กลุ่มนกเค้า (Owls) ที่อพยพเข้ามาในไทย (1)

เรื่อง: อุเทน ภุมรินทร์ 

ช่วงฤดูอพยพของบรรดานกนักเดินทางเริ่มต้นแล้ว ทัพหน้าอย่าง นกเด้าลมหลังเทา (Grey wagtail) เริ่มพบได้ตามถนนในป่า หรือไม่ก็ตามโขดหินแถวน้ำตกหรือแม่น้ำ คอยทำหางกระดกขึ้นลง กระดกบ่อยๆ จนคล้ายมันเดินส่ายก้นไปตลอด (เฮ้ย! ยั่วนี่หว่า) เดินหาจับแมลงกินเป็นอาหาร

ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม บรรดานกอพยพทั้งหลาย จะทยอยเดินทางมาถึงเมืองไทย บางตัวแค่อาศัยเมืองไทยเป็นทางผ่าน แวะเติมพลัง หาอาหาร แล้วเดินทางต่อไปอาศัยยังคาบสมุทรมลายู เช่น อินโดนีเซียหรือฟิลิปปินส์ บางชนิดอาจเลยไปไกลถึงออสเตรเลีย บางตัวมาแล้ว ก็รักเดียวใจเดียว อยู่เมืองไทยยาวๆ จนกว่าจะได้เวลาเดินทางกลับบ้านอีกครั้ง

รอให้ถึงช่วงลมหนาวมาเยือน (ปีนี้ จะมีไหม? เพราะฤดูร้อนยังหายไป!) เราคงได้ต้อนรับเหล่านกอพยพอีกเพียบ แต่วันนี้ ขอพูดถึง เฉพาะกลุ่มนกเค้า (Owls) ที่อพยพ ในเมืองไทย พบนกเค้าที่อพยพเข้ามา จำนวน 3 ชนิดด้วยกัน คือ นกเค้าหูยาวเล็ก (Oriental scops Owl), นกเค้าแมวหูสั้น (Short-eared Owl) และนกเค้าเหยี่ยว (Brown hawk Owl)

เริ่มกันที่ตัวแรกคือ นกเค้าหูยาวเล็ก ในโลกนี้ มีนกเค้าหูยาวเล็กถึง 21 ชนิดย่อย ส่วนในแดนขวานทองของไทยนี้ พบเพียง 2 ชนิดย่อย ซึ่งชนิดย่อยแรกเป็น (Otus sunia distans) เป็นชนิดย่อยที่เป็นนกประจำถิ่น พบทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก และบางแห่งของอีสานบ้านเรา ส่วนชนิดย่อยอพยพ (Otus sunia stictonotus) พบในภาคกลางบางแห่ง อย่างในกรุงเทพฯ ตามสวนสาธารณะ หรือชานเมือง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ด้วย ซึ่งบ้านเกิดของพวกมันจริงๆ อยู่ทางตอนเหนือของประเทศจีนและเกาหลี พอถึงช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ นกเค้าหูยาวเล็กจะอพยพลงมาทางจีนตอนใต้, ไต้หวัน, เลยมาถึงไทยด้วย

นกเค้าหูยาวเล็กพันธุ์อพยพ จะเดินทางย้ายถิ่นมา ช่วงนอกฤดูทำรังวางไข่ (winter visitor)  มักพบได้ในช่วงเดือนตุลาคม เป็นต้นไป อยู่ยาวไปจนถึงเดือนเมษายนหรือพฤษภาคม ถึงเดินทางกลับไปสร้างรังวางไข่ยังบ้านเกิดที่เมืองจีน

รูปร่างหน้าตาของมัน คล้ายกับ “นกเค้ากู่หรือนกฮูก (Collar scops Owl)” นกฮูก ที่ร้องดัง “กู่” คล้ายเสียงคนกู่เรียก และพบได้ทั่วไป ต่างกันตรงที่นกเค้าหูยาวเล็ก ตัวเล็กกว่า เค้ากู่ดูตัวแน่นๆ หนากว่าเค้าหูยาวเล็ก (เค้ากู่ ขนาด 22-23 ซม. เค้าหูยาวเล็ก 19 ซม.) คิ้วออกสีขาว รอบคอไม่มีแถบสีเนื้ออย่างนกเค้ากู่ ตาสีเหลือง ลำตัวด้านล่างมีลายขีดสีดำเด่นชัดกว่า

ส่วนพันธุ์ประจำถิ่น สีตัวต่างจากชนิดย่อยอพยพ คือ เป็นสีน้ำตาลแกมเทา หนักไปทางเทาเลยก็ว่าได้ ขนาดตัว รูปลักษณ์หน้าตา ไม่ต่างกัน ต่างกันที่ชุดขนเท่านั้น นกเค้าหูยาวเล็กชนิดประจำถิ่น อาศัยอยู่ตั้งแต่ป่าเบญจพรรณและบริเวณที่เปิดโล่งสักหน่อยในป่าดิบ พบตั้งแต่ที่ระดับต่ำจนกระทั่งความสูง 1000 เมตร และอาจพบได้ในระดับ 2000 เมตรจากระดับน้ำทะเล


