ข่าว "เถาวัลย์ถล่มป่าแก่งกระจาน" คว้ารางวัล "ข่าวยอดเยี่ยม" ของ "ไทยรัฐ"

ข่าว "เถาวัลย์ถล่มป่าแก่งกระจาน"  คว้ารางวัล "ข่าวยอดเยี่ยม" ของ "ไทยรัฐ"

พื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีเนื้อที่ป่าใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จำนวน 1.8 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ จ.เพชรบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์

นับเป็นผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ในระบบนิเวศวิทยา และเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด รวมทั้งเป็นป่าต้นน้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำเพชรบุรี หล่อเลี้ยงชาว จ.เพชรบุรีและใกล้เคียง ถือเป็นป่าสำคัญแห่งภาคตะวันตก ได้ถูกประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อปี 2524 และเป็นป่ามรดกของอาเซียน ในปี 2526

นอกจากนี้กำลังเป็นอุทยานแห่งชาติที่ได้รับการเสนอให้เป็นมรดกโลก ร่วมกับ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และ อุทยานแห่งชาติไทยประจันต์

ผืนป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ประสบปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงของพันธุ์ไม้เลื้อยหลากหลายชนิด โดยเฉพาะเถาวัลย์มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ปกคลุมเรือนยอดของต้นไม้ลุกลามเหมือนผืนผ้าขนาดใหญ่ แล้วฉุดรั้งดึงเอากิ่งจากต้นไม้ใหญ่หักโค่นลงหรือยืนต้นตาย

อันเป็นผลมาจากต้นไม้ไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ เพราะว่าถูกเถาวัลย์ ปกคลุมแน่นจนแสงสว่างเข้าไปไม่ถึงต้นไม้ ทั้งในป่าทุ่งหญ้าที่เป็นอาหารสัตว์ป่าเดิม ต้นไม้ในป่าดงดิบและป่าเบญจพรรณ ส่งผลให้สัตว์ป่าขาดแคลนอาหาร อีกทั้งถูกเถาวัลย์ปิดกั้นทางเดินในป่า สัตว์ใหญ่จึงต้องออกมาหากินนอกป่า สร้างความเดือดร้อนให้กับมนุษย์ นอกจากนี้สัตว์ป่าบางชนิดย้ายถิ่นฐานไปที่อื่น และพืชสมุนไพรในป่าหลายชนิดลดน้อยลง

นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้เฝ้าสังเกตปรากฏการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ   พบว่าเถาวัลย์ได้รุกป่าแก่งกระจานไปแล้วร้อยละ 30 หรือประมาณ 360,000 ไร่ จากผืนป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน  1.8  ล้านไร่  รวมทั้งได้ทำเรื่องเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับสูงให้จัดสรรงบประมาณมาแก้ไขปัญหา แต่ยังไม่ได้รับการสนองตอบ

เนื่องจากยังยึดถือความเชื่อเดิมว่า ธรรมชาติจะสามารถจัดการระบบได้ด้วยตนเอง ซึ่งขัดแย้งกับสภาพความเป็นจริงของธรรมชาติที่กำลังเกิดขึ้นมาในช่วง 3-4 ปี

นสพ.ไทยรัฐ จึงได้เริ่มเสนอข่าวในหน้า 1 ฉบับวันที่ 30 ส.ค.2553 และนำเสนอติดต่อกันทั้งในหน้า 1 และหน้าใน เป็นเวลา 2 เดือนเศษ ได้กระตุ้นให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กล้าที่จะเข้าไปสำรวจและแก้ไขปัญหาเถาวัลย์อย่างจริงจัง

จนกระทั่งมี นักวิชาการจากองค์กรใน จ.เพชรบุรี, มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, มูลนิธิโลกสีเขียว และนักวิชาการจากธนาคารเอดีบี ออกมาสำรวจและยืนยันว่าเป็นปัญหาที่วิกฤติ ถ้าปล่อยให้ธรรมชาติแก้ไขจะใช้เวลาถึง 100 ปี รวมทั้ง น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี เป็นแกนนำและนำปัญหาไปอภิปรายในรัฐสภา

