: Home : Board : Articles : Expeditions : About us : Privacy Policy :

 


ทางเข้าที่ทำการเขตฯ 

ป้ายเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ

พี่นิรันด์กำลังพาพวกเราไปดู กิ้งก่า

ยังพอมีความชื้นอยู่บ้างในช่วงหน้าแล้งนี้

กิ้งก่าภูวัว





หน้าผาหินทราย ที่อยู่ของกิ้งก่าภูวัว

สิรินธรวัลลี

เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ


เราพบกิ้งก่าชนิดนี้ ระหว่างเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ

สวนยางที่มีให้เห็นตลอดสองข้างทาง

กะปอมน้อย หนึ่งเดียว แห่งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว
10 เมษายน 2548
เรื่อง: อุ๊อิ๊
ภาพ: พล

ครั้งนี้เป็นครั้งแรกของผู้เขียนที่ออกเดินทางตามหาสัตว์ที่ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะชื่นชอบถึงขั้นต้องขับรถด้วยระยะทางเกือบๆ 200 กิโลเมตรตามหาแบบนี้ แต่ด้วยข้อมูลที่ได้รับฟัง และแกมๆ ถูกบังคับให้อ่านเกี่ยวกับสัตว์ชนิดนี้ ทำให้ผู้เขียนเกิดความสนใจขึ้นมา เจ้าสัตว์ที่ว่านี้ก็ คือกิ้งก่าภูวัว สิ่งที่น่าสนใจกว่ากิ้งก่าทั่วไปก็ คือ มันพบครั้งแรก และพบที่เดียวที่ภูวัวแห่งนี้ เมื่อหาเวลาที่หยุดพร้อมกันได้ระหว่างช่างภาพ และผู้เขียนการออกเดินทางก็เริ่มต้นขึ้น

                เรานัดกันว่าต้องออกเดินทางตั้ง แต่เช้า เพราะต้องเดินทางไกลถึง 180 กิโลเมตร จึงตกลงได้ว่า 05.30 น.เหมาะที่สุด แต่กว่าจะได้เริ่มออกเดินทางจริงก็ปาเข้าไป 6 โมงเช้า เพราะว่าผู้เขียนตื่นสายไปนิด เราเริ่มออกเดินทางจาก จ.หนองคาย ซึ่งเป็นถิ่นของเราเอง( แต่ดูเหมือนช่างภาพของเราไม่ค่อยจะคุ้นกับเส้นทางเท่าไร เพราะว่าไม่ค่อยได้อยู่ที่หนองคาย ผู้เขียนเลยต้องรับเป็นไกด์จำเป็น ซึ่งก็ไม่ค่อยจะคล่องมากนัก) จากหนองคายเดินทางไปตามเส้นทางถนนหนองคาย-โพนพิสัย คือถ้าจะว่าไปแล้วการเดินทางวันนี้เหมือนว่าเราขับรถล่องไปตามแม่น้ำโขง ขับตรงไปเรื่อยๆ นั่นเอง

 พอถึงอำเภอโพนพิสัย ห่างจากหนองคาย 45 กิโลเมตร เราก็เริ่มรู้สึกหิวกันขึ้นมา เพราะว่าเรายังไม่มีอะไรรองท้องกันมาเลย ผู้เขียนจึงชวนให้แวะที่ ตลาดเช้าอำเภอโพนพิสัย ที่นี่มาของกินแปลกๆ และหาทานได้ยากหลายอย่าง เราเดินเที่ยวในตลาดประมาณ 20 นาที ได้ของกิน 2-3 อย่าง ที่เป็นของที่ทานได้ง่ายๆ ไม่เลอะมือ เดินกลับมาที่รถ ซึ่งก็ คือ กล้วยปิ้ง ข้าวเหนียว-หมูปิ้ง (ตกลงกันว่าจะเก็บข้าวเหนียวหมูปิ้งไว้ทานตอนเที่ยง เผื่อไปถึงที่โน่นแล้วหาของกินยาก) และ ข้าวจี่ (เป็นข้าวเหนียวนึ่งนำมาทำเป็นแผ่นหรือปั้นเป็นก้อน ย่างแล้วชุบไข่ เป็นของกินที่นิยมกันของคนแถบนี้ ช่างภาพของเราชอบเป็นที่สุด แถมยังบ่นว่าซื้อมาน้อยไป)

