เมื่อเอเลี่ยนบุก!!!

โดย: ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร Update ปีที่ 22, ฉบับที่ 237 (มิ.ย. 2550) น. 72-78

คุณรู้ไหมครับว่า สงครามระหว่างเอเลี่ยนกับมนุษย์นั้นได้เกิดขึ้นแล้วในแทบจะทุกหนแห่งบนผืน พิภพแห่งนี้ ... อ๊ะ อ๊ะ อย่าเพิ่งตกอกตกใจไปครับ ที่ผมพูดถึงนี่ไม่ใช่เอเลี่ยนจากดาวอังคาร หัวล้านเลี่ยนกลมป๊อกราวกับลูกมะพร้าวกับลูกกะตาคู่ใหญ่เป็นไข่ห่านหรอกนะ ครับ แต่ผมหมายถึงพวกต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองที่เรียกกันว่าสายพันธุ์เอเลี่ยน (Alien species) หรือผู้รุกรานทางชีวภาพ (Bioinvaders) ต่างหาก อย่าเพิ่งดูถูกอิทธิฤทธิ์ของเจ้าพวกนี้นะครับ เพราะว่าพวกมันแสบใช่ย่อยเลยทีเดียว  

ช่วงนี้ อินเตอร์เน็ตที่บ้านผมกำลังย่ำแย่ ผมก็เลยไม่ค่อยจะได้เปิด MSN ออนไลน์ไว้ติดต่อกับเพื่อนฝูงเท่าไรนัก เมื่อไม่นานมานี้ เอง ผมไปต่ออินเตอร์เน็ตไวไฟในห้างสรรพสินค้าชื่อดังแห่งหนึ่ง ทันทีที่คอนเน็คต์ได้ปุ๊บ หน้าต่างMSN ของผมก็ป๊อบเอ้าท์เสนอหน้าออกมาปั๊บ ไม่ใช่ใครที่ไหนครับ เป็นเพื่อนนักเรียนไทยในต่างแดนคนหนึ่งของผมเองที่เพิ่งจะบินลัดฟ้าไปศึกษา ต่อยังแดนผู้ดีนั่นเอง แหม! ผมก็นึกว่ามันจะเล่าเรื่องสนุกๆ จากต่างแดนให้ฟัง ที่ไหนได้ กลายเป็นบ่นซะนี่ ...

เพื่อน : ฉันเซ็งมากเลย อาหารที่นี่จืดสนิท ฉันล่ะ คิดถึงน้ำพริกสุดๆ

ผม :  อ้าว ได้ข่าวว่าแอบเอาน้ำพริกไปด้วยไม่ใช่เหรอ? แล้วทำไมยังคิดถึงน้ำพริกล่ะ?

เพื่อน : โดนคัสตอม (Custom inspector – ด่านตรวจสัมภาระ) ซิวเอาน่ะสิ เป็นเอเซียด้วยนะ นึกว่าจะรอด ที่ไหนได้ มันเก็บทิ้งซะเกลี้ยงเลย ฉันว่าจริงๆ แล้ว เดี๋ยวมันต้องแอบเอาไปเก็บไว้กินเองแน่ๆ

ผม :  อันนี้ไม่รู้ว่ะ ว่าแต่ลองไปดูตามเอเซี่ยน กรอเซอรี่ (Asian Grocery-ร้านโชว์ห่วยขายของเอเซีย) หรือยัง อาจจะมีขายก็ได้นะ

เพื่อน : ยังอ่ะ แต่ฉันว่ามันต้องแอบเก็บเอาไปกินเองแน่เลย ...แกว่าไหม ?

ผม : เอ่อ...

จริงๆ แล้ว อาการเสียดายน้ำพริกแบบเพื่อนผมนี้เกิดขึ้นค่อนข้างบ่อยกับนักเรียนไทยใน ต่างแดนครับ เพราะว่าตามด่านตรวจคนเข้าเมืองในสนามบินนานาชาติของประเทศใหญ่เกือบทุกแห่ง จะมีกฏระเบียบที่ค่อนข้างเคร่งครัดเกี่ยวกับอาหารการกินและสัมภาระที่จะนำ เข้าประเทศของเขา

ทำไมล่ะครับ ? กะอีแค่น้ำพริก ก็ไม่ให้เอาเข้า จะกลัวอะไรกันนักหนา ให้เพื่อนผมกินโชว์ยังได้เลย แต่คุณผู้อ่านครับ ปัญหามันไม่ได้อยู่ตรงที่ว่าน้ำพริกที่เอาเข้าไปน่ะมีพิษหรือเปล่า แต่เป็นเพราะว่าเขาไม่รู้ว่ากรรมวิธีในการผลิตน้ำพริกของเรานั้นน่ะ มันสะอาดแค่ไหน มีเอเลี่ยนอะไรหลบซ่อนอยู่ในน้ำพริกหรือเปล่าน่ะสิครับ