ต่อมา นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งการให้ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำทีมลงไปตรวจสอบด้วยตนเอง และพบว่าเป็นปัญหาที่ต้องรีบแก้ไข
โดยตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาวิจัย และให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานดำเนินการตัดสางเถาวัลย์ เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศวิทยากลับคืนมา พร้อมทั้งทำแผนแก้ไข 3 ระยะยาว ใช้งบประมาณปี 2554-2565 โดยได้รับการชื่นชมจากต่างประเทศ ยึดเอาเป็นแบบอย่างหรือโมเดลระดับโลกในการแก้ไขปัญหาไฟป่า

การนำเสนอข่าวของ นสพ.ไทยรัฐ ยังได้เสนอข่าวในอีกมิติหนึ่งที่ให้ความรู้เชิงวิชาการแก่ผู้อ่าน ทั้งเรื่องป่าไม้ พันธุ์พืช วงจรชีวิตของสัตว์ ระบบนิเวศวิทยาในป่า ตลอดจนการเข้าไปท่องเที่ยวทัศนศึกษาในป่าอย่างถูกวิธี และเป็นการสะท้อนให้นักวิชาการที่ยึดติดแต่วิชาการไม่ได้ลงพื้นที่ไปดูข้อเท็จจริง ได้รับรู้ว่าธรรมชาติมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา มนุษย์จำเป็นต้องเรียนรู้จากธรรมชาติเพื่อรักษาระบบนิเวศวิทยาของป่าไว้

ข่าวนี้จึงเป็นข่าวที่มีคุณค่าในการพิทักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน

กองบรรณาธิการ นสพ.ไทยรัฐ จึงพิจารณาให้ข่าวนี้ได้รับ รางวัล "ข่าวยอดเยี่ยม ประจำปี 2553" ของ นสพ.ไทยรัฐ

ผลงานการทำข่าวของ "ทีมเฉพาะกิจ" ผู้สื่อข่าวไทยรัฐกลุ่มเจ้าอินทรี (ภาคกลาง) ได้แก่ นายเด่นชัย เด่นชัยประดิษฐ์ ผู้สื่อข่าว จ.สุพรรณบุรี ประธานกลุ่มฯ นายธีรพร ชูก้าน ผู้สื่อข่าว จ.สุพรรณบุรี และ นายสรวุฒิ จงสกุล ผู้สื่อข่าว จ.กาญจนบุรี.


Comments

ความเห็นที่ 1

สุดยอดดดดดดดดดดดด ครับ

ความเห็นที่ 2

สภาพอากาศ มันเหมาะสม ป่าจึงเกิด แล้ววงจรจึงเริ่มขึ้นส่งเสริมกัน ถ้าวันหนึ่ง เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์บางอย่าง ฝนไม่ตกตรงนั้นอีกแล้ว ป่าเดิม ก็หายไปแล้วได้ป่าอีกแบบมาแทน

ภูมิอากาศเป็นตัวกำหนดรูปแบบของป่า ไม่ใช่หรอ ไม่ใช่ป่าหรือเถาวัลย์ไปกำหนดสภาพป่า
พืชพรรณในป่าอะไรอยู่รอดได้ ก็ขึ้นอยู่กับอะไรต่างๆที่ซับซ้อนในระบบนิเวศป่านั้นๆ ไม่ใช่หรือ

เถาวัลย์มันขึ้น เพราะระบบมันเอื้อให้ขึ้น ไม่ใช่หรือ

ว่าแต่ ศึุกษารู้ผลกันเร็วจังเนอะ

อยากเห็นผลการศึกษาจัง


ผมมันสายงานอื่น ไม่ค่อยรู้อะไร อยากอ่านประดับความรู้สักหน่อยครับ
(ทำไมเราคุ้นๆว่ามีแต่คนค้านวะ)

ความเห็นที่ 2.1

กดไลค์

ความเห็นที่ 3

ถ้าหมายถึงข่าวที่ทำให้คนสนใจในวงกว้างและก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ก็ต้องยกให้เป็นข่าวที่ใหญ่ครับ แต่ถ้าพูดในเรื่องความถูกต้องของข่าวก็อีกเรื่องหนึ่ง

