พึ่งรู้นะครับว่า สยามโอเชียนเวิร์ลมีการเพาะขยายพันธุ์สัตว์น้ำด้วย

โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์
       
       ความสวยงามของท้องทะเล บางคนอาจมองสีสันที่ถูกแต่งแต้มโดยธรรมชาติ ทั้งสีครามงดงามตราตรึง หมู่ปลาน้อยใหญ่ รวมไปถึงสัตว์ทะเลที่แหวกว่ายอยู่ในห้วงสมุทร แต่สำหรับ วิบูลย์ เสรีรัก ผู้จัดการแผนกดูแลสัตว์น้ำ สยามโอเชียนเวิลด์ กลับเห็นว่าความสวยงามที่แท้จริงของท้องทะเล คือระบบนิเวศที่ยังคงความสมดุลเอาไว้ได้ต่างหาก

ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ที่พี่วิบูลย์คลุกคลีอยู่กับทะเล ทำให้รู้ว่าสถานการณ์ของท้องทะเลไทยดีว่าค่อนข้างย่ำแย่ และจำนวนปลาหลายชนิดในน่านน้ำของไทย ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามันลดจำนวนลงจนน่าตกใจ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการทำประมงที่เกินขีดจำกัดของธรรมชาติจะรองรับได้
       
       “ปลาหลายชนิดสามารถจับมาทำเป็นอาหาร ได้ อย่างฉลามสายพันธุ์ต่างๆ ก็มีรายงานว่าถูกจับมากขึ้น จนสถานการณ์ตอนนี้เรียกได้ว่าจำนวนฉลามลดลงอย่างรุนแรงจนเข้าขั้นวิกฤต และการที่สัตว์ทะเลชนิดใดชนิดหนึ่งถูกจับมากๆ เข้าเช่นนี้ ห่วงโซ่อาหารก็จะผิดปกติ และสุดท้ายระบบนิเวศก็จะเสียไป
       
       ฉะนั้น พี่วิบูลย์จึงเริ่มต้นเพาะพันธุ์สัตว์น้ำประเภทต่างๆ เช่น ฉลามพันธุ์ปล้องอ้อย หอยมือเสือ ฯลฯ เพื่อให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นพอที่จะนำกลับไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้ เป็นการคืนความสมดุลให้ระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งที่ผ่านมาก็มีโครงการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำชนิดต่างๆ หลายโครงการ ล่าสุดคือการเพาะพันธุ์ฉลามพันธุ์ปล้องอ้อย แล้วนำกลับไปปล่อยสู่บ้านเกิดที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง ซึ่งจุดนี้พี่วิบูลย์บอกว่า เป็นหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ที่ตนรับผิดชอบ เพราะในฐานะผู้จัดการแผนกดูแลสัตว์น้ำ เราต้องดูแลทุกช่วงวงจรชีวิตของสัตว์น้ำ ส่งผลให้เรามีองค์ความรู้ในการดูแลสัตว์น้ำเหล่านั้นให้มีชีวิตรอด และสามารถช่วยให้เพิ่มจำนวนได้
       
       “การทำงานตรงนี้ทำให้มีความภาคภูมิใจ มาก เพราะการทำงานของเรา นอกจากการเลี้ยงสัตว์น้ำในอควาเรียมแล้วยังสามารถช่วยเพาะพันธุ์สัตว์น้ำให้ เพิ่มมากขึ้นได้ ถือว่าเป็นการช่วยสร้างสมดุลให้ธรรมชาติ แม้จะช่วยไม่ได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้น และได้เป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมปฏิบัติเพื่อให้สมดุลธรรมชาติกลับคืนมา
       
