: Home : Board : Articles : Expeditions : About us : Privacy Policy :

 


แดดเช้าใกล้ๆ ที่ทำการอุทยานฯ

แมงมุมผึ่งแดด

หัวขวานอยู่หนใด

ปูน้ำตกสระบุรี

บรรยากาศ
ใบไม้เริ่มเปลี่ยนสี

ฉากรัก


มีแมงมุมแบบนี้อยู่ทั่วไปหมด

ดอกไม้ป่า

ผีเสื้อจรกาเมียลาย (Euploea mulciber)


รอเหยื่อ

อ่างเก็บน้ำ

กาน้ำ

งูสิง (Ptyas korros)

จิ้งเหลนต้นไม้ (Lipinia vittigera)

ทางเดินเลียบน้ำตก


ทางเดินเท้าศึกษาธรรมชาติ

เหล่าผู้ย่อยสลายในธรรมชาติทำงานร่วมกัน
บันทึกการเดินทาง น้ำตกเขาสามหลั่น
อุทยานแห่งชาติ พระพุทธฉาย จังหวัดสระบุรี
31 ต.ค 2547
เรื่อง และภาพ: พล, นณณ์

นณณ์ฝากผมให้เขียนเรื่องนี้อ้างว่าตัวเองกำลังเขียนเรื่องปลาหมอแคระอยู่ และใกล้ปิดต้นฉบับเต็มทนแล้ว ระหว่างเดินทางกลับจากน้ำตกเขาสามหลั่น จังหวัดสระบุรี เป็นการเดินทางสั้นๆ ที่นณณ์ และผมใช้เวลาครึ่งวันในการไปถ่ายรูปที่นั่น นณณ์ไปถ่ายรูปปูน้ำตก เพื่อเติมเต็มบทความเกี่ยวกับสัตว์ประจำถิ่นของสระบุรี โครงการใหญ่ระยะยาวของเจ้าตัว ส่วนผมก็ติดสอยห้อยตามไปตามประสาลูกทัวร์

เริ่มเรื่อง
ข้อมูลจากแผ่นพับของทางอุทยานฯ
อุทยานแห่งขาติพระพุทธฉายมีพื้นที่อยู่ในเขต อ.หนองแค อ.วิหารแดง อ.แก่งคอย และ อ.เมือง จังหวัดสระบุรี เป็นเขตป่าอนุรักษ์ที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ มากที่สุด ครอบคลุมพื้นที่ภูเขาซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองสระบุรีเพียงแค่ 10 กิโลเมตร มีเขาครกเป็นยอดสูงสุด สูง 329 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีสถานที่ท่องเที่ยว ได้แก่ น้ำตกสามหลั่น น้ำตกโพธิ์หินดาด และ น้ำตกโตนรากไทร นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น น้ำตกเขาแดง น้ำตกนางโจน อ่างเก็บน้ำเข้าสามหลั่น อ่างเก็บน้ำเขารวก อ่างเก็บน้ำซับปลากั้ง เป็นต้น เราออกเดินทางจากกรุงเทพฯประมาณเจ็ดโมงเช้า ไปยังจังหวัดสระบุรี ตามถนนพหลโยธิน ก่อนถึงจังหวัดสระบุรีประมาณ 3 กิโลเมตร ตรงหลักกิโลเมตรที่ 104 จะถึงทางแยกขวามือเข้าสู่พระพุทธฉาย ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร หรือจะเดินทางโดยรถประจำทางไปยังจังหวัดสระบุรีแล้วเหมารถรับจ้างไปยังอุทยานแห่งชาติพระพุธทฉายก็สะดวกเช่นกัน ที่นี่มีจุดกางเต็นท์ พร้อมมีเต็นท์ และเครื่องนอนไว้บริการ นอกจากนั้นยังมีเรือปั่น และเรือคายัค ไว้บริการที่บริเวณอ่างเก็บน้ำก่อนถึงที่ทำการอุทยานฯด้วย

