: Home : Board : Articles : Expeditions : About us : Privacy Policy :

 


จั๊กจั่นเพิ่งลอกออกจากคราบใหม่ๆ ตัวยังดูนิ่มๆ อยู่เลย

แมงป่องแส่

ตุ๊กกายป่าตะวันออก หรือ อินเตอร์ ของพวกเรา (Cyrtodactylus intermedius)

ลูกงูปล้องฉนวนลาว (Lycodon laoensis)จะมีลายขาวสลับดำอย่างในภาพ

งูปล้องฉวนลาว (Lycodon laoensis) ตัวใหญ่ลายสีเหลืองสลับดำ


งูเขียวหางไหม้ (Trimeresurus sp.)

นกจับแมลงจุกดำ (Hypothymis azurea) ตัวเมีย แอบเกาะนอนอยู่บนต้นไม้เตี้ยๆ

Micronia aculeate ผีเสื้อกลางคืนชนิดนี้ มักจะเกาะแบนเรียบไปกับใบไม้ หาดูได้ไม่ยากนัก


ผีเสื้อช่างร่อน (Parhernos sylvia) ช่างร่อนจริงๆ ด้วย

เวลาตกใจตะกอง (Physignatus cocincinus) จะหนีลงน้ำ (ขอโทษที่ ทำให้ตกใจนะคร๊าบ)

ตะกองน้อยตัวนี่เกาะนอนอยู่ที่ปลายสุดของกิ่งไม้ ที่แหย่ลงไปในน้ำ


ลูกกิ่งก่าแก้ว (Calotes emma)


ลูกกิ้งก่าเขาสั้น (Acanthosaura crugicera)

ปลาค้อเกาะช้าง (Schistura kohchangensis) แอบนอนอยู่ในแอ่งน้ำตื้นๆ


ตะขาบบนต้นไม้ นานๆ เห็นที

เขียดทราย  (Occidozyga martensii) ออกมาหากิน หลังจากฝนตก

หอยทากต้นไม้ สีเขียวอ่อน สวยน่ารักดีครับ


หนูตัวนี่น่าจะเป็น หนูฟานเหลือง (Maxomys surifer)

Brachycorythis sp. กล้วยไม้ดินขนาดกลาง แทงต้นขึ้นจากดินในฤดูฝน ก่อนที่จะเหี่ยวแห้งตายลงในหน้าเเล้ง ทิ้งไว้เพียงส่วนหัวในดิน ก่อนขึ้นมาใหม่เป็นวัฏจักร เมื่อฤดูฝนมาเยือนอีกครั้ง

บรรยากาศยามเช้าที่บ้านพักของทางอุทยาน ใครเป็นใครดูกันเอาเองเด้อ

บ้านพักในแมกไม้

เหล่าบีโกเนีย และมอส แย่งกันขึ้นอยู่บนผนังก้อนหินใกล้บ้านพัก

ต้นบีโกเนีย (Begonia sp.) ใบสวย กำลังออกดอกสีขาวเล็กๆ น่ารัก

ผีเสื้อหนอนมะพร้าวขนปุย (Amathusia phidippis) ผีเสื้อที่พบได้ไม่บ่อยนัก


บางส่วนของน้ำตกเขาชะเมายามเช้า

บ่อหน้าที่ทำการที่ปลากัดหัวโม่งอาศัยอยู่


ปลากัดหัวโม่(Betta prima) หนุ่มตัวนี้เฝ้าอาณาจักรของมันอย่างห้าวหาญ


กลางก้าง (Channa limbata) กำลังจะกินหนอนยูนิฟ


ฝูงปลาพลวง (Neolissochilus soroides) น้อยใหญ่

Garra sp. taeniata เพศผู้ โปรดสังเกตตุ่มๆ ที่บริเวณเหนือปาก และลำตัวที่เพรียวยาวกว่า

Garra sp. taeniata เพศเมีย ที่กำลังท้องป่องได้ที่

คู่พระคู่นาง กลางป่า บนทางเดินไม้ที่ทางอุทยานจัดไว้ให้นักท่องเที่ยว

Xylaria hypsipoda  ราสีดำขนาดเล็กหน้าตาคล้านไม้ขีดไฟไหม้ที่ขึ้นตามขอนไม้ในฤดูฝน


Cookeina sulcipes เห็ดถ้วยชนิดที่มีขนน้อย อีกชนิดที่มีขนมากกว่า คือ Cookeina tricholoma

Cookeina tricholma ภาพนี่ถ่ายจาก อช. เขาใหญ่ เอามาลงเปรียบเทียบให้ดูเทียบกับ C. sulcipes จะสังเกตว่า C. tricholma นอกจากมีขนมากกว่าแล้วยังมีสีอ่อนกว่าด้วย 

Geastrum mirabile เห็ดดาวดินดอกนี้ เจอขึ้นอยู่ใต้ใบไม้แห้ง ริมทางเดิน

จิ้งเหลนต้นไม้ (Lipinia vittigera)  ภาพนี่พี่น้อทถ่ายครับ


นักท่องเที่ยวกำลังให้อาหารปลากันอย่างเพลิดเพลินที่วังมัจฉา

เก็บภาพถ่ายไว้แทนความทรงจำ 

 

อุทยานแห่งชาติ เขาชะเมา-เขาวง

เรื่อง: นณณ์ ผาณิตวงศ์

ภาพ: นณณ์, กุ๋ย, พี่น้อท

 

แนวป่าทางฝั่งตะวันออกของประเทศไทยนั้น แต่เดิมเป็นป่าใหญ่สมบูรณ์ต่อเนื่องกับป่าในประเทศเขมร ป่าแถบนี้เคยอุดมสมบูรณ์ ถึงขนาดมีแรดให้เห็นได้ง่ายๆ ดั่งที่ท่านสุนทรภู่ได้กล่าวถึงไว้ใน นิราศเมืองแกลง ตอนหนึ่งว่า

ถึงโตรกตรวยห้วยพระยูนจะหยุดร้อน         เห็นแรดนอนอยู่ในดงให้สงสัย

เรียกกันดูด้วยไม่รู้ว่าสัตว์ใด                    เห็นหน้าใหญ่อย่างจระเข้ตะคุกตัว

มันเห็นหน้าทำตากระปริบนิ่ง                   เห็นหลายสิ่งคอคางทั้งหางหัว

รู้ว่าแรดกินหนามให้คร้ามกลัว                  ขยับตัววิ่งพัลวันไปฯ

น่าเสียดายที่ปัจจุบัน ป่าตะวันออกของไทยนั้น ถูกแบ่งออกเป็นป่าเล็กป่าน้อย ล้อมรอบไปด้วยพื้นที่เกษตรกรรม และถนนหนทาง เช่น ป่าเขาเขียว จังหวัดชลบุรี, และ ป่าเขาสระบาป จังหวัดจันทบุรี สัตว์ใหญ่คงแทบจะไม่เหลือแล้วในป่าเหล่านี้ แต่ป่าเล็กๆ ก็ยังเป็นที่อาศัยของสัตว์เล็กๆ ที่น่าสนใจอีกหลายชนิด รวมไปถึง แมลง, สัตว์เลื้อยคลาน, สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และ สัตว์น้ำด้วย และหนึ่งในป่าที่น่าสนใจทางตะวันออกก็ คือ ป่าอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง ในเขตรอยต่อจังหวัดระยอง และ จันทบุรี ป่าแห่งนี้ ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติในที่ พ.ศ. ๒๕๑๘ มีพื้นที่ประมาณ ๕๒,๓๐๐ ไร่ ตั้งอยู่ในกิ่งอำเภอ เขาชะเมา จ.ระยอง และ อ. แก่งหางแมว จ.จันทบุรี สภาพภูมิประเทศของ อช. เขาชะเมา-เขาวง เป็นภูเขา และ ภูเขาหินปูนสลับซับซ้อน มีป่าดงดิบ โตรกผา น้ำตก และ ถ้ำหลายแห่งด้วยกัน และยังเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำประแสร์ แม่น้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนระยองมาช้านานด้วย

