นั่นมัน ... คางคกบ้าน

ขอนำเสนออะไรบ้านๆกันสักหน่อย เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่ผมน่าจะรู้จักเป็นชนิดแรกกันเลยทีเดียว

มันคือ

คางคกบ้าน

คางคกบ้าน Duttaphrynus melanostictus (ชื่อเดิม Bufo melanostictus)

จัดอยู่ใน Class Amphibia ซึ่งเป็นพวกสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ, คางคกอยู่ใน Family Bufonidae โดยส่วนมากจะมีต่อมพิษ (Paratoid Grand) อยู่บริเวณหลังแผ่นหู เป็นต่อมที่เก็บและขับสารพิษที่มีลักษณะเป็นน้ำยางสีขาว คนไทยเราเรียกกันว่า "ยางคางคก"

ในประเทศไทยมีคางคกอยู่ 4 สกุล รวม 10 ชนิด (เป็นอย่างน้อย)

รูปร่างของคางคกค่อนข้างป้อม ขาไม่ยาว และไม่มีความว่องไวเท่าไรนัก รูม่านตาเป็นแบบแนวราบ มีผิวหนังภายนอกหยาบ มีตะปุ่มตะป่ำเล็กบ้างใหญ่บ้างตลอดทั้งตัว สีสันของคางคกบ้านมีการแปรผันตามกลุ่มได้หลายสีตั้งแต่น้ำตาล กากี เหลือง หรือ อมชมพู

คางคกบ้านมีเขตกระจายพันธุ์ตั้งแต่เชิงเขาหิมาลัย อินเดีย จีนตอนใต้ พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา ไทย มาเล อินโดนีเซีย

เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำชนิดหนึ่งที่ค่อนข้างประสพความสำเร็จต่อการอยู่รอดในสังคมมนุษย์ ทั้งการป้องกันตัว การขยายพันธุ์ และความทนทานต่อสภาพอากาศ เราจึงยังมักเห็นได้ในเขตชุมชน

คางคกนั้นเป็นสัตว์ที่อยู่อย่างสงบ และมีบทบาทอย่างมากควบคุมประชากรแมลง มันมักหลบอยู่ตามซอกหิน ขอนไม้ และออกหากินในเวลากลางคืน ในฤดูฝนที่แมลงเม่าบินออกจากรูเพื่อไปขยายพันธุ์ เรามักจะเห็นคางคกบ้านไปยืนดักกินแมลงเม่าอยู่ถึงหน้ารูที่แมลงเม่าบินออกมา


Comments

ความเห็นที่ 1

คางคกก็เหมือนสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำทั่วไปคือ มีการจำศีลในฤดูแล้ง และกระดี๊กระด้าในฤดูฝน แต่ในบางพื้นที่ที่ไม่มีภาวะที่แห้งแล้งเราก็อาจเห็นมันได้แทบจะตลอดทั้งปี

จากการศึกษาของ Berry และ Bullock โดยการผ่าท้องคางคกที่โตเต็มวัยดูกว่า 160 ตัว (อึ๋ย) พบว่า อาหารของคางคกบ้านเป็นพวกสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังชนิดต่างๆโดยส่วนมากเป็นแมลงโดยเป็นพวกที่อาศัยอยู่ตามพื้นดินหรือกองใบไม้โดยไม่เลือกชนิด ไม่เว้นแม้แต่แมงป่อง ขนาดของเหยื่อมีตั้งแต่ 5 ถึง 20 มิลลิเมตร

Berry, P. Y.; and Bullock, J. A. (1962) The Food of the Common Malayan Toad, Bufo melanostictus Schneider. Copeia. 4: 736-741.