จุดหมาย

เรามาถึงอุทยานฯตอนแปดโมงเช้า ธงชาติกำลังชักขึ้นเสาอยู่พอดิบพอดี ณ ลานกางเตนท์หน้าที่ทำการอุทยานฯ แสงแดดยามเช้ากำลังสวยส่องผ่านเรือนยอดของต้นไม้ลงมาเป็นลำ ชวนให้กดชัตเตอร์กันคนละรูปสองรูป ก่อนที่จะเริ่มเดินเท้าเข้าไปที่น้ำตกเขาสามหลั่น ระหว่างทางเราได้ยินเสียงคล้ายใครกำลังเคาะไม้ดังกังวานไปทั่วป่า นกหัวขวานนั่นเอง เราพยายามมองตามยอดไม้ เพื่อหาที่มาของเสียง และหวังว่าจะได้รูปซักใบ แต่ในที่สุดก็ได้ แต่เห็นหลังสีเหลืองของมันไวๆ หายเข้าไปในป่า สุดปัญญาจะถ่ายได้ แต่การตามหานกหัวขวานก็ไม่ถือว่าเสียเปล่า เพราะเราได้รูปใยแมงมุงที่สะท้อนแสงแดดอ่อนๆ ยามเช้า พร้อมทั้งตัวแมงมุมหน้าตาประหลาดมาแทน

 

ปูที่น้ำตกเขาสามหลั่น

เราใช้เวลาเดินทอดน่องไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็มาถึงส่วนของน้ำตก ช่วงนี้น้ำเริ่มน้อย นณณ์ถึงกับตั้งชื่อใหม่ให้ว่าน้ำตกสามแหมะ แต่ก็โชคดีที่เราเจอปูน้ำตกได้ไม่ยากนัก นณณ์บอกว่ามันเป็นชนิดที่พบเฉพาะน้ำตกในเขตจังหวัดสระบุรีเท่านั้น ดูมันคล้ายจะออกมาต้อนรับนักท่องเที่ยว เพราะเจออาศัยอยู่ตามซอกหิน และแอ่งน้ำทั่วไป แต่จะมีซักกี่คนที่มองเห็น และสนใจ เพราะหน้าตามันก็คงไม่ต่างจากปูดองในส้มตำซักเท่าไหร่ เราหยุด เพื่อถ่ายรูปกันที่นี่นานทีเดียว ผมถ่ายนู่นถ่ายนี่ไปเรื่อย ในขณะที่นณณ์ก้มๆ เงยๆ อยู่แถวน้ำตก สักพักก็ปีนหินขึ้นไปโผล่อยู่ด้านบน แล้วก็เดินวนกลับลงมาอีก แล้วก็ลงไปนั่งๆ นอนๆ ถ่ายอะไรสักอย่างอยู่ที่ขอนไม้ล้มริมน้ำตก พอผมเดินไปดูเจ้าตัวก็ยิ้มฟันขาวบอกให้ผมดู ๓ ผู้ย่อยสลายในธรรมชาติร่วมกันทำงานบนไม้ขอนนั้น พร้อมทั้งชี้ให้ผมดูฝอยขาวๆ ของเชื้อรา รอยทางเดินของปลวก และ เห็ดก้อนกลมๆ ที่ขึ้นอยู่ สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ อาจจะดูเล็กน้อย ไม่สำคัญเหมือนกับเหล่าสัตว์ใหญ่ หรือ แม้ แต่นกเล็กๆ ที่สวยงาม แต่พวกเขาก็มีความสำคัญในวัฎจักรธรรมชาติไม่แพ้กัน ถ้าไม่มีผู้ย่อยสลายในธรรมชาติ ในโลกนี้ก็คงเต็มไปด้วยขยะ

 

