กู้บทความเก่า: บึงบอระเพ็ด โดย นณณ์, กันยายน 2545
ตะลุยบึงบอระเพ็ด ฉบับติดสอยห้อยตาม
เรื่อง/ภาพ นณณ์ ผาณิตวงศ์
กันยายน 2545
บทเริ่ม
มืดตึ๋ดตื๊อ......ผมลืมตาขึ้นมาด้วยความงงๆ ปกติผมไม่ตื่นตอนนี้หรอก เอ....ตี 5 นาฬิกาปลุกก็ยังไม่ดัง แล้วนี้ตูตื่นขึ้นมาทำอะไรหว่า? ผมมักจะเป็นอย่างนี้เสมอ เวลาจะได้ไปไหนที่ผมตื่นเต้น แต่เช้า ผมมักจะตื่นก่อนเวลา ตื่นก่อนนาฬิกาปลุกซ่ะอีก เอ........อ้อ! ตอนนี้ผมนึกออกแล้วหล่ะว่าจะตื่นไปทำอะไร วันนี้ผมจะไปบึงบอระเพ็ด ลำพังแค่บึงบอระเพ็ดผมไปมาหลายหนแล้ว แต่ที่น่าตื่นเต้นคราวนี้ก็ เพราะว่าผมจะไปกับคณะอาจารย์ และนิสิต ภาควิชาประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะวิชาที่ผมใฝ่ฝันจะได้สัมผัสสักครั้ง หลังจากที่โชคชะตาพัดพาให้ไปเรียนบริหารธุรกิจอยู่หลายปี ไม่ได้จะไปเรียนกับเค้าหรอกนะครับ งานนี้น้องๆ พี่ๆ เค้าจะออกภาคสนามไปเก็บตัวอย่างปลากันผมเลยขอแจมไปด้วยคนหน่ะ
ล้อหมุน เกือบๆ 7 โมงเช้าจากหน้าคณะ ขบวนของเราวันนี้ประกอบไปด้วย รถตู้ 2 คัน รถปิคอัพของอาจารย์ที่ต้องใช้ขนอุปกรณ์ต่างๆ รถ 4x4 ของคุณโทนี่ และเจ้ารถคันเก่งของผม งานนี้ต้องขับไปคนเดียว เพราะคนอื่นๆ จะค้างกัน แต่ผมต้องกลับอ่ะครับ ผมขับตามหลังรถ 4x4 ของคุณโทนี่ไปตามถนนพหลโยธินได้สักพัก ก็เกิดอาการอึดอัดขัดใจ เพราะรถคันใหญ่เหลือเกิน จะเบรกจะชะลอก็กระชั้นชิด เพราะมองข้ามช็อตไม่ได้ หลังจากต้องเบรกหนักๆ ไป 2 ที ผมเลยตัดสินใจแซงขึ้นไป เค้านัดกันที่ไหนก็ไม่รู้หล่ะ กะว่าขับๆ ไปก่อนเด่วค่อยโทรถามเอา ดีกว่าอึดอัดอยู่แบบนี้
ผมมารู้ตัวอีกทีผมก็อยู่เกือบๆ ถึงสิงห์บุรีแล้ว โทรหาคุณโทนี่ก็ไม่ติด โทรไปเรื่อยๆ พอติดถึงทราบว่าคนอื่นๆ จอดกินข้าวเช้ากันอยู่แถวอยุธยานู้นนนน จะย้อนกลับไปก็ไกลแล้วผมเลยบึ่งไปรอที่สถานีประมงที่บึงฯก่อน ซึ่งก็ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงเศษๆ ถ้าใครไม่เคยไป ที่นี่มีอาคารแสดงพันธุ์ปลาน้ำจืดของไทยที่เนี๊ยบมาก ถึงแม้ตู้จะเล็กไปหน่อยสำหรับปลาใหญ่ๆ หลายชนิด แต่น้ำก็ใส และปลาก็ดูสุขภาพดี ด้านหลังอาคารยังมีบ่อจระเข้พันธุ์ไทยให้ชมด้วย เห็นแล้วก็นึกไปถึงสมัยก่อนตอนที่ยังมีเจ้าพวกนี้แหวกว่ายอยู่ในบึง
สำหรับข้อมูลคร่าวๆ ของบึงบอระเพ็ด ที่ผมลอกมาจากตรงนู้นนิด ตรงนี้หน่อยมีดังนี้ครับ:
