ตะขาบเป็นสัตว์ที่หลายๆ คนกลัว แต่หลายๆคนก็หลงใหลในความสวยงามของสีสันและความลี้ลับของมัน แต่จะมีสักกี่คนที่รู้จักมัน วันนี้เรามาลองทำความรู้จักกับตะขาบกันเถอ
siamensis.org เป็นสังคมเครื่อข่ายความร่วมมือเกี่ยวกับการให้ข้อมูลทางด้านสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย
Independence Non-Profit Organization Since 1999
ร่วมพัฒนาเว็บไซต์โดย โอเพ่นดรีม
Comments
ความเห็นที่ 1
ตะขาบ (Centipede) จัดอยู่ในไฟลั่มอาร์โธพอด หรือสัตว์ขาข้อ อยู่ในชั้น Chilopoda เป็นสัตว์บกพบว่ามีถิ่นอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่หลากหลายทั้งในเขตป่าร้อนชื้น, ทะเลทราย จนถึงเขตขั้วโลก
Centipede มาจากภาษาละตินคำว่า Centi ที่แปลว่า 100 กับคำว่า pes, pedis ที่แปลว่า เท้า เมื่อรวมกันจึงหมายถึง “100 เท้า”หรือเรียกให้สุภาพไปอีก คือ “100 บาทา”นั่นเอง
ความเห็นที่ 2
ลักษณะโดยทั่วไป
ตะขาบเป็นสัตว์ที่มีลำตัวเป็นปล้องๆ แต่ละปล้องมีขา 1 คู่ จำนวนปล้องมีตั้งแต่ 15-150 ปล้อง จำนวนขาจึงมีถึง 30-300 ขา ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า Centipede จำนวนคู่ของขาตะขาบจะเป็นจำนวนคี่ เป็นส่วนสำคัญที่ใช้ในการจำแนกชนิดของตะขาบ ตะขาบมีส่วนหัวที่กลมและแบน มีหนวด 1 คู่ทำหน้าที่เป็นเหมือนเสาอากาศตรวจจับความเคลื่อนไหวและแรงสั่นสะเทือน ตะขาบมีการมองเห็นที่ไม่ดีนักบางชนิดมองไม่เห็นเลย มีขากรรไกรล่าง 1 คู่ และมีส่วนขากรรไกรบนหรือเขี้ยว 1 คู่ยื่นพ้นปากออกมา เขี้ยวพิษเชื่อมต่อกับต่อมพิษ เมื่อกัดเหยื่อจะปล่อยพิษออกมา ทำให้เหยื่อเจ็บปวด เป็นอัมพาตหรือตายได้ ต่อจากส่วนหัวเป็นส่วนปล้องของลำตัว 15 ปล้องหรือมากกว่านั้น แต่ละปล้องมีขา 1 คู่ 2ปล้องสุดท้ายจะมีขนาดเล็กและมีขาที่เล็กด้วย ถึงแม้มันจะมีขาเยอะแต่การเคลื่อนที่ของขาก็สัมพันธ์กัน ทำให้ตะขาบมีการเคลื่อนที่และเปลี่ยนทิศทางได้รวดเร็วมาก ด้านข้างของลำตัวในแต่ละปล้องจะมีรูเปิดใช้ในการตรวจจับความสั่นสะเทือนและตรวจจับความเคลื่อนไหวรอบๆตัว ปล้องสุดท้ายประกอบด้วยหางซึ่งเปลี่ยนรูปมาจากขาคู่สุดท้าย บางครั้งก็เรียกว่า “ขาคู่สุดท้าย”ยื่นออกไปทางด้านหลัง ในตะขาบบางชนิดจะมีส่วนของอวัยวะตรวจจับความสั่นสะเทือนอยู่ด้วย ปล้องสุดท้ายนี้ยังมีส่วนของอวัยวะเพศของตะขาบอยู่ด้วย
ความเห็นที่ 3
โดยปกติตะขาบจะมีสีออกน้ำตาลแดง แต่ตะขาบบางชนิดก็มีสีสันที่สดใส สวยงามแตกต่างกันออกไป เช่นตะขาบในเขตร้อนชื้น วงศ์ Scolopendromorpha ตะขาบมีหลากหลายขนาดตั้งแต่ขนาดเล็กเพียงไม่กี่มิลลิเมตร อย่างตะขาบวงศ์ Lithobiomorpha และ วงศ์ Geophilomorpha จนถึงขนาดใหญ่ในตะขาบวงศ์ Scolopendromorpha อันได้แก่ตะขาบชนิด Scolopendra giganteaหรือที่รู้จักในนามของ “ตะขาบยักษ์อเมซอน”ที่มีสถิติใหญ่ที่สุดยาวถึง 30 เซนติเมตร
ความเห็นที่ 4
