เถาวัลย์ถล่มป่าแก่งกระจาน!!!!!!!

http://www.thairath.co.th/content/region/107953

อ่านแล้วมีความคิดเห็นกันเช่นไรครับ?  ใครเจอข่าวเพิ่มเติมรบกวนนำมาแปะด้วยครับ 

ข้อมูลประกอบการอ่าน

ประเทศไทยมีรายงานเถาวัลย์ที่เป็นพืชรุกรานต่างถิ่นที่น่าเป็นห่วง 1 ชนิดคือ ย่านขี้ไก่ Mikania cordata

Comments

ความเห็นที่ 1

 

ส.ว.หญิงแกร่งเมืองเพชรเดินหน้าชนปัญหาป่าแก่งกระจาน

 

 

ทีมข่าวเฉพาะกิจภูมิภาคไทยรัฐ รายงานความคืบหน้ากรณีผืนป่าในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ถูกฝูงเถาวัลย์คุกคาม...

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 1 ก.ย. ทีมข่าวเฉพาะกิจภูมิภาคไทยรัฐรายงานความคืบหน้ากรณีผืนป่าในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานถูกฝูงเถาวัลย์คุกคาม มาจากการเปิดเผยของ น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ สมาชิกวุฒิสภา จ.เพชรบุรี รองโฆษกคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา รองประธานคณะอนุกรรมาธิการทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าวุฒิสภา ประธานชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.เพชรบุรี ว่า จากการที่ได้เข้าไปในแก่งกระจานได้ไปเห็นว่าผืนป่าปกคลุมไปด้วยสีเขียวหมดเลย แต่พอได้ดูชัดๆมันกลับไม่ใช่ความเขียวชอุ่มของต้นไม้ยืนต้น มันเป็นความเขียวของเถาวัลย์และวัชพืชที่ขึ้นปกคลุมอยู่  ซึ่งถูกเรียกในภาษาทางพฤกษศาสตร์ว่าป่าถล่ม คนไม่เข้าใจก็คิดว่าป่าก็เขียวชอุ่มดีแล้ว มีต้นไม้เยอะแล้วซึ่งมันไม่ใช่ เพราะสภาพที่ว่าต้นไม้ยืนต้นถูกเถาวัลย์คลุมแล้วกระชากจนต้นไม้ยืนต้นย่ำแย่ถึงกับแยกฉีกออกจากกัน บางต้นก็กำลังจะหักไปด้วยซ้ำ

ส.ว.คนดัง เผยต่อไปว่า  จากการที่ได้ไปเห็นมากับตาถึงสภาพดังกล่าวทำให้เกิดความสงสารป่าและต้นไม้ใหญ่ขึ้นมาจับใจ โดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานนี้เป็นพื้นที่ป่าที่อยู่ในบ้านเกิดของตัวเองระหว่างที่กำลังคิดอยู่ว่าจะทำอย่างไร เพื่อหาทางพลิกฟื้นผืนป่านี้ให้คืนกลับสู่ความเป็นธรรมชาติของป่าที่สมบูรณ์แบบ ก็ได้พบนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และมีการพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เมื่อเดือนที่ผ่านมาตนจึงชวนนายสุรพล นาคนคร อนุกรรมาธิการทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าของวุฒิสภา ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปดูสภาพป่าพบว่ามีเถาวัลย์ปกคลุมเยอะมาก ได้เห็นสภาพป่าเหมือนอย่างที่ นสพ.ไทยรัฐนำออกมาตีแผ่

ในส่วนนี้ตน และชาวเพชรบุรีทั้งมวลต้องขอบคุณไทยรัฐที่นำเสนอข่าวเรื่องนี้ ถือเป็นการกระตุ้นผู้รับผิดชอบให้ออกมาเร่งแก้ปัญหาให้ตรงกับสภาพความเป็นจริง ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และ พันธุ์พืช รวมทั้งกรมป่าไม้ อาจจะยังไม่คิดในเรื่องนี้ อาจไปคิดในแง่อิงหลักวิชาการ ต้องมาดูของจริง ต้องแก้ไขตามสภาพความเป็นจริง หากปล่อยให้ฝูงเถาวัลย์ลุกลามต่อไปอนาคตยากมากที่จะแก้ไขได้สำเร็จ ตนไม่เถียงว่าธรรมชาติมันจะจัดการมันเอง แต่ตรงนี้มันเริ่มผิดธรรมชาติ เปรียบเสมือนสัตว์ทุกชนิดในทางวิชาการมันก็สามารถจัดการกับตัวมันเองได้เช่นการคลอดลูก แต่หากมีมนุษย์เข้าไปช่วยเหลืออันตรายมันก็น้อยลง

