: Home : Board : Articles : Expeditions : About us : Privacy Policy :
 

 

ต้นเกอะสะเดิ่งขึ้นอยู่ริมลำห้วย

เจอเด็กน้อยคนนี้ที่หมู่บ้านตอนที่คณะแวะทอดกฐิน เลยขอถ่ายภาพ พอเห็นกล้องเด็กน้อยก็ยิ้มอย่างน่ารักมาก

บรรยากาศในศาลาวัด

เด็กชาวกะเหรียญ ๒ คนกำลังช่วยผมหาปลา เด็กพวกนี้เกิด และโตกับธรรมชาติ จึงเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้เป็นอย่างดี

ปลาเลียหิน(Garra sp.) แอบนอนอยู่ในจุดน้ำนิ่ง ภาพนี้แอบถ่ายตอนกลางคืน
ปลากระทิงก็หลบนอนในน้ำนิ่งเหมือนกัน

ผีเสื้อตาลหางแหลมธรรมดา (Vindula erota) ปกติผีเสื้อชนิดนี้ชอบเกาะแบบกางปีกมากกว่า

ผีเสื้อดาลหางแหลมธรรมดา เกาะกินโป่งน้ำอยู่ริมลำธารระหว่างทาง

ผีเสื้อแผนที่ธรรมดา (Cyrestis thyodamas) ชื่อต่อท้ายด้วย “ธรรมดา” ก็บอกอยู่ แล้วว่าพบง่าย แต่ผมเพิ่งพบเป็นครั้งแรก 

ผีเสื้อเหลืองหนามธรรมดา (Polyura athamas) ชื่อต่อท้ายด้วย “ธรรมดา” แต่ก็สวยไม่ธรรมดา

ผีเสื้อหนอนใบกุ่มขอบตาลไหม้ (Appias lyncida)

ลักษณะป่าแบบดิบแล้งสลับทุ่งหญ้าบนทุ่งใหญ่ฯนั้นมักจะเกิดไฟไหม้อยู่ทุกปี จนต้นไม้ชินเสียแล้ว ไหม้ก็ไหม้ไปสักพักก็แตกใบใหม่ออกมา ปาล์มในภาพ คือตันเป้ง

ทัศนียภาพบางส่วนของทุ่งใหญ่ฯหลังไฟไหม้ ด้านหน้าสุดจะเห็นปรงต้นใหญ่กำลังแตกใบอ่อนอยู่

เข็มเหลือง (Vanda testacea) กล้วยไม้สกุลแวนด้าขนาดเล็กที่หาดูได้ไม่ง่ายนัก พบเกาะอยู่บนต้นไม้แห้งๆ ในป่าดิบแล้งจุดสูงสุดของทุ่งใหญ่ฯ

เอื้องแววมยุรา (Dendrobium fimbriatum) มักพบเกาะอยู่บนต้นไม้ในป่าดิบแล้ง

โมกหลวง บานสะพรั่งอยู่กลางป่าแล้ง เป็นต้นไม้ที่ดอก และทรงพุ่มดูสง่างามมาก

ลำห้วยเล็กๆ ต้นแม่น้ำสุริยะ

งูสามเหลี่ยม (Bangrus fasciatus) ตัวนี้พบอยู่ใกล้ๆ แคมป์ริมห้วยต้นแม่น้ำสุริยะ

ปลาติดหินในสกุล Homaloptera “เกาะ”นอนอยู่บนหินริมน้ำตกเล็กๆ ปลาชนิดนี้สามารถอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำไหลแรงได้ดีเนื่องจากครีบ และปากที่ธรรมชาติออกแบบมาให้สามารถเกาะติดกับหินได้ดี

ดูกันชัดๆ ใกล้ๆ

น้ำตกเล็กๆ ที่ปลาเกาะนอนเมื่อคืนนี้
ชะนีเกาะอยู่บนต้นไม้ไกลๆ

ปลาก้าง (Channa limbata) แอบนอนนิ่งอยู่ในซอกหิน

ปลาค้อปล้องใหญ่ (Schistura sp.) ตัวนี้นอนอยู่ในจุดที่น้ำค่อนข้างตื้นจึงโดนผมลักหลับถ่ายมาจนได้

ปลาค้อขนาดเล็กลายถี่ๆ (Schistura sp.) สีคลาสสิคตัวนี้ น่าจะเป็นปลาวัยอ่อนของตัวซี่กรงหางแดง ผมก็ยังไม่แน่ใจ

ปลาค้อซี่กรงหางแดง (Schistura sp.) ในภาพจุดเด่นของปลาตัวนี้อาจจะอยู่ที่หางสีแดงสด แต่ถ้าคุณได้เห็นปื้นสีทองบนหลังพวกเค้าสะท้อนแสงหล่ะก็ คุณจะลืมไม่ลงเลยหล่ะ

ปลาค้อชุมจนถ่ายมาได้ทีละ 2 ชนิด

ตัวนี้น่าจะเป็นปลาวัยอ่อนของตัวปล้องใหญ่ด้านล่าง
ปลาค้อลายปล้องใหญ่
ลูกปลาพลวง (Neolissocheilus sp.)
ปลาม่ำพม่า (Scaphiodonichthys burmanicus) ตัวผู้ กับตุ่มๆ ที่เหนือปาก แสดงว่าพร้อมที่จะผสมพันธุ์แล้ว  ปลาชนิดนี้มีสีเหลือบเขียวชมภูอ่อนๆ คล้ายกับปลาเรนโบว์เทราท์เลย
ปลาม่ำพม่า (Scaphiodonichthys burmanicus)  ตัวเมีย สังเกตว่าที่เหนือปากจะไม่ยื่นออกไปมาก และจะไม่เป็นตุ่มๆ

ผีเสื้อหางตุ้มใหญ่ (Parides dasarada) เป็นผีเสื้อที่หายาก และสวยงามมาก ตัวนี้มาทักทายผมที่ริมห้วยดงวี้ก่อนเดินทางกลับบ้าน

