Share link น้ำท่วมในมุมมองนักประวัติศาสตร์ http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9540000140854
เขียนโดย waterpanda Authenticated user เมื่อ 7 พฤศจิกายน 2554
รศ.ศรีศักร วิพากษ์น้ำท่วม “น้ำล้างแผ่นดินได้ แต่ล้างความชั่วของคนไม่ได้”
เป็นเวลากว่า 2 เดือนแล้วที่น้ำเริ่มเข้าท่วมพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทย และไหลต่อเนื่องอย่างไม่หยุดยั้งมายังกรุงเทพมหานคร จนในขณะนี้เมืองหลวงของประเทศหรือกรุงเทพฯ เหลือพื้นที่แห้งอยู่อีกไม่มากนัก เพราะส่วนที่เหลือได้ถูกสายน้ำเข้าไปจับจองพื้นที่ไว้เป็นที่เรียบร้อย รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยา ผู้ผ่านประสบการณ์น้ำท่วมกรุงมาหลายครั้ง ตั้งแต่ปี 2485 ได้มาบอกเล่าความรู้สึก ความคิดเห็น ต่อเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ "ช่วงปี 2485 ผมอายุ 4 ขวบ ตอนนั้นผมอยู่แถวๆ บางลำพู แถวตรอกบวรรังษี น้ำท่วมจนพ่อต้องต่อเรือบดเล็กๆ ไปทำงาน กรุงเทพฯ ก็ท่วมกันหมด รู้สึกว่าคนก็สนุกกันดี ผมก็ยังเล่นน้ำสนุก สมัยนั้นคนไม่เป็นโรคกลัวน้ำ ตอนนั้นน้ำท่วมทั่วกรุงเทพฯ แต่ท่วมแบบไม่มีสิ่งกีดกั้น น้ำมาแล้วก็ไป แล้วก็เป็นน้ำสะอาด สนุกจะตายไป เพราะถิ่นฐานของกรุงเทพฯ มันอยู่กับน้ำ" |
"ในสมัยรัชกาลที่ 5 เราสร้างถนนขึ้นมาหลายสาย แต่เราก็ยังอยู่กับน้ำ กรุงเทพมีคลองสานไปสานมาตลอด มีการระบายน้ำออกระบายน้ำเข้า เมื่อน้ำมาแล้วมันก็ไป แต่ตอนนี้ที่น้ำไม่ไปเพราะบ้านเมืองเราเปลี่ยนแปลงไปเป็นสังคมอุตสาหกรรม เราทำทุกอย่างขวางทางน้ำทั้งนั้น พูดง่ายๆ ว่ารัฐบาลห่วยมาหลายรัฐบาลแล้ว เห็นพื้นที่เศรษฐกิจดีกว่าพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชน" รศ.ศรีศักร กล่าว รศ.ศรีศักร ยังกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของเมือง ที่มีผลทำให้น้ำท่วมหนักขึ้นว่า "การเปลี่ยนแปลงของเมืองมีผลมาก ต้องท้าวความไปถึงสมัยจอมพลสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นช่วงที่เปลี่ยนจากสังคมเกษตรเป็นสังคมอุตสาหกรรม ในยุคนั้นมีการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานไปยังแหล่งทรัพยากรต่างๆ โดยไม่คำนึงถึงพื้นที่เกษตรกรรม อะไรเข้าถึงทรัพยากรได้ก็ทำ อย่างพื้นที่ที่เสียหายมากๆ ที่นิคมโรจนะ ที่นั่นเป็นพื้นที่รับน้ำ เป็นท้องทุ่งของอำเภออุทัย แต่คนดันไปสร้างนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมที่นวนคร ลาดกระบัง มันเป็นพื้นที่รับน้ำทั้งนั้น ทางซีกตะวันออกของกรุงเทพฯ ก็พื้นที่รับน้ำทั้งนั้นเลย มันเอาความเป็นทุนนิยมเข้าไปใส่ ละเมิดพื้นที่ของน้ำ ก็เจอน้ำท่วมน่ะสิ" "สมัยโบราณที่เขาสร้างบ้านแปงเมือง