คอนสาร..ดินแดนธารน้ำผุด
เรื่อง และภาพโดย
: เต้อ
โรงปูน
ผมอยู่ที่
คอนสาร
อำเภอเล็กๆ ของจังหวัดชัยภูมิ
ยืนมองเงาตัวเองสะท้อนแผ่นผิวน้ำของลำธารสายน้อย ในเช้าของวันที่
15 เมษายน 2547 วันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์
กลางลำธารตื้นเคียงหน้าแข้ง กระแสน้ำไหลไม่แรงนัก
น้ำใสจนมองเห็นดงสาหร่ายใต้น้ำ และปลาตัวเล็กว่ายอยู่ทั่วไป
ธารน้ำสายนี้มีต้นกำเนิดจากตาน้ำผิวดินที่ล้นออกจากแอ่งหิน
ก่อเกิดเป็นเส้นทางน้ำไหลลงไปสู่ฝายน้ำล้นปลายลำธาร
ลักษณะของลำธารแบบนี้จะพบได้มากในคอนสาร
คนถิ่นอื่นอาจเรียกแหล่งน้ำชนิดนี้ว่า
น้ำซับ
แต่คนคอนสารเรียกว่า
น้ำผุด
และที่ผมยืนอยู่นี่มีชื่อว่า
น้ำผุดนาเลา
อำเภอคอนสารโชคดีกว่าอำเภออื่นๆ ส่วนใหญ่ในภาคอีสาน กล่าว คือ
เป็นถิ่นที่ไม่ต้องผจญกับปัญหาภัยแล้งเหมือนแหล่งอื่นๆ
เนื่องจากมีโครงการชลประทานลำน้ำเชิญ และมีเขื่อนจุฬาภรณ์
อีกทั้งยังอยู่ติดกับเทือกภูเขียว
ซึ่งเป็นทิวเขาที่มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ และแหล่งน้ำที่สำคัญก็ คือ
น้ำผุดต่างๆ ที่จะพบได้ไม่ยากนัก ก่อเกิดเป็นลำธาร ลำห้วย
สายใหญ่น้อยตาม แต่ปริมาณน้ำจากตาน้ำ แต่ละแห่ง
น้ำผุดขนาดใหญ่ที่จัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญประจำอำเภอมีหลายแห่ง
เช่น
น้ำผุดทัพลาว
เป็นต้น
จากลักษณะทำเลที่มีแหล่งน้ำสมบูรณ์ ทำให้อาชีพหลักของชาวคอนสาร
นอกเหนือจากการทำนาก็ คือ การทำสวน
ผลผลิตที่ขึ้นชื่อของชาวสวนคอนสาร
ไม่ใช่ผลไม้ทั่วไป แต่เป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่แทบลืมเลือนไปแล้ว
นั่น คือ
หมาก
สวนหมากของคน
คอนสารถือว่าเป็นแหล่งผลิตหมากชั้นดีอีกแห่งหนึ่งของภาคอีสาน
ผลผลิตหมากของที่นี่ นอกเหนือจากการขายภายในประเทศแล้ว หมากบางส่วน
(โดยเฉพาะหมากอ่อน)
ยังเป็นสินค้าส่งออกนำรายได้เข้าสู่ประเทศอีกด้วย (ลูกค้าสำคัญ คือ
ไต้หวัน)
ผมเดินทางมาถึงคอนสารตั้ง แต่ค่ำวันที่ 13 การมาเยือนครั้งนี้ป็นเที่ยวที่สามของผม
มาคราวนี้ผมพาครอบครัวอันประกอบด้วยภรรยา ลูกชาย พ่อตา แม่ยาย
และหลานๆ มาเยี่ยม
พี่นาย
พี่ชายภรรยา ซึ่งเป็นอาจารย์สอนหนังสือ และตั้งครอบครัวอยู่ที่นี่
นอกเหนือ จากการมาเที่ยวสงกรานต์แล้ว ผมมีความตั้งใจว่า