นอกจากนี้ น.ส.สุมล ยังได้ระบายความในใจด้วยว่า ตนเป็นคณะกรรมการคนหนึ่งในโครงการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ หรือ 84 พรรษา ซึ่งมีโครงการทั้งระยะยาวและระยะสั้น ระยะยาวจะเริ่มตั้งแต่ปี 2553-2554 โดยนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา แต่งตั้งให้ตนเป็นคณะกรรมาธิการในส่วนของ ส.ว.ซึ่งมีอยู่ประมาณ 3-4 คน ตนได้นำเสนอเรื่องที่จะจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ ด้วยการจัดการสางเถาวัลย์ในป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ปรากฏว่า ส.ส.เจริญ คันธวงศ์ ออกมาสนับสนุน ให้เป็นโครงการนำร่องให้ผืนป่าอื่นที่เกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกับผืนป่าของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้ทำตามแบบ

ส.ว.เพชรบุรี ยังเผยด้วยว่า แต่การนำเสนอในครั้งนั้นมีกรรมการซึ่งเป็นภาคเอกชนทักท้วงว่าจะสางยังไงเพราะเขานึกภาพไม่ออก เนื่องจากไม่เคยเห็นพื้นที่จริง ตนก็เลยนำเอาภาพไปเสนอให้ดูว่าป่าถล่มเป็นยังไง เมื่อเห็นภาพในที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นชอบด้วย แต่ก็ยังถูกคัดค้านอีกจากสมาชิกชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.เพชรบุรี ที่ตนนั่งเป็นประธานอยู่ เขาคัดค้านโดยอ้างว่าธรรมชาติจัดการตัวมันเองได้ไม่ควรที่จะเข้าไปยุ่งกับธรรมชาติ เมื่อเชิญเจ้าหน้าที่จากป่าไม้และอุทยานมาประชุมกับคณะอนุกรรมาธิการทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า วุฒิสภาเพื่อขอความคิดเห็นก็ถูกคัดค้านอีก ตนเครียดกับปัญหานี้เพราะว่าคนเหล่านี้ไม่ได้เข้าไปสัมผัสพื้นที่ ไม่ได้เข้าไปเห็นกับตาก็จะนึกภาพไม่ออกว่าป่าที่ถูกเถาวัลย์ปกคลุมจะมีลักษณะเป็นอย่างไร  ยืนยันแต่เพียงว่าธรรมชาติจะจัดการของมันเองได้เท่านั้น

น.ส.สุมล ยังเผยอีกว่า พอถูกคัดค้านแรกๆ ก็รู้สึกกังวล เพราะว่าตนทำเรื่องสิ่งแวดล้อมมาตลอด ตนเคยค้านคนอื่นในการที่จะทำให้กระทบกับธรรมชาติ พอมาถูกค้านเรื่องนี้ ช่วงนั้นยอมรับว่าทำให้ค่อยไม่มั่นใจในการแก้ไขปัญหานี้เพราะเกรงว่าจะเกิดผลกระทบกับเถาวัลย์ เพราะมีเถาวัลย์บางอย่างเป็นเรื่องดีของธรรมชาติ ไปทำลายมันหมดก็อาจจะมีผลกับระบบนิเวศน์อย่างที่ถูกท้วงมาได้ ก็เลยหยุดความคิดเอาไว้ก่อน แต่มาถึงตรงนี้ตนเริ่มเห็นว่าเถาวัลย์ชักมากเกินไป ประกอบกับสภาพป่าที่เคยถูกทำสัมปทานป่าไม้ไปแล้ว มันไม่เหมือนกับป่าเดิมๆที่ต้นไม้ใหญ่มีสภาพแข็งแรง ธรรมชาติสามารถจัดการกันเองได้ แต่ปัญหาแก่งกระจานนี้ ยังไงเสียก็ต้องให้มนุษย์เข้าไปช่วยด้วย  ในลักษณะที่เกิดความพอดีมีความสมดุลไม่กระทบกับระบบนิเวศน์

