เพิ่งได้เจ้ายักษ์มาใหม่ Bathynomus kensleyi

หายหน้าไปนานเลย เมื่อปลายปีที่แล้ว พี่น็อตและอ.จารุวัฒน์ ประสานกับดร. ณฐินี ศุกระมงคลแห่งศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บอกเราเบาๆ ว่ามีตัวอย่างน่าสนใจ เลยไปแอบมอง เนื่่องจากไม่ได้เข้ามานานแล้ว ขอฟื้นความรู้เบื้องต้นสักเล็กน้อย

แมลงสาบทะเลหรือ ไอโซพอด เป็นสัตว์กลุ่มเดียวกับ กุ้ง ปู แต่ต่างกันตรงที่มันไม่มีกระดอง มีลักษณะเด่นคือ ส่วนใหญ่ตัวแบนลง หัวมีขนาดเล็กและมีตาแบบประกอบไม่มีก้านตา มีหนวดสองคู่ ทั้งตัวแบ่งเป็น 3 ส่วนคือหัว อก และท้อง ปล้องอกมี 7 ปล้อง แต่ละปล้องมีขาเดิน ขาเดินทั้ง 7 คู่มีลักษณะคล้ายกันเป็นที่มาของชื่อไอโซพอด (iso-เหมือนกัน pod-ขา) ขาของแมลงสาบทะเลไม่เป็นก้ามต่างจากกุ้งหรือปู ส่วนท้องเชื่อมรวมกันกับหางเรียกว่า pleotelson  ปล้องท้อง 6 ปล้อง มีขาว่ายน้ำมีลักษณะเป็นสองแฉก  ซึ่ง 5 ปล้องแรกใช้ในการหายใจด้วย และขาคู่สุดท้ายเปลี่ยนเป็นรูปพัดหรือเป็นแท่งเรียกว่า uropod  แมลงสาบทะเลมีหัวใจอยู่บริเวณส่วนท้อง
 เราจะพบแมลงสาบทะเลทั้งในทะเลตั้งแต่บริเวณชายฝั่ง ไปจนถึงที่ลึก ในน้ำจืดหรือบนบก เช่น ตัวกะปิ มีทั้งกลุ่มที่ดำรงชีวิตเป็นอิสระ และเป็นปรสิตดูดเลือดกุ้ง ปลา มีขนาดตั้งแต่ 1 มม.ไปจนเจ้ายักษ์ที่เราเห็นอยู่นี้มีขนาดใหญ่ได้ถึง 55 ซม.เลยทีเดียว


รูปแมลงสาบทะเลแบบทั่วๆ ไป เบสิคๆ
http://www.wallawalla.edu/academics/departments/biology/rosario/inverts/...

Comments

ความเห็นที่ 1

แมลงสาบทะเลทั่วไปจะมีขนาดไม่เกิน 2 ซม.แต่เจ้ายักษ์ตัวนี้เป็นสมาชิกสกุล Bathynomus พบตั้งแต่ที่ลึก 200 ม.ขึ้นไป และมีขนาดใหญ่ โดยแบ่งเป็นสองกลุ่มคือกลุ่มยักษ์ธรรมดา (Giant) ที่มีขนาดตัว 10-30 ซม.และกลุ่มยักษ์ใหญ่ (Super giant)มีขนาดตั้งแต่ 30 ซม.ขึ้นไป ทั่วโลกตอนนี้มีรายงานทั้งหมด 18 ชนิด กระจายอยู่ทั่วโลก ในประเทศไทยมีรายงานเพียงตัวเดียวคือ Bathynomus lowryi Bruce&Bussarawit, 2004 เก็บได้ที่ความลึก 690 ม.ในปี 2542 โดยเรือสำรวจจักรทอง ทองใหญ่ ผู้เก็บได้เป็นนักวิชาการประจำพิพิธภัณฑ์สัตว์และพืชทะเลแห่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง คือ ดร. จรัสศรี อ๋างตันญา และนางสาววราริน วงษ์พานิช

รูป Bathynomus lowryi
otherspics_reply_39620.jpg

ความเห็นที่ 2

ส่วนเจ้ายักษ์ของเราตัวนี้ชื่อว่า Bathynomus kensleyi Lowry&Dempsey, 2006 เป็นแมลงสาบทะเลยักษ์ที่มีรายงานการพบในแถบทะเลจีนใต้ อินโดนีเซีย และนอกฝั่งตะวันออกของออสเตรเลีย ได้รับมาจากเรือ MV. SEAFDEC แห่งกรมประมง โดยเป็นผลพลอยได้จากการวิจัยเก็บตัวอย่างสัตว์น้ำโดยใช้การวางลอบน้ำลึก โดยในลอบนี้จะมีเหยื่อเป็นปลา เจ้าแมลงสาบทะเลยักษ์ซึ่งเป็นกลุ่มที่กินซากอินทรียสารและในบางครั้งอาจจะล่าสัตว์ที่มีขนาดเล็กกว่ากินเป็นอาหาร มันจะเข้าไปกินปลาในลอบ นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าปลาน่าจะตายก่อนแล้วจึงโดนแมลงสาบยักษ์เข้ามากิน โดยจะเข้ามารุมกันเป็นฝูง ในบางแห่งเช่นประเทศญี่ปุ่น มันทำความเสียหายให้กับสัตว์น้ำเพราะกินปลาที่เข้าลอบจนหมด แม้แต่ปลาฉลามมันก็ยังกินจนเหลือแต่หนังหนาๆ ที่มันกินไม่ได้ โดยจะเกิดความเสียหายเฉพาะลอบที่อยู่ลึกกว่า 200 ม.เท่านั้น
bathynomus_kensleyi_m_resize_resize.jpg