มาคอนสารเที่ยวนี้ต้องได้ปลากัดทุ่งอีสานจากที่นี่ติดมือกลับไปด้วย
ก่อนหน้านี้ผมเคยขอร้องให้พี่นายหาปลากัดคอนสารไปให้
พี่นายได้วานให้ลูกศิษย์หาให้ผมหลายตัว
แต่โชคไม่ดีเนื่องจากปลาครั้งนั้นไม่มีตัวเมียเลย
ผมได้แบ่งปลาชุดนั้นไปให้ เพื่อนๆ
หลายคนที่สนใจในการอนุรักษ์ และสะสมปลากัด
ดังนั้นเที่ยวนี้จึงเป็นภาระของผมในการหาปลากัดตัวเมียไปเป็นคู่ครองของปลาตัวผู้ที่รออยู่แล้ว
หลังจากถึงคอนสาร
วันรุ่งขึ้นพี่นาย และพี่นาง (ภรรยาพี่นาย) ได้พาผม และหลานๆ
นั่งรถกระบะ เพื่อขึ้นไปชมทัศนียภาพเขื่อนจุฬาภรณ์ และเทือกเขาภูเขียว
โดยถือโอกาสให้เด็กๆ เล่นสาดน้ำในระหว่างทางด้วย
ตามเส้นทางสู่เขื่อนจุฬาภรณ์
ซึ่งเป็นเส้นทางขึ้นเขาไม่สูงชันนัก
เราผ่านสถานีเพาะพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวซึ่งน่าเสียดายที่ไม่อาจเข้าชมได้
เนื่องจากทางสถานีไม่เปิดให้เข้าชมตั้ง แต่เกิดวิกฤตไข้หวัดนก
ผมตั้งใจว่า
คราวหน้าถ้าหากมาเยือนคอนสารอีกคงต้องหาโอกาสเข้าไปให้ได้
พวกเราถึงเขื่อนจุฬาภรณ์เกือบเที่ยงวัน
น้ำในเขื่อนช่วงนี้มีไม่มากนัก เนื่องจากยังเป็นช่วงหน้าแล้ง
อากาศเย็นสบาย เพราะลมช่องเขาพัดมาตลอด
ตอนแรกลมแรงมาก และมีทีท่าว่าฝนจะตก
แต่ก็โชคดีที่ฝนไม่ตก และกระแสลมก็เปลี่ยนมาพัดเอื่อยๆ
เหมาะแก่การเที่ยวชมทัศนียภาพมาก
คณะของเรารับประทานอาหารกลางวันที่บริเวณลานหน้าเรือนรับรองของเขื่อนนั่นเอง
บ่ายแก่ๆ
หลังจากอิ่มหนำสำราญกันถ้วนหน้าแล้ว
พี่นายก็พาเราย้อนกลับมายังตัวอำเภอคอนสารอีกครั้ง
เพื่อให้พวกเด็กๆ
ได้เล่นน้ำในแอ่งน้ำผุดที่มีชื่อเสียงที่สุดของอำเภอ คือ
น้ำผุดทัพลาว
เหตุที่ได้ชื่อเช่นนั้น เนื่องจากมีเรื่องเล่ากันว่า
บริเวณน้ำผุดดังกล่าวเป็นจุดที่กองทัพจากราชอาณาจักรล้านช้างมาตั้งค่ายสะสมเสบียงในสมัยโบราณ
เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาล
ผู้คนพลุกพล่านไม่เหมาะแก่การลงเล่นน้ำเท่าไรนัก
ดังนั้นพี่นายจึงตัดสินใจพาคณะไปยังน้ำผุดอีกแห่ง
ถึงแม้จะเล็ก แต่คนน้อยกว่า คือ
น้ำผุดนาเลา
บริเวณตาน้ำผุดเป็นแอ่งหินขนาดไม่กว้างนัก ขนาดของแอ่งพอๆ
กับสระว่ายน้ำตามโรงแรม ระดับน้ำในแอ่งลึกราวเอวผู้ใหญ่
น้ำในแอ่งใส และเย็น
ด้วยลักษณะดังกล่าวจึงเหมาะสมยิ่งนักในการเล่นน้ำ
ผู้คนไม่พลุกพล่าน แม้ว่าจะเป็นช่วงเทศกาลก็ตาม