อย่างไรก็ตาม น.ส.สุมล เผยว่า ขณะนี้ตนได้เปลี่ยนแผนใหม่ เนื่องจากตนดำรงตำแหน่งประธานโครงการแก้ไขปัญหาวิกฤติช้างไทย ก็เลยนำเอาโครงการ "ปลูกพืชให้ช้างสร้างอาหารให้สัตว์ป่า" เสนอต่อนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีเห็นชอบด้วยแล้ว เพราะการที่จะปลูกพืชให้ช้างสร้างอาหารให้ป่านั้นต้องสางเถาวัลย์ออกโดยอัตโนมัติ การปลูกพืชสร้างพื้นที่ก็ต้องเอาวัชพืชออก วัชพืชอะไรที่ไม่มีประโยชน์กับป่าให้เอาออกให้หมดแล้วปลูกหญ้าทดแทน เช่น ที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี มีการปลูกหญ้าไข่เหา   ซึ่งเป็นหญ้าพื้นเมืองของเขาเอง ที่สำคัญต้องให้เหมาะสม ไม่ใช่ปลูกหญ้าอย่างเดียวต้องปลูกไม้ยืนต้นด้วยและต้องเป็นไม้ยืนต้นที่มีลูกผล เพื่อให้ช้างให้สัตว์ป่ากินได้ เช่น ลูกตะขบ ต้นเหนียง โครงการนี้ตนจึงไม่ใช้คำว่าสางเถาวัลย์ เพราะจะไปกระทบกับนักวนศาสตร์เข้า

ล่าสุดทีมข่าวเฉพาะกิจภูมิภาครายงานว่า เหตุการณ์เถาวัลย์บุกเข้าคุกคามผืนป่าไม่ได้มีเฉพาะในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเท่านั้น จากการตระเวนตรวจสอบผืนป่าภาคตะวันตกในเขต จ.กาญจนบุรี ปรากฏว่าเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันนี้ยังเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าของ อ.ไทรโยค อ.ทองผาภูมิ อ.สังขละ อ.ศรีสวัสดิ์ อีกด้วย ซึ่งไทยรัฐจะนำมาเปิดเผยต่อไป.
 

ที่มา 

ไทยรัฐออนไลน์

  • โดย ทีมข่าวภูมิภาค
  • 2 กันยายน 2553, 00:03 น.
 

ความเห็นที่ 1.1

ขอลองหาข้อมูลก่อนนะครับ ทีมทำระบบนิเวศป่าไม้ ใน tws น่าจะให้ข้อมูลที่น่าสนใจได้

ความเห็นที่ 2

อยากได้ข่าวต้นเรื่อง เมื่อวันจันทร์ หรืออาทิตย์ หาไม่เจออ่ะ 

ความเห็นที่ 3

ถ้าไม่มีไม้ล้มในธรรมชาติ แล้วพืชรุ่นใหม่จะขึ้นได้อย่างไร เห็ดหลายๆชนิดก็จะขาดแคลน แถมจะถางป่าปลูกหญ้าอีกแฮะ ทางด่วนต่างระดับก็หาย แต่กิ้งก่าบินสะดวกขึ้นวุ้ย

ความเห็นที่ 4

มีหลายคำถามที่ต้องการคำตอบ ทั้งเพื่อความรู้ และเพื่อตรวจสอบแนวคิดนี้

โดยผมขอยึดว่า ป่าธรรมชาติ คือ ป่าที่เกิตตามธรรมชาติ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดจากการจัดการของคน

(เว้นแต่จะเป็นเอเลี่ยนที่พี่นณณ์ว่า)

