มันมาอีกแล้วครับ

ข่าวเถาวัลย์มาอีกแล้วครับ วิจัย 6 เดือน ผลชี้ว่า...

ผลวิจัยชัด เถาวัลย์แน่นทำลายป่า!

วันที่ 22/08/2554 02:50 (ผ่านมา 7 ชั่วโมง 16 นาที)

ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯยืนยันผลวิจัยเถาวัลย์กินป่า “แก่งกระจาน” ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์จริง หลังการวิจัยทดลองในระยะเวลา 6 เดือนในพื้นที่ 9 ไร่ โดยแบ่งพื้นที่การทดลอง 3 ส่วน พื้นที่เถาวัลย์หนาแน่น พื้นที่เถาวัลย์ปานกลาง และป่าธรรมชาติ พบว่าพื้นที่มีเถาวัลย์หนาแน่นทำให้ต้นไม้เติบโตน้อยกว่าแปลงธรรมชาติแถมยังยืนต้นตายมากกว่า เนื่องจากถูกเถาวัลย์บดบังแสงสว่าง และแย่งอาหารต้นไม้ แถมยังทำให้เถาวัลย์แพร่พันธุ์ได้เร็วขึ้น

จากกรณีมีการสำรวจ  พบว่า  หลายพื้นที่ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี มีเถาวัลย์แผ่ปกคลุมต้นไม้ในบริเวณป่าเป็นจำนวนมาก และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการเจริญเติบโตของเถาวัลย์มากที่สุดคือ พื้นที่ ป่าที่เคยได้รับสัมปทานการทำไม้ ซึ่งอยู่บริเวณสองข้างถนนปากทางเข้าสู่อุทยานจนถึงกิโลเมตรที่ 15 ส่งผลให้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชออกมาขานรับกับปัญหาที่เกิดขึ้น ด้วยการสั่งให้สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ จัดทำโครงการ วิจัยผลกระทบของเถาวัลย์ที่มีอย่างหนาแน่นในป่าธรรมชาติของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และจะนำเอาผลการวิจัยมาเป็นโมเดลในการแก้ไขปัญหากับผืนป่าทั่วประเทศ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.53 -วันที่ 30 มี.ค.54 ตามที่ “ไทยรัฐ” นำเสนอมาอย่างต่อเนื่องนั้น

ต่อมา วันที่ 21 ส.ค. นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยกับทีมข่าวเฉพาะกิจภูมิภาค “ไทยรัฐ” ว่า จากปัญหาของเถาวัลย์ รุกกินป่าแก่งกระจาน ซึ่งต่อมากรมอุทยานฯได้สั่งตั้งคณะทำงานศึกษาวิจัยเพื่อหาข้อเท็จจริง พบว่ามีสาเหตุจากการสัมปทานป่าไม้ในอดีต รวมทั้งเห็นได้ชัดว่าสภาพป่ามีการเปลี่ยนแปลงไปหลายๆด้าน โดยทีมนักวิจัยได้จัดพื้นที่ทำการทดลอง จำนวน 9 ไร่ โดยแบ่งพื้นเป็น 3 ส่วน คือ 1.แปลงที่มีเถาวัลย์ปกคลุมหนาแน่นและตัดเถาวัลย์ออก 2.แปลงที่มีเถาวัลย์ปกคลุมปานกลาง 3.แปลงที่มี เถาวัลย์ปกคลุมน้อยมาก หรือป่าธรรมชาติ

ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยอีกว่า หลังการศึกษา วิจัย และทดลองมานาน 6 เดือน ผลปรากฏว่าเถาวัลย์ส่วนใหญ่ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้จริง จนถึงขั้นหวั่นว่าจะเป็นการทำลายระบบนิเวศน์ภายในป่าแก่งกระจาน โดยทั้ง 3 แปลง ที่ใช้ทดลองมีเถาวัลย์เจริญเติบโตกว่า 70 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นชนิดพันธุ์ท้องถิ่นที่พบมากที่สุดมี 8 ชนิดคือ แก้วมือใส แสลงพัน กระดูกกบ สะแกวัลย์ สะแล เครือออน กระดูกแตก และหนามหัน ขณะที่ไม้ยืนต้นในพื้นที่ทดลองทั้ง 9 ไร่ มีทั้งหมด 135 ชนิด พบต้นข่อยหนามมากที่สุด รองลงมาคือทลายเขา กระเบาหลัก จันทน์หอม และมหาพรหม

