ปลาตีนตอนน้ำึ้ขึ้นจะอยู่ที่ไหนคะ

เคยได้ยินมาว่าปลาตีนจะใช้ครีบท้องที่มีคุณสมบัติเหมือนปุ่มดูด ปีนขึนไปอยู่บนต้นไม้เมื่อน้ำขึ้น
เลยมีข้อสงสัยว่า เวลาน้ำขึ้นปลาตีนจะขึ้นไปอยู่บนที่สูงจริงไหมคะ แล้วจะขึ้นไปเสมอไหมคะ
เพราะปลาตีนก็มีเหงือกที่สามารถหายใจในน้ำได้ ไม่น่าจะต้องขึ้นต้นไม้เพื่อหนีน้ำขึ้น

หรือถ้าไม่ใช่อะไรทำให้ปลาตีนต้องพัฒนาครีบท้องเพื่อให้สามารถปีนต้นไม้ได้คะ
เพราะการมีครีบที่แข็งแรงก็สามารถส่งแรงผลักในการเดินบนดินเลนได้

ขอบคุณค่ะ

Comments

ความเห็นที่ 1

จริง ๆ แล้วปลาตีนนั้นไม่ไ้ด้มีแต่ครีบท้องซ้ายขวาที่เชื่อมกันด้วยเยื่อบาง ๆ ให้มีลักษณะคล้ายถ้วยเท่านั้น ทีนี้ในประโยคคำถามใช้คำว่าปุ่มดูด ซึ่งให้ความรู้สึกเหมือนกับปุ่มดูดที่พบในหนวดปลาหมึก แต่ในครีบรูปถ้วยของปลาตีนกลับทำหน้าที่ได้ไม่ดีเท่ากับของปลาหมึก ปกติลักษณะครีบท้องแบบนี้ยังพบได้ในกลุ่มปลาบู่ (Gobiidae) อีกด้วย (แต่ปลาบู่ไม่สามารถปีนต้นไม้ได้เหมือนปลาตีน) ลักษณะครีบท้องแบบนี้ช่วยให้ปลาสามารถทรงตัวติดอยู่กับวัสดุได้หลายระนาบ โดยเฉพาะในแนวตั้งได้ดี ดังนั้นเราจะเห็นปลาบู่ทราย หรือปลาบู่ชนิดอื่นๆ เกาะติดกับเสาที่ปักในแนวตั้งอยู่ใต้น้ำแบบสบายๆ

ทีนี้มาเข้าประเด็นว่าทำไมมันปีนต้นไม้ได้ นอกจากเจ้าถ้วยดูดแล้ว ปลาตีนจะมีลักษณะที่พิเศษต่างไปจากปลาชนิดอื่นก็คือ มีมัดกล้ามเนื้อที่โคนครีบอกซึ่งพัฒนาดี จนทำให้ปลาสามารถใช้งานครีบอกได้มากกว่าปลาทั่วไป ดังนั้นเราจึงพบมันเดินอยู่ตามผิวหน้าดินได้ในตอนน้ำลด หรือตอนน้ำขึ้นจะเห็นมันเกาะอยู่ตามกิ่งไม้ได้ แต่เท่าที่เคยดูปลาตีนตอนน้ำขึ้น ดูเหมือนว่ามันละลอยอยู่ที่ผิวหน้าน้ำและเกาะอยู่ตามกิ่งไม้ชายเลนที่อยู่ปริ่มน้ำในลักษณะของการซ่อนตัวมากกว่าการปีนป่ายขึ้นไปที่สูงๆ ซึ่งจะทำให้สัตว์ผู้ล่าสังเกตเห็นมันได้ง่าย

อย่างไรก็ดี จากประสบการณ์ที่เคยเอามันมาเลี้ยงไว้ในตู้ปลา ที่จำลองสภาพเหมือนป่าชายเลน โดยการปลูกโกงกางในตู้ พบว่ามันสามารถปีนต้นโกงกางแล้วหนีออกจากตู้มาเดินเล่นบนพื้นให้คุณตูบที่บ้านฟัดจนถึงแก่ชีวิตได้

สรุปประเด็นคำตอบคือ ไม่ใช่ครีบท้องที่มีลักษณะคล้ายถ้วยอย่างเดียว แต่ต้องประกอบกับการมีมัดกล้ามเนื้อที่โคนครีบอกที่พัฒนาดีจึงทำให้ปลาสามารถเดินและปีนป่ายได้