สำหรับชื่อ เขาชะเมา นั้นเคยอ่านเจอที่ไหนสักแห่งบอกว่า “ชะ” เป็นคำพื้นเมืองแถบนี้หมายความว่า “กิน” ส่วน “เมา"”ก็แปลว่าเมา ตรงตัว ซึ่งชื่อนี้ชาวบ้านใช้เรียกเขาลูกนี้ เพราะใครที่ไปจับปลาจากเขาลูกนี้มากินแล้วจะเกิดอาการเมาทุกคน ซึ่งก็เป็นไปได้ เพราะปลาที่อยู่ในลำธารแห่งนี้ คือปลาพลวง ที่บางครั้งจะกินลูกไม้มีพิษ อย่างลูกกระเบา เข้าไป ทำให้เนื้อของพวกมันเป็นพิษ คนที่นำไปกินก็จะมีอาการเมาได้

ผมได้มีโอกาศมาเยือนป่าแห่งนี้เป็นครั้งแรกเมื่อประมาณกลางปี พ.ศ. ๒๕๔๖ วันนั้นผมมีเวลาไม่มากนักเนื่องจากแวะเข้าไปในช่วงเย็นแล้ว แถมยังเสียเวลาหลงทางไปพอสมควรด้วย แต่ความอุดมสมบูรณ์ของป่าแห่งนี้ก็ ทำให้ผมประทับใจมากทีเดียว และ ทำให้ผมไม่ต้องเสียเวลาคิดมากนักเมื่อพี่น้อท (คุณมนตรี สุมณฑา ซึ่งเคยฝากฝีมือเรื่องงูสามเหลี่ยมในคอลัมณ์ At the water’s edge เล่มที่ ๒๒) และ คุณ i-beem เจ้าของคอลัมน์ RAP เอ่ยปากชวนไปเที่ยวเขาชะเมาอีกรอบ ผมตอบตกลงไปก่อนถามด้วยซ้ำว่าจะไปเมื่อไหร่ยังไง

การเดินทางของเราเริ่มขึ้นในบ่ายวันศุกร์ต้นเดือนกรกฏาคม ผมพร้อมกับ เพื่อนร่วมคณะอีก ๔ คนออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ผ่านถนนมอเตอร์เวย์ ออกทางแยกไป อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี จากนั้นก็เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงสาย ๓๔๔ ก่อนที่จะชนสามแยกที่ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เราเลี้ยวซ้ายไปทาง จังหวัดจันทบุรี ก่อนที่จะเลี้ยวซ้ายตามป้าย อุทยานแห่งชาติ เขาชะเมา – เขาวง รวมเวลาทั้งหมดประมาณ ๒ ชั่วโมงครึ่ง ไม่ไกลจากกรุงเทพฯเลยสำหรับป่าสมบูรณ์ระดับนี้ 

เป็นเวลาเกือบห้าโมงกว่าแล้ว ตอนที่เราไปถึง ทางเข้าที่ทำการอุทยาน ซึ่งโดยปกติแล้วจะปิดตอน ๔ โมงเย็น แต่เนื่องจากเราได้จองห้องพักไว้ล่วงหน้าแล้ว การติดต่อกับเจ้าหน้าที่จึงเป็นไปด้วยความสะดวก ซึ่งเราก็ไม่ลืมที่จะแวะที่ทำการอุทยาน เพื่อนำภาพถ่ายของธรรมชาติในแถบป่าตะวันออกที่ถ่ายไว้จากการมาเยือนครั้งก่อนๆ มามอบให้กับที่ทำการอุทยาน เพื่อนำไปประกอบนิทรรศการต่อไป (ในคราวนี้มีภาพ ปลาพลวง ปลาจาด ปลากัดหัวโม่ง และ ตะกอง) นอกจากนั้นเรายังถือโอกาสขออนุญาตเดินป่าในตอนกลางคืนด้วยเนื่องจากการสำรวจสัตว์เลื้อยคลานนั้น มีความจำเป็นจะต้องสำรวจในเวลากลางคืนที่พวกเค้าออกหากินกัน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็ใจดีอนุญาตให้เราออกสำรวจได้

บ้านพักที่เขาชะเมา เป็นบ้านเดี่ยว อยู่บนเชิงดอยใกล้ๆ กับอุทยาน ในหน้าฝนอย่างนี้หินที่นำมาก่อเป็นบันได และกำแพงปกคลุมไปด้วยมอส, เฟิร์น, บีโกเนีย และ ต้นไม้เล็กๆ อีกหลายชนิด ดูสวยงามน่ารักมาก ภายในจัดไว้เรียบง่าย มีเตียงวางเรียงเป็นตับ มีตู้เย็น และเครื่องทำน้ำร้อนไว้อาบให้ด้วย พวกเราจัดการเก็บข้าวของ แล้วก็ออกไปหาข้าวกินนอกที่ทำการอุทยาน ก่อนที่จะกลับมาเริ่มเตรียมตัวกัน สำหรับท่านที่ไม่เคยเดินป่าในตอนกลางคืน ผมอยากจะแนะนำอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้

๑.      เพื่อนหรือกลุ่ม เพื่อนที่ไว้ใจได้ การเดินป่าตอนกลางคืนคนเดียวเป็นเรื่องที่ไม่ควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนั้นถ้าคุณมีใครสักคนที่มีประสพการณ์มาแล้ว รู้จักวิธีการหา ดู และรู้จักสัตว์เป็นอย่างดี ก็จะ ทำให้การสำรวจสนุกยิ่งขึ้น เชื่อผมครับ คนที่ไม่คุ้นเคยกับป่าตอนกลางคืน บางทีเดินทั้งคืนเห็น แต่ต้นไม้กับดิน ไม่เจอสัตว์อะไรเลย

๒.    ไฟฉาย เป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นที่สุด คุณต้องมั่นใจว่าไฟฉายของคุณมีกำลังสูงเพียงพอที่จะส่องเห็นทางเดิน และสัตว์เล็กๆ ในป่าได้ ข้อสำคัญที่สุด คือต้องมีกำลังไฟเพียงพอสำหรับการเดินเป็นระยะเวลานานๆ ได้ อย่างน้อยๆ ก็ต้อง ๒ เท่าของเวลาที่คุณคิดว่าจะเดินจริงๆ นอกจากนั้นคุณควรที่จะพกไฟฉายสำลองอีกอันไว้ด้วย เผื่อในกรณีที่อันหลักเกิดพังเสียหายไประหว่างการเดินสำรวจ จะได้กลับบ้านถูก ไม่ต้องนั่งร้องไห้อยู่ในป่าตลอดคืน

