“ไม่ใช่ไม่รักษ์ แต่บางทีเขาอาจยังไม่รู้”
เรื่อง: อุเทน ภุมรินทร์ ภาพ: อาสาสมัครกิจกรรมเด็กรักษ์นกและป่าสลักพระ
“ใครยังยิงนกอยู่บ้าง”
เด็กผู้ชาย จำนวน 5 คนยกมือขึ้นอย่างช้าๆ จากจำนวนเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5- มัธยมศึกษาปีที่ 3 เกือบสี่สิบคนที่นั่งอยู่บนเก้าอี้เป็นแถวตรงหน้าผม ซึ่งมาเข้าร่วมกิจกรรมเด็กรักษ์นกและป่าสลักพระในเช้าวันอาทิตย์กลางเดือนสิงหาคมนี้
“ยิงเล่นเฉย ๆ เมื่ออาทิตย์ที่แล้วนี้เอง”
คือคำตอบที่เราได้รับฟัง ภาพเด็กเดินเป็นกลุ่มตามริมถนนชนบท มีหนังสติ๊กคล้องคอ ยืดหนังยางเล็งไปที่นกตัวใดตัวหนึ่งที่อาจเกาะสายไฟ กิ่งไม้ หรือกำลังหาอาหารเพื่อไปเลี้ยงลูกน้อยในรวงรัง แล้วก็ส่งลูกกระสุนไปพรากชีวิต ปรากฏชัดขึ้นมาในวาบความคิดทันที เมื่อผมถามต่อไปอีก ‘เนื้อนก’ ในธรรมชาติ ยังเป็นอาหารของอีกหลายคน
“ไม่เป็นไรครับ วันนี้ พวกพี่ทุกคน จะมาบอกกับพวกเราว่า ชีวิตนกและสัตว์ป่าเหล่านั้น สำคัญอย่างไรกับพวกเรา”
จำได้ว่า ผมพูดไว้อย่างนี้ ก่อนที่จะแบ่งกลุ่มน้องๆ นักเรียนออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 8-9 คน เราเริ่มอธิบายการใช้อุปกรณ์ดูนก อย่างกล้องสองตาและคู่มือดูนก ว่ามีหลักการใช้อย่างไร เมื่อเราพบนกในธรรมชาติ จะศึกษาหรือจำแนกชนิดของมันได้ด้วยวิธีใดบ้าง ไม่มากจนเกินไป แค่พอที่เด็กๆ จะเข้าใจและใช้งานอุปกรณ์ด้วยตัวเองได้ หลังจากนั้น อาสาสมัคร ที่มาเป็นวิทยากรนำดูนกก็เริ่มเดินพาน้องๆ แต่ละกลุ่มเข้าไปในเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ของหน่วยพิทักษ์ป่าห้วยสะด่อง ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ
บนถนนดินลูกรังสีแดง ที่นำเราเข้าสู่เส้นทางศึกษาธรรมชาติเขาหินแดง และเส้นทางสู่ลำสะด่อง พื้นดินแฉะชื้นในช่วงฤดูฝนอย่างนี้ เสียง “ติช ติช” รัวกระชั้นถี่นั้น เป็นบทเรียนแรกที่ดีสำหรับวันนี้ ที่จะให้พวกเขาได้เรียนรู้
“มาทางนี้เลย เราเห็นพุ่มใบเขียวๆ บนต้นมะขามป้อมนี่ไหม? ต้นมะขามป้อมใบเล็ก แต่มีพุ่มใบสีเขียวที่ต่างออกไป สังเกตหน่อยเร็ว เราเห็นนกตัวเล็กๆ ที่กระโดดไปมานั่นไหม นั่นไง! มีสีแดงด้วยเห็นไหม?”