เพิ่มเติม ตอนช่วงน้ำขึ้น นอกจากการซ่อนตัวอยู่ตามพุ่มไม้ป่าชายเลนแล้ว ยังมีปลาบางตัวไม่ได้ออกมาโผล่โฉมหน้าที่ผิวหน้าน้ำ แต่นักวิจัยชาวญี่ปุ่น พบว่า มันสามารถลงไปอยู่ในรูที่มันทำขึ้นเป็นพิเศษโดยมีโพรงอากาศอยู่ภายในรูนั้น โดยโพรงนี้มันออกแบบมาเพื่อให้เป็นที่อยู่ของไข่และลูกปลาขนาดเล็ก

ความเห็นที่ 2

แล้วประสิทธิภาพในการหายใจในน้ำโดยตรงของมันดีเหมือนปลาทั่วไปไหมครับ? หรือว่ามีปัญหาคล้ายๆกรณีของปลาช่อน(แบบว่าโดนกดใต้น้ำนานๆแล้วถึงตายได้)

ความเห็นที่ 3


ปลาตีนไม่ได้มีอวัยวะพิเศษเพื่อช่วยในการหายใจเหมือนกับปลาช่อน มันยังคงความสามารถในการใช้เหงือกเพื่อการหายใจ สังเกตได้จากเวลาที่อยู่ดินเลนขณะน้ำลง มันต้องดื่มน้ำเพื่อให้น้ำไหลผ่านเหงือกของมันเหมือนกับปลาทั่วไป แต่เหงือกของปลาตีนนั้นค่อนข้างลดรูป เมื่อเทียบกับปลาอื่น แสดงให้เห็นว่าความสามารถในการใช้เหงือกเพื่อแลกเปลี่ยนแก้สจะด้อยกว่าปลาอื่น

แต่ปลาตีนก็มีสิ่งชดเชย สิ่งที่ปลาตีนพัฒนาไปมากกว่าปลาทั่วไปคือ ผิวหนังของมันมีเส้นเลือดฝอยมาหล่อเลี้ยงเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันมีเอกสารวิจัยระบุว่าลักษณะนี้คล้ายกับผิวหนังของกบ ซึ่งสามาีรถใช้ผิวหนังช่วยในการแลกเปลี่ยนแก๊สได้ บางครั้งถ้าเราสังเกตมันในธรรมชาติขณะน้ำลง หากผิวหนังแห้งไปมันก็ต้องเอาตัวมันชุบลงในน้ำและโคลนเพื่อเพิ่มความชุ่มชี้นและรักษาประสิทธิภาพในการแลกเปลี่ยนแก้สของผิวหนังเช่นกัน นอกจากนี้แล้ว ในปลาตีนบางชนิดที่ส่วนปลายของลำไส้ใหญ่จะโป่งพองและมีเส้นเลือดฝอยมาหล่อเลี้ยงเป็นจำนวนมากเช่นกัน เชื่อว่าส่ิงนี้จะช่วยให้มันสามารถแลกเปลี่ยนแก้สได้ดีขึ้น ในการสร้างโพรงอากาศใต้ดินเพื่อให้เป็นที่อยู่ของไข่และลูกปลานั้น พ่อแม่ปลาจะใช้วิธีการอมอากาศที่ผิวดินซิ่งมีออกซิเจนมากไปปล่อยทิ้งไว้ในโพรงเพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจนให้กับลูก

ความเห็นที่ 4

เข้ามาลงทะเบียนเรียนด้วยคนครับอาจารย์ ความรู้ดีๆ ทั้งนั้น ^^
เพราะเหตุนี้เอง ปลาตีนถึงอยู่ในตู้ที่มีน้ำท่วมตัวตลอดเวลาไม่ได้ ถ้าตัวไม่เปื่อย ก็ตายเพราะหายใจไม่ออก --*

ความเห็นที่ 5

มาทบทวนความรู้ด้วยคนครับ

ความเห็นที่ 6

ขอบคุณสำหรับความรู้ครับ

ความเห็นที่ 7

เหงือกของปลาตีนลดรูป แล้วทำไมขนาดแก้มที่ปิดเหงือกของปลาตีนจึงดูมาขนาดใหญ่จังคะ เมื่อเปรียบเทียบกับปลาทั่วไป (เมื่อให้ขนาดของปลาตีนและปลาทั่วไปเท่ากัน)

ความเห็นที่ 8

ลดรูปไม่ได้หมายความว่ามันลดขนาดนี่ครับ การลดรูปของเหงือก เกิดจากการที่เส้นเหงือก (ซึ่งเป็นสีแดง ทำหน้าที่จับแก้สออกซิเจน) จะมาเชื่อมรวมกันเพื่อลดพื้นที่ในการระเหยของน้ำ แต่ผลที่ตามมาก็คือการทำหน้าที่ในการรับออกซิเจนก็ลดลงไปด้วย อ่าว อย่างนี้ปลาก็คงจงต้องขาดใจตา่ยเป็นแน่แท้