ความเห็นที่ 4

เหอๆๆ

ความเห็นที่ 5

เมื่อวาน 3 มีค. 54 ผมเปิดเจอหน้า 4 ไทยรัฐเขียนชมว่าข่าวนี้...ดีอย่างโน้นอย่างนี้...
ผมแทบกินข่าวไม่ลง ผมไม่ได้อคตินะครับ แต่ผมเห็นว่ามันเกินไป
เพราะข่าววิทยาศาสตร์(สิ่งแวดล้อม)ต้องเป็นข่าวที่รองรับเหตุผลทางวิทยาศาสตร์บ้าง นี่คุณเล่นตั้งเอง ชงเอง กินเอง แล้วสังคมเราจะพัฒนาไปได้อย่างไร เรามองแต่เปลือก ไม่เคยรู้ลึกถึงแก่น (เหมือนที่คนไทยพุทธนับถือแต่เปลือก บางท่านยังเอาพิธีการนอกศาสนามากราบไหว้บูชาอีก)
ผมเลยรู้สึกแย่...เอ้อออออ

ความเห็นที่ 6

ทุกๆปีประมาณเดือนกุมภาพันธ์ที่โรงพิมพ์ไทยรัฐจะมีการประชุมสัมมนามอบรางวัลข่าวยอดเยี่ยม และจัดงานเลี้ยงรื่นเริงสามัคคีให้แก่ผู้สื่อข่าวต่างจังหวัดอยู่เสมอๆ

ผมเห็นว่าเป็นกิจกรรมภายในจึงมิได้นำมาเขียนบอกกล่าวในคอลัมน์นี้ แม้ผมจะไปร่วมในการประชุมสัมมนาด้วยทุกครั้งก็ตาม

แต่สำหรับการประชุมปีนี้ที่เพิ่งผ่านไปเมื่อวันเสาร์ ผมพบว่าข่าวของผู้สื่อข่าวต่างจังหวัดที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมปีนี้ เป็นข่าวที่น่าสนใจอย่างมาก

นอกจากน่าสนใจแล้วยังนึกไม่ถึงว่านักข่าวต่างจังหวัดในปัจจุบันจะมีความสนใจในเรื่องราวประเภทนี้ และเกาะติดอย่างเอาจริงเอาจัง

ขออนุญาตหยิบยกมาบอกกล่าวเล่าสิบให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบเอาไว้ด้วยนะครับ

ข่าวภูมิภาคยอดเยี่ยมของเราปีนี้ได้แก่ข่าว "เถาวัลย์ถล่มป่าแก่งกระจาน" อันเป็นฝีมือของทีมข่าวเฉพาะกิจกลุ่มเจ้าอินทรี (ภาคกลาง)

นำโดยคุณ เด่นชัย เด่นชัยประดิษฐ์ ประธานกลุ่ม และคุณ ธีรพร ชูก้าน ผู้สื่อข่าวสุพรรณบุรี พร้อมด้วย คุณ สรวุฒิ จงสกุล ผู้สื่อข่าวกาญจนบุรี

สาระสำคัญของข่าวมีอยู่ว่า พื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งมีเนื้อที่ป่ามากที่สุดของประเทศไทยถึง 1.8 ล้านไร่ กำลังเจอกับปัญหาใหญ่มากที่เกิดจาก "เถาวัลย์"

เถาวัลย์ที่บรมครู "สุนทรภู่" เคยแต่งเป็นบทสอนใจไว้ว่า "ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวจนเลี้ยวลด ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน" นั่นแหละครับ

หลายๆปีที่ผ่านมานี้ "เถาวัลย์" ผืนใหญ่มหึมาได้พันเกี่ยวเลี้ยวลดไปที่ป่าแก่งกระจาน ปกคลุมส่วนบนของป่าเหมือนผ้าผืนใหญ่ทำให้แสงอาทิตย์ แผ่ลงไปไม่ถึงด้านล่าง

ต้นไม้ใหญ่น้อยหยุดการเจริญเติบโต และจำนวนไม่น้อยได้ล้มตายลง

สัตว์ป่าก็พลอยเดือดร้อน เพราะโดนเถาวัลย์ปิดกั้นทางเดินจนต้องหนีออกจากป่ามาเพ่นพ่านใกล้ๆที่อยู่อาศัยของมนุษย์

พืชสมุนไพรในป่าก็เริ่มลดน้อยถอยลงจนถึงขั้นสูญหายไปจากแก่งกระจาน เพราะไม่มีโอกาสรับแสงอาทิตย์ตามควร

ปฐมเหตุของข่าวนี้เริ่มขึ้นจากรายงานชิ้นเล็กๆที่หัวหน้าอุทยานฯ นำมาบรรยายสรุป ซึ่งเผอิญทีมข่าวชุดนี้มีโอกาสรับฟังอยู่ด้วย