ตะขาบเป็นนักล่าที่ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่บนบก เป็นสัตว์กินเนื้อ มีส่วนช่วยควบคุมระบบนิเวศในถิ่นที่มันอาศัยอยู่ ในเวลากลางวันตะขาบจะซ่อนตัวอยู่ในที่ชื้นเย็น ใต้ก้อนหิน ในดิน ใต้กองใบไม้ หรือตามท่อนไม้ผุๆ เนื่องจากตะขาบไม่มีผิวหนังอย่างแมลงจึงทำให้มันสูญเสียน้ำได้ง่าย เมื่อถึงเวลากลางคืน ตะขาบจะออกล่าเหยื่อ อาหารของตะขาบได้แก่ จิ้งจก, ตุ๊กแก, กบ, นก, หนู, แมลง, แมงมุม หรือแม้กระทั่งค้างคาว โดยสามารถดักจับค้างคาวที่บินอยู่กลางอากาศได้ เมื่อเจอเหยื่อตะขาบจะเข้าจู่โจมโดยการเข้ากอดรัดเหยื่อและใช้เขี้ยวพิษกัดเหยื่อเพื่อให้เหยื่ออ่อนแรงหรือเป็นอัมพาตแล้วจึงค่อยจัดการกินเหยื่ออย่างช้าๆ
ทั่วโลกมีตะขาบอยู่ถึง 8,000 ชนิด ในปัจจุบันที่มีการสำรวจและบันทึกไว้อย่างเป็นทางการมีประมาณ 3,000 ชนิด พบว่ามีถิ่นอาศัยกระจายอยู่ทั่วไปในเขตร้อนชื้น, ทะเลทราย และยังพบในเขตขั้วโลกด้วย
ความเห็นที่ 5
วงจรชีวิตของตะขาบ
ตะขาบเมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ ตัวผู้จะเข้ากอดรัดตัวเมีย เมื่อได้จังหวะก็จะฉีดน้ำเชื้อเข้าไปในอวัยวะเพศของตัวเมียซึ่งอยู่ในปล้องสุดท้ายของลำตัว เสร็จแล้วตัวผู้จะรีบหนีโดยเร็วทิ้งให้ตัวเมียอยู่เพียงลำพัง เมื่อพร้อมที่จะวางไข่ตัวเมียจะหาที่มิดชิดและปลอดภัยวางไข่ในช่วงฤดูใบไม้ผลิหรือฤดูร้อน ในช่งเวลานั้นเรามักจะไม่ค่อยพบเห็นตะขาบ
ตะขาบวงศ์ Lithobiomorpha และวงศ์ Scutigeromorpha จะวางไข่ในหลุมดิน เมื่อวางไข่เสร็จตัวเมียจะกลบหลุมแล้วจากไป วางไข่ครั้งละประมาณ 10-15 ฟอง ระยะเวลาในการออกจากไข่ของตัวอ่อนขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมโดยปกติจะใช้เวลา 2-3 เดือนหรืออาจนานกว่านั้น ใช้เวลา 3 ปีจึงโตเต็มวัย
ตะขาบวงศ์ Geophilomorpha และ Scolopendromorpha ได้ชื่อว่าเป็นคุณแม่ที่รักลูกมาก เมื่อถึงช่วงวางไข่ตัวเมียจะหาที่มิดชิดและปลอดภัยในการวางไข่ จะวางไข่ในหลุมดินหรือในโพรงไม้ผุๆ วางไข่ครั้งละ 15-60 ฟอง เมื่อวางไข่แล้วตัวเมียจะคอยกอดไข่ไว้เพื่อให้ความอบอุ่น ในช่วงนี้แม่ตะขาบจะไม่สะดวกในการเคลื่อนไหว เมื่อไข่ฟักเป็นตัวตัวเมียก็จะคอยกอดลูกอ่อนทั้งหมดเอาไว้จนกว่าลูกจะพร้อมออกเผชิญโลกกว้างเอง แต่ถ้าในระหว่างที่ดูแลไข่หรือลูกอ่อนอยู่แม่ตะขาบถูกรบกวนหรือถูกจู่โจมมันก็จะทิ้งไข่หรือตัวอ่อนทันที หรือบางครั้งแม่ตะขาบก็จะกินไข่หรือลูกของมันเอง
ตะขาบใช้เวลาในการเจริญเติบโตนาน ลอกคราบ 8-10 ครั้ง ตัวเต็มวัยมีอายุ 3-5 ปี เมื่อลอกคราบแต่ละครั้งจำนวนปล้องและจำนวนขาก็จะเพิ่มขึ้น ขาส่วนที่เสียหายหรือขาดไปก็จะงอกขึ้นมาใหม่ ตะขาบชนิด Scutigera coleoptrata หรือที่เราเรียกว่าตะขาบขายาวเมื่อออกจากไข่จะมีขาเพียง 4 คู่ เมื่อลอกคราบครั้งแรกขาจะเพิ่มเป็น 5 คู่ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 7, 9, 11, 15, 15, 15 และ 15 คู่ ก็พร้อมที่จะผสมพันธุ์
ความเห็นที่ 6
พิษของตะขาบกับคน