จากผลการศึกษาพบว่าผลกระทบที่ต้นไม้ยืนต้นได้รับจากการปกคลุมของเถาวัลย์ ได้แก่ แปลงที่มีเถาวัลย์ ปกคลุมหนาแน่น ต้นไม้มีจำนวนน้อยกว่าในแปลงธรรมชาติ ต้นไม้จะมีขนาดความโต และความสูงของลำต้นน้อยกว่า ต้นไม้ในแปลงป่าธรรมชาติที่มีเถาวัลย์ปกติ อีกทั้งยังพบ ว่ามีอัตราส่วนของต้นไม้ยืนต้นตาย และต้นไม้ยอดหัก มากกว่าในแปลงป่าธรรมชาติที่มีเถาวัลย์ปกติ นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบของมวลชีวภาพและความเจริญเติบโตของต้นไม้พบว่าในแปลงที่เถาวัลย์ปกคลุมหนาแน่น เถาวัลย์ จะมีมวลชีวภาพมากกว่าไม้ยืนต้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้ แต่เมื่อตัดเถาวัลย์ในแปลงที่มีเถาวัลย์ขึ้นปกคลุมหนาแน่นออก พบกล้าไม้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ส่วนในแปลงที่เถาวัลย์หนาแน่นและไม่ได้ตัดเถาวัลย์ พบว่าจำนวนต้นกล้าไม้มีอัตราการตายมากกว่าการเกิดใหม่

นายโชติกล่าวด้วยว่า สำหรับค่าดัชนีที่มีความสำคัญ ทางนิเวศวิทยาของชนิดพันธุ์ไม้ พบว่าในแปลงป่าธรรมชาติ กล้าไม้ ไม้หนุ่ม และไม้ใหญ่ที่มีค่า IVI สูงสุด (IVI คือดัชนีความสำคัญของต้นไม้) คือ ต้นข่อยหนาม (ไม้ยืนต้น) ส่วนแปลงที่มีเถาวัลย์ปกคลุมหนาแน่น มีค่า IVI ที่สูงสุดคือ เถาวัลย์ เป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่าเถาวัลย์ มีขนาดใหญ่และมีจำนวนมากกว่าไม้ยืนต้น การใช้สารควบคุมการแตกหน่อเถาวัลย์ในแปลง พบว่าไม่สามารถยับยั้งการแตกหน่อของเถาวัลย์ได้ การตัดเถาวัลย์ออก มีผลทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นประมาณ 1-2 องศา ช่วงระยะเดือนแรกหลังการตัดเถาวัลย์ และจากการเปรียบเทียบการเจริญเติบโตของเถาวัลย์ที่มีวงปีกับต้นไม้  พบว่าเถาวัลย์ มีมวลชีวภาพใกล้เคียงกับไม้สัก เมื่ออายุใกล้เคียงกัน

“จากการศึกษาภาพรวมที่ได้จากข้อมูลทั้งหมดเชื่อว่าต้นไม้ใหญ่หลายชนิดเจริญเติบโตได้ช้าเพราะเถาวัลย์ เนื่องจากเถาวัลย์แก่งแย่งอาหาร น้ำ อากาศไป จากต้นไม้ อีกทั้งการเกาะเกี่ยวรัดพันต้นไม้ขึ้นสู่เรือนยอดทำให้เกิดแรงกดทับต่อต้นไม้และแผ่กระจายได้อย่างรวดเร็วจนปกคลุมพื้นที่หนาแน่น ทำให้บดบังแสงสว่างสู่พื้นที่ ส่งผลทำให้ต้นไม้ในป่าอ่อนแอ หักโค่น และยืนต้นตายในที่สุด ขณะที่ผลกระทบทางอ้อมจะทำให้สัตว์ป่าลดน้อยลงด้วย อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ กำลังเฝ้าติดตามเถาวัลย์ที่เป็นปัญหาปกคลุมอย่างรุนแรงเหล่านี้จะกระจายลึกเข้าสู่ป่าธรรมชาติเพิ่มมากขึ้นกว่าปัจจุบันหรือไม่ ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติฯ จะได้มีการดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป” ปลัดกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าว

