ไปเที่ยว อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา มาครับ
เรื่อง/ภาพ เด็กม.อ.ตานี
เช้า 7
โมงครึ่ง ของวันศุกร์ที่ 28 เดือนมกราคม พ.ศ. 2547
เป็นวันนัดหมายตามกำหนดการ
ที่ภาควิชาภูมิศาสตร์จะออกไปทัศนศึกษากันที่ป่าฮาลา-บาลา
ผมเฝ้ารอวันนี้ด้วยใจตุ้มๆ ต่อมๆ เพราะสถานการณ์ในจ.ชายแดนทั้งสามไม่สู้จะดีนัก
ผมไม่ทราบกำหนดการณ์ที่จะไปมากนัก ทราบ แต่เพียงว่าจะไปถ้ำสักสองที่
และน้ำตกอีกที่นึง ซึ่งพวกรุ่นน้องที่เรียนภูมิฯ
บอกมาว่าไม่ได้อยู่ในเขตอุทยาน ผมก็เลยเตรียมอุปกรณ์พวกสวิง ถังน้ำ
และแอร์ปั๊มถ่านไปพร้อม และจากการสอบถามถึงผู้ที่เคยอาศัยในจ.นารธิวาส
ได้รับการบอกเตือนมาว่า ที่ป่าของจ.นราฯมีทากดูดเลือดอยู่แทบทั้งนั้น
ผมก็เลยเตรียมตัวโดยใส่กางเกงทหาร(หนา) ถุงเท้ายาว รองเท้าผ้าใบ
รวมทั้งเสื้อแขนยาว พร้อมพกยาเส้นไปด้วย
พอขึ้นรถก็ไหว้พระราชบิดา
พร้อมขอพรท่านให้การเดินทางเป็นไปด้วยความราบรื่น ในใจก็คิด "เอาน่ะ
ยังไงๆ อาจารย์กล้าพาไป แสดงว่าอาจารย์คงได้ถามไถ่เจ้าหน้าที่ หรือ
ชาวบ้าน เตรียมพร้อมไว้แล้วแน่"
แต่ไม่นานเมื่อรถจอดที่ปั๊มป์แรกซึ่งอยู่ห่างจากม.อ.ประมาณกิโลนึง
"อาจารย์ครับ ตกลงเราจะไปที่ใหนกันมั่งครับ" นั่นแหละครับ
ทั้งผม และรุ่นน้องภูมิฯถึงได้รู้จากปากอาจารย์ว่า
ถ้ำ และน้ำตกที่ว่าน่ะ อยู่ในอ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา
ชื่อที่ผม และน้องกลุ่มนี้ยังไม่รู้เรื่องเลยว่าเป็นที่หมายของเรา
แล้วอาจารย์ยังบอกด้วยว่าในถ้ำที่จะไปนี้จะมีลำธารผ่านในถ้ำ
รวมทั้งมีปลาถ้ำด้วย มันก็ช่วย ทำให้ผมตื่นเต้นขึ้นมาได้
เพราะแถวนี้อาจจะมีปลาถ้ำตกสำรวจที่ ทำให้มีนามสกุลผมเป็นชื่อวิทย์ปลาบ้าง
เดินทางไปได้สักชั่วโมง
เราก็หยุดกินข้าวที่ตัวอำเภอสะบ้าย้อย
พอกินเสร็จอาจารย์ก็เดินไปคุยกับจราจรในพื้นที่
ซึ่งพวกเราไม่รู้กันหรอกว่าเขาคุยอะไรกันมั่ง
แต่พอเดินทางไปถึงยังจุดหมายแรก วัดถ้ำตลอด สิ่งที่แปลกใจ คือ
มีทหารมาต้อนรับด้วย ไม่ธรรมดาจริงๆ วัดแห่งนี้เป็นวัดโบราณ
แต่ไม่รู้ว่าสร้างตั้ง แต่สมัยใด ชื่อวัดเดิมจำไม่ได้ซะแล้ว
ตัวถ้ำนั้นย่อมต้องเป็นเขาหินปูนคงทราบกันดี
ภายนอกถ้ำมีรูปแกะสลักโบราณอยู่มากมาย
ผมดูแล้วก็ให้นึกถึงศิลปทวารวดีไปโน่นเลยครับ ทางด้านอ.บ.ต.
