้นราคา อยากมีพ่อตาทำนาดู

พี่คนจร จะหาคู่นอนคู่ดวงแด
ต้องกลับไปบอกพ่อแม่ เพื่อให้แกได้รับรู้
ลูกมีภรรยาได้เป็นชาวนาคงน่าดู
จะได้เป็นย่า เป็นปู่
เพราะเลือดไอ้หนูเป็นชาวนา

ข้าวขึ้นราคาอย่าหลงวาจาไอ้เสี่ยหนุ่ม
พี่อยู่ไกลหัวใจมันกลุ้ม
ร้อนรุ่มดั่งเดือนเมษา
น้ำตาลใกล้มดอย่าให้พี่อดอาลัยหา
ไม่นานพี่ก็กลับมา มาหมั้นสาวนาชื่อว่าวิไล

โอกาสหน้าเข้าพรรษาเทศกาล
จงคอยพี่ก่อนไม่นาน พี่กลับอีสานแดนไกล(กรุงไกร)
พี่ไม่ใช่คนบางกอก ไม่เคยคิดหลอกดั่งคำใคร
ก็ เพราะพี่รักปักใจ แม่สาวผักไห่อยุธยา

 

 

more survey ...

 

www.siamensis.org - Thailand Fish & Nature Explorer
An independent non-profit group
Established 2001
 All Rights Reserved 2001-2010 ©siamensis.org