ตั้งแต่โคราชลงมาถึงกรุงเทพมีลำน้ำลำคลองแยกแตกแขนงเป็นเหมือนซี่โครงเลย เพราะเขาจะระบายน้ำออกท้องทุ่งโดยเฉพาะทางด้านตะวันออกของกรุงเทพ คลองเชียงรากเป็นคลองแรกที่ระบายน้ำออกมา พอถึงรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงสั่งให้ขุดคลองระพีพัฒน์เชื่อมเพื่อจะเทน้ำออกทางตะวันออก อันนั้นสำคัญที่สุด และตอนที่เกิดน้ำท่วมปีนี้ เมื่อคลองเชียงรากแตก ก็กะจะผันน้ำออกคลองระพีพัฒน์ แต่มันไปไม่ได้เพราะติดพื้นที่อุตสาหกรรม ส่วนทางคลองรังสิตมาถึงคลองหก คลองพวกนี้ต้องผันน้ำออกไปทางตะวันออกทั้งนั้น แต่ก็ติดพื้นที่อุตสาหกรรมทั้งนั้นเหมือนกัน ที่จริงถ้าดูโครงสร้างสมัยรัชกาลที่ 5 คลองเหล่านี้มันต่อเชื่อมถึงคลองไชยานุชิตที่จังหวัดฉะเชิงเทรา แล้วไล่น้ำลงแถวๆ คลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ เขาทำระบบไว้หมดแล้ว แต่พอไล่น้ำไปไม่ได้เพราะติดพื้นที่อุตสาหกรรม น้ำก็เข้ามากระแทกกรุงเทพฯ กรรมเวรก็ตกมาถึงคนกรุงเทพฯ" |
เมื่อถามถึงวิธีแก้ปัญหา รศ.ศรีศักร กล่าวว่า "วิธีที่ดีที่สุด ต้องรื้อโครงสร้างใหม่หมดเลย สิ่งที่เกิดขึ้นเพราะโครงสร้างการปกครองแบบอำนาจรวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพ มันไม่กระจายไปให้ท้องถิ่นดูแล รัฐบาลฉ้อฉล อีกอย่างหนึ่งคือโครงสร้างทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นทุนนิยมเสรีหรือทุนนิยมสามานย์ เน้นทำแต่อุตสาหกรรม พอน้ำท่วมคราวนี้ทั้งโครงสร้างการปกครองและโครงสร้างเศรษฐกิจก็พังหมด แต่ที่พังกว่าคือโครงสร้างสังคม ชาวบ้านรับเละเลย ถามว่าเวลานี้บอกให้คนอพยพๆ เขาจะออกได้ยังไง เพราะเขาต้องระวังสมบัติเขา ถามว่ารัฐบาลดูแลความปลอดภัยหรือเปล่า ตำรวจหายไปไหน ถ้าเป็นสังคมแบบเมื่อก่อน เวลาน้ำท่วมท้องถิ่นจะดูแลกันเอง หัวหน้าหมู่บ้านจะประชุมลูกบ้าน จะย้ายคนไปที่ตรงไหน จะไม่มาปล้นฆ่าขโมยของกัน เวลามีใครแปลกหน้าเข้ามาในท้องถิ่นเขาจะรู้ แต่ชุมชนแบบนี้ไม่มีแล้วในกรุงเทพ" นอกจากนั้น ความวุ่นวายหลังน้ำท่วมก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่น่าวิตก "หลังน้ำท่วมจะยิ่งหนักกว่านี้ คนจนจะไม่มีที่อยู่อาศัย ที่ดินชาวบ้านก็ไม่มีเพราะนายทุนยึดหมด รัฐบาลก็มุ่งฟื้นอุตสาหกรรม ไม่เคยฟื้นชาวบ้านเลย มีแต่ประชานิยมแจกเงินให้ชาวบ้านไปขอทาน ความเสื่อมของสังคมจะตามมา เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาต้องแก้จากท้องถิ่น ไม่ว่าจะเสื้อเหลืองเสื้อแดงไม่ต้องคำนึง แต่ให้ช่วยกันรักษาแผ่นดินเกิดก่อน ทำให้เกิดความรู้สึกสำนึกว่าตรงนี้เป็นแผ่นดินเกิดของเรานะ คนไทยแม้จะหลากหลายเรื่องชาติพันธุ์ก็ตาม แต่เรามีแผ่นดินเกิดร่วมกัน อย่าไปสนใจรัฐบาลที่มันรวบอำนาจ ซื้อเสียงหาเสียง มันเป็นอสูรร้าย รัฐเป็นทรราชย์ คนในสังคมส่วนมากเป็นทรชน แต่คราวนี้ทรชนจมน้ำไปเยอะ" น้ำท่วมในครั้งนี้ได้นำพาเอาความเดือดร้อนไปทุกๆ ที่ที่เดินทางผ่าน แต่ก็ยังมีจุดดีเล็กๆ ที่ รศ.