พบแมงมุมชนิดนี้ทำรังอยู่ในอิฐบล็อกที่บริเวณบ้านที่ จ.ขอนแก่น ค่ะ ทราบมาว่าเป็นกลุ่มแมงมุมแม่ม่าย

เท่าที่หาข้อมูลในหลายๆ ที่ และจากที่นี่ พบว่าน่าจะเป็นแมงมุมแม่ม่ายแต่ไม่รู้ว่าจะใช่ Latrodectus curacaviensis หรือเปล่า จึงมาสอบถามดูค่ะ
 
ตอนที่เห็นครั้งแรกมีทั้งตัวผู้และตัวเมีย แต่ตอนหลังเหลือแต่ตัวเมียค่ะ ดูท่าทางเหมือนกับกำลังจะวางไข่ รบกวนผู้รู้อธิบายด้วยค่ะ มาอ่านข้อมูลของคุณ coneman แล้วเลยทำให้เข้าใจแมงมุมแม่ม่ายมากขึ้น มาแจ้งข้อมูลให้ทราบเผื่อมีใครสนใจค่ะ

ต้องสมัครเป็นสมาชิกก่อนถึงจะโพสต์ภาพได้รึเปล่าคะ แล้วต้องวางภาพอย่างไรรบกวนบอกด้วยค่ะ




 

Comments

ความเห็นที่ 1

หลังจากสมัครสมาชิกแล้ว สมาชิกก็สามารถลงภาพได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องไปฝากภาพที่อื่นก่อนครับ การลงภาพก็กดปุ่ม "Choose File" ในส่วนไฟล์แนบ ที่อยู่ด้านล่างของกล่องกรอกข้อความเนี่ยแหละครับ

ความเห็นที่ 2

ขอบคุณค่ะ สมัครแล้วค่ะ จะค่อยๆ โพสต์ทีละรูปนะคะ เพราะตอนนี้ใช้แอร์การ์ด อยู่ในที่สัญญาณอ่อน อาจจะช้าหน่อยค่ะ

ความเห็นที่ 3

เข้ามารอชมรูปด้วยคนนะครับ

ความเห็นที่ 4

ขอโทษด้วยค่ะที่โพสต์ภาพมาให้ชมได้ช้ามาก ต้องย่อขนาดภาพให้เล็กกว่า 80 KB ถึงจะพอโพสต์ได้

dsc_0156resize2.jpg

ความเห็นที่ 5

อันนี้น่าจะเป็นตัวผู้ค่ะ สันนิษฐานเอาเอง เพราะลูกสาวเค้าไม่ค่อยชอบแมงมุม เค้าก็เลยหาข้อมูลของแมงมุมมาอ่านเยอะมาก ทำให้ได้รู้ว่าแมงมุมตัวผู้จะเล็กกว่าตัวเมีย แล้วเค้าก็เคยหาภาพแมงมุมแม่ม่ายมาดู เค้าบอกว่าคล้ายกับที่เคยเห็นในกูเกิ้ลค่ะ

dsc_0145resize3.jpg

ความเห็นที่ 6

อีกภาพค่ะ

dsc_0154resize1.jpg

ความเห็นที่ 7

เหมือนแมงมุมแม่หม้ายจริงๆ ครับ แต่จะชนิดใดนั้นต้องรอเทพแมงมุม

ความเห็นที่ 8

ตัวเมียมีขนาดประมาณ 1 ซม.นิดๆ ค่ะ อันนี้เป็นภาพล่าสุด มันเอาใบไม้มาปิดด้านบนของอิฐบล็อกด้วย แล้วก็ทำบังตาด้วยเศษปูนของอิฐบล็อคค่ะ แล้วตัวมันไปแอบใต้บังตานั้นด้านล่างสุดค่ะ คืออยากจะทราบว่าใช่แมงมุมแม่ม่ายหรือไม่ และเป็นชนิดไหนกันแน่คะ เนื่องจากไม่มีความรู้ด้านนี้ค่ะ

dsc_0197resize1.jpg

ความเห็นที่ 9

อยู่จังหวัดไหนครับ ดูจากสัญลักษณ์นาฬิกาทรายใต้ท้องตัวผู้น่าจะเป็นแม่หม้ายจริงๆ มีรูปด้านบนตัวเมียชัดๆ มั้ยครับ เผื่อจะได้ระบุชนิดได้ ยังไงรอผู้เชี่ยวชาญด้านแมงมุมมายืนยันอีกทีครับ อ้อลืมบอกอีกอย่างไม่ต้องกังวล ไม่ต้องตกใจ แมงมุมไม่ได้อันตรายอย่างที่คิดครับ เราสามารถอยู่ร่วมกับมันได้ครับ ตอนนี้ที่บ้านผมก็มีแม่หม้ายน้ำตาลแวะเวียนมาอยู่เรื่อยๆ แต่มักจะโดนแมงมุมบ้านจัดการไปซะก่อน เลยไม่ทันจะได้เก็บตัวอย่างมาให้ผู้เชี่ยวชาญในนี้ซักที

