งูเขียวหางไหม้ คุณรู้จักไหม?
เรื่อง: อุเทน ภุมรินทร์ ภาพ: สิทธิศักดิ์ ฉันสิมา
งูอะไรเอ่ย ยาวที่สุดในโลก? ติ๊ก ต๊อกๆ คิดไม่ออกล่ะสิ ผมเฉลยให้ก็ได้ "งูเขียวหางไหม้" ไงครับ เพราะหากหางมันไม่ไหม้เสียก่อน หางมันต้องยาวกว่าที่เราเห็นๆ กันอยู่แน่ๆ...ฮา (เสี่ยวและเกรียนขนาดนี้ยังจะมีคนอ่านบทความเราอยู่ไหม?)
ตอนนี้ เรื่องงูตัวเขียวๆ กำลังดัง ตั้งแต่กรีนแมมบ้า (Green Mamba) งูพิษร้ายแรง จากแอฟริกาที่มีคนไทยนำมาเลี้ยง แล้วหลุดช่วงอุทกภัยครั้งใหญ่มาเยือนชาวกรุงและปริมณฑล พลอยเอางูเขียวหางไหม้ที่พบได้ในเมือง อย่างงูเขียวหางไหม้ท้องเหลืองและงูเขียวหางไหม้ตาโตสังเวยชีวิตไปไม่น้อย เพราะโทษฐานตัวเขียวๆ เหมือนกัน
ใช่จะมีแต่ข่าวร้าย ล่าสุด วงการสัตว์เลื้อยคลานเมืองไทยก็มีเฮ เมื่อนักวิจัยของไทยรายงานการค้นพบงูเขียวหางไหม้สายพันธุ์ใหม่ของโลก คือ งูเขียวหางไหม้ภูเก็ต มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trimeresurus (Popeia) phuketensis โดยค้นพบงูชนิดนี้อาศัยอยู่ในบริเวณป่าดิบชื้น จ.ภูเก็ต ชายฝั่งทะเลอันดามัน ตอกย้ำความหลากหลายทางชีวภาพของป่าไทย ที่เราต้องร่วมกันดูแลให้คงเป็นแหล่งกำเนิดของสรรพชีวิตตลอดไป
จึ่งฤกษ์งามยามดี ขอแนะนำนักล่าแห่งราตรี คู่ปรับของบรรดานก หนู กบ เขียด และกิ้งก่า คือ กลุ่ม “งูเขียวหางไหม้ (Green Pit Viper)” หลายคนอาจสับสนได้ กับงูเขียวปากจิ้งจก, งูง่วงกลางดง ตัวสีเขียวที่เราพบได้ แต่ให้สังเกตงูเขียวหางไหม้แท้ๆ นั้น มีรูปลักษณ์ ส่วนหัวโตกว่าส่วนคออย่างเด่นชัด รูปทรงของหัวเป็นรูปสามเหลี่ยม บนหัวมีเกล็ดเล็กๆ ปกคลุม โดยไม่มีเกล็ดแผ่นใหญ่ให้เห็นเลย เกล็ดบนหลังใหญ่กว่าเกล็ดบนหัวและมีสันใหญ่ เกล็ดด้านท้องเรียบ เกล็ดใต้หางเป็นแถวคู่
ส่วนความลับในการเป็นนักล่าตัวฉกาจ คือ “pit organ” เป็นอวัยวะรับความรู้สึกเกี่ยวกับอุณหภูมิ มีส่วนปลายประสาทอยู่มากมาย ซึ่งไวต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิมากถึง 0.002 ºC มีหน้าที่ตรวจหาตำแหน่งหรือที่อยู่ของเหยื่อที่เป็นสัตว์เลือดอุ่น ซึ่งมีอุณหภูมิร่างกายค่อนข้างสูง อวัยวะนี้ อยู่ในตำแหน่งที่คนทั่วไป มักเข้าใจว่า เป็น “รูจมูก” แท้จริงแล้วคือ “pit organ” ที่เป็นรูอยู่บริเวณ 2 ข้างของหัว ระหว่างรูจมูกกับลูกตา
