เมื่องูทางมะพร้าวเขียวเปลี่ยนชื่อสกุลกลับมาอีกแล้ว หวังว่าคงเป็นครั้งสุดท้าย

งูทางมะพร้าวเขียว เคยเป็นงูในตำนานชนิดหนึ่งของกลุ่ม siamensis.org พวกเราได้แต่เห็นรูปที่คนอื่นเจอแล้วถ่ายรูปมาโพสเป็นระยะเวลายาวนานพอสมควร จนกระทั่งวันหนึ่งพวกเราได้ไปเยือนพื้นที่รอยต่อจังหวัดลำปางและลำพูน ในการเดินสำรวจแต่ละวันที่นั่นเป็นระยะทางประมาณสิบกิโลเมตร ต้องเดินตั้งแต่บ่ายอ่อนๆ แล้วกลับมาถึงที่พักในวันใหม่ ในคืนสุดท้ายพวกเราเดินขึ้นสู่ยอดดอยสูงสุดที่ระดับพันสามร้อยเมตรเศษ ตลอดเส้นทางเราพบงูเขียวหางไหม้ท้องเขียวเป็นส่วนใหญ่ จนเราแทบท้อ จนกระทั่งถึงจุดที่จะขึ้นยอดสูงสุดซึ่งเป็นระยะทางอีกประมาณห้าสิบเมตรก็จะถึงยอดดอย แต่..มันมีความลาดชันสูงมาก ก็มีสหายท่านหนึ่งตะโกนลั่นว่า "เรามาที่นี่เพื่ออะไรเนี่ย" ผมจึงหยุดเดินกำลังจะอ้าปากตอบ ผมก็เห็นงูตัวเขียวๆขดอยู่ในพุ่มไม้สูงระดับอก ณ จุดยืนนั้น ตอนแรกก็มองอย่างเซ็งๆพร้อมกับคิดว่าเป็นงูเขียวหางไหม้ท้องเขียวอีกแล้วมั้ง แต่..พอมองดูอีกทีก็พบว่ามันเป็นงูที่เกล็ดค่อนข้างมันวาว ไม่เห็นสันเกล็ดที่ชัดๆอย่างที่เคยคุ้น หัวยาวๆตาเขียวๆบ้องแบ๊ว คราวนี้กลับเป็นผมตะโกนลั่นป่าบ้าง "prasinaaaaaaa!!!!!" สหายท่านนั้นเลยวิ่งลงมาจากทางลาดชันที่เต็มไปด้วยหินเกะกะเสมือนวิ่งในลู่วิ่งยางชั้นเยี่ยมที่ใช้แข่งระดับโอลิมปิกลงมาที่ผม ส่วนทีมงานคนอื่นๆก็วิ่งขึ้นเขามาหาผมยิ่งกว่าโดนช้างไล่กระทืบซะอีก ทริปนั้นเราขายแห้วออกไปได้อีกหนึ่งชนิด แล้วเชื่อไหมว่าหลังจากนั้นในสมาชิกทั้งหลายก็ทยอยเจอกันเป็นว่าเล่นในทริปต่อๆมา

งูทางมะพร้าวเขียว เป็นงูกลุ่ม ratsnake ที่สมาชิกส่วนใหญ่ของกลุ่มจะนิยมชมชอบหนูในเมนูโปรด แต่ไม่ใช่สำหรับเจ้าทางมะพร้าวเขียวที่นิยมกินนกเป็นพิเศษมากกว่า (กลุ่มรักนกอย่ามาว่าเด็กๆของผมเลยนะ) มันเป็นงูที่ไม่มีพิษมีภัยอะไรกับคน ไม่มีพิษ ลักษณะหัวค่อนข้างยาวทู่ๆ ตากลมโต ม่านตาสีอมเขียวๆ รูม่านตากลมดำ แนวใต้ตามักมีสีดูขาวๆหรือเขียวอ่อนกว่าแนวเหนือขึ้นไป ตัวสีเขียวๆ เวลาพอตัวจะเห็นลายขาวเฉียงๆจางๆ เกล็ดท้องพับได้ตรงแนวสันเกล็ดท้องที่ไม่ชัดเจนนัก ซึ่งมันใช้ในการช่วยปีนป่ายต้นไม้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หางสีเขียว อาจเห็นสีน้ำตาลเรื่อๆที่บริเวณปลายหางในบางตัว ซึ่งมันมีงูฝาแฝด และเป็นงูร่วมสกุลล่าสุดของมัน คือ งูเขียวกาบหมาก หากแต่ว่างูเขียวกาบหมากนั้นมีขีดดำแนวหลังตาชัดเจน อีกทั้งหางยังเป็นสีน้ำตาลตลอดหาง และมีวงแหวนสีเหลืองที่โคนหาง เวลาแลบลิ้น ลิ้นก็เป็นสีน้ำเงินและดำอีกด้วย

งูทางมะพร้าวเขียวมีการเปลี่ยนชื่อสกุลมาหลายครั้ง (ไม่นับชื่อพ้องที่เป็นชนิดอื่น) โดยมีชื่อครั้งแรกในนาม Coluber prasina Blyth (1854) แต่ตอนเที่คนไทยรู้จักมันครั้งแรกก็ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น Elaphe prasina Smith (1930) ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้อย่างแพร่หลายที่สุด จนกระทั่งมีการศึกษาเชิงลึกมากขึ้น มันเลยถูกเสนอให้ย้ายมาอยู่สกุล Gonyosoma ครั้งแรกในปี 1988 แล้วมีการเสนอให้มาอยู่สกุล Rhadinophis โดย Burbrink et al (2007) Rhynchophis โดย Wallach et al (2014) และล่าสุด จากการศึกษาทางชีวโมเลกุล (อีกแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ศึกษามาก่อนแล้ว) ของ Chen et al (2014) ได้ขอสรุปว่า สกุลที่งูทางมะพร้าวเขียวใช้ล่าสุดสามสกุลมันกระจุกอยู่ในกลุ่มเดียวกัน จึงเสนอว่าทั้งสามสกุลควรถูกยุบรวมเป็นสกุล Gonyosoma นอกจากนี้ยังรวมสกุล Gonyophis อยู่ในสกุลนี้ด้วย ดังนั้นสกุล Gonyosoma จะประกอบด้วยสกุลพ้องดังนี้ Gonyosoma, Gonyophis, Rhadinophis และ Rhynchophis 

สรุปว่า ณ เวลานี้งูทางมะพร้าวเขียว ได้ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์เป็น Gonyosoma prasinum (Blyth, 1854)

http://www.siamensis.org/species_index#3354--Species : Gonyosoma prasinum

Comments

ความเห็นที่ 1

ขอบคุณสำหรับเรื่องราวดีๆครับ