หลักการพื้นฐานการจัดการน้ำแบบผสมผสาน

โดย ศ. ดร.เกษม จันทร์แก้ว
วิทยาลัยสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ผอ.โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

      ๑. คำนำ
      ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อน มีฝนตกโดยเฉลี่ยั้ทงประเทศประมาณ๑๗๐๐ มม/ปี คิดเป็นปริมาตรน้ำฝนได้ประมาณ ๘๐๐, ๐๐๐ ล้านลูกบาสก์เมตร/ปี (Million Cubic Meters ต่อไปนี้จะเรียกย่อว่า MCM) ระเหยสู่บรรยากาศ ๖๐๐,๐๐๐ MCM/ปี เป็นน้ำท่า ๒๐๐,๐๐๐ MCM/ปีส่วนที่เหลือเป็นส่วนที่สามารถเก็บไว้ในเขื่อนใหญ่ ๑๔ เขื่อน และเขื่อนเล็กๆมากกว่า๕๐ เขื่อน น้ำเหล่านี้เกิดจากฝนตกประมาณ ๖ เดือน/ปี หรือประมาณ ๑๘๐ วัน/ปีซึ่งฤดูฝนจะเริ่มในช่วงปลายเดือนเมษายนของทุกปีสำหรับภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลาง ตะวันตก และตะวันออก แล้วสิ้นสุดในช่วงปลายเดือนกันยายน สำหรับภาคใต้นั้น ฤดูฝนจะเริ่มเดือนกันยายนและสิ้นสุดเดือนมีนาคม อย่างไรก็ตาม บางพื้นที่บางจังหวัดอาจมีฝนตกก่อนหรือหลังกว่านี้บ้าง โดยเฉพาะปัจจุบันที่อยู่ในภาวะโลกร้อน มักจะมีความคลาดเคลื่อนเวลาตกและสิ้นสุดของการตกของฝนจนยากที่จะคาดเดาได้ แต่ในช่วงสิบปีมานี้ ประเทศไทยมีแนวโน้มของปริมาณฝนเพิ่มขึ้นในบางพื้นที่และแห้งแล้งรุนแรงในฤดูแล้ง เช่นในปีพ.ศ.๒๕๕๔ มีฝนตกมากกว่าปกติประมาณ ๓๐ เปอร์เชนต์และตกช่วงสั้นแต่intensityสูง ทำให้เกิดวิกฤตอุทกภัยในภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางที่อุดมสมบูรณ์ ปริมณฑลรอบกรุงเทพมหานคร และกรุงเทพมหานคร สร้างการสูญเสียทั้งชีวิต ทรัพย์สิน และสภาพสังคมอย่างใหญ่หลวงและเป็นประวัติศาสตร์ของชาติไทย

      มีการวิเคราะห์ปัญหาการสูญเสียคราวนี้ได้ความว่า เกิดจากความผิดพลาดทางการจัดการและบริหารน้ำของผู้มีส่วนรับผิดชอบ นอกเหนือจากมีฝนตกด้วยintensityสูงและพื้นที่ต้นน้ำลำธารไม่มีประสิทธิภาพตามที่เคยเป็นมา ด้วยเหตุดังกล่าว เอกสารทางวิชาการฉบับนี้จึงได้เรียบเรียงขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือนำทางไปสู่การสร้างแนวทางการจัดการ ตั้งแด่การวิเคราะห์ หาปัญหาและเหตุของปัญหาหลักการและวิธีการแก้ไข และการสร้างแผนงานการจัดการสุดท้ายคงจะนำไปสู่การบริหารแผนการจัดการน้ำด้อย่างมีประสิทธิภาพไม่มากก็น้อย