เราปล่อยให้เด็กๆ ลงเล่นน้ำโดยมีพี่นาง และภรรยาผมเป็นผู้ดูแล
ส่วนผมกับพี่นายไปในสวนหมากที่อยู่ใกล้ๆ น้ำผุด จุดหมายของเรา คือ
บ้านของลูกศิษย์พี่นายที่เคยหาปลากัดให้
เนื่องจากผมจะต้องกลับโคราชในตอนค่ำพรุ่งนี้
พี่นายจึงต้องนัดกับลูกศิษย์ให้พาผมไปหาช้อนปลากัดลูกทุ่งคอนสารในวันพรุ่งนี้ช่วงเช้า
ผมเองจะถือโอกาสจับปลาอื่นๆ ที่พบในลำธารบริเวณน้ำผุดนาเลาด้วย
ลูกศิษย์ของพี่นายชื่อ
เม้า ปีนี้เม้าขึ้น ม.1 แล้ว
จากคำบอกเล่าของพี่นายได้ความว่า เม้าเป็นคนหาปลาที่เก่งมาก
ในชีวิตประจำวันจะหาปลามาทำอาหารเสมอๆ
แต่ครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรกที่จุดประสงค์ของการหาปลาไม่ใช่ เพื่อการบริโภค
หลังจากเรานัดแนะกันแล้ว
ผมกับพี่นายก็ย้อนกลับมารับเด็กๆ ที่เล่นน้ำ
กว่าจะกลับถึงบ้านพี่นายก็เป็นเวลาค่ำมากแล้ว
หลังจากกินข้าวมื้อเย็น คืนนั้นผมนอนหลับสนิท เพราะความอ่อนเพลีย
ที่เล่ามาทั้งหมด
คือเหตุการณ์ก่อนหน้าที่ผมจะมายืนมองดูเงาตัวเอง และดูปลาในลำธารเล็กๆ
บริเวณน้ำผุดนาเลาในเช้าของสงกรานต์วันสุดท้าย
ผมกับพี่นายไปรับเม้าที่บ้านตามนัด ได้พบกับคุณยายของเม้า
ท่านบอกกับเราว่า เม้าได้ไปรอเราที่น้ำผุดแล้ว เราจึงตามไป
เนื่องจากยังเป็นเวลาเช้ามากจึงไม่มีคนเล่นน้ำ
ผมเลยถือโอกาสเดินลงลุยในลำธาร เพื่อดูปลา และถ่ายรูป
ในขณะที่เม้าพา เพื่อนชื่อ
เป๊ะ
(เป็นลูกศิษย์พี่นายเหมือนกัน) มาร่วมขบวนช้อนปลาด้วยกัน
น้ำใสมาก
มีดงสาหร่าย และตะไคร่น้ำหนาทึบ
เสียดายที่ความมักง่ายของคน ทำให้มีเศษขยะจำพวกกล่องโฟม และขวดพลาสติคลอย
ติดกอพืชน้ำริมลำธารอยู่มาก
ต้องยอมรับว่าตัวผมไม่ได้มีความรู้ในเรื่องปลามากมายอะไรนัก
เท่าที่ผมดูหมู่ปลาในลำธารนี้ ผมก็ได้ แต่เดาเอาว่า
น่าจะเป็นปลาจำพวกตระกูลปลาซิวเป็นส่วนใหญ่ ที่แน่ๆ คือ
มีปลาซิวหางแดงปะปนอยู่ด้วย เพราะโคนหางสีแดงเด่นชัด
เมื่อเพ่งมองตามพื้นลำธารซึ่งเป็นทรายละเอียด ผมยังเห็นปลาตัวเล็กๆ
ยาวๆ มีลายตามตัว ผมคาดเดาว่าน่าจะเป็นจำพวกปลาค้อ ผมคิดว่าน้ำไหลๆ
แบบนี้ไม่น่าจะมีปลากัดอยู่ แต่ท่านผู้เชี่ยวชาญ เม้า กับ เป๊ะ
ยืนยันว่ามีแน่ๆ ผมก็เลยต้องเชื่อเจ้าถิ่นไว้ก่อน
ความพยายามในการถ่ายรูปปลาจากลำธารของผมกล่าวได้ว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