ว่า แต่เจ้าเอเลี่ยนนี่มันคืออะไรกันล่ะ? เอเลี่ยนที่ผมพูดถึงนี้ก็คือสิ่งมีชีวิตต่างด้าวที่พลัดถิ่นไปสร้างปัญหา อยู่ในพื้นที่อื่นๆ อันไม่ใช่บ้านเกิดเมืองนอนของมันนั่นเอง อาจจะเป็นตัวอะไรก็ได้ จะเป็นพืช สัตว์ จุลินทรีย์ หรือแม้แต่จะเป็นไวรัสก็ยังได้ นักวิทยาศาสตร์บางคนเรียกพวกมันว่า สายพันธุ์ต่างถิ่น (Exotic species) แต่บางคนก็ตั้งให้พวกมันเป็นศัตรูแล้วเรียกมันว่า “ผู้รุกรานทางชีวภาพ”หรือ “Bioinvaders” แต่ไม่ว่าจะเรียกยังไงก็ตามแต่ สรุปง่ายๆ มันก็คือสิ่งมีชีวิตต่างด้าวนั่นแหละครับ ซึ่งในกรณีของน้ำพริกก็อาจจะเป็นพวกจุลินทรีย์ตัวเล็กๆ หรือแม้แต่ไข่แมลงก็ได้

ทีนี้ คำถามต่อมาก็คือจะกลัวไปทำไม ต่อให้มีเอเลี่ยนติดมาก็เหอะ ตื่นตูมเกินไปหรือเปล่า ก็ในเมื่อมันไม่มีพิษภัยอะไรกับคน จะให้กินให้ดูก็ยังได้แล้วจะเอาอะไรอีก?  คำตอบก็คือพวกเขากลัวว่าเจ้าเอเลี่ยน (ที่อาจจะมีหรือไม่มีก็ได้ แต่โดยมากแล้วจะมี) ที่ปนเปื้อนมาในน้ำพริกหรืออาหารอื่นๆ ที่ถูกแอบนำเข้ามาในประเทศของเขานั้นจะไปทำลายระบบนิเวศน์อันเปราะบางของพวก เขานะสิครับ

แม้จะฟังดูน่าหมั่นไส้ แต่มันก็มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วไม่น้อยว่าเจ้าเอเลี่ยนตัวแสบจากต่างแดน นั้นสามารถก่อปัญหาได้มหาศาลอย่างที่เราอาจจะไม่คาดคิดมาก่อนเลยก็ว่าได้ ในโลกยุคโลกาภิวัตินี้ ทุกสิ่งดูจะสะดวกรวดเร็วไปหมด การเดินทางระหว่างประเทศของทั้งผู้คนและสินค้าจำนวนมหาศาลเกิดขึ้นอยู่อย่าง ไม่ขาดสายจนเจฟฟรี่ แมคนีลลี่ หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของสหพันธ์อนุรักษ์โลก (Jeffrey McNeely – chief scientist for the world conservation union) เรียกมันว่า “การแลกเปลี่ยนกันแบบมโหฬารหรือ The great reshuffling” เลยทีเดียว

ขอยกตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกานะครับ เพราะว่าประเทศนี้ เขามีมาตรการการรักษาความปลอดภัยและการจัดการสัมภาระที่หลายๆ คนค่อนขอดว่าโหดสุดๆ (ผมก็เคยติดอยู่ที่ด่านที่ซาน ฟรานซิสโก นั่งตอบคำถามราวกับผู้ต้องหาตั้ง 2 ชั่วโมงเพราะโปรตีนสำหรับงานวิจัยแค่หลอดเล็กๆ หลอดเดียว นี่ขนาดมีใบผ่านทางแล้วนะครับ) แต่คุณรู้ไหมครับว่า แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะตรวจเข้มสักแค่ไหน พวกเอเลี่ยนลักลอบเข้าเมืองทั้งหลายก็ยังสามารถหลบเข้าเมืองได้อยู่ดี ก็ แหม สินค้าเข้าวันละไม่รู้กี่ล้านกล่อง ผู้คนเข้าออกอีกนับไม่ถ้วน กระเป๋าเดินทางไหลเป็นสาย ใครจะไปมีปัญญาตรวจได้หมด เจ้าหน้าที่คัสตอมจอมเฮี๊ยบของพวกเขาแม้จะมีประสิทธิภาพแล้วเมื่อเทียบกับ ที่อื่น แต่ก็ยังมีปัญญาตรวจสัมภาระและสินค้าที่ผ่านเข้าออกประเทศเขาได้แค่ 2 % เท่านั้นเองครับ ซึ่งข้อมูลทางสถิตินี้ทำให้เมืองลุงแซมต้องสยองกันไปหลายรอบ เพราะรายงานอีกฉบับหนึ่งจากสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (National Academy of Science) บอกไว้ว่า ในแต่ละปี จะมีเชื้อโรคพืชเพ่นพ่านผ่านไปผ่านมาตามด่านตรวจคนเข้าเมือง(port of entry) ตามสนามบินนานาชาติต่างๆ ของอเมริกากว่า 13000 ชนิด นั่นหมายความว่าจะมีเชื้อโรคพืชหลุดรอดเข้าไปในประเทศสหรัฐอเมริกาได้มากถึง 35 ชนิดต่อวัน ไม่น้อยนะครับ 35 ชนิดต่อวัน เล่นเอาอ้วกได้เหมือนกัน นี่ขนาดนับเฉพาะพวกเอเลี่ยนก่อโรคพืชนะครับ ไม่นับเอเลี่ยนพวกอื่นๆ 