ผู้อาสาเป็นไกด์ให้กับพวกเราชมวัดแห่งนี้
ได้บอกกับเราว่าเพิงเขาลูกนี้เป็นที่อยู่อาศัยของบรรพชนมาตั้ง แต่ยังเป็นพวกที่อยู่ตามเพิงถ้ำ
ไม่รู้จักสร้างบ้านเสียด้วยซ้ำ โดยพบหลักฐานอย่างเช่น
รอยหลุมที่เกิดจากการใช้สากตำเป็นเวลานาน จนหลุมลึกลงไปในเพิงหิน
ในยุคต่อๆ มา บริเวณเพิงนี้ก็กลายเป็นทางสัญจรผ่านไปมา
พบศิลปการแกะสลักต่างๆ โดยรอบ
ตรงปากทางเข้าถ้ำจะมียักษ์ตัวโตเฝ้าอยู่หน้าถ้ำ
ในถ้ำห้องแรกที่เข้าไปนี้มีพระนอนอยู่ด้วย(หมายถึงพระพุทธไสยาสน์นะครับ)ซึ่งสภาพศิลปน่าจะโบราณมาก
ในถ้ำแห่งนี้มีความสำคัญในแง่นิเวศวิทยา คือ
เป็นที่อยู่อาศัยของค้างคาวเล็บกุด(ซึ่งผมมารู้ภายหลัง
จึงไม่ได้ถ่ายภาพมา) ค้างคาวชนิดนี้มีความสำคัญต่อชาวสวนผลไม้มาก
เนื่องจากเป็นตัวผสมเกสรให้กับผลไม้ให้เกิดเป็นผลเป็นฝักขึ้นมา
หากขาดค้างคาวพวกนี้ ย่อมส่งผลต่อปริมาณผลไม้ที่เรากินกัน
ค้างคาวเล็บกุดเป็นสัตวป่าคุ้มครองครับ
หากจะดูหินงอกหินย้อยในถ้ำก็มีครับ แต่ปกติเขาไม่กล้าเปิดให้เข้าชม
เพราะกลัวว่าจะถูกทำลาย คงต้องรอให้มีการจัดการที่ดีพอ
จึงจะกล้าเปิดให้ชม จุดหมายแรกนี้ปรากฏว่าไม่มีลำธารภายในถ้ำแฮ่ะ
ไม่รู้อาจารย์หมายถึงจุดหมายอันใหนกันแน่
ยังมีถ้ำที่น่าสนใจซึ่งอยู่ห่างจากถ้ำนี้ไปเกือบกิโล
แต่เส้นทางเดินลำบาก ต้องใช้เวลา ซึ่งตามแผนการของอาจารย์นั้น
เวลามีไม่พอ ถ้ำที่ว่านี้ชื่อถ้ำผีกองทราย
จากคำบอกเล่าพร้อมภาพประกอบ(ซึ่งผมไม่มีภาพให้ดูหรอก)
ภายในถ้ำจะมีทรายกองอยู่หลายกอง
มีพระไปนั่งวิปัสนากรรมฐานอยู่บนกองทรายบ้างเป็นบางครา
หากมีคนไป ทำให้กองทรายล้มลงมา
วันต่อมากองทรายก็จะกลับมาอยู่ในสภาพเดิมได้อีก ในช่วงฤดูฝน
ภายในถ้ำแห่งนี้จะมีน้ำท่วมเต็ม เขาไม่แนะนำให้ไป
แต่ผมสนใจว่าจะมีปลาถ้ำอยู่บ้างนะ ทิ้งท้ายอีกนิดครับกับวัดแห่งนี้
คือบริเวณของวัดนี้จะมีความเกี่ยวข้องกับหลวงปู่ทวดอยู่ด้วย