ออกเดินทางต่อ

เราเริ่มออกเดินทางออกจากบริเวณน้ำตกหลังจากที่เด็กๆ สี่ห้าคนมาพร้อมกับเสียงเจี๊ยวจ้าวตามประสาเด็กที่ตื่นเต้นกับธรรมชาติ เราเดินลึกเข้าไปในป่าซึ่งต้นไม้บางต้นกำลังเริ่มผลัดใบ เพื่อรับหน้าหนาวที่กำลังจะมาเยือน เรามีจุดหมาย คืออ่างเก็บน้ำซึ่งไกลจากน้ำตกไปไม่กี่ร้อยเมตรโดยหวังว่าน่าจะเจออะไรให้ถ่ายรูปได้บ้าง ระหว่างทางมีลำธารเล็กๆ เราเห็นปลาเล็กๆ ว่ายน้ำอยู่กันเป็นฝูง นณณ์บอกว่าเป็นพวกปลาซิวใบไผ่เล็ก และปลาที่เหมือนปลาช่อนนั่น คือปลาก้าง ซึ่งเป็นปลาในตระกูลปลาช่อนขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำไหล นอกจากนั้นก็มีกิ้งกือขนาดใหญ่ที่เห็นอยู่ทั่วไป มีตัวหนึ่งโดนปูลากลงน้ำไปกินด้วย เสียงนกร้องดังระงมไปทั่วป่า เสียงที่ดังสุดคงจะเป็นเสียง “เจ๊กโกหกๆ ๆ ๆ ๆ ” ของนกกระรางหัวหงอก แต่จนรอดจนรอดด้วยความไร้ฝีมือ และดวงในการดูนก เราก็หาตัวพวกมันไม่เจอ นอกจากนั้นก็ยังมี แมลงหน้าตาแปลกๆ ที่บางตัวสวยอย่างไม่น่าเชื่อ แล้วก็มีพวกผีเสื้อหลายต่อหลายชนิดซึ่งดูเหมือนว่าวันนี้จะอารมณ์ดีกันเป็นพิเศษพากันบินล่อนไปมา ไม่ลงจอดให้ได้ถ่ายรูปกันบ้างเลย และ นอกจากนั้นก็ยังมีดอกไม้ป่าดอกเล็กดอกน้อยให้เราแวะถ่ายภาพกันไปตลอดทาง

 

ที่อ่างเก็บน้ำเขาสามหลั่น

ริมอ่างเก็บน้ำค่อนข้างรกเต็มไปด้วยต้นไม้ หนาม และพื้นที่เป็นโขดหินมาถมเป็นเขื่อน ทำให้การเดินเข้ามาค่อนข้างลำบากพอสมควร นักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งที่เดินตามเรามาพอเห็นก็แทบจะหันหลังกลับในทันที แต่เรา ๒ คนก็ฝ่าเข้ามาจนถึงขอบอ่างเก็บน้ำ และเจอนกเป็ดผีเล็ก และนกกาน้ำอยู่ไกลลิบๆ ในน้ำมีปลาเล็กๆ ขึ้นเล่นน้ำกัน ดูแล้วคงจะเป็นพวกปลากระดี่หม้อ แล้วนณณ์ก็ได้คำตอบเสียทีว่าปีที่แล้วทำไมถึงเจอปลากระดี่หม้อติดค้างอยู่ตามแอ่งน้ำในน้ำตก เพราะปลากระดี่เป็นปลาน้ำนิ่งไม่น่าจะมาโผล่ในน้ำตกได้ อ่างเก็บน้ำแห่งนี้ล้อมรอบไปด้วยภูเขาที่เขียวชะอุ่ม เมื่อผสมกับอากาศเย็นยามเช้าต้นฤดูหนาวเช่นนี้ ทำให้ผมอารมณ์ดีได้อย่างไม่น่าเชื่อ ส่วนเจ้านณณ์นั้นแทนที่จะชื่นชมความงามกับบ่นพึมพัมว่าอุทยานแห่งชาติเดี๋ยวนี้ไม่รู้เป็นอะไรกัน ชอบกั้นแม่น้ำลำธารสร้างเป็นอ่างเป็นเขื่อน ทำลายที่อยู่ทางธรรมชาติของปลาต้นน้ำ และตัดขาดการกระจายพันธุ์ของพวกมันเป็นช่วงๆ จนบางกลุ่มผสมพันธุ์กันเลือดชิดจนตัวคดตัวงอหมดแล้ว อนาคตปูที่นี่น่าห่วงจริงๆ เพราะถูกดักไว้ด้วยบ่อน้ำทั้งด้านล่างด้านบนจนมีประชากรติดอยู่ตรงกลางเพียงไม่กี่ตัว....

