ปะการังฟอกขาว เราช้าไปทุกมิติของการศึกษา และการจัดการทรัพยากร

บทความนี้ยกมาจาก facebook ของอ. ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง นักวิจัยด้านนิเวศน์วิทยาปะการังแห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งติดตามปัญหานี้มาตั้งแต่เริ่มเกิดและมองปัญหาเรื่องนี้รอบด้าน ทั้งมิติทางวิทยาศาสตร์และสังคม ขออนุญาตตั้งกระทู้ใหม่นะคะ
อ้างอิงจาก http://www.facebook.com/#!/note.php?note_id=500639092200&id=100000708994198

ปะการังฟอกขาว  เราช้าในมิติของการศึกษา การจัดการเตรียมรับสถานการณ์ และการจัดการทรัพยากร

 

วันนี้ มีข่าวกรมอุทยานฯ จะปิดอุทยานแห่งชาติ เป็นเรื่องฮือฮากันมาก 

  

แต่สำหรับผม มันช้าไปหน่อย

 

 

นักวิชาการเตือนก่อนหน้านี้นานแล้ว ว่าสถานการณ์ปะการังฟอกขาววิกฤตมาก จะต้องรีบดำเนินการแก้ไขปัญหา แต่ในช่วงที่ผ่านมา กรมอุทยานฯเอง ก็ไม่มีความชัดเจนในการประเมินสภาพปัญหา และการรับรู้สภาพปัญหาเพื่อเตรียมการรองรับ

 

นักวิชาการพร้อมที่จะช่วยมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม แต่ก็ได้แต่คุยกันไปมา ในทางปฏิบัติไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะไม่มีงบประมาณทำงาน

ทุกวันนี้ เราจึงยังไม่สามารถสำรวจได้ทุกพื้นที่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมีงบประมาณก็ค่อยๆ ทำไป แต่นักวิชาการที่พร้อมจะช่วยเหลือ ไม่มีงบประมาณ ได้แต่เฝ้าดู

เป็นเรื่องน่าเสียดาย เรามีคนพร้อมจะทำงาน แต่ไม่มีโอกาส

 

พวก เราจัดประชุมกันเพื่อระดมความคิดเห็นจากนักวิชาการทุกสถาบัน และออกเงินไปก่อนล่วงหน้า ตั้งแต่เดือนตุลาคม ชี้แจงให้เห็นปัญหาของปะการังฟอกขาว  เงินที่สำรองจ่ายไปแล้ว เพิ่งจะออกมาจากกรมฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เป็นเงินของการประชุม ไม่ใช่เงินค่าใช้จ่ายในการสำรวจ  การสำรวจ ก็ต้องออกไปเองก่อน แล้วค่อยตามเบิกทีหลัง

 

ในมิติของการเตรียมการรองรับสถานการณ์  เรารู้แล้วว่าสถานการณ์จะเลวร้าย ปะการังหลายบริเวณตายไปตั้งแต่เดือนกันยายน ตุลาคมที่ผ่านมา และเราก็ทำนายผลกระทบจากการท่องเที่ยวไว้แล้ว  แต่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้เตรียมการอะไรเลยที่จะบรรเทาผลกระทบ เช่น ถ้าต้องปิดจุดดำน้ำ แล้วจะทำอย่างไรต่อ 

 

ข้อเสนอแนะ เช่น การจัดทำปะการังเทียมเพื่อชดเชยแหล่งดำน้ำ ให้ปลาเข้ามาอยู่อาศัย  ก็ยังถกเถียงกันว่า ปะการังเทียมเป็นสิ่งแปลกปลอม เป็นขยะ  นักวิชาการในกรมอุทยานแห่งชาติ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ยังแบ่งเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งให้สร้าง อีกฝ่ายไม่ให้สร้าง

 