นสพ.ไทยรัฐ
 

Comments

ความเห็นที่ 1

เซ็งครับ..วิจัย6เดือน..เอาแล้วเหรอ...บ้องตื้นสุดๆ..

ความเห็นที่ 2

เซ็งครับ..วิจัย6เดือน..เอาแล้วเหรอ...บ้องตื้นสุดๆ..

ความเห็นที่ 2.1

ต่อไปหน่วยงานราชการไทยจะใช้เวลาการวิจัยด้านนิเวศวิทยา 6 เดือน เป็นระยะเวลามาตรฐานดีไหมครับ หรือว่าช่วงนี้เหมาะสมพอดีครับ (ใกล้ปีงบประมาณใหม่)

ความเห็นที่ 3

ตกลงมันดีหรือไม่ดีครับ เหอๆๆ

ความเห็นที่ 4

ผมขอฮา winkหละครับ

ความเห็นที่ 5

ป่าเสือมโทรมที่กำลังฟื้นตัว คงไม่ดี แต่ป่าดั้งเดิมไม่น่าจะเป็นปัญหา

ความเห็นที่ 5.1

ถ้าข่อยหนามเป็นไม้เด่น ผมว่าน่าจะเป็นป่าที่ไม่สมบูรณ์และดั้งเดิมอย่างแน่นอนครับ แล้วถ้าเป็นป่าเสื่อมโทรมก็เป็นเรื่องปกติครับ ที่ระบบนิเวศของป่าจะปรับตัว เถาวัลย์ก็จะเจริญเพื่อไปกำจัดไม้เบิกนำ แล้วไม้ยืนต้นอื่นๆก็จะเริ่มเจริญแทรงไม้เบิกนำ แล้วจะค่อยๆเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ในที่สุดครับ

ความเห็นที่ 5.1.1

แปลว่างานวิจัยนี้ไม่ได้วิจัยทั้งวัฏจักรแต่สรุปผลทั้งวัฏจักร อืมมมมมม

ความเห็นที่ 5.1.1.1

ระยะเวลาการวิจัย วันที่ 1 ต.ค.53 - วันที่ 30 มี.ค.54 ผ่านไปทั้งนานแล้วทำไมเพิ่งมาสร้างกระแสเอาตอนนี้ ถ้าไม่ใช่เพราะงบประมาณใหม่ปี ๒๕๕๔ จะเริ่มขึ้นเดือนตุลาคมนี้ (ข้อสังเกตของผมเองครับ)
เรื่องเถาวัลย์ฯยังโดนคนต่อต้านจนต้องเปิดเวทีถกกัน สุดท้ายหัวหน้าอุทยานฯโดนถามจนโบ้ยไปถึงนักข่าวว่าเพราะนักข่าวเขียนข่าวไปเอง ไม่ได้เอาข้อมูลบางอย่างมาจากตน

ความเห็นที่ 6

แผ่นเสียงตกร่อง

ความเห็นที่ 7

ใครสนใจบางข้อมูลลองดูในเวปนี้นะครับ http://www.duangjan.com/talk/index.php?PHPSESSID=btrij97689cfjq5cl49atrr...
ผมรับเรื่องนี้ลำบากจริงๆครับ ยิ่งถ้าได้ไปดูข่าวไทยรัฐที่ลงข่าว ป้ายสี ใส่ร้าย เถาวัลย์ ทั้งๆที่ยังไม่ได้ศึกษาใดๆเลย มีโอกาสท่านลองไปค้นหาได้ใน อสงไขยสนธิ เองนะครับ