ทั้งนี้อาจมาจากกล้องของผมเองเป็นกล้องที่คนทั่วไปเรียกว่า
กล้องปัญญาอ่อน
อีกทั้งประสบการณ์ด้านการถ่ายรูปของผมก็ด้อยอีกด้วย
และที่สำคัญ คือเกรงว่า กล้องอาจจะเปียกน้ำชำรุดได้
ผมก็เลยตัดสินใจเลิกถ่ายรูปปลาในลำธาร
แล้วเปลี่ยนมาถ่ายรูปสองหนุ่มน้อยผู้เชี่ยวชาญที่กำลังช้อนปลาแทน
เด็กทั้งสองใช้สวิงของตัวเองไล่ช้อนปลากัดตามกอหญ้าริมฝั่ง
ผมบอกกับพวกเขาว่า ให้ช้อนปลาอื่นๆ มาให้ผมถ่ายรูปเล่นด้วย
เพราะผมเตรียมตู้ปลาขนาด 2
ฟุตซึ่งหยิบยืมมาจากบ้านพี่นายติดมาพร้อมไว้แล้ว
ปลาชนิดแรกที่ตักได้เป็น
ปลาซิวหางแดง ติดสวิงของเป๊ะมา 2 ตัว
ถัดมาเม้าก็ไม่ยอมน้อยหน้า
ตักได้ปลาเกล็ดขาวมีจุดดำสี่ห้าจุดบนเกล็ด ลักษณะๆ
คล้ายปลาแก้มช้ำ แต่ไม่เหมือนทีเดียวนัก เม้าบอกว่า คือ
ปลาปก
ทั้งสองคนต่างช้อนปลาขึ้นมาให้ผมถ่ายรูปไว้ดูอีกหลายชนิด
ปลาค้อที่ผมเห็นครั้งแรกนั้น เด็กทั้งคู่บอกว่า คือ
ปลารากกล้วย
ปลาอีกอย่างคล้ายปลารากกล้วย แต่ตัวเล็ก หนวดสั้นกว่า
และลายลำตัวต่างกัน เด็กๆ บอกผมว่า คือ
ปลาอีด
ปลาหมัด
ก็ คือปลากริมควาย
ปลาซิวหนวดยาว
ก็ติดมาให้ถ่ายรูปด้วย
ในที่สุดสวิงของเป๊ะ และเม้าก็ติด
ปลากัดทุ่งอีสาน ขึ้นมาจนได้
เริ่มสายคนมาเที่ยวน้ำผุดมากขึ้นเรื่อยๆ
นักท่องเที่ยวหลายคนเริ่มแวะเวียนมาดูปลาที่เราช้อนได้ อันได้แก่
ปลาซิวหางแดง 2 ตัว ปลารากกล้วย และปลาปกอย่างละ 3 ตัว
ปลาซิวหนวดยาว ปลาซิวธรรมดา
ปลาอีด และปลาหมัดอย่างละ 1 ตัว ส่วนปลากัดลูกทุ่งอีสานเราได้มา 4
ตัว เป็นตัวเมีย 2 ตัว ผู้ 2 ตัว ผมบอกเด็กทั้งสองว่า
แค่นี้ก็พอแก่ความต้องการของผมแล้วเม้าบอกผมว่า
วันนี้พ่อแม่ของเขาออกไปเก็บ
ผักหนาม ที่นา และพ่อรับปากว่าจะช้อนปลากัดจากลำห้วยในนามาให้ด้วย
ปรกติปลากัดจะอยู่ปนกับปลาหมัด ซึ่งเม้าชอบช้อนมาทำ
หมก
กิน และห้วยในนาของเขาจะมีปลากัดเยอะมาก
เมื่อทราบดังนั้น
ผมกับพี่นายจึงตัดสินใจตามไปดูพ่อของเม้าที่นา เป๊ะไม่ได้ตามไปด้วยเนื่องจากต้องช่วยแม่ขายของให้นักท่องเที่ยวที่น้ำผุด
นาของเม้าอยู่ไม่ไกลจากน้ำผุดนาเลามากนัก
แม้จะอยู่ในช่วงหน้าแล้ง แต่ท้องนาในแถบนี้ก็ยังไม่แห้งแล้ง
สังเกตได้จากวัชพืชที่ขึ้นในนายังเขียวอยู่ ผิดกับพื้นที่นาอื่นๆ
ในภาคอีสานที่พบส่วนใหญ่จะเป็นดินแตกระแหง และซากวัชพืชเป็นสีน้ำตาลแห้งเหี่ยว
เราพบกับพ่อแม่