ห้วยดงวี่ยามเช้าก่อนอำลา
กวางเพศเมียตัวนี้ตาย เพื่อให้ชีวิตอีกหลายชีวิตในป่าอยู่รอด

ผีเสื้อหางติ่งปารีส (Papilio paris) ผีเสื้อชนิดที่พบได้บ่อย และมีความสวยงามมาก

 

 

ดงวี่ ห้วยมหัศจรรย์กลางป่ามรดกโลก

เรื่อง/ภาพ: นณณ์ ผาณิตวงศ์

ผมยืนกระโดดดึ๊งๆ อยู่บนหาดกรวดริมห้วยดงวี้ ด้วยความดีใจ เมื่อเห็นปลาน้อยใหญ่มากมายแหวกว่ายอยู่ในห้วยขนาดกลางสายนั้น หลังจากที่คณะทอดกฐินสามัคคีเดินทางกันบนรถออฟโรดมาได้เป็นวันที่ ๓ แล้ว ก่อนหน้านี้คณะของเรา ซึ่งประกอบไปด้วยคุณพ่อของผม เพื่อนคุณพ่อหลายท่าน และ รถท้องถิ่น รวมแล้ว ๗ คันได้เริ่มออกเดินทางจากอำเภอสังขละบุรีในจังหวัดกาญจนบุรี

ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรนั้น มีหมู่บ้านชนพื้นเมืองอยู่ด้วยกันหลายแห่ง เส้นทางติดต่อกับโลกภายนอกของพวกเค้าเหล่านั้น คือถนนดินที่ตัดผ่านหุบเขา หน้าผา และแม่น้ำ ระยะทางหลายกิโลเมตร คดเคี้ยวไปในป่าหลากหลายประเภท ในหน้าฝน เส้นทางเหล่านี้จะกลายเป็นดินโคลนเฉอะแฉะ มี แต่รถที่ แต่งมาอย่างดี หรือคนที่มีฝีมือ และประสบการณ์เท่านั้นถึงจะฝ่าฟันเข้าไปได้ เพราะนอกจากรอยล้อรถในหน้าฝน น้ำฝนที่จะกัดเซาะถนนจนเป็นล่องลึกแล้ว บางครั้งต้นไม้ก็อาจจะล้มขวางถนนจนไม่สามารถไปต่อได้ ทุกๆ ปีเมื่อหมดฤดูฝน กำนัน และผู้ใหญ่ในพื้นที่จะร่วมมือกันกับชาวบ้าน แต่ละหมู่บ้านร่วมกันซ่อมแซมถนนสายนี้ เพื่อให้พวกเค้าได้สามารถติดต่อกับโลกภายนอกได้ง่ายขึ้น และในทางกลับกันก็ เพื่อให้โลกภายนอกเข้ามาติดต่อกับพวกเขาได้ง่ายขึ้น  ทุกปีอีกเช่นกันที่ปัญหาการขาดแคลนเครื่องมือพื้นฐานในการซ่อมแซมถนนเช่น จอบ เสียม มีดพร้า หรือแม้ แต่พลังงานง่ายๆ อย่างบะหมี่สำเร็จรูปที่จะใช้เลี้ยงชาวบ้านที่มาช่วยกันมักจะเป็นปัญหาที่ ทำให้งานซ่อมช้า และไม่สมบูรณ์ พวกเราทราบปัญหานี้แล้วจากการไปเยือนทุ่งใหญ่ฯเมื่อปีที่แล้ว ปีนี้หลังหมดหน้าฝน เราจึงติดต่อกับกำนันในท้องถิ่น เพื่อบริจาคอุปกรณ์จำเป็นง่ายๆ พวกนี้ให้กับชาวบ้าน เพื่อที่การซ่อมแซมถนนจะได้เป็นไปอย่างราบรื่น และเรียบร้อย เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ทั้งชาวบ้าน และแขกต่างถิ่นอย่างพวกเรา  ปีนี้นอกจากฝั่งไทยแล้ว เรายังวางแผนจะเข้าไปเยี่ยมประเทศ เพื่อนบ้านด้วย

วันแรกของการเดินทางครั้งนี้ ช่วงเช้าเราแวะทอดกฐินที่วัดเกาะสะเดิ่งซึ่งเป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยญ (พวกเค้าก็เรียกตัวเองว่า กะเหรี่ยญ ไม่ใช่ กะเหรียง) กลางป่า ในคืนแรกเราแวะพักที่หน่วยพิทักษ์ป่าลังกา ริมลำน้ำกษัตริย์ ซึ่งผมได้เขียนถึงไปแล้ว และในคราวนี้ก็ไม่ได้พบปลาใหม่ที่น่าสนใจจะเขียนซ้ำ วันที่ ๒ เราเริ่มเข้าเขตพม่าซึ่งชายแดนในช่วงนี้เป็นรั่วไม้ไผ่ และป้ายเก่าๆ อันเดียวบอกไว้ เราทำบุญที่วัดพม่าซึ่งอยู่ในหมู่บ้านชายแดน จากนั้นก็พยายามจะเข้าไปทำบุญในหมู่บ้านพม่าลึกเข้าไปตามที่ทางเจ้าอาวาศวัดกองหม่องทะ ซึ่งร่วมขบวนมากับเราด้วยได้ติดต่อไว้แล้ว กับทหารพม่าที่คุมชายแดนอยู่ แต่โชคร้ายที่ทหารชุดที่เราติดต่อไว้ ได้เปลี่ยนเวรไปโดยที่ไม่ได้ฝากเรื่องไว้กับทหารชุดใหม่ จน ทำให้คณะของเราซึ่งทะเล้อทะล้าขับเข้าไปในเขตแดนของ เพื่อนบ้านโดนกักตัวอยู่ในประเทศพม่าโดยทหารที่ถือปืนกลกระบอกโตห้อยลูกระเบิดเต็มเอวนั้บสิบคน กลางแดดเปรี้ยงๆ ของดงไผ่แล้งๆ ถึง ๗ ชั่วโมง ท่ามกลางความอึดอัด,ความไม่แน่นอน และความที่พูดกันไม่ค่อยรู้เรื่อง จะคุยกันทีต้องผ่านล่ามถึง ๒ ต่อ คือ จากพม่าเป็นกะเหรียญ จากกะเหรียญเป็นไทย ในที่สุดทหารพม่าก็ปล่อยตัวพวกเรากลับฝั่งไทยโดยสวัสดิภาพเมื่อตอนใกล้ค่ำ การเดินทางที่ตั้งใจว่าจะเข้าไปในเขตพม่าจึงต้องยุติไปเท่านั้น หันหัวกลับเข้าไปในเขตไทย คืนที่ ๒ เรานอนพักกันที่หน่วยพิทักษ์ป่าจะแก ซึ่งลำธารเล็กๆ ที่ไหลผ่านแคมป์เป็นส่วนหนึ่งของลำน้ำสุริยะที่เราไปไม่ถึง ปลาที่พบในลำธารสายนั้นคล้ายๆ กับปลาในลำน้ำกษัตริย์ จึงไม่มีอะไรตื่นเต้นมากนักนอกจากปลาติดหิน ๒-๓ ตัวที่เกาะนอนอยู่ตรงจุดที่เป็นน้ำตกเล็กๆ เชี่ยว และชันเกือบ ๔๕ องศา หลังจากกินข้าวเรียบร้อยแล้วในคืนนั้นผมก็เข้านอนไปด้วยความเหนื่อยอ่อนในเต็นท์หลังเล็กๆ ของตัวเอง ในเตนท์ถัดไปเสียงพี่หมี (อ.ชัยวุฒิ กรุดพันธ์) มัจฉามิตรที่ร่วมเดินทางด้วยกันหลายครั้งแล้วนอนกรนครอกๆ ไปเรียบร้อยแล้ว กำลังจะเคลิ้มๆ ผมก็ต้องลืมตาขึ้น เพราะเสียงโวยวายจากนอกเต็นท์ของชาวคณะ