สภาพของบึงบอระเพ็ดในอดีต เมื่อถึงฤดูแล้งน้ำก็ไหลลงสู่แม่น้ำน่านกลายเป็นที่ราบลุ่มธรรมดา เมื่อถึงฤดูน้ำหลากอีกครั้งก็กลายเป็นทะเลน้ำจืดวนเวียนกันเช่นนี้เรื่อยมา ในปี พ.ศ. ๒๔๖๔ รัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ รัฐบาลไทยได้ว่าจ้างที่ปรึกษาชาวสหรัฐอเมริกา Dr. H. M. Smith เป็นที่ปรึกษาด้านการประมง เพื่อวางรากฐานการประมงของประเทศไทย Dr. Smith ได้สำรวจนิเวศน์วิทยาของ บึงบอระเพ็ด และพบว่าเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง โดยเป็นแหล่งพันธุ์ปลา ความหลากหลายของพันธุกรรม แหล่งหากินสืบพันธุ์วางไข่ของสัตว์น้ำในประเทศไทย จึงได้ให้คำแนะนำแก่กระทรวงเกษตราธิการ ให้สงวนรักษาไว้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ รวมทั้งให้รักษาระดับน้ำไว้ตลอดปี โดยการจัดสร้างฝายกั้นน้ำ และประตูระบายน้ำ ต่อมาจึงมี พระราชหัตถเลขาที่ ๑๒/๖๖๘ ลงวันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๖๙ ของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กระทรวงเกษตราธิการจัดสร้างทำนบประตูกั้นน้ำ บึงบอระเพ็ด และจัดสร้างที่ทำการรักษาพันธุ์สัตว์น้ำ หลังจากนั้นบึงบอระเพ็ดจึงได้รับการประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ บึงบอระเพ็ด อยู่ในเขตตำบลพระนอน อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ มีพื้นที่ประมาณ ๑๓๓,๐๐๐ ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ ๓ อำเภอ คือ อำเภอเมือง ฯ อำเภอชุมแสง และอำเภอท่าตะโก
แม่น่าน
ขบวนมาถึงบึงฯตอนเกือบๆ 11 โมง หลังจากเก็บข้าวของกันเรียบร้อยแล้วอาจารย์ก็เปิดบรรยายเล็กน้อยตรงลานจอดรถ การบ้านของน้องๆ และพี่ๆ วันนี้ คือ หาปลามา 15 ชนิด เพื่อมาทำการจำแนกชนิด และเขียนบรรยาย ว่าแล้วคณะของเราก็ออกเดินทางสู่ฟาร์มแห่งนึงใน อำเภอชุมแสง (ต้องขออภัยที่จำชื่อไม่ได้ครับ) ฟาร์มปลาแห่งนี้อยู่ติดกับแม่น้ำน่าน ซึ่งในหน้าน้ำจะมีบ่อส่วนนึงที่อยู่ใกล้แม่น้ำจะถูกน้ำท้วม บ่อนี้แหละครับที่เป็นเป้าหมายของเราในวันนี้ งานนี้เราใช้อวนตาใหญ่พอสมควรซึ่งยาวสัก 50 เมตรได้ น้องๆ และพี่ๆ ที่ฟาร์มโดดลงน้ำไปช่วยลากอวนกันในแม่น้ำน่านที่เย็นเจี๊ยบ ส่วนผมนั้นถือกล้องยืนเชียร์อยู่ริมฝั่ง และช่วยดึงส่วนที่ขึ้นบกบ้างเมื่อมีโอกาส วันนี้บรรยายกาศครึกครื้นมาก เพราะมีกองเชียร์ และกองโวยเกือบ 30 คน ลากอยู่ได้เกือบ 15 นาทีอวนก็แคบเข้า เริ่มมีปลากระโดดขึ้นมาให้เห็นบ้างแล้ว “น้องคนนั้นอย่าเหยียบตีนสิครับ” งงสิครับ เจ้าตัวคนที่โดนว่านั้นอยู่ห่างจากคนอื่นตั้งหลายเมตร ผมเห็นเค้าทำหน้าเหรอหล่า “น้องตีนอวนหน่ะอย่าเหยียบสิครับ มันลากไม่มา” “โด่พี่ ผมก็นึกว่าไปเหยียบตีนใคร........”