๓.     รองเท้า  ควรจะเป็นรองเท้าหุ้มข้อแบบหนา เพราะในตอนกลางคืนนั้นเป็นเวลาออกหากินของสัตว์มีพิษต่างๆ เราไม่มีทางรู้เลยว่าจะไปเดินเหยียบหรือ ทำให้พวกเค้าตกใจเมื่อไหร่ พิษของงูหลายชนิดนั้น สามารถส่งคุณกลับบ้านเก่าได้ง่ายๆ ดังนั้นป้องกันไว้ดีกว่าเสียใจภายหลังครับ

๔.     เสื้อผ้า รัดกุม เพื่อความสะดวก ไม่ควรใส่สีที่สว่างเกินไปอย่างสีขาว, เหลือง หรือ แดง เพราะจะ ทำให้สัตว์ตกใจได้ง่าย แต่ก็ไม่ควรใส่สีที่มืดหรือกลมกลืนกับป่าจนเกินไปนัก เผื่อในกรณีที่หลงกันจะได้หากันเจอง่ายหน่อย

๕.     ไม้ยาวๆ แข็งแรงๆ สักอัน เพื่อเอาไว้ค้ำ แหวก เขี่ย หรือเอาไว้ป้องกันตัวยามจำเป็น ระวังให้หนักในกรณีของป่าที่มีสัตว์ใหญ่ชุกชุม อย่างป่าเขาใหญ่ หรือ ป่าแก่งกระจาน

๖.      น้ำ และอาหาร อันนี้ขอย้ำว่าสำคัญมาก เตรียมไว้เหลือดีกว่าขาด ถึงแม้ตั้งใจว่าจะไปไม่นาน เพราะถ้าถึงเวลาจำเป็นขึ้นมาในป่าหน่ะ มีเงินก็ไม่มีให้ซื้อนะครับ

๗.     ในหน้าฝน เสื้อคลุมกันฝนสักตัว พร้อมกระเป๋าแบบที่กันน้ำได้ หรือถุงพลาสติกใหญ่ๆ สักใบ เอาไว้ใส่ของที่ไม่อยากให้เปียกอย่างกล้อง และ กระเป๋าตังค์ เชื่อผมเหอะ เดินตัวเปียกๆ ในป่าหนาวๆ ตอนกลางคืนไม่สนุกเลย ผมเคยมาแล้ว

๘.     หนังสือคู่มือจำแนกชนิดสัตว์ และ พืช ซึ่งจะ ทำให้คุณเรียนรู้ และรู้จักสิ่งมีชีวิตที่คุณพบเจอได้ดียิ่งขึ้น

๙.      กล้องถ่ายรูปพร้อมแฟลชดีๆ สักตัวไว้บันทึกภาพที่น้อยคนนักจะได้เห็นในยามค่ำคืน

๑๐.  ยาประจำตัวต่างๆ พลาสเตอร์ปิดแผล ควรพกไว้ ส่วนยาทากันยุงหรือโลชั่นอื่นๆ ที่มีกลิ่นแรงไม่ควรทาหรือติดตัวไปเด็ดขาด เพราะกลิ่นจะรบกวนสัตว์ และ ทำให้พวกเค้าหนีก่อนที่คุณจะเห็นได้ และได้เห็น

๑๑.  เครื่องรางของขลัง อันนี่ถือเป็นทางเลือกถ้าคุณเป็นคนที่มีจิตใจแข็งแกร่งมั่นคงก็ไม่จำเป็น แต่สำหรับคนที่พกไว้ก็ไม่ใช่ว่าขี้ขลาด ในป่ามืดๆ คุณสามารถหลอกตัวเองได้สารพัด และเมื่อคุณขาดหรือเสียสติแล้วอะไรก็เกิดขึ้นได้ เครื่องรางของขลัง จะช่วยให้จิตใจของคุณมั่นคงยิ่งขึ้น (ผมเอง ถึงจะไม่เคยบอกใคร แต่ก็พกไว้ติดตัวประจำทุกครั้งที่เข้าป่า)

เมื่อเตรียมพร้อมแล้ว เราก็นั่งๆ นอนๆ รอคณะของพี่น๊อตซึ่งเริ่มเดินทางออกมาจากกรุงเทพฯทีหลังนานโข บางคนก็ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์โดยการสำรวจสัตว์ใกล้ๆ ตัว เช่นจิ้งจก บนผนังห้องพัก แล้วเราก็พบว่าห้องพักแห่งนี้เป็นที่อาศัยของจิ้งจกที่พบบ่อยในสิ่งปลูกสร้างของมนุษย์ทั้ง ๓ ชนิด คือ จิ้งจกบ้านหางอ้วน (Gehyra mutilata) จิ้งจกบ้านหางหนาม (Hemidactylus frenatus) และ จิ้งจกบ้านหางแบน (Cosymbotus platyurus) รวมไปถึงตุ๊กแกบ้าน (Gekko gecko) ตัวมหึมา และลูกเล็กๆ อีกตัวที่อาศัยอยู่ด้านนอกห้องพักด้วย

๒ ทุ่มกว่าทุกคนถึงพร้อมที่จะเริ่มออกเดินสำรวจเขาชะเมายามค่ำคืนกัน

คณะทั้ง ๘ ของพวกเราไม่ลืมที่จะไปรายงานตัว ณ ที่ทำการอุทยานอีกครั้ง ก่อนที่จะออกเดินเข้าไปตามทางเดินป่าที่ทางอุทยานจัดไว้ ในหน้าฝนแบบนี้ป่าดูเขียวชะอุ่ม ตามขอนไม้ และก้อนหิน มีมอส, เฟิร์น, เห็ด, รา และต้นไม้เล็กๆ ขึ้นกันอยู่เต็มไปหมด สิ่งมีชีวิตชนิดแรกที่เราเห็นในป่าคืนนี้ คือแมลงป่องแส้ แมลงชนิดนี้มีกลิ่นประจำตัวคล้ายๆ น้ำส้มสายชู เดินไปได้อีกไม่กี่ก้าว หนึ่งในคณะของเราก็พบจั๊กจั่นตัวหนึ่ง ตัวยังเป็นสีอ่อนๆ เกาะอยู่กับคราบที่เพิ่งลอกออกมาเมื่อไม่นานมานี่ แมลงชนิดนี้ใช้ชีวิตเป็นตัวอ่อนอยู่ในดินหลายปี จนกระทั่งกลายมาเป็นแมลงมีปีกบิน ทำหน้าที่สืบสานเผ่าพันธุ์อีกไม่กี่วันก่อนที่จะลาโลกไป

เดินไปสักพักก็มาถึงจุดแรกที่เราจะต้องเดินตัดกับลำธารน้ำตกเขาชะเมา ซึ่งเต็มไปด้วยฝูงปลาพลวงชนิดที่พบทางภาคตะวันออก (Neolissochilus soroides) เป็นชนิดเดียวกับที่พบที่น้ำตกพลิ้ว จังหวัดจันทบุรี ในประเทศไทยพบปลาในสกุลนี้ ๖ ชนิด เห็นแล้วพลอยนึกไปถึงกระทู้ๆ หนึ่ง ที่อ่านเจอในเว็บบอร์ด ว่ามีชายหวังดีนำปลาพลวงที่เค้าซื้อจากสวนจตุจักรไปปล่อยในเขตอุทยานแห่งชาติที่ไหนสักแห่งด้วยความสงสาร ถึงแม้จะเป็นเจตนาดี แต่ปลาพลวงที่พบในประเทศไทยไม่ได้มีชนิดเดียว และปลาที่นำมาขายในตลาดปลาสวยงามก็ไม่ได้มีชนิดเดียว แถม แต่ละชนิดยังมีความใกล้เคียงกัน จำแนกชนิดได้ยากมาก ดังนั้นการนำปลาไปปล่อยโดยไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นปลาชนิดเดียวกันกับที่มีอยู่ในธรรมชาติหรือเปล่าจะเป็นการทำลายความบริสุทธิ์ทางสายพันธุ์ของปลาในธรรมชาติ และถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะด้วยเจตนาดีหรืออะไรก็ตาม