ความเห็นที่ 10

ไม่แน่ใจแต่น่าจะ Latrodectus elegans ครับ ชนิดนี้มีรายงานในแถบบ้านเรา

ความเห็นที่ 11

อยู่ จ.ขอนแก่นค่ะ ด้านบนที่ชัดๆ เดี๋ยวจะพยายามถ่ายมาให้ดูนะคะ เพราะตอนนี้มันเริ่มซ่อนตัวใต้บังตาแล้วค่ะ

ความเห็นที่ 12

ลุ้นด้วยคนครับ

ความเห็นที่ 13

ถ้าอยู่ กทม จะตามไปถ่ายภาพถึงบ้าน อยากเจอมาก

ความเห็นที่ 13.1

จตุจักร อตก อัมพวา มีเยอะไปพี่

ความเห็นที่ 13.2

ถ้าผมอยากได้ภาพอะไร แล้วเป็นเป้านิ่งแบบนี้ แค่ขอนแก่นถือว่าไม่ไกลครับ วันก่อนยังไปโผล่ข้างรังงูจงอางที่เชียงใหม่ได้เลย อุ อุ

ความเห็นที่ 14

แม่หม้ายละครับ พิษที่มีข่าวว่าคนตายส่วนใหญ่เกิดจากอาการแพ้และเป็นโรคประจำตัวอยู่แล้ว(เช่นโรคภูมิแพ้) แต่แมงมุมชนินนี้ไม่ดุร้าย และแทบจะไม่ทำร้ายคนเลยครับ เท่าที่ผมไปลองเล่นมานะ ฮาๆ

ปล.เทพแมงมุงคงต้องรอสักพักละครับ เพราะลาไปศึกษาพระธรรมอยู่ครับ

ความเห็นที่ 15

ถ้ามีภาพมุมบน ก็พอจะช่วยได้บ้างครับ เท่าที่เคยคุยกับจูน เจ้าพวกนี้บางชนิดมีอยู่ในไทยบ้างอยู่แล้วแต่ถูกจำกัดการกระจายด้วยแมงมุมชนิดอื่น เพราะปกติแมงมุมกินแมงมุมด้วยกันอยู่แล้ว โดยอุปนิสัยของพวกแม่หม้ายก็ไม่ได้ก้าวร้าวโจมตีคนก่อน เว้นแต่เราไปจับถูกตัวมันหรือมันตกใจมันจึงกัดเอา แล้วภูมิต้านทานของคนไทยดีกว่าฝรั่งครับ ที่เมืองนอกฝรั่งมันกลัวเพราะแพ้พิษนี่แหละครับ

ความเห็นที่ 16

จะถ่ายภาพด้านบนก็ค่อนข้างยากค่ะ จะไปเขี่ยมันมากก็กลัวว่ามันจะย้ายรังหนี เดี๋ยวไม่มีให้ตามดูอีก ก็เลยถ่ายมาได้แค่นี้ก่อน เนื่องจากไม่มีความรู้ก็เลยไม่กล้าไปกวนมันมาก ไม่รู้จะพอดูออกรึเปล่านะคะ ขอบคุณมากค่ะ
dsc_0027resize.jpg

ความเห็นที่ 17

ส่วนอันนี้เป็นลักษณะรังภายในของมันค่ะ
dsc_0030resize.jpg

ความเห็นที่ 18

อีกภาพค่ะ
dsc_0039resize.jpg

ความเห็นที่ 19

น่าจะเป็น Latrodectus elegans อย่างที่น้องอู๊ด (พรุน้ำแดง) บอกไว้จริงๆ ครับ

ความเห็นที่ 20

เราจะสังเกตความแตกต่างระหว่าง  Latrodectus curacaviensis  กับ  Latrodectus elegans จากตรงไหนคะ เหมือนอย่างผีเสื้อก็จะมี marking ใช่มั้ยคะ แล้วแมงมุมเราจะดูจากตรงไหนคะ

ความเห็นที่ 21

แล้วไอ้เจ้า  Latrodectus elegans มีชื่อเรียกแบบไทยๆ มีมั้ยคะ แล้วเค้าเรียกชื่อกันว่าอย่างไร