 

ระหว่างที่เจ้าตัวบ่นให้ผมฟังไปเรื่อย ผมก็หาทางเข้าใกล้นกกาน้ำให้มากกว่านี้ เพื่อถ่ายรูป แล้วสายตาก็เหลือบไปเห็นตัวอะไรซักอย่างกำลังว่ายแหวกผิวน้ำตรงแหนวมาที่เรา มองจากทิศทางแล้วมันคงกะจะมาขึ้นฝั่งตรงที่เรายืนอยู่แน่นอน

 

ระยะทาง: ไกลลิบๆ
นณณ์: “ตัวอะไรว่ะนั่น? เป็ดผี?”
ผม: “?”
เจ้าตัวนั้น: ว่ายตรงเข้ามาเรื่อยๆ

 

ระยะทาง: เริ่มใกล้เข้ามา
นณณ์: หันมาบอกผมว่า “งู ว่ะ” แล้วรีบคว้ากล้อง
ผม: อ้อ … งู แล้วก็รีบคว้ากล้องส่องทางไกลมาดู (ลืมไปว่าเอามาด้วย)
งู: ก็ยังคงว่ายตรงมาเรื่อยๆ ตรงเด่เลย


ระยะทาง: ใกล้แล้วนะ
ผม: งูมันยังมองไม่เห็นเราเหรอว่ะนั่น สงสัยสายตามันคงไม่ดี ผมหันไปถามนณณ์ “งูอะไรวะ?”
นณณ์: “งูเห่ามั๊ง มองไม่ชัดหว่ะ” นณณ์ตอบไปพร้อมกับกดชัตเตอร์ไม่หยุด
ผม : “โดนกัดก็ตายดิ” แล้วผมก็เริ่มมองไปด้านหลัง สำรวจเส้นทางก่อนวิ่ง
งู : ตรงเข้ามาเรื่อยๆ
นณณ์: “เอ...ไม่หรอกมั๊ง งูสิงมากกว่า ตาโตๆ ไม่มีพิษๆ ”
ผม: นณณ์พูดให้กำลังใจ แต่ผมก็ยังสำรวจทางหนีทีไล่อยู่
งู: เข้ามาใกล้ขึ้นเรื่อยๆ (เห็นเราซะทีสิ หลับหูหลับตาว่ายมาอยู่ได้)


โชคดีครับที่งูมองเห็นเราก่อนที่จะถึงฝั่งประมาณห้าเมตร มันหยุดชะงัก แลบลิ้นแพล่บๆ เพื่อตรวจกลิ่น แล้วก็รีบเปลี่ยนเส้นทางว่ายเฉียงไปขึ้นฝั่งห่างจากจุดที่เรายืนไปไม่กี่เมตร เล่นเอาผมระแวงไปตลอดทางเดินที่ออกมาจากอ่างเก็บน้ำ