เด วิด พิเมนเทล (David Pimentel) ผู้เชี่ยวชาญด้านการบุกรุกทางชีวภาพจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ได้ประมาณการณ์เอาไว้เมื่อปี 2004 ว่าเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา เอเลี่ยนได้สร้างความสูญเสียไปแล้วมากถึง 120,105 ล้านเหรียญ ( ราวๆ สี่ล้านสองแสนสามพันเจ็ดร้อยล้านบาท) แถมที่ร้ายที่สุดก็คือสารพัดเอเลี่ยนทั้งหลายก็ยังคงระบาดก่อความเสีย หายอยู่ดี แถมสถานการณ์ยังมีแนวโน้มจะย่ำแย่ลงเรื่อยๆ อีกต่างหาก “นี่คือราคาของโลกาภิวัติที่เราต้องเสียไปล่ะครับ” ชาร์ล เพอร์ริ่งส์ (Charles Perrings) นักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐอริโซน่ากล่าว

 

เส้นทางลำเลียงพล... 

คำ กล่าวของคุณเพอร์ริงส์นั้นไม่ได้เกินเลยความจริงไปเลยแม้แต่น้อย ไม่ใช่แต่เพียงมนุษย์เราเท่านั้นที่ตื่นเต้นและยินดีกับเศรษฐกิจที่ขยายตัว และเทคโนโลยีการสื่อสารและการขนส่งที่ฉับไว พวกเอเลี่ยนก็เช่นกัน ในปัจจุบันเราสามารถบินข้ามโลกได้ในเวลาเพียงชั่วข้ามวัน เรามีเรือขนส่งสินค้านับล้านลำเดินทางเทียบท่าไปทั่วทุกหนแห่ง และนี่แหละครับ คือพาหนะชั้นหนึ่งที่เอเลี่ยนหรือพวกต่างด้าวส่วนใหญ่ใช้โดยสารข้ามพรมแดน ทางธรรมชาติไปกระจัดกระจายสร้างปัญหาอยู่ในที่ต่างๆ ในฐานะแขกที่ไม่ได้รับเชิญ แต่คุณรู้ไหมว่า จริงๆ แล้วเอเลี่ยนจำนวนมากที่ก่อความเสียหายอย่างสุดพรรณนาในหลายๆ ท้องที่นั้น ไม่ได้ตัดสินใจจะทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนหนีไปตายเอาดาบหน้าด้วยตัวมันเองนะ ครับ ส่วนใหญ่จะถูกอิมพอร์ตไปยังที่ต่างๆ ด้วยฝีมือมนุษย์ต่างหาก ซึ่งก็มักจะเป็น

  • พวกชาวสวนชาวไร่ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ที่พยายามจะเล่นตลกกับธรรมชาติอย่างเช่น อิมพอร์ตงูมากำจัดหนู แต่งูมันไม่กินแต่หนูนี่สิ มันกินทั้งนก กบ สัตว์ตัวเล็กๆ อื่นๆ ทำให้ระบบนิเวศเละตุ้มเป๊ะ แถมบางทียังกัดคนอีกต่างหาก ทีนี้พวกชาวสวนชาวไร่พวกนี้ก็ต้องมาคิดแก้ปัญหาต่อว่าจะกำจัดงูพวกนี้ยังไง ดี... อืม! มึนล่ะสิครับ งานนี้ 
  • พวกนักจัด สวนที่มีรสนิยมชอบของแปลกพิสดารอย่างที่นำเข้าต้นน๊อตวีด (Knotweed) เข้าไปปลูกประดับบ้านจนกลายเป็นปัญหาใหญ่จนถึงขนาดที่ว่า คุณแกเร็ต แบล๊กเกอร์ (London Development Agency Director Gareth Blacker) ผู้อำนวยการตัวแทนพัฒนากรุงลอนดอน ที่รับผิดชอบการก่อสร้างสปอร์ตคอมเพล็กซ์สำหรับโอลิมปิกปี 2012 ที่กำลังจะมาถึงนั้นถึงกับต้องออกปากว่าต้นน๊อตวีดเจ้าปัญหานี้ กำจัดยากเสียยิ่งกว่าหัวรบนิวเคลียร์จากสงครามโลกครั้งที่ 2 เสียอีก...
  • พวก พ่อค้าหัวใสที่จ้องจะหากำไรโดยไม่คิดหน้าคิดหลังให้ดีอย่างเช่นพวกที่พยายาม เสาะหาสุดยอดเมนูเปิบพิสดารขึ้นโต๊ะภัตตาคารห้าดาว หาหอยพันธุ์ใหม่ที่มีเนื้อเนียนนุ่มชุ่มลิ้นกินอร่อยกว่าหอยทากฝรั่งเศสหรือ หอยเอสคากอต (Excargot) อันเลื่องชื่อทั้งในด้านรสชาดและราคา จนทำให้คุณหอยทากยักษ์แอฟริกาได้มีโอกาสย้ายบ้านจากดินแดนซาฟารีที่ร้อนระอุ ไปอาบแดดอยู่แถวชายหาดโคปาคาบานา(ในบราซิล) และทำให้คุณหอยเชอรี่ได้มีโอกาสมาชิมต้นข้าวหอมมะลิกลิ่นละมุนของไทย