1. เถาวัลย์ไม่ใช่พืชในป่าหรือ ป่าตามธรรมชาติที่ถูกต้อง ใช้อะไรมากำหนด (criteria) เพราะมันก็อยู่คู่กันมาอยู่แล้ว

2. แล้วทำไมถึงคิดว่า เถาวัลย์ที่คลุมต้นไม้ที่ มีเป็นธรรมชาติมาเป็นร้อยเป็นพันปี ถึงจะเป็นอันตรายกับป่านี้ ทำไมไม่เห็นมันเป็นเรือ่งปกติในธรรมชาติ ที่มันก็จะหมุนเวียนกันเติบโต เคยได้ยินการปลูกป่าไหม ที่เขาปลูกกันแทบตาย ไม่สำเร็จ แต่พอปล่อยทิ้งไว้ พืชแต่ละชนิดกลับค่อยๆขึ้นงอกงามเป็นลำดับ พืชชนิดแรกๆขึ้น ชนิดที่สองขึ้น ชนิดที่สาม สี่ ห้า ค่อยขึ้นงอกงามตามกันมา โดยอาศัยบทบาทที่พืชที่เติบโตมาก่อนสร้างขึ้นไว้ จนสุดท้าย มันกลายเป็นป่า

3. เถาวัลย์ที่ว่า เป็นชนิดไหน ถ้าเหมารวม ผมอยากแชร์ว่า พืชเถามากมายที่ขึ้นพันไม้ใหญ่ ส่วนมาก ผมสังเกตุว่ามีประโยชน์ต่อระบบนิเวศในแง่ของการเป็นอาหารของแมลงกินพืชหลายชนิด ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของห่วงโซ่อาหารลำดับแรกๆ ซึ่งสำคัญมาก ทั้งความรกนี้ยังเป็นที่หลบซ่อนของสัตว์ด้วยนะ

 

สำหรับไอเดีย "การที่จะปลูกพืชให้ช้างสร้างอาหารให้ป่านั้นต้องสางเถาวัลย์ออกโดย อัตโนมัติ การปลูกพืชสร้างพื้นที่ก็ต้องเอาวัชพืชออก วัชพืชอะไรที่ไม่มีประโยชน์กับป่าให้เอาออกให้หมดแล้วปลูกหญ้าทดแทน"

อยากให้ความเห็นว่า เราแทบไม่มีทางกำหนดได้เลยว่า พืชอะไร ไม่มีประโยชน์ต่อป่า เพราะแต่ละชนิดก็มีบทบาทของมันจนอยู่ในระบบนิเวศที่สมดุลย์ บทบาทที่ว่าอาจเป็นอาหารแมลง อาหารนก หรือ อาหารกวาง อาจช่วยให้ร่มเงา อาจแย่งร่มเงา อาจมีพิษ อาจทำให้พืชอื่นตาย อาจเสริมให้พืชอื่นรอด ซับซ้อนเกินกว่าจะเข้าใจ แต่มันก็อยู่ในระบบของมัน

การที่เราเข้าไปทำลายป่า แล้วปลูกอะไรที่เราต้องการ ไม่ใช่การอนุรักษ์ แต่เป็นการทำลาย ไม่ต่างกับการที่คนถางป่าบุกรุกพื้นที่แล้วปลูกพืชอาหารเลย

ถ้าจะทำจริงๆไอเดียนี้ถ้าจะทำ อาจทำแค่พื้นที่เล็กๆ เพื่อไม่ให้กระทบกับระบบนิเวศดั้งเดิม แต่ไม่เห็นด้วย

แต่ผมว่าไอเดียที่เข้าท่ากว่า คือ เรารู้อยู่แล้วว่าพืชชนิดไหนเป็นเอเลี่ยน รุกราน เข้าไปกำจัดมันดีกว่าไหม เริ่มจากไมยราพยักษ์ก็ได้ครับ

ความเห็นที่ 5

"วัชพืชอะไรที่ไม่มีประโยชน์กับป่าให้เอาออกให้หมดแล้วปลูกหญ้าทดแทน"

 