และน้องสาวของเม้าที่กระท่อมในนา หลังจากทักทายกันแล้ว
พ่อของเม้าได้หยิบขวดน้ำดื่มที่ภายในบรรจุปลาไว้หลายสิบตัวมอบให้ผม
เท่าที่มองดูคร่าวๆ ในนั้นมีทั้งปลาหมัด และปลากัดปนกันอยู่
ผมเลยถือโอกาสสำรวจลำห้วยเล็กๆ ที่อยู่ข้างคันนา
ซึ่งพ่อของเม้าช้อนปลากัดมาให้
ผมพบว่า
น้ำในลำห้วยก็เป็นน้ำผุดขนาดเล็กเช่นกัน
มีลักษณะผุดจากผิวดินเป็นช่วงๆ ตลอดความยาวของลำห้วย
ผมสังเกตเห็นหวอดปลาอยู่ตามพืชน้ำด้วย
แต่ไม่สามารถจำแนกได้ว่าเป็นหวอดปลาอะไร นอกจากนี้ยังมีปลาตัวเล็กๆ
หลายชนิดว่ายอยู่ด้วย
ผมคิดว่าน่าจะเป็นจำพวกปลาซิวคล้ายกับที่พบในน้ำผุดนาเลา
เม้าให้ผมทดลองชิมผักหนาม
ซึ่งเป็นผักพื้นเมืองชนิดหนึ่ง รสชาติจืดคล้ายๆ
ผักอวบน้ำทั่วไป
ผักหนามที่แม่ของเม้าเก็บมาได้นอกจากจะไว้บริโภคเองแล้วยังนำไปขาย เพื่อเป็นรายได้ของครอบครัวอีกทางหนึ่งด้วย
ผมสังเกตเห็นว่า
น้องสาวของเม้าหิ้วถุงใส่อะไรบางอย่างมาด้วย
เมื่อขอเด็กหญิงตัวน้อยดู ผมจึงเห็นว่าเป็น
กะปอม หรือกิ้งก่าสีสวยสดหลายตัวอยู่ในนั้น
เย็นนี้กะปอมที่หามาได้จะกลายเป็นผัดเผ็ดรสโอชาในสำรับของครอบครัวนี้
หลังจากจัดการถ่ายปลาจากขวดลงลังโฟมที่เตรียมไป
ผมกับพี่นายก็กล่าวคำอำลากับเม้า และครอบครัว
ผมเองยังต้องเตรียมเก็บของเนื่องจากจะต้องกลับโคราชในเย็นวันนั้น
แต่ก่อนที่จะลาจากพี่นายผมถือโอกาสแนะนำให้พี่นายรู้จักเว็บไซด์
siamensis.org
รวมทั้งคุยกับพี่นายถึงความเป็นไปได้ในการทำโครงการเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็กในโรงเรียนที่พี่นายสอนอยู่
โดยการให้เด็กๆ รู้จักศึกษาเกี่ยวกับปลาในแหล่งน้ำใกล้ตัวของพวกเขา
เช่น สำรวจชนิดปลาในลำธารน้ำผุด
หรือทดลองเพาะเลี้ยงปลาที่พบในท้องถิ่นของตัวเองอย่างปลากัด
ซึ่งผมคิดว่าเป็นการสอนให้เด็กสนใจในธรรมชาติวิทยารอบตัว และปลูกสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่งด้วย
พี่นายเองก็คิดว่าน่าสนใจเช่นกัน แต่ไม่รู้ว่าจะทำได้แค่ไหน
ผมลาจากคอนสารให้เย็นวันนั้น
แต่การลาครั้งนี้เป็นแค่การลาทีมิใช่ลาขาด
ผมสัญญากับตัวเองว่าจะกลับมาเยือนที่นี่อีก.....คอนสารดินแดนธารน้ำผุด
ขอขอบคุณ
:
พี่นาย-พี่นาง (อ.สุจินต์
อ.ลลาวัลย์ โรมขุนทด)
เม้า (ดช.ไสว ภูมิคอนสาร)
เป๊ะ (ดช.คณากร เปรมใจ)
อ.ชัยวุฒิ กรุดพันธ์ (สำหรับข้อมูลชื่อปลา)
more survey ...