จากโพนพิสัยขับตรงไปผ่านกิ่งอำเภอรัตนวาปี ถึงที่นี่เราก็เริ่มจะเห็นไร่สับปะรด และสวนยางพารา ที่มีให้เห็นหนาตามากขึ้น สำหรับยางพาราหลายปีมานี้กลายมาเป็นพืชเศรษฐกิจของหนองคาย เพราะภูมิประเทศของที่นี่เหมาะแก่การปลูก ไม่เพียง แต่ยางพารา ผลไม้หลายชนิดที่ไม่คิดว่าจะปลูกได้ ก็ปลูกได้ผลมาแล้ว เช่น ส้ม เงาะ ทุเรียน มังคุด เป็นต้น จากนั้นขับรถมาเรื่อยๆ ก่อนถึงอำเภอปากคาด ที่บ้านเปงจาน เราแวะเที่ยวที่ ตลาดนัดจุดผ่อนปรนไทย-ลาว ที่นี่มีทั้งของกินของใช้หลายอย่างให้เราได้เลือกซื้อ แต่ที่แปลกที่สุดก็ คือ เทา มันเป็นสาหร่ายที่ชาวบ้านแถวนี้จะเอามาทำเป็นอาหารลักษณะคล้ายยำ ทานสดๆ ไม่ต้อง ทำให้สุก จะเรียกว่า“ลาบเทา” นอกจากเทาแล้วก็จะมี เห็ดหลายชนิด หน่อไม้ หน่อหวาย ถ้ามาในช่วงฤดูฝนจะมีมากกว่านี้ ( แต่นี่เรามาก็เกือบๆ จะสงกรานต์) ผู้เขียนก็อดไม่ได้ที่จะซื้อหน่อหวายมาฝากที่บ้าน เอามาทำแกงอ่อมหวาย รสชาติขมนิดๆ หาทานได้ยาก แต่ผู้เขียนดูจะไม่ค่อยชอบเท่าไหร่

จากตลาดนัด เรื่อยมาก็จะผ่านอำเภอปากคาด จากนั้นก็ถึงอำเภอบึงกาฬ ตอนนี้เราขับรถมาประมาณ 136 กิโลเมตรแล้ว จุดนี้จะเจอสี่แยก ให้ขับตรงไปทางอำเภอบุ่งคล้า-บ้านชัยพร เพราะจุดหมายของเรา คือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอำเภอบุ่งคล้า ห่างจากอำเภอบึงกาฬประมาณ 51 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าไปที่ทำการเขตประมาณ 2.5 กิโลเมตร เราต่างก็พูดตรงกันเป็นเสียงเดียวว่าระหว่างทางที่เราเดินทางมาคิดว่าจะเจอป่าที่แห้งแล้ง และร้อนจัด แต่กลับไม่เป็นอย่างที่คิด ต้นไม้ยังเขียว ดูสดชื่นแม้อากาศจะค่อนข้างร้อน นี่เป็นการเดินทางมาที่นี่เป็นครั้งแรกของผู้เขียน ถึงแม้ว่าจะเป็นคนหนองคายโดยกำเนิดก็ตาม

กว่าเราเขามาถึงภูวัว เวลาก็ปาเข้าไปประมาณ 9.30 น.

 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว มีเนื้อที่ประมาณ186.5 ตารางกิโลเมตรหรือ 116,562 ไร่ มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ในเขตอำเภอบึงกาฬ อำเภอเซกาอำเภอพรเจริญ และอำเภอบึงโขงหลง

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า-ภูวัว อยู่ทางด้านตะวัน-ออกเฉียงเหนือสุดของภาคเกือบติดพรมแดนประเทศลาว มีอาณาเขต 2 ด้านขนานไปกับแม่น้ำโขง อยู่ห่างจากชายแดนประมาณ2 กิโลเมตร มีความสูง จากระดับน้ำทะเลเฉลี่ยประมาณ 150-300 เมตร สภาพดินพื้นล่างส่วนใหญ่เป็นดินทราย และดินลูกรัง ทางด้าน น้ำตกชะแนน มีพื้นที่บางส่วนเป็นดินเหนียวปนดินร่วน พื้นหลังภู และสันเขาส่วนใหญ่เป็นพื้นทราย และดิน ทราย สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น บริเวณหัวภูด้านตะวันออก บนยอดภูเป็นลานหินโล่งกว้างที่ถูกน้ำกัดเซาะ จนมีลวดลายสวยงามมาก มีระดับความสูงประมาณ 330 เมตร สามารถมองเห็นทิวทัศน์ที่เป็นป่าได้โดยรอบ เห็นได้ไกลถึงป่าในฝั่งลาว เช่น ภูควาย ภูงู ภูหมาก่าวของลาวได้ชัดเจน  