แต่ ก็มีอีกหลายชนิดนะครับที่หลุดเข้ามาโดยบังเอิญ อาจจะโดนกระแสน้ำหรือกระแสลมที่เปลี่ยนทิศพัดมา อาจจะติดมาในสินค้า อย่างเช่นพวกน้ำพริก น้ำปลา อย่างพวกตัวอ่อนแมลงหรือไข่พยาธิ หรือแม้แต่ติดมาในกระแสเลือดของนักท่องเที่ยวหรือสัตว์อพยพอย่างไวรัสต่างๆ เช่นไวรัสไข้หวัดนก (ที่ทำให้ผมกินไก่ไม่อร่อยไปหลายเพลา) เป็นต้น

 

รอเวลาจู่โจม 

เมื่อ ไปถึงดินแดนใหม่ มันก็ต้องตื่นเต้นเร้าใจกว่าอยู่ที่เก่าเป็นธรรมดาครับ ไม่มีผู้ล่าทางธรรมชาติ สภาพอากาศก็เปลี่ยนไป บางตัวที่ปรับตัวได้เร็วก็จะกระดี๊กระด๊า แพร่พันธุ์ออกมาเป็นว่าเล่นจนกระต่ายยังอาย แต่ถ้าตัวไหนติดที่ติดทาง ยังไม่ชินกับลมฟ้าอากาศหรือที่ทางแบบใหม่ๆ ก็อาจจะแอบหลบซ่อน เร้นกายอยู่อย่างเงียบๆ ราวกับภูเขาไฟที่รอวันปะทุ  พอลมฟ้าอากาศเป็นใจ (ซึ่งตอนนี้เทรนด์โลกร้อนนั้นก็มาแรงแซงโค้ง อย่างที่หลายๆ คนทราบกัน) เจ้าพวกที่แฝงกายอยู่ก็จะเริ่มแผลงฤทธิ์กันแบบไม่ไว้หน้าเจ้าบ้าน อาจจะเรียกได้ว่าปล้นสะดมภ์ แย่งอาหารการกินไปแบบซึ่งๆ หน้าเลยก็ว่าได้ บางพวกก็ทำลายแหล่งอาหารของสัตว์เจ้าถิ่น บางพวกทำลายเรือกสวนไร่นา บางตัวเป็นสาเหตุของไฟป่าหรือแม้แต่เป็นพาหะนำโรค แต่ที่ร้ายที่สุดก็คือพวกที่เป็นเชื้อโรคเสียเอง

ใช่แล้วครับ ผู้รุกรานทางชีวภาพสร้างความสูญเสียเป็นมูลค่ามหาศาล แต่ที่แย่ที่สุดคือพวกมันไม่ได้ทำลายเพียงการผลิตและอุตสาหกรรมน่ะสิครับ มันยังทำให้ระบบนิเวศน์ของโลกของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่อาจจะกู้คืนได้ และนั่นคือความเสียหายอย่างที่สุดที่ไม่อาจจะตีเป็นมูลค่าได้

 

สงครามล้างบางเอเลี่ยน  

แล้วมีใครคิดจะหยุดมันบ้างไหม? คำตอบคือมีแน่นอนครับ 

บน เกาะแห่งหนึ่งในหมู่เกาะกาลาปากอสนามว่า “เกาะอิสซาเบลา (Isabela Island)” แพะป่าถือได้ว่าเป็นเอเลี่ยนที่ต้องกำจัดหมายเลขหนึ่งในบัญชีดำ ไม่มีสัตว์หรือพืชประเภทไหนอีกแล้วที่จะทำลายประหัตประหารระบบนิเวศน์อันน่า อัศจรรย์ของเกาะที่ใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะกาลาปากอสได้แบบเจ้านี่อีกแล้ว

พวก มันถูกอิมพอร์ตเข้ามาโดยพวกนักล่าปลาวาฬ ตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 17 ต่อมาพวกมันก็กระจัดกระจายไปจนทั่วเกาะ กัดกินพืชจนพืชหายากหลายชนิดต้องสูญพันธุ์ไป ไม่เพียงแต่พืชเท่านั้น แม้แต่เต่ายักษ์แห่งกาลาปากอสที่มีอายุยืนได้ถึง 200 ปีและสัตว์อีกหลายชนิดก็โดนอานิสงค์แพะป่าจนติดบัญชีสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ไป ตามๆ กัน