โดยปกติตะขาบจะหนีคนมากกว่า จะกัดคนก็เพราะตกใจหรือป้องกันตัว เมื่อถูกกัดจะพบรอยเขี้ยว 2 รอย ลักษณะเป็นจุดเลือดออกตรงบริเวณที่ถูกกัด พิษของตะขาบทำให้มีการอักเสบ ปวดบวม แดงร้อน ชา เกิดอัมพาตตรงบริเวณที่ถูกกัด อาจเป็นแผลไหม้อยู่ 2-3 วัน
ความเห็นที่ 7
อันดับและวงศ์ของตะขาบ
ตะขาบแบ่งออกเป็น 5 วงศ์ ได้แก่
ความเห็นที่ 8
Scutigeromorpha หรือ กลุ่มของตะขาบขายาว แยกออกเป็น 3 วงศ์ คือ Pselliodidae, Scutigeridae, Scutigerinidae เป็นตะขาบที่มีขา 15 คู่ เป็นสัตว์ที่ว่องไวมาก สามารถเคลื่อนที่ได้เร็วถึง 15 ช่วงตัวต่อวินาที มีตาแบบตาประกอบเหมือนแมลง ทำให้มีการมองเห็นเหมือนแมลง มีขายาว
ความเห็นที่ 9
Lithobiomorpha แยกออกเป็น 2 วงศ์ คือ Henicopidae และ Litobiidae เป็นตะขาบที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะของตะขาบทั่วไปอย่างเด่นชัด มีลำตัว 15 ปล้อง ไม่มีตาประกอบ แต่มีกลุ่มตาบบเซลรับแสงเข้ามาแทน มีรูเปิดอยู่ที่ด้านข้างลำตัวทุกปล้องทั้ง 2 ข้างทำหน้าที่รับแรงสั่นสะเทือน
ความเห็นที่ 10
Craterostigmomorpha เป็นตะขาบกลุ่มที่แตกแขนงออกไปน้อยที่สุด มีเพียง 2 ชนิดเท่านั้น เนื่องจากจะพบตะขาบทั้ง 2 ชนิดนี้ได้ในสภาพแวดล้องในแทสมาเนียและนิวซีแลนด์เท่านั้น เมื่อลอกคราบครั้งแรกแล้วจะมีจำนวนปล้อง 12-15 ปล้อง แล้วจะคงอยู่อย่างนั้นตลอดไม่มีการเปลี่ยนแปลงอีก
ความเห็นที่ 11
Scolopendromorpha แยกออกเป็น 3 วงศ์ คือ Cryptopidae, Scolpopendridae และ Scoloporyptopidae เป็นกลุ่มที่มีจำนวนปล้องของลำตัว 21 ปล้องขึ้นไปมีขา 1 คู่ทุกปล้อง มีส่วนของอวัยวะตรวจจับแรงสั่นสะเทือนทุกปล้อง มีตาแบบเซลรับแสงข้างละ 4 ดวง
ความเห็นที่ 12
Geophilomotpha เป็นตะขาบกลุ่มใหญ่ที่สุด และมีขามากที่สุดคือ 27 คู่หรือมากกว่านั้น ตะขาบกลุ่มนี้จะตาบอด แต่จะมีรูเปิดซึ่งเป็นอวัยวะรับความสั่นสะเทือนอยู่ทุกปล้องของลำตัว มีลักษณะพิเศษต่างจากตะขาบในอันดับอื่นๆ ที่จะมีการเพิ่มปล้องลำตัวเป็นจำนวนคู่ ตะขาบในอันดับนี้มีถึง 1,260 ชนิด ตะขาบชนิดที่ใหญ่และมีขาเยอะที่สุดก็อยู่ในกลุ่มนี้ มีขามากถึง 29 คู่
ความเห็นที่ 12.1
กำลังสงสัย ที่บอกว่าขามากที่สุก 29 คู่ นับคู่ไหนบ้างขอรับ เพราะจากรูปก็คงไม่ใช่ชนิดที่กล่าวถึงว่าขามากที่สุด แต่นับยังไงๆ ก็เกิน 29 คู่น่ะ หรือผมเข้าใจอะไรผิดไปเอ่ย
ความเห็นที่ 12.1.1
นับตามปล้องเลยครับอาจารย์ ผมแปลผิดเอง จริงๆแล้ว 29 คู่ขึ้นไปครับ
ความเห็นที่ 13
ภาพตะขาบ วงศ์ Scutigeromorpha, Lithobiomorpha, Craterostigmomorpha, Geophilomotpha จาก http://www.scolopendra.be/classification.php
ภาพตะขาบ ชนิด Scolopendra morsitans จาก http://australianmuseum.net.au/image/Scolopendrid-Centipede-Genus
ข้อมูลบทความจาก http://en.wikipedia.org/wiki/Centipede และ www.oknation.net
ความเห็นที่ 14
เจ้า Geophilomotpha นี่บ้านเรามีไหมครับ ไม่เคยเห็นเลย
(แก้ไขตัวหนาไม่ได้???)