“เห็นแล้วๆ” “อือฮื้อ มีสีแดง จริงด้วย”
เสียงเด็กแข่งกันพูด น้ำเสียงเปล่งความสุขเมื่อได้เห็นนกสีชมพูสวน บนพุ่มกาฝากที่ผมชวนให้ดู
ยังไม่ทันได้อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับนกสีชมพูสวนมากไปกว่านี้ เสียงใสๆ ของเด็กอีกคน ถามขึ้นทันที ทั้งที่ตาทั้งคู่ยังแนบอยู่กับกล้องสองตา
“พี่ทอม แล้วนกอะไร สีเหลืองๆ กำลังกินหนอนอยู่นั่น ฟาดหนอนกับไม้ใหญ่เลย”
ผมมองหาอยู่สักพัก ทั้งลุงหวาน—เจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่นำเดินและนักเรียนช่วยกันชี้หลายหน นั่นแหละ ผมจึงค่อยร้อง อ๋อ! ก่อนจะกุลีกุจอรีบตั้งกล้องสโคป (กล้องส่องทางไกล กำลังขยายสูง สำหรับดูนก) พร้อมบอกให้พวกเขาจดจำรายละเอียด โดยสิ่งแรกที่เราเน้น คือ พยายามสังเกตพฤติกรรม ว่านกหรือสัตว์ป่าชนิดที่เราเจอนั้น กำลังทำอะไรอยู่ เช่น กำลังกินอาหาร กำลังป้อนอาหารให้ลูก เป็นต้น หลังจากนั้น ก็พยายามจดจำรายละเอียดของมันให้มากที่สุด เช่น รูปร่าง ขนาดตัวโดยเทียบจากนกที่เราคุ้นเคยว่า มันใหญ่กว่าหรือเล็กกว่ามากน้อยเพียงใด เช่น เทียบกับนกเอี้ยง นกอีกา นกยาง เป็นต้น
หลังจากนั้น ก็มาลองดูลองเดากันสิว่า นกที่เราเห็นนั้น มันน่าจะกินอะไรเป็นอาหาร สิ่งนี้ เราเน้นกับน้องๆ ทุกคนที่มาร่วมกิจกรรมนี้ เพราะ การที่เรารู้ว่า นกชนิดไหนกินอะไรเป็นอาหาร เป็นการบอกเราถึง ‘หน้าที่’ ที่นกและสัตว์ป่าทั้งหลาย ทำอยู่ เช่น นกปรอดสวน กินผลไม้ป่าเป็นหลัก มันก็เป็นนักปลูกป่ามือดี พาลูกไม้ไปปลูกไกลออกไปจากต้นแม่ เวลามันกินแล้วไปอึไว้ยังที่ใหม่ที่บินผ่านไป นกกินแมลงคอยควบคุมปริมาณแมลงในธรรมชาติให้ไม่เยอะจนเกินไป นกยางขายาวๆ ตัวสีขาว ที่มักเดินอยู่บนใบบัวหรือผักตบชวานั่น กินสัตว์น้ำ อย่าง กุ้ง ปลา กบ เขียด หน้าที่ของมันจึงไม่พ้นผู้ควบคุมปริมาณสัตว์น้ำเหล่านี้
“เมื่อเรารู้ว่า นกแต่ละตัวกินอาหารต่างกัน ทำหน้าที่ต่างกัน เราเคยเรียนห่วงโซ่อาหารใช่ไหม สัตว์แต่ละชนิด เขากินกันต่อเป็นทอดๆ แมลงกินใบไม้ นกมากินแมลง งูอาจมากินนกตัวนี้ เหยี่ยวตัวโตก็มากินงูอีกทอด พอเหยี่ยวตายลงก็เป็นปุ๋ยกลับสู่ดิน เป็นแร่ธาตุให้กับพืชที่เป็นอาหารของสัตว์กินพืช วนเวียนอย่างนี้ แต่ถ้าเราไปฆ่านกกินแมลง ยิงนกเหยี่ยวลงมา ห่วงโซ่นี้ก็จะขาดช่วง เหมือนกับโซ่จักรยาน ถ้าโซ่หายไปสักข้อ เราสามารถปั่นจักรยานไปต่อได้ไหม?”
เราพยายามบอกสิ่งเหล่านี้กับพวกเขา เพราะเราเชื่อว่า เมื่อรู้ถึงคุณค่าของมันแล้ว พวกเขาจะไม่ทำร้ายมันอีก
เส้นทางที่เดินผ่านป่าเบญจพรรณ ซึ่งมีกอไผ่รวกใหญ่ๆ กระจายอยู่ทั่วป่าในบริเวณนี้ แล้วตัดผ่านสังคมป่าเต็งรัง ที่ต้นเต็งและรังเปลือกหนายืนต้นกระจายกันไม่ถี่นัก บนจุดชมวิวเนินเขาแดง ที่ต้องเดินจนเหงื่อซึมหลังจากจุดเริ่มต้นของเส้นทาง มองลงไปเบื้องล่าง เราเห็นคุ้งน้ำสีขุ่นของลำห้วยสะด่อง ที่ไหลออกมาจากป่าสลักพระด้านใน หากตามสายน้ำนี้ไป แน่นอนว่าเราคงได้เดินทางไกล ไปถึงแม่น้ำสายหลักๆ ที่หล่อเลี้ยงคนหลายจังหวัด แน่นอนอีกเช่นกัน เราบอกกับเด็กๆ ที่มาด้วยเสมอว่า