ถ้าทำตามนี้ก็สบายใจได้ครับ เพราะ ไม่มีพืชชนิดไหนที่ไม่มีประโยชน์กับป่า

กลัวแต่ว่า "วัชพืชอะไรที่ไม่มีประโยชน์กับคนให้เอาออกให้หมดแล้วปลูกหญ้าทดแทน" มากกว่า

ความเห็นที่ 6

ขอบคุณท่านสว.ที่รู้สึกสงสารป่า และท่านสว.น่าจะรู้สึกสงสารป่าที่ถูกคนเหมือนกันทำลายซะเละบ้าง

 

น่าจะไปพื้นโครงการรักษาแนวป่า ป้องกันการบุกรุก แผ้วถาง ลักลอบ เพื่อเป็นป่านำร่องแบบจริงจังและถาวร ตีปี๊บให้ดังๆ เลย น่าจะได้อะไรๆ ที่ทั้งคนสัตว์และป่าได้ประโยชน์มากกว่า

 

สางคนคงจะดีกว่าสางเถาวัลย์

ความเห็นที่ 7

เจอข้อความเก่า ๆ ที่ http://www.thaioctober.com/forum/index.php?topic=1301.0 และโครงเท่ห์ ๆ กลัวว่าจะติดกระแสจัง http://www.ryt9.com/s/tpd/896181

ความเห็นที่ 8

เป็นเรื่องที่น่ากลัวมากครับที่ ผู้นำผู้รับผิดชอบไม่เข้าใจ ไม่ใส่ใจ ไม่รับฟัง

ได้อ่านเนื้อหาข้างบนนี้แล้วทำให้เรามองเห็นอะไร ๆ ได้เยอะขึ้น  กับผู้รับผิดชอบในการรักษาทรัพยากรของชาติ

ผมเคยเจอปัญหาทำนองนี้มาแล้วที่เขากระโจม  คือบริเวณทุ่งหญ้า ในหุบเขากระโจม มีผู้ใหญ่หวังดีเห็นทุ่งหญ้า กลับมองว่าเป็นป่าเสริมโทรม  ต้องช่วยกัน มีโครงการจะปลูกต้นไม้ในพื้นที่เพื่อให้เป็นป่าที่สมบูรณ์ อย่างป่าอื่น ๆ โดยใช้รถไถเข้ามาไถ ให้พื้นที่เปิดโล่ง จะได้ปลูกต้นไม้ง่าย ๆ

ครั้งนั้นผมเข้าไปพบผู้นำ อธิบายต่าง ๆ นานา ยากที่จะเข้าใจครับ

ผมเรียนเชิญพาไปเดินดูป่าทุ่งหญ้าที่เค้าว่าเสริมโทรม ทั้งกลางวันกลางคืน ก่อนที่จะสายเกินแก้

มีสัตว์ป่าจำนวนมาก ผีเสื้อ แมลงต่าง ๆ สีสันสวยงาม กลุ่ม amphibians repties ที่เค้าไม่เคยเห็น  พืชชนิดต่าง ๆ ที่ขึ้นได้เฉพาะในป่าลักษณะอย่างนี้

นี่เป็นระบบนิเวศ ของมันอยู่แล้ว สิงมีชีวิตได้ปรับตัว เข้ากับพื้นที่ที่มันอยู่แล้ว ถ้าเราจะปรับเปลี่ยน เปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้เพื้อสนองความต้องการของเรา  ระบบนิเวศอย่างนี้ย่อมถูกทำลาย สิ่งมีชีวิตอาจจะสูญพันธุ์ไปจาก ถิ่นหรือโลกของเราก็เป็นได้

แนวความคิดที่จะไถพื้นที่ เพื่อปลูกป่า ได้เปลี่ยนไปแล้ว 

ที่แก่งกระจานผมไม่รู้ว่า เค้า ส.ว จะเปิดรับข้อมูล แนวคิด หรือลองฟังข้อมูลจากพวกเรามากน้อยแค่ไหน

ช่วยกันนะครับ

ไม่อยากให้มันเป็นค่านิยมที่ผิด อย่างการปลูกป่า การทำฝาย การยิงลูกไม้เข้าไปในป่า อีกหลายโครงการที่สังคมคิดว่าเป็นสิ่งที่ถูก ที่ควรทำ อันตรายมาก ๆ ครับ