ภาพ คางคกบ้านริมแอ่งน้ำ

ความเห็นที่ 2

การผสมพันธุ์จะเกิดขึ้นในเวลากลางคืนของฤดูฝน รวมถึงบางช่วงเวลาที่มีฝนตกและมีแหล่งน้ำให้วางไข่ได้ (ผู้เขียนพบการผสมพันธุ์วางไข่ในเดือนมกราคม) ตัวผู้จะส่งเสียงร้องเพื่อบอกตำแหน่งและอาณาเขตให้กับตัวเมีย

การส่งเสียงของคางคกไม่เหมือนการส่งเสียงของคน ขั้นตอนการสร้างเสียงจะเริ่มจากการหายใจเข้าไปเก็บอากาศไว้ในปอด หุบปากแน่น ปิดรูจมูก แล้วดันอากาศผ่านเส้นเสียงให้ไหลเข้าไปในถุงขยายเสียง ที่เราจะเห็นมันป่องออก ขณะที่อากาศผ่านเส้นเสียงจะทำให้เกิดเสียง และถุงที่พองออกนั่นเองจะช่วยขยายเสียงให้ดังขึ้น เสร็จแล้วก็ดันอากาศกลับเข้าปอด แล้วส่งกลับมาทำเสียงใหม่ วนไปวนมา (เชื่อว่ามีบางคนกำลังลองทำดู)


ภาพ ถุงขยายเสียงกำลังพอง

ความเห็นที่ 3

ตัวผู้จะเข้าจับตัวเมียแบบเกาะอก (มีสองแบบคือ เกาะอก กับ เกาะเอว) ไข่จะมีการปฏิสนธิแบบภายนอก

บางครั้งเราจะพบเห็นตัวผู้หลายตัวแข่งกันส่งเสียง หรือแย่งกันเกาะตัวเมียตัวงามที่ตกไข่

แย่งกัน

ความเห็นที่ 4

คางคกบ้านจะวางไข่ในแหล่งน้ำนิ่ง และแตกต่างจากกบอื่นๆ โดยจะมีลักษณะเป็นสายยาว ขณะวางไข่ตัวเมียจะเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ ทำให้ไข่ของพวกมันจะถูกพาดไว้ตามพืชน้ำต่างๆจำนวนไข่นั้นมากมายมหาศาล

ไข่จะแบ่งเป็นสองส่วนคือส่วนที่เป็นไข่จริงๆเรียกว่า Ovum กับ ส่วนวุ้นๆภายนอก (Jelly-like material)

ส่วนของ Ovum แบ่งออกเป็นอีกสองส่วนคือ ส่วนที่จะเจริญไปเป็นเอมบริโอหรือตัวลูกอ๊อด (animal pole, สีดำ) กับส่วนที่เป็นสารอาหารแบบไข่แดง (vegetal pole, สีเทา) เมลานินสีดำในไข่เชื่อว่ามีประโยชน์ในการปกป้องตัวอ่อนจากรังสี UV และยังช่วยดูดซับความร้อนไว้ให้ตัวอ่อนด้วย


วางไข่

ความเห็นที่ 5

ส่วนของวุ้นภายนอกนั้นทำให้ไข่ของพวกมันแตกต่างจากไข่ของสัตว์เลื้อยคลาน อื่นๆที่มีเปลือกไข่ วุ้นนี้จะทำหน้าที่ป้องกันการกระทบกระเทือนจากภายนอกและจุลชีพต่างๆที่จะมา ทำอันตรายกับตัวอ่อนภายใน สำหรับคางคกมันยังประกอบด้วยสารที่มีรสชาติแย่และสารพิษอีกด้วย ส่วนของวุ้นนี้จะเคลือบมากับไข่ของตัวเมีย และพองออกเมื่อสัมผัสกับน้ำ

อย่างไรก็ตาม แม้ไข่มันจะมีพิษ ไม่พบปลาตาย(หางนกยูง)ในบ่อขนาด 1 ลูกบากศ์เมตร ที่คางคกวางไข่ไว้ยาวเป็นสิบเมตร แต่ก็เคยพบว่า ปลาซัคเกอร์ ตัวปัญหาของระบบนิเวศไทย ที่เคยเลี้ยงไว้ตายเพราะกินไข่คางคก (คาดว่าถ้าไม่กินก็ไม่ตาย)

ไข่คางคก ไข่คางคก

ความเห็นที่ 6

ความเร็วของการพัฒนาของไข่ไปเป็นตัวอ่อน จะแปรผันตามอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น