เราเดินไปตามทางเรื่อยๆ ส่องไฟฉายกราดไปตามทางเดิน ตามพุ่มไม้ริมทาง วิธีส่องทางในตอนกลางคืนนั้น จะให้ปลอดภัยที่สุด จุดแรก คือคุณต้องส่องพื้นที่จะเดินก่อน ดูภูมิประเทศ เพื่อการเหยียบที่มั่นคง และดูว่ามีสัตว์ ทั้งมีพิษ และไม่มีพิษอยู่หรือเปล่า กราดซ้ายขวาในรัศมีที่มองเห็น นอกจากนั้น คือต้องส่องดูด้านบนด้วย เพราะสัตว์ที่จะทำร้ายคุณได้อย่างงูพิษ, งูเหลือมใหญ่หรือเสือดาวนั้น อาศัยดักจากบนต้นไม้

ในธรรมชาติ ถ้าล่องหนได้ สัตว์ทุกชนิดคงเลือกที่จะล่องหน เพื่อการจับเหยื่อ และหลบหลีกศัตรู แต่ในความเป็นจริงแล้ว แม้ แต่เทคโนโลยีอันเหนือชั้นของมนุษย์ก็ยัง ทำให้เราหายตัวไม่ได้ แต่สัตว์ก็มีวิธีการพลางตัว และระวังภัยแตกต่างกันไป วิธีที่เป็นที่นิยมที่สุดก็ คือการมีสีสัน และรูปร่างให้กลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะพวกสัตว์เลื้อยคลานถือว่าเป็นมืออาชีพทางด้านนี้โดยแท้ ดังนั้นถ้าคุณไม่มีความคุ้นเคยในการหา และ ไม่มีความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของสัตว์นั้นๆ การพบตัวกันจะเป็นเรื่องที่ยากมาก ยกตัวอย่างเช่นสัตว์จำพวกงู ถ้าเป็นงูกะปะ ก็มักจะหลบอยู่ตามเศษใบไม้แห้งตามพื้นดิน ทำตัวกลมกลืนขนาดที่ เพื่อนนักวิจัยเล่าให้ฟังว่า ติดวิทยุติดตามไว้ รู้แน่ๆ ว่างูอยู่ในบริเวณนั้น แต่ทั้งคณะก็เดินวนไปวนมาหางูไม่เจออยู่นานจนไปพบว่างูขดอยู่กลางวงที่เดินข้ามกันไปมานี่เอง นอกจากนั้นงูบางชนิดจะชอบอยู่บนต้นไม้มากกว่า เช่นพวกกลุ่มงูเขียวบอน หรือ งูเขียวหางไหม้ แต่ชนิดหลังมักจะอยู่บนต้นไม้ที่ระดับต่ำกว่าชนิดแรก งูบางชนิดก็จะเลื้อยหากินไปตามพื้นป่าเช่น พวกงูลายสาบ และงูปล้องฉนวน เป็นต้น ถ้าเราไม่ทราบรายละเอียดเหล่านี้การหางู แต่ละชนิดจะเป็นเรื่องที่ยากมากๆ นอกจากพวกงูแล้ว สัตว์ในกลุ่ม ตุ๊กแก จิ้งจก และ ตุ๊กกาย ก็เป็นอีกกลุ่มที่มักพบได้บ่อยในการเดินป่าตอนกลางคืน แต่ละชนิดก็มีลักษณะนิสัยในการอยู่แตกต่างกันไป ก่อนออกสำรวจ ควรจะศึกษามาให้ดีเสียก่อนว่าป่าที่เรากำลังจะเดินนั้นมีสัตว์ชนิดไหนอยู่บ้าง เผื่อจะได้เดาทางให้ถูกต้อง พวกแมลงกลางคืนก็มีน่าสนใจหลายชนิด พวกโหดๆ อย่าง แมงป่อง และ ตะขาบ ก็มักจะพบหากินตอนกลางคืนนี่แหล่ะ ถ้าอยู่ริมน้ำ คุณก็อาจจะได้พบพวก กบ เขียด และ คางคก ซึ่งมีหลากหลายชนิดมากๆ ในเมืองไทยด้วย

“อินเตอร์ ครับ อินเตอร์” เสียงพี่น๊อตพูดเบาๆ พอให้คนที่อยู่ใกล้ที่สุดได้ยิน จากนั้นก็จะสะกิดบอกกันต่อไปเรื่อยๆ “เฮ้ย นณณ์ อินเตอร์ อินเตอร์” กุ๋ย ที่ไม่พลาดรวมทางมาด้วยสะกิดบอกผม แล้วทั้งคณะก็มามุงกันอยู่ที่ต้นปาล์มเล็กๆ ริมทางเดินที่เจ้า “อินเตอร์” ของพวกเราเกาะอยู่ ผมนั่นดีใจก็ดีใจที่ได้เจอ เพื่อนเก่า แต่ก็อดเสียดายไม่ได้ เพราะหมายมั่นปั้นมือไว้ว่าจะต้องเจอ “อินเตอร์” เป็นคนแรกให้ได้ คุณคงสงสัยแล้วหล่ะสิ ว่า “อินเตอร์” อะไรของเอ็งฟ่ะ?  แหะ แหะ เค้า คือ Cyrtodactylus intermedius หรือตุ๊กกายป่าตะวันออก หนึ่งในสัตว์คุ้มครองของไทยครับ “อินเตอร์” ที่พวกเราเรียกก็เป็นสองพยางค์แรกของชื่อวิทยาศาสตร์ของเค้าไงครับ ชื่อของ “ตุ๊กกาย” อาจจะไม่ค่อยคุ้นหูคุณๆ เท่าไหร่นัก เพราะ สัตว์กลุ่มนี้ไม่ได้เข้าไปอาศัยใกล้ชิดกับคนเหมือนญาติของเค้า คือ “ตุ๊กแก” ซึ่งอยู่ในสกุล Gekko ถึงแม้ว่าบางตำราก็จะเรียกสัตว์ในสกุล Cyrtodactylus ว่าตุ๊กแกป่า แต่ผมคิดว่า ทำให้สับสนกับพวกตุ๊กแกเฉยๆ ในสกุล Gekko เพราะพวกนี่เองก็มีหลายชนิดที่อาศัยอยู่ในป่า หรือแม้ แต่ตุ๊กแกบ้าน (Gekko gecko) เองก็ยังพบอาศัยอยู่ในป่า ดังนั้นจึงขอใช้ชื่อตุ๊กกายในบทความนี่ เพื่อให้สับสนน้อยที่สุด ตุ๊กกายมักจะพบอาศัยอยู่ในป่าสมบูรณ์ หรือ ป่าเขาหินปูน ที่ไม่ถูกรบกวน เท้าของพวกเค้าจะมีเล็บเล็กๆ ไว้ตะกาย และยึดเกาะ ไม่ได้ใช่เทคโนโลยีทันสมัยมีเท้าติดหนึบเหมือนพวกตุ๊กแกที่สามารถเกาะได้แม้กระทั่งกระจกลื่นๆ แต่เท้าแบบมีเล็บของพวกตุ๊กกายจะไม่สามารถเกาะกระจกได้ สำหรับตุ๊กกายชนิดนี้ ชื่อไทยก็บอกอยู่แล้ว ว่าพบเฉพาะทางป่าตะวันออกของประเทศไทย ไล่ไปเรื่อยจนถึงเขมรนู้นแหน่ะ สัตว์กลุ่มนี้ชอบอาศัยอยู่ในป่าสมบูรณ์ เราจึงไม่พบพวกเค้าตามบ้านสักเท่าไหร่ อยากจะเจอก็ต้องมาเดินหากันในป่าสมบูรณ์แบบนี้เท่านั้น  โดยเรามักจะพบพวกเค้าอาศัยอยู่ตามป่าใกล้น้ำ เกาะหากินอยู่ตามต้นไม้เล็กๆ พอดี(ตุ๊กกาย)โอบ หรือบางครั้งก็พบอยู่บนหินก้อนใหญ่ๆ ที่มีไม้ขึ้นรกๆ ด้วย พวกเค้ากินแมลง และสิ่งมีชีวิตเล็กๆ แทบทุกชนิดที่เอาเข้าปากได้เป็นอาหาร วางไข่ครั้งละ ๒ ฟองตามซอกดินซอกหินที่ซึ่งพวกเค้าใช้หลบภัย และซ่อนตัวเวลากลางวันด้วย ในทริปนี่นอกจากตัวแรกแล้วเรายังเจอ “อินเตอร์” อีกหลายตัว ทั้งตัวเด็ก และตัวเมียท้องแก่ แสดงให้เห็นว่าพวกเค้าอยู่กันอย่างมีความสุขดีที่นี่