“ถ้าเราไม่ดูแลป่า ซึ่งเป็นต้นน้ำ ต่อไปเราก็จะไม่มีน้ำให้ใช้ ไม่มีป่าไว้เก็บความชื้นที่คอยดึงฝนลงมา ไม่มีต้นไม้ไว้ชะลอความแรงของน้ำฝนและไม่มีรากของต้นไม้ไว้ป้องกันดินพังทะลาย”
การจับนกไปเลี้ยงหรือกักขังเพื่อชมความสวยงามของมัน หรือเพียงเพื่อแสดงความรักแบบไม่ถูกต้อง ก็เป็นสิ่งที่เราบอกกับพวกเด็กๆ ด้วย
“พี่ค่ะ แล้วนกเอี้ยงพูดได้ไหมค่ะ”
น้องมายด์ เด็กน้อย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ถามผมในระหว่างที่เรากำลังจ้องดูนกแอ่นฟ้าหงอนที่เกาะอยู่สายไฟแรงสูงผ่านกล้องสโคป
“พูดได้ค่ะ แต่ว่าเรารู้ไหมว่า เวลาคนเขาจับนกเอี้ยงไปแล้ว บังคับให้มันพูด เขาทำอย่างไร เขาจะตัดลิ้นมันก่อน แล้วอีกอย่างหัดให้มันเลียนพูดแบบคนได้ ก็ต้องจับมันไปเลี้ยง ตั้งแต่ยังเล็ก พรากมันจากพ่อแม่ ถ้าใครให้น้องมายด์ไปเรียนที่เชียงใหม่คนเดียว พ่อแม่ไม่ไปด้วย น้องมายด์ไปไหมค่ะ?”
ผมตอบเธอไปเช่นนั้น
“ไม่ไปค่ะ” น้อยมายด์ส่ายหัวพร้อมคำพูดทันที
หลังจากทุกกลุ่มเดินออกมาจากเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่เข้าไปดูนกกันแล้ว ก็มานั่งบนเก้าอี้แยกเป็นแถวตามกลุ่ม น้องแพรวกับน้องไท สองนิสิตสาวอาสาสมัครจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมอยู่ด้านหน้า ในมือของทั้งคู่ มีตัวอย่างของนกล่าเหยื่อที่เก็บไว้ในกล่องพลาสติกใส อย่างเช่น แข้งและตีน กับกะโหลกของแร้งดำหิมาลัย ที่พอเห็นทั้งสองส่วนก็ทำเอาเด็กๆ ตื่นใจ เพราะพาจินตนาการถึงขนาดตัวแร้งจริงๆ ว่าคงตัวไม่ใช่เล็กๆ ทั้งมีร่างสตั๊ฟฟ์ของนกล่าเหยื่อ อย่างเหยี่ยวเพเรกริน—นกล่าเหยื่อที่มักพบในเมือง อาหารเป็นพวกนกขนาดเล็กกว่า เช่น นกพิราบ ทำให้เด็กทุกคนได้เห็น ‘อาวุธ’ ที่มีประสิทธิภาพของนกกลุ่มนี้ ทั้งกรงเล็บแหลมคมที่พร้อมขย้ำเหยื่อให้อยู่คาที่ และจงอยปากแหลมงุ้มที่สามารถฉีกร่างของเหยื่อกินเป็นอาหารได้อย่างดี
แต่ ‘อาวุธ’ ที่นกล่าเหยื่อมีจะไร้ความหมายทันที เมื่อถูกขังอยู่ในกรง เป็นเพียงสัตว์เลี้ยงเพื่อแสดงอำนาจของใครบางคน และในธรรมชาติจะขาดผู้ทำหน้าที่ ควบคุมปริมาณสัตว์ขนาดเล็ก ที่นกพวกนี้กินเป็นอาหารไปด้วย
หากเราเข้าไปชมภาพใน facebook ของหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ เกษตรศาสตร์ ซึ่ง ผศ. ดร. น.สพ. ไชยยันต์ เกสรดอกบัว ได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อฟื้นฟูนกล่าเหยื่อในเมืองไทย เพื่อให้สามารถปล่อยมันกลับไปใช้ชีวิตในธรรมชาติเหมือนเดิมได้ นกที่ส่งมาฟื้นฟูที่นี่ เกือบทั้งหมดเป็นนกที่ถูกเลี้ยงมาก่อน แล้วเกิดโรคหรือความเจ็บปวดจากการเลี้ยงที่ไม่ถูกวิธี สุดท้ายต้องส่งให้หน่วยฟื้นฟูแห่งนี้รักษา หลายตัวอีกเช่นกัน ที่อาจารย์เคยบอก “มันสูญเสียพฤติกรรมธรรมชาติ ไม่ตกใจกลัวเมื่อคนเข้ามาใกล้ จึงต้องเลี้ยงไว้เป็นตำรามีชีวิตตลอดไป”
การเลี้ยงนกป่ายังเป็นปัญหาไม่ต่างจากมะเร็งร้ายที่ลุกลามทุกหนทาง ต่อความอยู่รอดของนกในธรรมชาติ ด้วยความจริงที่เราไม่เคยยอมรับที่ว่า “ธรรมชาติเขาเลี้ยงได้ดีกว่าเราอยู่แล้ว”
…………………..