      ๒. ลักษณะพื้นที่รองรับน้ำที่เหมาะสม
      พื้นที่จัดการ คือพื้นที่ลุ่มน้ำ(watershed/catchment area) บางสาขาวิชาเรียกว่าพื้นที่รับน้ำ อย่างไรก็ตาม พื้นที่จัดการน้ำนี้มีบทบาทหน้าที่แปรสภาพ(transformation systems)จากน้ำฝนที่เป็นinputให้เป็นน้ำท่า(streamflow) น้ำซึมผ่านผิวดิน(infiltration/percolation)เพื่อเก็บไว้ในดินเป็นน้ำในดิน(soil water)และเป็นน้ำบาดาล(groundwater)และสุดท้ายเป็นน้ำคายระเหย(evapotranspiration)จากผิวดินและคายน้ำจากพืช สัดส่วนของน้ำที่กล่าวแล้วนี้ มีแตกต่างกันไปในธรรมชาติของพื้นที่นั้นๆ จากประสบการที่ผ่านมาพบว่า พื้นที่ลุ่มน้ำ/รับน้ำที่มีป่าไม้ปกคลุมอย่างสมบูรณ์ ลำห้วยลำธารจะมีน้ำตลอดปี (perennial stream) ถ้าพื้นที่ถูกทำลายและส่วนที่เหลือถูกรบกวนมาก จะมีลำธารintermittent stream.ยิ่งป่าปกคลุมมากจนเหลือประมาณหนึ่งในสามของพื้นที่ลุ่มน้ำแล้ว ลำธารจะเป็น ephemeral stream คือมีน้ำภายหลังฝนตกไม่นานด้วยลักษณะดังกล่าว ทำให้นำไปสู่แนวคิดว่า ควรจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำอย่างไรจึงจะทำให้มีน้ำไหลตลอดปีอย่างสม่ำเสมอ โดยให้ได้ปริมาณและคุณภาพตามที่ต้องการนอกเหนือจากเวลาการไหล(flow regime)ดังกล่าวแล้ว

      หลักการสำคัญของการจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำหรือพื้นที่รองรับน้ำคือการควบคุมการใช้ที่ดิน(land use control) เพราะการใช้ที่ดินเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสิ่งปกคลุมดิน(land cover change) เช่นจากป่าไม้ไปสู่พื้นที่เกษตรกรรม จากเกษตรกรรมไปสู่อุตสาหกรรม จากป่าไม้ไปสู่การตั้งถิ่นฐานมนุษย์ ฯลฯ การเปลี่ยนแปลงพื้นที่หนึ่งใด ย่อมส่งผลต่อการทำลายสมรรถนะการดูดซับ/การเก็บน้ำไว้ในดินและในระดับน้ำบาดาล เป็นส่วนน้ำที่ใช้หล่อเลี้ยงลำธารตลอดปี การทำลายดินนอกจากจะชะล้างผิวหน้าดินไปสู่ที่ราบลุ่มแล้วยังทำลายโครงสร้างของดิน ทำให้ดินขนาดเล็กอุดรูดินและยับยั้งการซึมผ่านผิวหน้าดินของน้ำ ด้วยพฤติกรรมธรรมชาติดังกล่าวนี้ มนุษย์จึงควรพยายามอย่างยิ่งที่จะเก็บป่าต้นน้ำลำธารให้มากที่สุด เพื่อให้ช่วยดินร่วนซุย มีช่องว่าง ๓๐-๗๐ ไทรน้อย ซึ่งเป็นขนาดของรูพรุนของดินที่นอกจากจะเป็นรูพรุนที่เก็บกักน้ำได้ดีแล้ว ยังมีสมบัติที่เสริมให้soil particlesดูดซับในลักษณะของการฉาบไว้ด้วยแรงระหว่างsoil particle กับ water molecules(มีสองขั้ว/dipolar) ด้วยadhesive forces และระหว่างwater moleculesด้วยแรงcohesive forces รวมแรงทั้งสองเรียกว่าcapillary forces ซึ่งน้ำที่ถูกดูดยึดด้วยแรงcapillary forcesนี้สำคัญมากในการที่สร้างบรรยากาศให้น้ำในดินหล่อเลี้ยงลำธารได้ตลอดเวลาตราบเท่าที่พืชปกคลุมดินหนาแน่น
(ตัวอย่างของการไหลผ่านช่องว่างของน้ำด้วย capillary forces ที่เห็นได้ง่ายคือ น้ำที่ซึมผ่านช่องว่างในกระดาษทิชชู่ขึ้นมาจากผิวน้ำเมื่อเราหย่อนกระดาษทิชชู่ลงไปในน้ำ)