ความเห็นที่ 8.1

ก็ที่ไปอัญเชิญท่านพี่มา ก็เพราะอยากได้แนวร่วม รวมถึงแหล่งข้อมูล หวังว่าทีมนิเวศป่าไม้ระยะยาวของพี่ จะช่วยเหลือได้

ความเห็นที่ 9

ขออย่างเดียว อย่าไปทำลาย ปล่อยให้ป่าเป็นไปตามธรรมชาติ  เมื่อไม่มีการทำลายก็ไม่ต้องไปปลูกครับ ใครเข้าไปที่อุทยานเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน ราชบุรี ช่วง 4 - 5 เดือนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ป่าและสภาพธรรมชาติถูกฝายและท่อส่งน้ำโดยรถแบคโฮเข้าไปจัดการซะเละเลย  ที่นี่ปกติมีอ่างเก็บน้ำอยู่แล้ว  แต่ทำไมต้องขึ้นไปสร้างฝายเพื่อต่อท่อส่งน้ำจากเหนืออ่างเก็บน้ำอีกก็ไม่รู้  เฮ้อ..

ความเห็นที่ 10

ช่วยกันส่งเสียงครับ ป่ามีวิถีของป่า หากไม่มีมนุษยื์ปวุ่นวาย มันจะกลับมาเป็นธรรมชาติที่เหมาะสมกับป่าเอง

ความเห็นที่ 11

ลองทำเป็นตัวอย่างสักแปลงไปเลยครับ แล้ววัดผลออกมา ผมกล้าท้าว่าไม่เกิดประโยชน์สักเท่าไหร่หรอก นิเวศวิทยาต้องภาพรวมแห่งสมดุล มองด้านเดียวแบบนี้เจ๊ง!... ห้ามไปเขาไม่อยากจะเชื่อหรอก ต้องยุให้ทำไปเล้ย และช่วยเอาผลมาตีแผ่ด้วย ... ต้องเข้าป่าไปตามดูสัตว์ป่าหน่อยครับว่าเขาใช้ประโยชน์จากเถาวัลย์ไม่น้อยกว่าไม่ยืนต้นหรอก ลองดูสัตว์ที่กินพืชเป็นหลักที่เขาอยู่ตามเรือนยอดก่อน เช่น ชะนี ลิง ค่าง นกเงือก พญากระรอก ฯลฯ อย่าเอาช้างอย่างเดียวมาเป็นบรรทัดฐาน ไปเดินแหงนคอตั้งบ่า ฝ่ารังเห็บ คลุกดงทาก ให้มดไต่ยุงตอมไปเลยครับ

ผมรับไม่อั้นครับ กี่ลังว่ามาเลย อิ อิ

ความเห็นที่ 12

แล้วกลุ่มอื่น ๆ เขามีความเห็นเรื่องนี้อย่างไรบ้างครับ สามารถเคลื่อนไหวแบบร่วมลงชื่อ หรือหาเครือข่ายร่วมกับส่งความเห็นต่างไปยังผู้เกี่ยวข้องได้หรือไม่ครับ

ความเห็นที่ 13

http://www.thairath.co.th/content/region/108456

 

http://www.thairath.co.th/content/region/108198

 

คืบหน้า

 

อยากได้ข้อมูลวิชาการเกี่ยวกับเรื่องนี้จัง ป่าที่จะทำโครงการ เห็นว่าเป็นป่าชั้นสอง

ความเห็นที่ 14

ถกกันไปกันมาก็ดีครับ รอดูดีกว่า ยิ่งทำอย่างเปิดเผยก็ยิ่งดีครับ แต่อย่างไรเสียก็อย่าลืมไปศึกษาหรือถามความเห็นจากหน่วยวิจัยและฟื้นฟูป่า (http://www.forru.org/) ด้วย น่าจะได้คำตอบดีๆ เพราะหน่วยงานเขานี้มีวิธีฟื้นฟูป่าไม่เหมือนใคร... มิฉะนั้นอาจจะได้ฮาตอนจบ