“นกชนิดไหนพอจะมีราคาบ้าง”
เป็นคำถามที่ผมต้องพยายามหาคำตอบอย่างหลีกเลี่ยง ก่อนที่จะตอบออกไป
“นกที่ถูกจับไป ที่เราส่งไปขายมีราคา ก็ต่อเมื่อมันอยู่ในตลาดกลางกรุงเทพฯ นู่นแหล่ะ”
เป็นคำถามของชาวบ้านที่อยู่ติดกับป่าสลักพระ เมื่อรู้ว่า ผมมาสำรวจนกในแปลงฟื้นฟูป่าติดกับหมู่บ้าน เมื่อได้เจอกันในศาลาหมู่บ้าน คำถามนี้ดูเหมือนจะฉายภาพว่า การดักนกป่ามาขาย ยังไม่มีทีท่าว่า จะยุติลงเอาง่ายๆ
“นกเหลืองหัวจุก เคยดักทีได้หลายสิบ ใช้ตาข่ายดัก ขึงแถวพรุน้ำที่นกชอบลงกินน้ำ”
“อยากรู้ว่า ตัวไหนมันพอจะมีราคาบ้าง ไม่ต้องเอาราคาสูงอะไร อย่างนกกรงหัวจุกหรอก เขามาซื้อไอ้เหลืองหัวจุกไป เพียงตัวละ 5 บาท”
นกปรอดเหลืองหัวจุก ราคาเพียงตัวละ 5 บาทที่พ่อค้าคนกลางใช้ซื้อชีวิตนกในธรรมชาติเหล่านี้ ราคาที่ธรรมชาติเป็นผู้จ่าย ราคาที่เราอาจ ‘ขาดทุน’ ย่อยยับก็ว่าได้
…………………….
ในขณะที่อีกฝ่ายกำลังทำทุกวิถีทางเพื่อเปลี่ยนทรัพยากรธรรมชาติและชีวิตอันมีค่าในผืนป่าเป็นทรัพย์สินและเงินตรา ตักตวงประมาณว่า ‘มือใครยาวสาวได้สาวเอา’ มีคนอีกกลุ่ม ร่วมมือกัน ลงมือทำในสิ่งตรงกันข้าม สิ่งที่พวกเขาเชื่อว่า การจะรักษาสิ่งที่เขารักษ์และมีคุณค่าต่อโลกใบนี้ไว้ได้ ทางหนึ่ง คือ การสร้างความรับรู้ที่ถูกต้องว่า สิ่งมีชีวิตเหล่านั้น มีคุณค่าเช่นไร หากขาดสิ่งมีชีวิตในป่าไป เราจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง
ลายมือโย้เย้ของเด็กนักเรียนประถมปลาย จากส่วนข้อเสนอแนะบนใบประเมินกิจกรรมฯ ใบหนึ่ง
ซึ่งเขียนไว้ว่า
“ดีใจมากที่ได้มาที่นี่ ก่อนนี้ ผมทั้งยิงนกเป็นประจำ แต่ต่อไปนี้ ผมจะไม่ยิงอีกแล้ว”
ข้อความบอกกับเราอย่างหนึ่งว่า ไม่ใช่พวกเขาไม่รักษ์นกและสัตว์ป่า จึงได้ทำร้าย แต่บางทีพวกเขาอาจยังไม่รู้ เราเชื่อเช่นนั้น รอก็แต่ คนที่มีรัก(ษ์) อย่างพวกคุณ มาสร้างความรักษ์ในใจให้กับเด็กๆ ทั่วประเทศไทย เท่านั้นเอง
Comments
ความคิดเห็น
ความเห็นที่ 1
ความเห็นที่ 2
ความเห็นที่ 3
ความเห็นที่ 4
เป็นโครงการที่ดีมาก ทำต่อไปนะครับ
ความเห็นที่ 5
ความเห็นที่ 6
ความเห็นที่ 7
ปลูกฝังสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่ดีให้กับเด็กๆ เพราะยังเชือเสมอค่ะว่า เด็กที่มีใจรักษ์ธรรรมชาติในตอนนี้ จะเป็นคนที่ช่วยกันอนุรักษ์ธรรมชาติในวันหน้า
ครั้งหน้ามีกิจกรรมแบบนี้ ขอเข้าร่วมด้วยคนนะค่ะ