หรือ ถ้าเราต้องปิดอุทยานแห่งชาติจริงๆ ก็ไม่ได้หมายความว่า จะปิดทุกแห่ง  แนวปะการังหลายบริเวณก็ยังอยู่ในสภาพที่ดี อย่างหมู่เกาะอาดัง ราวี ก็ยังมีสภาพที่ดีอยู่ ยังรองรับนักท่องเที่ยวได้ ยกเว้นบริเวณหาดทรายขาว ของเกาะราวี จะต้องปิด และต้องไม่ไปพัฒนาสิ่งก่อสร้างห้องน้ำ ห้องส้วม ร้านอาหาร ที่พัก ในบริเวณหาดทรายขาว ทุกวันนี้ หาดทรายขาวเปิดท่องเที่ยวกันอย่างไม่สนใจว่าแนวปะการังตรงนั้น ตายไปแล้ว ต้องการการดูแลให้มันฟื้นตัวเอง ไม่ใช่การซ้ำเติม

 

หมู่ เกาะสุรินทร์ ถือว่าวิกฤติหนักที่สุด ถ้าจะต้องปิดทั้งอุทยานฯ ก็ต้องปิด  เพราะเสียหายมากที่สุด แต่ถ้ากลัวผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยว ก็ต้องกำหนดกิจกรรม กำหนดสถานที่ให้เหมาะสม

 

ส่วนสิมิ ลันนั้น จุดดำน้ำลึกยังพอมีให้ใช้ได้ แต่ไม่ทุกจุด และต้องควบคุมอย่างเข้มงวด อย่าไปสร้างปัญหาซ้ำเติม จากของเสียจากเรือ การเหยียบย่ำ การให้อาหารปลา  การทิ้งเศษอาหารลงทะเล  

ส่วนจุดดำน้ำ ตื้น และบริเวณที่เป็นแนวปะการังแข็งทั้งหมดของหมู่เกาะสิมิลัน ต้องปิด เช่น เกาะหนึ่ง เกาะสอง เกาะสาม ต้องปิดอยู่แล้วเพราะเป็นเขตสงวนอย่างเข้มงวด   แต่ที่ต้องปิดเพิ่มเป็นการชั่วคราวอย่างน้อย 3 ปี ได้แก่ ทางฝั่งตะวันออกของเกาะแปด เกาะเจ็ด

 

หมู่เกาะพีพี ต้องปิดหลายบริเวณ เช่น บริเวณที่ตื้นของเกาะไผ่ เกาะกลาง แนวปะการังทางทิศตะวันออกของเกาะพีพีดอนตั้งแต่ใต้อ่าวต้นไทรไปจนถึงแหลมตง และอ่าวมาหยา เกาะพีพีเล

ในภาพรวมของการท่องเที่ยวทางฝั่งอันดามัน  เราอาจจะต้องย้ายนักท่องเที่ยวลงไปทางหมู่เกาะอาดัง ราวี และใช้มาตรการต่างๆ ควบคุมไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปสร้างความเสียหาย  ต้องส่งคนลงไปดูแลมากขึ้น เรือตรวจ ทุ่นจอดเรือ

 

ส่วนในมิติของการจัดการทรัพยากร...

 

วันนี้ ต้องยอมรับกันว่า ประเทศไทย ใช้คนที่ไม่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล ไปบริหารจัดการแนวปะการัง อย่างเช่น แนวปะการังของประเทศอยู่ในอุทยานแห่งชาติเกือบครึ่ง 

 

แต่ถาม ว่า วันนี้ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ มีทีมงานที่รู้เรื่องแนวปะการัง และการจัดการแนวปะการังหรือเปล่า  หัวหน้าอุทยานฯแห่งชาติ เข้าใจหรือเปล่าว่าจะจัดการแนวปะการังอย่างไร

 

ทุกวันนี้ ได้แต่บอกว่า รอนักวิชาการข้างนอกเข้าไปสำรวจ แต่ถามว่า มีงบประมาณให้นักวิชาการทำงานหรือเปล่า

 