สำหรับคางคกบ้านที่นำมาดูการพัฒนา จะเห็นตัวอ่อนในเวลาเพียง 1 วัน และฟักออกมาในเวลา 3 วัน ตัวอ่อนทีเพิ่งฟักออกมามีขนาดเล็กมากและเห็นเหงือกโผล่ออกมาที่ภายนอกอย่างชัดเจน

ตามหนังสือที่หยิบมาแปล พัฒนาการไข่จนเป็นตัวกบสี่ขา (metamorphosis) มีถึง 46 ขั้นตอน แต่เท่าที่มองเห็นได้แบ่งเป็น 10 ขั้นตอนคือ

1.    เริ่มเกิดการแบ่งเซล
2.    เอมบริโอ เริ่มยาวขึ้น
3.    เอมบริโอกลายเป็นรูป คอมม่า
4.    มีเหงือกภายนอก ปาก และฟักออกมา และเกาะอยู่ตามพืชน้ำ
5.    เหงือกถูกปิด และเริ่มว่ายน้ำอย่างอิสระ
6.    ขาหลังงอก
7.    ขาหน้างอก โดยมักจะโผล่ออกมาไม่พร้อมกัน
8.    ปากค่อยๆเปลี่ยนไปเป็นแบบของตัวกบ
9.    หางค่อยๆหด
10.    หางหดหมด (metamorphosis complete)

เอมบริโอ เป็นตัวแล้ว แต่มีเหงือกภายนอก

ความเห็นที่ 7

รูปแบบของลูกอ๊อดเป็นแบบที่สี่ (มี่สี่แบบ) ซึ่งเป็นแบบที่พบเป็นส่วนมาก มีหางไม่ยาวซึ่งเป็นลักษณะของลุกอ๊อดที่อยู่น้ำที่ไม่ได้ไหลแรง และขนาดโตเต็มที่เกือบๆ 2 เซนติเมตร ลูกอ๊อดของคากคกบ้านกินง่ายโตง่าย กินไปซะทุกอย่าง ส่วนมากในเวลากลางวันจะหลบอยู่ใต้น้ำ และจะออกมาหากินกันให้วุ่นวายในเวลากลางคืน

Eluvathingal และคณะ พบว่า ลูกอ๊อดของคางคกบ้านชอบที่จะอยู่เป็นฝูงโดยจะอาศัยอยู่กับกลุ่มลูกอ๊อดด้วยกันเป็นหลัก แต่ถ้าไม่มีลูกอ๊อดในบริเวณนั้นมันก็จะไปจับกลุ่มกับสัตว์น้ำอื่นๆที่อยู่แถวนั้น ทั้งนี้พวกมันสามารถแยกชนิดสัตว์ต่างๆในน้ำได้ด้วยการรับรู้ทางเคมี

การศึกษาของ Saidapur และ Girish แสดงให้เห็นว่า ลูกอ๊อดของคางคกที่โตมาในคลอกเดียวกันจะมีขนาดเท่าๆกัน แต่ถ้ามีหลายกลุ่มปนกันจะทำให้การเติบโตช้าลง และมีขนาดเมื่อขึ้นบกเล็กลงด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออยู่กันอย่างหนาแน่น

และเมื่อถึงเวลาขึ้นบก เราจะพบลูกคางคกตัวจิ๋วๆมากมายในบริเวณนั้น

Saidapur, S. K.; and Girish S. (2001) Growth and Metamorphosis of Bufo melanostictus Tadpoles: Effects of Kinship and Density. Journal of Herpetology. 35(2): 249-254.

Eluvathingal, L.M.; Shanbhag, B.A.; and Saidapur, S.K. (2009) Association preference and mechanism of kin recognition in tadpoles of the toad Bufo melanostictus. J.Biosci. 34(3): 435-444.