“เฮ้ย งูๆ ๆ ๆ ระวัง” เสียงใครคนหนึ่งร้องขึ้น แล้วก็มีเสียงฝีเท้าวิ่งมาที่เต็นท์ผม บอกว่าเจองูสามเหลี่ยมขนาดใหญ่อยู่ภายในบริเวณที่ตั้งแคมป์ อยากให้ผมไปถ่ายรูป ผมหายง่วงเป็นปลิดทิ้ง คว้ากล้องได้ก็ออกไปถ่ายภาพเจ้างูสามเหลี่ยมตัวนั้นไว้ จัดการใช้ไม้ยาวๆ เขี่ยให้มันพ้นทางออกไปนอกบริเวณแคมป์ แล้วคืนนั้นผมก็หลับไปอย่างเหนื่อยอ่อน วันรุ่งขึ้นเป้าหมายของเรา คือห้วยดงวี้ ซึ่งในการมาทุ่งใหญ่นเรศวรเมื่อปีที่แล้ว เราได้ แต่ขับผ่านไปโดยมีผมนั่งลิ้นห้อยอยู่ในรถด้วยความเสียดาย

บ่ายคล้อยวันที่ ๓ หลังจากที่กระเด็นกระดอนมาในรถบนเส้นทางที่แสนทุรกันดาลระดับปราบเซียนของทุ่งใหญ่นเรศวรซึ่งถ้าเป็นหน้าฝนคงลำบากกว่านี้มาก สองข้างทางตอนนี้เป็นทุ่งหญ้าขนาดใหญ่บนเนินเขาสูงเกือบพันเมตรจากระดับน้ำทะเล ต้นไม้เด่นๆ คือต้นปรง และต้นเป้ง มีไม้ใหญ่พวกเต็ง,รัง, เสี้ยวดอกขาว และ โมกหลวง สลับเป็นหย่อมๆ บางจุดเพิ่งโดนไฟป่าเผาพลาญกำลังมีหญ้าระบับขึ้นสีเขียวอ่อนตัดกับถ่านขี้เถ้าสีดำๆ หญ้าอ่อนๆ พวกนี้สัตว์ชอบกินมากซึ่งถ้าผ่านมาส่องไฟตอนกลางคืนอาจจะได้เห็นสัตว์ใหญ่ อย่างกระทิงบ้าง แต่เราก็ไม่อยากจะรบกวนสัตว์ให้มากนัก เพราะที่นี้เป็นบ้านของพวกเขา ในขณะที่พวกเราควรจะทำตัวเป็นแขกที่ดีไม่จุ้นจ้านจนเกินเลย ปรง และเป้งที่ถูกไฟไหม้ ทิ้งใบเก่าแล้วก็แตกใบใหม่ที่ส่วนยอด ไม้ใหญ่วิวัฒนาการคู่กับไฟป่าให้มีเปลือกหนา จึงไม่เป็นอันตรายอะไรมากนัก  พวกเราหยุดรถเป็นครั้งคราว เพื่อดูฝูงชะนีที่อยู่ต้นบนไม้สูงริมทาง บางครั้งก็มีนกกาฮัง นกเงือกขนาดใหญ่เกาะอยู่บนต้นไม้ เก้งวิ่งตัดหน้ารถเราไป ๒-๓ ครั้ง อีกไม่นานเราก็มาถึงห้วยดงวี้ เป้าหมายของเราในวันนี้

