ขอความรู้เรื่อง"น้ำเบียด"ค่ะ

พอดีได้รับมอบหมายให้หาข้อมูลสาเหตุตามที่มีข่าวว่ามีปลาทะเลลอยตายเกลื่อนชายหาดที่เรียกว่าปรากฏการณ์"น้ำเบียด"ค่ะ เลยอยากขอความรู้จากท่านพี่ๆเรื่องปรากฏการณ์"ดังกล่าวค่ะว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ถ้าจะอธิบายตามหลักวิทยาศาสตร์แบบง่ายๆจะอธิบายได้ว่าอย่างไรคะ ขอบคุณค่ะ http://www.pantip.com/cafe/news/topic/NE11199721/NE11199721.html 

Comments

ความเห็นที่ 1

ความเห็นที่ 1.1

"เพราะด้วยเหตุน้ำจืดปะทะน้ำเค็มอย่างเฉียบพลัน แพลงตอนบางชนิดที่มีสีเขียวเจริญเติบโตได้มากว่าสี ซึ่งการหนีตายของปลาจะหนีกันเป็นกลุ่มก้อน "

ไม่เข้าใจ สงสัยอะไรหายไป อธิบายทีท่าน

ความเห็นที่ 1.2

ขอบคุณจ้าน้องa_a

ความเห็นที่ 2

ขอเสริมนิดนะครับ เมื่อเกิดน้ำเบียด สัตว์พวกแรกที่จะตายก่อนคือพวกหอยครับ เมื่อวานที่ชลบุรีนี้หอยแมลงภู่ตัวไม่ได้ขนาด กิโลละ 60 ส่วนหอยแคลงกับหอยลายไม่มีขาย ถ้าเป็นช่วงปกติ กิโลละไม่เกิน 30 ถัดมาจะเป็นปลาหน้าดินน้ำตื้นที่จะเป็นรายต่อไปอย่างดุกทะเล เห็ดโคลน ครับ ส่วนปลาผิวน้ำถ้าไม่จวนตัวจริงๆจะตายน้อยที่สุด น้ำจืดเมื่อไหลลงทะเลจะลอยอยู่ผิวหน้าอยู่พักหนึ่งก่อนจะผสมรวมกับน้ำทะเล เมื่อปลาหายใจเอาน้ำจืดเข้าไปจะน๊อคครับ น้ำเบียดจะเกิดขึ้นไม่นาน พอน้ำทะเลกับน้ำจืดผสมกันได้สักพัก จะเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติประมาณไม่เกินสองวัน อันนี้ไม่ใช่วิชาการ แต่เป็นประสบการณ์ล้วนๆครับ ปล.แล้วแต่พื้นที่นะครับที่บอกหมายถึงชลบุรีครับ

ความเห็นที่ 2.1

ขอบคุณค่ะคุณตุ้ม

ความเห็นที่ 3

ลองดูในภาพนะครับ ช่วงที่เิกิดปรากฏการณ์น้ำจืดไหลลงทะเล มันก็จะเป็นแบบภาพที่แนบมาคือ มวลน้ำจืดซึ่งมีน้ำหนักเบาจะลอยอยู่ที่หน้าผิวน้ำและมวลน้ำเค็มที่มีความเข้มข้นและน้ำหนักมากกว่าจะอยู่ด้านล่าง จากภาพจะเห็นว่าการแบ่งชั้นนั้นมันจะทำให้มวลน้ำเค็มไม่ได้สัมผัสกับอากาศ ปกติถ้ามวลน้ำจืดไม่มากประกอบกับการลมและคลื่นที่แรง จะทำให้ชั้นน้ำทั้งสองผสมกันไปในที่สุด

ถ้าหากเกิดในสภาพที่มีน้ำมวลน้ำจืดปริมาณมาก นั่นคือชั้นน้ำจืดจะหนามาก ซึ่งหากเกิดในวันที่ลมสงบ คลื่นไม่แรง การผสมของชั้นน้ำทั้งสองจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยทั่วไปแล้วชั้นน้ำจืดที่หลากมาในช่วงฤดูฝน มักจะดินตะกอนละลายอยู่เป็นจำนวนมากซึ่งเราจะเห็นมันเป็นสีออกแดงอิฐ ตะกอนนี้จะเป็นตัวไปบดบังแสงทำให้แสงส่องลงไปถึงชั้นน้ำเค็มได้น้อยลง หรือไม่ถึงเลย ดังนั้นที่พื้นท้องทะเลของชั้นน้ำเค็มก็จะมืดมิด

ในสภาพปกติชั้นของน้ำเค็มจะเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ สัตว์น้ำจำพวกต่าง ๆ กุ้งหอย ปู และปลาเป็นต้น รวมไปถึงแบคทีเรียชนิดต่าง ๆ จากภาพที่เราเห็นในลิงค์ สัตว์น้ำที่ตายส่วนมากจะเป็นสัตว์ที่อยู่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นท้องน้ำมากกว่า สัตว์ที่อยู่ผิวหน้าน้ำ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

ทั่วไปแล้วในแหล่งน้ำทุกชนิด ช่วงกลางวันซึ่งเป็นช่วงที่มีแสงแดด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการสังเคราะห์แสงของแพลงก์ตอนพืช โดยการสังเคราะห์แสงนี้จะเป็นการเปลี่ยนคาร์บอนได้ออกไซด์ที่อยู่ในน้ำให้เป็นน้ำตาล และได้ออกซิเจนเป็นผลพลอยได้ออกมาซึ่งคล้ายกันกับหน้าที่ของพืชบนบก ในขณะที่เวลากลางคืนที่ไม่มีแสดง กระบวนการสังเกคราะห์แสงจะหยัด ไม่มีการผลิตออกซิเจน แต่แพลงก์ตอนพืชและสัตว์น้ำต่าง ๆยังคงต้องใช้ออกซิเจนเพื่อการหายใน โดยปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา และระดับคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นนี้จะถูกกำจัดออกไปด้วยกระบวนการสังเคราะห์แสงที่เกิดขึ้นในวันถัดไป ออกซิเจนในน้ำยังได้มาเรื่อยๆ จากการละลายจากผิวหน้าที่มีคลื่นและลมช่วยทำให้มันผสมลงมายังมวลน้ำชั้นล่าง

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า การผสมกันชั้นน้ำทั้งสองในช่วงที่มีน้ำหลากมากจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป (การแบ่งชั้นจึงคงระยะเวลาอยู่ยาวนาน) ประกอบกับตะกอนที่ละลายอยู่ในชั้นน้ำจืดมีส่วนบดบังแสงไม่ให้ส่องลงไปในชั้นน้ำเค็มได้ไม่มาก ทำให้ชั้นน้ำเค็มเกิดสภาพที่เป็นเวลากลางคืนอย่างยาวนาน ซึ่งในที่สุดแล้วออกซิเจนจะค่อยๆ ด้วยกระบวนการหายใจของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในขณะที่คาร์บอนได้ออกไซด์เกิดสะสมมากขึ้น การแบ่งชั้นทำให้ผิวหน้าของน้ำเค็มไม่ถูกกับอากาศโดยตรง การแพร่ของออกซิเจนจากผิวหน้าน้ำจึงมีปริมาณไม่มากตามไปด้วย ในที่สุดแล้ว บริเวณพื้นท้องน้ำจะมีออกซิเจนลดต่ำลงจนเกินกว่าที่พวกสัตว์น้ำจะมีชีวิตอยู่ได้ สัตว์จำเป็นต้องดิ้นรนไปหาจุดทีมีออกซิเจนมากกว่า ซึ่งโดยสัญชาตญาณแล้ว มันก็คือผิวหน้าน้ำ แต่การขึ้นสู่ผิวหน้าน้ำนั้น มีอันตรายที่ปลาพวกนี่นึกไม่ถึง

ในสภาพปกติสัตว์ที่อยู่ในน้ำจืดและน้ำเค็มจะมีสิ่งที่ระบบรักษาสมดุลย์เกลือแร่ที่แตกต่างกัน เราเรียกสิ่งนี้ว่าระบบออสโมซิส ซึ่งขออธิบายง่าย ๆ โดยยกตัวอย่างปลากระดูกแข็ง ในน้ำจืดปลาจะมีความเข้มข้นของเลือดมากกว่าสิ่งแวดล้อม ตามหลักการของออสโมซิส น้ำจะซึุ่มเข้าร่างกายปลา ดังนั้นปลาจึงจำเป็นต้องกำจัดน้ำส่วนเกินออกไปพร้อมๆ กับการเก็บรักษาเกลือไว้ในร่างกายให้มากทีสุด ตรงกันข้ามกับในน้ำเค็ม ที่สภาพแวดล้อมจะมีความเข้มข้นมากกว่าของเหลวในตัวปลา ดังนั้นแทนที่จะกำจัดน้ำปลาต้องรักษาน้ำให้มากทีสุดพร้อมๆ กับการขับเกลือออกให้มากที่สุด มีปลาบางพวกกลุ่มทีี่มีความสามารถพิเศษสามารถอาศํยอยู่ได้ทั้งในสภาพน้ำจืดและน้ำเค็ม  ถึงตอนนี้คงไม่ต้องแล้วครับว่า อันตรายของกลุ่มปลาหน้าดินพบเมื่อมันว่ายขึ้นมาอยู่ในชั้นน้ำจืดคือ การที่ระบบออสโมซิสของมันทำงานไม่ได้ สงผลให้ปลาช๊อคน้ำ และว่ายน้ำไร้ทิศทางถูกจับได้ง่าย โดยทั่วไปแล้วปลาทีอยู่ผิวหน้าน้ำของน้ำเค็มมักจะเป็นปลากลุ่มพิเศษคือยู่ในสภาพที่เป็นน้ำกร่อย หรือน้ำจืดได้ จึงไม่ค่อยพบโศกนาฏกรรมหมู่ของปลากลุ่มนี้มากนัก