พวกเราลัดเลาะไปตามทางเดินซึ่งตัดเข้าสู่ตัวลำธาร แล้วก็แยกย้ายกันส่องดูตามซอกหิน และ พุ่มไม้ริมน้ำ ผมเอง ยังไม่ได้เจอตัวอะไรกับเค้าเลย ต้องหันไปสะกิดเจ้าบีมอย่างแรง เมื่อส่องไฟไปพบตะกอง (Physignatus cocincinus) สัตว์ตระกูลกิ่งก่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของไทย ขนาดกำลังวัยรุ่นเกาะหินนอนอยู่ฝั่งตรงข้ามของลำธาร แล้วการสะกิดต่อๆ กันก็เริ่มขึ้นอีกครั้งพร้อมเสียงเรียกรวมพลเบาๆ เราแบ่งเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกอ้อมไปทางขวา อีกกลุ่มอ้อมไปทางซ้าย ผมอยู่ในกลุ่มที่อ้อมไปเจอทางตัน ถ่ายภาพได้ แต่ก้นตะกอง ในขณะที่อีกกลุ่มได้มุมที่ดีกว่า แต่ฝีมือของ “ป้าใหม่” ก็ถ่ายได้มา แต่ตะกองในความมืด (ขอแซวๆ )  ขาย้อนกลับพี่น๊อตก็ตาดีเหลือบไปเห็นลูกตะกองตัวเล็กๆ ลำตัวยาวไม่ถึงฟุตเกาะอยู่บนยอดเฟิร์นอ่อนๆ และอีกตัวเกาะอยู่ที่ปลายกิ่งไม้แห้งที่พุ่งโด่เด่ออกไปกลางอากาศ ริมน้ำ เป็นวิธีการนอนที่ชาญฉลาด ถ้าลองนึกดูว่าศัตรูสำคัญที่สุดของพวกตะกองขนาดเล็กคงจะเป็นพวกสัตว์เลื้อยคลานอย่างงู และสัตว์เลี้ยงด้วยนมนักล่าขนาดเล็กอย่างพวกอีเห็น เสือปลา และ แมวดาว เพราะการนอนที่ส่วนปลายยอดนั้น ก่อนที่จะมีอะไรมาถึงตัว ก็จะเกิดแรงสั่นสะเทือนขึ้นให้พวกเค้ารู้ตัวก่อน และสามารถทิ้งตัวหนีลงน้ำได้ทันท่วงที พวกฝรั่งไม่ได้เรียกตะกองว่า มังกรน้ำ หรือ Water Dragon โดยไม่มีมูลเหตุหรอกครับเจ้าพวกนี่จะอาศัยผูกพันอยู่กับน้ำมาก และถ้าเกิดตกใจอะไรขึ้นมาจะหนีลงน้ำเสียเป็นส่วนใหญ่ ส่วนถ้าเป็นผู้ล่าจากทางอากาศอย่างพวกนกเค้าแมวนี่ ผมก็ยังข้องใจอยู่เหมือนกันครับ ว่าการเกาะเด่นเป็นสง่าที่ปลายไม้จะช่วยอะไรเจ้าตะกองน้อยได้บ้าง

คณะของเราเดินบนทางหลัก ซึ่งขึ้นเขาที่ไม่ลาดชันนักไปเรื่อยๆ ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าป่าในหน้าฝน มีเห็ด,รา และ ดอกไม้ต่างๆ ที่น่าสนใจขึ้นอยู่หลายชนิด เราหยุดถ่ายภาพไปเรื่อยๆ บางช่วงที่ทางเดินเป็นหินขรุขระ ทางอุทยานจะทำทางไม้ไว้ให้เดิน เก๋ไปอีกแบบ ทางเดินนี่จะเรียบริมน้ำไปเรื่อยๆ แต่ก็ไม่ถึงกับติดน้ำซ่ะทีเดียว จะไปสำรวจริมน้ำจะต้องเข้าไปตามทางแยก ซึ่งต้องลงเขาไปอีกหน่อย เราเดินอย่างนั้นไปเรื่อยๆ ไม่เจออะไรตื่นเต้นมากนัก นอกจากอึ่งอ่าง คางคกบ้าน และ นกจับแมลงจุกดำตัวเมีย ซึ่งเกาะนอนอยู่บนกิ่งไม้เตี้ยๆ

งูสีขาวลายปล้องดำตัวเล็ก และยาวกว่าตะเกียบหน่อยเดียว ขดหลบอยู่ใต้ซอกหินริมทางเดิน ผมส่องไฟไปเห็นพอดี สมองประมวลผลเรียบร้อย ตามความรู้ที่มีก็รีบสะกิดพี่น้อท “พี่ๆ ทับสมิงคลา” แล้วกลุ่มไทยมุงก็เกิดขึ้นอีกครั้ง แต่เมื่อได้ดูใกล้ๆ เราจึงพบว่างูตัวนี่เป็น งูปล้องชนวนลาว(Lycodon laoensis) ซึ่งเกล็ดจะมีขนาดเท่าๆ กันทั้งตัว แต่ถ้าเป็นงูทับสมิงคลาเกล็ดแถวกลางหลังจะใหญ่กว่าเกล็กแถวอื่นอย่างเห็นได้ชัด แถมเจ้าตัวนี่ยังกินลูกจิ้งเหลนห้วยอยู่อีกตะหาก เรานั่งดู และถ่ายรูปจนเค้ากินจิ้งเหลนหมดตัว โดยไม่กล้ารบกวน เพราะกว่างูจะหาเหยื่อได้ แต่ละทีไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าเราไปรบกวนแล้วเค้าเสียเหยื่อไป จะเป็นเรื่องที่แย่มากๆ สำหรับเจ้าตัวเล็ก งูชนิดนี่เป็นงูที่เลื้อย เพื่อล่าเหยื่อไปเรื่อยๆ เมื่อเจอก็จะฉกกัดไว้แล้วใช้ตัวรัดให้เหยื่อหนีไม่ได้แล้วก็ค่อยๆ กินเข้าไปทั้งเป็น อาจจะฟังดูโหดร้าย แต่ก็เป็นธรรมชาติของเขา เดินไปอีกสักพักพี่น้อทก็เจองูปล้องฉนวนลาวอีกตัวที่มีขนาดใหญ่กว่า สำหรับงูตัวใหญ่นี่ จากที่เป็นลายปล้องขาวสลับดำเมื่อยังเด็ก กลับกลายเป็นปล้องเหลืองสลับดำ สวยไปอีกแบบครับ