ความเห็นที่ 15

ป่าแถวๆน้ำตกพลิ้ว จันทบุรี ตราด  ก็เห็นมีเถาวัลย์คลุมแบบนี้มาตั้งนานแล้ว ก็ไม่เห็นเป็นไร ก็ปกติดี อยากรู้เหมือนกัน คนที่บอกว่า การมีเถาวัลย์นั้น ไม่เป็นธรรมชาติ ควรกำจัดน่ะ ช่วงชีวิตเขา ได้พบ ได้เห็นมาแล้วเหรอว่า ก่อนหน้านี้ หลายพัน หลายหมื่น หลายแสนล้านปี มันไม่เคยเป็นแบบนี้

มนุษย์ชอบอวดตัวว่าเก่ง รู้จักธรรมชาติ เข้าใจธรรมชาติ แต่แท้ที่จริงแล้ว เข้าใจแต่เรื่องที่ตัวเองคิด นึก และศึกษา เพียงเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น แล้วกำนดกฎเกณฑ์ขึ้นมา เพื่อบอกว่า สิ่งที่คิดคือธรรมชาติ หรือไม่ใช่ธรรมชาติ 

สิ่งที่ดีที่สุดคือ ปล่อยให้มันเป็นไปตามสิ่งที่ควรเป็น เพราะไม่มีใครรู้หรอกว่า วิธีบำบัดที่ดีที่สุดคืออะไร แต่สิ่งที่แน่ที่สุดคือ เข้าไปก้าวก่ายกับธรรมชาติให้น้อยที่สุดแหล่ะดี..

ความเห็นที่ 16

ป่าแถวๆน้ำตกพลิ้ว จันทบุรี ตราด  ก็เห็นมีเถาวัลย์คลุมแบบนี้มาตั้งนานแล้ว ก็ไม่เห็นเป็นไร ก็ปกติดี อยากรู้เหมือนกัน คนที่บอกว่า การมีเถาวัลย์นั้น ไม่เป็นธรรมชาติ ควรกำจัดน่ะ ช่วงชีวิตเขา ได้พบ ได้เห็นมาแล้วเหรอว่า ก่อนหน้านี้ หลายพัน หลายหมื่น หลายแสนล้านปี มันไม่เคยเป็นแบบนี้

มนุษย์ชอบอวดตัวว่าเก่ง รู้จักธรรมชาติ เข้าใจธรรมชาติ แต่แท้ที่จริงแล้ว เข้าใจแต่เรื่องที่ตัวเองคิด นึก และศึกษา เพียงเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น แล้วกำนดกฎเกณฑ์ขึ้นมา เพื่อบอกว่า สิ่งที่คิดคือธรรมชาติ หรือไม่ใช่ธรรมชาติ 

สิ่งที่ดีที่สุดคือ ปล่อยให้มันเป็นไปตามสิ่งที่ควรเป็น เพราะไม่มีใครรู้หรอกว่า วิธีบำบัดที่ดีที่สุดคืออะไร แต่สิ่งที่แน่ที่สุดคือ เข้าไปก้าวก่ายกับธรรมชาติให้น้อยที่สุดแหล่ะดี..

ความเห็นที่ 17

เราต้องเข้าไปช่วยครับ ช่วยกำจัดคนที่จะไปตัดเถาวัลย์น่ะ

ถ้ารู้ว่ามีความรู้ความสามารถแค่นี้ก็เป็น สว.ได้ ผมให้คนขับรถของผมไปเป็นแล้ว แล้วดูเหมือนเขาจะเข้าใจป่ามากกว่าซะอีก

ความเห็นที่ 17.1

+1
 

ความเห็นที่ 18

เอาไงดีครับพวกเรา ผมสงสัย เห็นมีอ้างนักวิชาการบ้างท่าน ที่เขาบอกว่านักอนุรักษ์ให้การยอมรับออกมาสนันสนุน  หรือจริง ๆ แล้ว พวกเรายังไม่ได้เข้าไปในพื้นที่เลยไม่เห็นสภาพ

ความเห็นที่ 18.1

งั้นไปกันโลด..