ความเห็นที่ 14.1
น่าจะไม่มีนะครับ แต่ก็ไม่แน่เพราะในบ้านเราคนที่ทำเรื่องเจ้าพวกนี้ยังไม่มีเลยครับ เพราะบางตัวที่ผมเจอถ่ายรูปไปให้เมืองนอกดูเค้ายังว่าพบแต่ในบ้านเค้าแต่ทำไมมีในบ้าเรา ซึ่งจริงๆ แล้วมันอาจมีอยู่แล้วแต่ยังไม่มีใครสำรวจก็เป็นได้
ความเห็นที่ 15
ไม่เคยรู้เรื่องตะขาบมาก่อนเลย ได้ความรู้มากมายครับ น่านำไปขึ้นในบทความน่าอ่านครับ ไม่รู้ช่วงนี้ส่งขึ้นได้ยัง?
ความเห็นที่ 15.1
ตั้งใจเขียนเป็นบทความแต่ไม่รู้โพสยังไงเลยเอามาลงแบบนี้ เผื่อให้เว็บมาสเตอร์เอาไปทำให้ครับ
ความเห็นที่ 16
ได้ความรู้เพิ่มอีกแล้ว ขอบคุณครับ
ความเห็นที่ 17
ขอบคุณครับสำหรับบทความที่นำความรู้ใหม่ๆ มาให้
ความเห็นที่ 18
ฮะโห้ยยยย เปิดมาวันจันทร์บอร์ดก็มีการอัฟเดท แล้วก็มีบทความแจ่มๆ อีก
เก็บไว้ก่อนนะครับ ระบบ Blog การเขียนบทความน่าจะตามมาเร็วๆ นี้หลังจากบอร์ดสมบูรณ์แล้ว คุณตะขาบยักษ์คงได้ลงมือทำบทความลงอีกหน
แหล่มๆๆๆ
ความเห็นที่ 18.1
ข้อมูลยังเก็บไว้อยู่ครับ ตอนแรกว่าจะรอเว็บเรียบร้อยก่อนแล้วค่อยลง แต่พอดีเครื่องที่ทำงานมีปัญหาเลยเอามาลงซะก่อน ตอนนี้ถ่ายข้อมูลเก็บไว้เรียบร้อยแล้ว พร้อมลงใหม่ครับ
ความเห็นที่ 19
สักอาทิตย์หน้าเห็นว่าจะไปเยื่อน หนองบัวลำภู พี่โตเตรียมหมายให้ลุยด้วยนะขอรับ
ความเห็นที่ 19.1
จะมาเมื่อไหร่บอกล่วงหน้านะครับ จะได้เตรียมตัวลางานพาไปลุย
ความเห็นที่ 20
ได้ความรู้เพียบ แต่ก็ยังกลัวอยู่ดี เคยโนกัดแล้วเข็ด
ความเห็นที่ 21
รู้จักตะขาบมากขึ้น เพราะส่วนมากจะจับตายเสียส่วนใหญ่ ผมเองก็เคยโดยกัดที่มือ
แต่คนแถวบ้านผมนะ โดนมัน เข้าไปกัดตอนนอนในกางเกงเลย ใหญ่ไปหลายวัน
ความเห็นที่ 21.1
มันคงตกใจอ่ะครับเลยกัดนึกว่าเป็นศัตรู ผมเองก็เคยโดนมันเข้าไปทางขากางเกงแล้วไปกัดที่ก้นเพราะไปนั่งทับมัน พอรู้สึกตัวว่าโดนกัดก็ลุกขึ้นแล้วสะบัดกางเกงมันก็วิ่งออกมาตัวขนาดกว้างยาวเท่าปากกาลูกลื่น ยังนึกว่าโชคดีที่มันกัดก้นไม่งั้น หึหึหึ
ความเห็นที่ 22
ความรู้เพียบ ขอบคุณครับ
ความเห็นที่ 23
ขอบพระคุณอย่างสูงครับ ถ้าไม่รบกวนจนเกินไป ขอเอกสารจำแนกชนิดหรือเป็น Pictorial Key ที่ใช้ในการจำแนกชนิดตะขาบในเมืองไทยด้วยครับ ส่งไฟล์มาที่ samung-k@hotmail.com ก็ได้ครับ ขอบพระคุณครับ
ความเห็นที่ 23.1