ฝูงลูกอ๊อด บางส่วนเริ่มขึ้นบก ฝูงลูกคางคก

ความเห็นที่ 8

ชาวอีสานหลายพื้นที่มีความเชื่อว่าพญาคางคก สามารถบอกหวยได้แม่นยำในการทำพิธีนั้นเริ่มจากการหาคางคกที่ส่งเสียงร้องได้มา 10 ตัว แล้วเขียนเลข 0 ถึงเลข 9 ลงบนท้องหรือหน้าอกมัน จากนั้นจัดดอกไม้ธูปเทียนเพื่อบูชา เพื่อขอขมาพญาคางคก แล้วนำคางคกที่เขียนเลขไว้ทั้งหมดใส่ลงไปในภาชนะ

จากนั้นให้จุดธูปเทียนตั้งจิตอธิษฐานร่วมกัน แล้วคอยดูว่าคางคกหมายเลขไหนกระโดดออกมาจากภาชนะก่อน สองตัวแรก เป็นเลขท้ายสองตัว

การขอหวยพญาคางคกในบางพื้นที่ ก็ใช้วิธีนำคางคกมาทาแป้งเย็น และตั้งจิตอธิษฐานขอเลข แล้วเพ่งมองที่หน้าอกคางคกจนเห็นเลขปรากฏออกมา

(จากข่าว เดลินิวส์)

แม้ความเชื่อพวกนี้จะดูไม่เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ แต่หมึกพอล ก็ยังสามารถทายผลบอลถูกทุกรอบได้อย่างไม่มีสาเหตุ ผู้เขียนจึงไม่อาจบอกได้แน่นอนว่าเป็นความงมงายหรือเห็นผลจริง


ขาเริ่มงอก ขาหน้างอก ปากเริ่มเปลี่ยน ลูกคางคก

ความเห็นที่ 9

ประชาชนในบางพื้นที่กินคางคกกันเป็นประจำ โดยเลือกคางคกที่มีจุดสีแดงบนลำตัว ถ้าหงายจะมีคางสีเหลือง ภาษาท้องถิ่นแถวนั้นจะเรียก "ไอ้ล็อก" เชื่อว่ามีพิษน้อย ส่วนถ้าเป็นคางคกสีดำ คางแดง จะมีพิษรุนแรง การนำมารับประทานจะต้องมีวิธีการชำแหละ ตัดหัว ลอกหนัง ตัดนิ้วทุกนิ้ว เครื่องใน เส้นพิษ แล้วก็ต้องนำมาล้างในน้ำที่ไหล เช่นน้ำก๊อก หรือน้ำตก เพื่อให้เนื้อขาว โดยต้องใช้เวลาประมาณ 10-20 นาที และห้ามให้ยางคางคกโดนเนื้อเด็ดขาด ก่อนที่จะนำมาปรุงรับประทาน ซึ่งจะทำให้พิษหมดไป

นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ, www.bangkokhealth.com

ในความเป็นจริงคางคกมันก็มีพิษทุกชนิด คางคกในที่ถูกกล่าวถึง ผมคงไม่สนใจอยากลอง(เสียว) แต่สนใจว่า มันเป็นชนิดไหน คางคกจุดแดงคางเหลือง คากคกดำคางแดง ... อาจเป็นการค้นพบใหม่ก็ได้นะ ใครจะรู้

คางคกบ้าน ด่างสีชมพู

ความเห็นที่ 10

ก่อนจะจบ ทีแรกไม่คิดว่าจะเีขียนเรื่องพิษของมัน เพราะไม่ชำนาญ แปลแล้วงงๆ แ่ต่ขอใส่ไว้คร่าวๆ

พิษของคางคกจะอยู่ที่ผิวของมัน และโดยเฉพาะที่ต่อม Parotoid และไข่ของมัน? (สัมผัสได้?)