“วังมัจฉา” เป็นหนึ่งในวังน้ำขนาดใหญ่ของลำธารแห่งนี้ ในวังใหญ่เต็มไปด้วยปลาพลวงมากมาย แต่ ผมกลับสนใจในแอ่งน้ำเล็กๆ ที่เกิดขึ้นจากการสร้างสะพานคอนกรีตขวางทางไหลของน้ำโดยทางอุทยาน ปลาค้อเกาะช้างฝูงใหญ่ (Schistura kohchangensis) ทั้งตัวเล็กตัวน้อย ติดกันอยู่ตรงนั้น ผมเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าพวกเค้าจะหาทางลงสู่สายน้ำหลักได้หรือเปล่า แต่ก็หวังว่าถ้าฝนตกเพิ่มขึ้น น้ำคงไหลล้นพาพวกเค้าพ้นภัยกันไปเอง

“เฮ้ยๆ ๆ ๆ งูเขียวหางไหม้” เสียงใครสักคนพูดขึ้น จน ทำให้ผมซึ่งเดินอยู่ท้ายแถวเนื่องจากหยุดถ่ายรูปนู้นรูปนี่ ต้องรีบจ้ำไปมุงกับเค้าบ้าง งูตัวนี่พบเกาะอยู่บนต้นไม้ไม่ห่างจากทางเดินมากนัก กลุ่มงูเขียวหางไหม้ ในประเทศไทยพบหลายชนิด พบได้ทั่วๆ ไปแม้ แต่ตามชานเมืองกรุงเทพฯ ก็ยังได้ยินคนโดนงูชนิดนี่กัดอยู่บ่อยๆ ซึ่งพิษก็ไม่ร้ายแรงมากมายนัก จะเป็นเฉพาะจุดเสียมากกว่า ซึ่งถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ก็จะไม่เป็นอะไรมากนัก ในกรณีที่ไม่ได้แพ้พิษเป็นพิเศษ งูเขียวหางไหม้มีวิธีหาเหยื่อต่างไปจากงูปล้องขนวนลาว งูในกลุ่มนี่จะเลือกเกาะอยู่นิ่งๆ ตรงจุดที่คิดว่าจะมีเหยื่อผ่านแล้วก็จ้องฉกเอา บางชนิดจะใช้หางสีเข้มปลายเรียวแหลมเหมือนหนอน หลอกล่อให้พวกกิ่งก่าเข้ามาใกล้ แล้วก็ฉกกิน ดังนั้นเวลาเจองูชนิดนี่มักจะเจอตอนเกาะอยู่นิ่งๆ เสียเป็นส่วนใหญ่  หรืออีกทีก็ คือตอนที่โดนกัดเสียแล้ว เพราะเข้าไปใกล้พวกเค้ามากเกินไป (โดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม) ซึ่งก็เป็นธรรมชาติที่ต้องป้องกันตัวของเค้า ไม่ใช่ไล่กัดดะไปทั่ว งูชนิดนี้จัดอยู่ในกลุ่ม Pit viper คือมีความสามารถพิเศษในการหาเหยื่อด้วยการตรวจจับความร้อนด้วย

ตีหนึ่งกว่าๆ เราหยุดพักที่ริมลำห้วย ความเหนื่อยอ่อนเมื่อยล้าจากการเดินขึ้นลงเขาติดต่อกันมานานเกือบ ๕ ชั่วโมง ทำให้แม้ แต่การนั่งลงบนซุงต้นใหญ่ที่ล้มขวางลำธารอยู่ยังลำบาก ผมยังไม่เจอ ตุ๊กกายป่าตะวันออกด้วยตัวเอง ตามที่หวังไว้เลย แต่เราก็ได้เจออะไรต่างๆ ที่น่าสนใจตั้งมากมาย ขณะที่สายตาทอดไปข้างหน้าตามลำไฟฉายอย่างไร้จุดหมาย หางตาของผมก็เหลือบไปเห็นอะไรสักอย่างกำลังเคลื่อนไหวอยู่บนก้อนหินใต้ขอนก้อนที่ผมนั่งอยู่ “อินเตอร์” ผมอุทานอยู่ในใจ บทจะเจอก็เจอเสียง่ายๆ อย่างนั้นเอง

เป้าหมายบรรลุ ผมย้ายมานั่งรวมกลุ่มกับ เพื่อนๆ บนหินก้อนใหญ่ ปลดเป้ลงวางไว้ข้างตัว ดับไฟฉาย แล้วทุกคนก็ดับไฟกันหมด ปล่อยให้บรรยากาศมืดมิดห่อหุ้มพวกเราไว้ ต่างคนต่างนั่งเงียบๆ ไม่ได้พูดจาอะไรกัน มี แต่เพียงเสียงไหลของน้ำ และเสียงลมพัดใบไม้ ในช่วงเวลานั้น ดูเหมือนทุกคนกำลังพยายามจะซึมซับวินาทีแห่งความสงบนั้นเข้าไปให้มากที่สุด

ผมทิ้งหลังลงนอนบนหินเย็นๆ ก้อนนั้นด้วยความเหนื่อยอ่อน ลมเย็นๆ โชยมาเป็นระยะ พร้อมกับระอองไอจากน้ำตก และเสียงซู่ซ่าฟังแล้วชื่นใจ  มีแมกไม้เป็นผ้าห่ม และท้องฟ้าที่มีดาวระยิบระยับเป็นเพดาน ผมหลับตาลงหายใจลึกๆ มนุษย์ไม่ได้ต้องการความสุขมากไปกว่านี่อีกแล้ว ผมนอนอยู่ตรงนั้นนานเท่าไหร่ไม่ทราบ จนกระทั่งได้ยินเสียงกระซิบกันเบาๆ ว่า “เฮ่ย หลับแล้วๆ แอบย่องหนีทั้งเถอะ” นั่นแหล่ะถึงลืมตาขึ้น “ยังไม่หลับเว้ย” แหมคนกำลังจะโรแมนติก..... จะหลับต่อก็กลัวโดน เพื่อนทิ้ง ผมจึงจำต้องลุกขึ้นเดินต่ออย่างเสียไม่ได้