ในปี 1998 มูลนิธิชาร์ล ดาร์วิน (Charles Darwin Foundation) ซึ่งดำเนินการต่อสู้กับเหล่าเอเลี่ยนบนหมู่เกาะกาลาปากอสมาตั้งแต่ปี 1959ได้ริเริ่มสงครามกำจัดแพะป่าเพื่อที่จะกำจัดมันออกไปให้ราบคาบ พวกเขาประกาศออกมาเมื่อเดือนกรกฏาคมปีที่แล้วว่า “พวกเขาทำได้สำเร็จแล้ว” แทบจะไม่มีใครเชื่อว่าภารกิจนี้จะสำเร็จลงได้ครับ ลองจินตนาการว่าคุณจะต้องตามล่าสังหารแพะทุกตัวบนเกาะที่มีขนาดใหญ่พอๆ กับรัฐโรดไอร์แลน (รัฐโรดไอร์แลนด์มีพื้นที่ครอบคลุมถึง 2,706 ตารางกิโลเมตรใหญ่กว่ากรุงเทพเมืองฟ้าอมรซึ่งมีขนาด 1568.7 ตารางกิโลเมตรเกือบ 2 เท่า-ผู้เขียน)ไม่ใช่งานที่ง่ายเลย

เฟลิปเป้ ครูซ (Felipe Cruz) หัวหน้าโครงการล้างบางแพะให้สัมภาษณ์ว่า มันเป็นเหมือนปฏิบัติการทางทหารที่ดูเหมือนเป็นการขี่ช้างจับตั๊กแตนในสายตา ของหลายๆ คนรวมทั้งผมด้วย เงินทุนราวๆ สี่ร้อยล้านบาทจากองค์การสหประชาชาติและผู้บริจาคสมทบ ได้แปรสภาพเป็นยุทธภัณฑ์จำนวนมหาศาล กระสุนปืน 500000 นัด ปืนไรเฟิล 40 กระบอกและเฮลิคอปเตอร์อีก 2 ลำ ระบบติดตามแกะรอยทั้ง GIS และ GPS อีกทั้งยังมีสหายร่วมอุดมการณ์กำจัดแพะในท้องถิ่นมากถึง 100 คน พวกเขาได้รับการฝึกเช่นเดียวกับทหาร...

พวกเขาเปิดศักราชแห่งการฆ่า ล้างเผ่าพันธุ์แพะด้วยการใช้เฮลิคอปเตอร์บินลาดตระเวนไล่ยิงแพะไปทั่วเกาะ แล้วตามด้วยหน่วยล่าภาคพื้นดินพร้อมสุนัขดมกลิ่นคอยตามเก็บพวกที่เหลือรอด แต่ละท้องที่ที่โดนกวาดล้างแล้วจะถูกระบุไว้ในพิกัด GPS และภาพถ่ายดาวเทียม ข้อมูลพวกนี้ถูกใช้เพื่อที่จะคะเนดูว่าพวกแพะที่เหลืออยู่จะหลบหนีไปในทิศ ทางไหน แล้วค่อยตามไปจัดการต่ออีกที ฟังดูเหมือนจะเป็นปฏิบัติการที่ไม่น่าจะยาก แต่จริงๆ แล้วมันไม่ง่ายเลยครับ การทดสอบโครงการล้างบางแพะที่ทำขึ้นในเกาะซานติอะโก (Santiago) และเกาะปินตา (Pinta) สองเกาะเพื่อนบ้านที่เล็กกว่าอิสซาเบลลาหลายเท่านั้นยังต้องใช้เวลากว่าหกปี

ขนาดขี่ ฮ ไล่ล่าแล้ว ก็ยังฆ่าได้ไม่หมดเสียที ปราบยากปราบเย็นสุดๆ เลยใช่ไหมล่ะครับ แต่สิ่งที่ท้าทายที่สุดของปฏิบัติการนี้ จริงๆ แล้วก็คือการแกะรอยและกำจัดแพะตัวสุดท้ายบนเกาะซึ่งถือได้ว่าเป็นปฏิบัติการ ที่เรียกว่ามหาหินแบบสุดๆ อย่างไรก็ตาม วิธีการที่พวกเขาใช้นั้นลึกล้ำจริงๆ ครับ พวกเขาหาแพะมาตัวหนึ่งติดเครื่องส่งสัญญาณวิทยุเข้าไปที่ตัวมันแล้วเรียกมัน ว่า “เจ้าแพะทรยศ (Judas goat)” แพะตัวนี้แม้จะถูกเจี๋ยนไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ก็ยังคงมีอารมณ์เพศสูงอยู่ตลอดเวลาเพราะโดนโด๊ปฮอร์โมนเข้าไปอย่างหนัก แพะทรยศจะวิ่งไล่ตามหาแพะที่เหลืออยู่ และ เปรี๊ยง! แพะโชคร้ายก็โดนเก็บไปตามระเบียบ

“โครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างไม่น่าเชื่อ” เจฟฟรี่ แมคนิลลี่ (Jeffrey McNeely) หัวหน้านักวิทยาศาสตร์จากสหพันธ์อนุรักษ์โลก (World Conservation Union) กล่าว “แต่กาลาปากอสก็ยังห่างจากคำว่าปลอดภัย (ทางระบบนิเวศน์) อยู่ดี” เพราะยังคงมีเอเลี่ยนอื่นๆ อีกกว่า 295 ชนิดบนเกาะ ไม่ว่าจะเป็นหนู แมว สุกร สุนัขปิดท้ายด้วยแมลงสาบอีกกว่า 11 ชนิด อีกทั้งยังมีพวกต่างด้าวอีกไม่รู้เท่าไหร่บนเรือหลายพันหลายหมื่นลำที่ลอยลำ เข้ามาเทียบท่าบนเกาะสวรรค์แห่งนี้ ...   