      ความจริงแล้ว การที่จะเก็บป่าไม้ในธรรมชาติเอาไว้อย่างเต็มพื้นที่คงเป็นไปไม่ได้ เพราะมนุษย์ต้องการที่ผลิตอาหารและเส้นใยตลอดจนพลังงาน จำเป็นต้องใช้พื้นที่ป่าไม้ให้เอื้อต่อการทำเกษตรกรรม แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎแห่งการเปลี่ยนแปลง(law of change) คือพื้นที่ป่าที่ถูกใช้ไปนั้น ต้องไม่ทำให้ปริมาณ คุณภาพ และเวลาการไหลของน้ำท่าต้องไม่เปลี่ยนแปลง ถ้าไม่เป็นไปตามนี้แต่มีความจำเป็นแล้ว ต้องพยายามอย่างยิ่งให้ลดการพังทลายของดิน(decreasing soil erosion)และถูกพัดพาลงไปที่ราบลุ่ม แล้วดำเนินการไปตามปรัชญาการจัดการลุ่มน้ำคือ "keep water in soil, keep soil in place" จึงเห็นได้ว่าการจัดการพื้นที่รองรับน้ำ/ลุ่มน้ำเป็นงานที่ต้องการให้ทุกสรรพสิ่งที่เป็นโครงสร้างของพื้นที่รองรับน้ำ/ลุ่มน้ำ สามารถอยู่กับพื้นที่เกษตร มนุษย์และสรรพสิ่งอื่นๆ นอกจากให้เป็นไปตามกฎแห่งการเปลี่ยนแปลงแล้วยังต้องใช้ecological valuesมากำกับด้วย จึงจะทำให้ระบบลุ่มน้ำ/ระบบรองรับน้ำเป็นระบบการจัดการน้ำที่มีศักยภาพดีตลอดไป

      ระบบพื้นที่การจัดการน้ำมิใช่เป็นเพียง transformation systems เท่านั้นแต่มันยังเป็นระบบผลิตกรรม(production systems)คือสามารถนำทรัพยากรนำออก-นำเข้าระบบด้วยดังได้กล่าวแล้ว และมันสามารถเป็นได้อีกบทบาทหนึ่งคือเป็นระบบรีไซเคิล (recycling systems)ได้คือ เป็นระบบที่สามารถแปรสภาพของเสีย/มลพิษเป็นทรัพยากรที่ใช้ได้อีก(reproductive resources) ซึ่งสามารถพบเห็นได้จากพื้นที่ลุ่มน้ำธรรมชาติทั่วไป เช่น ลุ่มน้ำ/พื้นที่รองรับน้ำแม่ปิง-วัง-ยม-น่าน, เจ้าพระยา, แม่กลอง ท่าจีน, เพชรบูรณ์, แม่กลอง, บางปะกง ฯลฯ ล้วนแต่มีบทบาทหน้าที่(function)เป็นได้ทั้งสามบทบาทหน้าที่คือ production, transformation, และ recycling systems ด้วยบทบาทหน้าที่ทั้งสามนี้ จึงทำให้ระบบลุ่มน้ำ/รองรับน้ำมีความสามารถคงสภาพอยู่ได้ด้วยตัวเองถ้าไม่ถูกรบกวนหรือเปลี่ยนแปลง self regulation, self reliance, self maintenance, self recovery, ฯลฯ จึงขึ้นอยู่กับความสามารถของการจัดการพื้นที่เป็นสำคัญ