เกือบๆ จะตี ๓ สมควรแก่เวลาแล้ว เมฆก้อนใหญ่ถูกลมพัดมาบดบังท้องฟ้าจนมืดไปหมด หยาดฝนเริ่มโปรยลงมาช้าๆ ส่งให้พวก “ไม่ไล่ไม่เลิก” อย่างพวกเราเร่งจ้ำฝีเท้าลงเขากัน เพราะไม่มีใครเตรียมเสื้อกันฝนมา ผมเองมีข้อให้กังวลอีก เพราะกระเป๋ากล้องไม่ใช่ประเภทกันน้ำ ร้อยเปอร์เซ็นต์ ฝนเบาๆ อาจจะพอกันได้ แต่ถ้าเกิดหนักขึ้นมา เจ๊งแน่ๆ ฝนตกยังก่อปัญหาใหม่ให้พวกเราอีก เพราะฝนกระตุ้นให้เหล่าคางคกต่างพากันออกมาเล่นน้ำกลางทางเดินกันอย่างคับคั่ง ไม่ต้องดูสองข้างทางกันหล่ะ ก้มหน้าส่องพื้นดูทางหลบคางคกให้ได้ก็เต็มกลืนแล้ว ลงเขาได้สักครึ่งทาง ฝนก็เริ่มซาเม็ดลง ผมผ่อนฝีเท้าลง และเริ่มส่องดูสองข้างทางอย่างละเอียดขึ้น ฝนมักจะนำให้สัตว์บางชนิดออกมาเริ่มหากินได้ รวมไปถึงปูห้วยตัวสีแดงที่ออกมายืนอยู่กลางทางเดินเล่นน้ำที่ไหลลงมาเป็นสาย  หอยทากตัวสีเขียวอ่อนน่ารัก ขากลับนี่เรายังพบ ตะขาบตัวหนึ่งกำลังลากไส้เดือนโชคร้ายความยาวๆ เท่าๆ กันไปกินในพุ่มไม้ซึ่งเราหยุดดูกันด้วยความสยดสยอง เพราะเป็นการกินกันของสัตว์ที่น่าเกลียดไปกันคนละแบบ ตะขาบอีกตัวเกาะอยู่บนต้นไม้เตี้ยๆ ระดับหัวเขา ขณะที่กำลังถ่ายภาพตะขาบอยู่นั่น เสียงแซกซาก จากด้านหลัง ทำให้ผมกับบีม หันไปมองหาต้นเสียง ผมหาไม่เจอ แต่บีมส่องไฟพบหนูป่าตัวหนึ่งซุกอยู่ตรงซอกหิน หน้ายาว หูใหญ่ ตาแป๋ว ขนหลักสีน้ำตาลอ่อน แทรกด้วยเส้นสีดำ แต่ท้องขาวสะอาด ไม่ใช่หนูบ้านแน่ๆ ผมคิดว่าคงจะเป็นหนูฟาน ชนิดใดชนิดหนึ่ง เมื่อกลับบ้านเปิดหาดูในตำรา Mammals of Thailand ของหมอบุญส่ง จึงพบว่าหนูตัวดังกล่าวน่าจะเป็นหนูฟานเหลือง (Rattus surifer) หนูป่าชนิดที่พบได้ง่ายตามป่าทั่วประเทศไทย ภาพหนูตัวนั้นเป็นภาพสุดท้ายที่ผมบันทึกไว้ในคืนนั้น เมื่อกลับถึงบ้านพักก็รีบอาบน้ำ และเข้านอนเป็นคนแรก เพราะต้องเป็นคนขับรถกลับบ้านด้วย

เช้าวันรุ่งขึ้น ผมตื่นขึ้นพร้อมกับเสียงนกร้องระงมรอบบ้านพัก นอนเล่นอยู่สักพักจึงลุกขึ้นได้สำเร็จ ล้างหน้าล้างตา แล้วก็เดินหาวออกไปนั่งเล่นดูนกดูผีเสื้ออยู่ตรงชานหน้าบ้านพัก เพื่อนๆ บางคนก็ตื่นกันแล้ว คนที่ยังไม่ตื่นก็เริ่มต้องตื่นแล้ว เพราะแสงแดดเริ่มแยงตา และ เพื่อนเริ่มแกล้ง เราจัดแจงกินอาหารเช้าฝีมือพี่ใหม่ (มาม่าต้ม และ ขนมปังจิ้มโกโก้ร้อน) แล้วก็แบ่งกันออกเป็น ๒ ทีม ทีมแรกยังอยากดูสัตว์เลื้อยคลานต่อ จึงจะเดินลัดเลาะขึ้นเขาไปตามทางเดินศึกษาธรรมชาติอีกฝากหนึ่งซึ่งเป็นป่ารกทึบ และต้องเดินขึ้นเขา ส่วนชุดผมนั้น อยากจะดูปลาเต็มทนแล้ว จึงใช้ทางเดินของนักท่องเที่ยวปกติ ที่เราเดินกันเมื่อคืน เพื่อไปถึงน้ำตกเร็วที่สุด 

ย้อนกลับไปเมื่อคราวที่แล้วที่ผมมาเยือนเขาชะเมา ตามคำบอกเล่าของน้องคนหนึ่งว่าที่นี่มีปลากัดหัวโม่ง (Betta prima)  ผมพบว่าพวกเค้าอาศัยกันอยู่ในอ่างเก็บน้ำที่ทางอุทยาน “กั้น” ลำธารจนเกิดขึ้น หลายครั้งหลายแห่งแล้วที่ผมเห็นการ เปลี่ยนแปลงธรรมชาติในลักษณะแบบนี้ในอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีผลกระทบกับธรรมชาติไม่มากก็น้อย อย่างที่นี่ปลากัดหัวโม่งก็เป็นสัตว์อีกชนิดที่ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ เพราะพวกเค้าชอบอยู่ปลายน้ำ ไม่ได้อยู่ในเขตน้ำไหลแรง แต่น้ำที่อยู่ก็ต้องไหลเอื่อยๆ ไม่ถึงกับนิ่งเกือบจะสนิทเหมือนในอ่างเก็บน้ำ ข้อสำคัญ คือน้ำที่นิ่ง ทำให้ปลาที่ไม่ควรจะเป็นศัตรูทางธรรมชาติของเค้า อย่างปลานิล (ใครเอาสัตว์ต่างถิ่นมาปล่อยในเขตอุทยานแห่งชาติก็ไม่รู้) และ ปลาช่อน ซึ่งปกติจะอยู่น้ำนิ่ง และไม่มีโอกาศจะได้แอ่มปลากัดหัวโม่งที่อยู่ในน้ำไหล มาอยู่ในที่แหล่งเดียวกับเค้า แต่เมื่อปีที่แล้ว ปลากัดหัวโม่งก็ยังดูมีสถานะภาพน่าไว้วางใจ ผมนั่งดูปลาหนุ่มตัวนึง ว่ายพรุบๆ โผล่ๆ อยู่ในกอหญ้าริมน้ำ ปกป้องอาณาเขตของเค้าจากปลากัดหัวโม่งตัวอื่นๆ อยู่นานเหมือนกัน ภายในพื้นที่สัก ๑ ตารางเมตร ปลาตัวนี่ คือเจ้าผู้ครองอาณาจักร

วันนี้ผมใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะหาปลากัดหัวโม่งพบเพียงตัวเดียว ปลานิล และปลาช่อนดูจะเพิ่มจำนวนขึ้น แต่ปลากัดหัวโม่งหายไป ในบ่อมีน้ำพุโผล่ขึ้นมา สองสามหัว ไม่แน่ใจเหมือนกันว่ามีไว้ทำอะไร ชะตากรรมของปลากัดหัวโม่ง แห่งเขาชะเมาจะเป็นอย่างไรต่อไปก็ไม่รู้เหมือนกัน