พิษของคางคกมีพิษต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ โดยจะทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ สำหรับในคนจะมีอาการน้ำลายเสมหะมาก น้ำลายฟูมปาก หายใจติดขัด คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนแรงเซื่องซึม ความดันไม่คงที่ เกิดภาวะหายใจล้มเหลวและถึงแก่ความตายได้

พิษของคางคกแต่ละชนิดก็จะมีส่วนประกอบแตกต่างกันไปทั้งในแง่ของปริมาณ สัดส่วนของสารเคมีต่างๆ รวมถึง ชนิดของสารเคมีด้วย

Gao, H.; Zehl, M.; Leitner, A.; Wu, X.; Wang, Z.; and Kopp, B. (2010) Comparison of toad venoms from different Bufo species by HPLC and LC-DAD-MSMS. Journal of Ethnophamacology 131: 368-376.

จากการสัมผัสด้วยตัวเอง โดยเอาคางคกมาบีบๆๆไว้ในมือ หวังจะให้มันปล่อยพิษออกมาให้เชยชม แต่ไม่สำเร็จ แต่ไม่นานหลังจากนั้น ฝ่ามือก็จะมีอาการจี๊ดๆชาๆ โดยจะมีอาการไปราวๆ 24 ชั่วโมง

เมื่อครั้งทริปกาญ ท่านพี่ corwin ได้หยิบคางคกตัวใหญ่ขึ้นมาดูหนึ่งตัว หวังจะให้เพื่อนร่วมทีม ระบุชนิด แต่ด้วยความไม่รู้ ท่านพี่จึงเอานิ้วคีบไว้ที่ต่อมพิษอย่างเหมาะเหม็ง นิ้วมือจึงมีอาการชาๆ แต่มีลักษณะดังรูป ดูคล้ายๆเลือดคั่ง

ภาพ ปลายนิ้วหลังสัมผัสต่อมพิษโดยตรงจนเปรอะพิษ ภาพโดย พรุโต๊ะแดง

ความเห็นที่ 10.1

อุ๊ย ดีนะนี่ ที่โดนนิ้ว ชี้  
ถ้าโดนที่นิ้ว กลาง เวลาเอารูปมาโชว์  อาจโดน ลบกระทู้ได้

ความเห็นที่ 11

จบ (ดื้อๆ)

ความเห็นที่ 12

วันนี้เห็นคางคกตากแห้งแบบตุ๊กแกด้วย ที่ขึงเป็นไม้กางเขนน่ะ (ใน museum)

ความเห็นที่ 13

ให้อ่าน ให้เติม หรือให้วิจารย์ครับด็อกเตอร์

1. ยางคางคก ตากแห้ง จนได้สีดำ เข้ายาจีน มีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ ตอนเรียน จำได้ว่าอาจารย์ให้ท่องเจ้า Bufo macrotis
2. ที่บ้านกินหมด ไม่ว่าจะมีจุดแดง คางเหลืองหรือไม่ แถวภาคกลาง (ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี) กินทั้งนั้น พี่เองกินประจำ เนื่องจากอร่อยมาก (ขี้เมาทำกับข้าวอร่อย) โดยได้ข้อมูลจากอาของพี่ว่า ขอให้ทำในน้ำไหลผ่าน เอาเครื่องในและหนังออกให้หมด ก็กินได้ แต่ก็มีอยู่หนึ่งครั้ง ที่คนทำพลาด คนทานหลายคนท้องเสีย อาเจียนจนต้องพบแพทย์ อาการเหล่านี้เกิดไวมาก กินยังไม่หมดจากก็เกิดแล้ว
3. หากมีแหล่งน้ำดี มันก็ร้องนะ จำได้ว่างานนับนกอินทนนท์ปีที่แล้ว ร้องกันระงม ในสระข้างห้องประชุม แต่ไม่เห็นมันทับกันนะ
4. คางคกจุดแดงคางเหลือง นึกถึงคากคกห้วยอินทนนท์เลยอ่ะ ตรงคางเหลือง
5. อาจารย์ธัญญาอธิบายว่า ที่อ็อดคางคงรวมเป็นฟูง เพื่อให้ผู้ล่ามองจากระยะไกล เข้าใจว่าเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ ตัวสีดำ ๆ ว่ายอยู่ในน้ำ
 