      ๓. หลักการจัดและการวางแผนการจัดการพื้นที่รองรับน้ำท่วม
       การจัดการพื้นที่รองรับน้ำ/พื้นที่ลุ่มน้ำซึ่งเป็นระบบ อันประกอบด้วยโครงสร้าง(ชนิด ปริมาณ สัดส่วน และการกระจาย)และบทบาทหน้าที่(movement, productivity, reproduction, และ regeneration) ดังนั้น การจัดการลุ่มน้ำจึงเป็นการจัดการระบบลุ่มน้ำ เป็นระบบที่มีหน้าที่หรือบทบาทหน้าที่ต่อการจัดการน้ำ  และเป็นการจัดการtransformation systemsที่ให้น้ำฝนแปรสภาพเป็นน้ำท่า น้ำในดิน น้ำบาดาล และน้ำคายระเหย แล้วน้ำฝนส่วนนี้ก็ไหลออกจากพื้นที่ลุ่มน้ำที่ปากลุ่มน้ำ(mouth) สุดท้ายก็ออกสู่พื้นที่รับประโยชน์หรือออกสู่ทะเล อย่างไรก็ตาม สรรพสิ่งในระบบลุ่มน้ำสามารถแบ่งตามบทบาทหน้าที่(functional groups)คือ ผู้ผลิต(producers) ผู้บริโภค(consumers) ผู้ย่อยสลาย(decomposers) และผู้สนับสนุน(supporters) ถ้ามีโครงสร้างของแต่ละกลุ่มบทบาทหน้าที่ครบและได้สัดส่วนกันแล้ว ระบบรองรับน้ำ/ลุ่มน้ำทำหน้าที่ในการจัดการน้ำที่เข้าสู่ระบบตามศักยภาพพี่จะรองรับน้ำฝนที่จำกัด ดังนั้น การจัดการระบบรองรับน้ำ/ลุ่มน้ำจึงต้องจำกัดจากขนาดของฝนโดยใช้โอกาสการเกิดขนาดฝน(storm probability) เช่น ฝน ๕๐ ปี หมายความว่าขนาดของฝนที่มีโอกาสเกิดหนึ่งครั้งภายใน ๕๐ ปี เป็นต้น หรืออาจใช้ขนาดของน้ำท่าที่จะไหลเข้าสู่ระบบจัดการน้ำ เช่น น้ำท่า ปี ๒๕๕๔ จำนวน ๔๐๐,๐๐๐ MCM จากภาคเหนือผ่านภาคกลางลงมาท่วมกรุงเทพมหานคร กรณีเช่นนี้ ระบบจัดการน้ำกรุงเทพมหานคร ต้องมีลำน้ำและแก้มลิง ซึ่งเป็นกลุ่มหน้าที "ผู้ผลิต"ของระบบรองรับปริมาตรน้ำท่าและน้ำหลากที่ไหลต่อเนื่องได้อย่างเพียงพอ ด้วยผู้จัดการน้ำที่นำหลักการจัดการน้ำแบบผสมผสานมาใช้ว่าควรจะปล่อยน้ำเข้ากรุงเทพฯเท่าไร?เวลาใด?ด้วยการเหลื่อมเวลาอันเป็นกลไกการผสมผสานที่น่าจะได้ผลดี ปราศจากการเกิดอุทกภัย ณ ที่ใดที่หนึ่งของระบบจัดการน้ำนั้นๆ ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องรู้และเข้าใจอัตราการปลดปล่อยน้ำจากดินหรืพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ถ้ามากเกินที่ระบบจัดการน้ำจะรับได้ ต้องชะลอหรือหน่วงน้ำด้วยการเก็บกักในที่หน่วงน้ำที่ก่อสร้างขึ้น เช่นอ่างเก็บน้ำ บึงประดิษฐ์หรือแก้มลิง