โดยเป็นที่นั่งสมาธิของท่าน ซึ่งเป็นที่ที่จะต้องปีนหน้าผาขึ้นไป
ก็เป็นที่น่าสนใจว่า คนโบราณนี้ เขาปีนหน้าผากันเก่งจริงๆ เอาล่ะ
หลายคนคงจะเบื่อกับเรื่องราวสไตล์อย่างงี้แล้ว ไปจุดหมายต่อไปล่ะ
จุดหมายแห่งที่2 เกี่ยวข้องกับน้ำบ้างล่ะ
เป็นสระน้ำพุร้อนครับ
มีการสร้างสระขึ้นมารองรับบ่อน้ำพุร้อนแห่งนี้
เพื่อให้ผู้มาเที่ยวได้แช่กัน
ลำธารในบริเวณใกล้ๆ ที่เป็นน้ำเย็นจะมีปลาอาศัยอยู่
ที่เห็นอยู่ก็มีปลาซิว ส่วนจะมีปลากัดอมไข่อยู่หรือเปล่านี่
ไม่ได้ลองลงสวิงดูครับ เพราะทหารที่ติดตามมา
ยืนคุมอยู่โดยรอบพื้นที่เลยครับ ผมก็เลยติดอาการเกรงใจครับ
พอลำธารเย็นสายนี้ไหลลงไป จะไปบรรจบกับลำธารน้ำร้อน
ต่อจากนี้ไปล่ะครับที่จะไม่มีปลาอาศัยอยู่เลย
สาเหตุนอกจากปลาจะทนอุณหภูมิไม่ได้แล้ว
ก็ยังเกิดจากการที่น้ำอุณหภูมิสูงจะมีออกซิเจนละลายในน้ำได้ต่ำครับ
ลำธารด้านล่างจึงร้างปลาไปอีกไกลเลยครับ
จุดหมายต่อมาชื่อว่า ถ้ำรูนกสัก
ผมเพิ่งจะมารู้ทีหลังว่า ถ้ำแห่งนี้มีลำธารไหลผ่านถ้ำแล้วก็
มีหินงอกหินย้อยด้วย แต่ด้วยสภาพที่ผมไม่มีไฟฉาย ลืมพกไปอ่ะ
ก็เลยเที่ยวได้ไม่สะดวก เลยเลือกที่จะช้อนปลาอยู่ด้านข้างถ้ำแทน
ตอนเดินถ้ำอยู่ก็ไม่ได้พกสวิงไปหรอกครับ
แต่พอเจอแหล่งน้ำที่อยู่ข้างถ้ำมีปลาที่ดูแล้วน่าจะเป็นปลาช่อน(ตัวโตกว่าปลาก้าง)
ก็เลยลงไปดู แล้วก็เจอปลากัดอยู่ในแหล่งน้ำนี้ด้วย
ผมก็เลยรีบจ้ำอ้าวไปยังรถบัสที่จอดอยู่ห่างออกไปสักร้อยเมตร
เอากลับมาถึงก็ลองจ้วงดูริมหญ้าสองสามทีแรกก็เจอตัวเล็กของปลากัดเลยครับ
ตอนนั้นอาจารย์ก็สนับสนุนเต็มที่ให้จับมาดูครับ
แต่ผมดันใส่กางเกงทหารกับรองเท้าผ้าใบมา ก็เลยไม่ค่อยอยากจะลุยน้ำ
กะจะตักอยู่ แต่ตลิ่งฝั่งตรงข้ามถ้ำ
แต่ก็ได้รุ่นน้องภูมิฯซึ่งใส่กางเกงขาสั้นอาสาอยากจะจับบ้าง
ก็เลยยกสวิงให้น้องเขาไปจับที่ฝั่งด้านถ้ำให้
ผลก็ คือผมเอาปลากลับมาห้าตัว มาเลี้ยงไว้ที่แผนกครับ
ส่วนปลาชนิดอื่นในบริเวณเดียวกันเจอปลาซิวสุมาตรา(ปลาโหล)