ความเห็นที่ 13.1

อ่านเฉยๆก็ได้ วิจารณ์ก็ดี แก้ไขก็แจ่มครับ อิอิ

ขอบคุณสำหรับความรู้เพิ่มเติมครับ

ความเห็นที่ 14

โห นับถือ เป็นบทความที่ต้องใช้เวลาถ่ายทำและใช้ความพยายามสูง ภาพสวยทุกมุมมอง ข้อมูลอัดแน่น ยกนิ้วให้ (ว่าแต่ภาพคางคกบ้าน ด่างสีชมพูก่อนภาพนิ้วถ่ายที่ไหนอ่ะ แอบเห็น liverwort สวยมากมาย)

ความเห็นที่ 14.1

เจอ liverwort ไม่ได้เลยนะท่าน ตาไวเหลือเกิน 

ความเห็นที่ 15

yesyesyes

ความเห็นที่ 16

บทความอย่างเทพ ^^

ความเห็นที่ 17

แจ่มครับท่าน ทำเป็นบทความดิท่านดร.

ความเห็นที่ 17.1

พอมีเวลาจะทำให้นะครับ ตอนนี้กำลังทำไฟฉายให้อยู่

ส่วนภาพและเนื้อหา เอาไปเพิ่มเติมใน SI แล้วครับผม

ความเห็นที่ 17.1.1

หล่อ

ความเห็นที่ 18

ขอบคุณสำหรับความรุ้ดีๆ คับ

ความเห็นที่ 19

แจ่มมากครับทั้งบทความและภาพประกอบ

ข้อมูลเพิ่มเติมนั้นตามที่หนึ่งบอกนั่นแหละครับ เพียงแต่ผมยังไม่เคยกินเองสักที แต่คนรู้จักจากถิ่นดังกล่าวบอกไว้ รวมถึงพ่อของผมที่เคยกินตามประสาคนในวง(เหล้า)การมาก่อน

คางคกบ้านที่ระนองมีการผสมพันธุ์ตลอดทั้งปี นอกจากนี้ยังมีปาดบ้านอีกด้วย ฝนไม่ต้องตกมันก็ยังหื่น ยกเว้นคางคกที่คล้ายๆคางคกบ้านโพรดๆ จากหมายหนึ่งในระนอง จะพบลูกอ๊อดเพียงช่วงสั้นๆช่วงเดียวในรอบปี ดังนั้นเวลาเจอตัวคางคกโดดไปมา ก็สามารถจำแนกรุ่นได้อย่างชัดเจน ที่สำคัญคือมันสามารถวางไข่ในน้ำกร่อยได้ด้วย ซึ่งคางคกบ้านทำไม่ได้

พิษของคางคกที่ผมเคยสัมผัส ปรากฎว่าไม่เกิดอาการใดๆเลย สงสัยหนังจะหนาเกินกว่าที่จะให้พิษฝ่ามาได้ และจากตัวอย่างเกี่ยวกับฤทธิ์กระตุ้นหัวใจที่หนึ่งบอกมาก็พอจะชี้ให้เราเห็นประโยชน์ของทรัพยากรขึ้นมาอีกบ้าง แม้คางคกทุกชนิดอาจให้ผลแบบนี้ได้ แต่ระดับการออกฤทธิ์คงจะต่างกัน ดังนั้นการรู้จักชนิดต่างๆของมัน(ทั้งเก่าและใหม่) อาจนำไปสู่ประสิทธิภาพการใช้ประโยชนืได้มากขึ้นและเหมาะสมก็เป็นได้

จบดื้อๆบ้าง

ความเห็นที่ 20

ขอบคุณครับพี่น๊อท

ตามที่พี่หนึ่งบอก ตามเปเปอร์ผมก็เจอว่า พิษคางคก ใช้ในยาขนาน จีน ญี่ปุ่น และเวียดนามด้วยครับ คร่าวๆัดังนี้

พิษของคางคกถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์ในหลายประเทศ เช่นที่จีนใช้ทำยาเรียกว่า ChanSu และในญี่ปุ่นเรียกว่า SenSo ในประเทศจีนยาที่ทำจากพิษคางคกจะใช้ในการรักษาอาการหัวใจวายและระงับปวดในคลีนิค