"ไอ้เบี้ยวๆ " คือคำที่ผมได้ยินต่อจากนั้น "โหตัวเบ่อเริ่มเลย!" "มีจิ้มฟันจระเข้ด้วย!" "สังกะวาดนี่!" หลังจากนั้นทุกคนก็เข้าไปมุงกันใหญ่ ผมไปยืนชะโงกดูอยู่ข้างหลังด้วยความตื่นเต้นที่ได้เห็นปลาแม่น้ำหน้าตาแปลกๆ เต็มไปหมดขณะที่น้องๆ และอาจารย์เริ่มตักปลาใส่ถัง รู้ตัวอีกทีตอนที่คุณพี่คนนึงสะกิดให้ถ่ายรูป ซึ่งปลาก็แทบจะไม่เหลืออยู่ในอวนแล้ว หลังจากนำปลาชุดแรกไปพักไว้ในบ่อเล็กๆ เราก็ลองลงอวนในบ่อน้ำท้วมถัดไป ซึ่งคราวนี้ก็มีปลาหน้าดินแปลกๆ อย่างปลาลิ้นหมาน้ำจืดติดมาด้วย ประทับใจมากครับกับความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำน่าน ถึงตรงนี้ก็เลยเที่ยงไปแล้วคุณลุงเจ้าของฟาร์มยังใจดีเลี้ยงอาหารพวกเรากันจนอิ่มหน่ำสำราญอีกตะหาก ทั้งห่อหมกสวายใบยอ ปลาดุกย่าง สวายผัดเผ็ด และต้มยำสวายรสเด็ดที่มันย่องติดปาก รับประทานกันเรียบร้อยเราก็นำปลาที่จับได้ใส่ถุง เพื่อนำกลับไปที่ศูนย์วิชาการของบึงบอระเพ็ด ต้องขอขอบคุณในความมีน้ำใจของคุณลุงเป็นอย่างสูงครับ
สวัสดีจ้าบึงบอระเพ็ด
เรากลับมาถึงบึงบอระเพ็ด และก็ออกเก็บตัวอย่าง (อ่ะแฮ่ม! วันนี้ไม่เรียกว่าจับปลานะครับ) กันอีกครั้ง หมายนี้อยู่บริเวณจุดชมวิวของบึง ซึ่งเป็นลานโคลนที่ค่อยๆ เทลงไปซึ่งน้ำไม่ลึกมาก หมายนี้มีผักตบชวา และหญ้าขึ้นอยู่พอรกๆ เราใช้อวนตาถี่มากๆ ซึ่งทำจากมุ้งสีฟ้าๆ ที่เห็นกันบ่อยๆ เพื่อหาปลาขนาดเล็กบ้าง น้องผู้หญิงอีกกลุ่มก็ใช้กระชอนขนาดเล็กไล่ช้อนปลาตามกอหญ่า และผักตบ ในขณะที่เจ้าหนุ่มปักษ์ใต้ผิวเข้มอีกคนกำลังเหวี่ยงแหอยู่อย่างขมักเขม้น ผมมัว แต่ตื่นเต้นอยู่กับสาวๆ ที่จับปลากริมสีสวยๆ ได้หลายตัวกะเจ้าหนุ่มที่ทอดแหได้ปลากระแห และตะเพียนตัวเบ่อเริ่ม “เห็นม่ายหล๊ะ บ๊อกแหล่วว่ามีฝี้มือเหมื๊อนกั๊นนนน” เจ้าหนุ่มหันไปโม้กับ เพื่อน อีกฝากนึงอวนตาถี่กำลังจะลากถึงฝั่งแล้ว ผมพยายามจะวิ่งไปถ่ายรูปให้ทัน แต่โคลนเจ้ากรรมก็ช่างเหนียวลื่นดีเหลือเกิน จากที่ตั้งใจว่าจะวิ่งจึงกลายเป็นย่องกระหย่องกะแย๊งแทน ถึงตรงนี้ผมทนไม่ได้จนต้องถอดรองเท้าเดินแล้วครับ ริมน้ำก็นุ่มๆ ลื่นๆ แต่ข้างบนกลับแห้งแตก เดินข้างล่างก็จมเดินข้างบนก็เจ็บเท้าเหลือเกิน นึกถึงเจ้ารองเท้าแตะรัดส้นคู่ที่ใช้มานาน แต่เพิ่งโดนเจ้าบางแก้วที่บ้านล่อซ่ะเละจนน้ำตาแถบตก ตอนนี้เริ่มเห็นตัวปลาแล้ว เสียงดีอกดีใจ อู้อ้า ดังไปหมด "หูยยยปลาอะไร ส๊วยสวย" "เฮ้ยเดี๋ยวๆ งูหรือปลาไหลว่ะ?" "โห ปลานิลตัวเบ่อเริ่มเลย" "เอ้า อย่ามัว แต่เล่นช่วยกันเก็บปลาลงถังเร็วครับ" อันนี้เป็นเสียงมาจากอาจารย์ ทำให้เสียงอื่นๆ เงียบไปหมด ประทับใจอีกแล้วครับ ปลามากมายเหลือเกิน ทั้ง ตะเพียนทอง ตะเพียนขาว กระแห แรด ซิวหางแดง ซิวแก้ว ปักเป้า บู่ใส และปลาใหญ่น้อยอีกมากมาย "เก็บแยกนะครับ ปลาที่ได้จากอวน จากสวิง และจากแห ต้องระบุให้ชัดเจนนะครับว่าจับยังไง" เป็นเสียงจากอาจารย์อีกครั้ง
จริงจังกับชีวิต
จากตรงนี้เรากลับไปที่อาคารปฏิบัติการของหน่วยฯ บริเวณหน้าอาคารนี่เองที่น้องๆ และพี่ๆ จะใช้เป็นที่ปฏิบัติการภาคสนามกันในวันนี้ ปลาเกือบทั้งหมดที่เราจับได้จำเป็นที่จะต้องสละชีพ เพื่ออนาคตของชาติ ณ ที่นี้ โดยการแช่ในน้ำแข็งให้เลือดค่อยๆ แข็งตัว ซึ่งการทำอย่างนี้ปลาซึ่งเป็นสัตว์เลือดเย็นจะไม่รู้สึกทรมานเลย ขั้นตอนนี้ได้ยินแว่วๆ ว่า คือการ “น๊อค” ครับ หลังจากนั้น ก็เป็นขั้นตอนของการ “เซ็ท” ตัวอย่าง ซึ่งขั้นตอนที่ผมครูพักลักจำมาคร่าวๆ ก็ คือ นำปลามาวางลงบนแผ่นโฟม แล้วค่อยๆ ใช้เข็มขนาดเล็กมากๆ เขี่ยให้ครีบกางออกแล้วจิ้มขึงไว้ เสร็จแล้วก็ทาฟอร์มาลินลงไปตามครีบต่างๆ แล้วรอให้แห้งสัก 5-10 นาที ปลาที่แห้งแล้ว เมื่อถอดเข็มออกครีบต่างๆ จะกางค้างอยู่อย่างนั้นเลย สำหรับน้องๆ และพี่ๆ ขั้นตอนต่อไป คือนำตัวอย่างที่เซ็ท เสร็จแล้วมาถ่ายรูปบนพื้นลองสีเรียบๆ โดยมีไม้บรรทัดเปรียบเทียบ ซึ่งขั้นตอนการถ่ายรูปนี่เองที่ผมร่วมแจมอย่างสนุกสนาน สำหรับบรรยากาศในตอนนี้ค่อนข้างยุ่งๆ สักหน่อย เพราะต่างคนต่างก็พยายามคัดปลามาให้ได้ 15 ชนิด ปลาแปลกๆ ที่ดูชนิดง่าย แต่ได้มาน้อยตัว อย่างปลาลิ้นหมา ปลาปักเป้า และปลาจิ้มฟันจระเข้ ก็ต้องแย่งกันหน่อย พวกหาง่ายๆ อย่างปลาซิวหางแดงก็ได้กันเกือบทุกคน อยู่ที่ว่าตัวอย่างของใครจะสมบูรณ์กว่ากัน บรรยากาศตอนนี้สนุกสนานมาก เดี๋ยวคนนี้ร้องหาฟอร์มาลิน เดี๋ยวคนนู้นร้องหาเข็ม เดี๋ยวอีกคนร้องหาไม้บรรทัด