เท่าที่พอหาดูได้ง่าย คือที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จ. ชัยภูมิ เรียกได้ว่า เป็น “นกที่ทำการฯ” เลยทีเดียว แต่ก็ต้องรู้จักและจดจำเสียงของมันสักหน่อย เสียงร้อง “ตรุ๊ด ตรุ๊ด ตระ-ตรุ๊ด” บอกตำแหน่งตัวเอง จำกันให้ขึ้นใจ (สามารถเข้าไปฟังเสียงนกเค้าหูยาวเล็ก ในเวปไซต์ http://www.xeno-canto.org/XCspeciesprofiles.php?species_nr2=991.10 เลือกไฟล์แรก ที่อัดเสียงมาจากกัมพูชา เพราะจะเป็นชนิดย่อยเดียวกัน)

ในตอนกลางวัน มักเกาะตามกิ่งก้านของต้นไม้ที่มีใบหนาทึบ หรือไม่ก็ตามต้นสนสามใบ (Pinus kesiya) ที่อยู่บริเวณแถวที่ทำการฯ และบ้านพักรับรองนักท่องเที่ยว หรือในป่าเต็งรังผสมสน บริเวณนั้น โดยเกาะกับกิ่งสน ตัวตั้งตรง ลายสีเทาและขีดสีดำแซมตามตัวตามท้อง ทำให้มันดู "เนียน” ไปกับต้นสน มองบางทีก็คล้ายลูกสน เพราะขนาดก็ใกล้เคียงกันกับลูกสน

โดยมากในช่วงกลางวัน หากเกาะต้นไม้ต้นไหน ก็จะมักเกาะตรงจุดเดิม เป็นที่ประจำทุกวัน ผมเอง และเพื่อนๆ รวมทั้งอาจารย์ได้เห็นนกเค้าชนิดนี้ เมื่อตอนซัมเมอร์ ปี 2552 (ในเมืองอาจร้อนตับแลบ แต่กลางป่าภูเขียว ต้องได้ผ้านวมสักสองผืนถึงจะหลับสบาย) สำหรับนิสิตที่ร่ำเรียนด้านสัตว์ป่าของคณะวนศาสตร์ ถึงช่วงปิดเทอม พวกเขาต้องไปเรียนภาคสนามในป่า เพื่อเรียนรู้ เทคนิคและวิธีการต่างๆ ในการศึกษาสัตว์ป่า 15 วันในป่าอนุรักษ์ สำหรับพวกผม ได้ไปฝึกกันที่เขตฯ ภูเขียว วันหนึ่ง หลังจากกลับออกมาจากป่าในช่วงสาย เราพบเจ้าเค้าหูยาวเล็ก เกาะนอนในช่วงกลางวัน โดยปิดเปลือกตาลงมาครึ่งหนึ่ง พวกเราทั้งหมด มากกว่า 20 ชีวิต จ้องมองและถ่ายรูปกัน โดยที่เขาไม่ได้บินหนีไปไหน มีจ้องมองตาขวางๆ บ้าง แนวว่า “จะมากวนได้ไหม คน เฮ้ย! นกจะนอน”

จากการสังเกต ‘เจ้าหูยาวเล็ก’ คงเกาะนอนในช่วงกลางวัน โดยมี “ต้นประจำ” คือ เลือกต้นไม้ที่พุ่มใบหนา พอเนียนหลบสายตานกผู้ล่า อย่าง “เหยี่ยว” ที่จะจับมันหม่ำเสีย ในช่วงสะลึมสะลือได้ ที่พอคาดเดาได้ เพราะพื้นดินด้านล่างต้นที่มันเกาะนอน มีขี้ของมัน เลอะขาวทั่วไปหมด แสดงได้ว่า นกนอนบนต้นนี้ เป็นประจำ

พอถึงช่วงท้องฟ้าหมดแสง นกเค้าหูยาวเล็ก ก็จะส่งเสียงร้อง “ตรุ๊ด ตรุ๊ด ตระ-ตรุ๊ด” บอกยี่ห้อตัวเอง อยู่อีกหลายครั้ง ก่อนจะบินไปหาอาหาร ซึ่งอาหารของมันเป็น แมลงจำพวกแมลงปีกแข็ง (beetles), ผีเสื้อกลางคืน (moths), แมงมุม พวกสัตว์เลื้อยคลาน อย่างเช่น จิ้งจก นอกจากนั้น มีหนูและนกด้วย เห็นเมนูอาหารที่มันกิน เราคงเห็นชัดแล้วว่า หน้าที่ควบคุมปริมาณสัตว์ที่เป็นเหยื่อของนกชนิดนี้ เด่นชัดเพียงใด

นกเค้าหูยาวเล็ก ชนิดย่อยประจำถิ่น(ซ้าย) ภาพ: เจริญชัย โตไธสง ชนิดย่อยอพยพ (ขวา) ภาพ: อัครวัช สมไกรสีห์

  • ปัจจัยคุกคามของ “นกเค้าหูยาวเล็ก”