 

พันธมิตรเอเลี่ยน 

แหม! ทุกสิ่งมันก็ต้องมีสองด้านเสมอใช่ไหมครับ ขนาดเหรียญยังมีหัวกับก้อยเลย เอเลี่ยนหรือผู้บุกรุกทางชีวภาพก็เช่นกัน มีทั้งพวกที่ชั่วร้ายทำลายข้าวของแล้วก็มีทั้งพวกที่ดีที่ทำประโยชน์ให้กับ มนุษย์

ที่จริงแล้ว ผลิตผลทางการเกษตร ปศุสัตว์หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่ในปัจจุบันเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ เป็นพวกต่างด้าวถูกนำเข้าเมืองมาทั้งนั้น โคเนื้อโคนม สุกร สัตว์เศรษฐกิจอื่นๆ ทั้งหลาย เจ้าตูบเจ้าเหมียวใกล้ตัวเราก็ใช่ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นสุนัขโกลเด้นรีทรีฟเวอร์หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดูนิสัยเป็นมิตร หรือสุนัขตำรวจยอดฮิตอย่างอัลเซเชี่ยน แมวเปอร์เซีย สตรอเบอรี่สีแดงสดสุกปลั่งยั่วน้ำลายที่ขายกันอยู่ทั่วไปหรือแม้แต่แอปเปิ้ล ที่หอมหวลชวนน้ำลายสอนั่นก็เอเลี่ยนทั้งนั้น

โรงงานอาหารและเทคโนโลยี ชีวภาพก็เป็นอีกแหล่งหนึ่งที่จะมีพวกต่างด้าวทำงานอยู่ ไม่ใช่พวกหลบหนีเข้าเมืองนะครับ พวกนี้เข้ามาแบบถูกกฏหมายเป็นเอเลี่ยนที่ทำคุณประโยชน์ จะที่ไหนซะอีก ก็พวกโรงงานอาหารหมักนั่นไงครับ ไม่ว่าจะเป็นซีอิ้ว (รา Aspergillus flavus oryzae) นมเปรี้ยวและโยเกิร์ต (แบคทีเรีย Lactobacillus) หรือแม้แต่ในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างเหล้า เบียร์ วิสกี้ บรั่นดีทั้งหลายก็มีเชื้อยีสต์ (Saccharomyces cerevisae) สายพันธุ์นอกอยู่ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตามหลายๆ คนก็บอกว่าพวกนี้ยังไม่เรียกว่าเอเลี่ยนครับ จนกว่ามันจะหลุดออกมาก่อปัญหาให้ปวดหัวใจเสียก่อน

             

บทส่งท้าย 

เป็นไงบ้างครับ เบื้องหน้าเบื้องหลังของเหล่าเอเลี่ยนจอมแสบที่แอบเข้ามาสิงสถิตย์อยู่ใน ประเทศของเรา บางพวกที่พวกเราพอจะคุมอยู่ได้ก็มีคุณอนันต์ แต่บางพวกที่เราคุมไม่อยู่ มันก็มีโทษมหันต์ใช่ไหมล่ะครับ โดยเฉพาะพวกที่หลุดออกมาสร้างความเดือดร้อนรำคาญไปทั่ว หนำซ้ำยังทำให้เสียผลิตผลมากมายเหลือคณา เอเลี่ยนบางตัวหลุดเข้ามาในประเทศด้วยความบังเอิญ บางตัวก็เข้ามาได้เนื่องจากความไม่รู้เดียงสาของผู้อิมพอร์ตเข้ามา แต่ที่เจ็บแสบที่สุด ก็คือหลายๆ ตัวที่สร้างปัญหาอยู่ในตอนนี้หลุดออกสู่ธรรมชาติก็เพราะความมักง่ายของผู้ เพาะเลี้ยง (อย่างเช่น หอยเชอรี่และหอยทากยักษ์แอฟริกา เป็นต้น) ที่ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมหาศาลจนแทบจะประเมินค่าไม่ได้

ปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำนำสมัย การติดต่อสื่อสาร การเดินทาง การส่งที่ฉับไว ทำให้ปัญหาจากเอเลี่ยนทั้งหลายมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังมีเทคโนโลยีที่ใช้สร้างเอเลี่ยนจากฝีมือมนุษย์อย่างพันธุวิศวกรรม ที่ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถเสกสรรปั้นแต่งสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ใน ระดับที่ยากจะจินตนาการถึงเรียกได้ (GMOs) ว่าเป็นจุดพลิกผัน (Breakthrough) ที่สำคัญในทางชีววิทยาและเทคโนโลยีชีวภาพเลยก็ว่าได้ อยากบอกว่าเทคโนโลยีนี้มีคุณประโยชน์มากมายและแน่นอนว่าจะกลายเป็น อุตสาหกรรมมูลค่ามหาศาลจนผมไม่อาจประมาณได้ ที่ท้ายที่สุด ไม่ว่าเราจะทำอย่างไรก็ตาม พวกเราก็คงจะไม่มีทางหลีกเลี่ยงเทคโนโลยีนี้ได้ ดังนั้น การเตรียมมาตรการที่จะใช้ในการรองรับและควบคุมไม่ให้เอเลี่ยนจากฝีมือมนุษย์ เหล่านี้ออกมาแผลงฤทธิ์จนเป็นปัญหาหนักอกหนักใจกันแบบในปัจจุบัน คงจะเป็นเรื่องด่วนที่ต้องทำอย่างรัดกุม อย่ารอให้วัวหายแล้วค่อยล้อมคอกเลยนะครับ ... 

 

-----

กรอบ : เอเลี่ยนบุกไทย  

หอยเชอรี่ (golden Apple snail หรือ Pomacea canaliculata)  จากดินแดนอาร์เจนตินาได้รับการเปิดตัวอย่างฟู่ฟ่าในเอเชียในปี พ.ศ. 2523 (และแอบหลบหนีเข้าเมืองไทยในปี พ.ศ. 2525)ในฐานะตัวตายตัวแทนของหอยทากเอสคาโกท์หรือหอยทากฝรั่งเศสอันโอชา อีกทั้งยังเป็นแหล่งโปรตีนอันอุดม ด้วยข้อดีก็คือเลี้ยงง่ายสุดขีด แถมยังแพร่พันธุ์ได้ไวจนกระต่ายเรียกพี่ เล่นเอาพ่อค้าและนักลงทุนจากหลายๆ ประเทศในแถบนี้ฝันหวานถึงเงินก้อนมหึมาจากการส่งออกหอยพันธุ์ใหม่นี้ อนิจจา รสชาดอันโอชาของเจ้าหอยพันธุ์นี้ดันไม่ถูกลิ้นโดนใจผู้บริโภค แถมยังมีรายงานออกมาอีกว่าหอยตัวนี้เป็นพาหะนำโรคร้ายๆ หลายชนิด มันก็เลยถูกแบนจากหลายประเทศ มึนสิครับ งานนี้  โถ น่าสงสาร คุณพ่อค้าทั้งหลายอุตส่าห์เลี้ยงหอยแทบตาย ขายก็ไม่ได้ กินก็ไม่อร่อย เลยต้องหาทางออกแบบศรีธนญชัย เอาไปเทน้ำเทท่าประชดชีวิตซะเลย

ที นี้ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา คุณพ่อค้าก็หายมึน แต่รัฐบาลนี่สิครับ ปวดกะโหลกสุดๆ ก็เจ้าหอยอัปลักษณ์พวกนี้เจอที่อยู่ถูกใจแล้วน่ะสิครับ ไล่ยังไงก็ไม่ยอมไป ยึดหัวหาดอยู่ในประเทศเหล่านั้นเสียเลย (จากการสำรวจล่าสุด หลายๆ ประเทศในเอเชียโดนอานิสงค์หอยแสบเข้าไปเต็มเปาแล้ว ทั้ง จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย รวมทั้งพี่ไทยด้วย) แล้วเจ้าพวกนี้น่ะ มันจอมเขมือบขนานแท้เลยครับ เรียกได้ว่ากินแทบทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นพืชผักไปจนถึงขี้หนู (อุจจาระหนูนะครับ ไม่ใช่พริก แต่รู้สึกว่าพริกมันก็กิน..เฮ้อ) และถ้าไม่มีอะไรอื่นกิน ซากของพวกเดียวกันเองมันก็สวาปามลง (แหวะ) ...

นอก จากกินดะแล้วยังกินจุอีกต่างหากครับ เจ้าหอยพวกนี้ท้องยุ้งพุงกระสอบสุดๆ ในหนึ่งวัน มันเขมือบได้มากกว่าน้ำหนักตัวของมันได้หลายเท่าเลยทีเดียว ด้วยนิสัยชอบกินจุและกินไม่เลือกนี้เอง พวกมันจึงติดอันดับตัวแสบที่คอยบุกรุกทำลายข้าวของ พืชพันธุ์ธัญญาหารและอีกสารพัดสารเพ แถมยังแพร่เชื้อโรคอีก  กินบนเรือนขี้รดบนหลังคาชัดๆ เลย เจ้านี่ ...