เราเริ่มต้นตามหาเจ้ากิ้งก่าภูวัว จากด้านหลังที่ทำการเขต ซึ่งเป็นจุดที่พบกิ้งก่าชนิดนี้ เราต้องขอบคุณพี่นิรันดร์ เจ้าหน้าที่ฯ ที่มาพร้อมรอยยิ้ม และ มิตรไมตรี ที่พาเราไปยังจุดที่เป็นถิ่นอาศัยของพวกมัน พี่นิรันดร์บอกว่า กิ้งก่าภูวัวจะชอบอาศัยอยู่ตามก้อนหินที่เป็นหินทราย จะพบมากในช่วงที่อากาศค่อนข้างเย็น คือประมาณ เดือน สิงหาคม ถึง ตุลาคม ชอบอยู่เป็นกลุ่มประมาณ 3-5 ตัว จากที่เคยสำรวจจำนวนที่ผ่านมาคาดว่าจะมีประมาณ 20-30 ตัว มีคนที่สนใจมาดูกันค่อนข้างเยอะ แต่วันที่เรามาไม่มีนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นเลย อาจจะเป็น เพราะนักท่องเที่ยวไม่นิยมมาในช่วงหน้าแล้ง วันนี้เราก็โชคดีที่พอไปถึงก็ได้เห็น เจ้าตัวเล็กรออยู่ที่ปากทางเข้าถ้ำ ช่างภาพของเราก็เก็บภาพสวยๆ มาฝากเยอะพอดู ด้านในเราเจออีก 2 ตัว ที่ตัวโตกว่า ขนาดประมาณ 20-25 ซม.

กิ้งก่าภูวัว Ptyctolaemus phuwuanensis  เป็นกิ้งก่าชนิดใหม่ที่เพิ่งค้นพบทางวิทยาศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2535 โดยคณะสำรวจจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (อ.จารุจินต์ นภีตะภัฎ ผู้ค้นพบ) จัดเป็นกิ้งก่าพันธุ์ใหม่ที่อาศัยเฉพาะในป่าเทือกเขาภูวัวเท่านั้น ไม่เคยปรากฎพบในที่ใดในประเทศไทย หรือในโลก และเป็น "หนึ่งเดียวในโลก"

กิ้งก่าภูวัว จะอาศัยอยู่ตามก้อนหินทราย และหน้าผาหินทรายเป็นกลุ่มๆ ละประมาณ 3 - 5 ตัว วิ่งไปมาอย่างรวดเร็ว มีนิ้วยาวเรียว และแหลม ทำให้เกาะ และไต่ไปมาตามผิวหินทรายได้ดี ลำตัวเรียว และมีหางยาวมาก สีลำตัวเป็นสีน้ำตาลเลอะ ซึ่งพรางตัวเข้ากับหินทรายได้เป็นอย่างดี หาแมลง และสัตว์เล็กๆ ที่ไต่อยู่ตามก้อนหินทรายกินเป็นอาหาร ลักษณะที่แตกต่างจากกิ้งก่าธรรมดา คือ ไข่บนผนังถ้ำ กิ้งก่าธรรมดาจะไข่บนดิน กิ้งก่าภูวัวเมื่อหางขาดหรือหลุดไปจะงอกขึ้นใหม่ได้คล้ายจิ้งจกหรือตุ๊กแก (ข้อมูลจาก ป้ายหน้าเส้นทางศึกษาธรรมชาติจุดที่ 1)

ตอนนี้กิ้งก่าภูวัวเปลี่ยนชื่อเป็น Mantheyus phuwuaensis เนื่องจากเป็นกิ้งก่าที่มี femoral pores ซึ่งต่างจากสกุล Plyctolaemus และเป็นกิ้งก่าที่มีวิวัฒนาการไปทางกิ้งก่าบินด้วย (ข้อมูลจากพี่น๊อต)

ออกมาจากถ้ำเล็กที่เป็นถิ่นอาศัยของกิ้งก่าแล้ว พี่นิรันดร์ก็แนะนำ สมุนไพร สามสิบสองประดงหรือสิรินธรวัลลี ซึ่งเป็นสมุนไพรที่พบครั้งแรกที่นี่ เป็นพืชเครือ ชาวบ้านจะใช้ทั้งเครือตากแห้งแล้วนำมาต้มรักษาโรคสะเก็ดเงินครั้งนี้เราจึงโชคดีที่ได้เจอทั้งสัตว์กิ้งก่า และสมุนไพรที่หายาก แบบนี้ และมีเฉพาะที่ภูวัวเท่านั้น

