สอบถามผู้รู้ เกี่ยวกับงูเขียว

คือ อยากทราบว่า ข้องแตกต่างระหว่าง งูเขียว ตระกูล Viper เช่น งูเขียวห้างไหม้ กับงูเขียวตระกูล colubroidea เช่น งูเขียวบอน
ซึ่งเป็นงูมีพิษ กับงูไม่มีพิษ หรือไม่ก็มีพิษอ่อน(ไม่เป็นอันตราย) ซึ่งมันหน้าตาคล้ายๆกันมาก เราสามารถดูข้อแตกต่างและข้อสังเกตใด้เช่นไร
ขอผู้รู้กรุณาช่วยให้รายระเอียดด้วยน่ะครับ เอ่อ อีกอย่างครับ ขอข้อสังเกตระหว่างงูมีพิษกับงูไม่มีพิษแบบคร่าวๆ อ่ะครับ (แบบที่ไม่ต้องไปจับมางัดดูเขี้ยวอ่ะครับ)
ขอขอบคุณล่วงหน้า  

Comments

ความเห็นที่ 1

คำถามแจ่มมากครับ เพราะทั้งกลุ่มหางไหม้ กับเขียวบอนนั้น มีลักษณะร่วมที่อาจทำให้สับสนง่ายๆ คือ หัวโต คอกิ่ว ตัวเขียว ม่านตารีแนวตั้ง ส่วนลักษณะตัวเรียวนั้นก็อาจเจอในกลุ่มหางไหม้บางชนิดได้อีกต่างหาก หรือหางไม่ไหม้ก็พบในกลุ่มหางไหม้บางชนิด ก็เลยใช้หลักทางอนุกรมวิธานพื้นฐานมาใช้บนหลักการ ในความเหมือน(คล้าย) ก็ย่อมมีความต่าง ซึ่งในการอธิบายผมจะไม่ขอเอ่ยถึงเรื่องสีเลยเพื่อให้มองได้ครอบคลุมกลุ่ม โดยขอตั้งข้อกำหนดกลุ่มเขียวหางไหม้ในที่นี้หมายถึงงูในวงศ์ย่อย Crotalinae เฉพาะกลุ่มที่หางม้วนเกาะยึดเกี่ยวได้เท่านั้น ดังนั้นจึงไม่รวมถึงงูกะปะ และงูหางแฮ่มภูเขา ซึ่งงูทั้งสองชนิดนี้ก็ไม่สามารถสับสนกับงูเขียวบอนไม่ว่ากรณีใดๆอยู่แล้ว  คราวนี้ก็มาว่ากันถึงลักษณะของเป้าหมายในส่วนที่ต่าง ดังนี้

กลุ่มเขียวหางไหม้...มีเกล็ดที่มีสันตามยาวอย่างน้อยบริเวณแนวกลางหลัง (ไม่น้อยกว่า 5 แถว แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นสันเกือบทุกแถว ก็เว้นแต่แถวที่ติดเกล็ดท้องที่ไม่มีสัน), เกล็ดแถวกลางหลังมีขนาดไม่ต่างกับเกล็ดแถวที่ติดกัน, เกล็ดบนหัวด้านๆ ไม่เป็นมันวาว (ที่จริงบนตัวก็ด้านๆ แต่บางมุมอาจเห็นสะท้อนแสงโดยเฉพาะช่วงล่างลำตัว), ระหว่างจมูกและตามีช่องรับความร้อนขนาดใหญ่ (facial pit) ชัดเจน, หางสั้น(เมื่อเทียบกับตัว)แต่แข็งแรงสามารถยึดเหนี่ยวได้ดี, หากเห็นการฉกกัด มีระยะฉกสั้นๆแต่รวดเร็วมาก

เขียวบอน...ไม่มีเกล็ดที่เป็นสันทุกส่วนของร่างกาย, เกล็ดแถวกลางหลัง(เลยช่วงคอไปแล้ว)รูปหกเหลี่ยม(หรือจะดูเป็นสี่เหลี่ยมก็ตามแต่)มีขนาดใหญ่กว่าเกล็ดแถวที่ติดกันชัดเจน, เกล็ดเป็นมันวาวทั้งตัว, ไม่มีช่องรับความร้อนระหว่างจมูกและตา(ก็ไม่มีทุกส่วนนั่นแหละ), หางเรียวยาวมาก แต่ไม่แข็งแรงพอที่จะยึดเหนี่ยวแต่ช่วงครึ่งหลังของหาง ต้องใช้การพันเกาะจึงจะเหนี่ยวตัวไว้ได้, ระยะฉกไกล ไม่เร็วนัก

หากเห็นเพียงแค่นี้ก็สามารถจำแนกได้อย่างสบายๆ แล้วใครมีส่วนใดจะเสริมก็เติมเต็มให้ด้วยครับ