ความเห็นที่ 2.1

แก้ไขเนื้อหา เรือ MV SEAFDEC แห่ง  ศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SOUTH EAST ASIAN FISHERIES DEVE LOPMENT CENTER) เป็นองค์กรอิสระระหว่างประเทศ ที่จัดตั้งขึ้นภายใต้สนธิสัญญารวม 10 ประเทศ และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมประมง

ความเห็นที่ 3

ลักษณะสำคัญของเจ้าตัวนี้ คือเป็นสองตัวในโลกที่ปลายหางจะชี้งอนๆ เหมือนกำลังฟ้อนรำ ในโลกก็มีอยู่สองชนิดที่เป็นแบบนี้คือ B. kensley แล B. lowryi
รูปนี้ฝีมือการถ่ายของน้องกาสะลอง โดย G10 ถ่ายที่ aquarium  ที่สิงคโปร์

img_5746_resize.jpg

ความเห็นที่ 4

ด้านข้าง
img_5737_resize.jpg

ความเห็นที่ 5

ตัวผู้กับตัวเมีย แยกออกจากกันได้จากด้านท้อง ตัวผู้ (รูปบน) ก็จะมี gonopod เล็กๆ ที่ปล้องอกปล้องที่ 7 หรือมี appendix musculina ที่ขาว่ายน้ำคู่ที่ 2 ตัวเมียจะมีแผ่นอุ้มไข่ (รูปล่าง)
bathynomus_kensleyi_m2_resize_resize.jpg bathynomus_kensleyi_fm2_resize_resize.jpg

ความเห็นที่ 6

กล่าวกันว่าเรายังรู้จักท้องทะเลไม่เท่ากับที่เรารู้จักฟากฟ้านอกโลกออกไป นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับทะเล ยังค้นพบสิ่งใหม่ๆ อันน่าประหลาดใจได้ทุกวัน ในท้องทะเลอันไพศาลนี้ยังมีความลับมากมายรอการค้นหา และมีสเน่ห์ในความลี้ลับไม่แพ้ที่อื่นใดในโลกนี้
 
 
เอกสารอ้างอิง
Bruce, L. N. and S. Bussarawit. 2004. Bathynomus lowryi sp. Nov. (Crustacea: Isopoda: Cirolanidae), the first record of the 'giant' marine isopod genus, from Thailand. Phuket Marine Biological Center Research Bulletin. 65:1-8.
Lowry, J.K. & Dempsey, K. (2006) The giant deep-sea scavenger genus Bathynomus (Crustacea, Isopoda, Cirolanidae) in the Indo-West Pacific, in Richer De Forges, B. & Justine, J.-L. (eds). Tropical Deep-Sea Benthos, volume 24. Mémoires du Muséum national d’Histoire naturelle, 193, 163–192.


จบแล้ว ลงท้ายด้วยภาพพะยูนตัวเป็นๆ ถ่ายได้ที่เกาะพยาม
img_5305_resize.jpg

ความเห็นที่ 7

ขอบคุณสำหรับความรู้ เอาไปทำเป็นบทความเลยได้ไหมครับ?

พยูนภาพนี้ไม่ได้มาตรฐานผอมไปหน่อย...ไม่งั้นจะเอาไปลง Species index แล้วกำลังหาอยู่เลย

ความเห็นที่ 8

ได้ความรู้มากเลยครับ ขอบคุณครับ

ปล สนับสนุนให้ลงเปนบทความด้วยคนครับ

ความเห็นที่ 9

แล้วแต่พี่นนณ์เลยค่า ถ้าอยากได้รูปอะไรเพิ่มก็แจ้งมาเลยค่า เดี๋ยวออมส่งไปให้

ความเห็นที่ 10

ขอบคุณสำหรับความรู้ดีๆ ครับพี่ ทำเป็นบทความไปเลยครับ

ความเห็นที่ 11

น่าสนใจมากครับพี่ อยากเห็นตอนมันรุมกินปลาจัง น่าจะโหดเอาการ ไปหามาโชว์บ้างดีกว่าเด็กน่าจะสนใจเยอะ

ความเห็นที่ 11.1

ในสารคดี Planet Earth ของ BBC ตอนที่เกี่ยวกับทะเลลึกจะมีภาพแบบที่ว่าอยู่นะ

ความเห็นที่ 12

พอเห็นรูปใต้ท้องแล้วนึกถึง แมงดา ทะเล

ความเห็นที่ 13

เคยไปดูตัวที่เก็บไว้ที่แหลมพันวา อึ๋ย ๆๆๆๆๆ สยอง

ความเห็นที่ 14

เคยไปเก็บตัวเป็นๆมาสังเวยเจ้าแม่มาแล้ว ก่อนโดนไต้ฝุ่นถล่มที่ฟิลิปปินส์

ความเห็นที่ 14.1

ง่ำ ตัวเป็นๆ ชักแหง่กๆ แล้วก็มาเลี้ยงในแอลกอฮอล์ เป็นแมลงสาบดองเหล้า อิอิ

ความเห็นที่ 15

อุตส่าห์หลงนึกว่าเป็นนิว ตัวของ SEAFDEC

ความเห็นที่ 16

ตามมาเก็บความรู้ใส่สมองน้อยๆด้วยคน
พี่เบิ้มจริงๆด้วย เห็นภาพแล้วจินตนาการว่าเราจะยกมันไหวมั้ย ใหญ่จริงๆ