“จอดๆ ๆ ๆ ๆ ๆ เลยพี่” ผมตะโกนลั่นรถบอกพี่คนขับซึ่งวันนี้ผลัดเวรกับผมหลังจากที่ผมขับจนเมื่อยมาแล้วถึง ๒ วัน ขณะนั้นรถกำลังแล่นผ่านลำห้วย เพื่อไปที่จุดตั้งแคมป์อีกฝากหนึ่ง ผมเปิดประตูกระโดดลงไปยืนอยู่กลางลำห้วยสัมผัสกับน้ำใสไหลเย็นผ่านเท้าไป ลูกปลาพลวงตัวเล็กๆ ฝูงใหญ่ว่ายผ่านไป ปลาซิวใบไผ่ตัวใหญ่ๆ อีกฝูงว่ายตามหลังมาติดๆ  บนพื้นกรวด ปลาค้อกำลังก้มหน้างุดๆ ๆ ๆ หาอาหารกินกันอยู่ ผมเดินทวนน้ำขึ้นไปตรงหินใหญ่วักน้ำล้างหน้า แล้วก็พบว่าในบริเวณนั้นมีปลาค้อขนาดใหญ่สีสวยอีกหลายสิบตัวหาอาหารกันอยู่เต็มแก่งไปหมด ผมค่อยๆ เดินไปสำรวจที่ตื้นๆ บ้างก็พบว่ามีปลาค้ออีกชนิดอาศัยหากินอยู่ ผมตื่นเต้นดีใจจนออกนอกหน้า กระโดดดึ๊งๆ ๆ อยู่ริมหาดกรวดแห่งนั้น “สุดยอดๆ ๆ ๆ ๆ ” ผมบอกพี่หมี เมื่อพี่หมีตามมาสมทบหลังจากรถได้ไปจอดในที่ๆ สมควรจอดแล้ว

หลังจากรอให้รถของชาวคณะทุกคันจอดกันเข้าที่เรียบร้อยแล้ว ผมก็รีบไปจัดแจงกางเต็นท์ของตัวเองให้เรียบร้อย เนื่องจากเป็นเต็นท์เล็กๆ ที่ไม่มีอะไรวิลิสมาหร่ามากนัก ผมจึงใช้เวลาไม่นานนัก หลังจากดูว่าทุกอย่างเรียบร้อยดีแล้ว ด้วยความกลัวว่าแสงจะหมดเสียก่อน ผมจึงเรียบเปลี่ยนกางเกงจากขาก๊วยเป็นขาสั้นผ้าร่มแบบที่เปียกน้ำแล้วแห้งง่าย ส่วนเสื้อนั้นก็เปลี่ยนมาเป็นเสื้อยืดตัวเก่าที่หนาสักหน่อย จัดแจงคาดสายรัดส้นรองเท้าแตะให้แน่นแล้วผมก็พร้อมที่จะลง “ดำน้ำ” ดูปลา คุณอาจจสงสัยว่าทำไม้ผมถึงใส่เสื้อลงดำน้ำ แหะ แหะ พุงของกระผมนั้นนับวันก็ชักจะมากขึ้นทุกที หินตามลำธารบางจุดก็คมเสียด้วย ดังนั้นการใส่เสื้อ และสวมรองเท้าป้องกันไว้ก่อนจึงเป็นเรื่องจำเป็นครับ โดยเฉพาะตามแก่งน้ำไหล ซึ่งไม่รู้ว่าจะเสียหลักโดนพัดเอาพุงไปขูดหินเมื่อไหร่ แต่แล้วก็เกิดปัญหาขึ้น ผมเพิ่งรู้ตัวเดี๋ยวนี้เองว่าลืมนำหน้ากากดำน้ำมาด้วย

“พี่หมีคร๊าบ ผมลืมเอาหน้ากากดำน้ำมา พี่หมีเอามาหรือเปล่า?”  ผมหันไปถามพี่หมีที่จัดของอยู่ข้างๆ เต็นท์ของพี่หมีนั้นเป็นแบบที่มีลวดเป็นแกน แกะออกมาจากซองแล้ว สะบับพรึบเดียวก็เป็นเต็นท์แล้ว ตอนนี้ท่านพี่เลยกำลังจัดของอยู่ในขณะที่ผมยังทิ้งไว้ในรถก่อน “มีนณณ์ แต่ไม่มีท่อหายใจนะ” พี่หมีตอบ ซึ่งก็ผมก็ไม่ได้แปลกใจอะไรนัก เพราะเคยไปดำน้ำลำธารเล่นกันมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยที่พี่หมีไม่ชอบใช้ท่อหายใจ แต่ชอบกลั้นใจเอามากกว่า ในขณะที่ผมกลั้นได้ไม่ทนนัก แต่ก็เอาน่า ดีกว่าไม่มีเอาเสียเลย 

ในลำห้วยดงวี้ น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา แหวกว่ายธาราอยู่ไหวๆ ผมเดินไปตรงจุดที่น้ำลึกเกือบถึงเอว แล้วค่อยๆ ย่อตัวลงช้าๆ ค่อยๆ ปรับตัวให้ชินกับอุณหภูมิแสนเย็นเจี๊ยบของน้ำ จะตื่นเต้นอยากดูปลาแค่ไหน แต่ยังไงๆ น้ำก็ยังหนาวเกินไปอยู่ดี แล้วผมก็ต้องสะดุ้งสุดตัวเมื่อโดนสาดน้ำโครมใหญ่มาจากด้านหลัง หันไปเจอพี่ยุลูกน้องชาวมอญที่อยู่กันมานานยืนยิ้มเผล่อยู่บนหาดกรวดใกล้ๆ “คุณนณณ์ชักช้าไม่เปียกสักที ผมจัดการให้เอง” ว่าแล้วก็ยืนยิ้มฟันขาวตั้งท่าจะสาดอีกรอบ แต่ผมรู้ทันรีบชิงนั่งลงไปยอมเปียกเองเสียดีกว่า “อู้ยยยสสสสส”