ความเห็นที่ 22

น่าจะเป็นที่ลายของแต่ละชนิดครับ และชนิดที่ผมบอกมีรายงานพบในไทยด้วย ส่วนชื่อไทยไม่ทราบเหมือนกันครับ เอารูปมาให้ดูเทียบครับ


Latrodectus curacaviensis ภาพจากเวบ http://calphotos.berkeley.edu


Latrodectus curacaviensis ภาพจากเวบ http://smnk.de

ส่วนตัวนี้เป็น Latrodectus elegans

ตัวเมีย ภาพจากเวบ http://eol.org พบที่ญี่ปุ่น


ตัวผู้ ภาพจากเวบ http://eol.org พบที่ญี่ปุ่น

ความเห็นที่ 23

เจ๋งอะ!!!

ความเห็นที่ 24

อยู่ตรงส่วนไหนของขอนแก่นครับ ผมอยู่หนองบัวลำภูครับ ยังไงรับข้อความแล้วรบกวนติดต่อผมตามเมล์ด้วยครับ

ความเห็นที่ 25

ต้องขอชมครับว่าคุณ siangdek เป็นคนช่างสังเกต ปกติแมงมุมกลุ่มนี้ไม่ค่อยมีใครสังเกตพบง่ายๆ เพราะมักทำรังอยู่ในที่ลับตาคนและไม่ค่อยเปิดเผยตัวให้เห็น ส่วนภาพก็ถ่ายได้ชัดเจนทั้งแมงมุมเพศผู้และเพศเมีย ผมตามเก็บข้อมูลเจ้าพวกนี้มาตั้งนานยังไม่เคยถ่ายภาพคู่ชัดๆได้ขนาดนี้เลยครับ และดีใจที่บทความที่เขียนไว้สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแมงมุมกลุ่มนี้มากขึ้น ดีใจครับที่มีผู้พบแมงมุมกลุ่มนี้แล้วไม่ตื่นตระหนกตกใจแบบเมื่อก่อน แถมยังนั่งค้นหาข้อมูลและนั่งติดตามถ่ายภาพมาให้ชมกันน่าชื่นชมจริงๆครับ แมงมุมในภาพเป็นกลุ่มแมงมุมแม่ม่ายในสกุล Latrodectus  ซึ่งยังไม่สามารถระบุชนิดได้เนื่องจากกำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาทางชีวโมเลกุลอยู่ครับ ข้อมูลทางสัณฐานวิทยาของอวัยวะสืบพันธุ์ในเพศผู้ของแมงมุมชนิดนี้มีความแตกต่างจาก Latrodectus elegans ในญี่ปุ่น และไม่ใช่ชนิด Latrodectus curacaviensis แน่นอนครับ สรุปก็คือยังอยู่ระหว่างการศึกษาจึงยังไม่สามารถระบุชนิดที่ชัดเจนได้ครับ แมงมุมชนิดนี้เป็นแมงมุมพื้นถิ่นของไทย ส่วนชื่อไทยของเจ้าชนิดนี้ผมเรียกว่าแมงมุมแม่ม่ายหลังเพลิง ตามลักษณะลวดลายบนหลังสีแดงหรือส้มคล้ายเปลวเพลิง แมงมุมชนิดนี้พบได้ไม่บ่อย และมีการกระจายเป็นหย่อมๆพาดขวางตอนกลางของประเทศไทย เหนือสุดพบที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ใต้สุดที่จังหวัดเพชรบุรี ส่วนทางอีสานข้อมูลจากคุณ siangdek ช่วยเพิ่มเติมให้เป็นจังหวัดที่สอง เพราะเคยพบที่นครราชสีมา แมงมุมชนิดนี้อยู่ในกลุ่มแมงมุมแม่ม่าย (พิษยังไม่มีการศึกษาสำหรับชนิดนี้) แต่ไม่มีอันตรายเนื่องจากเป็นแมงมุมที่ไม่ก้าวร้าวและไม่เคยกัดเท่าที่ผมคลุกคลีมา พฤติกรรมการป้องกันตัวเมื่อถูกรบกวนกลับเป็นพฤติกรรมที่น่ารักคือการโหย่งตัวขึ้นลงเพื่อข่มขู่ แต่เมื่อจวนตัวแทนที่จะกัดกลับจะปล่อยหยดกาวเหนียวออกมาเพื่อให้ศัตรูติดเห็นได้จากภาพที่ถ่ายมาจะเห็นหยดกาวอยู่ซึ่งแมงมุมจะปล่อยออกมาเมื่อโดนรบกวน