      เมื่อน้ำระบายจากผู้ผลิตคือลำห้วยลำธาร(ที่ได้มีการปรับปรุงสมรรถนะความจุเต็มศักยภาพ)แล้ว มิใช่ว่าน้ำจะไหลลงสู่ที่ต่ำกว่าอย่างสะดวกสบาย ต้องขึ้นอยู่กับ"ผู้บริโภค"ได้แก่ความกว้างของลำน้ำที่ช่วยทำให้การเคลื่อนที่ของน้ำคล่องตัวดี แล้วยังขึ้นอยู่กับความยาวของลำน้ำที่สร้างแรงดันกลับ อาจทำให้น้ำไหลช้าลงสำหรับลำน้ำสั้นๆ นอกจากนี้การไหลของน้ำท่ายังสัมพันธ์กับความลึกของน้ำและความขรุขระของท้องลำธารอีกด้วย แม้กระนั้นก็ตาม การไหลของกระแสน้ำยังขึ้นอยู่กับ "ผู้ย่อยสลาย" คือรูปร่างของลำน้ำถ้าเป็น s-shaped riverน้ำจะไหลช้ามาก น้ำจะค่อยๆไหลไปตามลำน้ำ กรณีเช่นนี้อาจต้องมีการขุดร่องน้ำช่วยให้น้ำไหลเร็วขึ้นก็ได้ ถ้าลำน้ำเป็นL-shaped riverแล้ว น้ำจะเร็ว อาจทำเครื่องกีดขวางชะลอความเร็วก็ได้ แต่ถ้าลำน้ำเป็นs-shaped river และต้องการให้นำไหลเร็ว จำเป็นต้องสร้าง "รอ" บังคับลำน้ำให้ไหลเข้าร่องน้ำและไม่ทำลายชายฝั่ง ซึ่งการสร้าง"รอ"คือการสร้างตัว "ผู้สนับสนุน" เช่นเดียวกับการสร้างประตูน้ำ สร้างถนนให้มีบางส่วนต่ำกว่าระดับถนนทำหน้าที่เหมือนspillway ถ้ามีน้ำมากก็จะล้นออกไป บางกรณีสร้างdiversion dam ยกระดับน้ำให้สูงเพื่อให้การไหลของน้ำดีขึ้น กรุงเทพมหานครก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ ก็เป็นอีกลักษณะหนึ่งของการก่อสร้าง "ผู้สนับสนุน" ซึ่ง สนับสนุนให้การเคลื่อนที่ของน้ำที่สูบออกจากใจกลางเมืองได้อย่างรวดเร็ว

      การนำแนวคิดการจำแนกกลุ่มโครงสร้างของระบบจัดการน้ำมาประยุคใช้ เพื่อต้องการชี้ให้เห็นว่า การทำความเข้าใจนี้ เชื่อว่าจะช่วยทำให้ผู้จัดการนำไปวางแผนงานการจัดการน้ำที่มีความพร้อมด้านเครื่องมือ แต่ต้องไม่ลืมว่า แผนงานการจัดการน้ำท่วมครั้งนี้ ต้องเป็นแผนเฉพาะพื้นที่ คือมีทั้ง ต้นลุ่มน้ำ กลางลุ่มน้ำ ปลายลุ่มน้ำ และการใช้น้ำ และต้องสัมพันธ์ระหว่างแผนเฉพาะพื้นที่อย่างกลมกลืนและเป็นรูปธรรม พร้อมต้องกำหนดหน่วยงาน/ตัวบุคคลเป็นผู้รับผิดชอบเป็นแผนๆและเป็นพื้นที่ๆไป อย่าให้เกิดช่องว่างในการจัดการเลย