พวกนักวิทย์จาก แดนมะกันเขาเคยประมาณการเอาไว้ให้ตกใจเล่นว่าถ้ามีกองทัพหอยเข้าบุกรุก เขมือบนาข้าวหอมมะลิที่พึ่งจะปักดำลงไปของคุณโดยที่พลทหารหอยกระจายกำลังพล เข้าบุกรุกตารางเมตรละตัวแล้ว ต้นข้าวของคุณจะหายไปราวๆ 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเจอระดมพลหอยบุกนาข้าวแบบกระหน่ำซัก 8 ตัวต่อตารางเมตรแล้วล่ะก็ เตรียมเลิกทำนาแล้วหันมาทำฟาร์มหอยได้เลยเพราะนาข้าวอันเป็นที่รักของคุณจะ หายไปราวๆ 90 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว แล้วแบบนี้จะไม่ให้รัฐมึนได้ไงล่ะครับ ก็ประเทศไทยของราน่ะ ประเทศเกษตรกรรม กินข้าวเจ้า หุงข้าวสวย รวยเพราะข้าวหอมมะลิมาไม่รู้เท่าไร เจอหอยเข้าไป ในน้ำมีปลาในนามีหอยกำลังกินข้าวอย่างเอร็ดอร่อย จะเก็บหอยกินแทนข้าว รสชาติก็แย่ซะเต็มประดา แล้วชาวนาจะหันหน้าไปพึ่งใคร...โถ

หน้าตาก็ไม่น่าพิศวาส แถมยังนิสัยเสียอีก แต่ที่ร้ายที่สุดก็คือเจ้าหอยเชอรี่ตัวแสบเนี่ย อภิมหาลูกดกเลยครับ หอยอ้วนๆ 1 ตัววางไข่สีชมพูสดใสเกาะกันเป็นพวงแปะอยู่ใกล้ๆ น้ำได้มากถึงครั้งละ 25-600 ฟอง (ซึ่งโดยมากแล้วปริมาณไข่จะไม่ค่อยต่ำกว่า 200 ฟอง) หอยพวกนี้ ความถี่และอัตราการเติบโตไปเป็นตัวเต็มวัยของมันนั้นขึ้นอยู่กับอุณหภูมิและ ความสมบูรณ์ของแหล่งอาหาร ซึ่งในประเทศอาเจนตินา บ้านเกิดของมันนั้น หอยพวกนี้ต้องเผชิญยถากรรมมากมาย อาหารก็ไม่ค่อยสมบูรณ์ สภาพอากาศก็ไม่ค่อยเหมาะสมกับมันเท่าไร เพราะฉะนั้นกว่าที่มันจะโตเต็มวัยขยายพันธุ์ได้ก็กินเวลามากถึง 2 ปีเลยทีเดียว แถมยังมีพวกผู้ล่าทางธรรมชาติคอยจิกกินพวกมันอยู่เรื่อยๆ อีกทำให้พวกมันแผลงฤทธิ์ไม่ค่อยออก ในขณะเดียวกัน ไม่รู้จะปลื้มดีหรือเปล่านะครับ เพราะว่าเจ้าหอยพวกนี้มันรักเมืองไทยสุดๆ ผู้ล่าก็ไม่มี อากาศก็ร้อนได้ที่ แถมมีอาหารอุดมสมบูรณ์อีก ทำให้พวกมันสามารถเจริญเติบโตได้ในอัตราที่ไวกว่าที่ควรจะเป็นถึงสิบสองเท่า นั่นคือภายในสองเดือนหอยวัยสะรุ่นก็พร้อมแล้วที่จะสืบทอดทายาทอสูรรุ่นใหม่ๆ ออกมาซ้ำเติมชาวนาชาวไร่อีกรอบ

นอกจากจะทำลายผลผลิตทางการเกษตรอันเปรียบเสมือนอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศไทย เราแล้ว เจ้าหอยพวกนี้อาจจะเป็นตัวการที่ทำให้สิ่งมีชีวิตหลายๆ ชนิดของพวกเราสูญพันธุ์ไปก็ได้ เนื่องจากการกินไม่เลือกและการมีลูกดกแบบสุดๆ ของพวกมัน  พืชพรรณหายากใกล้สูญพันธุ์บางชนิดที่เหลืออยู่เพียงน้อยนิดในธรรมชาติในตอน นี้อาจจะกลายสภาพเป็นอุจจาระหอยไปแล้วก็ได้ ใครจะรู้ แล้วยังพวกสัตว์เจ้าถิ่นอื่นๆ อีกล่ะครับที่จำใจต้องมาทำสงครามแย่งแหล่งอาหารกับเจ้าหอยพวกนี้ หลายๆ ชนิดอาจจะถอดใจยอมอดตายไปแล้วก็ได้       

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

"จะเก็บหอยกินแทนข้าว รสชาติก็แย่ซะเต็มประดา แล้วชาวนาจะหันหน้าไปพึ่งใคร..."

พีสะเดิดงัยครับ...ฮาาา อันที่จริง เนื้อมันก็ไม่ถึงกับแย่จนกินไม่ได้เลยนะครับ คาวกว่าหอยขมนิดหน่อย แต่ถ้าปรุงดีๆก็กินได้(เคยกินอยู่เหมือนกันครับ) ส่วนผู้ล่าของมันก็มีนะครับ นกปากห่าง นกกระปูด เป็ดไล่ทุ่ง ฯลฯ แต่ก็คงมีน้อยกว่าถิ่นเดิมของมัน

ความเห็นที่ 2

ความเห็นที่ 3

แซ่บบบบบบบบบบบ