วันนี้ แนะนำให้รู้จักกับ "งูเขียวหางไหม้ท้องเขียว" งูชนิดนี้มีขนาดค่อนข้างใหญ่ มีความยาวลำตัว 50-90 ซม. มีความแตกต่างระหว่างเพศที่ค่อนข้างเด่นชัด ในเพศผู้ มีลายตามขวางสีน้ำตาลอมเขียวค่อนข้างจางมาก พาดผ่านกลางหลังตลอดความยาวลำตัว มีจุดขาวเล็กๆ เรียงเป็นระยะตามแนวกระดูกสันหลัง แต่บางตัวก็ไม่มี มีเส้นข้างตัวตั้งแต่หางตา ไปจนถึงหาง เส้นด้านบนเป็นสีขาวนวล ตอนล่างเป็นเส้นสีแดง ส่วนในเพศเมีย ไม่มีจุดขาวตามแนวกระดูกสันหลัง ส่วนมากไม่มีเส้นข้างลำตัว ทั้งสองเพศ มีด้านท้อง เป็นสีเขียวอ่อนอมเหลือง หางเป็นสีแดงอิฐ ลูกตาสีแดง
งูชนิดนี้ออกหากินในเวลากลางคืน มักเกาะนิ่งอยู่กับที่โดยใช้หางที่มีกล้ามเนื้อแข็งแรงพันกิ่งไม้ไว้ แล้วห้อยตัวตามพุ่มไม้เตี้ย รอเหยื่อผ่านมา ตรวจหาเหยื่อโดยใช้ "pit organ" รับรู้คลื่นความร้อนจากตัวเหยื่อ เวลากลางวันจะเชื่องช้าและพันลําตัวอยู่บนกิ่งไม้ตามพุ่มต้นไม้ เนื่องจากมีลําตัวสีเขียวเหมือนสีของใบไม้และหางสีนํ้าตาลแดงคลํ้าเหมือนกับสีของกิ่งไม้จึงสังเกตได้ยาก
เมื่อถูกรบกวนทั้งในเวลากลางวันหรือกลางคืน จะไม่ค่อยเลื้อยหลบหนี แต่จะเลื้อยห่างออกไปให้พ้นจากการถูกรบกวน แต่ถ้าถูกรบกวนมาก จะใช้หางและส่วนท้ายของลําตัวยึดและพันกิ่งไม้ไว้ แล้วยกลําตัวส่วนหน้าขึ้นสูงจากกิ่งไม้และพับไปมาเป็นวงกว้าง อ้าปากและพุ่งเข้าฉก งูเขียวหางไหม้ทุกชนิดมีพิษค่อนข้างรุนแรง พิษทำให้ปวดและบวมอย่างรุนแรง แต่อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยต่ำมาก
เห็นได้ว่า หากไม่ไปรบกวนมัน งูเขียวหางไหม้ไม่มีทางทำอันตรายเราได้เลย แถมมันยังทำหน้าที่ในธรรมชาติ คอยควบคุมปริมาณสัตว์เล็กๆ ที่มันกินเป็นอาหารอย่างนก หนู กบ เขียด ให้อยู่ในสภาวะสมดุล แล้วเราจะทำลายชีวิตในธรรมชาติที่มีค่าอย่างนี้ ได้ลงกันอีกหรือ? ช่วยเก็บป่าไว้เป็น "บ้าน" ให้พวกเราบ้างเถิด โธ่! คุณครับ สนามกอล์ฟหญ้าเขียว หรือรีสอร์ตติดแอร์เย็นสบาย งูเขียวหางไหม้อย่างพวกเราไม่ต้องการหรอก!!!
*ขอบคุณมุขเสี่ยวๆ อันเป็นแรงบันดาลใจ จาก Forest Ranger
--ชมภาพงูเขียวหางไหม้ท้องเขียว อย่างจุใจได้ที่ http://www.siamensis.org/species_index#2819--Species: Trimeresurus [Popeia] popeiorum
Comments
ความคิดเห็น
ความเห็นที่ 1
ความเห็นที่ 2