      ๔. การบริหารจัดการน้ำท่วม
      ผลสัมฤทธิ์ของการจัดการน้ำจะขึ้นอยู่กับการบริหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างยุทธศาสตร์การจัดการ อย่างไรก็ดี การกำหนดยุทธศาสตร์แบ่งความรับผิดชอบเป็นต้นน้ำ กลางลุ่มน้ำ ปลายน้ำ และการใช้น้ำ ได้รับความสำเร็จมาแล้วหลายๆลุ่มน้ำและในหลายๆประเทศ ประเด็นสำคัญที่ได้รับความสำเร็จก็คือ การวางแผนการจัดการน้ำแบบผสมผสาน และเป็นการผสมผสานแบบ "streamline integration" (อาจมีการใช้วิธีผสมผสาน infusing, infusion, co-ordinating, technological, และ time and space integrations มาใช้ได้บ้าง ณ จุดใดจุดหนึ่งก็ได้) รวมถึงการนำตัวกลไกการผสมผสานทั้งสี่ลักษณะคือ overlapping, co-sharing, linking, และ rearrangement techniques)ในการเชื่อมโยงกับ main streamline ของเส้นงานหลักของการจัดการอย่างไรก็ตาม แผนงานการจัดการน้ำแบบผสมผสานและกระบวนการทำงานที่ได้สร้างขึ้น เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่นักบริหารต้องดำเนินตามขั้นตอน ถ้ามีปัญหา ณ จุดใดจุดหนึ่งหรือพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งแล้ว ต้องกลับไปดู"alternatives"ที่ได้วางแผนไว้แล้ว อย่าทำอะไรตามความรู้สึก ขอให้ทำตามหลักการที่ได้ศึกษาไว้แล้วเมื่อครั้งศึกษาสถานภาพของระบบจัดการน้ำหรือการวิเคราะห์ระบบแล้ว การใช้ประสบการณ์แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด ผู้บริหารที่มีประสบการณ์สามารถสร้างผลสัมฤทธิ์ได้ไม่ยากนัก

      ประสบการณ์การบริหารจัดการน้ำท่วมปี พ.ศ.๒๕๕๔ ที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง มีตัวชี้ที่บ่งบอกการไม่ได้รับความสำเร็จได้แก่ การเกิดน้ำท่วมทุกจังหวัดที่น้ำผ่าน รวมถึงความหายนะของการสูญเสียเป็นแสนๆล้านบาทของเจ็ดนิคมอุตสาหกรรม ทรัพย์สินของทางราชการและเอกชน แนวทางการจัดการไม่เป็นไปตามอุปนิสสัยของน้ำที่ต้องไหลลงสู่ที่ต่ำเสมอ แนวทางการจัดการที่ถูกต้องต้องให้มันไหลลงสู่ทางน้ำธรรมชาติและตามความสามารถของการระบาย ถ้ามีน้ำส่วนเกินเกิดขึ้น ควรต้องหาที่หน่วงน้ำไว้ชั่วคราว ณ แก้มลิงธรรมชาติและที่สร้างขึ้น อาจต้องขุดร่องน้ำเพิ่มเพื่อเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำให้มากขึ้น การทำงานอย่างผสมผสานทั้งแนวตั้ง(งานที่ทำตามแนวน้ำเคลื่อนที่จากจุดเริ่มต้นถึงสุดท้ายสัมพันธ์กันและกันอย่างกลมกลืน) และแนวนอน(ทำงานให้สัมพันธ์กันอย่างกลมกลืนระหว่างงานแนวตั้ง) ดังได้กล่าวแล้วว่า การแบ่งเขตความรับผิดชอบที่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และ การใช้น้ำน่าจะเป็นยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องสำหรับการเกิดน้ำท่วมครั้งประวัติศาสตร์นี้
     