ผมใช้เวลาอยู่สักพัก ปรับตัวให้เป็นสัตว์เลือดเย็น แล้วก็ค่อยๆ เริ่มแหวกว่ายดูปลาในห้วยดงวี้ ปลาที่เด่นๆ ในลำธารต้นน้ำก็ยังเป็นปลาในกลุ่มปลาค้อเหมือนเคย ที่ห้วยแห่งนี้ มีค้อหน้าตาสีสันแปลกๆ อยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะเจ้าตัวเล็กๆ เพรียวบางลายสีเท่าสลับเหลืองหม่นๆ โดยมีแถบสีทองจางๆ พาดกลางลำตัวที่มักจะเกาะหากินอยู่บนยอดหินในจุดที่น้ำไหลแรงผมไม่แน่ใจว่ามันเป็นปลาค้อชนิดไหนกันแน่ ปลาค้ออีกชนิดมีลำตัวเป็นลายปล้องขนาดใหญ่ สีเหลืองสลับเขียว หางสีส้มเรื่อยๆ พวกนี้ตัวใหญ่กว่าชนิดแรกมาก และหากินอยู่ในส่วนล่างของลำธารที่เป็นพื้นกรวดมากกว่าไม่ใคร่ขึ้นมาเกาะตามยอดหินหรือชายหินมากนัก ในบริเวณเดียวกัน ปลาค้อตัวที่สวยที่สุดในลำธารแห่งนี้ก็กำลังหากินอยู่ ปลาชนิดนี้ผมเจอหลายครั้งแล้วในลำธารแถบต้นแม่น้ำแม่กลอง แต่ที่นี้พวกมันตัวใหญ่มาก ด้วยลายสีน้ำตาลเข้มที่เป็นซี่กรงถี่ๆ ในช่วงหลังเหงือก แล้วค่อยๆ กลายเป็นซี่กรงที่ห่างขึ้น ส่วนหลังของพวกมันเป็นสีทองประกายระยิบระยับเมื่ออยู่ในน้ำ และเมื่อบวกกับหางสีแดงสดใส เจ้าพวกนี้จึงกลายเป็นปลาค้อที่สวยที่สุดสำหรับผมในห้วยแห่งนี้ ตรงจุดที่ตื้นขึ้นไปอีกใกล้ๆ กับหาดกรวดตรงจุดที่น้ำไหลไม่แรงมากนักมีปลาค้อลวดลายอีกแบบอาศัยอยู่ พวกมันมีลายเป็นตารางๆ สีน้ำตาลอ่อนๆ ไม่เด่นอะไรนัก

ผมดำไปได้สักพักก็รู้สึกว่าการดำโดยไม่มีท่อสายใจนั้นเหนื่อยมาก เพราะต้องกลั้นหายใจทีละนานๆ ว่าแล้วผมก็เลยไปเรียบๆ เคียงๆ บริเวณที่ตั้งแคมป์ของคณะถามหาสายยางว่าใครมีบ้าง พลางตาก็เหลือบไปเห็นสายยางท่อเตาแก๊สไปถามเรียบๆ เคียงๆ ดู แต่พ่อครัวหัวป่าจำเป็นของคณะเราก็แยกเขี้ยวบอกว่าห้ามแตะต้องเด็ดขาดพลางยกอีโต้ที่กำลังหั่นเนื้อขึ้นมากวัดแกว่ง เห็นท่าจะไม่ดีผมก็เลยหันไปพึ่งสายยางเติมน้ำมันรถแทนซึ่งก็ได้ผลเมื่อถามไปเรื่อยๆ ก็พบว่ามีของคันหนึ่งที่เป็นสายยางใหม่ และยังไม่ได้ใช้ ผมจัดการตัดสายยางให้ได้ตามขนาดที่ต้องการ มัดสายยางที่ว่าไว้กับสายแว่นดำน้ำด้วยหนังยางแล้วก็เริ่มดำน้ำต่อ คราวนี้ผมดำได้นานขึ้น เพราะมี “ท่อหายใจ” แล้ว แต่ปัญหาใหม่ก็ คือปกติท่อหายใจมันจะโค้งๆ มาเข้าปากพอดี แต่ท่ออันนี้กลับแข็งทื้อ ผมเลยต้องอมเฉียงๆ จนปากแทบฉีก ตอนหลังพี่หมีก็ตามมาร่วมวงดำน้ำเย็นกับเค้าด้วย ในขณะที่น้องๆ เยาวชนรุ่นประถมลูกๆ เพื่อนของคุณพ่อผมที่มาเที่ยวกับคณะด้วยก็พบความสุขด้วยการสาดน้ำใส่ผมที่กำลังดูปลา บางครั้งก็ตักน้ำมาหยอดลงไปตามสายยางจนผมต้องโผล่ขึ้นมาสาดสู้อย่างดุเดือดจนแตกกระเจิง ว่ะ ฮ่า ฮ่า ฮ่า

เจ้าปลาม่ำพม่าขนาดใหญ่ที่ผมเห็นโฉบกินตะไคร่อยู่บนหินก้อนใหญ่ไม่ยอมให้ผมเข้าใกล้เอาเสียเลย พวกมันดูจะเป็นปลาที่ตื่นที่สุดในลำธาร (หรือถ้ามีชนิดที่ตื่นกว่าผมก็คงไม่ได้เห็นมันอยู่แล้ว) ปลาพวกนี้เมื่อตอนอยู่บนหาดกรวด ผมเห็นพฤติกรรมกินตะไคร่ๆ แปลกๆ ของพวกมัน นั่นก็ คือการลอยตัวอยู่เหนือหินแล้วสะบับหัว “โฉบ” ลงไปกินตะไคร่เป็นแนวๆ เฉียงๆ ไม่เหมือนการกินตะไคร่ของปลากินตะไคร่ทั่วๆ ไปที่จะใช้ปากดูดๆ ๆ ๆ ไปเรื่อยๆ น่าเสียดายที่พวกมันตื่นเกินกว่าที่จะยอมให้ผมดูใต้น้ำว่าพวกมันทำอะไรกันแน่ จะมีก็เพียงกลุ่มลูกปลาม่ำตัวเล็กๆ ที่ดูเหมือนว่าจะไม่สนใจโฉบตะไคร่มากนัก แต่กลับมาหากินอยู่กลางน้ำ กินอะไรต่อมิอะไรที่ลอยมากับน้ำเท่านั้นที่ยอมให้ผมดูพวกมันใกล้ๆ

นอกจากปลาม่ำแล้ว ปลาโหลๆ ประจำลำธารก็มีพวกปลาซิวใบไผ่ที่เป็นโรคจุดดำๆ กันเกือบทุกตัว ผมเองก็ไม่ทราบว่าพวกมันเป็นโรคอะไรกันแน่ และโรคนี้ก็เป็นโรคที่ไม่คุ้นเคยนักสำหรับปลาตู้ ปลาพลวงก็มีอยู่ตั้ง แต่ตัวเล็กๆ ไปจนถึงตัวเป็นฟุต ปลาพลวงก็เช่นกันที่ผมสังเกตว่าตัวเล็กๆ จะไม่ใคร่กลัวผมมากนัก แต่ยิ่งตัวโตก็จะยิ่งไม่ยอมให้ผมเข้าใกล้มากขึ้นเหมือนเจ้าปลาม่ำ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม

ห้วยดงวี้เมื่อมองมาจากที่ราบบนทุ่งใหญ่นเรศวรก่อน จะเห็นว่าเป็นห้วยที่ไหลอยู่ในหุบเขา สองข้างเป็นหน้าผาสูงชัน ที่มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นหนาทึบ และดูเขียวชะอุ่มอยู่เป็นดง แตกต่างจากบริเวณรอบข้างที่บัดนี้แห้งแล้งจนเกิดไฟป่าไปทั่วทุกหย่อมหญ้า และด้วยความที่อยู่ในหุบเขานี่เอง บริเวณห้วยดงวี้จึงมืดเร็วกว่าปกติ เพราะพอพระอาทิตย์ลับเหลี่ยมเขาเมื่อไหร่ก็เรียบร้อยเมื่อนั้น ผมเลิกดำน้ำดูปลา เพราะแสงเริ่มน้อยลง และก็เริ่มหนาว ถือโอกาสถูสบู่สระผมเรียบร้อยก็เปลี่ยนเสื้อผ้าคว้าไฟฉายมาเดินดูปลาต่อให้เป็นที่แปลกใจแก่ เพื่อนร่วมคณะหลายคนว่าทำไมผมถึงจะบ้าขนาดนั้น “พี่ครับคนบ้ามีหลายแบบครับ” ผมบอกพี่คนหนึ่งที่ชอบดูพระเครื่อง “เออก็จริงหว่ะ นี่ได้พระมาจากหมู่บ้านกระเหรียญเมื่อวาน พี่นั่งดูอยู่เกือบเที่ยงคืนแหน่ะ”

ช่วงใกล้ค่ำฝนก็เริ่มโปรยปรายลงมา ถ้าตกหนักจริงๆ นอกจากจะ ทำให้ถนนเละตุ้มแป๊ะเดินทางยากแล้ว คืนนี้เราอาจจะไม่มีที่นอนกันก็ได้ เพราะส่วนใหญ่ล้วนแล้ว แต่เป็นเตนท์ที่กางอยู่กับพื้นดินทั้งสิ้น คณะของเราต่างคนต่างก็มองขึ้นฟ้า เอามือลองฝนลุ้นขออย่าให้ตกลงมาแรงเลย ผมแอบเห็นหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดกองหม่องทะ ยืนอยู่ริมลำธารด้านเหนือสุดซึ่งท่านไปปักกรดอยู่ หลับตา มือขวาชี้ขึ้นฟ้า วนไปวนมาที่ลำดับไหล่ ปากก็พึมพำ แต่ผมอยู่ไกลเกินกว่าที่จะได้ยิน ผมไม่กล้าเข้าไปถามว่าท่านทำอะไร แต่ให้เดาก็คงรู้ว่าท่านเองก็ไม่อยากให้ฝนตกเหมือนกัน  ใครบางคนในกลุ่มเรา มีนาฬิกาแบบที่สามารถพยากรอากาศได้บอกว่าไม่ต้องห่วง นาฬิกาของเค้าบอกว่าฝนจะไม่ตก แต่อีกไม่นานฝนก็เริ่มตกหนักขึ้น “นาฬิกาบอกว่ายังไงบ้างครับตอนนี้?” ผมถาม “ยังบอกว่าฝนจะไม่ตกเหมือนเดิมครับ” เค้าตอบหน้าตาย จนทั้งคณะหัวเราะกันลั่น

ฝนยังตกพรำๆ ในระหว่างที่เรากินข้าวเย็นกันใต้ผ้าใบผื่นใหญ่ที่จัดกางขึ้น  เย็นวันนี้เป็นวันสุดท้าย อาหารที่ขนกันเข้ามาจึงถูกนำออกมารับประทานกันอย่างเต็มที่ นอกจากนั้นวันนี้เรายังมี ข้าวไร่หลาม ที่เผามาในไม้ไผ่จนหอมกลุ่น และหวานอย่างไม่น่าเชื่อโดยไม่มีน้ำตาลด้วย ข้าวไร่นี้เป็นข่าวที่ชนพื้นเมืองทางแถบนี้นิยมปลูก เป็นข้าวชนิดที่ไม่ต้องการน้ำขัง ดังนั้นจึงสามารถปลูกบนเนินเขาโดยไม่ต้องทำขั้นบันไดเลย เป็นข้าวเม็ดเล็กๆ สั้นๆ ที่มียางมาก มีรสแป้งๆ และถ้าหุงให้ดีจะมีกลิ่นหอมทีเดียว พอเริ่มอิ่มฝนก็เริ่มหยุด ต่างคนต่างก็โล่งใจไปตามๆ กันผมอดจะนึกไปถึงภาพหลวงพ่อยืนหลับตาบ่นพึมพำมือชี้ฟ้าไม่ได้ อาจจะบังเอิญ หรืออาจจะได้ผลจริงๆ ก็ได้ใครจะไปรู้ “เห็นไหมก็นาฬิกาผมบอกว่าฝนจะไม่ตกก็ไม่ตกจริงๆ ” เจ้าของนาฬิกาได้ที

สำหรับผม, พี่หมี และ พี่ยุ ฝนหยุดท้องอิ่มก็หมายถึงการเริ่มต้นหากบจับปลากันเสียที ในตอนกลางคืนนั้นปลาบางชนิดที่ตื่นคนจะเชื่องลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราสามารถจับมันขึ้นมาดูได้ง่ายขึ้น และปลาที่อยู่ในลิสของผมในคืนนี้ก็ คือเจ้าปลาม่ำซึ่งเล่นตัวเหลือเกินเมื่อตอนเย็น  