สายๆ นักท่องเที่ยวเริ่มทะยอยกันเดินทางมากันมากขึ้น ส่วนใหญ่แล้วจะหอบหิ้วของกินติดกันเข้ามาเป็นรังใหญ่ บางกลุ่มลงทุนถึงขนาดแบกเตาอั้งโล่ เข้าไปด้วย ยังมีนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่เห็นการท่องเที่ยวตามอุทยานแห่งชาติเป็นการย้ายที่กินข้าวมากกว่าที่จะตั้งใจมาศึกษาหรือชื่นชมความงามของธรรมชาติ น้อยคนนักที่จะแวะชมนิทรรศการที่ทางอุทยานจัดไว้ น้อยคนนักที่จะหยุดสนใจดอกไม้หรือเห็ดเล็กๆ ริมทาง ไม่มีการท่องเที่ยวที่ถูกหรือผิด แต่การท่องเที่ยวสำหรับผม น่าจะได้อะไรกลับไปมากกว่าความเพลิดเพลิน ยิ่งสายคนก็ยิ่งมาก มาเป็นคันรถทัวร์เลยก็มี แต่ที่น่าดีใจ คือทางอุทยานค่อนข้างเข้มงวดกับการนำสิ่งของที่จะกลายเป็นขยะเข้าไปในเขตอุทยาน ทำให้พื้นที่ยังคงความสะอาดไว้ได้ตามสมควร

พวกเรา (ผม, กุ๋ย, แนน และ พี่ใหม่) เลือกมุมสงบมุมหนึ่งริมลำธารเป็นเป้าหมาย แล้วผมก็คว้าหน้ากากดำน้ำ หนีลงน้ำไปก่อนใคร ถึงแม้จะเป็นกลางหน้าฝน แต่น้ำที่เขาชะเมาก็ยังใสได้อย่างไม่น่าเชื่อ แสดงว่าสภาพป่าบนเขาแห่งนี้สมบูรณ์ สามารถรักษาดินไม่ให้ถูกน้ำชะได้ ในหลายพื้นที่ๆ ต้นน้ำถูกทำลาย เมื่อฝนตกหนัก น้ำฝนจะชะพาเอาดินไหลลงแม่น้ำ ทำให้น้ำขุ่นไปหมด และไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะต้องส่งผลกระทบกับ ทรรศนวิสัยของปลาล่าเหยื่อด้วยสายตาหลายชนิด ตะกอนยังไปทับถมให้แม่น้ำตื้นเขิน ปลาใหญ่ขึ้นมาวางไข่ไม่ได้อีกด้วย สำหรับบรรยากาศใต้น้ำนั้น ฟังผมบ่นมามากพอแล้ว เปลี่ยนบรรยากาศ ฟังน้องแนนบ้างครับ

“ครั้งแรกนะคะ ที่แนนได้ดำน้ำดูปลานานๆ โดยใช้ snorkel (ปกติใช้กลั้นหายใจเองอ่ะ) ชอบมากเลยค่ะ มีปลาพลวงเป็นฝูง โดนกระแสน้ำตกพัดกลิ้งอยู่ใต้น้ำ ตลกดีอ่ะ แล้วก็เสาะหาปลาเลียหิน ท่ามกลางฝูงปลาพลวงทั้งตัวเล็กตัวใหญ่เต็มไปหมดเลยได้เห็นแบบใกล้ๆ แบบนี้ ตื่นเต้นดีค่ะ ปลาเลียหิน (Garra sp. taeniata)  ตัวเมียท้องป่องด้วยล่ะ ส่วนตัวผู้ที่แนนเห็นนะ สีแดงเข้มมากกว่าในรูปอีกด้วย น้ำตกเย็นๆ ท่ามกลางฝูงปลา แนนเข้าใจเลยค่ะว่า ทำไมพี่นณณ์เห็นน้ำทีไร ต้องวิ่งหอบอุปกรณ์ไปก่อนใคร เพื่อนทุกทีเลย”

พวกเราเพลิดเพลินดำน้ำดูปลากันจนลืมว่านัดกลุ่มพี่น้อท ไว้ที่วังปลา กว่าจะขึ้นจากน้ำได้ และไปถึงที่นัดก็โดนบ่นอุบไปแล้ว “วังปลา” เป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่รองรับน้ำจากน้ำตกเล็กๆ ที่มีปลาพลวงแหวกว่ายอยู่เต็มไปหมด ที่นี่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวให้อาหารสัตว์ (ปลา) ในเขตอุทยานแห่งชาติได้โดยมีทางอุทยานเป็นผู้ขายอาหารให้เองด้วยนะ ปลาพลวงน้อยใหญ่พากันมาอออยู่ที่ริมตลิ่ง รออาหารจากนักท่องเที่ยวกันอย่างไม่เหลือศักดิ์ศรีสัตว์ป่า บางคนว่าน่ารัก แต่ผมว่าน่าอนาถมากกว่า คราวนี้ยังแตกต่างไปจากคราวที่แล้วที่ผมมา เพราะมีสะพานคอนกรีตเสาเหล็กพาดขวางอยู่กลางวังด้วย ขึ้นไปยืนอยู่บนสะพานแล้วมองลงมาในน้ำก็ดูสวยดี แต่ตัวสะพานนั้นขาดความสวยงามทางสถาปัตยกรรมอย่างไม่น่าจะให้อภัย นึกไปถึงภาพสะพานโค้งๆ สวยๆ ที่เคยเห็นในโปสเตอร์ท่องเที่ยวของประเทศจีน ธรรมชาติของเราก็ไม่ได้สวยแพ้เขา ถ้าประเทศไทยสร้างอะไรให้มันสวยๆ ได้แบบนั้นบ้างไม่ต้องไปเดือนร้อน “อันซีน” ทำลายแหล่งท่องเที่ยวใหม่อะไรที่ไหน ไม่ต้องสร้างธูปยักษ์ หรือทอดไข่เจียวยักษ์ด้วย สะพานอันเดียวเล็กๆ สวยๆ บนน้ำตกนี่    แหล่ะ ก็เรียกนักท่องเที่ยวมาดูได้เป็นพันเป็นหมื่นแล้ว แต่อนิจา....ผมท้อจนไม่กล้าหาญพอที่จะถ่ายภาพสะพานเหล็กเสริมคอนกรีตมาให้พวกคุณได้ชมกัน (บ่นอีกแล้ว)

เราต้องคืนกุญแจให้กับทางอุทยานก่อนเที่ยง จึงต้องรีบกลับไปเก็บข้าวของสัมภาระกันให้เรียบร้อย ไม่ลืมที่จะแวะไปเลือกซื้อเสื้อยืดสวยๆ ลายสัตว์ต่างๆ ที่ทางอุทยานนำมาขายในราคาไม่แพงนัก กินข้าวกันที่ร้านค้าใกล้ๆ กับที่ทำการก่อนที่จะกลับบ้านกันอย่างเหนื่อยอ่อน เป็นอีกทริปที่สนุก แต่ก็มีเรื่องให้บ่นได้เรื่อยๆ จนผมชักจะเบื่อตัวเองแล้วเหมือนกัน

ก็ไม่รู้ว่าผมขี้บ่นขึ้นหรือว่ามันมีเรื่องให้บ่นมากขึ้นนะครับ...

 

 

more survey ...

 

www.siamensis.org - Thailand Fish & Nature Explorer
An independent non-profit group
Established 2001
 All Rights Reserved 2001-2010 ©siamensis.org