ในเวียดนามพิษของคางคกนั้นถูกนำมาใช้ในการรักษาอาการปวดฟัน โพรงจมูกอักเสบ เลือดออกตามไรฟัน รวมถึงมะเร็งบางชนิด ในปัจจุบันมันยังถูกใช้ในส่วนผสมของยา Luc Than Hoan ซึ่งใช้ในการลดไข้และรักษาอาการลมบ้าหมู

Verpoorte, R.; Kinh, P.Q.; and Svendsen, A.B. (1979) Chemical constituents of Vietnamese toad venom collected from Bufo melanostictus Schneider - Part I the sterols. Journal of Ethnophamacology 1:197-202.

นอกจากนี้ หลายเปเปอร์ยังบอกว่า มันใช้รักษามะเร็งบางชนิดได้ !! ยังไม่ได้ลองตามอ่านเปเปอร์แต่มีเนื้อข่าวเก่าจากไทยรัฐดังนี้

"นักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯกับจีนศึกษาพบว่า ยางคางคกเป็นยาที่มีสรรพคุณวิเศษ รักษาโรคมะเร็งตับ ปอดและม้ามได้ โดยที่ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ยาอย่างใด

นักวิจัยของศูนย์ต่อต้านโรคมะเร็งเอ็มดี. แอนเดอสัน ของสหรัฐฯ และมหาวิทยาลัยฟูต้านของจีน แจ้งว่า จากการศึกษาและการวิจัยขั้นตอนก่อนหน้าการทดลอง ในสถานพยาบาลพบว่า ยางที่สกัดจากคางคกมีสรรพคุณขัดขวางไม่ให้เนื้อร้ายเจริญเติบโต ช่วยทำให้ระบบภูมิคุ้มโรคปฏิบัติหน้าที่ได้เข้มแข็งขึ้น ทั้งยังช่วยระงับความปวด และความอ่อนเพลียเมื่อยล้าของร่างกายอันเนื่องมาจากการบำบัดรักษาด้วยตัวยาเคมีอีกด้วย

เจ้าหน้าที่ได้ทำการทดลองที่โรงพยาบาลโรคมะเร็งของมหาวิทยาลัยฟูต้าน เพื่อจะหาขนาดยาที่ใช้ได้อย่างปลอดภัย ตลอดจนอาการข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย"




ความเห็นที่ 20.1

ออกเสียงว่า "เสี่ยมโซว" ครับ ที่ผมเรียนมานะ

ความเห็นที่ 21

ตอนนี้มีงานวิจัยหางตุ๊กแกเพื่อเป็นยาต้านมะเร็งด้วยครับ ที่รู้เพราะเขาดันจะให้ผมเป็น reviewer ซึ่งผมเองคงช่วยอะไรไม่ได้มากเลยปฏิเสธไปแล้ว สงสัยดันมี key word ว่า Gekko เลยส่งมาเชิญ เหอๆๆ

ความเห็นที่ 21.1

ไม่ตอบตกลงไปละพี่ จะได้รื้อฟื้นเคมี กับไบโอเค็ม กร๊ากกกๆๆ  ^^

ความเห็นที่ 21.1.1

สงสารเจ้าของเปเปอร์อ่ะ

ความเห็นที่ 22

LIKE
ขอบคุณครับ

ความเห็นที่ 23

สุดยอดเลย อีกหน่อย index คงมีข้อมูลเพียบ

ความเห็นที่ 24

ขอกด Like อีกคน

ชอบทั้งบทความและภาพค่ะ

ความเห็นที่ 25

5555.....ว่าแล้วว่ามือคุ้นๆ

ในครั้งที่โดนพิษครั้งนั้น รู้เท่าไม่ถึงการณ์จริงๆ เพราะเวลาจับคางคกที่บ้านก็จะหิ้วตรงต่อมพิษตลอด
แต่ก็ไม่เคยโดนแบบนั้นสักครั้ง ก็ไม่รู้ว่าทำไมคางคกบ้าน(ในป่า)ถึงเซนซิทีฟขนาดนี้