ไม่นานนักผมก็ส่องไฟพบปลาม่ำขนาดสักเกือบๆ ฟุตตัวหนึ่งแอบหลับอยู่ริมหินก้อนใหญ่ในบริเวณที่น้ำไหลแรงพอสมควร ผมสังเกตว่าปลาม่ำจะชอบอยู่ในบริเวณที่น้ำไหลแรงมากกว่าปลาพลวง เราจับปลาตัวนั้นขึ้นมาได้อย่างไม่ยากเย็นนัก แล้วผมก็พบว่าปลาม่ำเป็นปลาที่สวยมากทีเดียว โดยเฉพาะสีเขียวเหลือบชมภูอ่อนๆ ซึ่งกระเดียดไปทางสีของ เรนโบว์เทราท์ ปลาลำธารซึ่งมีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือ ด้านปลายสุดส่วนหัวของปลาแทนที่จะเป็นปากกลับเป็นส่วนเนื้อก้อนๆ ที่มีจุดๆ ตุ่มๆ ขึ้นเต็มไปหมด เจ้าจุดๆ ตุ่มๆ ที่ว่านี้เป็นลักษณะของปลาตัวผู้ขนาดโตเต็มวัยที่พร้อมจะผสมพันธุ์ของปลาหลายชนิด ส่วนปากที่อยู่ด้านใต้ของส่วนโหนกที่ยื่นออกไปก็ดูโค้งๆ ตลกๆ ดูแล้วก็ไม่แปลกใจที่ปลาชนิดนี้มีพฤติกรรมกินอาหารแปลกๆ แบบนั้น  อีกสักครู่เราก็จับปลาม่ำขนาดไล่เลี่ยกับตัวแรกได้อีกตัว ตัวหลังนี่ไม่มีตุ่มๆ ที่ว่าเหมือนตัวแรก และโหนกเหนือปากก็มีน้อยกว่า น่าจะเป็นปลาม่ำตัวเมีย ปลาอีก ๒-๓ ชนิดที่ผมไม่เห็นตอนดำน้ำเมื่อตอนเย็นที่เราจับได้ก็มี ปลาตะเพียนน้ำตก, ปลาจาด, ปลาแค้ห้วย และปลากระทิงลาย นอกจากนั้นเรายังพบกบอีก ๒ ชนิด และจ่งโคร่งตัวใหญ่ด้วย

เช้าวันนั้นคงเป็นการตื่นที่เป็นสิริมงคลมาก เพราะบริเวณที่ผมกางเตนท์อยู่นั้น ใกล้กับบริเวณที่หลวงพ่อ และพระลูกวัดได้ปักกรดอยู่ ผมนอนฟังเสียงท่านสวดมนต์จำวัดตั้ง แต่ ๖ โมงกว่าๆ จนท่านสวดเสร็จตอนประมาณ ๗ โมงเช้าจึงตื่นมุดหัวออกมาบิดขี้เกียจนอกเต็นท์ ซึ่งผมมาทราบทีหลังจาก เพื่อนร่วมคณะว่าทุกเช้าท่านจะเริ่มสวดตั้ง แต่ตอนตี ๕ เป็นเช้าที่อากาศดีไม่หนาวจนเกินไปนัก เสียงชะนีร้องมาจากป่าสูงตรงบริเวณหัวโค้งของลำห้วยห่างออกไปจากจุดที่เราตั้งเตนท์สัก ๒๐๐ เมตร ผมคว้ากล้องได้ก็ค่อยเดินเรียบริมน้ำไปเรื่อยๆ บางจุดที่น้ำตื้นๆ ผมก็ถือโอกาสลงไปเดินเล่นในน้ำดูปลาเสียเลย ผมพบว่าตรงบริเวณโค้งแห่งนี้เป็นวังขนาดใหญ่ ปลาพลวงตัวใหญ่มากมายหลายตัวแหวกว่ายช้าๆ อย่างไม่ขัดเขินผู้มาเยือนมากนัก ผมลองแกล้งโยนกรวดก้อนเล็กๆ ลงด้านหน้ากลุ่มของพวกมัน และก็พบว่าพวกมันรีบพุ่งตัวมายังจุดที่หินตกกันอย่างรวดเร็วแสดงว่าคงจะพร้อมกันอยู่เสมอกับอาหารที่จะตกลงมาจากฟ้า ผมยืนมองอยู่สักครู่แมลงตัวใหญ่ตัวนึงก็บินแป้วๆ ๆ ๆ ๆ มาตกลงน้ำตรงหน้าของผม และมันก็ถูกปลาพลวงขนาดเล็กที่ว่ายอยู่แถวนั้นจัดการไปด้วยเวลาอันรวดเร็วจนผมไม่ทันมองว่าเป็นแมลงอะไร

เสียง ผั๊วๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ของชะนียังดังก้องมาจากหุบเขาด้านบน แต่พยายามมองเท่าไหร่ก็หาไม่เจอ จะนั่งหลบจะยืนเบิ่งก็หาไม่เจอ ในที่สุดผมก็ยอมเดินกลับไปที่บริเวณแคมป์ เพราะพบว่าเริ่มมีการทอดไส้กรอกทำอาหารเช้ากันแล้ว วันนี้เรามีโปรแกรมจะออกจากห้วยดงวี้ตอน ๑๐ โมงเช้า ผมจะต้องรีบกินข้าวเช้าให้เสร็จ เก็บเต็นท์เก็บของให้เรียบร้อย และฉวยโอกาสตอนที่แดดเริ่มพ้นยอดไม้ตอนประมาณ ๙ โมงเช้าในการถ่ายภาพใต้น้ำ

โชคดีที่แสงมาตามนัดจริงๆ ผมจัดการเปลี่ยนเสื้อผ้า จัดการประกอบกล้องเรียบร้อยก็ชวนพี่หมีไปดำน้ำดูปลากันอีกครั้ง แต่คราวนี้พี่มีส่ายหัว ขอรอดูผมอยู่บนฝั่งดีกว่า น้ำตอนเช้าหนาวกว่าตอนเย็น แต่ก็ไม่หนาวเกินกว่าความบ้าของคนๆ หนึ่งที่จะลงไปถ่ายภาพปลา ผมกัดเจ้าสายยางเติมน้ำมันไว้ กันไม่ให้มันฉีกปากผมแล้วก็ค่อยๆ กลับลงไปสู่โลกใต้น้ำ (ตื้น) อีกครั้ง