นกเค้าหูยาวเล็กชนิดประจำถิ่น อาจโชคดีอยู่บ้าง ที่ชีวิตอาศัยอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ มีกฎหมายและเจ้าหน้าที่ป่าไม้คอยคุ้มครอง ได้ใช้ชีวิตที่ผาสุกในบ้านของตัวเอง ต่างกันกับ นกเค้าหูยาวเล็กพันธุ์อพยพ ที่อาจโชคร้าย หากช่วงเดินทาง พลาดบินไปติดตาข่าย “กับดัก” ของคนจับนกมาขาย ที่ปลายทางของนกที่ติดกับดักเหล่านี้ คือตลาดค้าสัตว์ป่า “จตุจักร พลาซ่า” ที่เราสามารถพบนกเค้าหูยาวเล็ก สีน้ำตาลเหลือง พร้อมด้วยนกจากป่าอีกจำนวนมาก ที่แออัดยัดเหยียดอยู่ในกรงเดียวกัน นกเค้าหูยาวเล็ก บางตัวหลับพิงกรง ราวกับนกตาย เพราะ ช่วงกลางวันแดดร้อนจ้าอย่างนี้ เป็นเวลาเกาะนอนของเขา หรือไม่ก็ร่างกายที่อ่อนแอและภาวะความเครียด จากการถูกจับมาขังกรง

ในช่วงปีนี้ กลุ่มนกเค้า (Owls) ทั้งชนิดที่มีขนยาวคล้ายหู (ear tuft) อย่างเช่น นกเค้ากู่, นกเค้าหูยาวเล็ก เป็นต้น และหัวกลมๆ เช่น นกเค้าจุด (Spotted owlet) ถูกจับออกมาวางขาย จำนวนไม่น้อย ความน่ารักของมัน ถูกเพิ่มให้คนทั่วไป อยากได้มาเลี้ยงหรือครอบครอง ส่วนหนึ่ง น่าจะมาจากหนังภาพยนตร์ เรื่อง “มหาตำนานวีรบุรุษองครักษ์ นกฮูกผู้พิทักษ์แห่งกาฮูล Legend of The Guardians: The Owls of Ga'Hoole” ที่มาสร้างความประทับใจ ให้ใครหลายคน อยากได้นกฮูก มาเลี้ยง เช่นเดียวกับเมื่อหลายปีก่อน ที่ภาพยนตร์เรื่อง Harry Potter ซึ่งมีนกเค้าหิมะ (Snowy owl) เป็นสัตว์เลี้ยงประจำ เกาะที่แขนของแฮร์รี่ จนทำให้ใครก็อยากมี “นกฮูก” ไว้เลี้ยงบ้าง หรือ Nemo ทำให้ปลาการ์ตูนจำนวนมหาศาล หายไปจากท้องทะเลไทย

ผมไม่ได้กล่าวโทษหนังภาพยนตร์เหล่านี้ เพียงแต่มาชวนว่า เราคงต้องมีมาตรการ หรือสร้างความเข้าใจกันใหม่ เป็นไปได้ไหม? เช่น หากหนังที่ฉายเกี่ยวกับสัตว์ ซึ่งตรงกับชนิดสัตว์ในธรรมชาติบ้านเรา เราควรมีคำอธิบาย เช่น “นกฮูกในเมืองไทย ทุกชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ไม่อนุญาตให้เลี้ยงหรือครอบครอง การซื้อขายมีความผิดตามกฎหมาย” ก่อนที่ภาพยนตร์เหล่านี้จะฉายได้หรือไม่?

หากเรายังไม่ยอมคิด หาทางป้องกัน หรือช่วยกัน ไม่ให้นกป่ากลายมาเป็นนกเลี้ยง ไม่แน่ นกเค้าหูยาวเล็กชนิดอพยพ ที่พบได้เกือบทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ อาจพบได้แค่ในกรงกลางตลาดนัดจตุจักรเท่านั้น!  


เอกสารและสิ่งอ้างอิง

    
จารุจินต์ นภีตะภัฏ, กานต์ เลขะกุล และ วัชระ สงวนสมบัติ. 2550. คู่มือดูนก หมอบุญส่ง เลขะกุล  นกเมืองไทย. บริษัท ด่านสุทธาการพิมพ์ จำกัด, กรุงเทพฯ.
     วัชระ สงวนสมบัติ. 2543. วิหคราตรีค่ำคืนนี้ยังมีนก. นิตยสารแอดวานซ์ ไทยแลนด์ จีโอกราฟฟิค 5 (40): 113-146.
     โอภาส ขอบเขตต์. 2542. นกในเมืองไทย เล่ม 2. สำนักพิมพ์สารคดี, กรุงเทพฯ.
     Anonymous. 2010.  Oriental scops Owl (Otus sunia).  Available Source: http://www.planetofbirds.com/strigiformes-strigidae-oriental-scops-owl-otus-sunia (August 30, 2011).
     Konig, C., F. Weick and J.H. Becking.  1999.  Owls A Guide to the Owls of the World.   Pica Press, Netherlands, 462 p.