ปัจจุบันแมงมุมชนิดนี้ถือว่าหายากและหายไปจากแหล่งอาศัยหลายแหล่ง ชอบอาศัยในพื้นที่แห้งแล้งและมีอุณหภูมิสูง อัตรารอดในห้องปฏิบัติการมีเพียง 25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และในที่ชื้นไข่จะติดเชื้อราได้ง่ายมาก จึงเป็นแมงมุมที่ขยายพันธุ์ได้ยากชนิดหนึ่งครับ ผมรับรองว่าแมงมุมชนิดนี้สามารถอยู่ร่วมในบ้านคุณได้ครับ พวกมันจะไม่เคยออกจากรังไปไหนแค่ตกใจก็วิ่งเข้ารูท่อด้านในตลอด ดังนั้นไม่ต้องไปทำร้ายเค้าหรอกครับ แต่ถ้าหากไม่อยากเอาเค้าไว้จริงๆ ผมจะรบกวนขอตัวอย่างเพื่อนำมาศึกษาในเรื่องพิษต่อไปครับ ซึ่งจะต้องใช้แมงมุมจำนวนมากมายหลายร้อยตัวครับ สำหรับกลุ่มแมงมุมแม่ม่ายไม่สามารถใช้สีสันในการจำแนกได้เหมือนผีเสื้อครับ เพราะเป็นกลุ่มที่เพิ่งวิวัฒนาการแยกออกจากกันไม่นานคือยังใกล้ชิดกันอยู่ หลายชนิดจึงมีลวดลายที่คล้ายกันโดยเฉพาะพวกมีลายสีแดงแบบในภาพทั่วโลกมีไม่ต่ำกว่า 10 ชนิดที่มีลวดลายแบบนี้ ในประเทศไทยเองก็มีหลายชนิดที่สีสันคล้ายกัน การจำแนกชนิดแมงมุมกลุ่มนี้ด้วยตาเปล่าจึงแทบทำไม่ได้เลย บางท่านอาจเข้าใจว่าแมงมุมกลุ่มนี้จะต้องมีแถบรูปนาฬิการทรายที่ด้านล่างส่วนท้องเป็นลักษณะเด่น ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดมีแมงมุมแม่ม่ายเพียงไม่กี่ชนิดที่มีลักษณะดังกล่าวแต่ส่วนใหญ่กลับไม่พบแถบนาฬิกาทรายดังกล่าว ลักษณะแถบสีนี้จึงไม่สามารถนำมาใช้ได้ อีกทั้งยังมีแมงมุมสกุลอื่นที่มีรูปร่างและสีสันคล้ายกับแมงมุมแม่ม่าย การแยกที่ชัดเจนที่สุดคือต้องส่องใต้กล้องจุลทรรศน์เพื่อดูอวัยวะสืบพันธุ์ที่มีลักษณะเฉพาะเท่านั้นครับ นี่คือเรื่องยากสำหรับแมงมุมที่ไม่สามารถบอกชนิดได้จากภาพถ่ายได้เหมือนสัตว์บางกลุ่มครับ ด้านล่างเป็นตัวอย่างแมงมุมแม่ม่ายที่มีสีสันคล้ายกัน กับบางชนิดที่พบในต่างประเทศ รวมถึงแมงมุมสกุลอื่นที่มีรูปร่างและสีสันคล้ายกัน เพื่อยกตัวอย่างให้เห็นว่าสีสันไม่สามารถนำมาใช้จำแนกชนิดแมงมุมได้ครับ
แมงมุมสกุล Steatoda ซึ่งมีรูปร่างและสีสันคล้ายแมงมุมแม่ม่าย Latrodectus cf. elegans พบทางฝั่งตะวันตกของประเทศไทย แมงมุมแม่ม่ายหลังเพลิง Latrodectus sp. พบตอนกลางของประเทศไทย แมงมุมแม่ม่ายสกุล Latrodectus ชนิดที่พบในต่างประเทศมีสีีสันคล้ายกับที่พบในประเทศไทย

ความเห็นที่ 26

สึกออกมาแล้วรึครับท่าน

ความเห็นที่ 26.1

ครับพี่ ขอบคุณมากๆครับสำหรับภาพสวยๆที่ไปถ่ายให้

ความเห็นที่ 27

ขอบคุณจูนสำหรับความรู้ใหม่ๆ ครับ เห็นว่าติดภารกิจ เลยกะว่าจะไปเก็บตัวอย่างมาให้ แต่ถ้าจูนมาเก็บเอง ว่างก็แวะมาหาได้นะครับ เจ้าแม่หม้ายน้ำตาลทางนี้ยังหาให้อยู่ แต่ไม่เจอตัวซักทีเจอแต่ถุงไข่ทีฟักแล้ว ซึ่งทำให้คิดว่าตัวมันยังมีอยู่ แต่ยังไม่เจอ