ปลาค้อหลากหลายชนิดยังอยู่ที่เดิม ผมจัดการถ่ายรูปพวกมันจนครบทุกตัว จึงลองไปถ่ายปลาอื่นๆ ดูบ้าง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จนักปลาพวกนั้นว่ายเร็วเกินไปที่กล้องดิจิตอลปัญญาอ่อนจะโฟกัสได้ทันในสภาพแสงน้อยแบบนี้ หรือถ้าทันพวกมันก็ว่ายน้ำเร็วเกินไปอยู่ดี ในที่สุดผมก็เลยมี แต่ภาพเหล่าปลานอนพื้นอีกครั้ง

สิบโมงกว่าๆ ผมก็ยืนอ้อยสร้อย อำลาอาลัยห้วยดงวี้อย่างเสียไม่ได้ วักน้ำล้างหน้าแล้วก็ “ปีน” ขึ้นรถออกเดินทางอีกครั้ง ซึ่งในตอนขากลับนี้ก็มีเรื่องให้ออกแรงบ้างเล็กน้อยเมื่อเราพบว่ามีต้นไม้แห้งขนาดใหญ่ล้มขวางทางอยู่ แต่เราก็เตรียมตัวมีเลื้อยขนาดใหญ่มาด้วย จึงจัดการต้นไม้ต้นนั้นให้พ้นทางไปอย่างไม่ยากเย็นนัก ไปได้อีกสักครู่หนึ่ง จากที่เป็นทุ่งหญ้าไฟใหม้ๆ เราก็พบว่าถนนช่วงนี้ค่อยๆ ไต่ลงเขาไปเรื่อยๆ จากที่เป็นทุ่งหญ้าก็เริ่มเป็นป่าที่มีไม้ใหญ่ขึ้น แล้วเราก็ได้ตื่นเต้นกันอีกเมื่อรถคันหน้าวิทยุมาว่าพบกวางขนาดใหญ่ถูกเสือกินอยู่ริมถนน เมื่อรถของผมไปถึง จึงพบว่าเป็นกวางเพศเมียขนาดโตเต็มวัยที่ตรงท้องถูกกัดกินจนกลวงโบ๋ นอกจากน้ำส่วนก้น และลูกตาก็โดนควักไปด้วย ซากยังใหม่อยู่มากคะเนว่าคงจะเป็นช่วงหัวค่ำของเมื่อคืนนี้ อาจจะเป็นตอนที่เรากำลังกินข้าวเย็นกันอยู่ ตัวอะไรสักอย่าง ไล่กวางตัวนี้มาจนมุมที่ริมถนนแล้วก็ลงเขี้ยวกัดกินอยู่ตรงนี้ พวกเรายืนดูอยู่สักครู่จึงพบว่าลักษณะการกินแบบนี้ไม่น่าจะเป็นเสือ เพราะถ้าเป็นเสือโดยปกติแล้วจะกินเนื้อตะโพก และส่วนอื่นๆ ก่อน นอกจากนั้นเสือไม่ค่อยจะกินในที่โล่งแบบนี้ ส่วนใหญ่เสือจะลากเหยื่อไปกินหลบๆ กว่านี้ แต่กวางตัวนี้กลับมีส่วนเนื้อเหลือยู่ครบถ้วน มี แต่ไส้ใน และลูกตาที่โดนกินไป เข้าลักษณะการกินของหมาไนมากกว่า และเราก็สรุปได้อย่างแน่นอนเมื่อพี่หมีพบรอยเท้าหมาไนประทับชัดเจนอยู่บนพื้นทรายกลางถนน “เอ้า ไม่ตัดตะโพกไปย่างหน่อยเร๊อะ” ใครบางคนแซวขึ้น “ไม่เอาหลอกพี่สัตว์มันล่าได้ก็ปล่อยให้มันกินกันไปเถอะ แล้วนี่มันก็เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าด้วย เจอเจ้าหน้าที่เค้าจะได้จับผมให้” ผมตอบ นี่ถ้ามีเวลาผมอยากจะขัดห้างนั่งดูเหลือเกินว่าจะมีสัตว์อะไรมากินซากกวางบ้าง คืนนี้ และอีกหลายๆ คืนต่อจากนี้คงจะมีปาร์ตี้บนซากกวางตัวนี้แน่ๆ ชีวิตในป่าก็อย่างนี้แหล่ะ ชีวิตหนึ่งสูญเสียไป เพื่อให้อีกหลายๆ ชีวิตได้อยู่รอด

ทางช่วงสุดท้ายเป็นป่าดิบต่ำที่รกทึบ และอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา เราก็กลับมาอยู่บนถนนดำอีกครั้งจากป่าทึบตอนนี้เราเห็นการตัดไม้ เผาป่า เพื่อทำกสิกรรมกันจนป่าเหี้ยนเป็นแปลงใหญ่ๆ เห็นแล้วสุดแสนจะเสียดายป่า เสียงของพี่ชาวกะเหรียญจากรถคันหน้าเรียกมาจากวิทยุสื่อสาร “ดูพื้นที่สองข้างทางตอนนี้นะครับ เปรียบเทียบกับที่หมู่บ้านกะเหรียญในป่า ทำไมกะเหรียญถึงเรียนรู้ที่จะอยู่กับป่าได้ อยู่กันมาไม่รู้กี่อายุคนป่าก็ยังอยู่  นั่งในหมู่บ้านก็ยังได้ยินเสียงชะนี เสียงช้าง แต่ทำไมคนไทยอยู่กับป่าไม่เป็นมาถึงก็ทำลายป่าหมด ใครตอบผมได้บ้างครับ?” 

เงียบ...ไม่มีเสียงตอบจากรถคนไทยคันไหน

 

more survey ...

 

www.siamensis.org - Thailand Fish & Nature Explorer
An independent non-profit group
Established 2001
 All Rights Reserved 2001-2010 ©siamensis.org