       ส่วนสาเหตุที่ทุ่มเทพลังกายและใจเพื่อเพาะพันธุ์สัตว์โลกใต้สมุทร พี่วิบูลย์เล่าให้ฟังว่า เพราะตนมีนิสัยรักสัตว์และรักธรรมชาติเป็นพื้นฐาน เมื่อต้องเลือกเรียนปริญญาตรี จึงเลือกด้านวาริชศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยบูรพา แล้วต่อปริญญาโทในด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทันทีที่เรียนจบก็ตั้งใจมาทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ โดยเริ่มทำงานที่อควาเรียมของอันเดอร์วอเตอร์เวิลด์ก่อน จากนั้นจึงย้ายมาทำที่สยามโอเชียนเวิลด์ เพราะเห็นว่ามนุษย์ยังต้องอาศัยทะเลในการดำเนินชีวิตอีกมาก หากเราไม่ช่วยอนุรักษ์ทะเลและสัตว์น้ำเอาไว้ ต่อไปเราเองที่จะลำบาก
       
       พี่วิบูลย์ยังบอกอีกว่า การทำหน้าที่ เพาะพันธุ์สัตว์น้ำ นอกจากจะมีส่วนช่วยในการอนุรักษ์ทะเลแล้ว ยังเป็นการเผยแพร่ความรู้ที่เป็นประโยชน์ให้แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่สนใจในโลกใต้สมุทรด้วย เพราะการที่เราเลี้ยงสัตว์น้ำ ทำให้เรามีข้อมูลทั้งหมด ทั้งข้อมูลสัตว์ทะเล ข้อมูลด้านชีววิทยา และข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งการเผยแพร่ความรู้ดังกล่าว ถือว่าเป็นการตอบแทนสังคมอีกทางหนึ่ง
       
       ส่วนอนาคตของทะเลไทย พี่วิบูลย์ ยังคงเชื่อว่าจะต้องดีขึ้นแน่นอน เพราะตอนนี้มีหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยกันอนุรักษ์สัตว์น้ำและทะเลมากขึ้น โดยเฉพาะกิจกรรม CSR ของแต่ละองค์กร ซึ่งหันมาให้ความสนใจธรรมชาติมากขึ้น อาทิ การปลูกป่าชายเลน ซึ่งมีส่วนช่วยให้สัตว์ทะเลได้มีพื้นที่สำหรับฟื้นฟูจำนวนประชากรให้เพิ่ม มากขึ้นด้วย
       
       ขณะที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกอย่างที่มองข้ามไม่ได้และบางจุดต้องเร่งรีบแก้ไข ซึ่งพี่วิบูลย์ได้ฝากไว้ก็คือ ปัญหา การทิ้งขยะตามชายฝั่ง โดยการทิ้งขยะตามชายฝั่งเป็นจำนวนมาก ทำให้คุณภาพของชายหาดลดลง ซึ่งจุดนี้ได้แก้ปัญหาโดยการดึงคนในท้องถิ่นเข้ามาช่วยดูแล ก็สามารถช่วยบรรเทาปัญหาไปได้บ้าง แต่อย่างไรก็ตาม ถือว่าเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องช่วยกันรักษาความสะอาดของชายฝั่ง และอาจต้องใช้เวลานานในการฟื้นฟูจนกว่าจะกลับมาสะอาดเช่นเดิม
       
       แต่สำคัญที่...ทุกคนต้องช่วยกัน!

คัดลอกมาจาก : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000083652

หลังจากอ่านบทความประชาสัมพันธ์อควาเรียมแห่งนี้จากเวบข่าวนี้แล้ว
ส่วนตัวผมเองรู้สึกค่อนข้างขัดแย้งกับสภาพความเป็นจริงของ อควาเรียมเชิงพาณิชย์ที่มีคิวไปกวาดซื้อสัตว์น้ำลอตใหม่มาจากตลาดนัดจตุจักรทุก ๆ ช่วง 2-3 เดือนล่ะครับ(อาศัยที่ซึ้กับร้านไม้น้ำร้านหนึ่งในเครือข่ายผู้ค้าแถวนั้น)

Comments

ความเห็นที่ 1

โดยส่วนตัวผมยังเห็นความสำคัญของพวก สวนสัตว์ และ อควาเรี่ยม ในฐานะของแหล่งเรียนรู้และบันเทิงใกล้บ้าน แต่มองว่าต้องมีการเพิ่มเติมความรู้ลงไปในบันเทิงให้มากกว่าในปัจจุบันและต้องมีการศึกษาวิจัยและกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธูรกิจให้มากขึ้น