ขากลับระหว่างที่เรากำลังมุดๆ กันออกมาจากดงไม้
ผม : “ไอ้ขนๆ นี่มันลูกอะไรว่ะ?” ผมถามนณณ์ หลังจากมุดผ่านกอไม้เรื่อยมาได้อย่างปลอดภัย
นณณ์: “เฮ้ย หมามุ่ย ทำไมไม่รีบบอกว่ะ” นณณ์ซึ่งกำลังมุดอยู่โวยวาย
ผม: “อ้าว ไม่รู้....”
นณณ์ : “โดนเข้าไปแล้วแน่ๆ เลย คันคอยิบเลยหว่ะ”


ระหว่างทางกลับ เราพบจิ้งเหลนต้นไม้สีสวยหากินอยู่บนต้นไม้ใหญ่ จิ้งเหลนขนาดเล็กชนิดนี้มีพฤติกรรมตามชื่อของมัน คือ หากินอยู่บนต้นไม้ใหญ่ๆ ไม่ได้หากินตามพื้นเหมือนจิ้งเหลนบ้านที่เราคุ้นเคย พูดถึงจิ้งเหลนบ้าน เดี๋ยวนี้แถวบ้านผมที่ลาดพร้าว ไม่ค่อยมีให้เห็นแล้วครับ ไม่รู้ว่าหายไปไหนกันหมด ย้อนกลับมาดูเจ้าจิ้งเหลนต้นไม้ดีกว่า หางสีส้มของมันกวัดแกว่งไปมาเหมือนกับไส้เดือนไม่มีผิด

ผม: “มันจะแกว่งหางไปทำไมนั่น? เหมือนกับไส้เดือนเลย”
นณณ์: “เออจริงหว่ะ ไม่เคยได้ดูเจ้านี่ถนัดๆ สักที สงสัยแกว่งหางล่อเหยื่อกระมัง”
ผม: “ถ้าผู้ล่าใหญ่ขนาดจะมากินหางมันได้ แล้วมันจะกินแค่หางเหรอวะ? มากินมันทั้งตัวล่ะสิไม่ว่า”
นณณ์ : “เออแหะ สงสัยเป็นแบบ เอาหางล่อไง ตัวอะไรจะมากินมันก็ตะปบหางไปกินก่อน ตรงตัวก็รอดไปงอกหางใหม่ไว้ให้สัตว์ผู้ล่ากินต่อ”
ผม: “โห เอาตัวรอด ของแท้เลยนี่หว่า”

แล้วเราก็เลยจัดการถ่ายรูปกันอีกชุดใหญ่ แต่จิ้งเหลนน้อยไม่ค่อยให้ความร่วมมือกลับปีนหนีขึ้นต้นไม้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ

ขากลับเรายังแวะเที่ยวกันที่ที่ทำการอุทยานอีกเล็กน้อย ที่นี้มีนิทรรศการเล็กๆ ให้เราได้ชมกัน ทั้งภาพถ่าย และผีเสื้อ รวมไปถึงบอร์ดให้ความรู้ต่างๆ ก็มีมากพอสมควรทีเดียว

เราออกมาจากอุทยานฯ และเดินทางกลับกรุงเทพฯตอนใกล้ๆ เที่ยง และถึงกรุงเทพฯได้ก่อนที่จะหิวจนเกินไป รวมเวลาเดินทางแค่ชั่วโมงนิดๆ เท่านั้นเอง คงไม่มีธรรมชาติที่สมบูรณ์ใกล้ๆ กรุงเทพฯแบบนี้อีกแล้วกระมัง?


ร่วมแสดงความคิดเห็นที่กระทู้

ติดต่อกับอุทยานฯ
อุทยานแห่งชาติพระพุทธฉาย
ตู้ ปณ.10 ต.หนองปลาไหล
อ.เมือง จ.สระบุรี 18000
โทร 0-3622-5171-2


 

ตั๊กแตนตำข้าวทำความสะอาดหนวด

 

www.siamensis.org - Thailand Fish & Nature Explorer
An independent non-profit group
Established 2001
 All Rights Reserved 2001-2010 ©siamensis.org