ส่วนใหญ่ใช้เปิดเว็บคีย์ของเมืองนอกครับ ลองดูเว็บนี้เลยครับ http://www.scolopendra.be/identification.php#keyA36
ความเห็นที่ 24
เยี่ยมมากเลยครับ ชอบๆ ครับ ^^
ความเห็นที่ 25
เนื้อหาดีครับ รูปสวยดี เท่าที่ผมเคยไปเก็บตัวอย่างมา บ้านเรามีตะขาบเกือบทุก family ยกเว้น Craterostigmomorpha แต่พวกวงค์ Geophilomorpha ตัวเค้าค่อนข้างเล็กและ (มัก)อาศัยอยู่ในดินรวมกับพวก soil fauna อื่นๆ (อาจ) ทำให้พบเห็นยาก
เป็นกำลังใจให้ตะขาบยักษ์ออกงานดีๆ อย่างนี้ให้ได้อ่านกันอีก จะติดตามครับ
ความเห็นที่ 25.1
แสดงว่าผมเข้าใจถูกว่าเจ้าพวก Geophilomorpha บ้านเรามีเพราเคยเห็นอยู่ในดินบางครั้งตามกระถางต้นไม้ ตัวฝอยๆ ยาวๆ แต่ตอนแรกคิดว่าเป็นพวกตัวอ่อน แต่ก็สงสัยอยู่ว่าตัวมันยาวมาก ขอบคุณครับสำหรับกำลังใจ จะหาข้อมูลมาอัพเดตเรื่อยๆครับ
ความเห็นที่ 26
ขอบคุณมากครับพี่ ที่ทำให้ผมรู้จักเจ้าตัวน้อยนี่เพิ่มขึ้น
ความเห็นที่ 27
เซทรูปตะขาบฟักไข่นี่ ต้นฉบับมาจากเบอร์ดเรานี่นา คนถ่ายคงจะหน้าตาดีเป็นแน่แท้
ความเห็นที่ 28
โอวงานนี้มันส์แน่ครับ
คู่ขาพี่เลิศชายเลยนะเนี่ย
ความเห็นที่ 29
เปิดมาดูก็ขนลุกทันทีเลยคะ
แต่ว่าพออ่านเนื้อหาก็ได้ความรู้ดีคะ
ไว้ตั้งสติอ่านให้ดีๆกว่านี้ก่อนคะ อิ อิ
ตอนนี้ฝนตก หลังบ้านแถวกองไม้ เจอตะขาบด้วยคะ เลยเตือนให้เด็กระวังกัน
ขอบคุณค่าสำหรับความรู้ และเรื่องตลก อิ อิ
ความเห็นที่ 30
อีกสักพักเว็บจะเปิดให้สมาชิกสามารถ upload ตัวบทความขึ้นเว็บเองได้ ถึงตอนนั้นรบกวนนำบทความนี้ขึ้นในส่วนของ Article ด้วยนะครับ ฝากเน้นเรื่องลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่นด้วยนะครับ ถ้าเป็นไปได้ใช้รูปของพวกเรากันเองจะดีที่สุดครับ หรือถ้าจำเป็นต้องดึงรูปมาจากเมืองนอกจริงๆ ก็อ้างอิงอย่างที่ได้ทำไว้แล้วจะเป็นพระคุณอย่างสูงครับ
ความเห็นที่ 31
ปีที่แล้ว(2009) มีคนสวีเดน 4คนไปเมืองไทยหา Myriapoda. ผมอยากเชิญคุณดูรูปสวยของ Myriapodaที่เขาเจิอที่เมืองไทย ที่เว็ปไวต์นี้:
http://forum.diplopoda.de/wbb/board23-international-contact-point/board24-the-english-corner/3751-expedition-thailand-2009/
ความเห็นที่ 32
http://imageshack.us/photo/my-images/405/img20120123093350.jpg/