เราพักทานอาหารกลางวันประมาณ 11.30 น. อากาศเริ่มร้อนจัด พักสักหน่อย เราก็ไปต่อกันที่เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ที่เชื่อมต่อจากที่ทำการเขต ไปยังน้ำตกอีก 4 แห่ง ถึงแม้น้ำในลำธารที่นี่เริมแห้งหมดแล้ว แต่เราก็ยังดีใจที่อย่างน้อย เราก็ได้เห็นผีเสื้อสีสวยๆ จำนวนมาก และกิ้งก่าที่เราไม่ทราบชนิดอีกตัว สีสวยเหมือนกันค่ะ

แล้วเราก็ตกลงกันว่าวันนี้เราคงพอแค่นี้ก่อนสำหรับที่นี่ แต่เราคงต้องกลับมาเก็บภาพสวยๆ ที่นี่ใหม่ให้ได้ในช่วงฤดูฝนที่จะถึงนี้ ออกเดินทางจากที่นี่ก็ประมาณบ่ายโมงกว่าๆ ระหว่างทางที่กลับก็แวะเข้าไปที่น้ำตกถ้าฝุ่น ระยะทางประมาณ 3.5 กิโลเมตร แต่น้ำแห้งหมดแล้วจึงไม่ได้เก็บภาพมาฝาก

จากน้ำตกถ้ำฝุ่น เราจึงตัดสินใจเดินทางกลับถึงแม้ว่ายังมีน้ำตกเจ็ดสี น้ำตกชะแนน และน้ำตกถ้ำพระรออยู่ เพราะว่าอากาศร้อน และคาดว่าน้ำตกอื่นๆ ก็คงแห้ง เหมือนกัน เอาไว้มาคราวหน้าแล้วกัน จะเห็นว่าภูวัวจะมีน้ำตกล้อมรอบหลายแห่ง เหมาะสำหรับคนที่ชอบเที่ยวน้ำตกเป็นพิเศษ(เราจึงต้องขอบอกว่าฤดูฝนนี้มาให้ได้นะคะ อย่าพลาดเชียว)

ขากลับมีอีกที่ ที่เราแวะ คือวัดอาฮงศิลาวาส ตั้งอยู่ในเขตอำเภอบึงกาฬ อยู่ระหว่างทางที่จะเดินทางกลับนั่นเอง ฟังจากชื่อวัด วัดนี้ทีก้อนหินมากมาย มีทั้งขนาดเล็ก ใหญ่ และใหญ่มาก หินเป็นหินทรายชนิดคล้ายกับที่เจอในเขตอาศัยของกิ้งก่าภูวัว วัดนี้อยู่ริมแม่น้ำโขง น้ำบริเวณท่าน้ำของวัดนี้น้ำจะเชี่ยว และลึกมาก จึงได้ชื่อว่าสะดือแม่น้ำโขง และยังเป็นจุดที่พบบั้งไฟพญานาคครั้งแรกด้วยที่นี่เรายังได้เก็บภาพต้นไม้ขนาดใหญ่ ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าเป็นต้นอะไร ขนาดใหญ่ และสูงมาก ขึ้นอยู่ทั่วไปบริเวณริมแม่น้ำโขง มีกุฏิของพระปลูกอยู่เรียงราย อากาศที่นี่เย็นสบาย ทำให้เรารู้สึกดีขึ้นหลังจากต้องเจออากาศที่ร้อนจัดมาเกือบครึ่งค่อนวัน

บ่ายสองโมงเราออกจากวัด เดินทางกลับถึงแม้จะเหนื่อย แต่ก็พอใจมาก ที่เราได้ภาพสวยๆ ที่เราต้องการ ระหว่างทางไม่ลืมแวะซื้อของฝากที่บ้านด้วย ส่วนใหญ่จะเป็น ผลไม้ เช่น สับปะรด กล้วยหอม ส้ม ที่มีวางขายสองข้างทาง วันนี้ทั้งเหนื่อย และเพลีย เพราะต้องตื่นเช้า แต่ก็ดีใจที่ได้มาเที่ยว และได้เก็บภาพสวยๆ มาฝากทุกคน ถ้ามีโอกาสคราวหน้า ผู้เขียนคงต้องขอติดสอยห้อยตามช่างภาพของเรามาอีกแน่ (ถึงแม้ตอนแรกจะกลัวๆ เหมือนกันว่าจะไปไหวหรือเปล่า)

                 

www.siamensis.org - Thailand Fish & Nature Explorer
An independent non-profit group
Established 2001
 All Rights Reserved 2001-2010 ©siamensis.org