ศรีศักรกล่าวว่า ให้ถือว่าน้ำได้ชะล้างเอาความสกปรกของแผ่นดินออกไป "ข้อดีของน้ำท่วมคือมันช่วยล้างมลภาวะ สารพิษต่างๆ ล้างแผ่นดินได้สะอาดขึ้น และทำลายสังคมอุตสาหกรรมยับเยิน เมื่อเป็นอย่างนี้เราก็มาตั้งตัวเป็นสังคมเกษตรกรรมสิ เลิกอุตสาหกรรมหนักไปเลย หันมาทำสังคมเกษตรด้วยเศรษฐกิจพอเพียง บ้านเรามีความหลากหลายทางชีวภาพมาก เรายังสามารถฟื้นได้ด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นแหล่งของอาหารโลกได้ แต่ไม่ใช่ด้วยเศรษฐกิจแบบทุนนิยม" "น้ำล้างมลภาวะของบ้านเมืองได้มาก ไล่น้ำเสียออกไป แต่ที่ไล่ไม่ได้คือความชั่วของคน คนสมัยนี้ทำบาปเยอะ ไม่พึ่งศาสนา ไม่มีจริยธรรม น้ำอาจจะล้างแผ่นดินได้สะอาดขึ้น แต่ถ้าล้างความชั่วของคนไม่ได้มันก็กลับสกปรกอย่างเก่า หรืออาจจะแย่กว่าเก่าเสียอีก" รศ.ศรีศักร กล่าวปิดท้าย |
Comments
ความเห็นที่ 1
ความเห็นที่ 2
ความเห็นที่ 2.1
ความเห็นที่ 3
น้ำท่วมครั้งนี้ทำให้ผมยิ่งเชื่อไปอีกว่า การทำงานแบบทีมเวิร์คของคนไทยนั่นเป็นเรื่องยากเย็นเหลือเกิน การไม่เคารพในความคิดของผู้อื่น ชอบด่วนสรุปเพราะมีเหตุที่ทำให้เชื่อว่าโดยไม่พิจารณาหลักฐานให้ถ้วนถี่ คิดว่าตนเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล และสุดท้ายชอบพูดชอบตำหนิโดยไม่ชอบเสนอทางแก้ในมุมมองของตัวเอง สิ้งเหล่านี้ผมคิดว่าล้วนเป็นอุปสรรคใหญ่ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้
ถึงแม้ว่าเราคงไม่สามารถกลับไปขุดคลองให้มันโยงไยอย่างเช่นในสมัยโบราณได้ แต่คิดว่าด้วยเทคโนโลยีและความรู้ในปัจจุบัน จะช่วยให้เราสามารถผันน้ำจัดการน้ำให้มันไหลลงทะเลได้เร็วกว่าที่เป็นในปัจจุบัน แต่อนิจจา ผมค่อนข้างเชื่อตามการแสดงความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านการระบายน้ำของฮอลแลนด์ที่พูดในรายการข่าวสามมิติ ว่า "การจัดการเรื่องนี้ควรปลอดจากการเมืองโดยสิ้นเชิง" แต่การเมืองจะยอมให้มันเป็นอย่างนั้นหรือ
ความเห็นที่ 3.1
ความเห็นที่ 4
ความเห็นที่ 5
ความเห็นที่ 6
ความเห็นที่ 6.1
1 ต้นทุนบำรุงรักษาป่าปลูกใหม่ ประมาณ แสนกว่าๆต่อไร่/ปี ไปอีก 10 กว่าปี หรือมากกว่า จากข้อมูล FORRU
2 กว่าป่าจะทำงานให้เราได้ เร็วสุดๆ 50 ปี แต่ที่จริงต้อง 100-300 ปีจึงเป็นระบบนิเวศป่าต้นน้ำที่สมบูรณืแบบ โดยไม่ใครไปตัด หรือไฟป่าเข้า
3 ลุ่มเจ้าพระยาต้องการต่ำสุด 30% ของพื้นที่ (อ. เกษม ฯ) ใช้เท่าไหร่ ลองคำนวณดู
4 Realisticly Impossible because there are No (never have) 'Political Will' from any Thai Policy Makers!!!!!
ความเห็นที่ 7
ความเห็นที่ 8