พวกเขาตัดสินใจทันทีว่าจะต้องเกาะติดเดินหน้าข่าวนี้

ทีมงานข่าวเริ่มต้นด้วยการเดินสายขอความรู้จากนักวิชาการที่รู้เรื่องนี้ ทั้งจากมหาวิทยาลัยต่างๆและจากกระทรวงที่เกี่ยวข้อง

รวมทั้งเปิดอินเตอร์เน็ตหาความรู้จากทั่วโลกและขอให้ผู้มีความรู้ช่วยแปลให้ว่าอะไรเป็นอะไร

สรุปผลการค้นหาได้ว่า เจ้าเถาวัลย์พันเกี่ยวแห่งป่าแก่งกระจานที่ว่านี้เป็น "ตัวแสบ" ตัวจริงเสียงจริง

จากนั้น พวกเราก็เริ่มเปิดประเด็นข่าวนี้ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2553 บนหน้า 1 ไทยรัฐ ก่อนจะทยอยปล่อยประเด็นอื่นๆตามมา ตลอดจนติดตามปฏิกิริยาต่างๆมาเสนอเป็นระยะๆอีก 2 เดือนเต็มๆ

จนได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า ทฤษฎีดั้งเดิมที่ว่า "ธรรมชาติจะแก้ปัญหาหรือจัดระบบด้วยตนเอง" คงไม่อาจนำมาใช้ได้ในกรณีนี้

เพราะกว่าธรรมชาติจะจัดระบบเพื่อแก้ปัญหาเถาวัลย์ระบาดได้อาจจะต้องรอถึง 100 ปี ซึ่งเราจะไม่มีป่าเหลืออีกแล้ว

สุดท้าย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาและจัดทำแผนระยะสั้น-ยาว

ขณะเดียวกัน เมื่อข่าวแพร่ออกไปต่างประเทศ ก็ได้รับความสนใจนำไปเป็นแบบอย่างที่จะต้องติดตามศึกษาในหลายๆประเทศ

กองบรรณาธิการไทยรัฐจึงลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ข่าวนี้เป็นข่าวยอดเยี่ยมประจำปีของเรา โดยไม่มีเสียงคัดค้าน

เหตุที่ผมโดยส่วนตัวรู้สึกภูมิใจกับน้องๆชุดนี้ ก็เพราะปกติทีมข่าวต่างจังหวัดมักสนใจแต่ข่าวอาชญากรรม เช่น ข่าวปล้นฆ่า ข่มขืน ฯลฯ

แต่หลายๆปีมานี้พวกเราจัดสัมมนากันบ่อยๆ เพื่อจะชี้ให้น้องๆข่าวต่างจังหวัดทราบว่า ข่าวที่เป็นประโยชนแก่สังคมยังมีอีกมากในพื้นที่ต่างจังหวัด ช่วยติดตามและส่งมาด้วย

เราจึงเริ่มมีข่าวการเรียกร้องความไม่เป็นธรรม การต่อสู้กับกลุ่มอิทธิพล หรือข่าวด้านการพัฒนาชุมชนอะไรต่างๆเพิ่มขึ้น

จนมาถึงข่าว "เถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด" ข่าวนี้

ผมขอปรบมือให้อีกครั้งหนึ่ง และหวังว่าปีหน้าปีโน้นคงจะมีข่าว "คุณภาพ" ในลักษณะนี้จากทีมข่าวภูมิภาคของเรามาเสนอท่านผู้อ่าน มากกว่าเดิม.


"ซูม"

ความเห็นที่ 7

ดีแล้วครับที่มีการพัฒนาในทางที่ดีขึ้น แต่การให้ข่าวผิดๆโดยไม่ศึกษาความจริงที่เป็นอยู่
ให้ความลวงบิดเบือนแก่บุคคลทั่วไป ทำให้เกิดความตระหนกสับสนทางความคิดและการแก้ไขปัญหา ถือว่าผิดต่อจรรยาบรรรคนทำข่าวนะครับ no ยิ่งเป็นเหมือนการซ้ำเติมปัญหามากกว่านะครับ อย่าสักแต่หาข่าว ทำข่าวให้เสร็จๆเรียกเรตติ้งคนอ่านสิครับ มันขาดความรับผิดชอบมากครับ

ป.ล. ขอโทษด้วยที่ต้องกระทบกระเทียบ แต่อย่ามองเข้าข้างพรรคพวกวงการตัวเองสิครับ