 
ข้อสังเกตจากภาวะน้ำท่วมปี พ.ศ.๒๕๕๔
 
เห็นว่ามีหลายประเด็นที่อาจเป็นต้นเหตุของความล้มเหลวของการจัดการน้ำท่วม
 
ประเด็นแรกขาดการผสมระหว่างหน่วยงาน ยกตัวอย่างเช่น ปริมาณน้ำท่าและน้ำหลากที่เกิดขึ้นไม่มีการกล่าวถึง(มีการกล่าวถึงภายหลังเกิดอุทกภัยมาแล้วมากกว่าหนึ่งอาทิตย์) ตัวเลขปริมาณน้ำนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการจัดการ มีคำพูดแบบนามธรรมคือ "มวลน้ำ" ที่อยากจะทราบปริมาณที่แน่ชัดก็คือ การจัดการทรัพยากรนั้น ผู้จัดการต้องสามารถให้"ขนาด"หรือ quantificationให้ได้ก่อนจะวางแผนงาน
ประเด็นที่สองผู้นำและผู้จัดการระดับสูงขาดความรู้และประสบการณ์ ต่างคนต่างคิดต่างสั่งการต่างพูดฯลฯ ทำให้เกิดการสับสนของประชาชนและผู้ประสบภัย มีนักวิชาการเป็นกรรมการ/ที่ปรึกษา บุคคลเหล่านั้นเกือบทั้งหมดขาดความเชื่อถือทางวิชาการ น่าจะมาร่วมงานเพราะการเมือง แต่นักการเมืองก็ไม่ได้ให้ความเชื่อถือเช่นกัน ด้วยเหตุดังกล่าว สื่อทุกสาขาโดยเฉพาะทีวีจึงหันไปพึ่งนักวิชาการในมหาวิทยาลัย จากผู้เกษียณ จากผู้มีประสบการณ์ ฯลฯ เหล่านี้เป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความสับสนมากยิ่งขึ้นแต่ค่อนข้างจะเชื่อนักวิชาการจากทีวีมากกว่า
ประเด็นที่สามขาดการผสมผสานอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น การปล่อยน้ำจากเขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ ป่าสัก ฯลฯ ทุกเขื่อนปล่อยพร้อมกันและปล่อยปริมาณน้ำที่มาก ผลก็คือ สร้างปัญหายิ่งมากขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว อีกเรื่องหนึ่งคือการปิดเปิดประตูน้ำเพื่อการบังคับทางเคลื่อนที่ของน้ำหลาก ข่าวว่า เพราะเหตุทางการเมืองเป็นเหตุ แม้แต่ผู้แทนราษฎรของพรรครัฐบาลเองก็ขัดขวางเพราะไม่อยากเสียคะแนนเสียง และที่ กทม. ก็บริหารโดยพรรคการเมืองฝ่ายค้าน
ประเด็นที่สี่ระบบระบายน้ำทุกจังหวัดและกรุงเทพมหานครมีระบบการระบายน้ำที่เสื่อมโทรม ตื้นเขินเพราะมีตะกอนสะสมอันเป็นต้นเหตุของการแพร่กระจายของสิ่งปนเปื้อนในน้ำหลาก ฝั่งน้ำพังทลาย มีสิ่งก่อสร้างขวางการเคลื่อนที่ของน้ำหลากทุกๆเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรุงเทพมหานครที่ทุกคลอง(๑๑๗คลอง)ที่เคยลึก ๖ - ๑๐ เมตร ขณะที่ขุดในรัชสมัยรัชกาลที่สี่-ห้า แต่ปัจจุบันคลองที่ลึกที่สุด ๒ เมตร ที่เหลือตื้นกว่านี้ทั้งนั้น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า การระบายน้ำหลากของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจึงไม่เป็นไปตามที่ผู้รับผิดชอบแจ้งต่อสารธารณะ
ประการที่ห้าหน่วยงานที่รับผิดชอบยังไม่มีความพร้อมทั้งทางด้านวิชาการ เครื่องมือเละอุปกรณ์ แผนดำเนินงาน ปริมาณและประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่(โชคดีที่ทุกคนทำงานด้วยจิตสาธารณะสูง)และการประสานงานระหว่างหน่วยงาน. ( ต่างคนต่างทำ ) และ
ประการสุดท้ายขาดแม่งานและผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการอย่างมีความรู้และประสบการณ์ ตลอดจนการมีอำนาจในการสั่งการ
 
เมื่อเป็นเช่นนี้ ความล้มเหลวทางการบริหารจึงเกิดขึ้นอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

น้ำเป็นตัวชี้ให้เห็น "ความเลวและความไร้คูณภาพ ที่กำลังไล่ล่าคุณ"