ความเห็นที่ 28

ถ่ายภาพมาลงเพิ่มให้ค่ะ วันนี้เห็นแมงมุมวางไข่แล้วหนึ่งถุงค่ะ จะแวะมารายงานเป็นระยะๆ นะคะ
ไข่ของแมงมุมถุงแรก วันนี้ 26/6/2555 ตอนเช้าประมาณ 08.20 น. ค่ะ
dsc_0180resize.jpg

ความเห็นที่ 28.1

ไข่ชุดแรกสีจะอมเหลืองสวยอย่างงี้แหละครับ จากลักษณะของไข่ช่วยยืนยันว่าเป็นเจ้าหลังเพลิงแน่นอนครับ

ความเห็นที่ 29

ภาพนี้เป็นสภาพรังจากภายนอกที่เห็นในวันนี้ค่ะ (26/6/2555) 
dsc_0174resize.jpg

ความเห็นที่ 30

ซากตัวผู้ที่ตายแล้ว กำลังถูกมดน้ำหวานลากไปที่รัง
dsc_0192resize.jpg

ความเห็นที่ 30.1

ลักษณะที่ใช้ระบุชนิดได้อย่างถูกต้องแน่นอนอยู่ที่ซากตัวผู้นี่แหละครับ เสียดายตัวอย่าง

ความเห็นที่ 31

สงสัยต้องไปมองๆ หาบ้างแล้ว

ความเห็นที่ 32

ดูเป็นเจ้าของบ้านที่มีสติดีจริง ๆ ด้วยแหะ   น่ารักมาก ๆ ครับ

ความเห็นที่ 33

ขอบคุณค่ะ คุณหนึ่ง
นำภาพมาฝากกันอีกค่ะ เป็นภาพบริเวณใต้ท้อง แถวๆ ก้นมันค่ะ
 

dsc_0276resize.jpg

ความเห็นที่ 34

สงสัยจะกลายเป็นสัตว์เลี้ยงไปแล้ว ดูๆ แล้วมันสวยนะครับน่าสนใจ

ความเห็นที่ 35

แม่ผมโดนกัดต้องนอนโรงบาลถึง 4 วัน  พิษมันรุนแรงมากๆ ครับ  ถึงขั้นเดินไม่ได้เลยครับ  ตัวเย็น  แล้วพิษยังเข้าสู่กระแสเลือด

ความเห็นที่ 36

ที่โดนกัดเป็นชนิดเดียวกันนี้หรือคะ หรือเป็นชนิดอื่น ตัวนี้ที่เห็นตอนนี้ตายแล้วค่ะ มันออกไข่ได้ถุงเดียวแล้วมีตั๊กแตนตัวเล็กๆ หล่นลงไป คาดว่าตรงขาแหลมๆ ของตั๊กแตนน่าจะไปเกี่ยวโดนทั้งแม่และไข่ แม่แมงมุมตายไปแล้วค่ะ ส่วนไข่ก็ฝ่อเพราะโดนเกี่ยวเหมือนกัน (คุณ CONEMAN สันนิษฐานให้ฟัง เพราะส่งตัวอย่างซาก และถุงไข่ไปให้ ปรากฏว่าถุงไข่มันใช้ไม่ได้ซะแล้ว) แต่ตอนนี้ก็ยังมีแมงมุมลักษณะลวดลายใกล้เคียงกันอีก 2 ตัว กำลังตามหาอยู่ค่ะ ตอนแรกมันมาอยู่ข้างๆ ห้องน้ำ พอคืนนั้นลมแรงจัดมาก อีกวันไปดูก็พบว่ามันย้ายรังหนีไปแล้ว ยังตามหากันอยู่เลยค่ะ

ว่าแล้วก็โพสต์ภาพซากแมงมุมตัวเดิมให้ดูกันอีกทีนะคะ คราวนี้เห็นชัด เพราะถ่ายภาพเก็บไว้ก่อนส่งซากพิสูจน์ค่ะ ^^
dsc_0005resize.jpg dsc_0022resize.jpg dsc_0039resize.jpg

ความเห็นที่ 37

เจอที่ไร่จังหวัดชัยภูมิ อำเภอหนองบัวแดง คะ
s_16367627.jpg

ความเห็นที่ 37.1

เพิ่มอีก
s_16367629.jpg

ความเห็นที่ 37.2

อีกหนึ่ง
s_16367630.jpg