ประโยคที่พอจะจับได้ในช่วงนี้ที่อาจารย์สอนให้น้องๆ พี่ๆ ก็มีอย่าง:
"หันซ้ายครับ หันซ้ายตัวอย่างต้องหันซ้ายเสมอนะครับ นอกเสียจากว่าข้างขวาจะสมบูรณ์กว่าจริงๆ "
"เดี๋ยวเหอะๆ ใครสอนในกางครีบอกออกมาทั้ง 2 อัน?"
"ระวังเข็มหายนะครับ เล่มขนาดเล็กสุดนี่เล่มละสามบาทห้าสิบเชียวนะ"
"เอ้า ใส่เสื้อเหลือง เดี๋ยวถ่ายรูปปลาออกมาก็เหลืองหมดหรอก ไปเปลี่ยนซ่ะก่อน"
"จะถ่ายรูปปลาไหลจับตัวงอๆ ได้ครับ"
"ไม้บรรทัดให้ขนานนะครับ เอาออกห่างตัวปลาหน่อยก็ได้เผื่อตัดไปลงหนังสือจะได้ง่ายๆ "
"เช็ดน้ำรอบๆ ตัวปลาก่อนถ่ายรูปนะ เดี๋ยวมันสะท้อนเป็นรอยๆ "
หลังจากเซ็ตปลาถ่ายรูปกันเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องเก็บตัวอย่างลงในน้ำสารละลายฟอร์มาลิน 10-20% ในกรณีของปลาตัวใหญ่ก็ต้องทำการผ่าท้องให้ฟอร์มาลินเข้าไปถึงข้างในด้วย ซึ่งปลาจาก แต่ละแหล่ง และ แต่ละวิธีการจับต้องอยู่แยกถุงกัน แล้ว แต่ละถุงก็จะมีการเขียนป้ายกำกับลงไปด้วย สำหรับตัวป้ายจะทำจากกระดาษชนิดพิเศษที่จะไม่ยุ่ยในน้ำ และต้องเขียนด้วยดินสอเท่านั้นถึงจะไม่ลอก และไม่มีสารเคมีปนเปื้อนครับ ใส่ถุงแล้วก็ต้องเก็บไว้สัก 1-2 อาทิตย์ เพื่อให้ตัวอย่างอยู่ในสภาพดี และสามารถจับมาพลิกซ้ายพลิกขวาได้โดยที่ไม่ต้องกลัวว่าครีบจะหุบกลับไปอีก ถึงตรงนี้น้องๆ พี่ๆ เค้าถึงจะนำขึ้นมาทำการนับเกล็ดนับก้านครีบกันต่อไป หลังจากนี้ถ้าใครมีตังค์หน่อยก็ไปซื้อแอลกอฮอลล์ 70-75% มาแช่เก็บตัวอย่าง แต่ถ้าจะแช่ทิ้งในฟอร์มาลินต่อไปก็ต้องหาเปลือกหอยหรือสารบอแล็คมาใส่ลงไปไม่งั้นกระดูกปลาจะเหลวหมดครับ
สำหรับปลาขนาดใหญ่หลายชนิดที่มีเนื้อรสชาติดีอย่าง ปลาเบี้ยว และ ปลานิล (ซึ่งไม่ใช่ปลาไทย) ที่จับได้นั้นน้องๆ ทำการเก็บใส่ลังน้ำแข็งไว้ เพื่อนำไปทำอาหารต่อไป (ได้ยินแว่วๆ มาว่าคืนนั้นมีการตั้งวงย่างปลากันเป็นที่สนุกสนานมาก) ถึงตรงนี้ผมเหลือบไปเห็นน้องผู้หญิงคนนึงกำลังจับปลาออกจากถัง มองไปเห็นเป็นปลากริมสีจึงขอตัวเป็นๆ กลับบ้านมา 5-6 ตัว เจ้าปลาชนิดนี้จริงๆ แล้วก็ไม่ได้หายากอะไรหรอกครับ แต่เห็นที่ไรก็เอ็นดูมันทุกที ก็ เพราะสีสันที่สวย และปากเล็กๆ ของเค้านั่นแหละ