แล้ว ทำไม เจ้าหน้าที่ประเมินสถานการณ์กันเองไม่ได้  แค่ลงน้ำไปก็รู้แล้ว ว่าปะการังตรงไหนตายบ้าง เว้นแต่ว่า ไม่มีคนที่รู้จักปะการังว่า ลักษณะไหนที่ยังมีชีวิต ลักษณะไหนที่ตายแล้ว และยังประกาศออกสื่อว่าปะการังหายจากการฟอกขาวแล้ว พร้อมรับนักท่องเที่ยว ทั้งๆ ที่ความจริง คือ ปะการังหายฟอกขาว แต่ตายแบบยืนต้น ตายเกือบหมดทั้งอ่าว

 

ในช่วงที่ผ่านมา นักวิชาการต้องขอเข้าไปดูไปศึกษา ออกเงินเข้าไปทำงานกันเองทั้งค่ารถ ค่าเรือ ค่าใช้จ่ายต่างๆ และเมื่อมีข้อมูลออกมาแล้วก็ไม่มีใครสนใจ จนกระทั่งนักท่องเที่ยวเข้าไปเห็นเอง เผยแพร่ออกมาตามสื่อต่างๆ เจ้าหน้าที่ถึงได้มีการตื่นตัว

 

การบริหารจัดการอุทยาน แห่งชาติในทุกวันนี้ เราเน้นแต่การบริหารจัดการคน บริหารจัดการนักท่องเที่ยว บริหารจัดการเงินรายได้ต่างๆ ทำอย่างไร ให้นักท่องเที่ยวพึงพอใจ ทำอย่างไร จะมีนักท่องเที่ยวมาพัก แล้วเกิดความสบาย ทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวมีอาหารทะเลกิน  และทำอย่างไรถึงจะเก็บเงินค่าธรรมเนียมต่างๆ เข้ารัฐ  และยังค่าอาหาร ค่าที่พัก ที่อยู่นอกระบบอีกเท่าไร การพัฒนาบนเกาะต่างๆ เกิดขึ้นมากมายเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว และมีเป้าหมายเพื่อหารายได้  แต่ทรัพยากรใต้น้ำ ไม่ค่อยสนใจจะดูแล

 

กรม อุทยานแห่งชาติ มีแนวทางการคัดเลือกหัวหน้าอุทยานแห่งชาติทางทะเลต่างๆ อย่างไร คนที่จะมาเป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติทางทะเล ควรมีความรู้และประสบการณ์อะไรบ้าง

 

ทุกวันนี้กลายเป็นว่า ส่งใครก็ได้ที่สามารถบริหารจัดการคน และงบประมาณเข้าไปเป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติทางทะเล

 

น่าเสียดายที่เราจำใจ... ต้องฝากฝังทรัพยากรธรรมชาติที่ดีที่สุดของประเทศและภูมิภาค

ไว้ในมือของกลุ่มคนที่ไม่รู้จักแนวปะการังเลย


Comments

ความเห็นที่ 1

ไม่รู้ว่าอาจารย์ท่านนี้หรือเปล่า ออกมาบอกกับสังคมตรง ๆ ว่า การปลูกประการัง ที่เอกชนชอบทำ ๆ กันนั้น มันได้ไม่คุ้มเสีย

ความเห็นที่ 2

เห็นข่าวว่า ฟอกขาวไปแล้วสิบกว่าเปอร์เซ็นของทั้งโลก

ความเห็นที่ 3

นึกถึงคำพูดหนึ่งของท่าน อ.ศิลป์ พีระศรี ที่ท่านพูดกับคนไทยเสมอว่า "พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว"
 

ความเห็นที่ 4

รายงานเบื้องต้น
ผลกระทบจากการเกิดปะกังฟอกขาวปี 2553
โดย กลุ่มชีววิทยาและนิเวศวิทยาทางทะเลและชายฝั่ง
สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน
http://www.pmbc.go.th/sites/default/files/white%20coral.pdf