ส่วนปลาซิวชนิดอื่นยังไม่ทันได้ลองจับดู
พวกน้องๆ และอาจารย์ก็กลับไปเสียหมดแล้ว
มาเที่ยวเป็นหมู่คณะก็ต้องทำใจในเรื่องนี้แหละครับ
หลังจากออกจากจุดนี้เหล่าทหารหาญก็ส่งชาวคณะให้กับตำรวจได้คุ้มครอง และนำทางไปยังจุดหมายต่อไป
จุดหมายสุดท้ายอยู่ในเขตอุทยานครับ
มีชื่อว่า น้ำตกพระไม้ไผ่ หรือชื่อใหม่ว่า น้ำตกเวฬุวัน
ตั้งอยู่ในเขตอ.ช.น้ำตกทรายขาว
ที่นี่มีเจ้าหน้าที่อุทยานเดินตรวจตราด้วย ผมจึงเกรงใจ
ไม่กล้าเอาสวิงติดตัวไปด้วยอีกเช่นกัน(นอกจากว่าจะเจอปลาที่น่าสนใจ
ค่อยขออนุญาตจับมาถ่ายรูป) น้ำตกแห่งนี้เป็นน้ำตกหินแกรนิต
เช่นเดียวกับน้ำตกทรายขาวของปัตตานี
เนื่องจากเป็นเทือกเขาเดียวกันนั่นเอง ตัวน้ำตกมีความชันพอสมควร
และวันที่ไปฝนได้โปรยปรายลงมาก่อนที่เราจะไปถึงเสียด้วย
ทำให้การเดินขึ้นน้ำตกลื่นมาก
บวกกับความชัน ทำให้ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษครับ
ยิ่งชั้นบนขึ้นไปบางชั้นต้องปีนผาสูงกว่า 2 เมตร
บางชั้นต้องใช้เถาวัลย์ช่วยในการป่ายปีน
แต่เอาเข้าจริงๆ ขาลงพวกผมก็หาทางอื่นที่สบายกว่าลงได้ครับ
ส่วนพันธุ์ปลาที่พบก็ ปลาพลวง(ธรรมดา พบได้ทั่วไป
ไม่ใช่พลวงกือเลาะ) ปลาตะเพียนน้ำตก ปลาซิวสุมาตรา ปลาอีกอง
(ก็ธรรมดาอีกนั่นแหละ) แล้วก็มีปลาซิวที่น่าจะใช่ม้ามุกด้วย
แต่ไม่ได้ลงสวิงดูครับ แล้วก็รูปที่ถ่ายมาก็ดูไม่เห็นอะไรเลย
ก็เลยไม่รู้ว่าสีสัน และรูปร่างจะเป็นยังไง
หลังจากนั้นก็เดินทางกลับครับ สรุปก็ คือ
แม้ว่าจะไม่ได้ไปเที่ยวฮาลา-บาลาอย่างที่ตั้งใจ และเตรียมตัวเตรียมใจไว้
แต่มันก็ช่วยให้พวกเราเที่ยวกันได้โดยไม่ต้องระแวงระวังอะไรมากมาย
และก็ได้รับความรู้ไปอีกแบบนึง
ซึ่งก็คุ้มค่าในการเดินทางไปกลับหนึ่งวันนี้ครับ
ปล. เข้าถ้ำเมื่อไหร่
อย่าลืมเอาไฟฉายไปเองนะครับ มัวรอไฟฉายจากคนอื่นอยู่
เราก็ค้นพบอะไรได้หลังคนอื่นเขาพอดี
more survey ...