การบ้านของน้องๆ และพี่ๆ เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น พวกเค้ายังต้องนำตัวอย่างพวกนี้กลับไปจำแนกชนิด และเขียนบรรยายเป็นการบ้านส่งอาจารย์อีก ปลาบางชนิดเห็นแว่บเดียวก็รู้ แล้วว่าชนิดไหน แต่การเขียนบรรยายว่าทำไมถึงคิดว่าเป็นชนิดนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เรียกว่าต้องงัดพรรณนาโวหารออกมาใช้กันเลยหล่ะ อาจจะต้องมีการนับเกล็ดแถวที่อยู่ตรงเส้นข้างตัว นับก้านครีบ เปรียบเทียบตัวอย่างกับภาพวาด และคำบรรยาย อย่างยากๆ อาจจะต้องผ่าท้องออกมาดูการเรียงตัวของอวัยวะภายใน และอื่นๆ อีกมากมายที่เป็นส่วนหนึ่งของวิชาจำแนกชนิด (Taxonomy) คืนนี้คณะจากมหาวิทยาลัยจะค้างกันที่บ้านพักของหน่วยฯ เพื่อจะเยี่ยมชมศูนย์แสดงพันธุ์ปลาในตอนเช้า และก่อนหน้านั้นก็จะออกสำรวจปลาที่ตลาดสดซึ่งจะเป็นการเรียนรู้ชื่อท้องถิ่นของปลา แต่ละชนิดไปด้วย ส่วนผมนั้นจำต้องลากลับกรุงเทพฯ แต่เพียงลำพังในเย็นวันนั้น ขับรถกลับบ้านคนเดียวเหงานะครับ แต่อย่างน้อยก็ไม่ต้องทำการบ้านส่งหล่ะ เหอะๆ ๆ
ขอขอบคุณเป็นอย่างสูง:
อาจารย์ปรัชญา และ อาจารย์ไก่ ที่กรุณาให้ผมติดสอยห้อยตามคณะไปด้วย
พี่ๆ เพื่อนๆ และน้องๆ ทุกคนที่มีมิตรจิตรมิตรใจอันดีงาม
ปลาทุกตัวที่สละชีพ เพื่ออนาคตของชาติ วีรกรรมของท่านได้ถูกบันทึกไว้ ณ ที่นี้แล้ว จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด
คุณลุงเจ้าของฟาร์มที่ใจดี
คุณโทนี่ที่ช่วยขออนุญาตอาจารย์ให้ผมร่วมทริปไปด้วย และ รวบรวม ID ปลา
คุณป้าหนอน และว่านน้ำที่ช่วยหาข้อมูลประวัติของบึงให้
*หมายเหตุ : เนื่องจากรูปปลามีเยอะมาก และยังทำไม่เสร็จเลยยังไม่มีรูปปลาประกอบในครั้งนี้ เราจะนำมาลงให้เป็นเรื่องเป็นราวในโอกาสต่อไป
อ้างอิง:
http://www.nakhonsawan.go.th/pr/job/borapet.htm
http://203.154.104.10/service/mod/heritage/nation/ oldcity/nakhonsawan2.htm