ความเห็นที่ 2

ส่วนการจำแนกงูพิษ (เน้นที่ค่อนข้างอันตรายขึ้นไป) ขอยืนยันว่าไม่มีหลักการที่ตายตัว ตำราที่เคยเรียนมานั้นมันครอบจักรวาลจนครอบคลุมงูไม่อันตรายไปเกือบทุกชนิดด้วย  วิธีที่ง่ายที่สุดคือ การจำหน้าตางูพิษที่ค่อนข้างอันตรายขึ้นไปให้ได้จะง่ายที่สุดครับ หลักๆก็มีกลุ่มงูเห่า(แค่ให้รู้ว่าเป็นงูเห่า ไม่จำเป็นต้องจำระดับชนิดด้วยซ้ำ) งูจงอาง กลุ่ีมงูสามเหลี่ยม แมวเซา กะปะ กลุ่มเขียวหางไหม้ และงูลายสาบคอแดง หรืออาจจะดูกลุ่มงูตาแมว (สกุล Boiga) ไปด้วยก็ได้ ส่วนงูม่านทองนั้นแม้แสดงอาการทางพิษ แต่ก็ไม่ได้มีท่าทีจะอันตรายนัก ลองไปทำความรู้จักมันก่อน ติดขัดอะไรค่อยมาว่ากันอีกทีครับ

ความเห็นที่ 3

งูทะเลล่ะ ยกเว้นเจ้า บู้หู้ (ผ้าขี้ริ้ว) ที่ไม่มีพิษ

ความเห็นที่ 4

งูทะเลนั้นต้องสำหรับคนที่ชะตาขาดสุดๆจริงๆเท่านั้นครับ

ความเห็นที่ 5

ในบรรดางูพิษแรงทั้งหลาย งูเห่าเป็นตัวที่มีความแปรผันทางสีสันมากที่สุด ดังนั้นตัวนี้ควรจะจำลักษณะหน้าตาและเอกลักษณ์บางอย่างมากกว่าสีสัน จงอางก็มีสีแปรผันบ้างแต่ไม่หลากหลายเท่างูเห่า ส่วนสามเหลี่ยม ทับสมิงคลา แมวเซา กะปะ สีสันและลวดลายเป็นจุดเด่นอยู่แล้วครับ

ส่วนลักษณะเด่นอีกอย่างของเขียวหางไหม้ ที่ต่างกับพวกเขียวบอน ก็คืองูเขียวหางไหม้เกล็ดบนหัวมีแต่เกล็ดเล็กๆละเอียดซ้อนๆกัน ไม่มีแผ่นเกล็ดขนาดใหญ่เลยครับ

ความเห็นที่ 5.1

yes

ความเห็นที่ 5.2

ลืมบอกเพิ่มเติมไปบางอย่างครับ งูพิษหลายตัวมักมีตัว Mimic หรือคล้ายคลึงด้านสีสันกับมันอยู่(กรณีนี้ขอกล่าวเฉพาะสีสัน) อาจจะต้องสังเกตรายละเอียดเพิ่มเติม เช่น
1) ทับสมังคลา กับ ปล้องฉนวน อันนี้ผมพอดูออก แต่อธิบายมาเป็นลายลักษณ์อักษรไม่ค่อยได้
http://www.bladereview.com/forums/index.php?topic=2733.25
http://www.krunok.net/wp-content/gallery/snakelangoo/DSC04789.JPG

2) สามเหลี่ยม กับ ปล้องทอง คู่นี้เห็นชัดว่า สามเหลี่ยมมีปล้องดำกับปล้องเหลืองกว้างพอๆกัน แต่งูปล้องทองมีช่วงปล้องสีเหลืองแคบมาก
http://upic.me/i/hb/cey93.jpg
http://www.krunok.net/wp-content/gallery/snakelangoo/DSC00072.JPG

3) แมวเซา กับ แม่ตะงาว คู่นี้ดูไม่ยากเลย แมวเซาอ้วนป้อม แม่ตะงาวผอมยาว...
แต่บางครั้ง เด็กบางคนอาจสับสนระหว่าง แมวเซา กับลูกงูหลาม (ตอนเด็กๆผมก็สับสนนิดๆ) ข้อสังเกตคือ แมวเซาเกล็ดด้าน ลูกงูหลามเกล็ดเป็นมันเลื่อม

4) เขียวหางไหม้ กับ เขียวกาบหมาก อันนี้ก็ง่าย เขียวหางไหม้หัวโม่ง เขียวกาบหมากหัวหลิม

*กรณีที่เป็นลูกงู บางคนแยกไม่ออกระหว่าง ลูกงูเห่า(เวลาไม่แผ่แม่เบี้ย) ลูกงูสิง หรืองูปลิง เพราะข้างหลังมันสีเข้มๆเหมือนกัน? ข้อสังเกตคือ ลูกงูเห่ามีตาหยี ปากทู่ (ต่างกับลูกงูสิงที่มีตาโต ปากค่อนข้างแหลม) ลูกงูเห่าเกล็ดใต้คอมักจะไม่ขาวสนิท แต่มักมีปื้นสีน้ำตาลหรือดำคาดอยู่ตรงเกล็ดใต้คอ 2-3 แถบด้วย ในขณะที่ลูกงูสิงมีเกล็ดใต้คอตลอดจนเกล็ดท้องขาวสนิท งูปลิงใต้คออาจมีสีขาวขุ่นหรืออมเหลือง แต่จะเป็นสีเดียวกันตลอดไม่มีปื้นเลย
http://www.junglewalk.com/animal-pictures/670/Siamese-cobra-13713.jpg
http://thaider.com/homepro/get/images/R9956293/R9956293-4.jpg

ความเห็นที่ 5.2.1

yes ด้วยครับ