ลองถามน้องๆที่ไปเยือนไม่นานมานี้ดูสิครับ

ความเห็นที่ 19

ผมว่าคีย์อยู่ที่ว่า "เถาวัลย์" ที่ว่า มันอะไร ถ้าเป็นพวกเอเลี่ยน หรือไม้เถาเอเลี่ยนอย่าง ม่านบาหลี สนับสนุนให้เอาออกครับ ถ้าไม่ใช่ก็ต้องขอค้านเต็มที่

ความเห็นที่ 20

พอได้ฟังเรื่องราวก็นึกขำอยู่เหมือนกัน ขึ้นชื่อว่านักอนุรักษ์จะไปถกไปตัดเถาวัลย์ออกจากป่า

เอาส่วนคิด

แต่ที่แน่ ๆ เค้ามีภาพถ่ายทางอากาศโดยการขึ้น ฮอ ถ่ายรูป เดินสำรวจ ประมาณการแล้ว 200,000 ไร่ เป็นป่ารุ่นสอง ซึ่งเคยถูกสัมปทานป่ามาแล้ว มีไม้ขึ้นทดแทน ส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณ และคืบเข้าป่าดิบแล้ง เค้าว่าอย่างนั้น

เถาวัลย์ที่ผมเคยเห็นปกคลุมต้นไม้ ในป่าดิบแล้งเกิดจากไฟป่าเข้าทำลาย ทำให้ไม้ที่มีโคร่งสร้างไม่ทนไฟตายเป็นจำนวนมาก ยืนต้นตาย โค่นล้มกันเป็นจำนวนมาก ขี้เถ้าสูงเกือบถึงเข่า ไม่นานเถาวัลย์ขึ้นปกคลุมเขียวเต็มพื้นที่ เป็นธรรมดาครับ เมื่อเกิดช่องว่าง พื้นที่ถูกเปิด กลุ่มไม้เบิกนำก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น ส่วนไม้เดิมที่ตาย หรือยืนต้นตายก็ถูกปกคลุมด้วยเถาวัลย์ แต่เมื่อเราปล่อยให้เวลาผ่านไป ลูกไม้เดิมก็เริ่มเติบโต จนในที่สุดกลุ่มไม้เบิกนำก็จะหายไปเอง ด้วยปริมาณแสงที่ลดลง ในป่าเป็นเช่นนี้เสมอ มีการการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

แต่ที่แก่งกระจานสาเหตุเราต้องรู้ว่าเถาวัลย์ นั้นเป็นชนิดอะไร เป็นพื้นต่างถิ่นหรือเปล่า อันนี้ต้องมีข้อมูล ข้อมูลการเกิดไฟป่า แต่ได้ข่าวว่ามีการกันไฟมาแล้ว หลายปี จากที่พื้นที่เคยมีไฟป่าอยู่แล้ว การกันไฟก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของเถาวัลย์ที่มีปริมาณมากก็เป็นได้

การแก่ปัญหาโดยการตัดทำลาย ไม่มีประโยชน์ครับ เดี๋ยวมันก็ขึ้นมาใหม่

หรือจะตัดถางปลูกหญ้าให้ช้างอันนี้ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ยิ่งเพิ่มปัญหาให้พื้นที่ ช้างกับคน คนกับช้าง ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยมีปัญหามาก่อน คิดให้หนัก

หรือจะลองวางแปลงทำงานวิจัยเปรียบเทียบหลาย ๆ แบบ เพื่อดูแนวทาง ผลกระทบให้น้อยที่สุด ก็จะต้องไปคิดกัน

ความเห็นที่ 21

อ่ะ....น่าปวดหัวจริง  จะลองวางแปลง ตรงไหนดีครับ  แล้วจะกลายเป็น "ขอให้ทำให้ถูกระเบียบการเข้าวิจัยในพื้นที่" หรือเปล่า

ความเห็นที่ 22

วันนี้ข่าวประเด็นเด็ด 7 สี รายงานว่า  เจ้าหน้าที่ที่แก่งกระจานได้ทำการตัดเถาวัลย์กันแล้วอะค่ะ

ใช้งบประมาณกว่า 1 ล้านบาท @_@