อย่างไรก็ตามโดยส่วนตัวไม่เชื่อนักว่า จะเกิดจากสาหร่ายสีเขียว สีแดง ดังที่กล่าวไว้ในบทความของลิงค์ที่สอง เนื่องจากการเกิดน้ำหลากมันเกิดในระยะเวลาที่ไม่น่ามากพอ (คุณตุ้มบอกว่าไม่เกินสองวัน) ประกอบกับช่วงที่เกิดมันเป็นฤดูฝนที่มักมีปริมาณแสงไม่มากนัก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ไม่มีผลต่อการกระตุ้นการเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วของสาหร่าย ยกเว้นธาตุอาหารที่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นจากตะกอนที่มากับน้ำจืด

การที่หอยตาย ผมว่าด้วยอิทธิพลของน้ำจืดมากกว่า เพราะว่าหอยเป็นสัตว์ที่เกาะติดไม่สามารถเคลื่อนที่หนีน้ำจืดได้ ในช่วงวันสองวันแรกการปิดเปลือกอาจทำให้รอดชีวิตอยู่ได้ แต่การแช่ในน้ำจืดนานๆ ระบบออสโมซิสของหอยก็เสียได้เช่นกัน

water.jpg

ความเห็นที่ 3.1

ขอบคุณมากๆค่ะ อ.สมหมาย ได้ความรู้เป็นอย่างมากเลยค่ะอาจารย์^^

ความเห็นที่ 3.2

+heart

ความเห็นที่ 4

สรุปคือ น้ำจืดที่ไหลมา (runoff) ทำการแบ่งชั้นน้ำ ทำให้ O2 ตก และความเค็มลดอย่างเร็วเป็นเหตุหลักให้ปลาตาย แต่พวกทนความเค็มช่วงกว้าง (euryhaline) ไม่ค่อยกระทบนัก ปลาดุกทะเล Plotosus canius ไม่น่าจะกลัวเพราะมันขึ้นถึงบางไทรได้ แต่ญาติมันอย่างปลาปิ่นแก้ว P. lineatus อาจตายได้ อีกสาเหตุที่น่าคิด คือบรรดาสารมลพิษและ nutrient  ที่เป็นตัวเพิ่ม COD, BOD และเกิดพิษต่อน้องปลา หอยและน้องยิ่งลักษณ์ (ปู) ได้ 
ส่วนปลาผิวน้ำหรือกลางน้ำ แม้เป็นพวกทนความเค็มช่วงแคบ stenohaline แต่มีความสามารถว่ายหนีทันจึงพบหงายท้อง น้อยกว่า

ความเห็นที่ 4.1

+heart

ความเห็นที่ 5

ส่วน Eutrophication น่าจะเป็นตอนต่อมา (aftermatch) เมื่อตะกอนจมหมดแล้ว บรรดา phytoplankton, dinoflgellate จะเริ่มเริงร่า bloom จนเกิด น้ำแดง รึ ขี้ปลาวาฬ

ความเห็นที่ 6

ลองสังเกตุดูในทุกข่าว พี่หลามกับกะเบนจะเป็นแถวหน้าสุดในการว่ายตีกรรเชียง แล้วประท้วงหยุดหายใจ เวลาเกิดเหตุวิบัติทางน้ำ ปลากลุ่มนี้จึงเป็นปรอทวัดสิ่งแวดล้อมที่ดี

ความเห็นที่ 6.1

โห ได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกแล้ว ขอบคุณมากๆค่ะอ.หมีน้ำ ^^

ความเห็นที่ 7

ขอบคุณทุกๆ ท่านเลยค่ะ ได้ข่าวรู้มาเพียบ

ความเห็นที่ 8

ความรู้เต็มๆ เลยครับ ขอบคุณครับ

ความเห็นที่ 9

yes มารับความรู้ด้วยครับ ขอบคุณทุกท่าน

ปล.อ.สมหมายนี่ขยันพิมพ์จริงๆyes