อย่างที่ได้กล่าวไว้ตอนต้นว่า ในช่วงที่ปลาตีนอยู่บนบกมันจำเป็นต้องดื่มน้ำไปด้วย เพื่อรับออกซิเจน ลองคิดดูถ้ามันมีช่องแก้ม (จริงๆ ภาษาวิชาการเรียกว่าแผ่นปิดเหงือก) และช่องโพรงซึ่งเป็นที่อยู่ของเหงือกที่มีขนาดเล็ก ประสิทธิภาพในการแลกรับออกซิเจนและถ่ายคาร์บอนไดออกไซด์จะมีมากได้อย่างไร ในขณะที่เครื่องมือสำหรับจับออกซิเจนก็มีประสิทธิภาพไม่ดี ในทำนองเดียวกันสิ่งนี้จะสอดคล้องกับทางเข้าของน้ำด้วย จะเห็นว่าปากของปลาตีนจะมีขนาดใหญ่มาก เพื่อให้สามารถนำน้ำเข้ามาในช่องโพรงของเหงือกได้ปริมาตรมากและอย่างรวดเร็ว และปากใหญ่ก็ยังช่วยให้ปลามีประสิทธิภาพในการกินอาหารได้มาก และสามารถกินอาหารที่มีขนาดใหญ่ได้ดีอีกขึ้นด้วย

สงสัยอยู่นิดหนึ่งว่า เจ้าของกระทู้เป็นใครกัน แล้วความสงสัยเกี่ยวกับปลาตีนนั้นเกิดจากความอยากรู้จริง ๆหรือว่า เกิดเพราะมีต้องเอาไปทำรายงาน หรือว่าเอาไปสอบความรอบรู้ 

ความเห็นที่ 9

เป็นคุณครูค่ะ 

ที่ผ่านมาเพิ่งพาเด็กๆ ไปภาคสนามที่ป่าชายเลน แล้วก็จะนำสิ่งที่เด็กๆ สังเกตเกี่ยวกับปลาตีนมาสอนเรื่องการปรับตัวของปลาตีน

โดยให้เด็กๆ เริ่มจากการสังเกตลักษณะภายนอกของปลาตีน กับปลาทั่วไป ที่เหมือน และต่างกัน
แล้วค่อยให้เด็กๆ คาดเดาถึงสาเหตุของการปรับตัว แต่ไม่ได้ให้เขาตอนลึกลงไปถึงรายละเอียด แต่ให้ดูแค่การปรับตัวที่สัมพันธ์กับพื้นที่และพฤติกรรม ที่ต่างกัน เป็นหลักค่ะ เพราะเด็กๆ เพิ่งจะอยู่ ป.๑

ก็เลยเริ่มทำโจทย์นี้เองก่อน เพื่อคาดเดาว่าเด็กๆ น่าจะตอบว่าอะไรบ้าง แล้วลองหาข้อมูลเพิ่มจากหนังสือประกอบด้วย ตอนทำก็ยังไม่ค่อยสงสัยค่ะ

แต่มาเริ่มสงสัยก็ตอนที่คุยๆ กันในห้องพักครูแล้ว มีคุณครูท่านหนึ่งบอกว่าเวลาน้ำขึ้น ปลาตีนมักจะไปขึ้นไปเกาะอยู่บนต้นไม้น่ะค่ะ ลองหาข้อมูลทั้งจากในหนังสือ และก็ในเว็บก็ยังไม่ได้ เลยเขียนมาถามในนี้ค่ะ

ช่วงนี้เด็กๆ เริ่มตั้งคำถามเพื่อนำเสนอ มีคำถามแปลกๆ ที่เล่นเอาคุณครูหน้ามืดไปเลยเหมือนกัน แต่ก็สนุกดีค่ะ หลายอย่างก็ได้รู้ไปพร้อมๆ กับเด็ก :)

ขอบคุณคุณสมหมายที่ช่วยไขข้อสงสัยนะคะ :)

ความเห็นที่ 10

คุณเจ้าของกระทู้
      ขอบคุณมากครับที่ตอบคำถาม แอบชื่นชมเด็กๆ ที่คุณสอนจังว่าช่างมีจินตนาการ และกล้าคิดกล้่าถาม และแต่ละคำถามนั้นก็ค่อนข้างล้ำลึกมากครับ  (เดาว่าน่าจะเป็นเด็กโครงการนานาชาติ) อยากให้เด็กมหาวิทยาลัยที่ผมสอนเป็นแบบนี้บ้างจัง มันคงทำให้บรรยาการการเรียนการสอนในชั้นเรียนสนุกขึ้นอีกมากแน่เลยครับ 

ความเห็นที่ 11

น่าหนุกยิ่งนัก อยากกลับไปเป็นเด็ก ๆ อีกครั้ง